จิตตปัญญาเวชศึกษา 32: เรื่องเล่า เร้าจิต เร้าใจ เร้าพลัง เร้าปัญญา


เรื่องเล่า เร้าจิต เร้าใจ เร้าพลัง เร้าปัญญา

 วันนี้ได้ไปประชุมที่สำนักงานพัฒนาคุณภาพโรงพยาบาล กระทรวงสาธารณสุข ปีหน้านี้ในงานประชุมประจำปีของ HA จะมีการนำเอาเรืองราวดีๆ ในหัวข้อ Humanized Health Care มาเผยแพร่เล่าสู่กันฟัง จะมีกิตติกรรมประกาศสำหรับเรื่องราวที่ทรงพลัง เป็นแรงบันดาลใจแกผู้ฟัง (ให้ทำดีต่อๆไป หรือทำดียิ่งๆขึ้น) กลับมานั่งครุ่นคิด ไตร่ตรองว่า เรื่องอะไรจึงจะเป็นแรงบันดาลใจได้บ้าง ระหว่างนั้นก็นั่งอยู่หน้าจอ go-to-know มองคำ "จิตตปัญญาเวชศึกษา" อยู่ ก็เลยเกิดการ "ต่อเนื่องเชื่อมโยง" ขึ้นมาทีละน้อยๆ

มองไปรอบๆตัวเรา มีเรื่องราวอะไรที่เป็นแรงบันดาลใจให้เห็นบ้าง ก็มีเรื่องที่ประชาชนจำนวนมากไปเฝ้าแหนในหลวงและพระพี่นางที่ รพ.ศิริราช ไม่เพียงแต่เป็นการชุมนุมเท่านั้น ยังเป็นการกำหนดสีแฟชันเสื้อประจำศักราชนี้ไปด้วย สีชมพู สีเขียว มาแรงขึ้นในพริบตา ทำให้ตู้เสื้อผ้าของหลายๆคนเปลี่ยนเฉดจากเหลืองมาหนึ่งปี แซมด้วยสีอื่นๆบ้าง มีการแสดง การมาร่วมพูดคุย ฯลฯ 

นี่ก็เป็นแรงบันดาลใจ

ผมคิดว่าและรู้สึกว่าแรงบันดาลใจ เป็นอะไรที่เราสามารถ identify ว่าเราเป็น สัมพันธ์ อยากเป็น อยากเหมือน ทำให้ตัวตนเรามีคุณค่าอย่างที่ใฝ่ฝันไว้ แรงบันดาลใจยังสามารถทำงานแบบ reverse psychology ก็ได้ นั่นคือ เรื่องราวที่เราไม่อยากเป็น ไม่อยากสัมพันธ์ ไม่เป็น ไม่เหมือน ไม่อยากเหมือน เพราะมันต่อต้านคุณค่าที่เราใฝ่ฝัน หรือต้องการจะเป็นพวกเดียวกัน 

ถ้ามี ฝรั่งคนไหนมาถามว่า "ไหน คนไทยคืออย่างไร" เราก็คงจะตอบได้อย่างภาคภูมิใจว่า "คนไทยมีในหลวงไว้เทิดทูน เป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจ" ขณะเดียวกันอาจจะถามฝรั่งกลับไปว่า "ตอนนี้จอร์จ บุช หรือ คลินตัน เป็นอย่างไรบ้าง?" ให้เกิดพลังสภาวะยวนอารมณ์เล่นๆก็ได้

หนังสืออย่างแฮรี พอร์ตเตอร์ ก็เรียกว่าสร้างแรงบันดาลใจได้ ผมหมายความถึงตอนก่อนที่จะเริ่มใช้พลัง media ต่างๆเป็นเครื่องสนับสนุนเสียด้วยซ้ำ เป็นหนึ่งในหน้าประวัติศาสตร์ของ campaign "Get Children Back to Book" ที่ท้าทายและน่าชื่นชมมาก เอาชนะ monster วิดีโอเกม คอมพิวเตอร์เกมได้ จากเสน่ห์ของตัวเอกที่เป็นเด็กชายผอมๆ ใส่แว่นตาหักๆ นอนในห้องใต้บันไดแล้ววันหนึ่งพบว่าตนเองมีอำนาจวิเศษเพราะเป็นพ่อมด มีชื่อเสียงโด่งดังเป็นวีรบุรุษ

ใครๆก็มี magic แบบเดียวกับแฮรี ขอเพียงมีศรัทธาเพียงพอในตนเอง เมื่อนั้นเราก็จะเดินออกจากกำแพง หรือแม้กระทั้ง "เดินทะลุกำแพง

แฮรีโด่งดังเพราะ "ความง่ายที่เราเหมือนแฮรี" และขุดเอาพลังซ่อนเร้นที่ทุกๆคน (รวมทั้งผู้ใหญ่ด้วย) อยากจะมี ทุกๆคน อยากจะมี magic แบบแฮรี ในการเรียน ในการทำงาน ถึงตอนนี้ที่ทุกคน "เกิดอารมณ์ร่วม" เจ เค โรลลิงจะสอดแทรกอุปสรรค หรืองานอะไรให้แฮรีทำ คนก็พร้อมที่จะทำตาม เรียนรู้ตาม 

กลับมาการเรียนการสอนของแพทยศาสตร์ สิ่งแวดล้อมที่เรามีนั้น เราเทิดทูนอะไร ให้รางวัลใคร เพราะอะไร และเราทำให้เกิดอารมณ์ร่วมในเรื่องราวแบบไหนบ้าง?

ในหนังสือเรื่อง "การสนทนากับพระเจ้า" บอกว่า โลกเรา ณ ปัจจุบัน ให้รางวัลคนที่เหมาะสมกว่า เก่งกว่า แข็งแรงกว่า ฉลาดกว่า แต่ไม่มีใครให้รางวัลคนที่ "รักกว่า" เลย ความรัก กลายเป็นของที่ไม่มี reward หรือมี reward ในด้านความใครแทน เป็นสินค้า หรือเป็น inventory ที่ใช้ประกอบการขายสินค้าจากความใคร่แทน

มีนักศึกษาแพทย์เล่าให้ฟังว่าเขาอยากเป็นและอยากเรียนอายุรกรรม ผมฟังก็ยินดีที่เขามีการวางแผนในอนาคต ก็เลยคุยต่อว่าทำไมล่ะ แกก็ตอบว่า "อื้อหือ อาจารย์ ตอนราวน์ (round คือ การดูคนไข้ทีละเตียงๆไปพร้อมๆกัน) อาจารย์ "อัด" กับพี่แพทย์ใช้ทุน สุดท้ายพี่ chief ตอบได้หมดเลย คนอื่นตายเรียบ!! (หมายถึง จน ตอบไม่ได้ อึ้ง เงียบ ฯลฯ) ผมว่ามันเท่ห์จริงๆครับ อัดกันชนิดล้มไม่ลงเลย พี่เขาเก่งจริงๆ อยากเป็นอย่างเขาบ้าง" ผมก็พยักหน้าหงึกๆ อือ โอ เค เข้าใจล่ะ ทั้งที่ในใจอยากจะได้ยินประเภท "พี่เขาดูคนไข้ละเอียด คนไข้รัก คนไข้ชื่นชมพี่มาก ผมเลยอยากเป็นอย่างนั้นบ้างครับ" ดูเหมือนจะเป็นอะไรที่เป็น "อุดมคติ" เกินไป...... รึเปล่าไหมนะ? 

ลองพิจารณาเรื่องเล่าระดับโลก ว่าทำไมคนถึงชอบ คนถึงติด

มหากาพย์ (Epic) อย่างเช่นอิเลียด หรือโอดิสซีอุส ที่เป็นเรื่องของสงครามกรุงทรอย และการเดินทางผจญภัยของวีรบุรุษ ดูเผินๆเหมือนเป็นการสรรเสริญอุดมการณ์ ความรักชาติ หรือความกล้าหาญ แต่เมื่อพิจารณาดูให้ดี จะพบว่า plot หรือโครงสร้างเรื่องนั้น มาจาก "ความรัก ความรู้สึก" เป็นสำคัญ สงครามระหว่างกรุงทรอย เป็น "ศึกชิงนาง" เมื่อเจ้าชายแพรีส บุตรของกษัตริย์เปรียม ลักพาเฮเลนผู้เลอโฉมมา กรีกก็กรีฑาทัพมา ขุนศึกทั้งหลาย ล้วนเคยสัญญาว่าจะมาช่วยเพราะนางเฮเลนทั้งนั้น ขนาดยูลิซิส หรือโอดิสซีอุสแกล้งบ้า ลากรถไถแทนกระบือ ก็ต้องยอมจำนนมาร่วมทัพที่ไม่อยากมานี้เอง และตำนานยิ่งไปกว่านั้น ก็คือเพราะสามมหาเทวี อันมีเฮรา วีนัส และเอเธนา อยากจะทราบว่าใครสวยที่สุด ซีอุสรู้เท่าทันโยนเผือกร้อนมาให้หนุ่มหล่อสุด (ขณะนั้น) เป็นคนตัดสิน ก็คืออีตาแพรีสนี่เอง แต่ละมหาเทวีก็ติดสินบนก่อนลงบัลลอตกันใหญ่​ (กรีกกับไทยก็ไม่ต่างกัน โบราณปัจจุบันก็ไม่ต่างกัน) แต่วีนัสเธอรู้ใจผู้ชายสุด สัญญาว่าจะจัดการให้ได้กับหญิงงามที่สุดของโลก คือ เฮเลน มิใยที่นางไม่ได้เป็นโสด แต่เทพีแห่งรัก (หรือความใคร่หว่า?) ซะอย่างก็จัดการซะเรียบร้อย มหาเทวีเฮรา (ซึ่งขี้อิจฉาสุดๆ ตามประสาเมียหลวงผู้มีอำนาจ) จึงจองล้างจองผลาญซะไม่มีชิ้นดี 

ใครว่าเกี่ยวกับอุดมคติ ผมว่านี่แหละนิยายประโลมโลกชั้นดีทีเดียว

การผจญภัยของโอดิสซีอุสก็ไม่เบา พล็อตที่ให้คนลุ้นก็คือ นางเพเนโลปี ภรรยาของโอดิสซีอุสจะรอดเงืื้อมมือบรรดา "พระสหาย" ของสามีที่เตรียมมาอยู่กิน จับจอง เพียงแต่เธอโกหกตื้นๆว่าขอทอผ้าให้เสร็จ กลางวันทอ กลางคืนรื้อออก ก็โกหกมาได้เป็นยี่สิบปี  ฉากที่โอดิสซีอุสกลับมา ยกมหาเกาฑัณฑ์ขึ้นยิงลูกศรทะลุรูขวานเจ็ดเล่มนั้น เป็น highlight สุดๆ

ความไม่ยุติธรรม ความยุติธรรม ความรัก ความสัมพันธ์ มีส่วนที่เราทุกคน identify ตัวตนของเราไปกับเรื่องนี้ได้อย่างแนบเนียน และทรงพลัง ทฤษฎีระดับเซลล์ ระดับเจเนติก ฟิสิกส์ที่เป็นนามธรรมมากๆนั้น ใช่สมองส่วนความคิด ความจำ เยอะ แต่ไม่ค่อยโดนสมองอารมณ์ ร่องอารมณ์ สักเท่าไร เรื่องเล่าที่มีชีวิต มีผู้คน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเปี่ยมไปด้วยความรู้สึกนึกคิด จึงโน้มน้าว ชักจูง และปลูกฝังลงในตัวตนได้ลึกซึ้ง

การเรียนแพทย์ เรียนพยาบาล หรือ การใช้ชีวิต เราถูกแวดล้อมด้วยเรื่องเล่ามากมาย หากเราตั้งหน้าตั้งตาหั่นตัดทอนลง ให้เหลือแต่แก่น ทิ้งเปลือก ทิ้งกระพี้ไป ก็ออกจะขาดความสุนทรีย์ไปเยอะ มีแต่หมอแก่ทฤษฎี ไม่ยอมมีอารมณ์ร่วม หรือไม่ก็ออกไป extreme คือ มีอารมณ์แต่ไม่สามารถควบคุมอารมณ์ได้ ปล่อยตนเองเป็นทาสแห่งอารมณ์ เป็นทาสแห่ง judgmental attitude เพราะเราไม่ได้ฝึกหัดการเป็นนายอารมณ์ เป็นนายความคิดนั่นเอง 

 

 

หมายเลขบันทึก: 146765เขียนเมื่อ 15 พฤศจิกายน 2007 23:44 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 21:31 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท