จิตตปัญญาเวชศึกษา 34: เรียนแพทย์ ต้องมีแรงบันดาลใจ


เรียนแพทย์ ต้องมีแรงบันดาลใจ

ถ้าจะติงว่า แล้วเรียนอะไรที่ไม่ต้องมีแรงบันดาลใจ ผมว่าถ้าแค่เรียนให้รู้มากขึ้น ไม่ต้องมีแรงบันดาลใจก็ได้ครับ สลึมสลือเข้าห้อง lecture ให้เสียงผ่านหู เราก็จะรู้มากขึ้นเท่าที่ได้ยิน แต่คำทีี่ต้องการเน้นในที่นี้คือ "ต้อง"

วันก่อน มีชั่วโมงจริยศาสตร์ ก็มีคำถามเกิดขึ้นมา "เรียนไปทำไม?" "ไม่เรียนได้ไหม?" เอาเป็นหมอแบบ Dr House ใน TrueVision TV ที่ยอดเก่ง แต่ไม่มี bedside manner โกหกคนไข้เพราะเชื่อมั่นว่าตนเองรู็ดีกว่า รู้มากกว่า อีกเดี๋ยวคนไข้ที่โกรธๆ ก็จะมาขอบคุณทีหลังเอง เมื่อรอดชีวิตเพราะเรา

สำหรับคนอื่นนั้น จริยธรรมมีประโยชน์มากมาย เพราะจริยธรรมเกิดขึ้นเพราะ "มีคนอื่น" นั้นเอง ตราบใดที่เราอยู่คนเดียวในโลกนี้ ไม่ต้องเกี่ยวพันกับใคร กฏ ระเบียบ มารยาท คุณธรรม จริยธรรม เป็นของฟุ่มเฟือย ไร้ประโยชน์ และไม่ make sense เลย  แต่ทั้งหมดเปลี่ยนทันทีที่มี"คนอื่น" มาร่วมในสมการด้วย

เอ... ทำอะไรๆเพื่อคนอื่น ก็ไม่ได้ดูแลตนเองล่ะซิ? แล้วจริยธรรมมันได้ประโยชน์อะไรต่อคนทำไหมละนี่? วิชานี้ (Ethics) เกรดก็ไม่ได้ตัด ตกก็ไม่น่าจะตกได้ (ประเด็นนี้น่าสนใจ ที่จริงแล้วตกได้ครับ แต่ปัญหาก็คือ ถ้านักศึกษาแพทย์คนไหน ตกจริยศาสตร์ แล้ววิชาอื่นดีหมด เราจะให้ตก หรือ ซ่อม หรือออกเกรดให้ไหม?.....)

เรียนแพทย์นั้น เหมือนๆวิชาอื่นๆก็คือ เราเรียนมาเยอะ ส่วนหนึ่งที่ (หวังว่า) รู้เยอะๆนั้น เราจะใช้มาช่วยในการตัดสินใจ ตัดสินอะไรที่มันยากๆ คนที่คนตัดสินควรจะเป็นคนที่ใคร่ครวญไตร่ตรองและมีเจตนคติที่งดงาม ที่เป็นที่พึ่งพาได้ คือ ผ่านชีวิต ผ่านลมฝน มรสุมมามากๆนั่นเอง เพื่อให้การตัดสิน ถูกพิจารณาอย่างรอบด้านแล้วแท้จริง

แต่ในความเป็นจริงก็คือ แม้แต่การตัดสินที่ "ดีที่สุด" แต่ก็ไม่ได้การันตีผลลัพธ์แต่อย่างใด สุดท้าย เรื่องราวจะลงเอย สรุปอย่างไรนั้น ขึ้นอยู่กับ law of karma and vipaka กฏแห่งวิบากกรรม ใครถูก "กรรมตามทัน" ตอนนี้ ก็จะทุรนทุราย ไม่สามารถตายอย่างสงบ หรือสู่สุคติได้ น่าเศร้าเสียใจ และนอกเหนือไปกว่านั้น หมอทุกคนที่ทำงานอยู่ ไม่ได้มีความสามารถในการรักษา best judgment ตลอดเวลา และในที่สุดเราก็จะมีพลาด มีสำนึกเสียใจ มีต้องการย้อนเวลา ขอแก้ตัว หรือแม้กระทั่งปฏิเสธความเป็นจริงไปเลย

ความผิดพลาดนั้นเป็นของควบคู่กับงาน แต่ความผิดพลาดของหมอกับของครูนั้น มีความรุนแรงเหมือนกันอยู่อย่างนึง ของหมอนั้น ความผิดพลาดมักจะไปลงเอยหลายที่ หน้าหนังสือพิมพ์ website ปาฐกถา บรรยาย small group, etc และเป็นเรื่องของความเป็น ความตาย หรือ พิการ ส่วนความผิดพลาดของครูนั้น อาจจะหมายถึงชาติกำเนิดและการพัฒนาจิตที่บิดเบี้ยว เสียรูปร่างอย่างแรง และกรอบการเติบโตอันคับแคบ อับจนปัญญา ไร้ความคิดคะนึงหา ติดกับดักวิญญาณ การใช้ชีวิตที่ไม่เต็มสมศักยภาพของตนเอง

ทั้งสองอาชีพจึงต้องอาศัย "แรงบันดาลใจ

ทั้งหมอ และครู จะต้องพัฒนาความสามารถที่ตนเองจะอยู่ต่อไป และเรียนรู้จากความผิดพลาดของตนเอง โดยไม่สูญเสียความมุ่งมั่น ศรัทธา ต่อตนเอง ต่อผู้อื่น และต่อวิชาชีพ ดังนั้นเมื่อหมอ หรือครู พิจารณาใคร่ครวญความผิิดพลาดต่างๆ มองย้อนกลับไปทราบว่าเราได้วางฐานของการตัดสินใจนั้นๆ เพื่อประโยชน์สูงสุดของคนไข้อย่างแท้จริง นั่นคือ "จริยธรรม" ถึงแม้ว่าผลสุดท้ายจะเป็นเช่นไรก็ตาม เราก็ยังสามารถดำรงจิตบริสุทธิ์ ความมุ่งมั่นบริสุทธิ์ต่อไป นี่จะเป็นรากฐานการเกิดจิตอุเบกขาในอนาคต

ในสิ่งแวดล้อมที่ดีที่สุด สภาวะแทรกซ้อนก็ยังสามารถเกิดขึ้นมาได้ จากสาเหตุร้อยแปดพันประการ และอาจจะมีผลรุนแรง ถึงพิการ หรือ ถึงชีวิต บางครั้งเราอาจจะไปเจอการตัดสินใจเรื่องจิตวิญญาณที่เราไม่เข้าใจ อาทิ คนบางคนอาจจะยอมตาย ไม่ยอมสูญเสียอวัยวะ ในฐานะที่เราเป็นแพทย์ เราแนะนำให้เสียสละอวัยวะเพื่อรักษาชีวิต แต่คนไข้ก็ไม่ยอม เมื่อคนไข้เสียชีวิตไป แพทย์ก็อาจจะเกิดความรู้สึกที่ไม่ดี ต่อคนไข้ ต่อตนเอง ต่อวิชาชีพ เกิดความสงสัยในความสามารถของตนเอง จนกว่าที่แพทย์จะทำใจได้ว่าการตัดสินใจของตนเองนั้น ไม่ได้ขึ้นกับความรู้ทางการแพทย์เพียงอย่างเดียว แต่ต้องขึ้นกับความรัก ความเข้าใจ ในความแตกต่างของคนอีกด้วย

การตัดสินใจที่มีจริยธรรมหนุนหลัง เป็นเกราะเพชร ที่ดีที่สุด ที่จะทำให้เรามองย้อนหลังไปยังข้อผิดพลาดต่างๆ ในชีวิตของเรา ในเรื่องการตัดสินใจ โดยปราศจาก guilt หรือ การโทษตนเอง และหมกมุ่นกับความเศร้าเสียใจ 

ในการที่เราจะหล่อเลี้ยงพลังที่จะทำให้เราดำเนินชีวิตต่อไป ไม่เพียงแต่แรงบันดาลใจที่ผลักดันให้เราไปถึงจุดมุ่งหมายแห่งชีวิต แต่เราจะต้องมีอะไรที่จะดูแลเวลาที่เราเดินเฉียด หรือ ออกนอกกรอบไปเป็นครั้งคราว สามารถใช้เป็นที่ยึดเหนี่ยวให้เรากลับมาบนมรรคาเหมือนเดิม 

 

หมายเลขบันทึก: 147291เขียนเมื่อ 17 พฤศจิกายน 2007 21:55 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 21:33 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

อยากอ่านงานเขียนแบบนี้เยอะๆ เวลาเรียนจะได้คอยมีสตินึกถึงสิ่งที่ควรทำมากกว่าความขี้เกียจ  จะติดตามงานของอาจารย์เรื่อยๆนะคะ

สวัสดีค่ะอาจารย์

เห็นหัวข้อนี้แล้ว ดิฉันนึกถึงคนที่รู้จักหลายๆคนที่เป็นแพทย์ มีจำนวนไม่น้อย ที่เรียนแพทย์ เพราะคุณพ่อ คุณแม่ คุณปู่ หรือญาติใกล้ชิดเรียนแพทย์

ส่วนใหญ่แพทย์ มักจะมี ลูกคนใดคนหนึ่ง เรียนดี จนสามารถเรียนแพทย์ได้

ศึกษาแพทย์มักเป็นนักเรียนเรียนๆดีของรุ่น ไม่ว่าจะนับไปถึงรุ่นไหนๆ ก็ตาม

และ เหตุผลต่อไปคือ เขาเหล่านั้นเลือกเรียนแพทย์เพราะความต้องการรักษาคนไข้ ซึ่งเป็นความมุ่งหวังตั้งใจที่ดีงามอย่างยิ่ง และเมื่ออยู่ในรั้วมหาวิทยาลัย ครูบาอาจารย์ยังอมรมบ่มเพาะจรรยาของแพทย์ให้อีกด้วย

เมื่อออกมาทำงาน  แพทย์เวร มักต้องทำงานมาราธอน คืออยู่เวรตลอดคืนและบางทีต้องเข้าทำงานกลางวันในรอบธรรมดาต่อเนื่องไปไม่ได้หยุดพัก

นี่เป็นระบบที่วางไว้ซึ่ง ดิฉันว่า ไม่น่าไม่ถูกต้องค่ะ

ในธุรกิจอื่นๆ ที่ต้องรับผิดชอบกับชีวิตของผู้อื่น มักจะมีข้อกำหนดเวลาพักผ่อนเอาไว้เพื่อให้มั่นใจว่าผู้ให้บริการมีสภาพกายและใจพร้อมกับงานเช่นนั้น ยกตัวอย่างเช่นนักบิน ที่มีกำหนดเวลาพักระหว่างการบินทางไกล

 แต่ก็แปลกใจ  ที่แพทย์ซึ่งต้องดูแลชีวิตของผู้ป่วยอย่างเห็นได้ชัดเจนที่สุด บางครั้ง กลับต้องทำงานในสภาพที่ไม่พร้อมเต็มร้อย

นี่ถ้า ไม่มีแรงบันดาลใจ ในการที่จะต้องทำหน้าที่แพทย์อย่างดีที่สุด ตามที่ได้ตั้งปณิธานไว้  ก็คงจะแย่เหมือนกันค่ะ

อยากทราบว่าแรงบันดาลใจของอาจารย์สมัยเรียน และสมัยเป็นอาจารย์แล้วคืออะไรครับ

ขอบคุณครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท