จิตตปัญญาเวชศึกษา 51: พยาธิกำเนิด สุขภาวะกำเนิด


พยาธิกำเนิด สุขภาวะกำเนิด 

 

            กระบวนความคิดนั้นมีผลทั้งทางตรงและทางอ้อมต่อพฤติกรรมมนุษย์ ความคิดนั้นมีความซับซ้อน และมีองค์ประกอบกับอารมณ์ และความรู้สึกนึกคิดด้วย พฤติกรรมแสดงออกมาด้วยภาษาที่หลากหลาย ภาษาพูด ภาษาสีหน้าท่าทางหน้าตา ภาษาเขียน วรรณกรรม หรือแม้แต่ภาษาศิลปที่สะท้อนถึงอารมณ์ ความรู้สึกที่ไม่อาจจะบ่งบอกได้ด้วยวิธีธรรมดา การที่แพทย์จะดูแลรักษาผู้ป่วยสักรายหนึ่งนั้น เป็นความท้าทายที่แพทย์จะสามารถ “เข้าถึง” ก้นบึ้งแห่งสาเหตุของความเจ็บไข้ได้ป่วย รวมทั้ง “นิเวศสุขภาพ”
ของตัวผู้ป่วยได้มากน้อยเพียงไร ยิ่งสามารถสืบสาวถึงต้นเหตุต้นตอได้ยิ่งมีโอกาสช่วยเหลือคนไข้ได้มากขึ้น ยิ่งเข้าใจในบริบท สิ่งแวดล้อม ที่จะมีอิทธิพลต่อตัวคนไข้ได้ด้วย ยิ่งเปิดโอกาสให้เข้าใจในภาพรวม ภาพชีวิต ที่มีองค์ต่างๆครบ

ในโรงพยาบาลนั้น คนไข้เดินมาหาหมอด้วยโรคภัยไข้เจ็บมาก่อน บางรายก็รักษาเป็นผู้ป่วยนอกก็หาย ไม่ต้องนอนโรงพยาบาล บางรายหมอก็ต้องให้นอนที่โรงพยาบาล เพราะอาการหนัก หรือต้องตรวจพิเศษเพิ่มเติม หรือเพื่อการรักษาบางรูปแบบ คนไข้ส่วนหนึ่งรับการรักษาเสร็จเรียบร้อยก็หายขาด กลับบ้านได้ แต่จะมีคนไข้อีกส่วนหนึ่งที่มีโรคเรื้อรัง หรือเป็นโรคมีผลกระทบจากพฤติกรรม สิ่งแวดล้อมที่บ้าน หรือที่ทำงาน พอกลับจากโรงพยาบาลไปอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่มีความเสี่ยงเช่นเดิม ไม่ช้าไม่นานคนไข้ก็จะต้องย้อนกลับ มาหาหมอที่โรงพยาบาลใหม่ ด้วยอาการเก่า หรือผลแทรกซ้อนจากโรคเก่าๆ เมื่อมีคนไข้แบบนี้จำนวนมาก ก็จะสะสม และกลายเป็นภาระที่โรงพยาบาลจะต้องใช้ resource มากขึ้นทั้งเวลา บุคคล และทรัพย์สิน โดยที่เป้าหมายคือสุขภาวะของคนไข้ไม่ได้ดีขึ้นอย่างที่เราหวัง

ระบบการแพทย์ในยุคก้าวหน้านี้ จึงควรที่จะเพิ่มและใช้ศักยภาพขององค์กรมากขึ้น ให้บุคลากร มีความเข้าใจในบริบท ส่ิงแวดล้อมต่างๆ ที่มีผลต่อสุขภาวะของคนไทย เพราะทั้งหมอ พยาบาล คนไข้ โรงพยาบาล อนามัย ที่ทำงาน ชุมชน ล้วนแต่เป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียต่อสุขภาพของทุกๆสมาชิกในชุมชนทั้งสิ้่น เมื่อเกิดปัญหาต่อฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด ก็จะส่งผลกระทบไปหาทั้งระบบนิเวศได้

มีครั้งหนึ่ง ที่นักศึกษาแพทย์ชั้นปีที่สอง ออกไปฝึกหัดเยี่ยมบ้านคนไข้ที่พึ่งกลับจากโรงพยาบาล ก็ไปพบว่าคนไข้เป็นผู้ป่วยทางจิต เป็นมารดาของลูกสาวคนเดียว ลูกสาวพึ่งจบปริญญาตรีมาได้ไม่กี่ปี แต่เนื่องจากมารดาป่วย จึงต้องอยู่ดูแลที่บ้าน ไม่ได้ออกไปทำงาน ภาระการหาเงินตกเป็นของสามีคนไข้ ซึ่งก็มีอายุมากแล้ว ตอนทีทีมปฐมภูมิของโรงพยาบาลไปเยี่ยม ก็มีญาติพี่น้องเพื่อนบ้านที่อยู่ใกล้ๆ มาเดินเยี่ยมๆมองๆดูกันหลายคน ว่าหมอ พยาบาล เขามาทำอะไรกันที่บ้านนี้ ปรากฏว่าคนไข้ไม่พอใจ ส่งเสียงด่า สะบัดมือสะบัดเท้า ไม่ยอมให้พยาบาลตรวจ วัดความดัน หรือตรวจร่างกายอะไรเลย นักศึกษาแพทย์สามารถบรรยายสภาพความเป็นอยู่ สิ่งแวดล้อม และอาการต่างๆของคนไข้ได้ดีพอสมควร แต่พอถามถึงสุขภาพของลูกสาวผู้เป็นคนดูแลคนไข้ ก็ตอบได้ไม่ชัดเจนเท่าไร ถามว่าพยาบาลทำอย่างไร เวลาคนไข้ส่งเสียงดัง น้องนักศึกษาแพทย์ก็ลังเลไม่แน่ใจ เพราะไม่ทันได้สังเกต และไม่สามารถตอบได้ว่า ทำไมพี่ๆพยาบาลจึงยังรักษาอารมณ์ ความตั้งใจในการทำงานต่อไปได้ เหมือนกับไม่มีอะไรเกิดขึ้นเลย เราก็เริ่มมองเห็นจุดอ่อนในระบบการเรียนการสอนของเรา ที่เน้นระบบการให้บริการพยาบาลของหมอ และพยาบาลเป็นหลัก การรวบรวมข้อมูลเรื่องราวต่างๆ ก็จะอิงประโยชน์ใช้สอยต่อการทำงานของเราเป็นส่วนใหญ่ แต่ยังขาดความเชื่อมโยงไปถึงสาเหตุด้านอื่นๆ ของพยาธิสภาพไปอีกไม่น้อย

บางครั้งถ้าหากเรามองคนไข้แบบองค์รวม แบบเป็นระบบนิเวศ เราจะเริ่มมองเห็นความเปลี่ยนแปลง และเห็นความเกี่ยวเนื่องเชื่อมโยงด้านอื่นๆเพิ่มมากขึ้น เราอาจจะเร่ิ่มตั้งคำถาม อาทิ ถ้าหากลูกสาวคนไข้รายนี้ ใช้ชีวิตเหมือนพยาบาล แต่มีเพียงคนเดียว เขาจะมีความสุขไหม อย่างไร ที่โรงพยาบาลเราใช้พยาบาล 3 ผลัดต่อวัน ผลัดละ 8 ชั่วโมงช่วยกันดูคนไข้ และก็พบว่าเป็นงานที่หนัก เหน็ดเหนื่อย ใช้พลังกาย พลังใจอย่างมากมาย แล้วเมืิ่อพิจารณาในมุมของลูกสาวคนไข้คนนี้ เขาจะรู้สึกเป็นงานหนักหรือไม่ เหน็ดเหนื่อยแค่ไหนหรือไม่ จะมีโอกาสอะไรไหมที่ลูกสาวคนนี้จะได้ออกไปภายนอกบ้าง เจอะเจอผู้คนอื่นๆบ้าง แต่งงานมีครอบครัว มีชีวิตของตนเองบ้าง และเมื่อไร ปริญญาที่เรียนจบมาจะได้ใช้ไปทำงานได้ไหม เมื่อไร

ตัวลูกสาวเองอาจจะไม่่ได้นึกอะไรแบบที่ว่ามานี้เลยก็เป็นไปได้ อาจจะมองเป็นการทำงานที่มีศักดิ์ศรี เป็นมงคลต่อชีวิตที่ได้มีโอกาสทดแทนพระคุณมารดา แต่ ณ ขณะนี้ ปัญหาคือ เรายังไม่เข้าใจระบบวิถีการดำเนินชีวิตของนิเวศบ้านนี้ ว่าสมาชิกของครอบครัวนี้มีความสุขหรือไม่ และมีความสุขได้อย่างไร องค์ประกอบของสุขภาวะของครอบครัวนี้ประกอบไปด้วยอะไรบ้าง? รวมทั้งความรู้สึกของญาติพี่น้อง เพื่อนบ้าน ที่อยู่บ้านใกล้เรือนเคียง คนเหล่านี้รู้สึกอย่างไรที่คนไข้คนนี้อยู่ที่บ้านนี้ มีการช่วยเหลือพึ่งพากันอย่างไร และอะไรคือบทบาทของแพทย์ พยาบาล ที่อาจจะช่วย empower ให้สังคมนิเวศเล็กๆนี้ มีความสุขมากขึ้น มีความทุกข์น้อยลง

ารดูแลสุขภาพนั้น ไม่ได้เกี่ยวเฉพาะการศึกษาแต่พยาธิสภาพ (Pathology) พยาธิกำเนิด (Pathogenesis) หรือศึกษาแค่เรื่องราวของโรคภัยไข้เจ็บก็เพียงพอ แต่พันธกิจนีี้ จะต้องอาศัยความเข้าใจใน “สุขภาวะกำเนิด” ด้วย (Salutogenesis)

 สุขภาวะกำเนิด (Salutogenesis) 

 คำนี้มาจาก Latin salus = health และ Greek genesis = origin เป็นการแพทย์ที่เน้นปัจจัยที่ส่งเสริม และสนับสนุนสุขภาวะ ความเป็นอยู่ดี ไม่ได้เน้นที่เรื่องของการเกิดพยาธิสภาพ คนแรกที่ใช้คำๆนี้คือ Aaron Antonovsky ในปีคริสตศักราข 1979 และพบว่าคนที่มีสุขภาวะที่ดีนั้น ส่วนใหญ่จะมีภูมิต้านทานต่อโรคไปด้วย และรวมไปถึงความเป็นอยู่ที่ดี การดูแลปัจจัยอย่างมีความเกี่ยวโยงต่อเนื่องกัน (coherence) ปัจจัยต่างๆเหล่านี้ได้แก่ การดูแลร่างกาย การดูแลจิตใจ สิ่งแวดล้อม เป็นการดูแลทั้งระบบนิเวศของคน เพื่อได้มาซึ่งสุขภาวะอันสมบูรณ์

ความเข้าใจในสุขภาวะกำเนิดนี้ ควรจะมีทั้งฝ่ายประชาชน และฝ่ายผู้ดูแลสุขภาพ คือหมอ พยาบาล เพราะด้วยความเข้าใจ ความตระหนัก และการให้ความสำคัญ จึงจะเกิดเป็นแรงผลักดันต่อพฤติกรรม โรคจำนวนมากเกี่ยวกับพฤติกรรมการใช้ชีวิต (Behavior-related Diseases) อาทิ เบาหวาน ความดันสูง การติดยา อุบัติเหตุจราจร หรืออุบัติเหตุในที่ทำงาน สุขภาพจิตเสื่อมโทรม การดูแลพยาธิสภาพเหล่านี้ไม่สามารถจะทำโดยฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดเท่านั้น แต่ต้องเป็นความร่วมมือจากทุกฝ่าย และรวมไปถึงระดับบริหาร นโยบาย ระบบการจัดงบประมาณบริหารประเทศ

การผลิตแพทย์ในระบบสุขภาพใหม่ ก็อาจจะต้่องพิจารณาว่า เราควรจะทำอย่างไร จึงจะทำให้มีการบูรณาการของความเข้าใจในพยาธิสภาพ และความเข้าใจในสุขภาวะกำเนิด มาใช้่ในทางปฏิบัิติ เพื่อสุขภาวะของประเทศโดยรวม

 

หมายเลขบันทึก: 162687เขียนเมื่อ 1 กุมภาพันธ์ 2008 12:26 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 22:33 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (8)

น่าสนใจครับ เรื่อง สุขภาวะกำเนิด

เป็นประเด็นที่ถูกมองข้ามและให้ความสนใจน้อยในการเรียนแพทย์

ส่วนใหญ่จะเรียนความผิดปกติ+แก้ไขความผิดปกติ เวลาตรวจคนไข้ต้องหาสิ่งผิดปกติ

ผมไม่ค่อยได้เห็นว่าใครจะหา ข้อดีของคนไข้ว่ามี จุดแข็ง ทางกาย/ทางจิต/ทางวิญญาน อย่างไร

ผมพา นศพ. ไปเยี่ยมบ้านผู้ป่วย อัมพาต ทุกคนพยายาม มองหาปัญหามาให้ผม แต่ไม่มีใครประเมิน ทรัพยากร/positive family resourse ให้ผม

ถึงแม้คนไข้เจ็บปวดจาก neuropathic pain ไม่มี care-giver แต่ข้อดีของคนไข้คือ มีความพยายามช่วยเหลือตัวเองอย่างมาก มีจิตใจเข้มแข็ง

ดิฉันชื่นชมมากค่ะ  ที่การแพทย์ปัจจุบันเน้นปัจจัยที่ส่งเสริม และสนับสนุนสุขภาวะ ความเป็นอยู่ดี ไม่ได้เน้นที่เรื่องของการเกิดพยาธิสภา    หากร่างกายแข็งแรง จิตใจแจ่มใส จะส่งผลต่อภาวะการทำงานของอวัยวะต่างๆให้ดีขึ้นด้วยอย่างเช่น  การออกกำลังกาย จะทำให้คนเราแข็งแรง  และการออกกำลังให้ร่างกายฟิตนั้น มีความสัมพันธ์กับจิตใจ อย่างลึกซึ้ง แยกจากกันไม่ได้แน่นอน สังเกตดูว่า เวลาดิฉัน  ไปออกกำลังกาย จิตใจก็จะสดชื่นขึ้นกว่าปกติค่ะ   ยิ่งผู้ที่ เริ่มอาวุโส มีอายุย่าง 50 หรือ 60 ปี ควรยิ่งต้องมีการออกกำลังกาย เพื่อทดแทนความเสื่อมถอยของเซลล์สมอง มิฉะนั้น คุณภาพของทักษะการคิด ความเฉียบคม ความว่องไว และวิจารณญาณในการตัดสินใจจะลดถอยลงอย่างแน่นอน และอาจส่งผลต่อการเป็นอัลไซเมอร์ได้ในอนาคต  ซึ่งน่ากลัวมากนะคะ

โรจน์ครับ

ตอนนี้เราจะสอนนักเรียนแพทย์ให้ประเมินสองอย่าง หนึ่งก็คือค้นหาสาเหตุแห่งทุกข์ ตาม traditional medical interview ว่าเป็นจากอวัยวะอะไร เป็นอะไร อีกประการคือทำความรู้จักกับคนไข้จนทราบว่า ที่แล้วๆมา เขามีความสุขจากอะไรบ้าง

เอาข้อมูลทั้งสองประการมาช่วยกัน ใช้ในการดูแลคนไข้ครับ 

คุณ Sasinanda ครับ

สวัสดีวันตรุษจีนครับ

ผมเองไม่ทราบเหมือนกันว่าทำอย่างไรจะป้องกันอัลไซเมอร์ได้ แต่ขอเพียงพวกเราเริ่มต้นสนใจดูแลสุขภาพ ทำอย่างเต็มที่ จะเกิดอะไรขึ้น ไม่ว่าจะเป็นโรคภัยไข้เจ็บ อุบัติเหตุ หรืออย่างไร ก็ไม่น่าเสียใจ เสียดาย

ดีใจที่ได้ยินว่าคุณ sasinanda มีสุขภาพดีทั้งกายและจิตใจครับ ฟังแล้วมีความสุขครับ 

ขอให้อาจารย์มีความสุขและเฮงๆๆๆค่ะ

ขอบพระคุณมากๆครับ ขอพรนี้บังเกิดต่อคุณ sasinanda นับหมื่นๆเท่าด้วยครับ

สวัสดีครับอาจารย์

 เป็นการเรียนรู้สิ่งใหม่สำหรับผมเลยนะครับ..

 น่าสนใจจริงๆอย่างที่น้องโรจน์กล่าวครับ...

 ผมจะนำไปปฏิบัติดูครับอาจารย์(ที่ผ่านมาอาจจะแว๊บๆแต่ไม่ชัด)

 ได้ผลอย่างไร..จะนำเรียนท่านอาจารย์อีกครั้งครับ

ปีที่แล้วได้ฟังอาจารย์กล่าวถึงคำนี้ในที่ประชุม HA ของกรมสุขภาพจิต ประทับใจค่ะ ปีนี้ตามมาถึงที่นี่ เพื่อให้เข้าใจมากขึ้นคิดว่า คงไม่สายเกินไป

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท