ฉือจี้ การเดินทางจตุทศวรรษ ตอนสิบ


การเดินทางจตุทศวรรษ

เมื่อเราได้เห็น ได้ยินได้ฟัง ได้รับรู้เรื่องราว อันเกือบจะเหมือนเรื่องมหัศจรรย์ของมูลนิธิพุทธฉือจี้ เราก็อดมิได้ที่จะมานั่งคิดคำนึง นี่เขาทำอย่างไรกันหนอ จึงทำได้ขนาดนี้? ทุกทีเวลาคนพูดถึงเรื่อง abstract เช่น คุณธรรม จริยธรรม จรรยาบรรณ จะสอดแทรกลงไปในหลักสูตร ก็ไปติดที่นิยาม การเขียน learning objective การออกแบบการประเมิน การวัด การชั่งตวง ความดีกันได้อย่างไร บ้างก็คิดจะทำ "สมุดพกความดี" (เอามาชั่งน้ำหนัก หรือดูความบวม ความหนา?) บ้างก็คิดจะ "ตัดเกรด" วิชาจริยธรรม (เธอได้เกรด B+ เธอได้ C คุณธรรมนะ....... ????) หรือมีแม้กระทั่ง "เมื่อไร อาจารย์จะสอนวิชาที่ทำให้ผมเป็นแพทย์จริงๆเสียทีล่ะครับ มัวแต่สอนสังคมศาสตร์ (ethics) อยู่ได้....." พวกเราก็ได้มีโอกาสมานั่งในห้องประชุมใหญ่ของวิทยาลัยแพทย์ฉือจี้ที่ฮวาเหลียน และรับฟัง "การเดินทางมหัศจรรย์" ยิ่งกว่า Western Adventure หรือ "ไซอิ๋ว" ของพระถังซำจั๋งและบรรดาสานุศิษย์เสียอีก

ท่านธรรมาจารย์เจิ้นเหยียน Venerable Master Cheng Yen, 1991 Magsaysay Awardee

ท่านธรรมาจารย์เจิ้นเหยียนเกิดเมื่อ 14 พฤษภาคม 2480 ตอนนี้ท่านจึงมีอายุได้  71 ปีแล้ว เมื่ออายุเพียงแปดปี ท่านเจิ้นเหยียนก็เริ่มรับรู้ถึงความทุกข์ทรมานของความเจ็บไข้ได้ป่วยเพราะเธอต้องดูแลน้องชายที่ป่วยที่ รพ.อยู่นานถึง 8 เดือน ตอนยังเด็กอายุ 15 ปี มารดาล้มป่วยลง ท่านได้ขออธิษฐานลดอายุตนเองลง 12 ปี เพื่อให้มารดามีอาการดีขึ้น และเริ่มกินมังสะวิรัติแต่นั้น ต่อมาเมื่อท่านเจิ่นเหยียนอายุได้ 23 ปีบิดาของท่านล้มป่วยกระทันหันจากเลือดออกในสมอง และเสียชีวิตลง ท่านเสียใจมากและได้เริ่มออกเดินทางจาริกแสวงบุญ จะออกบวช ด้วยกุศลบันดาลให้ท่านได้มีโอกาสมาเจอพระอุปัฌาย์ ท่านอาจารย์ยิ่นซุ่น (Yin Shun) ซึ่งเป็นพระเดินทางมาจากประเทศจีน ขณะนั้นท่านกำลังอยู่ในร้านหนังสือธรรมะแห่งหนึ่ง ท่านเจิ้นเหยียนได้รวบรวมความกล้า เข้าไปหาท่านอาจารย์อิ่นซุ่นให้บวชให้ ท่านอาจารย์อิ่นซุ่นได้ให้คำสั่งสอนเพียงคำเดียวคือ "ธำรงพระพุทธศาสนา ดูแลเมตตาสัตว์โลก" เขียนเป็นอักษรจีนแค่ 6 ตัวเท่านั้น ตั้งแต่นั้น ก็กลายเป็นทั้งพระธรรม คำสอน และวิถีชีวิตปฏิบัติทั้งหมดของท่านธรรมาจารย์เจิ้นเหยียนมาโดยตลอด

 

ท่านธรรมาจารย์เจิ้นเหยียนและท่านอุปัชฌาย์ยิ่นซุ่น

ท่านยิ่นซุ่น Venerable Master Yin Shun เป็น buddhist scholar ที่มีผลงานมากมาย ประโยคที่ท่านถือว่าสำคัญมากก็คือ "All Buddhas arise in the human world; no-one achieves buddhahood in heaven." ทำให้เกิดสายพุทธธรรมที่เน้นการปฏิบัติอย่างแท้จริงตามมา

หลังจากที่ท่านได้อุปสมบท มีเหตุการณ์ที่เป็นแรงบันดาลใจสองประการที่เล่าต่อๆกันมา จนกลายเป็นพันธกิจแห่งชีวิตของท่าน เหตุการณ์แรกคือ การเผชิญกับแม่ชีคาธอลิกสามองค์ ทั้งสามมีความเลื่อมใสในคำสั่งสอนของพระพุทธศาสนาเป็นอย่างยิ่ง ว่ามีความลำ้ลึก cultivate inner soul ไปถึงจิตวิญญาณ แต่ว่า "โบสถ์คาธอลิกได้สร้างทั้งโรงพยาบาลและโรงเรียนมาทั่วโลก แล้วพระพุทธศาสนาได้ทำอะไรให้แก่สังคมบ้าง?" ตั้งแต่นั้นมาท่านเจิ้นเหยียนก็ดำริอยู่เสมอว่า พุทธศาสนาน่าจะทำประโยชน์ที่เป็นรูปธรรมแก่โลกมากกว่าการบำเพ็ญจิตใจเพียงอย่างเดียว

และอีกเหตุการณ์ที่ท่านเดินทางโรงพยาบาลที่ฟงหลิน เจอกองเลือดหน้าโรงพยาบาล ถามไถ่ดูก็ทราบว่าเป็นเลือดของมารดาชาวพื้นเมืองไต้หวัน (aborigin) ที่มีแท้งลูก ไม่สามารถเข้า รพ.ได้เพราะไม่มีเงินมัดจำ 8,000 ดอลล่าร์ไต้หวัน สร้่างความสะเทือนใจแก่ท่านเจิ้นเหยียนมาก จนท่านตั้งปณิธานว่าจะต้องช่วยเหลือผู้ตกทุกข์ ให้ได้เข้าถึงการรักษาพยาบาลสุขภาพอย่างทั่วถึง

สี่สิบปีที่ผ่านไป พอจะแบ่งเป็นยุคของพันธกิจต่างๆได้ 4 ยุค คือ

  1. ยุคช่วยเหลือผู้ประสบภัย
  2. ยุคช่วยเหลือผู้เจ็บป่วย
  3. ยุคแห่งการศึกษา
  4. ยุคแห่งการสร้างสรรค์คุณธรรม

ยุคแรก: กอบกู้ผู้ประสบภัย

ท่านธรรมาจารย์เจิ้นเหยียนได้ก่อร่างสร้างขบวนการ Suffering Relief ของท่านเรียกว่าจากไม่มีอะไรเลย ท่านและสานุศิษย์รุ่นแรก ถักทอรองเท้่าจากเศษผ้า เศษด้าย ขายได้วันละไม่กี่คู่ นำเงินไปช่วยเหลือผู้ประสบทุกข์ภัยในที่ต่างๆ

    

ท่านได้เดินทางไปทุกๆที่พร้อมกับอาสาสมัครของท่าน ไปประเมิน ไปพูดคุย นำข้าวของเครื่องใช้จำเป็นไปแจกจ่าย ครั้งหนึ่งที่มีทุกภิกขภัยร้ายแรงที่ประเทศจีน ท่านเจิ้นเหยียนก็จะพาพรรคพวกไปช่วยเหลือ แม้ว่าตอนนั้นไต้หวันกับจีนจะมีกรณีพิพาททางการเมืองอย่างดุเดือด และสมาชิกบางคนของฉือจี้ก็ไม่พอใจที่ท่านจะไปช่วยจีน แต่ท่านก็ได้ให้เหตุผลว่า ผู้คนที่กำลังตกทุกข์ได้ยากนั้น ไม่ได้เกี่ยวอะไรกับกรณีพิพาททางการเมือง และต้องการความช่วยเหลืออย่างยิ่ง ท่านก็จะไป การขอ VISA การขอเข้าเมืองต้องผ่านขั้นตอนต่างๆมากมาย แต่ผลสุดท้ายมูลนิธิพุทธฉือจี้ ก็ได้กลายเป็นองค์กรช่วยเหลือผู้ประสบภัยจากไต้หวันเพียงแห่งเดียวที่ได้รับอนุญาตเป็นทางการไปช่วยเหลือในจีนแผ่นดินใหญ่ นับเป็นหลักฐานว่ามหาเมตตาบารมีนั้นอยู่เหนือการทะเลาะวิวาทบาดหมางของผู้คนได้อย่างชัดเจน

 

 

ข้าวของและบ้านเรือนพักที่อยู่อาศัยที่ชาวฉือจี้นำไปแจก และไปสร้างให้บรรดาผู้ประสบภัยธรรมชาติ

การได้ไปช่วยเหลือ สำหรับชาวฉือจี้เป็นการเปิดโอกาสให้ทำบุญ Blue Angels เหล่านี้จึงขอบพระคุณผู้ที่เปิดโอกาสให้ตนเองให้เพาะสะสมบุญเมตตาบารมีด้วยการแสดงความเคารพ

ยุคที่สอง: บรรเทาความเจ็บไข้ได้ป่วย

เมื่อมีผู้ประสบภัย นอกเหนือจากการขาดแคลนสิ่งของ ของใช้ ของกิน สิ่งที่ตามมาก็คือปัญหาสุขภาพ ท่านเจิ้นเหยียนดำริว่า ชาวพุทธจะ cultivate soul บ่มเพราะจิตวิญญาณได้อย่างไร หากสุขภาพไม่ดี ไม่แข็งแรง คนเราจะมีสมาธิ มีสติ ได้อย่างไรกัน ดังนั้นในยุคที่สอง มูลนิธิพุทธฉือจี้ได้ขยายขอบเขตพันธกิจเข้าไปดูแลสุขภาพของคน มีการสร้างโรงพยาบาลที่เป็นของประชาชน มีเงินรายได้่จากเงินบริจาค ในโรงพยาบาลนอกจากจะมีเครื่องมือเครื่องใช้ทางการแพทย์ที่ทันสมัยไม่แพ้โรงพยาบาลระดับมาตรฐานที่ใดๆในโลก ยังคงมีเอกลักษณ์ของฉือจี้ก็คือการที่มีอาสาสมัครฉือจี้มาช่วยงานเต็มไปหมด

บางโรงพยาบาลจะมีแผนกคนชรา ที่ตอนช่วงกลางวัน บางบ้านที่ลูกหลานต้องออกไปทำงานกันหมด ไม่มีใครอยู่ดูแลคนชราที่ต้องการความช่วยเหลือ ก็จะพาคนชราเหล่านี้มาฝากไว้ที่โรงพยาบาล ซึ่งจะมีที่ทางเป็นสัดส่วน มีนักกิจกรรมมาให้การดูแล คนชราก็จะมีโอกาสได้พบปะสังสรรค์กับเพื่อน และทำกิจกรรมต่่างๆร่วมกัน พอตกเย็นลูกหลานก็จะมารับกลับบ้านไป

ยุคที่สาม: การศึกษาคือบ่อเกิดปัญญา

แต่โรคภัยไข้เจ็บดูจะเป็นความทุกข์ที่ไร้ที่สิ้นสุด โรคภัยไข้เจ็บส่วนใหญ่จะมาจากพฤติกรรมเสี่ยงทางสุขภาพต่างๆมากมาย เช่น การกินเหล้า สูบบุหรี่ การกินอาหารไม่ถูกสุขลักษณะ การละเลยการออกกำลังกายดูแลสุขภาพของตนเอง ผู้คนเสพข้อมูลจากสื่อสาธารณะซึ่งเต็มไปด้วยโฆษณาสินค้า ภาพยนต์ และอะไรที่ไม่ได้ส่งเสริมต่อสุขภาพทั้งทางกาย ทางจิตใจ สังคม หรือจิตวิญญาณเลย ท่านธรรมาจารย์เจิ้นเหยียนจึงดำริที่จะเปิดแนวรบอีกด้านสำหรับพันธกิจช่วยเหลือสัตว์โลกของท่านก็คือการศึกษา

มูลนิธิพุทธฉือจี้ได้ออกแบบโรงเรียนที่นอกเหนือจากการสอนวิชาความรู้ต่างๆแล้ว ยังสอนวิธีการเป็นมนุษย์อันประเสริฐที่รู้จักคิด รู้จักไตร่ตรอง และคงไว้ซึ่งคุณธรรมสร้างโลก ได้แก่ สัจจะ กตัญญู เสียสละ ความหมั่นเพียร อดทน ความรัก ความเมตตากรุณา การเอาใจใส่ดูแลสิ่งแวดล้อม โดยปลูกฝังตั้งแต่เด็กๆ เด็กนักเรียนฉือจี้จะได้เรียนโดยเน้นการปฏิบัติจริง ปลูกฝังความรัก การเอาใจใส่ สัมผัสคนแก่คนชราอย่างมีเมตตา และมีกตัญญูรู้คุณพ่อแม่ครูบาอาจารย์

เด็กๆจะถูกพาไปดูแลคนแก่คนเฒ่าตามสถานที่ต่างๆ ทำความคุ่้นเคย พูดคุย และให้่บริการตามกำลังของตน ไม่ว่าจะเป็นบีบนวดให้ พูดคุยเป็นเพื่อน เมื่อเด็กๆพวกนี้กลับไปบ้าน ก็จะทำอย่างเดียวกันกับคุณพ่อคุณแม่ คุณปู่ คุณย่าของตนเองได้อย่างไม่เคอะเขิน หรือรู้สึกว่าเป็นเรื่องแปลกประหลาด คำสั่งสอนทางพุทธศาสนา เช่น พรหมวิหาร 4 หรือ อิทธิบาท 4 ถูกนำมาแสดงออกภาคปฏิบัติ ทำให้่ธรรมะนั้นต้องออกมาได้ทางการปฏิบัติจริง ไม่เพียงแต่เป็นการท่องบ่นตามตำราเท่านั้น

เมื่อเด็กๆไปเก็บกวาดขยะตามที่ต่างๆ ครูก็จะพาเด็กนักเรียนมาพิจารณาขยะ เห็นมีชานหมาก เศษหมากจำนวนมาก ก็จะเรียนรู้่ไปโดยตนเองว่าการสาธารณสุขของไต้หวันยังมีคนเคี้ยวหมาก คายหมากตามท้องถนนอยู่เป็นจำนวนมาก เด็กๆถูกสอนให้ทราบว่ากระดาษแต่ละแผ่นมาจากต้นไม้ ที่ต้องตัดโค่นลงมา จึงควรจะใช้กระดาษทุกแผ่นด้วยความประหยัด ท่านธรรมาจารย์เจิ้นเหยียนจะทำให้ดูเป็นตัวอย่าง ไม่เพียงแต่ท่านเขียนกระดาษทั้งสองหน้า ยังเขียนตัวเล็ก เต็มหน้า ครั้งแรกด้วยดินสอ เต็มแล้วก็เขียนด้วยปากกา ด้วยปากกาหมึกซึม และสุดท้ายก็ด้วยพู่กันจีน ก่อนจะทิ้งไปเขียนแผ่นใหม่ เป็นการสอนให้รู้จักคุณค่าของทรัพยากรและช่วยกันประหยัด ใช่อย่างคุ้มค่าที่สุด

การสร้างสถานีโทรทัศน์ต้าอ้ายเป็นอีก step สำคัญในการบุกเบิกทางด้านการศึกษาของมูลนิธิพุทธฉือจี้ ท่านเจิ้นเหยียนเป็นคนทันสมัย และติดตามความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ท่านมองเห็นทั้งประโยชน์และโทษของเทคโนโลยี แต่ก็ไม่ทอดทิ้งความคิดหาทางใช้ประดยชน์สูงสุด สถานที่ก่อสร้างของฉือจี้ บนทางปูพื้น จะมีช่องว่างระหว่างอิฐปูพื้นเสมอ ท่านบอกว่าเป็นทางให้พื้่นได้มีช่องหายใจ เรียกว่า chain brick pattern ถนนหนทางในมหาวิทยาลัยทุกแห่งของฉือจี้ จะปูโดย staff และนักเรียนเอง เพื่อให้ได้เกิดความรู้สึกผูกพันเชื่อมโยงของที่ดิน ของแผ่นดินที่กำลังถูกปูทับ และรับรู้ความรู้สึกของโลกใบนี้ที่เรากำลังใช้ชีวิตอยู่

ยุคที่สี่: เมตตาธรรมค้ำจุนโลก

ในยุคนี้ ท่านธรรมาจารย์เจิ้นเหยียนเห็นว่ามนุษย์มีความอหังการ์มากขึ้น จนละเลยแม่พระธรณี ละเลยธรรมชาติ คิดว่าตนเองรู้ไปหมดทุกอย่าง หารู้ไม่ว่าทุกๆวันทรัพยากรที่หาชดเชยไม่ได้ในชั่วอายุนี้ หรืออีก 10 ชั่วอายุ กำลังหมดไป ขณะเดียวกันประชากรก็กำลังเพิ่มมากขึ้นๆเป็นทวีคูณ

พันธกิจยุคปัจจุบันจึงเป็นว่าเราจะต้องพยายามหันเห ลดความอหังการ์ของมนุษย์ ปรับจิตปรับคุณค่าทางจิตใจให้สูงสู่ความเป็นมนุษย์ใหม่อีกครั้งหนึ่งให้ได้ โดยผ่านทางการศึกษา การประชาสัมพันธ์ การเชิดชูซึ่งความดี ความงาม ความรัก ความเมตตาความกรุณาอย่างไม่หยุดยั้งของสมาชิกชาวฉือจี้ทุกๆคน

เมื่อเราได้มองเห็นภาพ คติอันเจริญเติบโตตามขั้นตอน วิสัยทัศน์และพันธกิจทีีมาจากการทำงานปฏิบัติตรง ได้เห็นความทุกข์ยากลำบากของเพื่อนมนุษย์ เห็นความไม่เพียงพอ ความไม่ยุติธรรม ความเหลือมล้ำของการเข้าถึงทรัพยากร และสิิทธิพื้นฐานแห่งความเป็นมนุษย์ เราจึงเริ่มเข้าใจว่าทำไม compassion จึงอยู่ในทุกๆกิจกรรม ทำไมคนของฉือจี้จึงมีความมุ่งมั่น จึงไม่ท้อถอย ไม่หยิ่งผยองในสิ่งที่ได้ทำ ได้สำเร็จ ก็เพราะยังมีเวไนยสัตว์อีกเป็นจำนวนมากที่รอคอยความช่วยเหลือ ความแบ่งปัน ความรัก ความสุขอยู่ตลอดเวลา มีความไร้เดียงสาที่รอคอยบทเรียนอันมีค่ามีความหมาย มีความไม่รู้ที่รอการกล่อมเกลา มีสุขภาพอันทรุดโทรมที่ต้องการความเอื้ออาทร มีพันธกิจแห่งความเป็นมนุษย์รอคอยเราอยู่เป็นอนันต์ ทุกๆหายใจ ทุกๆฝีก้าวของเรา เราสามารถจะทำให้เกิดความแตกต่างได้ เริ่มต้นจากตัวเราเองนี่เอง

 

หมายเลขบันทึก: 183396เขียนเมื่อ 20 พฤษภาคม 2008 12:44 น. ()แก้ไขเมื่อ 17 มิถุนายน 2012 19:29 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (12)

ขอบพระคุณอาจารย์มากค่ะที่ได้ถ่ายทอดการไปเยี่ยมมูลนิธิพุทธฉือจี้ในครั้งนี้

ตัวเองได้เรียนรู้มากมายจากการอ่านบันทึกอาจารย์ค่ะ และประทับใจในการเป็นผู้ให้ของคนในมูลนิธิมาก

เห็นด้วยค่ะว่าทุกวันนี้ระบบการศึกษาของเราเป็นระบบที่ไม่มีจิตวิญญาณ ไม่มี compassion มีแต่ตัวหนังสือในหลักสูตร และตัวคนที่ไม่เชื่อมโยงถึงกัน แต่การที่จะเปลี่ยนแปลงใดๆ ก็ตามจะ้ต้องใช้พลังและระยะเวลา และความต่อเนื่อง

ปลูกต้นไม้ให้โตในวันเดียวไม่ได้จริงๆ แต่ก็ยังดีที่มีผู้เริ่มปลูกบ้าง

ขอบคุณอีกครั้งค่ะ

คุณกมลวัลย์ครับ

บางทีผมอดมิได้ มานั่งใคร่ครวญดู มันอาจจะไม่ใช่ระบบด้วยซ้ำไป ท่านธรรมาจารย์ยิ่นซุ่น อาจารย์อุปัชฌาช์ของท่านเจิ้นเหยียนต้องเผชิญกับภาวะตกตำ่ของศาสนาพุทธในประเทศจีนช่วงหลังสงครามโลก มีคน campaign กล่าวหาศาสนาพุทธไม่ได้ทำอะไรให้สังคม เอาแต่สวดมนต์ภาวนา จนท่านต้องออกมารณรงค์ และเผยแพร่ทำความเข้าใจศาสนาพุทธที่อยู่นอกเหนือจากตำรา จากคัมภีร์ ว่า "จะนำไปใช้ได้อย่างไรในชีวิตประจำวัน"

หลักสูตรของเราจะเขียนมาอย่างไรก็ตาม ยังไงๆ "คน" ก็ยังเป็นผู้ใช้อยู่ดี ถ้าจะโทษ เราอย่าโทษระบบเลย มาค้นหากันดีกว่าว่าทำไมพวกเรากันเองที่เป็นคนใช้ จึงไม่ทำ ไม่ใช้ อย่างที่เราอยากให้เป็นล่ะ?

How wonderful it is that nobody need wait a single moment before starting to improve the world. Anne Frank

เห็นด้วยค่ะอาจารย์ ว่าจริงๆ แล้วเป็นที่คนค่ะ ไม่ได้เกิดจากระบบค่ะ เพราะคนก็เป็นผู้สร้างสิ่งที่เรียกว่าระบบนี้ขึ้นมา

ตอนนี้ก็พยายามปรับเปลี่ยนแนวคิดและการทำงานของตัวเอง ให้มีจิตวิญญาณมากขึ้นค่ะ จะได้หรือมีผลมากน้อยแค่ไหนก็ไม่เป็นไร เพราะเป็นหน้าที่ของเราค่ะ ^ ^

"การได้ไปช่วยเหลือ สำหรับชาวฉือจี้เป็นการเปิดโอกาสให้ทำบุญ Blue Angels เหล่านี้จึงขอบพระคุณผู้ที่เปิดโอกาสให้ตนเองให้เพาะสะสมบุญเมตตาบารมีด้วยการแสดงความเคารพ"

"All Buddhas arise in the human world; no-one achieves buddhahood in heaven."

ประทับใจมากๆค่ะ

ขอบคุณที่ิิอ.เขียนเล่าเรื่องมาทุกตอน มัทจะค่อยๆอ่านให้หมดค่ะ สงสัยมานานแล้วว่าเค้าทำอย่างไรถึงไม่มีปัญหาเรื่องคนกับเงิน เพราะเงินเค้าก็มากมายเหลือเกิน คนก็มาก หลายประเทศด้วย

  • ตามมาอ่านบันทึกนี้เพราะเห็นคุณหมอมัทพูดถึงในอนุทิน..
  • เป็นบันทึกแรกที่เข้ามาอ่านในเช้านี้ ทำให้เป็นการเริ่มต้นวันอย่างมีคุณค่า
  • อ่านบันทึกนี้เป็นบันทึกแรก และตั้งใจจะตามอ่านตั้งแต่อาจารย์เริ่มเขียนเรื่องของมูลนิธิพุทธฉือจี้
  • ขอบคุณค่ะที่เขียนเรื่องราวเตือนสติให้ใช้ชีวิตอย่างมีคุณค่าให้อ่าน ^_^

เช้าวันนี้ เข้าห้องทำงานมาก็เจอพัศดุไปรษณีย์ พลิกดูข้างหลังก็เห็นชื่อคุณเมตตา (ชิว สู เฟิน) กรรมการมูลนิธิฉือจี้ประเทศไทย ก็รู้สึกดีใจแกมประหลาดใจแกมตื่นเต้น เพราะใจผมหมกมุ่นกับการเขียนบทความฉือจี้มาหลายวันแล้ว (รอตกตะกอนมาตั้งแต่ช่วงสงกรานต์ที่เดินทาง แต่ต้องไปที่อืนๆอีกหลายที่) เปิดซองดูก็พบหนังสือ กรณีศึกษามูลนิธิพุทธฉือจี้ เรียบเรียงโดย พระเดิมแท้ ชาวหินฟ้า ผศ.รัศมี กฤษณมิษ และ ดร.สุวิดา แสงสีหนาท เป็นผลงานวิจัยให้กับศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาพลังแผ่นดินเชิงคุณธรรม (ศูนย์คุณธรรม) และ DVD สองแผ่น แผ่นหนึ่งเป็นเรื่องราว Silent Mentor ที่ รร.แพทย์ฉือจี้ และตำนานมูลนิธิพุทธฉือจี้ อีกแผ่นหนึ่งเป็นเรื่องราวผลงานมูลนิธิฉือจี้ในประเทศไทยและนานาชาติ

ช่างเป็นการบังเอิญเพราะบ่ายวันนี้ เราจะมีการพูดเรื่อง "ประสบการณ์ดูงานฉือจี้" โดยคณะที่ไปดูงาน 6 คนให้แก่ที่ประชุมใหญ่ ห้องทองจันทร์ หงลดารมณ์ ที่ คณะแพทยศาสตร์ ม.อ. นี้ จึงได้จังหวะอันดีที่ผมจะนำเอาบาง clips ที่ยังไม่เคยมีใครได้ชมมาเผยแพร่กัน

บางทีเมื่อจิตสมาธิเรามี เพ่งเล็งใคร่ครวญอะไรนานๆ ก็เสมือนการอธิษฐาน เรื่องราวประจวบเหมาะช่างมาลงเอยสอดประสานได้อย่างสวยงาม

เพื่อให้การเรียนรู้สมบูรณ์ขึ้น

ศาสตร์และศิลป์แห่งการจัดการความดี : ศึกษากรณีมูลนิธิฉือจี้

พระไพศาล วิสาโล

http://www.moralcenter.or.th/web/moral/th/content/index.php?action=view&SystemModuleKey=46&id=383

มูลนิธิฉือจี้ เป็นองค์กรการกุศลที่ใหญ่ที่สุดในไต้หวัน มีโรงพยาบาลที่มีมาตรฐานสูงติดอันดับต้น ๆ ของประเทศถึง ๖ แห่ง มีธนาคารไขกระดูกใหญ่เป็นอันดับ ๓ ของโลก มีสถาบัน การศึกษาที่ครบทุกระดับจากประถม มัธยม วิทยาลัย ไปจนถึงมหาวิทยาลัย ที่มีเอกลักษณ์ในด้านการสอน และการจัดกระบวนการเรียนรู้ มีสถานีโทรทัศน์ที่มุ่งเผยแพร่คุณธรรมผ่านเครือข่ายทั่วโลก นอกจากนั้นยังมีกิจกรรมบำเพ็ญประโยชน์อีกมากมายกระจายทั่วประเทศ เช่น ช่วยเหลือคนยากจน สงเคราะห์คนชรา ช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติ รวมทั้งงานแยกขยะ

กิจการเหล่านี้ดำเนินและขยายตัวอย่างต่อเนื่องโดยอาศัยเงินบริจาคจากสมาชิกที่มีเกือบ ๖ ล้านคน (หรือเกือบ ๑ ใน ๔ ของประชากรไต้หวัน) รวมทั้งเงินที่เกิดจากกิจกรรมของสมาชิก (เช่น เงินจากการแยกขยะ) แต่ปัจจัยที่สำคัญไม่น้อยไปกว่าเงินก็คือ กำลังของอาสาสมัคร ซึ่งมีไม่น้อยกว่า ๒ แสนคนทั่วประเทศ อาสาสมัครเหล่านี้เข้าไปช่วยผลักดันกิจกรรมต่าง ๆ ให้ดำเนินไปได้อย่างมีคุณภาพและขยายตัวไปทั่วประเทศ จนปัจจุบันสามารถขยายไปยังต่างประเทศ โดยมีสาขาถึง ๓๙ ประเทศ

ลักษณะเด่นของฉือจี้

ในฐานะองค์กรการกุศล มูลนิธิฉือจี้มีลักษณะเด่นอย่างน้อย ๕ ประการ คือ

๑. คุณภาพของงาน

งานของมูลนิธิฉือจี้แต่ละด้านล้วนมีคุณภาพสูง กล่าวคือ

ก.การแพทย์

โรงพยาบาลของฉือจี้ซึ่งขณะนี้มี ๖ แห่ง มีมาตรฐานด้านการแพทย์สูงมาก

สามารถทำการรักษาโรคหรือความผิดปกติที่ต้องใช้วิชาการขั้นสูง จนมีผู้ป่วยจากต่างประเทศหลายรายมาทำการรักษา นอกจากความสามารถทางวิชาการแล้ว โรงพยาบาลยังให้ความเอาใจใส่กับมิติด้านจิตใจและสังคมของผู้ป่วย แพทย์ พยาบาล และเจ้าหน้าที่จะมีความสัมพันธ์ที่ดีกับคนไข้ เห็นคนไข้เป็นมนุษย์มากกว่าเป็นเจ้าของ “ไข้” กล่าวอีกนัยหนึ่งคือ มุ่งรักษา “คน” มากกว่ารักษา “ไข้” การแพทย์ของฉือจี้จึงได้ชื่อว่า เป็น “การแพทย์ที่มีหัวใจความเป็นมนุษย์” จนเป็นแบบอย่างให้แก่โรงพยาบาลของรัฐและของประเทศต่าง ๆ

มูลนิธิฉือจี้ ยังมีธนาคารไขกระดูกที่ใหญ่เป็นอันดับ ๑ ของเอเชีย และเป็นอันดับ ๓ ของโลก ทั้งนี้เพื่อนำไขกระดูก (ที่ตรงกับผู้ป่วย) มาใช้ในการรักษาโรคที่เกี่ยวกับความผิดปกติของเม็ดเลือด ซึ่งเป็นเทคโนโลยีชั้นสูงที่โรงพยาบาลของฉือจี้มีความสามารถเป็นพิเศษ

ข.การศึกษา

ฉือจี้เริ่มทำงานด้านการศึกษาด้วยการก่อตั้งวิทยาลัยพยาบาล เพื่อผลิตบุคลากรป้อนให้แก่โรงพยาบาล (ภายหลังขยายเป็นวิทยาลัยเทคโนโลยี) ต่อมาก็ก่อตั้งมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ (ภายหลังพัฒนามาเป็นมหาวิทยาลัยเต็มรูปแบบ) จากนั้นก็ก่อตั้งโรงเรียนระดับประถม และมัธยมขึ้นมา สถาบันการศึกษาเหล่านี้มีลักษณะเด่นคือ การสร้างจิตสำนึกด้านคุณธรรมและปลูกฝังมิติด้านจิตวิญญาณแก่ผู้เรียนอย่างแยบคาย ขณะเดียวกันก็เสริมสร้างความรู้และความสามารถทางวิชาการได้อย่างไม่ด้อยกว่าที่อื่น แม้แต่คณะแพทยศาสตร์ก็ยังมีการสอนวิชาด้านจริยศิลป์แก่นักศึกษาตลอด ๔ ปี ส่วนโรงเรียนประถม และมัธยมก็เป็นแบบอย่างให้แก่โรงเรียนต่าง ๆ ทั่วประเทศ มีการนำเอาวิธีการของฉือจี้ไปใช้อย่างแพร่หลาย

ค.งานสงเคราะห์ผู้ประสบภัย

เมื่อเกิดภัยพิบัติไม่ว่าในไต้หวัน หรือต่างประเทศ กองทัพอาสาสมัครของฉือจี้จะรุดไปยังที่ประสบเหตุในทันที และให้การสงเคราะห์แก่ผู้ทุกข์ยากชนิดที่ตรงกับปัญหา เนื่องจากมีการสอบถามความต้องการของเขาก่อน และมักจะอยู่ในพื้นที่ค่อนข้างนานจนกว่าปัญหาพื้นฐานจะลุล่วง จึงมักเป็นหน่วยงานท้าย ๆ ที่ถอนตัวออกจากพื้นที่ ( ๖ เดือนหลังภัยสึนามิในศรีลังกา ฉือจี้เป็น ๑ ในไม่กี่หน่วยงานเอกชนที่ยังทำงานช่วยเหลือผู้ประสบภัยอยู่ ขณะที่หน่วยงานส่วนใหญ่ถอนตัวออกไปเกือบหมด) งานบางอย่างต้องใช้กำลังคน และกำลังเงินมหาศาล แต่ฉือจี้ก็ทำสำเร็จได้ เช่น การอพยพคนนับหมื่นในจาการ์ตาที่รุกล้ำแม่น้ำจนเน่าเสีย ซึ่งนำไปสู่การสร้างแฟลตนับพันยูนิต โดยใช้เวลาเพียง ๒ ปี หรือการสร้างอาคารใหม่ให้แก่โรงเรียน ๕๐ แห่งที่ประสบภัยแผ่นดินไหวในไต้หวัน โดยใช้เวลา ๓ ปี งานสงเคราะห์เหล่านี้ไม่เพียงต้องใช้เงินทุน และกำลังคนจำนวนมาก แต่ยังต้องอาศัยความรู้ และความชำนาญเฉพาะทาง ซึ่งฉือจี้มีพร้อมเนื่องจากมีอาสาสมัครมากมายที่มีความรู้ มีกำลังเงิน และพร้อมจะสละเวลามาให้

ง. งานอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม

งานแยกขยะเป็นงานเด่นอีกด้านหนึ่งของฉือจี้ ที่ก่อให้เกิดผลกระทบอย่างเห็นได้ชัด เนื่องจากมีโรงงานแยกขยะไม่น้อยกว่า ๕,๐๐๐ แห่งทั่วประเทศ มีอาสาสมัครมาช่วยงานร่วม ๕๐,๐๐๐ คน โดยผลัดกันมาทำงานสม่ำเสมอตลอดปี ตั้งแต่เก็บขยะ ขนขยะมาโรงงาน แยกขยะ แล้วนำไปหมุนเวียนใช้ใหม่ งานด้านนี้นอกจากจะช่วยลดปริมาณขยะ (ด้านหนึ่งด้วยการทำให้ประชาชนทิ้งขยะน้อยลง และอีกด้านหนึ่งด้วยการเอาขยะที่ยังมีประโยชน์ไปรีไซเคิล ทำให้ขยะที่ใช้ประโยชน์ไม่ได้เลยเหลือน้อยลง) ยังเป็นแหล่งรายได้ที่สำคัญของฉือจี้ นับพันล้านบาทต่อปี สามารถนำไปเป็นทุนสนับสนุนสถานีโทรทัศน์ของตนได้

จ. สถานีโทรทัศน์

สถานีโทรทัศน์ต้าอ้าย (“มหากรุณา”) ของฉือจี้ เป็นสถานีโทรทัศน์แบบ “ทางเลือก” ที่ได้รับความนิยมอย่างสูงในไต้หวัน จนได้รับการลงคะแนนเสียงให้เป็นสถานีโทรทัศน์ที่มีอิทธิพลต่อชีวิตของผู้คนมากที่สุดเมื่อปี ๒๕๔๗ จุดเด่นคือการจัดทำรายการที่ส่งเสริมคุณธรรม หรือเกิดจิตสำนึกที่มุ่งช่วยเหลือผู้คน นอกจากรายการวิเคราะห์ข่าวเชิงธรรมะแล้ว ยังมีรายการสารคดีชีวิต ละคร และการ์ตูนที่มุ่งให้ผู้ชมมีศรัทธาในความดีงาม

๒. คุณภาพของคน

การที่ฉือจี้สามารถสร้างสรรค์งานต่าง ๆได้อย่างมีคุณภาพ และต่อเนื่อง

สะท้อนถึงคุณภาพของบุคลากรของฉือจี้ น่าสังเกตว่าบุคลากรส่วนใหญ่ที่ทำงานให้แก่ฉือจี้เป็นอาสาสมัคร ที่นอกจากจะทำงานให้มูลนิธิโดยไม่คิดค่าตอบแทนแล้ว ยังออกเงินให้มูลนิธิด้วย ทั้งในรูปของเงินบริจาคที่ให้เป็นประจำ และในรูปของค่าใช้จ่ายในการทำงาน เช่น จ่ายค่าเดินทางเองเวลาไปช่วยผู้ประสบภัยไม่ว่าในประเทศหรือต่างประเทศ อาสาสมัครเหล่านี้เป็นส่วนสำคัญในกิจการทุกด้านของฉือจี้ ไม่ว่าในโรงพยาบาล โรงเรียน วิทยาลัย มหาวิทยาลัย สถานีโทรทัศน์ ล้วนมีอาสาสมัครเข้าไปช่วยเหลือเจ้าหน้าที่ประจำ ยิ่งงานแยกขยะด้วยแล้ว คนทำงานเป็นอาสาสมัครเกือบทั้งหมด อาสาสมัครเหล่านี้ส่วนหนึ่งเป็นชาวบ้านทั่วไป แต่อีกไม่น้อยเป็นนักวิชาชีพ เช่น แพทย์ วิศวกร สถาปนิก อาจารย์ นักธุรกิจ ผู้บริหาร ซึ่งล้วนมีความรู้ความสามารถ และมีรายได้ที่มั่นคง แต่ทั้งหมดนี้มีสิ่งที่เหมือนกัน คือ มีจิตอาสา มีน้ำใจเอื้อเฟื้อ ยินดีช่วยเหลือส่วนรวม และพร้อมรับใช้ผู้อื่นด้วยความอ่อนน้อมถ่อมตน เวลานำสิ่งของไปบริจาคให้แก่ผู้ทุกข์ยาก อาสาสมัครของฉือจี้จะโค้งคำนับราวกับเป็นผู้รับเสียเอง

อาสาสมัครของฉือจี้ยังมีลักษณะเด่นอีกประการหนึ่ง คือการไม่รังเกียจงาน บ่อยครั้งจะพบผู้บริหารบริษัทไปยืนถือกล่องรับบริจาคตามที่สาธารณะ หรือริดกิ่งไม้ เก็บกวาดขยะ ในโรงพยาบาล ความที่ฉือจี้มีอาสาสมัครจำนวนมากที่พร้อมจะทิ้งงานประจำ ออกไปช่วยเหลือผู้ประสบภัยทันที ฉือจี้จึงสามารถส่งคนไปยังทุกหนแห่งทั่วโลกที่เกิดภัยพิบัติได้อย่างรวดเร็ว ไม่ว่าอาฟริกาหรืออเมริกา (ฉือจี้เป็นหน่วยงานเอกชนแรก ๆ ที่ถึงอาฟกานิสถานหลังจากสหรัฐส่งกองทัพไปถล่มทะลิบัน) ทั้งนี้โดยสมทบกับอาสาสมัครท้องถิ่นของฉือจี้เอง (ปัจจุบันได้ออกไปช่วยเหลือกว่า ๖๐ ประเทศแล้ว) ขณะเดียวกันความสามารถทางด้านวิชาชีพของอาสาสมัคร ทำให้ฉือจี้สามารถนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาใช้กับงานด้านต่าง ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งงานสงเคราะห์ผู้ประสบภัย ซึ่งบางครั้งลำพังแรงใจและกำลังเงินไม่เพียงพอที่จะช่วยให้งานประสบผล

๓. กระบวนการกล่อมเกลาจิตใจ

คุณภาพของบุคลากรของฉือจี้ โดยเฉพาะในด้านคุณธรรม เกิดจากกระบวนการกล่อมเกลาจิตใจที่น่าสนใจมาก เนื่องจากไม่ได้จำกัดแต่เฉพาะการสอน หรือการตอกย้ำด้วยคำพูด หรือคำขวัญเท่านั้น แต่ยังมีวิธีต่างๆ อีกมากมายที่มีความแยบคาย และให้ผลยั่งยืน เช่น การปลูกฝังคุณธรรมผ่านการทำงานอาสาสมัคร การเคารพ และเห็นคุณค่าของผู้อื่นผ่านการเรียนรู้ชีวิตของเขา การบ่มเพาะความอ่อนน้อมถ่อมตนผ่านพิธีชงน้ำชา หรือ จัดดอกไม้ การมีกำลังใจทำความดีผ่านการแลกเปลี่ยนประสบการณ์กับผู้อื่น การซึมซับความดีงามผ่านการเล่านิทาน เล่นละคร หรือวาดภาพ รวมทั้งมีการฝึกฝนอาสาสมัครอย่างเป็นระบบ นอกจากนั้นยังมีระบบพี่เลี้ยง พ่อแม่อุปถัมภ์ และกลุ่มสมาชิกที่ช่วยสร้างเสริมจิตสำนึกที่ดีงาม กล่าวได้ว่าฉือจี้มีความโดดเด่นมากในเรื่องความคิดสร้างสรรค์และศิลปะในการส่งเสริมคุณธรรม ประเด็นนี้จะได้กล่าวอย่างละเอียดข้างหน้า

๔. การสร้างเครือข่ายสมาชิก และบริหารจัดการอาสาสมัคร

ฉือจี้สามารถขยายจำนวนสมาชิกไปได้เป็นจำนวนมาก จนมีเครือข่ายที่

กว้างขวางไปทั่วประเทศ ( ๖ ใน ๑๐ ล้านของสมาชิกทั่วโลก อยู่ในไต้หวัน) ส่วนหนึ่งก็เพราะมีการบริหาร และจัดการอาสาสมัครที่ดี อาสาสมัครเหล่านี้เป็นกำลังสำคัญในการรักษาและขยายจำนวนสมาชิก (อาสาสมัครที่ “ฝึกงาน” มีหน้าที่บอกบุญหาสมาชิก หรือผู้บริจาค ๒๕ รายเป็นประจำทุกเดือนในปีแรก และเพิ่มเป็น ๔๐ รายในปีที่สอง อีกทั้งยังไปเยี่ยมเยือนผู้บริจาคอย่างสม่ำเสมอ) อย่างไรก็ตามจุดที่สำคัญกว่านั้นก็คือ การจัดหาอาสาสมัครมาทำงานตามส่วนต่าง ๆ ของฉือจี้ซึ่งมีอยู่มากมาย (เฉพาะโรงงานแยกขยะก็มีถึง ๕,๐๐๐ จุด) อย่างต่อเนื่องตลอดทั้งปี รวมทั้งการระดมอาสาสมัครในกรณีเกิดเหตุฉุกเฉิน จะทำเช่นนี้ได้ต้องมีการจัดการที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งรวมถึงการคัดกรอง การประสานงาน การติดตามผล ที่ดี ซึ่งเป็นงานที่ต้องไม่ง่ายเลย เมื่อคำนึงถึงข้อเท็จจริงที่ว่าฉือจี้มีอาสาสมัครระดับต่าง ๆ ถึง ๒ แสนคน อย่างไรก็ตามฉือจี้สามารถบริหารจัดการให้งานด้านต่าง ๆ เป็นไปได้ด้วยดี อีกทั้งยังมีความสามารถที่จะขยายงานเพิ่มไปได้เรื่อย ๆ

หัวใจของความสำเร็จ

มูลนิธิฉือจี้ถือกำเนิดเมื่อปี ๒๕๐๙ โดยภิกษุณีเจิ้งเหยียน วัย ๒๙ ปี (พรรษา ๓) เริ่มต้นด้วยการเชิญชวนแม่บ้านในเมืองห่างไกลความเจริญ (ฮวาเหลียน) จำนวน ๓๐ คน สละเงินทุกวัน ๆ ละ ๕๐ เซ็นต์ ( เทียบเท่ากับ ๒๕ สตางค์ในเวลานั้น) ภายในเวลา ๒๐ ปีสามารถสร้างโรงพยาบาลขนาด ๑,๐๐๐ เตียงด้วยทุนสูงถึง ๘๐๐ ล้านเหรียญไต้หวัน (ขณะที่งบประมาณประจำปีของทั้งจังหวัดมีเพียง ๑๐๐ ล้านเหรียญ) อีก ๒๐ ปีต่อมา สามารถขยายกิจการสู่งานด้านการศึกษา สิ่งแวดล้อม สื่อมวลชน และพัฒนาจากองค์กรการกุศลระดับจังหวัด ไปเป็นระดับชาติ และระดับโลกได้ โดยมีสมาชิกถึง ๑๐ ล้านคน และสาขาใน ๓๙ ประเทศ ทั้งหมดนี้ต้องอาศัยกำลังเงินจำนวนมหาศาล และความรู้ที่ทันยุค แต่หัวใจสำคัญก็คือ กำลังคนที่มีคุณภาพ บุคลากรเหล่านี้ไม่ได้อาศัยเงิน ชื่อเสียง อำนาจ หรือผลประโยชน์ส่วนตนเป็นแรงขับเคลื่อนอย่างธุรกิจเอกชนหรือหน่วยงานรัฐ แต่อาศัยคุณธรรมหรือความดีเป็นแรงบันดาลใจ ซึ่งทำให้เห็นเป็นแบบอย่างว่า แม้ไม่ใช้ผลประโยชน์ส่วนตน หรือ ตัณหาเป็นแรงจูงใจ องค์กรอย่างฉือจี้ก็สามารถสร้างสรรค์ผลงานที่มีคุณภาพระดับชาติ หรือระดับโลกได้ไม่แพ้บรรษัทข้ามชาติ โดยก่อให้เกิดคุณประโยชน์ต่อมวลมนุษย์มากกว่าอย่างเทียบกันไม่ได้

การใช้ความดีเป็นพลังขับเคลื่อนให้เกิดงานสร้างสรรค์จำนวนมาก และส่งผลกระทบต่อผู้คนนับล้าน ๆ ทั่วโลก โดยเริ่มต้นจากคนเล็กคนน้อยเพียง ๓๐ คน และเงินบริจาควันละ ๕๐ เซนต์ เป็นเรื่องที่ไม่น่าเป็นไปได้ แต่ก็เกิดขึ้นแล้ว จะเรียกว่าเป็นเรื่องอัศจรรย์ ก็คงไม่ผิด สิ่งนี้จะเกิดขึ้นได้ ลำพังเจตนาดีย่อมไม่เพียงพอ แต่ต้องอาศัยความสามารถอย่างมาก ความสามารถที่สำคัญอย่างยิ่งก็คือ การดึงเอาความดีจากแต่ละคนออกมา และนำมารวมกันให้มากพอจนเกิดพลัง ขณะเดียวกันก็รักษาความดีนั้นให้คงอยู่ และพัฒนาให้เพิ่มพูนมากขึ้น กระบวนการเหล่านี้ อาจเรียกได้ว่า “การจัดการความดี”

ปัจจุบันมีการพูดถึงการจัดการเงินทุน การจัดการบุคลากร การจัดการทรัพยากร รวมทั้งการจัดการความรู้ แต่สิ่งหนึ่งที่ยังพูดถึงกันน้อยก็คือ การจัดการความดี ในเมื่อความดีนั้นมีพลังไม่น้อยไปกว่าเงินทุนและความรู้ จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีการศึกษาอย่างลึกซึ้งในเรื่อง การจัดการความดี ชนิดที่ควรพัฒนาเป็นศาสตร์ และศิลป์ อย่างไรก็ตามเราไม่จำเป็นต้องพัฒนาศาสตร์ และศิลป์ดังกล่าวจากความว่างเปล่า หากสามารถเรียนรู้ได้จากประสบการณ์จริง มูลนิธิฉือจี้เป็นกรณีตัวอย่างหนึ่งที่ประสบความสำเร็จในการจัดการความดี ซึ่งน่าที่คนไทยจะได้เรียนรู้ และนำมาพัฒนาให้เหมาะกับสภาพความเป็นจริงของเราเอง

การจัดการความดีของฉือจี้

๑. ความคิดพื้นฐาน : ความดีมีอยู่แล้วในใจทุกคน

ผู้ที่เป็นแรงบันดาลใจและมีอิทธิพลทางความคิดอย่างมากต่อชาวฉือจี้ คือท่านธรรมาจารย์เจิ้งเหยียน ซึ่งเป็นทั้งผู้ก่อตั้ง และประธานมูลนิธิฉือจี้ในปัจจุบัน ภิกษุณีท่านนี้มีความเชื่อในอุดมคติโพธิสัตว์ ซึ่งเป็นหลักการสำคัญของพุทธศาสนาแบบมหายาน โพธิสัตว์ในทัศนะมหายานคือ ผู้เปี่ยมด้วยเมตตากรุณา และมีปณิธานที่จะช่วยสรรพสัตว์ให้พ้นจากความทุกข์ โดยจะไม่ยอมเข้าสู่นิพพานจนกว่าทุกชีวิตจะสิ้นทุกข์ พระโพธิสัตว์ที่เป็นตัวแทนของอุดมคติดังกล่าวคือ พระอวโลกิเตศวร หรือที่รู้จักกันทั่วไปในนาม เจ้าแม่กวนอิม

ในขณะที่คนจำนวนไม่น้อยถือเอาพระโพธิสัตว์เป็นที่พึ่งเพื่อคุ้มครองตนให้พ้นจากความทุกข์นั้น ธรรมาจารย์เจิ้งเหยียน ได้เน้นว่ามนุษย์ทุกคนมีโพธิสัตวภาวะอยู่แล้วในตัว โพธิสัตว์จึงไม่ได้อยู่เบื้องบน หรือสถิตอยู่ในสวรรค์ หากคือ ตัวเรานั่นเอง ทุกคนเป็นโพธิสัตว์ได้ทั้งนั้น หากอุทิศตนเพื่อสรรพชีวิต ดังท่านได้ย้ำว่า หากแต่ละคนช่วยเพื่อนมนุษย์ได้ ๕๐๐ คน ก็เท่ากับว่ามี ๑,๐๐๐ มือ ไม่ต่างจาก พระอวโลกิเตศวร

พระโพธิสัตว์ซึ่งเดิมเข้าใจว่าเป็นอุดมคติอันสูงส่งที่ยากจะบรรลุ ได้กลายมาเป็นสิ่งที่ทุกคนเข้าถึงได้เพราะมีอยู่แล้วในตัว การมองเห็นคนทุกคนเป็นโพธิสัตว์นั้นสะท้อนได้จากลายปูนปั้นภาพเทวดา หรือโพธิสัตว์ที่ประดับตามอาคารในสถาบันการศึกษา และโรงพยาบาลของฉือจี้ เทวดา หรือโพธิสัตว์เหล่านั้นไม่ได้เป็นไปตามขนบเดิม หากเป็นภาพคนธรรมดาในสาขาอาชีพต่าง ๆ เช่น แพทย์ พยาบาล นักธุรกิจ ชาวบ้าน เป็นต้น

แนวความคิดดังกล่าวมีส่วนในการปลูกฝังให้ชาวฉือจี้มีทัศนะว่า มนุษย์ทุกคนล้วนมีเมตตากรุณา และคุณงามความดีอยู่แล้วในจิตใจ เป็นแต่ว่าทำอย่างไรจึงจะนำคุณธรรมดังกล่าวออกมา หรือดูแลรักษาให้เจริญงอกงามยิ่งขึ้น แนวความคิดนี้เป็นที่มาของท่าที และวิธีการที่เป็นเอกลักษณ์ของฉือจี้ เช่น การมองคนในแง่บวก การกล่าวคำชื่นชมมากกว่าการตำหนิ การแสดงความเคารพและอ่อนน้อมต่อผู้อื่น แม้ในยามที่ไปช่วยเหลือเขาก็ตาม รวมไปถึงการจัดกระบวนการเรียนรู้ และพัฒนาบุคลากรตามสถาบันการศึกษาของฉือจี้ ดังจะได้กล่าวต่อไป

๒. การน้อมนำความดีออกมาจากใจ

ฉือจี้มีวิธีการหลากหลายในการดึงความดีออกมาจากใจของผู้คน โดยเริ่มต้นตั้งแต่

ก. มีศรัทธาในความดีของผู้อื่น

ชาวฉือจี้เชื่อมั่นว่าทุกคนมีเมตตากรุณาอยู่แล้วในจิตใจ แต่ละคนล้วนอยากทำ

ความดี เพราะทุกคนมีพุทธะ หรือโพธิสัตวภาวะด้วยกันทั้งนั้น เราจึงควรมองให้เห็นความดีของเขา หรืออย่างน้อยก็ต้องเชื่อว่าเขามีความดีงามเป็นพื้นฐาน

ข. เปิดโอกาสให้เขาได้ทำความดี

เมื่อคนเราได้ทำความดี ย่อมเกิดความรู้สึกภาคภูมิใจ เพราะได้ตอบสนอง

ความใฝ่ดีในส่วนลึก ขณะเดียวกันก็ทำให้ความใฝ่ดี หรือคุณภาพฝ่ายบวกมีพลังมากขึ้น จนสามารถควบคุมคุณภาพฝ่ายลบ (เช่น ความเห็นแก่ตัว โลภะ โทสะ โมหะ) การที่บางคนทำความชั่ว ไม่ใช่เพราะเขาไม่มีความใฝ่ดี หรือคุณธรรมในจิตใจ เป็นแต่ว่าคุณภาพฝ่ายบวกเหล่านั้นไม่มีกำลังที่จะต่อสู้ทัดทานคุณภาพฝ่ายลบได้

ฉือจี้พยายามเปิดโอกาสให้ผู้คนได้ทำความดี โดยเริ่มตั้งแต่การให้ทานหรือบริจาคเงิน หน้าที่หลักประการหนึ่งของอาสาสมัคร “ฝึกงาน” ของฉือจี้ คือ การบอกบุญ หาสมาชิกคือ ผู้บริจาคเงินเป็นประจำแก่มูลนิธิ ๒๕ คน (ปีแรก) และ ๔๐ คน(ปีที่สอง) จุดสำคัญมิได้อยู่ที่จำนวนเงินบริจาค แต่อยู่ที่การเปิดโอกาสให้เขาทำความดีอย่างสม่ำเสมอ

เคยมีผู้ถามท่านธรรมาจารย์เจิ้งเหยียนว่า ระหว่างการบริจาคเงินทุกวัน ๆ ละ ๕๐ เซนต์ กับการบริจาคเงินเดือนละครั้ง ๆละ ๑๕ เหรียญ เหตุใดท่านจึงสนับสนุนให้คนทำอย่างแรก ทั้ง ๆ ที่ก็จำนวนเงินที่ได้ก็เท่ากัน ท่านตอบว่า การบริจาคทุกวัน แม้จะเป็นจำนวนเงินเล็กน้อย แต่ก็เป็นการบ่มเพาะความรักและจิตใจที่จะให้แก่ผู้อื่นทุก ๆ วัน ซึ่งทำให้เขามีโอกาสที่จะได้สัมผัสกับความปีติจากการให้ทุก ๆ วัน

การบริจาคเงินทุกวัน เป็นการเปิดโอกาสให้ตัวเองทำความดีทุกวัน ความดีที่ถูก “ใช้งาน”อยู่บ่อย ๆ ย่อมมีความเข้มแข็ง ไม่ต่างจากร่างกายที่ออกกำลังบ่อย ๆ แม้เพียงวันละเล็กละน้อยย่อมมีสุขภาพดี ขณะเดียวกันก็ไม่ต้องสงสัยเลยว่าปีติจากการทำความดีแม้เพียงเล็กน้อยทุก ๆ วันจะช่วยทำให้จิตใจที่ใฝ่ดีเจริญงอกงามยิ่งขึ้น เหมือนกับต้นกล้าที่ถูกรดน้ำบ่อย ๆ

ฉือจี้ยังได้อาศัยการบอกบุญเป็นจุดเริ่มต้นในการพาผู้คน(โดยเฉพาะคนรวย) ให้มีโอกาสทำความดีในขั้นต่อ ๆ ไป ที่มีอานิสงส์มากกว่า ได้แก่ การทำงานเพื่อส่วนรวม กล่าวคือทุกครั้ง (หรือทุกเดือน) ที่อาสาสมัครฝึกงานไปเยี่ยมเยือน และรับเงินบริจาคจากสมาชิก จะมีการแนะนำ และรายงานกิจกรรมต่าง ๆ ของฉือจี้ให้ฟัง โดยเฉพาะงานสาธารณประโยชน์ รวมทั้งมีการเชิญชวนให้ไปร่วมงานดังกล่าวด้วย

งานแยกขยะ เป็นงานหนึ่งที่เปิดโอกาสอย่างกว้างขวางให้ผู้คนมีส่วนร่วมในการทำความดี เพราะเป็นงานที่ไม่ต้องใช้ทักษะมาก อีกทั้งมีสถานที่รองรับอาสาสมัครได้ถึง ๕,๐๐๐ แห่งทั่วประเทศ งานแยกขยะดูเผิน ๆ เป็นงานที่ไม่น่าสนใจ หรือไม่มีอะไรที่โดดเด่นเมื่อเทียบกับงานการแพทย์ การศึกษา และสถานีโทรทัศน์ของฉือจี้ (ผู้เขียนเองทีแรกก็ไม่เข้าใจว่าเหตุใดจึงให้มาดูโรงงานแยกขยะเป็นจุดแรกทันทีที่ถึงไต้หวัน) แต่แท้จริงเป็นงานที่สำคัญมาก เพราะเป็นงานพื้นฐานที่รองรับกิจกรรมอื่น ๆ ซึ่งเป็นที่เชิดหน้าชูตาของฉือจี้ ในแง่รายได้ ปรากฏว่า ๑ ใน ๔ ของทุนสนับสนุนสถานีโทรทัศน์ต้าอ้ายมาจากการแยกขยะ แต่สิ่งที่น่าจะสำคัญกว่ารายได้ก็คือ การบ่มเพาะจิตสำนึก โดยเฉพาะการทำให้หลายคนกลับมาเห็นคุณค่าของตัวเอง โดยเฉพาะคนชรา ซึ่งปลดเกษียณหรือว่างงาน (แถมยังไม่มีหลานให้เลี้ยงเหมือนคนแก่ในสังคมชนบท เพราะครอบครัวในเมืองส่วนใหญ่เป็นครอบครัวเดี่ยว) คนชราเหล่านี้เป็นกำลังสำคัญในการแยกขยะ หลายคนพบว่าตัวเองไม่ได้เป็นภาระสังคม แต่ยังสามารถช่วยเหลือสังคมและโลกได้ บางคนพูดว่าตนเองเป็นเสมือน “ขยะคืนชีพ”

จะเห็นได้ว่าการได้ทำความดีต่อส่วนรวมนั้น ไม่เพียงทำให้พลังฝ่ายบวกเจริญงอกงามในจิตใจ หากยังช่วยให้มองเห็นด้านดีของตัวเอง หรือเกิดมุมมองที่เป็นบวกเกี่ยวกับตัวเอง ทำให้อยากทำความดียิ่งขึ้น จะว่าไปแล้วงานแยกขยะ หรือการรีไซเคิลขยะ โดยตัวมันเองได้ทำให้หลายคนตระหนักว่า แม้แต่ขยะยังมีคุณค่าซึ่งสามารถยังประโยชน์ได้มากมายอย่างที่นึกไม่ถึง ฉันใดก็ฉันนั้น คนที่ดูเหมือนไร้ค่า ซึ่งอาจถูกมองว่าเป็น “ขยะ” หรือ “ภาระ”ของสังคม ก็มีคุณค่าอยู่มิใช่น้อย ขอเพียงแต่รู้จักดึงคุณค่าของเขาออกมา ทัศนะดังกล่าวเชื่อว่าน่าจะช่วยเสริมให้บุคลากรของฉือจี้มีมุมมองที่เป็นบวกต่อสิ่งต่าง ๆ และต่อผู้คน ทั้งที่ได้กล่าวมาแล้วและจะกล่าวต่อไป

ค.การแสดงความชื่นชมมากกว่าตำหนิ

ท่านธรรมาจารย์เจิ้งเหยียน จะเน้นให้ชาวฉือจี้กล่าวแสดงความชื่นชมผู้อื่นให้มาก มิใช่เพื่อประโยชน์ของผู้พูด แต่เพื่อประโยชน์ของผู้ฟัง กล่าวคือเมื่อได้รับคำชม ก็ทำให้ผู้ฟังอยากทำความดี หรือสิ่งที่เป็นประโยชน์สร้างสรรค์มากขึ้น กล่าวอีกนัยหนึ่ง คำชมเปรียบเสมือนการชักชวนความดี หรือคุณภาพฝ่ายบวกให้ออกมาจากใจมากขึ้น ตรงกันข้ามกับคำตำหนิ ที่มักกระตุ้นให้คุณภาพฝ่ายลบออกมาจากใจของผู้ฟัง เช่น เกิดความโกรธ ปฏิเสธความผิดพลาด โทษผู้อื่น หรือโกหกเพื่อปกป้องตนเอง

การแสดงความชื่นชมเป็นวิธีการที่ฉือจี้นำมาใช้ในทุกระดับ ตั้งแต่เด็กไปจนถึงผู้ใหญ่ ทั้งนี้โดยอิงอยู่กับความเชื่อพื้นฐานว่าทุกคนมีคุณงามความดีอยู่ในตัว หน้าที่ของทุกคนคือ มองให้เห็นความดีของเขา แม้จะหลบซ่อน หรือมีอยู่น้อยนิด แม้แต่นักเรียนที่ดูเหมือนจะเอาดีอะไรไม่ได้สักอย่าง แต่การที่ครูได้พูดชมเขาในสิ่งที่ดูเหมือนจะเล็กน้อย ก็อาจทำให้ความดี และศักยภาพที่มีอยู่น้อยนิดหรือถูกกดทับนั้นมีพลังที่จะแสดงตัวออก ดังมีเรื่องเล่าว่านักเรียนคนหนึ่งซึ่งไม่เอาถ่าน แต่ในที่สุดกลายเป็นนักวาดที่สามารถ เพียงเพราะว่าครูได้ชมภาพตวัดพู่กันของเขา ทั้ง ๆ ที่เขาทำอย่างเสียไม่ได้ แต่คำชมนั้นก็ทำให้นักเรียนมีกำลังใจ และหมั่นฝึกตวัดพู่กันจนชำนาญ

สำหรับคนที่ชอบมองคนในแง่ลบ การแสดงความชื่นชมเป็นเรื่องยากมาก แต่การถูกฝึกให้ชมผู้อื่นอยู่เสมอ ก็ช่วยให้เห็นคนในแง่บวกมากขึ้น ซึ่งในที่สุดก็จะกลับมาช่วยให้เขาเห็นตัวเองในแง่บวก และเห็นคุณค่าของสรรพสิ่งที่อยู่รอบตัว ตลอดจนเห็นแง่ดีของทุกสิ่งที่เกิดขึ้นกับตัว แม้จะเป็นสิ่งที่คนทั่วไปเห็นว่าเป็น “เคราะห์” เช่น มีคนหนึ่งถูกโกงเงิน ๖๐ ล้านเหรียญไต้หวัน ทีแรกก็ทุกข์มาก แต่ต่อมาก็ปล่อยวางได้เพราะเห็นว่าอย่างน้อยเขาก็ยังมีข้าวกินและมีบ้านอยู่อย่างสบาย

สิ่งที่ทำควบคู่กับการเห็นคุณค่าของทุกชีวิตและสรรพสิ่ง ก็คือการขอบคุณ คำว่า “ขอบคุณ” (กั่นเอิน) เป็นคำที่ชาวฉือจี้พูดบ่อยมาก ไม่ว่าเป็นอาหาร ข้าวของเครื่องใช้ ธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม ชาวฉือจี้จะได้รับการปลูกฝังให้ซาบซึ้งในบุญคุณและขอบคุณสิ่งเหล่านั้น ในทำนองเดียวกันไม่ว่าจะทำงานหรือมีปฏิสัมพันธ์กับใคร การขอบคุณเขาเหล่านั้นเป็นสิ่งสำคัญ แม้แต่เวลาไปช่วยเหลือผู้ประสบภัย ก็ควรขอบคุณเขาเหล่านั้นที่เปิดโอกาสให้เราได้ทำความดี การขอบคุณผู้คนด้วยความจริงใจ ช่วยให้ผู้ถูกขอบคุณเกิดความรู้สึกที่เป็นกุศล และหากการขอบคุณนั้นเกิดจากการที่ตนเองทำความดี ก็ทำให้ตนเองอยากทำความดีเพิ่มขึ้น

ง.การเห็นความทุกข์ของผู้อื่น

ความทุกข์ยากลำบากของเพื่อนมนุษย์สามารถกระตุ้นเมตตากรุณาในใจเราให้เกิดพลังที่อยากทำความดีเพื่อช่วยเขาออกจากทุกข์ได้ อย่างน้อยก็ทำให้เกิดความเห็นอกเห็นใจเขา ดังนั้นกิจกรรมส่วนหนึ่งของฉือจี้คือ การพาสมาชิกไปประสบสัมผัสกับผู้ทุกข์ยาก เริ่มตั้งแต่ คนชรา คนป่วย คนพิการ ไปจนถึงผู้ประสบภัยพิบัติ สมาชิกเหล่านี้เริ่มต้นด้วยการบริจาคเงิน หลังจากที่ได้รับฟังกิจกรรมของฉือจี้จากอาสาสมัครที่ไปเยี่ยมเยือนเป็นประจำ ใครที่สนใจก็จะได้รับการเชื้อเชิญให้เยี่ยมดูงานสงเคราะห์ผู้ทุกข์ยากของฉือจี้ ทำให้เกิดความอยากที่จะช่วยเหลือคนเหล่านั้น

ในระยะหลัง ฉือจี้ได้ทำกิจกรรมดังกล่าวกับเด็กนักเรียนตั้งแต่ชั้นประถมในโรงเรียนของฉือจี้เอง มีการพานักเรียนไปเยี่ยมคนชรา คนป่วย พร้อม ๆ กับการไปทำงานบริการช่วยเหลือเขา ทำให้จิตใจเกิดความเห็นอกเห็นใจ อยากทำความดีมากขึ้น

จ.การแลกเปลี่ยนประสบการณ์

การได้รับรู้เรื่องราวของคนที่ทำความดี ทำให้เราเกิดแรงบันดาลใจที่จะทำความดี ฉือจี้จึงให้ความสำคัญกับกิจกรรมส่วนนี้มาก แต่ไม่ได้เน้นเฉพาะการใช้สื่อ เช่น หนังสือ ละคร หรือรายการโทรทัศน์ เท่านั้น ที่น่าสนใจก็คือการใช้วิธีสนทนาพูดคุยกัน นอกจากการจัดให้มีการสนทนาเป็นประจำระหว่างอาสาสมัครกับสมาชิก (ผ่านการไปเยี่ยมเยือนและรับเงินบริจาคทุกเดือน) แล้ว ยังมีการสนทนาระหว่างอาสาสมัครกับท่านธรรมาจารย์เจิ้งเหยียนที่วัดของท่านเป็นประจำทุกเช้า โดยมีอาสาสมัครทั่วประเทศและจากสาขาต่าง ๆ ทั่วโลกมาร่วมแลกเปลี่ยนผ่านระบบteleconference (และถ่ายทอดทางสถานีต้าอ้าย) ในช่วงเวลาดังกล่าว อาสาสมัครแต่ละคนจะนำเอาประสบการณ์ และความประทับใจจากการทำงานมาเล่าให้ผู้อื่นฟัง รวมทั้งเล่าถึงบุคคลอื่นที่ทำความดีอย่างน่าประทับใจด้วย

ในระดับย่อย ๆ ยังมีการสนทนาแลกเปลี่ยนระหว่างสมาชิกที่รวมกันเป็นกลุ่มเล็กๆ (ประมาณ ๒๐ คน) เป็นประจำ ซึ่งมีอยู่กระจัดกระจายทั่วประเทศ อีกตัวอย่างที่น่าสนใจก็คือ การนำวิธีนี้ไปใช้กับนักเรียนแพทย์ ก่อนที่นักศึกษาแพทย์จะทำการเรียนรู้จาก “อาจารย์ใหญ่” หรือ ผู้ที่อุทิศร่างเพื่อการศึกษา นักศึกษาทั้งกลุ่ม (๔-๕ คน) จะต้องไปเยี่ยมและสนทนากับครอบครัวของอาจารย์ใหญ่ เพื่อเรียนรู้ประวัติและเรื่องราวของผู้ที่อุทิศร่างให้ จุดมุ่งหมายที่เป็นรูปธรรมก็คือเพื่อเขียนชีวประวัติโดยย่อของอาจารย์ใหญ่สำหรับนำไปเผยแพร่ผ่านสื่อต่าง ๆ ของฉือจี้ (เช่น เว็บไซต์ รวมทั้งติดที่ข้างเตียงผ่าศพ) แต่จุดมุ่งหมายที่สำคัญกว่านั้นก็คือเพื่อให้เห็นคุณงามความดีของอาจารย์ใหญ่ และเกิดความรู้สึกซาบซึ้งในบุญคุณของเขา ทำให้นักศึกษาแพทย์ปฏิบัติต่อร่างของอาจารย์ใหญ่ด้วยความเคารพ และตระหนักว่าความรู้และทักษะทางการแพทย์ของตนเกิดจากความเสียสละของผู้อื่น เมื่อจบการศึกษาไปเป็นแพทย์ สำนึกดังกล่าวย่อมช่วยให้เกิดความตั้งใจที่จะเสียะสละเพื่อผู้อื่นเป็นการตอบแทน ยิ่งกว่าที่จะแสวงหาประโยชน์ส่วนตน ขณะเดียวกันการได้เรียนรู้เรื่องชีวิต ความรู้สึก แรงบันดาลใจ และสุขทุกข์ของอาจารย์ใหญ่เมื่อครั้งยังมีชีวิตอยู่ ก็ช่วยให้นักศึกษาแพทย์มีทัศนคติต่อชีวิตในมุมมองที่ลึกซึ้งขึ้น เข้าใจถึงมิติทางสังคมและจิตวิญญาณของผู้คน ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อนักศึกษาในการปฏิบัติต่อผู้ป่วยในฐานะมนุษย์ คือเห็นเขาครบทุกมิติ มิใช่สนใจแต่กายภาพของเขาเท่านั้น นั่นคือ ทำให้เขาหันมารักษา “คน” มากกว่ารักษา “ไข้”

มีอาจารย์ใหญ่คนหนึ่ง ก่อนเสียชีวิตได้ป่วยเป็นมะเร็งตับ เมื่อพบว่าตนเองไม่มีโอกาสรักษาให้หายได้ จึงปฏิเสธการผ่าตัด ฉายแสง หรือเคมีบำบัด ทั้งนี้เพราะอยากอุทิศร่างให้แก่นักศึกษา แต่กลัวว่าวิธีดังกล่าวจะทำให้ศพเสียสภาพ ไม่สามารถใช้ผ่าศึกษาได้ จึงรับแต่ยาบรรเทาปวดไปจนหมดลม เรื่องราวของบุคคลเช่นนี้ ยากนักที่จะไม่บันดาลใจให้นักศึกษาแพทย์เกิดความกตัญญูรู้คุณอาจารย์ใหญ่ และมุ่งมั่นที่จะทำความดีอย่างอาจารย์ใหญ่บ้าง

จะเห็นได้ว่า การสนทนาแลกเปลี่ยนในเรื่องราวที่เหมาะสม เรื่องของบุคคลที่จะมีความเกี่ยวข้องกับชีวิตนักศึกษาของเขาตลอด ๔ ปีข้างหน้า สามารถดึงคุณธรรมของนักศึกษาแพทย์ออกมาได้อย่างมีพลัง

ฉ.การมี เมตตา หรือ ความรัก ต่อผู้อื่น

ความรักและความปรารถนาดีหากได้แสดงต่อผู้ใด สามารถที่จะทำให้ผู้นั้นมีความรู้สึกที่เป็นกุศล เปิดทางให้คุณธรรม หรือความใฝ่ดีแสดงตัวออกมา ดังเห็นได้ว่าคนที่กำลังโกรธอยู่จะบรรเทาความโกรธไปได้ หากอีกฝ่ายทำดีกับตน เช่น แสดงน้ำใจ เอื้อเฟื้อ พูดจาด้วยถ้อยคำสุภาพ ไม่ถือโทษโกรธเคือง ชาวฉือจี้เชื่อว่าการมีเมตตาต่อผู้อื่น นอกจากจะช่วยเสริมสร้างความรู้สึกที่เป็นกุศลในใจตนแล้ว ยังสามารถน้อมนำคุณธรรมออกมาจากใจของผู้นั้นได้ด้วย การมีเมตตาต่อผู้อื่นนั้น เป็นพื้นฐานของ “คุณธรรมแบบฉือจี้” หลายประการ เช่น ความอ่อนน้อมถ่อมตน การมองผู้อื่นในแง่บวก การพูดด้วยปิยวาจา การให้อภัย รวมไปถึง การเอื้อเฟื้อเจือจาน และช่วยเหลือยามเขาประสบทุกข์

คุณสมบัติข้างต้นถือว่าเป็นหัวใจของฉือจี้เลยทีเดียว ดังกล่าวแล้วว่าในทัศนะของฉือจี้ ทุกคน คือ โพธิสัตว์ และคุณลักษณะสำคัญของโพธิสัตว์คือ เมตตากรุณา ชาวฉือจี้จำนวนไม่น้อยมีปณิธานที่จะดำเนินชีวิตบนวิถีแห่งโ

คุณสมบัติข้างต้นถือว่าเป็นหัวใจของฉือจี้เลยทีเดียว ดังกล่าวแล้วว่าในทัศนะของฉือจี้ ทุกคน คือ โพธิสัตว์ และคุณลักษณะสำคัญของโพธิสัตว์คือ เมตตากรุณา ชาวฉือจี้จำนวนไม่น้อยมีปณิธานที่จะดำเนินชีวิตบนวิถีแห่งโพธิสัตว์ โดยพยายามเจริญเมตตาอย่างไม่มีประมาณ สะท้อนได้จากเพลงหนึ่งซึ่งชาวฉือจี้นิยมร้อง มีเนื้อความตอนหนึ่งว่า “ทั่วฟ้าดินนี้ไม่มีใครที่ฉันไม่รัก ทั่วฟ้าดินนี้ไม่มีใครที่ฉันไม่เชื่อใจ ทั่วฟ้าดินนี้ไม่มีใครที่ฉันไม่ให้อภัย”

เมตตานั้นโดยทั่วไปคนไทยแปลว่า ความปรารถนาให้เขาได้รับความสุข แต่ในหมู่ชาวฉือจี้ เมตตาหมายถึง “ความรักโดยไม่แบ่งแยก” ธรรมอีก ๓ ประการ ก็ถูกตีความแตกต่างกันไป กล่าวคือ กรุณา หมายถึง การลงมือช่วยผู้อื่นให้พ้นจากทุกข์ (เถรวาทแปลว่า ความปรารถนาให้เข้าพ้นทุกข์) มุทิตาหมายถึง ความสุขที่เกิดจากการช่วยผู้อื่นให้เป็นสุข (เถรวาทแปลว่า ความยินดีเมื่อเขาได้ดีหรือมีความสุข) และ อุเบกขา ซึ่งแปลว่า การให้โดยไม่หวังผลตอบแทน (เถรวาทแปลว่า การวางเฉยเมื่อทำดีอย่างถึงที่สุดแล้ว)

ในบรรดาพรหมวิหารธรรมดังกล่าว ข้อแรกและข้อสุดท้ายเป็นธรรมที่ชาวฉือจี้เน้นมากที่สุด นั่นคือรักโดยไม่คำนึงว่าจะเป็นใครก็ตาม และให้โดยไม่หวังประโยชน์ส่วนตัว (รวมถึงการไปสวรรค์หรือบรรลุนิพพาน) เวลาทำบุญหรือให้ทาน

คำอธิษฐานของชาวฉือจี้ คือ

๑. ขอให้จิตมนุษย์มีความบริสุทธิ์

๒. ขอให้สังคมมีความสงบสุข

๓. ขอให้โลกปลอดพ้นจากภัยพิบัติ

เมตตา คือ หลักธรรมสำคัญที่สุดที่ขับเคลื่อนงานทุกด้านของฉือจี้ ซึ่งล้วนมีจุดมุ่งหมายเพื่อการสงเคราะห์เพื่อนมนุษย์ทั้งสิ้น สมนามฉือจี้ซึ่งแปลว่า “เมตตาสงเคราะห์” หรือ “สงเคราะห์ด้วยเมตตา” ขณะเดียวกันเมตตายังเป็นเสมือนกุญแจดอกสำคัญที่ฉือจี้ใช้เปิดใจของผู้คน เพื่อให้ความดีงามพรูพรั่งหลั่งไหลออกมาทั้งในรูปของเงินบริจาค และอาสาสมัคร (ตรงนี้อาจต่างจากที่เมืองไทย ซึ่งจูงใจให้คนทำความดีด้วยเหตุผลต่างๆ กัน เช่น เพื่อความมั่งมีศรีสุข เพื่อเพิ่มพูนบุญกุศล เพื่อชาติหน้า หรือเพื่อนิพพาน) การชักชวนคนทำดี จะเน้นการสร้างเมตตาให้เกิดขึ้นในใจเป็นเบื้องแรก เช่น ชี้ให้เห็นถึงความทุกข์ยากของเพื่อนมนุษย์ ขณะเดียวกันเมื่อลงมือทำงาน ก็อาศัยเมตตาเป็นแรงบันดาลใจ และเมื่อมีปฏิสัมพันธ์กับใคร ก็เอาเมตตาเป็นตัวนำ

กล่าวโดยสรุป หากนำลักษณะเด่น ๓ ประการของมูลนิธิฉือจี้ งาน เงิน และคน มาจัดเป็นรูปสามเหลี่ยม สิ่งที่เป็นแกนกลางซึ่งขับเคลื่อนผลักดันทุกส่วนก็คือ เมตตา นั่นเอง (ดังรูป)

๓. การรวบรวมและประสานความดีให้เกิดพลัง

เมื่อสามารถดึงความดีของแต่ละคนออกมาแล้ว ฉือจี้ไม่ได้หยุดเพียงเท่านี้ แต่ยังสามารถรวบรวมความดีของแต่ละคนมาผนึกให้เป็นพลังอันยิ่งใหญ่ได้ ตรงนี้อาจแตกต่างจากองค์กรศาสนาทั่ว ๆ ไป เช่น วัด ซึ่งเมื่อสอนให้คนทำดี หรือดึงความดีออกมาจากใจเขาแล้ว ก็มักจะปล่อยให้ต่างคนต่างทำความดีในชีวิตประจำวันตามปกติ เช่น ไม่เบียดเบียนคนอื่น ทำบุญให้ทาน ความดีที่กระทำจึงมักเป็นความดีส่วนบุคคล ซึ่งแม้จะมีคุณค่า แต่ขาดพลังที่จะก่อให้ความเปลี่ยนแปลงในระดับสังคม เว้นแต่ว่าคนดีบางคนนั้นมีอำนาจ เช่น เป็นคนรวย หรือผู้ปกครอง ก็สามารถสร้างสรรค์ความดีให้เห็นผลในวงกว้างได้

แต่ฉือจี้ดูเหมือนจะไม่ได้ฝากความหวังไว้กับคนดีที่มีอำนาจ แต่ให้ความสำคัญกับคนธรรมดา ๆ มากกว่า โดยเชื่อว่าหากนำความดีของคนเหล่านี้มารวมกัน แม้จะเป็นคนเล็กคนน้อย แต่ก็สามารถบันดาลพลังสร้างสรรค์ที่มีอานุภาพ หรือทำเรื่องยาก ๆ ขึ้นมาได้ ประวัติของฉือจี้จะว่าไปแล้วเป็นเรื่องของคนเล็กคนน้อยที่รวมพลังทำสิ่งยิ่งใหญ่ได้ เห็นได้จากจุดเริ่มต้นของฉือจี้ที่เกิดจากแม่บ้าน ๓๐ คนซึ่งบริจาคเงินคนละ ๕๐ เซ็นต์ (๒๕ สตางค์)ทุกวัน แต่เมื่อผ่านไปไม่ถึงชั่วอายุคน นอกจากช่วยเหลือผู้ทุกข์ยากจนนับไม่ถ้วนแล้ว ยังสามารถสร้างโรงพยาบาลราคา ๘๐๐ ล้านได้ ( ๘ เท่าของงบประมาณของทั้งจังหวัด)โดยอาศัยเงินบริจาคของคนเล็กคนน้อย (มีเรื่องเล่าว่าตอนที่ท่านมีความคิดจะสร้างโรงพยาบาลนั้น ฉือจี้มีเงินทุนน้อยมาก และไม่มีใครคิดว่าจะเป็นไปได้ แต่ท่านธรรมาจารย์เชื่อมั่นว่าจะสามารถหาเงินมาได้ในที่สุด ในที่สุดโรงพยาบาลก็สร้างเสร็จได้ในเวลา ๗ ปี ก่อนหน้านั้นมีเศรษฐีชาวญี่ปุ่นผู้หนึ่งเสนอตัวบริจาคเงินนับร้อยล้านเพื่อสร้างโรงพยาบาลดังกล่าว แต่ท่านเจิ้งเหยียนปฏิเสธ เพราะปรารถนาจะให้คนทั่ว ๆ ไปมีส่วนร่วมสร้างโรงพยาบาลนี้มากกว่า) แม้ว่าระยะหลังจะมีเศรษฐีมาเป็นสมาชิกและอาสาสมัครของฉือจี้เป็นจำนวนมาก แต่ความสำเร็จของฉือจี้ก็ยังมาจากคนธรรมดาเป็นส่วนใหญ่ ยิ่งปัจจุบันฉือจี้มีสมาชิกเกือบ ๖ ล้านคน และอาสาสมัครไม่ต่ำกว่า ๒ แสนคน ก็ยิ่งสามารถขยายงานสร้างสรรค์ออกไปได้อย่างกว้างขวาง จนข้ามไปช่วยเหลือผู้ประสบภัยทุกมุมโลก โดยไม่มีเงินสนับสนุนจากรัฐเลย

จะว่าไปแล้วงานแยกขยะซึ่งเป็น “หน้าตา” ประการหนึ่งของฉือจี้นั้น เป็นตัวแทนแนวคิดดังกล่าวได้เป็นอย่างดี เพราะขยะนั้นดูไร้ค่าต่ำต้อย แต่หากเห็นคุณค่าแม้เพียงน้อยนิดของขยะ แล้วดึงคุณค่านั้นออกมาหมุนเวียนให้เกิดประโยชน์ใหม่ ขยะที่มีอยู่มากมายมหาศาลนั้น ก็สามารถก่อให้เกิดมูลค่าจำนวนนับพันล้านบาท เป็นทุนอุดหนุนสถานีโทรทัศน์ที่ทันสมัยได้อย่างเป็นกอบเป็นกำ

ความสำเร็จของฉือจี้จึงเป็นตัวอย่างของผู้ที่ไม่ประมาทความดีแม้เพียงเล็กน้อย ซึ่งเป็นคติข้อหนึ่งของพุทธศาสนา ความดีแม้เพียงเล็กน้อยหากสะสมกันอย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอ ไม่ช้าก็เร็ว ย่อมเป็นมหากุศล ดังพระพุทธองค์เปรียบหยดน้ำซึ่งเมื่อรวมกันย่อมกลายเป็นมหาสมุทร ด้วยเหตุนี้ท่านเจิ้งเหยียน จึงไม่เคยรังเกียจเงินบริจาคแม้เพียงเล็กน้อย ขอเพียงบริจาคสม่ำเสมอทุกวัน อานุภาพอันยิ่งใหญ่ของสิ่งเล็กน้อย ชาวฉือจี้บางคนได้เปรียบเทียบเหมือนกับอาคารโรงพยาบาลของฉือจี้ซึ่งใหญ่โตมหึมาแต่ประกอบขึ้นมาจากกรวดก้อนเล็ก ๆ มากมายมหาศาลที่เห็นได้ตามผนังด้านนอกของตึก (อาคารของฉือจี้จะมีเอกลักษณ์ที่ชัดเจนคือ นอกจากแข็งแรง อดทน ชนิดที่ทานแผ่นดินไหวได้แล้ว ยังมีสีขาวอมเทา และมีกรวดก้อนเล็ก ๆ มากมายฉาบตามผนังและเสาตึกที่ใหญ่หลายคนโอบ)

ข้างต้นคือแนวคิดพื้นฐานที่อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของฉือจี้ แต่มีอีกปัจจัยหนึ่งที่ไม่อาจมองข้ามได้เลย นั่นคือ ความสามารถในการประสานเชื่อมโยงความดีของบุคคลจำนวนมากมายให้เกิดพลังสร้างสรรค์ ความสามารถส่วนนี้เป็นเรื่องของการจัดองค์กรที่มีหลายด้าน และมีความสัมพันธ์พาดผ่านกันหลายลักษณะ ผู้เขียนมีเวลาศึกษาไม่มาก แต่เท่าที่ได้รับทราบมา จะมีการจัดองค์กรและความสัมพันธ์ดังต่อไปนี้

๑.การจัดองค์กรในภาพรวม

ฉือจี้มีการจัดองค์กรเป็น เครือข่ายหลายชั้น ชั้นในสุดซึ่งเป็นแกนกลาง คือ คณะภิกษุณีซึ่งมีประมาณ ๑๕๐ รูป ใช้ชีวิตร่วมกันในสมณารามในเมืองฮวาเหลียน (ซึ่งเป็นจุดกำเนิดและศูนย์กลางของฉือจี้) ดำเนินชีวิตอย่างสมถะ ยังชีพด้วยการพึ่งพาตัวเอง เช่น ทำสวน ปลูกผัก (สมัยแรก ๆ ต้องทำนากันเอง โดยใช้แรงคนลากคันไถ) และผลิตสินค้าออกจำหน่าย ปฏิเสธรับเงินบริจาค ถือเป็นผู้นำทางจิตวิญญาณ

ชั้นที่อยู่ถัดออกมา คือสมาชิกของฉือจี้ แบ่งเป็น ๔ ระดับคือ สมาชิกเต็มขั้น ที่ผ่านการอบรมจนเข้าใจจิตวิญญาณและแนวทางของฉือจี้ และแสดงตนให้เป็นที่ประจักษ์ถึงความเสียสละและมุ่งมั่นในการบำเพ็ญประโยชน์ต่อเพื่อนมนุษย์ ระดับที่สอง ได้แก่สมาชิกขั้นอบรม ซึ่งต้องเป็นอาสาสมัครทำงานช่วยเหลือสังคมไม่น้อยกว่า ๒ ปี จึงจะเลื่อนเป็นสมาชิกเต็มขั้นได้ ระดับที่สามคือ สมาชิกขั้นฝึกงาน ซึ่งต้องทำงานช่วยเหลือสังคมไม่น้อยกว่า ๑ ปี จึงจะเลื่อนเป็นสมาชิกขั้นอบรมได้ งานที่อาสาสมัครเหล่านี้ทำเป็นประจำได้แก่ เยี่ยมบ้านคนป่วยอนาถา ช่วยงานในโรงพยาบาลและสถานศึกษาของฉือจี้ เก็บและแยกขยะในชุมชน สงเคราะห์ผู้ประสบภัยพิบัติ รวมทั้งเยี่ยมเยือนสมาชิกผู้บริจาคเงินสนับสนุนมูลนิธิ อาสาสมัครเหล่านี้มีร่วม ๒ แสนคน กระจายไปทั่วเกาะ

ถัดจากนั้นเป็นสมาชิกผู้สนับสนุน ซึ่งบริจาคเงินให้แก่มูลนิธิเป็นประจำ บุคคลเหล่านี้สัมพันธ์กับมูลนิธิโดยผ่านอาสาสมัครซึ่งไปเยี่ยมเยือนถึงบ้าน สมาชิกจึงทราบข่าวคราว และกิจกรรมของฉือจี้อย่างต่อเนื่อง การมีอาสาสมัครมาเยี่ยมเยือนเป็นประจำ ยังเป็นโอกาสที่สมาชิกจะซึมซับรับเอาแนวคิดหรืออุดมคติของฉือจี้ จนอาจมีจิตปรารถนาที่จะช่วยเหลือมากกว่าการบริจาคเงิน หรือปรารถนาที่จะเขยิบไปเป็นอาสาสมัครของฉือจี้ สมาชิกส่วนใหญ่ของฉือจี้เป็นสมาชิกระดับนี้ซึ่งมีกว่า ๕ ล้านคน

อันที่จริงยังมีผู้สนับสนุนประเภทหนึ่งคือ บริจาคเงินก้อนให้มูลนิธิ ผู้ที่บริจาคให้ ๑ ล้านเหรียญไต้หวัน จะได้รับตำแหน่งสมาชิกกิตติมศักดิ์ มีสถานะคล้ายกับสมาชิกเต็มขั้นของฉือจี้ (เช่น มีสิทธิติดสัญลักษณ์หรือใส่เครื่องแบบฉือจี้ คือ เสื้อน้ำเงิน กางเกงขาว เป็นต้น) สมาชิกประเภทนี้มีขึ้นเพื่อเปิดโอกาสให้คนรวยแต่ไม่มีเวลามารับการฝึกฝนเป็นอาสาสมัคร ๒ ปี สามารถเข้ามาทำงานให้กับฉือจี้ได้

ชั้นนอกสุดของเครือข่ายคือ ประชาชนทั่วไป ซึ่งได้รับประโยชน์จากกิจกรรมด้านต่าง ๆ ของฉือจี้ เช่น ผู้ที่ไปรับการเยียวยารักษาจากโรงพยาบาล ผู้ที่ได้รับการศึกษาจากโรงเรียนไปจนถึงมหาวิทยาลัย ผู้ที่ได้รับการช่วยเหลือจากงานสงเคราะห์ และผู้ชมรายการโทรทัศน์ของฉือจี้

จะเห็นได้ว่าเครือข่ายของฉือจี้มีการสร้างสายสัมพันธ์ที่เชื่อมโยงผู้คนอย่างกว้างขวาง โดยผ่านปฏิสัมพันธ์หลายแบบ อาทิ ความสัมพันธ์แบบบุคคลต่อบุคคล ความสัมพันธ์ผ่านกิจกรรม ความสัมพันธ์ผ่านสื่อ นอกจากนั้นยังเป็นสายสัมพันธ์ที่เชื่อมโยงสถาบันทางสังคมที่หลากหลาย ได้แก่

๑) วัดหรือสมณาราม ซึ่งเป็นแกนกลางของเครือข่าย

๒) ครอบครัว ซึ่งเชื่อมโยงกับเครือข่ายผ่านอาสาสมัครที่ไปรับเงินบริจาค

๓) ชุมชน ซึ่งเชื่อมโยงกับเครือข่ายผ่านอาสาสมัครที่กระจายอยู่ทั่วประเทศ

๔) โรงเรียน วิทยาลัย และมหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นกลไกสำคัญของเครือข่าย

๕) สื่อมวลชน อาทิ สถานีโทรทัศน์ ซึ่งเป็นตัวกลางระหว่างแกนในของฉือจี้(คณะภิกษุณี)กับอาสาสมัคร สมาชิก และประชาชนทั่วไป

สถาบันเหล่านี้มีทั้งสถาบันแบบดั้งเดิม และสถาบันอย่างใหม่ ซึ่งมี “ทุน”ทางสังคมอยู่มาก สามารถที่จะเป็นกลไกในการขับเคลื่อน กระตุ้น และประสานผู้คนให้มาลงแรงทำความดีร่วมกันได้อย่างพร้อมเพรียง และมีพลัง

๒.การสร้างสายสัมพันธ์ในระดับย่อย

นอกจากการจัดองค์กรในภาพกว้างแล้ว ยังมีการสร้างสายสัมพันธ์ในระดับย่อย ๆ หรือในกลุ่มคนกลุ่มต่าง ๆ ขนานกันไป ซึ่งมีหลายด้านมาก และส่วนใหญ่เป็นความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลกับบุคคล เช่น

ก.ความสัมพันธ์ระหว่างภิกษุณีกับอาสาสมัคร

อาสาสมัครแต่ละคนจะมีสถานะเป็น “ศิษย์” ขึ้นตรงต่อภิกษุณีแต่ละคน แต่ความสัมพันธ์ในขั้นนี้ มีลักษณะเป็นทางการ และยากที่จะมีความสัมพันธ์แบบใกล้ชิดได้ เพราะมีอาสาสมัครนับพันที่ขึ้นกับภิกษุณีแต่ละคน

ข.ความสัมพันธ์ระหว่างอาสาสมัครกับพี่เลี้ยง

อาสาสมัครฝึกงานแต่ละขั้นจะมีพี่เลี้ยงคอยให้ความดูแลช่วยเหลือ ทั้งในเรื่องแนวคิด การปฏิบัติตัว การทำงาน รวมทั้งให้คำแนะนำหากมีปัญหาชีวิตด้วย ความสัมพันธ์จึงเป็นไปอย่างใกล้ชิด และเมื่ออาสาสมัครฝึกงานได้เขยิบขึ้นเป็นอาสาสมัครเต็มขั้น ก็จะกลายเป็นพี่เลี้ยงให้กับอาสาสมัครฝึกงาน

ค.ความสัมพันธ์ระหว่างอาสาสมัครด้วยกันตามศูนย์ต่าง ๆ

ในแต่ละเมืองจะมีศูนย์ประสานงานอาสาสมัคร อาสาสมัครแต่ละคนจะสังกัดอยู่กับศูนย์ดังกล่าว โดยมีหัวหน้าศูนย์เป็นผู้ติดต่อประสานงาน จัดประชุม หรือระดมคน นอกจากนั้นในแต่ละเมืองยังมีการซอยย่อยออกเป็นกลุ่มเล็ก ๆ แต่ละกลุ่มมีสมาชิกไม่เกิน ๒๐ คน มีหัวหน้ากลุ่มเป็นผู้ประสานงาน การจัดองค์กรในระดับนี้เอื้อให้เกิดกลุ่มกัลยาณมิตรที่ช่วยเหลือเกื้อกูลกันได้อย่างใกล้ชิด

ง.ความสัมพันธ์ระหว่างอาสาสมัครด้วยกันในหน่วยงานประจำ

อาสาสมัครหลายคนมีงานประจำ (แต่อาจไม่ได้ทำทุกวัน) เช่น งานแยกขยะ ซึ่งมีโรงงานแยกขยะถึง ๕,๐๐๐ แห่ง การได้มาทำงานร่วมกันทำให้เกิดความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดระหว่างกัน ซึ่งนำไปสู่การช่วยเหลือเกื้อกูลกันในเรื่องที่ไม่เกี่ยวกับงานด้วย เช่น ช่วยเหลือในเรื่องครอบครัว เป็นต้น

ทั้งนี้ยังไม่พูดถึงความสัมพันธ์ระหว่างอาสาสมัครกับสมาชิก หรือผู้บริจาค ซึ่งได้กล่าวไปแล้ว ที่จริงฉือจี้ยังนำความสัมพันธ์ทำนองนี้ไปใช้ในสถาบันการศึกษาของตนด้วย เช่น ความสัมพันธ์ระหว่างนักเรียนนักศึกษากับพ่อ/แม่อุปถัมภ์ ความสัมพันธ์ระหว่างพ่อ/แม่อุปถัมภ์ด้วยกัน พ่อ/แม่อุปถัมภ์เหล่านี้ความจริงก็คืออาสาสมัครของฉือจี้ที่ไปช่วยงานในสถาบันการศึกษานั่นเอง ประเด็นนี้จะได้กล่าวในหัวข้อต่อไป

๓. การมีระบบประสานงานที่มีประสิทธิภาพ

ความสัมพันธ์ทั้งในระดับกว้างและระดับย่อย ดังกล่าวมา ทำให้เครือข่ายของฉือจี้มีความแน่นแฟ้น และยึดโยงกันอย่างทั่วถึง จึงสามารถระดมคนไปทำงานอาสาสมัครได้อย่างพร้อมเพรียง และต่อเนื่องไม่ขาดสาย แต่ความสำเร็จส่วนนี้ด้านหนึ่งต้องยกให้เป็นความสามารถของหน่วยงานต่าง ๆ ของฉือจี้ เช่น โรงพยาบาล และสถาบันการศึกษา ที่มีการจัดทำทะเบียนอาสาสมัคร และมีระบบการติดต่อ แจ้งข่าว แก่อาสาสมัครเหล่านั้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้มีการผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนมาทำงานได้อย่างต่อเนื่องและพอดิบพอดี จำเพาะโรงพยาบาลขนาดเกิน ๑,๐๐๐ เตียงของฉือจี้ ซึ่งมี ๓ แห่ง แต่ละวันต้องการอาสาสมัครถึง ๒๒๐-๒๕๐ คน งานที่ต้องการคนช่วยก็มีหลากหลาย อีกทั้งแต่ละคนก็สามารถให้เวลาได้ไม่เท่ากัน ทั้งนี้ยังไม่ต้องพูดถึงอาสาสมัครที่ลงทะเบียนไว้ไม่น้อยกว่า ๕,๐๐๐ คน กระจายทั่วประเทศ การติดต่อประสานงานให้อาสาสมัครมาช่วยงานจึงไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ฉือจี้ก็สามารถทำได้ด้วยดี จึงทำให้สามารถใช้ “ทุน” ที่มีอยู่ได้อย่างเต็มกำลัง

๔.มีงานหลากหลายที่ทุกคนมีส่วนร่วมได้

มูลนิธิฉือจี้ สามารถรวมรวมความดีของผู้คนมาได้เป็นจำนวนมาก ส่วนหนึ่งก็เพราะมีงานที่หลากหลาย ชนิดที่ทุกคนสามารถมีส่วนร่วมได้ ไม่ว่าเด็ก ผู้หญิง ผู้ชาย คนรวย คนจน ผู้เฒ่า คนชรา หรือแม้แต่ผู้ป่วย และผู้ใกล้ตาย สำหรับคนส่วนใหญ่อย่างแรกที่ช่วยได้คือการบริจาคเงิน แต่หากเป็นเด็ก คนชรา หรือคนจน ถึงแม้ไม่มีเงินเลย ก็ยังช่วยได้ด้วยการลงแรง เช่น แยกขยะ ฉีกกระดาษ ทำความสะอาด ถือกล่องบริจาค บางคนที่มีความสามารถมาก ก็ช่วยงานสถานีโทรทัศน์ เล่านิทานในห้องเรียน แสดงละครส่งเสริมคุณธรรม เป็นมัคคุเทศก์ ต้อนรับผู้มาดูงาน เล่นดนตรีให้ผู้ป่วยฟัง หรือถ้าสละเวลาได้เป็นเดือน ก็ไปเป็นแพทย์ช่วยผู้ประสบภัยทั้งในและนอกประเทศ หรือคุมงานสร้างบ้านพักให้คนยากจน แม้แต่ผู้ป่วยก็ยังช่วยได้โดยเปิดโอกาสให้นักเรียนมาเยี่ยมเยือน ส่วนผู้ป่วยใกล้ตายก็ยังทำความดีได้ด้วยการอุทิศร่างกายให้แก่นักศึกษาแพทย์ ฉือจี้ได้ทำให้ทุกคนเห็นว่านอกจากตนเองมีความดีอยู่ในตัวแล้ว ยังสามารถทำความดีต่อผู้อื่น หรือสร้างสรรค์คุณประโยชน์ต่อส่วนรวมได้ทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็นใครก็ตาม ด้วยเหตุนี้ความดีจึงหลั่งไหลออกมาไม่ขาดสายจากผู้คนจำนวนมากมายที่ฉือจี้มีเครือข่ายอยู่

๕.การหล่อเลี้ยงและเพิ่มพูนความดี

ความดีนั้นนอกจากจะต้องนำออกมา และใช้ให้เกิดประโยชน์แล้ว จำเป็นต้องมีการหล่อเลี้ยงรักษา และทำให้เจริญงอกงามยิ่งขึ้น จึงจะก่อให้เกิดผลสร้างสรรค์อย่างยั่งยืน กระบวนการดังกล่าวเป็นเรื่องของ “การศึกษา” หรือ ไตรสิกขาตามหลักพุทธศาสนาโดยตรง แต่เวลาพูดถึงการศึกษา เรามักนึกถึงครู และห้องเรียน แท้ที่จริงการศึกษาสามารถเกิดขึ้นได้ทุกที่ทุกเวลา และในทุกรูปแบบ กรณีฉือจี้เป็นตัวอย่างที่ชัดเจนที่ใช้วิธีการหลากหลายในการหล่อเลี้ยงและเพิ่มพูนความดีของบุคคล โดยในระยะแรก ๆ ทำกับผู้ใหญ่เป็นหลัก ผ่านกระบวนการ และเครือข่ายอาสาสมัครเป็นส่วนใหญ่ แต่ในช่วง ๒๐ ปีหลัง ได้หันมาทำกับเยาวชนมากขึ้น โดยการจัดตั้งสถาบันการศึกษาระดับวิทยาลัย (ปี ๒๕๓๒) และมหาวิทยาลัย (ปี ๒๕๓๗) ต่อมาก็ทำกับเด็กโดยการจัดตั้งโรงเรียนมัธยมและประถม (ปี ๒๕๔๓)ตามลำดับ ซึ่งจัดว่าเป็นงานที่ท้าทายมิใช่น้อยสำหรับฉือจี้ อาจเป็นเพราะเหตุนี้การขยายงานด้านการศึกษาประถมและมัธยมจึงเป็นไปอย่างช้า ๆ (ปัจจุบันมีนักเรียนประถม ๔๐๐ คน นักเรียนมัธยม ๘๐๐ คน และนักศึกษา ๓,๐๐๐ คน) แต่ฉือจี้ก็ดูจะประสบความสำเร็จในการผสานการสร้างเสริมคุณธรรมควบคู่กับการพัฒนาความรู้ได้เป็นอย่างดีและมีศิลปะ ซึ่งเป็นแบบอย่างอันควรแก่การศึกษาเป็นอย่างยิ่ง

ในที่นี้จะกล่าวรวม ๆ ทั้งกระบวนการสำหรับผู้ใหญ่และนักเรียนนักศึกษา

๑. การเสริมสร้างคุณธรรมด้วยการทำงาน

วิธีนี้เป็นวิธีที่ฉือจี้ ให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะการทำงานเพื่อส่วนรวมหรือรับใช้ผู้อื่น เพราะเป็นการเพิ่มพูนเมตตากรุณา จิตสำนึกเสียสละ และคุณธรรมอีกหลายด้าน อาทิ งานแยกขยะ ช่วยให้เกิดสำนึกทางด้านสิ่งแวดล้อม คนที่มาทำงานแยกขยะ จะเห็นด้วยตนเองว่าสิ่งของที่ทิ้งลงขยะนั้น ความจริงยังมีประโยชน์อีกมาก แต่ยังใช้ไม่คุ้มค่า หลายคนจะหันมาใช้กระดาษทั้ง ๒ หน้า ขณะเดียวกันก็รู้จักหมุนเวียนเอามาใช้ให้เกิดประโยชน์ใหม่ ทำให้ทิ้งขยะน้อยลง นอกจากนั้นจะเกิดนิสัยแยกขยะโดยไม่ต้องมีใครบังคับหรือมี “ตาวิเศษ”มาเฝ้าดู

งานแยกขยะเป็นงานหนึ่งที่นำเด็กและคนแก่ (บางคนอายุ ๙๐ ปี) มาทำงานร่วมกัน และเป็นโอกาสที่เด็กจะได้เรียนรู้จากคนแก่ทั้งในแง่แบบอย่างแห่งความเสียสละ และคติธรรมในการดำเนินชีวิต คนแก่บางคนมีฐานะดี ชีวิตสะดวกสบาย แต่ก็ยังมาช่วยเก็บขยะตามชุมชนแล้วลงมือแยกร่วมกับเพื่อนอาสาสมัครที่อ่อนวัยกว่า ทำให้เด็กได้มาเรียนรู้ถึงชีวิตแห่งการบริการสังคมด้วยตนเอง โรงงานแยกขยะจึงเป็นสถานศึกษาที่สำคัญอย่างมากของชาวฉือจี้

คนแก่หลายคนกลับมาเห็นคุณค่าของตัวเองอีกครั้งหนึ่งจากงานแยกขยะ ขณะที่คนรวยหรือคนเก่งหลายคนกลับมีความอ่อนน้อมถ่อมตนมากขึ้น ไม่รังเกียจหรือดูแคลนงานแบบนี้ว่าต่ำต้อย คุณธรรมด้านนี้เป็นสิ่งที่ฉือจี้เน้นมาก และอาศัยงานเป็นตัวหล่อหลอม นอกจากงานแยกขยะแล้ว งานทำความสะอาด เช่น กวาดขยะ ล้างห้องน้ำ ก็เป็นงานที่ชาวฉือจี้ทุกคนต้องผ่าน และหลายคนรู้สึกเป็นเกียรติที่จะได้ทำ จึงไม่แปลกที่จะเห็นผู้จัดการบริษัท วิศวกร แพทย์ นักธุรกิจ จับไม้กวาดช่วยงานที่โรงพยาบาล ขนขยะ ริดกิ่งไม้ หรือแบกของ

ในโรงเรียนของฉือจี้ นักเรียนทุกคนมีงานประจำ ที่ถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของการเรียน (และทำในเวลาเรียนด้วย) ได้แก่การทำความสะอาดโรงเรียน โรงเรียนของฉือจี้จึงไม่มีภารโรง แต่ที่น่าสนใจกว่านั้นก็คือ ไม่ใช่แต่นักเรียนเท่านั้น ครูก็ลงมาทำด้วย ซึ่งเท่ากับเป็นการส่ง “สาร” ให้เด็กรู้ว่างานเหล่านี้ไม่ใช่งานต่ำต้อย สำหรับการทำความสะอาดห้องน้ำ หน้าที่นี้ผู้ที่ได้รับเกียรติคือ นักเรียนที่ได้คะแนนสูงสุด จะมองว่าเป็นการให้เกียรติเด็กเรียนดีก็ได้ หรือว่าเป็นการฝึกลดละอัตตาของเด็กที่เรียนเก่งก็ได้ เพราะลึก ๆ เด็กเรียนดีมักจะเกิดมานะหรือความถือตัวว่าเหนือกว่าคนอื่น นอกจากการทำความสะอาดโรงเรียนแล้ว ยังมีงานกวาดถนนในเมือง แยกขยะ เยี่ยมเยียนผู้ยากไร้ ซึ่งเป็นการเรียนรู้จากประสบการณ์จริง และบ่มเพาะคุณธรรมให้แก่นักเรียนได้เป็นอย่างดี

งานบอกบุญ เป็นอีกงานหนึ่งที่ช่วยกล่อมเกลาจิตใจของชาวฉือจี้ได้มาก โดยเฉพาะความอ่อนน้อมถ่อมตน

นอกจากการบอกบุญหาผู้บริจาคประจำแล้ว ยังมีการบอกบุญถือกล่องบริจาคเพื่อช่วยผู้ประสบภัยพิบัติ อาสาสมัครฉือจี้ไม่ว่ามีอาชีพหรือสถานะอะไร ถือว่าการรับเงินบริจาคเป็นหน้าที่ เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้คนได้ทำความดี ดังนั้นบางครั้งจะเห็นผู้บริหารธุรกิจระดับพันล้านยืนถือกล่องบริจาคตามสถานที่สาธารณะ และทุกครั้งที่ได้รับเงินบริจาคก็จะแสดงความขอบคุณ และเคารพผู้บริจาค แม้จะเป็นเด็กหรือคนยากจนก็ตาม ดังได้กล่าวแล้วว่าในการรับบริจาคดังกล่าวฉือจี้จะไม่เน้นจำนวนเงิน แต่มุ่งผลทางจิตใจเป็นสำคัญ ซึ่งไม่ใช่แค่จิตใจของผู้ให้เงินเท่านั้น แต่รวมถึงจิตใจของผู้รับเงินด้วย นี้คือเหตุผลว่าทำไมฉือจี้ถึงสนับสนุนให้อาสาสมัครที่มีฐานะมั่งคั่งร่ำรวยสละเวลาจากการทำงาน มายืนถือกล่องบริจาค ทั้ง ๆ ที่เงินที่เขาหามาได้เพียงชั่วโมงเดียวแล้วนำมาบริจาคให้ฉือจี้อาจมีจำนวนมากเป็นหลายเท่าตัวของเงินที่ผู้คนหยอดใส่กล่องทั้งวันด้วยซ้ำ

นอกจากนี้ยังมีงานช่วยเหลือผู้ทุกข์ยากโดยตรง เช่น สงเคราะห์คนชราอนาถา หรือช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติ งานดังกล่าวช่วยให้นักเรียนและอาสาสมัครของฉือจี้เกิดความซาบซึ้งในการทำความดี การได้เห็นผู้ทุกข์ยากยิ้มแย้ม เมื่อได้รับความช่วยเหลือ ย่อมทำให้อาสาสมัครเกิดปีติและความสุข หล่อเลี้ยง เมตตากรุณาและความใฝ่ดีให้เจริญงอกงามยิ่งขึ้น ประสบการณ์ดังกล่าวย่อมทำให้ผู้คนตระหนักว่ายังมีความสุขที่เหนือกว่าการเสพวัตถุ เป็นสุขที่เกิดจากการทำความดี ซึ่งสนับสนุนให้อยากทำความดีมากขึ้น

๒.การเสริมสร้างคุณธรรมโดยอาศัยกัลยาณมิตรและกระบวนการกลุ่ม

กัลยาณมิตรนั้นเป็นปัจจัยแห่งการเสริมสร้างคุณธรรมที่พุทธศาสนาให้ความสำคัญมาก นี้เป็นอีกลักษณะหนึ่งที่โดดเด่นของฉือจี้ มีการจัดองค์กรและกิจกรรมเพื่อให้เกิดกลุ่มกัลยาณมิตรขึ้นมาในหลายลักษณะ เช่น การมีศูนย์ประสานงานอาสาสมัครในแต่ละเมือง และการแบ่งเป็นกลุ่มย่อย ๆ ไม่เกินกลุ่มละ ๒๐ คน หรือการสร้างระบบพี่เลี้ยง-อาสาสมัครขึ้น ดังได้กล่าวไว้ก่อนหน้านี้ และการทำงานเป็นกลุ่มตามหน่วยกิจกรรมต่าง ๆ เช่น งานแยกขยะ งานอาสาสมัครโรงพยาบาล งานอาสาสมัครโรงเรียน

กลุ่มเหล่านี้นอกจากมีการทำงานร่วมกันเป็นหมู่คณะแล้ว ยังมีการแลกเปลี่ยนความเห็น และประสบการณ์ร่วมกัน ซึ่งทำให้เกิดการเรียนรู้จากกันและกัน เมื่อเห็นแบบอย่างแห่งความดีก็เกิดแรงบันดาลใจที่จะทำความดี บางคนที่มีความทุกข์ เมื่อได้รับรู้ว่ามีคนอื่นอีกมากมายที่ลำบากกว่าตน ก็ทำให้เกิดกำลังใจที่จะอยู่สู้ความลำบากต่อไป

การแลกเปลี่ยนประสบการณ์กันเป็นกลุ่มที่ชาวฉือจี้ให้ความสนใจมาก ก็คือ การแลกเปลี่ยนประสบการณ์ระหว่างอาสาสมัครกับธรรมาจารย์เจิ้งเหยียนทุกเช้า โดยมีระบบ teleconference เชื่อมโยงกับอาสาสมัครทั่วโลก และมีการถ่ายทอดผ่านสถานีโทรทัศน์ต้าอ้าย ความประทับใจ แรงบันดาลใจ ตลอดจนสุขทุกข์ ของอาสาสมัคร และผู้คนที่เขาทำงานด้วย ถูกนำมาแลกเปลี่ยน อภิปราย และรับรู้อย่างกว้างขวาง กิจกรรมดังกล่าวเป็นการสร้างกลุ่มกัลยาณมิตรอีกแบบหนึ่ง ซึ่งแม้ไม่ใช่เป็นกลุ่มประจำ แต่การแลกเปลี่ยนประสบการณ์ด้วยความจริงใจก็สามารถเป็นกำลังใจให้ผู้คนอยากทำความดีได้ไม่น้อย

การแลกเปลี่ยนประสบการณ์เหล่านี้ มองในแง่หนึ่งก็คือ การเรียนรู้จากความดีของกันและกัน หรืออาศัยความดีของคนอื่นมาเป็นเครื่องหล่อเลี้ยงคุณธรรมในใจตน ตรงนี้เป็นความสำคัญของกระบวนการกลุ่ม หรือการทำความดีเป็นกลุ่ม เพราะหากต่างคนต่างทำความดี โดยไม่มาเกี่ยวข้องกัน นอกจากจะไม่มีพลังแล้ว ความดีของแต่ละคนก็อาจขาดสิ่งจรรโลงใจได้

สายสัมพันธ์แบบกัลยาณมิตรเป็นสิ่งที่ฉือจี้นำไปใช้ในสถานศึกษาด้วย กล่าวคือ นักเรียนนักศึกษาทุกคนตั้งแต่ชั้นประถมไปจนถึงระดับอุดมศึกษา จะมีพ่อ/แม่อุปถัมภ์ ซึ่งคัดเลือกจากอาสาสมัครที่ผ่านการฝึกอบรมแล้ว พ่อ/แม่อุปถัมภ์จะทำงานเป็นกลุ่ม เช่น ในวิทยาลัยเทคโนโลยีของฉือจี้ พ่ออุปถัมภ์ ๒ คน กับแม่อุปถัมภ์ ๓ คน จะร่วมกันรับผิดชอบนักศึกษาหรือลูกอุปถัมภ์ครึ่งห้อง (ประมาณ ๑๕คน) พ่อ/แม่อุปถัมภ์มีหน้าที่แนะนำและให้ความช่วยเหลือทั้งในด้านการเรียนและชีวิตส่วนตัวแก่นักเรียน นักศึกษาที่อยู่ในความดูแลของตน มีการติดต่อไต่ถามข่าวคราวและพบปะเป็นประจำ งานสำคัญอีกงานหนึ่งคือ จัดกิจกรรมเสริมคุณธรรมให้แก่ลูกอุปถัมภ์ของตน เช่น เล่านิทาน แสดงละคร ฉายหนัง หรือทำกิจกรรมจัดดอกไม้ จากนั้นก็มาสนทนาแลกเปลี่ยนความเห็นกัน บางครั้งก็พาลูกอุปถัมภ์ไปทำกิจกรรมนอกสถานที่ ในสถานศึกษาของฉือจี้ จะจัดพื้นที่และเวลาให้แก่พ่อ/แม่อุปถัมภ์ผลัดกันมาพบปะนักเรียนหรือช่วยกิจกรรมของสถานศึกษา

ที่มองข้ามไม่ได้ก็คือ ครูและอาจารย์ก็ต้องเป็นกัลยาณมิตรของนักเรียนและนักศึกษาด้วย นอกจากการเป็นแบบอย่างที่ดีแก่เยาวชนแล้ว ครูและอาจารย์ยังมีความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกับนักเรียนและนักศึกษาด้วย ไม่เพียงในห้องเรียนเท่านั้น (โดยเฉพาะครูประจำชั้นจะขยับตามนักเรียนเมื่อเลื่อนชั้น เช่น ตั้งแต่มัธยม ๔ไปจนถึงมัธยม ๖) แต่ยังคลุมถึงนอกห้องเรียนด้วย เช่น มีการทำความสะอาดโรงเรียนร่วมกัน แต่เท่านั้นยังไม่พอ ในสถานศึกษาของฉือจี้ ครูและนักเรียนยังกินอาหารในห้องเดียวกัน และกินอาหารอย่างเดียวกัน ไม่ได้แยกไปกินในห้องพิเศษหรือกินอาหารที่คุณภาพต่างกัน หากเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย นอกเวลาเรียนก็มีการนัดกินอาหารเย็นกับนักศึกษาเพื่อทำความรู้จักกันให้มากขึ้น

๓.การเสริมสร้างคุณธรรมด้วยศิลปะ

ผู้ที่ไปเยือนมหาวิทยาลัยของฉือจี้ คงอดแปลกใจไม่ได้ที่พบว่าแม้แต่คณะแพทยศาสตร์ซึ่งมีมาตรฐานระดับนานาชาติ กลับมีหลักสูตรให้นักศึกษาเรียนการจัดดอกไม้ การชงชา และการเขียนพู่กันจีน ในสายตาของคนทั่วไป ศิลปะแบบนี้ควรเป็นเรื่องของนักเรียนประถมหรือมัธยมมากกว่า แต่ในสถานศึกษาของฉือจี้ ศิลปะดังกล่าวอาจไม่จำเป็นสำหรับความเป็นเลิศทางวิชาการ แต่มีความสำคัญสำหรับการพัฒนาความเป็นมนุษย์ และเป็นสิ่งที่แยกไม่ออกจากการหล่อหลอมแพทย์ให้มีหัวใจแห่งความเป็นมนุษย์ ทั้งนี้เพราะศิลปะดังกล่าวไม่ใช่ศิลปะเพื่อความสวยงามเท่านั้น แต่เป็นสิ่งที่ฉือจี้เรียกว่า “จริยศิลป์” คือศิลปะที่ส่งเสริมคุณธรรม

ศิลปะทั้ง ๓ แขนง มีการเรียนตั้งแต่ชั้นประถม ทั้งนี้ด้วยจุดมุ่งหมายที่แตกต่างตามวัย กล่าวคือนักเรียนชั้นประถมจะเรียนรู้ตั้งแต่การถอดรองเท้าอย่างเป็นระเบียบ ก่อนเข้าห้องชงชา และเมื่อนั่งชงชา ก็นั่งให้ตรง สง่า ขณะเดียวกันก็ไม่ยะโสโอหัง จากนั้นก็ฝึกการทำกายวาจาให้สงบ รวมทั้งวางถ้วยชาอย่างมีสติ ไม่ให้ถ้วยกระทบกัน ซึ่งอาจโยงไปถึงการระมัดระวังกายและวาจาของตนไม่ให้กระทบกับคนอื่นด้วย

สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมและประถม ศิลปะดังกล่าวช่วยในการฝึกจิตให้มีความละเมียดละไมมากขึ้น ละเอียดอ่อนต่อสุนทรียรส และน้อมใจให้สงบตั้งมั่นเป็นสมาธิ เพราะเมื่อจัดดอกไม้ ไม่ใช่ดอกไม้ที่ถูกจัด แต่ใจเราก็ถูกจัดไปพร้อมกัน ดอกไม้ยังเป็นสื่อในการสอนธรรมแก่นักเรียน เพราะดอกไม้แต่ละดอกมีลักษณะพิเศษ ที่สามารถสอนใจนักเรียน ส่วนการปักให้สวยก็สามารถเป็นคติธรรมในการดำเนินชีวิตได้ เช่น การเอาดอกใหญ่ ๆ ไปใส่ไว้ใต้ดอกเล็ก ๆ ก็ไม่ต่างคนที่ประสบความสำเร็จต้องรู้จักอ่อนน้อมถ่อมตัว และสนับสนุนผู้เยาว์มีบทบาทและความสามารถมากขึ้น นอกจากนั้นวิธีการจัด ปัก และเรียงดอกไม้ก็อาจเป็นกระจกสะท้อนให้นักเรียนรู้จักตัวเองได้ชัดเจนขึ้น

ในระดับมหาวิทยาลัย การจัดดอกไม้ ชงชา และเขียนพู่กันจิต สามารถนำพานักศึกษาเข้าไปสัมผัสกับมิติทางจิตวิญญาณที่ลุ่มลึกขึ้น และเข้าใจสัจธรรมของชีวิตได้มากขึ้น ทำให้เข้าใจตนเองและผู้อื่นได้แจ่มชัด ขณะเดียวกันก็พัฒนาคุณภาพจิตฝ่ายบวกให้เจริญงอกงามยิ่งขึ้น ซึ่งเป็นประโยชน์ทั้งในการดำเนินชีวิตและในการศึกษา

นอกจากศิลปะทั้งสามซึ่งจัดว่าเป็นศิลปะชั้นสูงแล้ว ยังมีศิลปะอีกหลายอย่างที่นำมาใช้กล่อมเกลาจิตใจของผู้เรียน อาทิ นิทาน การแสดง ละคร และวาดภาพ นวัตกรรมอย่างหนึ่งของฉือจี้คือ การมี “คุณแม่นักเล่านิทาน” ซึ่งเป็นอาสาสมัครที่คัดมาจากแม่อุปถัมภ์ มีหน้าที่เล่านิทานและแสดงละครตามชั้นเรียนต่าง

หวังว่าจะโพสต์ผ่านได้หมด

นอกจากศิลปะทั้งสามซึ่งจัดว่าเป็นศิลปะชั้นสูงแล้ว ยังมีศิลปะอีกหลายอย่างที่นำมาใช้กล่อมเกลาจิตใจของผู้เรียน อาทิ นิทาน การแสดง ละคร และวาดภาพ นวัตกรรมอย่างหนึ่งของฉือจี้คือ การมี “คุณแม่นักเล่านิทาน” ซึ่งเป็นอาสาสมัครที่คัดมาจากแม่อุปถัมภ์ มีหน้าที่เล่านิทานและแสดงละครตามชั้นเรียนต่าง ๆ เรื่องที่เล่าอาจเป็นเรื่องความเสียสละของคนดี หรือปัญหาสิ่งแวดล้อม โดยทำให้สนุก มีการวาดภาพประกอบ รวมทั้งสอดแทรกวาทธรรมของท่านธรรมาจารย์ หลังจากนั้นก็มีการสนทนาพูดคุยกับนักเรียน อาสาสมัครประเภทนี้ได้รับความนิยมมาก จนถูกเชิญไปเล่านิทานให้กับโรงเรียนอื่นทั่วประเทศ

ศิลปะอีกประเภทหนึ่งที่ควรกล่าวถึงเพลง ซึ่งเป็นเอกลักษณ์อย่างหนึ่งของฉือจี้ กิจกรรมต่าง ๆ ของฉือจี้ จะขาดเพลงไม่ได้ แม้แต่การต้อนรับอาคันตุกะ ฉือจี้ใช้เพลงเป็นสื่อสำคัญในการกล่อมเกลาจิตใจของผู้คน เพลงของฉือจี้นอกจากมีเนื้อร้องที่งดงามส่งเสริมคุณธรรม โดยเฉพาะเมตตาธรรมแล้ว ยังมีทำนองที่ไพเราะ เพลงของฉือจี้ เวลาเปิดในที่ประชุม มักจะมีการแสดงศิลปะอีกอย่างหนึ่งประกอบด้วยเสมอไป คือ “ภาษามือ” ลีลาอ่อนช้อยของนิ้วและมือ เป็นสื่อสากลที่ช่วยถ่ายทอดความหมายจากเนื้อร้องให้แก่ผู้ฟัง แม้ไม่รู้ภาษาจีนเลยก็ตาม อีกทั้งยังเชื้อเชิญให้ผู้ฟังมีส่วนร่วมกับผู้ร้องด้วย จึงเป็นสื่อที่สร้างสัมพันธภาพระหว่างชาวฉือจี้กับผู้อื่น รวมทั้งผู้ที่ฉือจี้เข้าไปสงเคราะห์ ได้เป็นอย่างดี

๔. การส่งเสริมคุณธรรมด้วยกิจกรรมบูรณาการ

คนส่วนใหญ่เวลาพูดถึงการส่งเสริมคุณธรรม ก็มักจะนึกถึงการสอน การเทศน์ ด้วยเหตุนี้ในเมืองไทยจึงมักมีเสียงเรียกร้องให้คนเข้าวัดฟังเทศน์มากขึ้น ให้นิมนต์พระมาเทศนาสั่งสอนบ่อยขึ้น รวมทั้งเพิ่มวิชาศีลธรรมให้มากขึ้น ซึ่งก็มักหนีไม่พ้นการให้ครูเป็นผู้สอน และนักเรียนเป็นผู้ท่องจำ แต่ฉือจี้กลับแตกต่างออกไป แม้มีการเทศน์ การสอน แต่จุดเน้นกลับอยู่ที่การส่งเสริมให้เกิดการเรียนรู้ผ่านการปฏิบัติ ซึ่งสามารถสร้างสำนึกที่ประทับแน่นในจิตใจ และก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมที่ยั่งยืนกว่า โดยที่การปฏิบัติก็มีความหลากหลาย นอกจากการใช้แรงงาน การทำงานบริการแล้ว ยังรวมไปถึงการทำงานทางศิลปะ โดยมีการไตร่ตรองผ่านการสนทนาแลกเปลี่ยนกัน นั่นคือมีทั้งการเรียนรู้ผ่านการฟัง การพิจารณา และการปฏิบัติ โดยบูรณาการเข้าด้วยกัน

ตัวอย่างที่เด่นชัดในเรื่องนี้ยังสามารถเห็นได้จากการส่งเสริมคุณธรรมในชั้นเรียน ซึ่งมีการบูรณาการกิจกรรมหลายด้านเข้าด้วยกัน และโยงไปถึงกิจกรรมนอกห้องเรียน กล่าวคือ ในโรงเรียนประถมของฉือจี้ ครูจะนำคติธรรมหรือ “วาทธรรม”ของท่านธรรมาจารย์ที่เลือกสรรแล้ว มาบอกเล่าและอธิบายให้นักเรียนฟัง โดยอาจมีนิทานหรือเรื่องเล่าประกอบ วันต่อมาครูจะมอบหมายให้นักเรียนเขียนเรียงความเกี่ยวกับวาทธรรมดังกล่าวตามที่ตนเข้าใจ วันที่ ๓ นักเรียนจะนำวาทธรรมดังกล่าวมาแปลงเป็นละคร เล่นหน้าชั้น วันที่ ๔ ครูจะมอบหมายให้นักเรียนแปรวาทธรรมดังกล่าวเป็นการปฏิบัติโดยไปทำที่บ้าน วันที่ ๕ ครูจะนำนักเรียนไปบำเพ็ญสาธารณ ประโยชน์ เป็นการนำวาทธรรมดังกล่าวไปแปรเป็นภาคปฏิบัติให้เกิดประโยชน์ต่อส่วนรวม

จะเห็นได้ว่า กิจกรรมดังกล่าวสามารถพัฒนาทักษะ และความสามารถของนักเรียนหลายด้าน ทั้งด้านความคิด การแสดงออกด้วยถ้อยคำ การถ่ายทอดเป็นภาพหรือการแสดง และการแสดงออกด้วยพฤติกรรม มองในแง่ของกระบวนการทางปัญญา ก็เป็นการพัฒนาทั้ง สุตมยปัญญา (ปัญญาจากการฟัง) จินตมยปัญญา (ปัญญาจากการคิด) และภาวนามยปัญญา (ปัญญาจากการกระทำ)

๕.การส่งเสริมคุณธรรมโดยอาศัยสิ่งแวดล้อม

กลุ่มกัลายณมิตร อันได้แก่ เพื่อนอาสาสมัคร พี่เลี้ยง ครูบาอาจารย์ พ่อ/แม่อุปถัมภ์ จัดว่าเป็นสิ่งแวดล้อมอย่างหนึ่งที่ส่งเสริมคุณธรรม แต่สำหรับเยาวชน สิ่งแวดล้อมที่เพิ่มเข้ามาก็คือ สิ่งแวดล้อมในสถานศึกษาซึ่งช่วยจัดระเบียบชีวิตให้เหมาะสมกับวัย ในโรงเรียนของฉือจี้ ไม่มีร้านค้า หรือร้านขนม และเด็กไม่ได้รับอนุญาตให้นำขนม และของเล่นเข้ามาในโรงเรียน เด็กทุกคนจะกินอาหาร(เจ)ที่โรงเรียนจัดให้ โดยกินพร้อมกันทั้งนักเรียนและครู นักเรียนมัธยมจะอยู่ในหอพักที่โรงเรียนจัดไว้ให้ มีการทำกิจกรรมร่วมกันหลังเลิกเรียน และวันเสาร์ โทรศัพท์มือถือจะใช้ได้ก็เฉพาะวันเสาร์และอาทิตย์เท่านั้น โทรทัศน์ก็ดูได้เฉพาะของฉือจี้เท่านั้นในระหว่างที่อยู่หอพัก สภาพแวดล้อมและวิถีชีวิตดังกล่าวช่วยกล่อมเกลาให้เด็กมีชีวิตที่เรียบง่าย ไม่ใฝ่เสพใฝ่บริโภค และรู้จักใช้เวลาให้เป็นประโยชน์

ส่วนสิ่งแวดล้อมทางกายภาพ จะเน้นให้เกิดสำนึกด้านสิ่งแวดล้อม ทางเดินและระเบียงบางส่วนที่ไม่สำคัญจะปิดไฟเพื่อประหยัดพลังงาน อาคารจะโปร่งโล่งและใช้ประโยชน์จากแสงแดดให้มากที่สุด แต่ก็มีการออกแบบให้อากาศถ่ายเทเพื่อลดการใช้เครื่องปรับอากาศ นอกจากนั้นยังมีคติธรรมสอนใจติดตามผนังหรือลานนอกอาคาร แม้แต่ชื่ออาคารก็มีนัยในทางคุณธรรม

๖.การส่งเสริมคุณธรรมด้วยสื่อ

การเสริมสร้างจิตสำนึกโดยใช้สื่อ เป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ในทุกหนแห่ง ฉือจี้ก็เช่นกัน โดยมีการพัฒนาเป็นลำดับ นอกจากการใช้สื่อระดับย่อย (micro media) เช่น การเล่านิทานหรือแสดงละครในชั้นเรียน หรือการใช้ภาพประกอบการสอนแล้ว ยังได้พัฒนาสื่อระดับกว้าง (mass media) จากหนังสือ ซีดี ดีวีดี มาเป็นสถานีโทรทัศน์ ซึ่งใคร ๆ ก็อยากทำหากมีกำลัง แต่ฉือจี้แตกต่างจากที่อื่นตรงที่ทำได้อย่างมีคุณภาพจนเป็นที่นิยมของชาวไต้หวันได้ (ดังได้รับการลงคะแนนให้เป็นสถานีโทรทัศน์ที่มีอิทธิพลต่อชีวิตของเขามากที่สุด) รายการโทรทัศน์ทุกรายการจะมุ่งสร้างจิตสำนึกที่ดีแก่ผู้ชม ไม่ส่งเสริมความรุนแรง กามตัณหา และค่านิยมที่ผิด ๆ รายการซึ่งเป็นที่นิยมได้แก่ละครที่สร้างจากชีวิตจริงของคนที่ทำความดีหรือของชาวฉือจี้ที่อุทิศตัว โดยอาจมีการสัมภาษณ์บุคคลตัวอย่างต่อท้ายละครด้วย ทางด้านรายการข่าวก็เป็นการเสนอและวิเคราะห์เชิงธรรมะ มีรายการการ์ตูนสอนธรรมให้เด็ก ๆ และสารคดีชีวิตบุคคลตัวอย่าง (เรียกว่าโพธิสัตว์รากหญ้า) ตลอดจนสารคดีส่งเสริมการอนุรักษ์ธรรมชาติ

รายการดังกล่าวฉือจี้ถ่ายทอดออกไปทั่วโลกผ่านดาวเทียม ซึ่งมีประโยชน์อย่างมากต่อชาวฉือจี้ที่อาศัยอยู่ในต่างประเทศ และอาจไม่ได้มีกิจกรรมเข้มข้นอย่างในไต้หวัน

กระบวนการจัดการความดีทั้ง ๔ ประการ จะเห็นได้ว่ามีความเชื่อมโยงสัมพันธ์กัน เริ่มจาก การเชื่อมั่นและมองเห็นความดีในมนุษย์ทุกคน จากนั้นก็พยายามน้อมนำความดีออกมาจากใจของเขา แล้วรวบรวมความดีเหล่านั้นมาผนึกเป็นพลังสร้างสรรค์ พร้อมกันนั้นก็มีการหล่อเลี้ยงและต่อเติมความดีเพื่อให้มีความให้ยั่งยืนและเพิ่มพูนขึ้นเรื่อย ๆ สามารถแสดงความสัมพันธ์เป็นแผนผังได้ดังนี้

ด้วยกระบวนการดังกล่าว มูลนิธิฉือจี้จึงสามารถทำงานสร้างสรรค์ได้อย่างมีพลัง รวมทั้งสามารถขยายงานและขยายคนได้อย่างต่อเนื่องพลัง

ข้อสังเกตท้ายบท

มูลนิธิฉือจี้ เป็นองค์กรขนาดใหญ่ที่ยกระดับกลายเป็นขบวนการจิตอาสา ซึ่งเติบใหญ่จากระดับประเทศ สู่ระดับโลกภายในเวลาเพียง ๔๐ ปี การที่ขบวนการระดับนี้สามารถพัฒนาบุคลากรจำนวนมากมายให้เป็นคนที่มีคุณภาพ มีจิตเมตตากรุณา ใฝ่บำเพ็ญประโยชน์เพื่อเพื่อนมนุษย์ แม้จะมีทุนมหาศาลแต่ก็นำไปเป็นประโยชน์เพื่อช่วยเหลือผู้ทุกข์ยาก เป็นสิ่งที่หาได้ไม่ง่ายนัก โดยเฉพาะเมื่อคำนึงว่าองค์กรหรือขบวนการศาสนาส่วนใหญ่ที่เติบโตมาถึงระดับนี้ หากไม่เป็นเพราะอาศัยความโลภเป็นตัวกระตุ้นให้ผู้คนเข้ามาสมาทานด้วยหวังความร่ำรวย และโชคลาภ (ดัง megachurch จำนวนมากในอเมริกา หรือในอาฟริกาและเอเชีย) ก็มักเป็นขบวนการอนุรักษ์นิยมที่ถูกครอบงำด้วยความโกรธเกลียด ขาดขันติธรรม และรังเกียจผู้ที่คิดต่างจากตน (เช่น ขบวนการเคร่งคัมภีร์ fundamentalist) ฉือจี้เป็นองค์กรที่พร้อมจะเข้าไปช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์โดยไม่คำนึงถึงเชื้อชาติ ศาสนา ภาษา และอุดมการณ์ทางการเมือง และไม่คิดเผยแพร่ศาสนา หรืออุดมการณ์ของตนให้แก่ผู้อื่น ด้วยเชื่อมั่นในเมตตาธรรมหรือความรักที่ไม่แบ่งแยก

เมื่อพิจารณาเฉพาะบริบทของชาวพุทธ ฉือจี้ก็มีความแตกต่างอย่างมากจากองค์กรชาวพุทธทั่วไป (รวมทั้งในไต้หวัน) เพราะแทนที่จะติดอยู่กับพิธีกรรม หรือพาผู้คนหลีกเร้นบำเพ็ญภาวนา กลับเน้นที่การทำความดีอย่างเป็นรูปธรรม มิใช่ทำความดีเฉพาะตัวเท่านั้น แต่เป็นการร่วมกันบรรเทาทุกข์ทั้งปวงที่เกิดขึ้นในโลก โดยแปรเมตตาและพรหมวิหารธรรมข้ออื่น ๆ ให้เป็นการปฏิบัติที่ส่งผลเป็นรูปธรรม มิใช่เอาแต่ “นั่งแผ่เมตตาอยู่ในมุ้ง” เท่านั้น นับว่าเป็นองค์กรพุทธแนวปฏิรูปที่ประยุกต์ธรรมมาอย่างสมสมัย

ความพิเศษของฉือจี้ยังอยู่ที่ความสามารถในการจัดการความดีอย่างเป็นระบบ ชนิดที่แหวกไปจากองค์กรศาสนาทั่วไป ความสามารถดังกล่าวนอกจากอาศัยความรู้และความคิดสร้างสรรค์แล้ว ยังต้องอาศัยศิลปะและทักษะที่แยบคาย ฉือจี้ได้เป็นตัวอย่างให้เราได้ตระหนักว่าการจัดการความดี เป็นเรื่องที่ต้องอาศัยศิลปะ ศิลปะในที่นี้ไม่ได้หมายถึงการจัดดอกไม้ ชงชา เขียนอักษรด้วยพู่กันเท่านั้น แต่หมายถึงศิลปะในการบ่มเพาะ น้อมนำ และผนึกความดีของผู้คนให้เกิดพลังทางจริยธรรมเพื่อขจัดความทุกข์ในโลก นี้คือ “จริยศิลป์” ในความหมายที่สำคัญที่สุด ที่องค์กรศาสนา องค์กรทางมนุษยธรรม สถาบันศึกษา ควรพัฒนาขึ้นมาให้เหมาะสมกับบริบทของตนโดยศึกษาแบบอย่างจากฉือจี้

อย่างไรก็ตามผู้เขียนมี ๔ ประเด็นที่อยากตั้งเป็นข้อสังเกต กล่าวคือ

๑) ดูเหมือนว่า กระบวนการสร้างเสริมคุณธรรมของฉือจี้ จะมีลักษณะชี้นำอยู่มาก ขณะที่ไม่สู้ให้ความสำคัญมากนักกับการกระตุ้นให้ชาวฉือจี้สามารถคิดด้วยตัวเอง ความสามารถประการหลังมีความสำคัญก็เพราะว่า ในยุคที่มีความซับซ้อนและความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว มักจะมีปัญหาทางจริยธรรมใหม่ ๆ เข้ามาในชีวิตของเราอยู่เสมอ ปัญหาเหล่านี้ไม่มีคำตอบสำเร็จรูป แต่ขึ้นอยู่กับเหตุปัจจัยมากมาย รวมทั้งต้องพิจารณาถึงมุมมองที่หลากหลายด้วย ยกตัวอย่างปัญหาปาณาติบาตเรื่องเดียว ทุกวันนี้มีการถกเถียงอย่างหาข้อสรุปได้ยาก ในเรื่อง การทำแท้ง การุณยฆาต การระงับการช่วยเหลือแก่ผู้ป่วยระยะสุดท้าย การตั้งครรภ์โดยทำลายตัวอ่อน ฯลฯ ปัญหาเหล่านี้ต้องอาศัยวิจารณญาณในการไตร่ตรองมาก หาไม่แล้วก็อาจส่งเสริมปาณาติบาตโดยไม่รู้ตัว หรือไม่ก็สร้างความทุกข์แก่ผู้คนในนามของศาสนา (ซึ่งมีตัวอย่างมากมายโดยเฉพาะในหมู่ผู้คลั่งศาสนา ซึ่งพร้อมทำตามบัญชาของผู้นำ โดยไม่คิดจะใช้วิจารณญาณของตัวเอง)

๒. การจัดการความดีนั้น ควรช่วยให้บุคคลสามารถรู้จักคิดและมีวิจารณญาณของตัวเอง แต่จะทำเช่นนั้นได้ ความสามารถอย่างหนึ่งที่สำคัญคือ การรู้จักตั้งคำถามหรือวิเคราะห์ด้วยตัวเอง ผู้เขียนมีเวลาน้อย แต่เท่าที่ทราบ ทักษะดังกล่าว รวมไปถึงการคิดในเชิงวิพากษ์ (critical mind) เป็นสิ่งที่เห็นได้ไม่ชัดจากกระบวนการเรียนรู้ของฉือจี้ โดยเฉพาะในสถาบันการศึกษา เป็นไปได้ไหมว่า เป็นเพราะแนวคิดแบบนี้ มีนัยยะของการมองเชิงลบ หรือตั้งข้อสงสัย ซึ่งสวนทางกับแนวคิดของฉือจี้ที่เน้นการมองเชิงบวกและการมีศรัทธาเป็นจุดเริ่มต้น ในวัฒนธรรมของฉือจี้ นิยมชมมากกว่าตำหนิ และมองแง่ดีมากกว่าตั้งข้อสงสัย ซาบซึ้งในคุณค่ามากกว่าสอดส่ายหาข้อเสียตรงนี้เป็นจุดแข็งของฉือจี้ที่ทำให้ขยายตัวได้รวดเร็ว สามารถดึงผู้คนได้มากมาย แต่ก็เป็นจุดอ่อนได้ในเวลาเดียวกัน

๓. การรู้จักคิดด้วยตัวเอง ย่อมเป็นพื้นฐานสำคัญของการคิดสร้างสรรค์ ซึ่งมักหมายถึงการแหวกแนวจากขนบเดิม และนำไปสู่การเป็นตัวของตัวเอง หากข้อสังเกตของผู้เขียนถูกต้อง กล่าวคือ ฉือจี้ไม่สู้ให้ความสำคัญกับการพัฒนาความสามารถในการคิดด้วยตนเอง คำถามคือชาวฉือจี้จะสามารถเป็นตัวของตัวเอง หรือคิดแหวกแนวจากกรอบของฉือจี้ได้มากน้อยแค่ไหน เครือข่ายที่สร้างสายสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดและกว้างขวาง จะเปิดโอกาสหรือเป็นอุปสรรคมากน้อยเพียงใดสำหรับชาวฉือจี้ในการพัฒนาความเป็นตัวของตัวเอง โดยทั่วไปแล้วองค์กรและขบวนการแบบนี้มักจะยอมรับความคิดสร้างสรรค์หรือ ความเป็นตัวของตัวเองในระดับหนึ่ง แต่หากเลยจุดนั้นไปก็อาจถูกแรงกดดันจากหมู่คณะหรือเครือข่าย ปัญหาก็คือถ้าองค์กรใดองค์กรหนึ่งคิดเหมือนกันหมด โดยขาดความหลากหลาย หรือไม่มีพื้นที่ให้แก่คนที่คิดต่าง องค์กรนั้นก็ยากจะปรับตัวให้ทันกับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วดังในปัจจุบัน (ขอให้นึกถึงคณะสงฆ์ไทยในปัจจุบัน เป็นตัวอย่าง)

๔.ชาวฉือจี้มักจะมองความดีที่แสดงออกในระดับบุคคล หรือกลุ่มคน แต่ดูเหมือนจะไม่สนใจจริยธรรมในระดับโครงสร้าง โครงสร้างหรือระบบสังคมนั้นไม่ได้เป็นกลางโดยตัวมันเอง แต่มีคุณค่าหรือความดีความชั่วแฝงอยู่เสมอ ระบบนาซีนั้นเป็นตัวอย่างที่ชัดเจน เพราะนอกจากจะบั่นทอนความเป็นมนุษย์ ยังสามารถผลักดันให้คนทำความเลวร้ายอย่างที่นึกไม่ถึง ระบบที่รวมศูนย์และไม่โปร่งใส มักจะทำให้ผู้นำทั้งบนสุดและลดหลั่นลงมาถืออำนาจบาตรใหญ่และทุจริตได้ง่าย เช่นเดียวกับระบบทุนนิยมก็มักจะทำให้คนเห็นเงินและกำไรสำคัญกว่าอะไรอื่น

กิจกรรมของฉือจี้ จะมุ่งทำความดีทุกอย่าง เพื่อช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ แต่จะไม่แตะต้องหรือคิดเปลี่ยนแปลงระบบและโครงสร้างที่ก่อความทุกข์แก่มนุษย์เลย ฉือจี้พร้อมจะช่วยคนยากจน แต่จะไม่ทำอะไรกับระบบเศรษฐกิจที่ทำให้คนยากจน อาจเป็นเพราะการขาดทัศนะในเชิงวิพากษ์ หรืออาจเป็นเพราะการพยายามมองแง่บวกเป็นหลัก จึงเห็นข้อดีมากมายของระบบและโครงสร้างเหล่านั้น และพยายามใช้ข้อดีเหล่านั้นให้เกิดประโยชน์ต่อเพื่อนมนุษย์มากที่สุด (มองในแง่บวก ระบบทุนนิยมก็มีข้อดีตรงที่ทำให้ไต้หวันมีการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็ว ซึ่งทำให้ชาวฉือจี้จำนวนไม่น้อยมีฐานะทางเศรษฐกิจที่มั่งคั่ง ส่งผลให้ฉือจี้มีทุนสนับสนุนอย่างมหาศาล กล่าวอีกนัยหนึ่ง ระบบทุนนิยมทำให้ฉือจี้มีกำลังทางเศรษฐกิจที่สามารถช่วยคนทุกข์ยากได้อย่างมากมาย)

ผู้นำฉือจี้อาจมองว่า แทนที่จะเสียพลังงานไปกับการเปลี่ยนแปลงระบบหรือกำจัดข้อเสียในตัวระบบ การพยายามใช้ข้อดีจากระบบเหล่านั้นมาก่อให้เกิดประโยชน์สร้างสรรค์ น่าจะทำได้ง่ายกว่า และก่อให้เกิดผลดีที่เป็นมรรคเป็นผลมากกว่าก็ได้ ด้วยเหตุนี้วินัยข้อหนึ่งของชาวฉือจี้คือ การไม่เข้าร่วมการประท้วงทางการเมือง วินัยข้อนี้มีส่วนไม่น้อยในการทำให้ฉือจี้ขยายตัวจนมีสมาชิกหลายล้านคน เพราะไม่ว่าจะมีอุดมการณ์ทางการเมืองแบบใด นิยมพรรคไหนก็ตาม ก็สามารถเข้ามาเป็นสมาชิกได้อย่างไม่กระอักกระอ่วนใจ การ “เป็นกลาง”ทางการเมืองช่วยลดความแตกแยกภายในองค์กร ขณะเดียวกันก็ทำให้อำนาจการเมืองไม่มารบกวนหรือแทรกแซงฉือจี้ด้วย ตรงกันข้ามไม่ว่าพรรคการเมืองใดก็สะดวกใจที่จะสนับสนุนหรือให้ความร่วมมือกับฉือจี้

อย่างไรก็ตามไม่ได้หมายความว่าฉือจี้จะประนีประนอมกับระบบเสียทีเดียว เพราะผู้นำฉือจื้เองก็เห็นโทษของระบบทุนนิยมอยู่ไม่มากก็น้อย จึงกำหนดวินัยอีกข้อหนึ่งคือ ไม่เล่นการพนันและการเก็งกำไร ซึ่งรวมถึงการเล่นหุ้นเพื่อเก็งกำไร (แต่อนุญาตการเล่นหุ้นเพื่อการลงทุนระยะยาว) ผิดกับองค์กรศาสนาทรงอิทธิพลส่วนใหญ่ที่ไม่ปฏิเสธการเล่นหุ้นเก็งกำไร

ทั้ง ๔ ประเด็นเป็นข้อสังเกตที่อาจผิดพลาดได้ อย่างไรก็ตามแม้จะถูกต้องก็ไม่ได้ลดทอนความสำคัญของฉือจี้ในฐานะองค์กรที่มีศาสตร์และศิลป์ในการจัดการความดี ที่มีเอกลักษณ์และน่าเป็นแบบอย่างที่ดีสำหรับองค์กรที่เห็นความสำคัญของการทำความดีเพื่อเพื่อนมนุษย์ อันที่จริงฉือจี้ยังเป็นแบบอย่างที่น่าเรียนรู้ในอีกหลายด้าน เช่น การแพทย์ที่มีหัวใจความเป็นมนุษย์ การศึกษาตามแนววิถีพุทธ และสื่อทางเลือกเพื่อสังคม การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ประเด็นเหล่านี้มีผู้ศึกษาบ้างแล้วและได้เผยแพร่ในหลายที่ เชื่อว่าจะก่อให้เกิดแรงบันดาลใจแก่คนไทยไม่น้อย ที่ผ่านมาเรามองหาแบบอย่างจากตะวันตกมามากแล้ว ถึงเวลาที่เราจะมองไปที่ตะวันออก โดยเฉพาะในประเทศที่มีวัฒนธรรมทางพุทธศาสนาไม่ต่างจากของบ้านเรามากนัก

ขออภัยที่มารบกวนพื้นที่มาก แต่หวังว่าการเรียนรู้ผ่านการวิเคราะห์ของ พระไพศาล น่าจะมีประโยชน์มาก

สามารถดาว์โลด หนังสือเล่มนี้ได้ที่เวปไซด์ศูนย์คุณธรรม

http://www.moralcenter.or.th/web/moral/th/content/index.php?action=view&SystemModuleKey=46&id=383

เคยได้ยินคนของฉื้อจี้ บอกว่าคนไทยไปดูงานมากที่สุด แต่มาทำจริงน้อยมาก

หวังว่า ม.สงขลา จะเป็นผู้นำของสังคมไทยได้

ขอบคุณมากครับ คุณ....

ที่ช่วยเติมให้ครบสมบูรณ์ น่าเสียดายที่เอามาต่อตรงนี้อาจจะมีคนได้อ่านน้อยไปนะครับ เพราะบทความนี้ก็เก่าแล้ว ความละเอียดของเนื้อหา และความสำคัญของบทความทั้งหมดน่าจะเป็น stand-alone blog ได้เลยทีเดียว

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท