จิตตปัญญาเวชศึกษา 64: Expanding The Now


Expanding the NOW

Expanding the NOW ขยายปรัตยุบันขณะให้กว้างออกคืออะไร? อะไรเป็น now และขยายไปทำไม ขยายได้อย่างไร?

 

Harrison Owen ผู้ประพันธ์และคิดค้น Open Space Technology เคยตั้งข้อสังเกตว่า บางครั้งเรามักจะมีชีวิตอยู่กับอดีตอันน่าเศร้า หรือกังวลพะวงกับอนาคตอันน่ากังวล (regrettable past and anxious future) จนกระทั่งไม่เคยใส่ใจ ใส่อารมณ์ ใส่ความหมายกับอะไรบางอย่างที่เราทุกคนมี คือ "ปัจจุบันกาล" สักเท่าไรเลย ที่จริงสิ่งที่เรารู้สึกนั้นเป็นปัจจุบัน แต่มนุษย์ ด้วยความทรงจำและจินตนาการมหัศจรรย์ เรากลับสามารถนำตัวเราย้อนอดีต หรือเดินทางไปในอนาคตได้อย่างไม่มีขีดจำกัด ตรงนี้เองที่เป็น the source ที่มาของความสามารถในการหลีกเลี่ยงซ้ำรอยผิดรอยเดิม และประดิษฐ์คิดค้นสิ่งใหม่ๆขึ้นมาตลอดเวลา เราจะได้มี "ปัจจุบัน" ที่ดีที่สุด เท่าที่เรามีศักยภาพจะมี

ทว่าเราควรจะมีสติพอที่จะตระหนักว่า ไม่ว่าเราจะมีความทรงจำเลอเลิศเพียงไร จดจำอดีตรายละเอียดต่างๆไปถี่ถ้วนเพียงไหน สิ่งเหล่านั้นได้ผ่านพ้นไปหมดแล้ว ไม่ว่าเราจะมีจินตนาการสูงส่งปานอินทรีย์กลางหาว คิดลำ้หน้ายุคสมัยเพียงใด สิ่งต่างๆเหล่านั้นก็จะไม่เกิดถ้าไม่มีใครเริ่มลงมือกระทำบางสิ่งบางอย่างขึ้นก่อน สิ่งเดียวที่เรามีแท้แน่นอนก็คือ "ปัจจุบัน" นี่เอง

ในการเรียนแพทย์ สิ่งหนึ่งที่แพทย์ทำเป็นอันดับต้นๆก็คือการสัมภาษณ์ เพื่อให้ได้มาซี่งอาการ และอาการแสดงต่างๆของคนไข้ แล้วนำเอาข้อมูลเหล่านี้มาประมวลกับข้อมูลด้านอื่นๆ อาทิ ผลตรวจเพิ่มเติมจากเลือด จาก x-ray เพื่อให้การวินิจฉัยและสั่งการรักษาพยาบาลต่อไป เราอาจจะใช้เวลาผ่านไปอย่างรวดเร็วโดยไม่ได้สังเกตอะไร แต่เราอาจจะเลือกที่จะ "อยู่กับปัจจุบันขณะ" นั้นๆให้ยาวนานขึ้น โดยการมี awareness หรือ สติ ที่สมบูรณ์แบบ

ผมได้มีโอกาสคุมกิจกรรมการเรียนการสอน "การสร้างเสริมสุขภาพ" ของนักศึกษาแพทย์ชั้นปีที่ 4 ที่หมุนเวียนมาปฏิบัติงานในภาควิชาศัลยศาสตร์ เราได้จำหน่ายผู้ป่วยจากหอผู้ป่วยอุบัติเหตุไปให้นักเรียนเป็นเจ้าของไข้ หัดปฏิบัติการเป็นแพทย์แล้วนำเอาประสบการณ์มาเผยแพร่แก่กลุ่มใหญ่ ปรากฏว่า เมื่อนักเรียนให้ความสนใจ ใน "ที่มา" เพื่อ "ทำความเข้าใจ" กับคนไข้อย่างลึกซึ้ง ไม่เพียงแต่มิติทางร่างกาย แต่ครอบคลุมไปถึงมิติด้านอารมณ์ความรู้สึก มิติทางสังคม และมิติทางจิตวิญญาณ ณ ขณะนั้นเองที่เกิดความ "เชื่อมโยง" ระหว่างบุคคลอย่างลึกซึ้ง เกิด relationship ระหว่างหมอกับคนไข้ ระหว่างคนกับคนที่มีพื้นฐานวางอยู่บนการเข้าอกเข้าใจ ซาบซึ้งถึงความทุกข์ ความคาดหวัง ความรู้สึกขอบคุณและดีใจที่มีคนห่วงใยอย่างจริงใจขึ้นมา

สิ่งที่นักศึกษานำมาคิดใคร่ครวญ ไม่ได้มีแต่มิติทางกายวิภาค สรีระ เคมีชีวะของผู้ป่วยเท่านั้น กลับเพิ่มด้านความหมายและคุณค่าของชีวิตคน ก่อนและหลังการเจ็บป่วย ว่าก่อนหน้านี้ คนไข้ให้ความหมายของชีวิต ของหน้าที่การงาน ของครอบครัวอย่างไร ว่า ณ ขณะนี้ หลังจากการเกิดเจ็บป่วยพิการ ทุพพลภาพ คนไข้และครอบครัวได้เปลี่ยนความหมายเหล่านี้อย่างไร

และข้อสำคัญก็คือ โอกาสที่นักศึกษาแพทย์จะได้สะท้อนตนเองว่า บทบาทหน้าที่ของเขาในการเป็นแพทย์นั้น มีส่วนร่วมในการให้ความหมายเหล่านี้อย่างไรบ้าง และเขารู้สึกอย่างไรที่ได้มีโอกาสมีส่วนร่วมในการเพิ่มความหมาย ให้ความหวัง และบรรเทาทุกข์ของคนแบบนี้

สิ่งที่ได้มาคือ "ความหมายที่แท้จริงของวิชาชีพ" ที่เราอยากจะให้นักเรียนแพทย์ได้บ่มเพาะ ได้ฟูมฟัก ได้ทะนุถนอมสร้างสรรค์ และเติบโตงอกงามจนเป็นแพทย์ที่สมบูรณ์ในที่สุดนั่นเอง

       

สิ่งที่น่าสนใจก็คือ ทำไมการที่คนไข้ที่เป็นทหารนาวิกโยธินได้พูดถึงคุณค่า ความเชื่อ ในหลักการปรัชญาของการดำรงชีวิตของเขา จึงสามารถมีอิทธิพลต่อการคิดถึงเรื่องคุณค่า ความเชื่อ ในการทำงานของนักศึกษาแพทย์ได้? คำตอบอาจจะเป็นเพราะ การที่ใครจะ "เข้าใจ" ถึงสิ่งที่ตนเองปฏิบัติ จะต้องได้รับโน้มน้าว ให้ใช้เวลา คิดใคร่ครวญ และให้ความหมายของงาน ของสิ่งที่ตนเองทำลงไป

รวมไปถึงการที่คนไข้ได้ "ไว้วางใจ และเล่่าเรื่องราว" ที่เป็นความเชื่อส่วนตัวนี้ให้ฟังก็อาจจะมีส่วนหรือไม่? เป็นเรื่องน่าสนใจว่าใครเป็นเพื่อนสนิทของเราบ้าง และเราใช้อะไรเป็นตัวบอกว่า คนๆไหน หรือเพื่อนคนไหนเป็นเพื่อนสนิท หนึ่งใน criteria ที่พบได้บ่อย อาจจะเป็น "คนๆที่เราจะพูด จะเล่าอะไรให้ เพราะไว้วางใจ วางใจว่าเขาฟังเรา และฟังอย่างจริงใจ ฟังอย่างไม่ตัดสินเรา" เมื่อนักเรียนแพทย์ได้มีโอกาสฟังเรื่องราวของคนไข้ สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือ relationship นั่นเอง

สิ่งหนึ่งที่เป็น rewarding ให้กับวิชาชีพแพทย์ก็คือ โอกาสที่เราจะมี relationship กับผู้คน กับมวลมนุษย์ โอกาสที่เราจะได้สัมผัสกับ humanity และ humility ผ่านทางงานประจำ กิจวัตรประจำวัน สิ่งที่เราต้องทำ ก็เพียง "มองเห็นและรับทราบ" ว่ามีอะไรบางอย่างเกิดขึ้นตลอดเวลาที่เราทำงานแบบนี้ ในการให้การบริการ ในการไปรับฟังคนไข้ ในการฟังญาติพี่น้องของคนไข้ เล่าเรื่องราวมากมายให้เรา เพียงแค่เรามองเห็น รับทราบ และนำมาคิดใคร่ครวญไตร่ตรอง เราก็จะได้รางวัลแห่งวิชาชีพนี้มาได้ตลอดเวลา

 

 

หมายเลขบันทึก: 187114เขียนเมื่อ 9 มิถุนายน 2008 17:06 น. ()แก้ไขเมื่อ 1 เมษายน 2012 21:44 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (9)

มาอ่านค่ะ เป็นศิษย์เก่า ม.อ.ค่ะ

ตาโตกับนศพ.รุ่นใหม่ ๆ จัง ค่อย ๆ ไล่อ่านของอาจารย์ค่ะ

ตามลิ้งก์ Open Space Technology ที่ wikipedia ไป จนได้เจอลิ้งก์นี้ค่ะ Anotomy of an open space event ซึ่งแสดงซี่รี่ส์รูปภาพของกระบวนการ ขัันตอน บรรยากาศ ของการทำ open space event ที่เต็มไปด้วยกระบวนการการทำ KM workshop ขนาดใหญ่ค่ะ เห็นแล้วอยากนำมาจัดทำ GotoKnow F2F สักครั้งด้วยวิธีนี้ค่ะ:)

อ.จันทวรรณครับ

ผมซื้อหนังสือของ Owen มาสองสามเล่มครับ เขามีคู่มือการทำ Open Space workshop Manual และหลักการ ที่จริงก็เป็นอีก version คล้ายๆกับ World Cafe เหมือนกัน แต่มี structure น้อยกว่า ซึ่งเป็นจุดแข็งของ Open Space.

แรงผลักดันหรือเชื้อเพลิงที่สำคัญของ Open Space มีสองประการคือ Passion กับ Responsibility ครับ ถ้างานประชุมไหนที่คนส่วนใหญ่มีสองอย่างนี้เดินไปล่ะก็ แทบจะ (เขาว่า) การันตีผลลัพธืเลยทีเดียวครับ

ขอบคุณค่ะอาจารย์ ยังไม่เคยได้ลอง World Cafe เลยค่ะ ดูจากคำสำคัญของบล็อก http://gotoknow.org/blog/phoenix-mirror/tag เจอคำว่า World Cafe ตัวใหญ่เชียวค่ะ

http://gotoknow.org/blog/phoenix-mirror/tag/world%20cafe ขออนุญาตตามอ่านค่ะ :)

มนุษย์เราถูกหลอกให้หลงเชื่อ และงมงายกับผัสสะหยาบๆแบบวิทยาศาสตร์กระบวนทัศน์เก่า (ตา หู จมูก ลิ้น กาย)

จึงวิตก วิจารณ์ ในสิ่งที่รู้เห็นแบบโลกๆ ติดอยู่กับอดีต กังวลกับอนาคต ซึ่งเป็นที่มาแห่งการเบียดเบียน และเป็นต้นเหตุแห่งการเกิดทุกข์แบบเวียนว่าย

ถือเป็นการเกิดครั้งแรกของมนุษย์ เป็นการเกิดเพียงกาย อยู่แบบโลกๆ คิดแบบโลกๆ และใช้ชีวิตแบบโลกๆ

แต่การเกิดครั้งที่สอง ซึ่งเป็นการเกิดทางจิตวิญญาณนั้น เป็นการเข้าถึงโลกภายในตัวตนที่แท้จริง เป็นปัจจุบันขณะ เชื่อมโยงวิมมุติกับสมมุติได้อย่างลงตัว

ทุกวิชาชีพ หากเข้าถึงปัจจุบันขณะ ก็จะทำให้พบหน้าที่แท้จริงของการเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ได้

ดังนั้น หากมองในมิติแห่งปัจจุบันขณะ หรือการเข้าถึงความจริงแล้ว โลกภายในของวิชาชีพแพทย์เอง ก็ไม่ได้แตกต่างอะไรไปจากชาวนา หรือวิชาชีพอื่นเลย

เพราะเป็นบทบาทหรือหน้าที่ อันจะบ่มเพาะให้เราเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ ที่ไม่ต้องหลงเวียนว่ายในวัฎฏะแห่งอดีตหรืออนาคต

แต่จะต้องเป็น Presence หรือ Now เท่านั้น นะครับ

ด้วยความเคารพยิ่ง

สวัสดีครับอาจารย์ มีครั้งหนึ่งที่ผมเคย discuss กับอาจารย์เรื่องอดีต-ปัจจุบัน-อนาคต เมื่อก่อนผมไม่เห็นด้วยนัก แต่หลังจากนั้นได้เรียนรู้ผ่านกาลเวลา ผมเข้าใจแล้วครับ

อาจารย์ค่ะ คุณ Paula ได้นำการจัดประชุมแบบ Open space ไปใช้ค่ะ http://gotoknow.org/blog/paula-story/188597

อ.จันทวรรณครับ

ครับผม พอจะทราบว่า พรพ.อยากจะใช้วิธีนี้จัดประขุมเหมือนกัน ที่จริงวาระของ พรพ.นี่ก็ตรงตาม criteria ที่ Harrison Owen ว่าไว้ค่อนข้างมากแหละครับ ว่าเหมาะแก่การทำ Open-Space Technology

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท