OUTCOME MAPPING Part I: The Overture


OUTCOME MAPPING Part I

วันที่ 30, 31 กรกฎาคม และ 1 สิงหาคมนี้ ผมได้มาเข้า workshop Outcome Mapping สนับสนุนงบประมาณโดย สสส. โดยมีวิทยากรจาก สคส. และ มสช. มาช่วยกันมะรุมมะตุม  กล่อมเกลาผู้เข้าร่วม ซึ่งก็เป็นคนในวงการสาธารณสุขบ้าง วงการศึกษาบ้าง มีมิติที่จะไปเชื่อมโยงการปรับเปลี่ยนทัศนคติ พฤติกรรม และคุณค่าในการดำรงชีวิตในบริบทต่างๆ อันว่า Outcome Mapping นี้เป็นเช่นไร ผมก็ไม่เคยทราบเหมือนกันถึงแม้ว่าจะได้ยินคำๆนี้มานานแล้ว แต่ก็ยังไม่มีโอกาสจะได้ศึกษาค้นคว้าเสียที อาจารย์หมอสุธรรม ผู้ทรงคุณวุฒิทางด้านคุณภาพโรงพยาบาล และอาจารย์พันธ์ทิพย์ สงวนเชื้อ ท่านเคยบอกว่าในทาง Palliative Care แล้ว ผมน่าจะลองใช้ OM นี้มาช่วยในการเขียนว่าจะทำอะไร เพื่ออะไร เกิดอะไร น่าจะเป็นเครื่องมือที่ดี และตรง อาจจะแก้ปัญหาเรื่องการวัด การประเมิน การวางแผน ระยะยาวสำหรับอะไรที่ผลลัพธ์ซับซ้อน ซ่อนเงื่อน มีความเกี่ยวเนื่องเชื่อมโยงเป็นใยแมงมุม (หรือที่ อ.ประพนธ์ ผาสุขยืด บอกว่าเป็นโดยอิทัปปัจจยตานั้นแล)

Workshop นี้ ใช้เวลา 2 คืน 3 วัน ผมเหลือบดูรายการ เอ๊ะ อ้าฮ่า มีคำคุ้นๆ สุนทรียสนทนา กระจกเงา ดูท่าน่าจะถูกจริตเราไม่น้อย หน้าตาชื่อเสียงกระบวนกรและวิทยากร ก็มาจาก สคส. และ มสช. กัลยาณมิตรเก่าของผมเองทั้งนั้น เข้า internet ไปดูชลพฤกษ์รีสอร์ท อา... มี spa มีสระว่ายน้ำด้วย ฮึ ฮึ น่าจะดีๆ

ผมไปขึ้นรถตู้ที่มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ (มสช.) ณ ซอยพหลโยธิน 22 ตั้งแต่เจ็ดโมงเช้า ใช้เวลาเดินทางหนึ่งชั่วโมงครึ่งก็มาถึงชลพฤกษ์รีสอร์ทพอดี ชลพฤกษ์รีสอร์ทเป็นรีสอร์ทที่ร่มรื่นและมีที่พักทั้งแบบโฮเตลและบังกาโล รายล้อมสระบัวขนาดใหญ่ มีสระว่ายน้ำและ spa ข้างสระ (ซึ่งเราหมายมั่นปั้นมือจะต้อง "ลอง" ให้ได้ เป็น outcome challenges ประการหนึ่งของเรา อิ อิ) ผมลงจากรถที่หน้า lobby หิ้วประเป๋าไปยัง reception ก็ได้รับแจงว่าพี่กอปรชุษณ์ ผู้ร่วมห้องพัก (ตอนแรกจะเขียน "คู่นอน" รู้สึกทะแม่งๆ) ได้มาถึงเรียบร้อยแล้ว เดินไปได้เลย ไปทางสระว่ายน้ำ อ้อมไปทางซ้ายนะคะ เราก็ลิ่วไปเลยทันที ก่อนจะพบตัวมาอยู่ตรงทางแยกประมาณ 4 แพร่ง ซึ่งไม่มีป้าย อืม..... อันนี้เป็นบทเรียนรึเปล่าวะนี่ จะมาทำเรื่อง mapping หรือแผนที่ สงสัยจะลองกำลังสติปัญญาเราว่าสามารถจะไปถึงห้องพักได้รึเปล่า เราก็เริ่มเสี่ยงทายเลือกเอาเส้นทางนึง ข้ามสะพานไม้เล็กๆไปทางที่มีต้นไม้ร่มรื่น ไปสู่สวนทางด้านหลัง ซึ่งนำเราไปสู่ห้องเก็บของที่อยู่อีกฝากของรีสอร์ทก่อนที่เราจะ retreat มาตั้งต้นใหม่ พอดีเจอน้องคนทำสวน ก็เลยสวมวิญญาณ Amazing Race contenders กรี่เข้าไปถามว่า "น้องๆ ห้อง B2 อยู่ที่ใด" ก็ได้รับความกรุณาชี้บอกทางไปจนถึงจนได้

มาถึงเราก็เริ่มได้บทเรียนของ "แผนที่" ทันที จริงอยู่ในที่สุดเดินไปเรื่อยๆ มันก็คงจะไปถึงแน่นอน แต่อาจจะใช้เวลาไม่เท่ากัน กระนั้นจะบอกว่าการเดินผิดทางเป็นการเสียเวลาหรือไม่ ก็ไม่เชิงเสียทีเดียว เพราะการออกนอกเส้นทาง (ที่สั้นที่สุด) เราก็ได้เปิดหูเปิดตาของสิ่งที่อยู่นอกเส้นทาง (หรือเส้นทางที่อ้อม) หากเรามีสติ มีมุมมองจะเรียนรู้ ใครจะตัดสินได้ว่าการเสียเวลานั้นๆ อาจจะเป็นการเรียนรู้ที่มีค่ามากกว่าเป้าหมายแรกเริ่มก็ได้ หรืออาจจะเป็นการเตรียมตัวให้เราได้ทำอะไร หรือเห็นอะไรเสียก่อน หากเราเชื่อว่า "ทุกสิ่งทุกอย่างไม่มีความบังเอิญ" เราจะได้พยายามถอดรหัสว่า การหลงครั้งนี้ เพื่อที่เราจะได้เรียนอะไรหนอ การผิดพลาดครั้งนี้เราจะแข็งแกร่งขึ้นอีกไหม เราอาจจะเปลี่ยนโลกทรรศน์ ของความหมายของคำว่า "ผลลัพธ์" ไปอย่างสิ้นเชิง มีกี่ครั้งที่เราอ่านชีวประวัติของมหาบุรุษ ที่พบว่าชีวิตของท่านปูลาดมาด้วยถนนที่ตะปุ่มตะป่ำ แสนทุรลำเค็ญ ล้มลุกคลุกคลานและ "ล้มเหลว" ไม่รู้เท่าไร แต่ทุกสิ่งทุกอย่างของ "ประสบการณ์" เหล่านั้นนั่นเองที่ทำให้เกิดการหล่อเลี้ยง "ความเป็นมหาบุรุษ" ขึ้น อาทิ ชีวประวัติของเนลสัน แมนดาลา ถ้าหากเขียน mile stones ของท่าน Progress Markers คงจะถูกกาแล้วกาอีก ล้มแล้วล้มอีก ใครต่อใครอาจจะไม่ยอมให้ทุนท่านดำเนินชีวิตต่อ หารู้ไม่ว่าชีวิตดวงนี้กำลังเสมือนเหล็กเนื้อดีที่เผาแล้วเผาอีก ตีจนแหลกละเอียดก็นับครั้งไม่ถ้วน เพื่อจะได้ชีวิตที่ "ใช้ชีวิต" ที่แท้จริง มาเป็นผู้นำไม่เพียงแต่คนรอบข้าง แต่เป็นแรงบันดาลใจให้มวลมนุษยชาติได้ทีเดียว

บางครั้งครา การตระเวณออกนอก "เป้า" ก็ไม่เลวร้ายเสมอไป

การเขียนบันทึก series นี้ จะไม่ได้เป็นเพียงแค่ "report" ว่าเกิดอะไรขึ้นใน workshop บ้าง แต่จะขอกัด เคี้ยวให้ละเอียด ย่อย สำรอกออกมาเคี้ยวใหม่ ย่อยใหม่ เอาออกมาเรียงร้อยเป็น series ชุดนี้ (ทางอวัยวะไหน ก็คิดเอาเองก็แล้วกัน)

 

หมายเลขบันทึก: 197880เขียนเมื่อ 31 กรกฎาคม 2008 17:31 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 พฤษภาคม 2012 23:34 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (11)

โห... อาจารย์ jj ผมกำลังว่าจะขยายต่ออีกนิด กำลังใจในการเขียนก็มาก่อนแล้ว คราวนี้จะบรรเลงให้สุดหัวใจเลยครับอย่างนี้

นกฟินิกส์ตัวนี้นอกจากบินสูง ดูภาพรวมแล้ว ยังเป็นมือดาบรวดเร็วปานสายฟ้าแลบเพราะว่าเขียนเรื่อง workshop ี้ีีี่

ี้ครั้งนี้ก่อนใครเลยนะคะ

อาจารย์หมอสกลครับ

ผมสนใจ Outcomes Mapping ครับ ขอติดตามอ่านบันทึกอย่างใกล้ชิดนะครับ ผมจะไปหาดใหญ่เร็วๆนี้ครับกับทีม มสช. หากโอกาสดี และผมมีบุญดี คงได้เจอท่านอาจารย์ครับ

 

ผมเคยเข้าประชุมกับ สสส. ในเรื่อง outcome mapping มานิดหน่อยครับ โดย สสส. บอกว่าจะใช้เป็นเครื่องมือหลักในการประเมินโครงการ พวกเราเลยต้องนั่งฟังกันหูผึ่ง แต่ก็ยังไม่เข้าใจในการนำมาใช้เท่าไหร่นักครับ ว่าจะหาโอกาสศึกษาเรื่องนี้ต่อก็ยังไม่มีเวลาเลยครับ

อ.ทัศนีย์ครับ

แหะๆ บินสูงไปก็ไม่ดีครับ มองไม่เห็นว่าชาวบ้านชาวช่องกำลังทำอะไรกันอยู่ และตอนนี้กำลัง work ด้านทำให้ช้าลงครับผม

โปรดติดตาม series Outcome Mapping ต่อไปนะครับ

คุณจตุพรครับ

นั่นคงจะเป็นบุญกุศลของเราทั้งสองเป็นแน่ครับ เมื่อธัมมะจัดสรรให้เหมาะสมจนมาได้เจอกัน สำรวมจิตรอคอยครับ

อ.ธวัชชัยครับ

เห็นด้วยครับ มาเข้า workshop เสร็จ ทั้งหูผึ่ง ตาโต จิตลุกโพลง เป็นหนึ่งใน workshop เบิกโลกทรรศน์ที่แท้จริง

เรียน ท่านอ. Phoenix ค่ะ

  • ดิฉันกำลังจะนำ Outcome Mappingมาทดลองใช้ในการติดตามการพํฒนาคุณภาพงานบริการวิสัญญี ของ มข....
  • เรียนรู้กันเองจากตำรา Outcome Mapping ของสสส.สรช.สคส.ค่ะ...เรียนรู้จากการช่วยๆกันอ่านกับเพื่อนๆในทีม กำลังศึกษาเพื่อจะทดลองใช้  นำมาเรียนรู้ด้วยการทดลองทำจริงๆเลย...จึงขอเข้ามาเรียนรู้ด้วยนะคะ
  • หวังว่าคงได้รับความกรุณาจากท่าน
  • ขอบพระคุณค่ะ

ยินดีครับ

ผมเห็นด้วยว่าวิธีเดียวที่เราจะทราบว่า outcome mapping จะต้องทำอย่างไร ก็คือลองทำดูแล้วนำมาแลกเปลี่ยนกันนี่แหละครับ

ตามมาหาความชัดเจนของ OM ค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท