เมื่อความสำเร็จถูกนิยาม ความล้มเหลวก็ถูกร่างกำหนด


เมื่อความสำเร็จถูกนิยาม ความล้มเหลวก็ถูกร่างกำหนด

ในการเขียนโครงการ เขียนแผน เขียนอะไรก็ตาม ทุกคนก็จะถูกสอนมาว่าให้เริ่มจากถามตัวเองว่า "เราต้องการอะไร" หรือ "อะไรคือเป้าประสงค์" นั้นคือให้มีทิศทาง มีความปราถนา มีความต้องการ เสียก่อน เหมือนกับมีแผนที่ที่มีตัว X วางไว้ให้เรียบร้อย มิฉะนั้นก็จะกลายเป็นเดินเอ้อระเหย ร่อนไป เร่มา แล้วก็จะเห็นได้ว่าเราจะเริ่มมีทัศคติต่อการ "เอ้อระเหย ร่อนไป เร่มา" ในแง่ไม่ค่อยดีเท่าไหร่ ซึ่งก็ทำให้สงสัยต่อไปอีกว่า เป็นเพราะเราคิดว่า "ต้องมีตัว X จึงเรียกว่าดี" รึเปล่า? ดังนั้นพอบอกว่าจะไม่มีตัว X ทำให้โดยไม่รู้ตัว เราจึงเลือกใช้ภาษา ใช้คำที่ "ไม่ค่อยดีเท่าไหร่" มาใช้อธิบาย ถ้าเขียนต่อไปอีก ก็จะเกิด loop งูสองตัวกำลังม้วนกินหางของแต่ละฝ่่ายไปเรื่อยๆ เดี๋ยวจะกลายเป็นนาคบาศแบบในเพชรพระอุมาไปเสีย

ช่วงเดือนที่ผ่านมา ผมได้มีโอกาสเข้า workshop เรื่อง Outcome Mapping และโครงการแผนพัฒนาจิตระยะที่สามของมูลนิธิสดศรี-สวัสดิ์วงศ์ และเมื่อวานก็พึ่งไปทำ workshop (เรื่องอะไรจำไมไ่ด้แล้ว แต่ไปลงเอยที่ Happy Hospital ตอนเย็น) กับกลุ่มโรงพยาบาลชุมชน จ.สงขลา ก็มีประเด็นเข้าๆออกๆเรื่องการเขียนโครงการ วิสัยทัศน์ พันธกิจ และงานที่จะทำ ฯลฯ

แล้วก็มีการพูดถึง "ความทุกข์ในการทำงานคุณภาพ"

ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วงทีเดียว ทั้งห่วงคนทำ และห่วงคนที่เกี่ยวข้อง ไปๆมาๆก็รวมทั้งตัวเราเองด้วย เพราะเมื่อคนหนึ่งทุกข์ มีหรือที่เราจะไม่ถูกกระทบเลย? ในทางควอนตัมแมคคานิกนั้น เราไม่สามารถจะวัดอะไรได้ โดยที่เครื่องมือวัดไม่ได้ไปรบกวนมีผลต่อสิ่งที่เราต้องการวัด จะเห็นว่า "ความสัมพันธ์" ของสรรพสิ่งนั้น มันเกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา ตั้งใจ หรือไม่ตั้งใจก็ตาม

แน่นอนที่สุด เมื่อเรามีการตั้งเป้าหมายเอาไว้อย่างใดอย่างหนึ่ง ถ้าเราไปไม่ถึง หรือทำไม่ได้ เราก็จะ "ไม่สำเร็จ" หรือ "ไม่เป็นไปตามคาดหวัง" ในความไม่สำเร็จนี้ จำเป็นไหมที่จะต้องเป็นความล้มเหลว หรือเราสามารถจะมองหาได้อีกไหมว่า มีอะไรที่แอบแฝงอยู่ใน "ประสบการณ์แห่งความไม่สำเร็จ" ครั้งนี้?

นึกถึงตอนที่เจ้าชายสิทธัตถะปลงเกศาออกบวช ไปบำเพ็ญทุกขกิริยาตามแบบโยคี แบบผู้บำเพ็ญพรต อยู่ระยะเวลาหนึ่ง แล้วก็ยังไม่เกิดความ​"รู้แจ้ง" เราจะเรียกช่วงเวลาบำเพ็ญทุกขกิริยานั้นเป็นความล้มเหลวหรือไม่ หรือว่าเป็น "ประสบการณ์การเรียนรู้"

ผมอ่านหนังสือกำลังภายในเรื่อง "เทพทลายนภา" ของหวงอี้ ตอนนี้ที่บรรยายถึงตัวละครชื่อ ปาซือปา เป็นพระธิเบต ภายหลังตัวละครนี้สำเร็จมรรคผลไป สิ่งหนึ่งที่ตัวละครนี้ถือเป็นสรณะคือ "สำหรับปาซือปาแล้ว ไม่มีคำว่าความล้มเหลว หรือความสำเร็จ มีเพียงแค่ประสบการณ์....." จะเรียกว่าเป็นคนที่ไม่ทอดทิ้งประสบการณ์ตรง และค้นหา แสวงหา สิ่งที่เกิดขึ้นจากชีวิตได้ตลอดเวลา

เมื่อใครคนใดคนหนึ่ง เขียนโครงการขึ้นมาหนึ่งโครงการ ด้วยความมุ่งมั่น คิดว่าถ้าทำอย่างนี้ๆ เขา "หวังว่า" จะเกิดการเปลี่ยนแปลงอะไรบางอย่างขึ้น แต่แล้ว ทำไปๆ ใช้เวลาหลายปี ปรากฏว่าสิ่งที่เกิดขึ้นไม่ได้เป็นไปตามที่คาดไว้ โดยทั่วๆไปคนก็จะเรียกว่า "ล้มเหลว" แต่จริงๆแล้ว คนๆนี้ "ได้อะไรบ้าง" อาจจะน่าสนใจมากกว่าการพยายามจะ label ว่าล้มเหลวหรือไม่? ประสบการณ์ที่ทำแล้วไม่ได้ตามที่คาดหวังจะเป็น "ความล้มเหลว" เพียงอย่างเดียวล่ะหรือ? และในความเป็นจริงแล้ว มีใครที่ประสบความสำเร็จโดยไม่ได้ผ่านการล้มเหลวมาก่อนบ้าง และที่เขาเหล่านั้นประสบความสำเร็จจนได้ เขาได้อะไรจาก "ความล้มเหลวก่อนหน้านั้น" บ้างหรือไม่ ที่จะมาเป็นฐานความสำเร็จในที่สุด?

เป็นไปได้หรือไม่ ที่ความล้มเหลว ความผิดหวัง ผิดคาด ฯลฯ สิ่งเหล่านี้เป็น "บันไดที่จำเป็น" ที่จะทำให้เราสามารถก้าวต่อไป หรือก้าวกระโดดไปให้ไกลยิ่งขึ้น นักกีฬากระโดดไกลก่อนจะกระโดด ยังต้องถอยออกไปไกลๆ เพื่อที่จะได้กระโดดให้ไกลที่สุด นักกีฬากระโดดน้ำ ยิ่งกดสปริงบอร์ดลงต่ำเท่าไร จะยิ่งดีดกระดอนส่งตัวให้สูงมากขึ้นเท่านั้น อยู่ในกลางอากาศได้นาน แสดงท่าทางต่างๆให้สมบูรณ์ สวยงามมากยิ่งขึ้น ทุกครั้งที่คนเราจะกระโดด ก็จะต้องย่อตัวลงเสียก่อน เนลสัน แมนเดลลา ติดคุกอยู่ถึง 30+ปี คงแทบจะไม่มี script ไหนที่จะเขียนไว้ให้ล้มเหลวแบบนี้ แต่เราคิดหรือไม่ว่า ช่วงเวลาที่ติดคุกนั้น จะมีผลเช่นไรในการหล่อหลอม conviction ความมุ่งมั่น determination ของมหาบุรุษ

คำถามก็คือ ทำไมเราจึงถูกปลูกฝังมาให้กลัว "ความล้มเหลว" ทำไมเราจึงมองเห็นว่าประสบการณ์ที่เป็นความสำเร็จเท่านั้น ที่เป็นที่ยอมรับ ที่เป็นประโยชน์์? ทำไมการ "ประเมิน" คน หรือ โครงการ อะไรก็แล้วแต่ ถึงได้พูดถึงแต่ "ความสำเร็จ"?

 

 

ที่จริงเคย quote มาแล้วครั้งหนึ่ง แต่คิดว่าควรจะนำมาอ้างถึงอีกครั้ง ก็คือ จดหมายของ Demming guru ด้านคุณภาพท่านหนึ่ง ที่เขียนมาเป็นคำนำในหนังสือของ Peter Senge เรื่อง The Fifth's Disciplines (เล่มปรับปรุงใหม่)

"Our prevailing system of management has destroyed our people. People are born with intrinsic motivation, self-respect, dignity, curiosity to learn, joy in learning. The forces of destruction begin with toddlers- a prize for the best Halloween costume, grades in school, gold stars- and so on up through university. On the job, people, teams, and divisions are ranked, rewarded for the top, punishment for the bottom. Management by objectives, quotas, incentive pay, business plan, put together separately, division by division, cause further loss, unknown and unknowable."

พฤติกรรมและเจตนคติที่หลงไหล คลั่งไคล้ใน "ความสำเร็จ" และเกลียด "ความล้มเหลว" นั้น ไม่ได้พึ่งเริ่มมี แต่ค่อยๆหล่อหลอมมาเป็นเวลานาน ตั้งแต่เด็กๆ ที่มองหาพ่อแม่ว่าชอบอะไร จะชมตอนไหน จะตำหนิตอนไหน การให้รางวัลเมื่อสำเร็จ การทำโทษเมื่อล้มเหลว ฝังแน่นอยู่ในประสบการณ์ตรงมาแต่เล็กๆ การแข่งขันกันในทุกๆมิติแห่งชีวิต แข่งขันแม้กระทั่งการได้รับการ "ยอมรับ" จากคนอื่นๆ จากรายการทีวีโชว์หลายๆประเภท ความล้มเหลวหมายถึงน้ำตาแห่งความเสียใจ ความสำเร็จหมายถึงเสียงหัวเราะแห่งความภาคภูมิใจ มีน้อยมากที่จะเฉลิมฉลอง "ประสบการณ์" ที่ผ่านไป แต่ไปเน้นที่ outcome ปลาย ตามทฤษฎีของแมคคาวิลลี ผู้เขียนหนังสือ The Prince ว่าด้วย "The End justifies the Means"

คำถามต่อไปก็คือ "พฤติกรรมเรียนรู้" นั้นเกิดขึ้นตอนไหนบ้าง? เพียงแค่ตอนได้รับผลลััพธ์เท่านั้นหรอกหรือ? แล้ว "ประสบการณ์ตรง" เล่า? มีการเรียนรู้ตอนนั้นเกิดขึ้นหรือไม่ เราควรจะทุ่มเทสมาธิและเกิดความตระหนักว่าเรา "ก็กำลังเรียน" ตอนกระทำอยู่ด้วยหรือไม่ นักศึกษาแพทย์ควรจะรู้ตัวไหมว่า เขากำลังเรียนอยู่ตอนกำลังทำแผล ตอนกำลังอ่าน EKG ตอนกำลังอภิปรายกรณีศึกษา หรือให้ไปเรียนตอนเกรดออก ตอนกำลังทำข้อสอบ? Highlight ของการเรียนรู้อยู่ที่ตอนไหนกันแน่?

หมายเลขบันทึก: 202029เขียนเมื่อ 19 สิงหาคม 2008 15:31 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 02:50 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (21)

สวัสดีครับท่านอาจารย์

  • หนักแน่น ชัดเจน และโดนใจมากครับ
  • ผมมีเพื่อนรักที่รู้ใจกันมากที่สุดคนหนึ่ง เป็นอาจารย์อยู่มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี เขาเป็นตัวของตัวเองมาก แม้คนจะชื่นชมว่าเรียนเก่ง มีประสบการณ์ชีวิตแห่งการเรียนรู้ทั้งในอเมริกา อังกฤษ ออสเตรเลีย สิงคโปร์ และอีกหลายๆที่ในโลก แต่เขาก็ไม่เคยทะเยอทะยาน แต่มุงทำงานรับใช้องค์กร รับใช้สังคม ดูแลญาติพี่น้องลูกหลานอย่างดียิ่ง มีแต่ให้ ให้ ให้ .. และค่อนข้างเชื่องช้า เฉื่อยแฉะ แต่ไปอยู่ไหนใครก็รัก และรักแน่น รักนานด้วย บอกชื่อก็ได้ครับ เขาชื่อ ชัยรัตน์  กันตะวงษ์ ครับ.. เจอกันทีไรเรามีเรื่องคุยต่อยอดกันไปไม่มีเบื่อ มีเรื่องแปลกๆเล่าสู่กันฟังสม่ำเสมอ
  • วันหนึ่งมีเพื่อนร่วมรุ่นคนหนึ่งซึ่งมีตำแหน่งเป็นผอ.โรงเรียน บอกเขาว่า .. " มรึงนั้น เรียนก็เก่ง ทำอะไรมาก็เยอะ .. น่าจะไปได้ไกลและก้าหน้ากว่านี้นะ " เพื่อนผมเล่าให้ฟังว่า เขาตอบกลับไปสั้นๆว่า .. " ไปของมรึงคนเดียวเถอะ "
  • เพื่อนผมทำงานมาก มิตรมาก คนรักมาก แต่ไม่มีตำแหน่งอะไร เพราะดูเขาจะไม่ใส่ใจความสำเร็จเปลือกๆเหล่านั้นเอาเสียเลย
  • เราเป็นเพื่อนซี้กันก็คงด้วยเหตุนี้ครับ
  • ชีวิตผมเองมีเรื่องหนักๆผ่านเข้ามาในชีวิตมากมาย ทำอะไรแล้วสำเร็จมากก็มี พลาดมาก็เยอะ .. ดูแล้วไม่มีทางจะได้รับยกย่องเป็นศิษย์เก่าดีเด่น หรือเป็นบุคคลตัวอย่างที่ไหนได้ แต่ขอยืนยันว่า ผมพอใจชีวิตตัวเองมาก และรู้สึกเสมอว่าตัวเองเป็นบุคคลที่ประสบความสำเร็จสูงมาก ได้เรียนรู้ที่จะสู้กับปัญหาใหญ่น้อยมากมาย ปรับจิตใจอยู่ได้ในสถานการณ์เลวร้าย ที่ถ้าเป็นบางคนอาจเป็นบ้าไปแล้ว .. เฉยๆได้ ทั้งกับการได้มา และ การสูญเสีย .. ฯลฯ  ผมจึงขอยืนยันชัดเจนว่า .. ความล้มเหลว ที่คนเราได้พบ และผ่านมันไปได้ด้วยรอยยิ้มนั้น .. มีคุณค่ามหาศาล  เพียงแต่พวกเราหลงอยู่ในกรอบความคิดบางอย่างมากเกินไป จึงไม่อาจใช้ประโยชน์ที่เกิดจากความล้มเหลวของคนเราได้
  • ขอบพระคุณมากครับ

สวัสดีค่ะอ. Phoenix

อ่านแล้วได้กำลังใจขึ้นมากค่ะ

บางครั้งเรากลัวความล้มเหลวมากเสียจน...ไม่อยากพานพบ รับไม่ได้ ไม่อยากรู้จัก ไม่ทักทาย ไม่ใส่ใจ...ความล้มเหลว...บ้างเลย

จะพูด จะเล่า ก็กลัวคนฟังจะเบื่อ จะรู้สึกไม่ดีกับเรา อาย เสียหน้า ไม่กล้ารับว่า...เราล้มเหลว... 

ลืมคิดไปว่า..มีใครที่ประสบความสำเร็จโดยไม่ได้ผ่านการล้มเหลวมาก่อนบ้าง และที่เขาเหล่านั้นประสบความสำเร็จจนได้ เขาได้อะไรจาก "ความล้มเหลวก่อนหน้านั้น" บ้างหรือไม่ ที่จะมาเป็นฐานความสำเร็จในที่สุด?

ขอบคุณสำหรับข้อคิดที่เปี่ยมคุณค่า รวมทั้งข้อคิดที่ได้จากอาจารย์ Handy ด้วยค่ะ...^_^...

สวัสดีครับ อ. Handy P

ชีวิตและเรื่องราว และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง "กระบวนทัศน์" อย่างของเพื่อนอาจารย์ (และแน่นอน ของอาจารย์เองด้วย) เป็นบทเรียนที่สำคัญไม่ยิ่งหย่อน หรือยิ่งกว่า ตัวเนื้อหา contents ของสาระที่นักเรียนเรียนเสียอีก และควรที่จะนำมาถ่ายทอด ขยาย วิจารณ์ วิเคราะห์ ในหมู่นักเรียนด้วยครับ

เราไม่ค่อยได้สังเกตเห็นว่า contents ในหลักสูตรนั้น จำเป็นต้องปรับเปลี่ยนแปลงไปโดยตลอดเวลา แต่ทำไมเวลาสอบ จึงยังต้องใช้ข้อสอบแนวท่องจำในสัดส่วนจำนวนมาก ทั้งๆที่จำออกมาแล้ว เหลือที่จะต้องใช้ในชีวิตจริงๆน้อยมากเลย

แต่สิ่งที่เกิดขึ้นขณะที่ครูสอนนักเรียน นอกเหนือจากเนื้อหาได้ถูกส่งต่อแล้ว นั่นคือเจตจำนงของคนเป็นครู ที่มาทำงานคืออยากให้เด็กได้รู้ อยากให้เด็กได้เติบโตเป็นคนที่ดีต่อสังคม เจตจำนงนี้เองที่เป็น fabric ของสังคม ไม่ใช่เนื้อหาสาระที่เรียนหรอก ดังนั้นเมื่อเรามีครูที่ดี รักนักเรียน สิ่งเหล่านี้ที่จะเป็นเมล็ดงอกงามออกไป ให้เรากลายเป็นคนที่อยากทำดีกับผู้อื่น อยากสอนคนอื่น อยากเล่า อยากบันทึกเรื่องราว แท้ที่จริงเรากำลังหล่อหลอมวัฒนธรรมของมนุษย์ อยู่ในทุกขณะจิตที่เรามีปฏิสัมพันธ์ซึ่งกันและกันอยู่ตลอดเวลา

ขอบพระคุณอาจารย์ที่กรุณาแวะมาเยี่ยมเยียนครับผม

สวัสดีครับ คุณคนไม่มีราก P

ที่เรากลัวสิ่งต่างๆเหล่านี้ ก็ไม่ใช่ความผิดของเราทั้งหมดหรอกนะครับ ความกลัวนั้นเป็นสิ่งที่มีประโยชน์ ทำให้เรา "อยู่รอด" ไม่ไปทำอะไรที่เสี่ยงอันตราย

แต่ทีนี้ถ้าเรากลัวมากเกินไป หรือมากเรื่องเกินไป อะไรต่อมิอะไรก็อันตรายไปหมด ยิ่งถ้ากลัวอะไรที่มีประโยชน์ ก็ยิ่งเป็นการลดโอกาส ลดศักยภาพของตนเองไปอย่างน่าเสียดาย

การ "กลัวความล้มเหลว" ก็จะเป็นการลดโอกาสการที่จะได้เรียนรู้ การเติบโตทางจิตวิญญาณ ความรู้ ถูกผูกมัดจนแคระแกร็น มองไม่เห็นความเชื่อมโยงของความล้มเหลวกับความแข็งแกร่ง ที่มาด้วยกัน เมื่อเรามองย้อนกลับไปหาความล้มเหลวในอดีต ความกล้าของเราในปัจจุบันก็คือสิ่งที่งอกงามมาจากประสบการณ์ตรงเหล่านี้นี่เอง ว่ายังไงๆเราก็ผ่านมาได้แล้ว

กลับมาอ่านคำตอบอีกครั้งค่ะ 

ข้อเขียน ความคิดดี ๆ เพียงไม่กี่ประโยค..สร้างกำลังใจและคุณค่ามหาศาล  มาเรียนให้อาจารย์ทราบด้วยว่า เป็นแฟนประจำของ คันฉ่องส่องนกไฟ .. แต่ไม่กล้า...คอมเม้นท์ เพราะรู้สึกว่าตัวเองไม่มีภูมิรู้ พอจะให้ความเห็น .. จึงแอบอ่าน แอบติดตามเรื่อยมา....

วันนี้กล้าแสดงตัว...เพราะ...ไม่กลัวแล้ที่จะ...ล้มเหลว... 

ขอบพระคุณอาจารย์มาก ๆ ค่ะ

ส่งดอกไม้มาแทนคำขอบคุณค่ะ

ขอบคุณสำหรับดอกไม้ครับ

งั้นผมต้องพิจารณาตัวเองเสียแล้วล่ะสิ ที่เป็นสาเหตุแห่งความกลัวการแสดงความเห็น อิ อิ แต่ก็ดีใจครับที่สลัดหลุดได้แล้ว comment มาเยอะๆเลยครับ ไม่เห็นด้วยยิ่งดี (เพราะถ้าเห็นด้วยหมด ก็ไม่รู้จะคุยอะไรต่อดี หรืออาจจะต้องเลี่ยงไปพูดดินฟ้าอากาศแทน)

  • ตามมาแสดงความขอบพระคุณด้วยอีกคนครับ
  • ผมเองก็คล้ายๆ คนไม่มีราก กล่าวคือเข้ามาอ่านแล้วไม่ค่อยได้ Comment แต่เหตุผลหลักไม่ได้อยู่ที่กลัวท่านอาจารย์ เพียงแต่เกรงว่าข้อคิดที่นำมาต่อเติม หากไม่ได้กลั่นกรอง และนำเสนอให้ชัดเจน จะทำให้ผู้อ่านที่แวะเวียนเข้ามา ได้ประโยชน์น้อย .. ทำให้บันทึกดีๆ ที่ลุ่มลึกและมีคุณค่า ต้องรุงรังด้วยข้อคิดที่ไม่ค่อยเสริมสร้างปัญญาสักเท่าไร
  • แต่ตอนนี้ก็ผ่อนคลายไปเยอะแล้วครับ

สวัสดีค่ะอาจารย์

ชอบข้อเขียนของอาจารย์ และตามอ่านมาเป็นระยะ (แต่อาจจะยังไม่เหนียวแน่นเท่า อ. Handy...ขอแซว เพราะเชื่อว่าเดี๋ยว อ.Handy จะเข้ามาอีก...อิอิ) เพราะรู้สึกว่าอ่านทีไรได้เรียนรู้ และเกิดแนวคิดทุกครั้งไป
โดยส่วนตัวมีแนวคิดและยึดว่า เราสามารถเรียนรู้ได้จาก ความล้มเหลว หรือความไม่สำเร็จจากการทำงาน  แม้ว่าเราจะรู้สึกเสียใจบ้างจากความล้มเหลวนั้น ... ซึ่งผู้ที่เกี่ยวข้องรอบด้านก็ต้องให้กำลังใจและเรียนรู้ด้วยกัน ไม่ใช่ตีตราว่า ความล้มเหลว คือ ความเลวร้าย ซึ่งจะทำให้กำลังใจที่จะนำความล้มเหลวมาเป็นบทเรียนให้เกิดการเรียนรู้ในทางที่สร้างสรรค์ถดถอยไป...นะคะ
ขอบคุณค่ะ

ผมเป็นส่วนหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการ KM เพื่อถอดบทเรียนตามแผนพัฒนาจิต ที่เรียกว่า "จิตปัญญา" - Humanized Health care

ผมอาสาเข้าไปทำเพราะเชื่อมั่นในความดีงามของเมล็ดพันธุ์แห่งความดีงามที่แฝงอยู่ในตัวคน หากเราได้รับรู้เรื่องราวเหล่านั้นเป็นโอกาสที่ดีสำหรับการพัฒนาจิตของตนเองและเรื่องราวที่ถอดก็เป็นประโยชน์มากต่อผู้อื่นหากได้สื่อสารสาธารณะ

แต่ผมรู้สึกเหนื่อย...

เหนื่อยกับความคาดหวัง ที่ถูกเรียกว่า "เป้าหมาย"ที่อยากได้ โดยที่ผมทราบดีว่า เส้นทางการพัฒนาจิต การเปลี่ยนแปลงจากภายใน นั้นใช้เวลา อารมณ์ ปัจจัยอื่นๆที่เกี่ยวข้องอีกมากมาย และการถอดบทเรียนโดยใช้กระบวนการ KM ใช้วิธีการเล่าเรื่อง(Sucess story telling) - AI ร่วมกัน หรือกระบวนการอะไรก็ได้ที่เราสามารถรับรู้ รับฟังกระบวนการพัฒนาจิตที่มีพัฒนาการ ในบรรยากาศแห่งความชื่นชมยินดี มีสุข

ความสำเร็จที่คาดหวัง(ตามแผนงาน)

  • ได้ Facilitator ตามยุทธศาสตร์ของ Network
  • Clinical spiritual assessment
  • indicators

ซึ่งตัว indicators   ที่ตั้งไว้ว่าเป็นผลที่คาดว่าจะได้รับ ช่างขัดกับกระบวนการพัฒนาจิตที่ละเอียดอ่อนเสียจริง

ผมรู้สึกเหนื่อยกับความสำเร็จที่คาดหวังระดับนี้ ซึ่งผมยังมองเห็นความสำเร็จอันใกล้ยังไม่เจอ หากขืนถอดออกมาได้ ผมก็ว่าคงได้ระดับเปลือก

วันนี้ไปประชุมเพื่อถอดบทเรียนกิจกรรมเวทีรอบแรกที่ผมเป็น Faciclitatror (ที่ใต้) ร่วมกับเจ้าของทุนที่ให้ ผม ยิ่งเห็นความล้มเหลว เพราะความสำเร็จที่ถูกนิยาม โดยที่ไม่พยายามทำความเข้าใจธรรมชาติของการพัฒนาจิต...แต่พร่ำพูดถึงความสำเร็จตามประสบการณ์ที่ตนเองเชื่อ...

ผมมองว่า ความกระหายผลลัพธ์แห่งความสำเร็จมากเกินไป จนลืมมองดอกไม้สวยงามระหว่างทางเดิน เราอาจไปถึงแต่ไม่มีความสุขเลย และรู้สึกเศร้ามากกว่านั้นเมื่อพบว่าจุดหมายที่ถึง กลับไม่ใช่จุดหมายที่แท้จริง

 

 

 

 

 

 สวัสดีครับ คุณจตุพร P

ขอแสดงความเห็นในฐานะคนกลางๆ ไม่ได้มีอะไรกับกระบวนการต่างๆนี้ (โดยตรง) แต่อาจจะมีโดยอ้อมๆ ในฐานะของผู้ได้รับแรงลมจากปีกผีเสื้อคนหนึ่ง

พระพุทธเจ้าใช้เวลา 6 ปี (กระมัง) ในการบำเพ็ญภาวนา ณ ชาติสุดท้าย และอีกนับไม่ถ้วนชาติก่อนหน้านั้น ในการ "ทำความเข้าใจ" ว่า "มันเรื่องอะไรกัน" ถึงกระนั้น ท่านก็ไม่ได้ให้ KPI ของ enlightenment milestones มาให้ชัดเจน แต่ท่านปูพื้น ปูหนทางไว้ใน "มรรคแปด (The Eightfold Path)" ถ้าความคาดหวังของคุณจตุพรอยู่ที่

  • พยายามค้นหาศักยภาพที่จำเป็นพึงมี ของ facilitator
  • วิธีการสำรวจแผนที่ spiritual path
  • และ experience of spiritual journey

ซึ่งเป็นการเขียน progress markers ที่ผมคิดว่าเป็นไปตามหลักของ Outcome Mappings แทนที่จะเป็น "ได้" facilitator  "ได้" assessment tool หรือ "ได้" indicator ผมคิดว่างานของคุณจตุพรนั้น น่าตื่นเต้นมากเลยทีเดียว จะเป็น journey ที่มหัศจรรย์พันลึกมาก

เรื่่องนี้เป็นเรื่องที่อธิบายยากจริงๆ เหมือนอย่างที่เคยมีคนถามว่าการสำเร็จเป็นพระอรหันต์นั้น จะได้ฤทธิ์อะไรบ้าง หรือ landmark นั้นมันเป็นอย่างไร เพราะอธิบายไปก็ไม่มีประโยชน์ มันเป็น direct experience ที่ "กำลังมีประสบการณ์"

Einsteins กล่าวว่า "เราไม่สามารถจะแก้ปัญหาใดๆได้ ด้วยระดับจิตเดียวกับเมื่อตอนที่สร้างปัญหานั้นๆขึ้นมา" นั่นคือ เราจะต้องยกระดับจิตขึ้นมาอีกระนาบหนึ่ง จึงจะเห็น mess ต่างๆ ที่ขะมุกขมัวกัน แต่การทำให้สิ่งเหล่านี้จับต้องได้โดย "ใครก็ได้" นั้น ก็ฟังดูขัดแย้งกับสิ่งที่ว่านี้

จะอุปมาอุปมัยกี่ครั้งก็จะได้ทำนองเดียวกับการพยายามอธิบายรูปร่างของช้างให้คนตาบอดแต่กำเนิดฟัง ขนาดพาไปคลำ คนคลำงวง คลำหาง คลำขา คลำงา ก็คงจะเกิดภาพลักษณ์ขึ้นคนละช้างกันไป จะมาขอของคนที่อธิบาย ก็ขึ้นอยู่กับคนอธิบายว่ามีประสบการณ์เก่าเช่นไร เคยใช้ภาษาแบบไหนอีก พูดไปแล้วก็ใช่ว่าจะสื่อได้หมด

เช่น ผมบอกว่าแดงแจ๋ ของคุณจตุพรอาจจะอ๋อ แดงเลือดนก ของคนอื่นๆก็อาจจะอ๋อ แดงลิปสติก แดงเลือดคน แดงรุ้ง ฯลฯ (ประเดี่ยวก็อาจจะมีคนเสนอว่าให้บอกเป็น wave lenght ของแสงดีกว่า เป็น​ "สากล" ดี ว่ายังงั้น) ผมบอกว่า "มันสงบนิ่ง" ก็คงจะมีคนอ๋อ เหมือนในป่าช้า (ซึ่งหลายคนก็อาจจะไม่ทราบว่าป่าช้าเป็นยังไง) อ๋อ เหมือนในโบสถ์ อ๋อ เหมือนใต้น้ำ ฯลฯ

ทำไมเราถึงคิดว่า ด้วยภาษาที่เรามีอยู่ มันเพียงพอที่จะสำแดงจิตวิญญาณ หรือระดับของมันออกมาได้? เป็น assumption ที่ based อยู่บนอะไรนี่?

แต่ที่แน่ๆก็คือ การได้ร่วมเดินทาง ได้ฟังการสะท้อนการเดินทาง ได้เปิดใจและประสานใจ ได้เปิดจิตและร่วมจิต ได้เปิดเจตจำนงและร่วมเดินทางนั้น เราได้ไปอยู่ ณ​ ที่ใดที่หนึ่ง ไม่ใช่ทางกายภาพ แต่เป็นทาง "อื่น" ซึ่งบรรยาย หรือ พรรณนาไม่ได้ว่าที่ไหน

ยังไงๆก็เป็นงานที่น่าทำอยู่นะครับ อยากนั่งจับเข่า (แทนจับเจ่า หรือทอดหุ่ย) คุยกับคุณจตุพรเหมือนกัน

น่าจะมัน อิ อิ

อาจารย์ Handy ครับ P

ยินดีรับคำ comments ทุกประเภทนะครับ ที่จริง comments จะออกมาแล้วคนรับรู้ว่าดี/ไม่ดี สุดยอด หรืออย่างไร เป็นสิ่งที่เราควบคุม คาดหวังไม่ได้ ดังนั้น ขอเพียงเป็น authentic คือ ออกมาจากลึกๆ เป็น spontaneous ก็มีค่าของมันอยู่ในตัวเองอยู่แล้ว

เขียนได้ ไม่ยี่หระ อิ อิ

อ.เแป๋วครับ P

จริงครับ ผู้คนรอบข้างเรามีผลต่อเราได้แน่ๆ ตลอดเวลา แต่อย่างที่ Eleanor Roosevelt กล่าวไว้ว่า "No one can make you feel inferior without your consent." สุดท้าย เราก็ยังเป็นคนถือกุญแจจิตและกุญแจใจของตัวเราเอง เป็น the last insurance ที่เรามี

ยินดีที่มาเยี่ยมเยียนครับผม

สมัยที่ผมยังเป็นตัวอสุจิ ก็เหมือนมีอะไรบอกให้ผมวิ่งๆ ไปข้างหน้า จนผมตื่นขึ้นมาอีกทีก็รู้สึกว่าผมเป็นผมอยู่ในแบบที่เป็นเช่นทุกวันนี้ี้ล่ะครับ ถ้าผมล้มเหลว มาตั้งแต่ครั้งนั้นคงไม่มีผมในครั้งนี้ ความสำเร็จ จึงน่าอภิรมย์มากกว่า ความล้มเหลว และในบางจังหวะ ถ้าเราล้มเหลวนั่นหมายถึง การแลกมาด้วยชีวิต (นึกถึงเพลงของยอดรัก สลักใจ กลางดงควันปืน)เพราะความสำเร็จก่อให้เกิดตัว เกิดตน ผึ่งผายขึ้นในสังคม ถ้าล้มเหวแล้วล่ะก็ เราย่อมไม่มีที่ให้ยืน(อย่างสง่า)ในสังคม คนผู้ซึ่งล้มเหลว จึงต้องพยามแสวงหาจุดยืนใหม่เพื่อให้ตนเองได้ เกิดความสำเร็จขึ้นมาอีกครั้ง

สมัยเด็กๆ อาจารย์เคยให้เพาะถั่วงอก พบว่า แม้แต่พืชก็ยัง แข่งขันกันเติบโตเพื่อรับแสง ต้นที่ ชูต้น สร้างใบขึ้นรับแสงได้สูงสุด ก็จะเจริญเติบโต ต้นที่เตี้ย (มีศักยภาพน้อย)ก็จะแคระแกร็น เหล่านี้ ชาร์ล ดาวิน เรียกว่า วิวัฒนาการแห่งการอยู่รอด ครับ มา ลปรร. เพียงเท่านี้ก่อน

ชอบสรณะของปาซือปาค่ะ สงสัยต้องลอกไปแปะฝาบ้านไว้เตือนใจ

สวัสดีครับ คุณกวิน P

ไม่ปฏิเสธว่า "การอยู่รอด" นั้นเป็นพื้นฐานเบื้องต้นทั้งหมดครับ นั่นคือ เราต้อง "มีอยู่" เสียก่อน

แต่คงไม่ใช่ทุกอย่างกระมังที่สำเร็จคืออยู่รอด ล้มเหลวคือตายจาก หรือหมดไป?

ส่วนเรื่องล้มเหลวจะหมดท่า ไม่สามารถสง่างามได้หรือไม่ ก็น่าคิดนะครับ เริ่มจากคนเรา "สง่างาม" จากอะไร? สมัยตอนผมเรียนหนังสือ ก็มีการประกวดวาดรูป ประกวดอ่านทำนองเสนาะ ประกวดอะไรต่อมิอะไรร้อยแปดพันประการ แทบจะไม่เคยชนะอะไรแม้แต่อย่างเดียว แต่ก็รู้สึกสนุกกับการได้มีส่วนร่วมกับกิจกรรมประกวดเหล่านั้น

กีฬาก็เป็นอะไรอีกอย่างหนึ่ง ที่เดี๋ยวนี้คนนำไปผูกพันกับความสำเร็จหรืิอความพ่ายแพ้กันเยอะ ผมคิดว่าในปัจจุบัน คนไป focus เรื่องแพ้ เรื่องชนะ จนอาจจะมองไม่เห็น essence อีกอย่างของการมาเล่นกีฬาตั้งแต่เริ่มแรก คือการมีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรง บางอย่างส่งเสริมการทำงานเป็นทีม การรู้จักกฏกติกามารยาท น่้ำใจนักกีฬา แพ้ชนะอาจจะเป็นความหอมหวานชั่วขณะ ณ ตอนนั้น แต่สิ่งที่เราได้มาตั้งแต่ยังไม่มีผลแพ้ชนะล่ะ? เราสามารถจะชื่นชมและมีความ "สง่างาม" กับสิ่งเหล่านั้นได้หรือไม่? หรือต้องรอจนกว่า เราจะชนะเท่านั้น?

ความผึ่งผายเชิดหน้าชูตาในสังคม นอกเหนือจากได้มาเพราะเป็นผู้ชนะแล้ว จะมีหนทางอื่นอีกไหม?

คนที่สามารถเชิดหน้าชูตา เพราะความซื่อสัตย์สุจริต เพราะความเป็นคนมีสัจจะ เพราะศักดิ์ศรีในตนเอง ก็อาจจะเดินไปไหนมาไหนอย่างองอาจผึ่งผายได้ โดยไม่ต้องมีถ้วยชัยชนะครอบครองแม้แต่ใบเดียวบนตู้โชว์ในบ้านได้หรือไม่?

แน่นอนการมีชัยชนะ การประสบความสำเร็จก็เป็นเรื่องทีน่าดีใจ แต่การพ่ายแพ้ ล้มเหลวในมุมมองหนึ่ง เราไม่ได้อะไรในมุมอื่นๆบ้างเลยหรือ? ถ้าเรามีเนื้อที่ให้สามารถอยู่ต่อไปได้ แม้จะพ่ายแพ้ล้มเหลวในมิติมุมมองด้านนึง แต่ยังคงสามารถเก็บเกี่ยว ไม่ล้มเหลว แต่กลับตักตวงประสบการณ์เหล่านั้น เป็นคุณค่า เป็นบทเรียนของเราได้ในอีกด้านหนึ่ง ประเด็นนี้เองหรือไม่ ที่ทำให้คนเราสามารถกระดอนกลับมาประสบความสำเร็จ ที่ทำให้คนเราล้มแล้วลุกขึ้นมาใหม่ได้ ทุกๆครั้งไป?

สวัสดีครับอาจารย์

อาจารย์อธิบายเหมือนหงายของที่คว่ำให้หงาย เหมือนแหกกม่านมองเห็นตะวันนะครับ ขอบคุณครับ :) 

แพ้ชนะอาจจะเป็นความหอมหวานชั่วขณะ ณ ตอนนั้น แต่สิ่งที่เราได้มาตั้งแต่ยังไม่มีผลแพ้ชนะล่ะ? เราสามารถจะชื่นชมและมีความ "สง่างาม" กับสิ่งเหล่านั้นได้หรือไม่? หรือต้องรอจนกว่า เราจะชนะเท่านั้น?

ปล. เพลง กลางดงควันปืน ของยอดรัก สลักใจผมจำชื่อผิดครับ จริงๆ แล้วชื่อจดหมายจากแนวหน้า http://www.imeem.com/people/AT-efis/music/BX5f-YM2/mp3/

คุณกวินครับ P

ขอบคุณสำหรับมิตรรักแฟนเพลงครับ

  • เข้ามาอีกหลายรอบแล้วครับ แต่อ่านเฉยๆเป็นส่วนมาก
  • ก็ต้องบอกว่า อ.แป๋ว นี่ช่างรู้ใจเสียจริง เดาอะไรไว้ก็ไม่ผิด
  • ต้องขอบคุณ น้องเอก ที่นำเสนออะไรบางอย่าง จนทำให้ผมได้บริโภคผลพวงที่มีค่า คือการตอบของท่านอาจารย์หมอ Phoenix
  • สรุปก็คือขอขอบคุณทุกท่านที่ช่วยทำให้ผมมีความรู้ ความคิดอ่านเพิ่มขึ้นครับ จากสิ่งที่ท่านนำมาแลกเปลี่ยน
  • ผมคิดว่าจะเข้าใจ กระบวนทัศน์ที่คลั่งไคล้บูชาความสำเร็จนี่ คงต้องดูบริบททางสังคมวัฒนธรรมมาประกอบนะครับ
  • หากย้อนยุคไป ดูประวัติศาสตร์ท้องถิ่น หรือประวัติศาสตร์แบบชาวไร่ชาวนา ผมคิดว่า เขาเหล่านั้น นิยาม "ความสำเร็จ" คนละอย่างกับบรรดาเทคโนแครตหรือชนชั้นกลางเป็นอย่างมาก
  • พูดง่ายๆ ผมสังเกตว่า คนที่มีปัญหากับ "นิยามความสำเร็จ" นี่เป็นพวกชนชั้นกลางครับ เพราะเอาใจไปติดอยู่ที่กรอบ อยู่ที่เครื่องมือ ก็มักจะจมอยู่กับความทุกข์ว่า ทำไมถึงทำไม่สำเร็จ สำเร็จแล้วก็ต้องให้สำเร็จยิ่งๆขึ้นไปอีก ไม่สิ้นสุด
  • ต้องเข้าใจว่า การพัฒนาตัวชี้วัดก็ดี การนิยามรูปธรรมของความสำเร็จก็ดี วางอยู่บนตรรกะของวิทยาศาสตร์ ซึ่งเกิดขึ้นมาในยุคการปฏิวัติอุตสาหกรรม การทำให้ทันสมัย (Modernization) ลึกๆก็เป็นเจตจำนงของมนุษย์ผิวขาวที่ต้องการเอาชนะธรรมชาติ เอาชนะชนผิวสีอื่นๆ เครื่องมือที่เราใช้กันอยู่ไม่ว่าจะเป็นตัวชี้วัดต่างๆ การประเมิน การจัดการความรู้ก็ดี มักจะมีรากเหง้ามาจากเจตจำนงเหล่านี้
  • ผมคิดว่า ในโลกปัจจุบัน เราคงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่ต้องอาศัยเครื่องมือเหล่านี้ แต่จะทำอย่างไรจะใช้มันอย่างรู้เท่าทันต่างหาก อันนี้เป็นโจทย์ที่ใหญ่กว่า จะไปติดกับดักว่า ทำไมจึงสำเร็จหรือไม่สำเร็จ นะครับ เพราะการตอบโจทย์นี่มันไม่ได้ทะลุไปถึงรากเหง้าของวิธีวิทยาหรือเครื่องมือนั้นๆ
  • ผมตามเรื่องนี้มาจาก blog ของคุณจตุพร รู้สึกชอบใจที่อาจารย์หยิบประเด็นนี้มาพูด ก็เลยมาแลกเปลี่ยนกันครับ

สวัสดีครับ คุณยอดดอย P

ขอบคุณครับที่กรุณาเข้ามาต่อยอด ประเด็นนี้มีอะไรให้ explore เยอะจริงๆ

อย่างที่ผมเคยฉงนฉงายกับคุณจตุพร ในเรื่อง "ภาษา" ที่เรามี นิยามที่เราใช้ เป็นการยากที่เราจะสามารถอุปมาอุปไมยเช่นไร จึงจะสาสมกับประสบการณ์และกระบวนการรับรู้ที่เกิดขึ้นภายในอย่างแท้จริง

"True success is not in the Learning, but in its application to the benefit of Mankind." พระบรมราโชวาทในสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก บิดาแห่งการแพทย์ไทย

จะเห็นว่า "นิยามความสำเร็จ" อันลึกซึ้งถึงจิตวิญญาณ อาจจะเกิดขึ้นได้กับทุกวรรณะ ทุกชนชั้นกระมัง เพราะอันว่ามนุษย์นั้น มีต้นทุน ศักยภาพ หรือ "พุทธะ" อยู่ในตัวตนทุกผู้ไป

ถ้าหากเราจะใช้ "ทรัพย์ศฤงคารทางจิตวิญญาณ" มาจับ เราก็คงจะแบ่ง categorize คนเป็นชั้นต้น ชั้นกลาง ชั้นสูง ชั้นสุด ได้ (แบบดอกบัวสี่เหล่า) ส่วนจะเกี่ยวหรือไม่เกี่ยวกับทรัพย์ศฤงคารภายนอก คงจะเป็นตัวแปรควอนตัมที่เกิดคำนวณ

หากเราใช้ชีวิตนี้ประดุจดั่งการเก็บออมซึ่งบารมีแห่งจิตวิญญาณ ทุกๆประสบการณ์ ทุกๆความผิดหวังสมหวัง ก็คงเป็นความสวยงามยิ่งนัก

ขอบคุณอีกครั้งสำหรับเพิ่มแรงบันดาลใจต่อยอดไปอีกครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท