จิตตปัญญาเวชศึกษา 75: บรมครู ข้าฯขอน้อมศีรษะคารวะ


บรมครู ข้าฯขอน้อมศีรษะคารวะ

ในการเรียนใดๆก็ตาม เรามี "ครู" เป็นสรณะ สมัยก่อนบิดามารดาพาลูกไปหาครู เอาดอกไม้ธูปเทียนใส่พานไปไหว้ครู​ เพื่อแสดงจิตศิโรราบ มอบกายมอบใจ ตั้งใจเรียนศึกษาวิทยาการต่างๆ ความสัมพันธ์ระหว่างครูกับศิษย์เป็นรากฐานของการส่งต่อคุณค่า วิทยาความรู้ จากรุ่นหนึ่งไปสู่อีกรุ่นหนึ่ง เป็นศักยภาพอันเป็นเอกลักษณ์ของ Homo sapien sapien ที่ความทรงจำ ความรู้ และศักยภาพที่ปัจเจกมี ไม่สิ้นสุด สลายไปเมื่อชีวิตจบสิ้น แต่สามารถถ่ายทอด ทำให้เกิดการ "ต่อยอด" ทำให้เกิดการพัฒนารุ่นลูกหลานที่แข็งแรงกว่า ฉลาดกว่า มีศักยภาพที่สูงกว่าเดิม เป็น species ที่ถูกออกแบบมาให้ผลิตอภิชาตบุตร อภิชาตศิษย์ ธำรงเผ่าพันธุ์

สมัยก่อนนั้น ครูกับศิษย์อยู่ด้วยกัน ใกล้ชิดกัน ไม่เพียงแค่ศิลปวิทยาการเท่านั้นที่มีการถ่ายทอดให้กัน แต่รวมไปถึงการธำรงชีวิต การใช้ชีวิต การอยู่ในสังคม มารยาท จริยศาสตร์ จรรยาบรรณ และเหนืออื่นใดก็คือ ความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลในลักษณะแห่งการรักที่ปราศจากเงื่อนไข ที่แฝงอยู่ในความเมตตาปราณี คำพูด วจนภาษาและอวจนภาษา ความสัมพันธ์นี้ทำให้มนุษย์ถ่ายทอดความรักจากรุ่นหนึ่งไปอีกรุ่นหนึ่ง เป็นความดีที่จะทดแทนได้ต่อเมื่อเราสานต่อเจตนารมณ์ ไปกระทำกับมนุษย์รุ่นต่อๆไป ให้เผ่าพันธุ์อยู่ได้อย่างมีความหมาย และถักทอเป็น fabric อันมั่นคงแข็งแรงเต็มไปด้วยศักยภาพปรับตัวเปลี่ยนแปลงเพื่อเผชิญอุปสรรคใหม่ๆ ให้ความหมายใหม่ที่ดีกว่าเก่า เกิดจิตวิวัฒน์ที่ประภัสสรมากขึ้นเรื่อยๆ

โรงเรียนแพทย์ของมูลนิธิพุทธฉือจี้ ที่ไต้หวัน เน้นเรื่องการกตัญญูรู้คุณ กิจกรรมที่ทำขึ้นจนสามารถแสดงออกซึ่งคุณธรรมเรื่องนี้ คือปรัชญาเรื่อง "บรมครูผู้ไร้เสียง (Silent Mentor)" อันหมายถึง "ร่างอาจารย์ใหญ่" หรือร่างกายคนที่ได้รับบริจาคเพื่อการศึกษาวิชากายวิภาคศาสตร์ (anatomy) ในการเรียนการสอนของโรงเรียนแพทย์นั่นเอง

ท่านธรรมาจารย์เจิ้นเหยียนได้กล่าวสรรเสริญจิตเมตตาของผู้ป่วยที่บริจาคร่างกายและสมาชิกของครอบครัวอย่างที่สุด ว่าเป็นทานอันยิ่งใหญ่ ที่สืบทอดความเมตตา ความรัก และความหมายที่คนรุ่นหนึ่งจะสามารถถ่ายโอนไปให้รุ่นต่อๆไปถึงคุณค่า วิถีการดำรงชีวิต และการตายอย่างสง่างาม อย่างมีศักดิ์ศรี (dead with grace and dignity) เป็นการกระทำอันหลุดพ้นอัตตา ปล่อยวาง และเปี่ยมด้วยความรักบริสุทธิ์ต่อมวลมนุษย์อย่างแท้จริง

นักศึกษาแพทย์ของโรงเรียนแพทย์ฉือจี้ จะต้องปฏิบัติต่อบรมครูผู้ไร้เสียงนี้ด้วยกิริยาอันงดงาม และด้วยจิตกตัญญู ต่อทั้งเจ้าของร่างและต่อลูกหลานครอบครัวของผู้บริจาค ทำการศึกษาชีวิตของท่าน วิถีการคิด กระบวนทัศน์ของท่าน รวมทั้งได้รับทราบถึงเจตนารมณ์ของท่านว่าอะไรคือสิ่งที่ท่านต้องการจะถ่ายทอดให้ นอกเหนือจากวิชากายวิภาคศาสตร์แล้ว สิ่งทีมีค่าที่สุดที่ท่านได้ให้คือ "การเสียสละเพื่อความดีนั้น เป็นที่สุดของการเดินทางมาถึงจุดจบในชาติภพนี้ด้วยความสง่างาม"

วันนี้ผมกับอาจารย์จารุรินทร์ และอาจารย์ศศิกานต์ก็ได้สอน holistic doctor programme ให้แก่ extern กองศัลยกรรม ระหว่างนั้นเราก็ได้พูดถึงความสัมพันธ์ระหว่างครุแพทย์ และลูกศิษย์หรือนักเรียนแพทย์ พูดถึงเรื่องจำนวนนักศึกษาที่เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ จนบางครั้งเกิดความลำบากมากขึ้นในการที่ครูจะมีโอกาสทำความรู้จักกับนักเรียนอย่างใกล้ชิดอย่างแต่ก่อน ในตอนนี้เองที่อาจารย์จารุรินทร์เล่าถึงคำพูดของอาจารย์อานนท์ วิทยานนท์ หัวหน้าภาควิชาจิตเวชศาสตร์ รพ.สงขลานครินทร์ ในเรื่องบรมครูผู้ไร้เสียง (อาจารย์อานนท์ ไปดูงานที่มูลนิธิพุทธฉือจี้ด้วยกันกับผม เมื่อเดือนเมษายนปีนี้) ท่านว่า:

"ฉือจี้แสดงให้เราได้เห็นถึงความหมายของบรมครูผู้ไร้เสียง หรืออาจารย์ใหญ่ของเรา ให้เห็นตัวอย่างของการตาย ว่าคือการจากไปอย่างมีศักดิ์ศรี สง่างาม ทิ้งร่องรอยแห่งความงาม ความดี และสัจจธรรมไปให้คนรุ่นหลัง และความสำคัญที่นักเรียนแพทย์ควรจะได้ใคร่ครวญ ไตร่ตรอง ในความหมายเหล่านี้ เพื่อจะได้เป็นต้นทุนแห่งชีวิตและวิชาชีพนี้ แต่ในขณะเดียวกัน ถ้าหากเราได้มองให้ลึกซึ้ง แพทย์ทุกคนยังมี "บรมครูผู้อุทิศ" อีกนับพัน นับหมื่น นั่นคือ "คนไข้ทุกคน" ที่เราได้ไปเรียน ไปตรวจ ไปมีปฏิสัมพันธ์ ให้การรักษา จนเกิดความเชี่ยวชาญ เชื่อมต่อความรู้เชิงทฤษฎี ให้หล่อหลอมกลายเป็นปัญญาเชิงปฏิบัติ ดังนั้นบรมครูผู้อุทิศกลุ่มนี้ ก็เป็นมงคลอย่างที่สุด ที่นักเรียนแพทย์ แพทย์ (ทุกคคน แม้แต่อาจารย์แพทย์ก็ด้วย) พึงปฏิบัติ และรำลึกในพระคุณยิ่งใหญ่ ที่ท่านได้ทำให้ก่อเกิดพุทธิปัญญา จลนปัญญา เจตคติ ความหมายแห่งชีวิต ความหมายแห่งการมีอยู่ดับไป ความหมายแห่งความผูกพันในครอบครัว ในสังคม รูปแบบต่างๆ จะโดยตั้งใจหรือไม่ของท่านก็ตาม"

สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก

บิดาแห่งการแพทย์ไทย

"การรับรู้" ของคนเราเป็นจุดเริ่มต้นของทุกสิ่งทุกอย่าง การที่นักเรียนแพทย์ "ให้ความหมาย" ว่าเขากำลังทำอะไรอยู่ ตอนสัมภาษณ์คนไข้ ตอนทำแผล ตอนตรวจร่างกาย ตอนไปพูดคุย ว่าจะคิดแค่ว่า "กำลังไปหาข้อมูลทำรายงาน ทำอะไร routine ประจำวัน ไปหาโจทย์เพื่อจะได้ไปอ่านหนังสือ" หรือว่า "ไปหาครู และไปหาความรู้ที่ครูท่านยอมเสียสละร่างกายให้เราได้เรียนได้ศึกษา"

เป็นแค่เสี้ยวเส้นผม ที่แยกแยะ relationship ที่กำลังจะเกิดงอกงามต่อไป ในทิศทางใดทิศทางหนึ่ง

เรากำลังเรียนรู้ "ความเป็นคน" ด้วยบทเรียนของแท้ยิ่งกว่าแท้ authentic life lesson กำลังฉายสด ปราศจากผู้กำกับ ปราศจากสมุดโน้ต แต่จารึกลงไปในประสบการณ์ตรงของทั้งสองฝ่าย ที่เหลือก็ขึ้นอยู่่กับว่าใครจะหยิบมาใคร่ครวญ ไตร่ตรอง กันอย่างไร ทุกสิ่งทุกอย่างเป็น "บารมีสั่งสม" ที่แต่ละคนจะต้อง exercise free will เลือกก่อนว่าจะทำอะไรกับประสบการณ์ตรงหน้าของเรา

สิ่งหนึ่งที่พึงระวังก็คือ คนไข้มักจะแสดงความรักและความตื้นตันในสิ่งที่แพทย์ไปทำให้อย่างมาก และฝ่ายคนไข้และญาติมักจะเป็นฝ่ายที่ "มีความเป็นคน" สูง มี empathy หรือการคิดเผื่อหมอ เผื่อพยาบาล เผื่อโรงพยาบาล จนบางครั้งหมอเกิดความเข้าใจไปว่า หมอเป็นคนให้เท่านั้น ไม่ได้เป็นคนรับ ซึ่งเป็นความคิดที่อันตรายมาก

การที่หมอเป็นผู้เชี่ยวชาญ ได้มาอยู่ในทีที่ "บุญเดินมาให้ที่ทำงาน" โอกาสเช่นนี้ ควรที่จะทำให้เราเกิดสำนึกอย่างกตัญญู สำหรับทุกสิ่งทุกอย่างอันเป็นเหตุปัจจัยในการที่ส่งเรามาอยู่ ณ ที่ที่เราอยู่นี้ ให้เราทำในสิ่งที่เราทำอยู่นี้

และอย่างน้อยที่สุดที่เราจะทำได้ สำหรับ "บรมครูผู้อุทิศ" นั่นคือ "ข้าฯขอน้อมศีรษะคารวะด้วยความกตัญญู"

หมายเลขบันทึก: 203688เขียนเมื่อ 26 สิงหาคม 2008 23:17 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 19:28 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (9)

 ขอบพระคุณมากครับอาจารย์

  • อ่านแล้ว ซาบซึ้ง กินใจ
  • ไม่ว่าวิชาชีพใด คงต้องเดินเส้นทางนี้แหละครับ
  • การลดตัวตน ลดมานะ รู้จัก "ยกท่าน ข่มตน" กตัญญูรู้คุณต่อผู้คนและสรรพสิ่ง คือหนทางนำชีวิตไปสู่สันติสุข
  • การศึกษาที่ไม่ได้เสริมสร้างสิ่งเหล่านี้ในกระบวนการเรียนรู้ นับว่าเป็นอันตราย เราจะได้คนเก่ง ที่เห็นแก่ตัว มุ่งประโยชน์ตนเป็นที่ตั้ง ในทุกสาขาอาชีพ .. โลกจะไม่น่าอยู่ขึ้นเรื่อยๆครับ
  • จนบางครั้งหมอเกิดความเข้าใจไปว่า หมอเป็นคนให้เท่านั้น ไม่ได้เป็นคนรับ ... เรื่องนี้น่าคิดครับ .. ผมเพิ่งคุยกับท่านครูบาสุทธินันท์เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา เกี่ยวกับการรับ ว่าหลายคนอาจไม่เข้าใจว่าทำไม คนดีอันเป็นที่เคารพนับถือของเราจึงไม่ปฏิเสธการรับ ทั้งๆที่ท่านก็ไม่ได้เดือดร้อนถึงขนาดต้องไปขอรับความช่วยเหลือเรื่องนั้นๆ จากลูกหลาน บริวาร ..
  • สรุปก็คือเราเห็นตรงกันว่า การเป็น "แหล่งของการแสดงน้ำใจอันบริสุทธิ์" นั้น เป็นรื่องสำคัญ คล้ายกับการที่เราพูดถึงการเป็น "เนื้อนาบุญ" ที่พระสงฆ์ผู้ปฏิบัติชอบประพฤติ ปฏิบัติอยู่ จนผู้คนได้มีโอกาสแสดงออกซึ่งความดีงามในจิตใจให้ปรากฏนั่นเอง
  • สวัสดีครับ

 

อรุณสวัสดิ์ครับ อาจารย์ Handy P

ขอบพระคุณที่กรุณาแวะมาเยี่ยมเยียน และเติมให้เต็มอีกด้วยนะครับ :)

ในเรื่องที่ว่าด้วย ความงาม ความดี และความจริงนั้น ความ "สมดุล" ระหว่างทั้งสามคุณค่า มีผลต่อพฤติกรรม กระบวนทัศน์ และผลเกี่ยวเนื่องตามมาอย่างแน่นแฟ้น การดูแลตนเอง (ความงาม) มากเกินก็จะเห็นแก่ตัว การเอาแต่ให้ (ความดี) มากไปก็จะตึง เหน็ดเหนื่อย ไม่แข็งแรง ไม่รอบรู้ การไม่สนใจในศาสตร์และศิลป์ก็จะทำให้ขาดทุนรอนทางปัญญา ทำอะไรไม่ได้เต็มศักยภาพ

ดังนั้นสมดุลของการให้ก็คือการรับ ทุกๆครั้งที่เราให้เกิดการรับ (ทั้งตัวเราและตัวเขาด้วย พร้อมๆกัน) ถ้าเรามองไม่เห็นว่าตอนที่เราให้ เราได้รับอะไรบ้าง สถานเบาก็น่าเสียดาย สถานหนักขึ้นมาหน่อยก็คือชีวิตเริ่มจำเจ ซ้ำซาก ไร้ความหมาย

หากทุกๆอาชีพ คนรู้สึกว่า "ได้" ตอนที่ "เราไปทำให้" สังคมก็จะเป็นสังคมเพื่อกันและกัน ความงามไม่ได้อยู่ที่เปลือกแต่เพียงอย่างเดียวอีกต่อไป แต่เป็น "ความงามภายใน"ที่ทุกคนจะได้รับตอนที่ได้ให้นั้นเอง

ขอบพระคุณอีกครั้งครับ

สวัสดีครับ

  • ตามอาจารย์Handy มาครับ
  • มาอ่านครับ
  • ความรู้สึกของผู้ให้และผู้รับคือความสุขครับ
  • ขอบคุณสำหรับบันทึกนี้ครับ
  • อ่านแล้วรู้สึกดีครับผม

สวัสดีครับ ครูโย่ง P

ที่จริงเวลารับ แค่ตอบขอบคุณ เราก็กลายเป็นผู้ให้ไปในเฉียบพลัน นั่นคือให้น้ำใจ เกิดเป็น mutual bonding ถักทอสานต่อๆไป ไม่มีวันสิ้นสุด

ขอบคุณครับ

อ.ตั๊ก(ลูกศิษย์ อ.handy)

ตาม อ.Handy มาค่ะ

การให้ บางครั้งก็ท้อใจ เพราะคนที่เราหยิบยื่นให้ เค้าไม่เคยเห็นว่าเราคือผู้ให้

การรับ มันเป็นความตื่นเต้นทุกโอกาสที่ได้รับจริงๆ เพราะเราอยู่เฉยๆๆ ก็มีคนมาให้

แต่.....ในที่สุดเมื่อเราให้มากๆๆ และเห็นคนที่รับรู้สึกตื่นเต้น เราก็มีความสุขตามไปด้วยจริงๆๆ ค่ะ

ขอบคุณนะค่ะ ที่ทำบันทึกนี้ให้ได้อ่าน โดนใจม๊ากมากค่ะ

สวัสดีครับ อ.ตั๊ก

ในความเห็นส่วนตัวของผม มันอาจจะขึ้นอยู่กับ "เงื่อนไข" ของเราเอง (ผู้ให้) ว่าอย่างไรที่เรากำลังได้รับก็ได้นะครับ

ผมเคยบอกนักเรียนแพทย์ของผมว่า "ถ้าเมื่อไรที่น้องรู้สึกว่าได้ ตอนที่คนไข้กำลังได้รับ งานอาชีพแพทย์จะเป็นอะไรที่น้องจะได้ตลอดเวลา อยากจะได้ตอนไหนก็ขึ้นอยู่กับเราเอง"

ฉะนั้น moment of receiving ก็สำคัญต่อความรู้สึกของเราไม่น้อย เหมือนคหบดีท่านหนึ่ง บริจาคเงิน 20 ล้านบาทสร้างโรงเรียน ปรากฏว่าสร้างได้ไม่กี่เดือน โรงเรียนก็ถูกไฟไหม้ไป ถามว่าเศรษฐีคนนี้ได้ทำบุญกุศลอะไรหรือไม่?

บางคนก็บอกว่าได้ ได้ตอนไม่กี่เดือนนั้น

บางคนก็บอกว่า ไม่ได้อะไรนักหรอก มีนักเรียนไม่กี่คน ยังเรียนก็ไม่จบอะไร

แต่ถ้าการได้ อยู่ที่ "การให้" หรือ "จิตกุศลที่อยากให้นักเรียนมีที่เรียน และเป็นคนดี" Intention ก็จะเกิดตั้งแต่ต้น และสิ้นสุดไปตอนที่สร้างโรงเรียน

"ระดับจิต" ของคหบดีนี้ก็ได้ถูกยกขึ้น ตอนการสั่งสมจิตเมตตา และจิตอันเป็นกุศลนี้ไปเรียบร้อยแล้ว

หรือไม่?

ฉะนั้น ตอนที่เราให้อะไรไป ถ้าเราไม่ได้ใส่ใจ สนใจ ใน "ระดับจิต" ของเราไปด้วย ก็อาจจะเป็นอะไรที่น่าเสียดายไม่น้อยเลยทีเดียว เหมือนทุกๆอย่างในชีวิตที่ "สั่งสม" เป็นตัวเรา ทุกครั้งที่เราไหว้พ่อแม่ ครูบาอาจารย์ ทุกครั้งที่เรากำลังพูดจาไพเราะอ่อนหวานกับลูก กับน้อง กับเพื่อน

เรากำลัง "ได้" อะไรบางอย่างตลอดเวลา

ขอบคุณค่ะ

ชอบ หลายคำ หลายข้อความ หลายตอน ชัดเจน

สอนใจ ตัวเอง และเอาไปสอนต่อ ได้เลย

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท