จิตตปัญญาเวชศึกษา 88: หยั่งรากผลิใบ หมอน้อย ม.วลัยลักษณ์ (1)


หยั่งราก ผลิใบ หมอน้อย ม.วลัยลักษณ์

เมื่อวันอังคารที่ 19-22 พฤษภาคมที่ผ่านมา ได้มีโอกาสไปทำ workshop จิตตปัญญาเวชศึกษาให้กับนักศึกษาแพทย์ชั้นปีที่สอง ของมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ บังเกิดความประทับใจ น่าจะนำมาบันทึกไว้ เป็นทั้งความประทับใจส่วนตัว และเป็นทั้งบทเรียน ความคิด เสียงสะท้อน

โครงการนี้เริ่มต้นจากตั้งแต่เมื่อปีที่แล้ว อ.มยุรี วศินานุกร อดีตอาจารย์แม่ของคณะแพทยศาสตร์ ม.สงขลานครินทร์ ที่หลังเกษียณก็ได้ไปรับงานเป็นรองคณบดีฝ่ายแพทยศาสตรศึกษาที่ ม.วลัยลักษณ์ แต่ภายหลังเหตุการณ์ผันผวนอย่่างไรไม่ทราบอาจารย์ได้กลายมาทำหน้าที่เป็นคณบดีเต็มตัว ปลุกปั้น (หรือปล้ำก็ไม่ทราบ) กับน้องๆนักศึกษาแพทย์ ใหม่เอี่ยมแกะกล่อง อาจารย์มยุรี (ผมเรียกท่านว่า "แม่มะ") โทรมาหาเพื่อจะนัดให้ไปทำ workshop จิตตปัญญาเวชศึกษาให้เด็กๆนักเรียนแพทย์ของแม่มะหน่อย ตอนแรกนัดหมายจะมีพี่วิธาน ฐานะวุฑฒ์ หมอวรวุฒิ โฆวัชรกุล แอ๊ด (อ.พัฒนา แสงเรียง) และผม ไปเป็นกระบวนกร แต่เนื่องจากธัมมะจัดสรร สุดท้ายพี่วิธานกลับมาไม่ได้ ก็เลยเหลือแต่พวกผมสามคน เดินทางจากแพร่ เชียงใหม่ และหาดใหญ่ ไปรวมตัวกันที่ท่าศาลา นครศรีธรรมราช

วรวุฒิกับแอ๊ดเดินทางมาลงดอนเมืองแล้วเลยมาหาผมก่อนที่หาดใหญ่ เพราะเที่ยวบินไปนครฯ เวลามันชอบกลๆ ทั้งสองคนมาถึงตั้งแต่ช่วงกลางวันวันจันทร์ตอนบ่ายๆ ผมก็เลยเชิญให้ไปพักผ่อนที่โรงแรมก่อนเพราะต้องสอนหนังสือ ตอนแรกอุตส่าห์ติดต่อรถลีมูซีนจาก รร.ให้ไปรับ ปรากฏว่าไม่มีใครโผล่ไปรับ honorable guests เลยต้องหาทางมา รร.เอง แถม รร.มันเปลี่ยนชื่อไปแล้ว ผมก็ไม่ทราบ พอแขกทั้งสองจะซื้อตั๋วรถเข้าเมือง เจ้าหน้าที่บอกว่าไม่มีหรอกค่ะโรงแรมนี้ แขกก็เริ่มออกอาการ สุดท้ายเดินออกมาข้างนอก ถามรถแทกซี่แถวนั้นถึงได้รู้จัก แล้วพามาส่งจนได้

ตอนเย็น พอเราเจอหน้ากัน แอ๊ดก็แบกลังลิ้นจี่ที่หอบหิ้วมาจากแพร่ (หรือเชียงใหม่หว่า) บอกว่านี้ลิ้นจี่สวน เด็ดจากต้นเชียวนะนี่ (ถ้าไม่มาจากต้น มันจะมาจากไหนล่ะน้องเอ๋ย) กว่า 7 Kg นับว่ามีเจตจำนงแรงกล้ามาก แล้วเราก็ไปหาอาหารกินกัน เพ็นนี (ภรรยาผม) จะพาไปกินร้านที่ชีกิมหยง นัยว่าอร่อยมาก (ผมอยู่มากว่า 20 ปีแล้วก็ไม่รู้จัก) ขับวนอยู่พักนึงก็พบว่าวันนี้ร้่านปิด ก็อดไป ตอนนี้ความพยายามในการเลือกเริ่มลดน้อยลงอย่างเห็นได้ชัด สุดท้ายก็ไปลงเอยที่อาหารทะเล (พวกคนเหนือมา ก็ต้องเอาใจกันหน่อย) ที่ร้านสมิหรา ซีสปอร์ต นั่งกินกุ้งเผา ปูม้าผัดพริกไทยดำ ปลาเผา กระพงผัดฉ่า ไข่เจียวหอยนางรม (พอสั่ง คนขายถามว่าเอากี่ตัว พวกเราก็งงไปวูบ ที่แท้หอยตัวใหญ่มาก เขาเลยต้องถามว่าจะให้ใส่กี่ตัว) วรวุฒิเอา iPhone ที่อุดมไปด้วยเกมมาหลอกเด็ก ทำให้ลูกสาวสองคนของผมจมหายไปกับเกม เหมือนกับไม่ได้มาด้วย กินจนต้องนั่งเอนๆ (เพราะค้ำพุง.... นี่กลายเป็นปรากฏการณ์ซ้ำแล้วซ้ำอีกในสองสามวันข้างหน้า เราก็หารู้ตัวไม่) ก็เลยเลิกรา พาครอบครัวผมไปส่งบ้านที่ใน ม.อ.ก่อน ส่วนผมกลับมาส่งแขกที่ รร.เซ็นธาราอีกรอบ แวะนั่งรับเบียร์สดที่ตรง lobby จนห้าทุ่ม ค่อยได้ฤกษ์ลา เพราะนึกขึ้นมาได้ว่างวันพรุ่งนี้รถจะมารับตั้งแต่ตีห้าสี่สิบห้า

NB: ปรากฏว่าผมลืมเอาลังลิ้นจี่ลงจากรถ เช้าวันรุ่งขึ้นผมก็ขับรถมาจอดทิ้งไว้ที่ รพ. 4 วันรวด ขากลับมาขึ้นไปเอารถ เปิดประตูออกมาได้กลิ่นหวานๆหอมๆเต็มรถเลยนึกออกมาได้ ที่แท้ตูบ่มลิ้นจี่ไว้นี่เอง ฮึ ฮึ ข่าวดีคือยังไม่เน่าหมดครับ ผมนั่งแกะทีละลูกๆ คัดเอาลูกดีๆเก็บใส่ตู้เย็น ทิ้งไปสัก 30% เท่านั้นเอง เฮ้อ....

วันรุ่งขึ้นผมมารอที่หน้า รพ. ตั้งแต่ตีห้าสี่สิบห้า ประเดี๋ยวนึงก็มีคนขับรถวลัยลักษณ์โทรมาขอเบอร์หมอวรวุฒิ (แสดงว่าหาไม่เจอ) ผมให้เบอร์ไป ก็พบว่าท่านทั้งสองรออยู่ที่ห้องพักยังไม่ลงมา จึงเรียนเชิญกระบวนกรทั้งสองท่านลงมาพบคนขับรถได้แล้ว เราเริ่มออกเดินทางจาก ม.อ. ประมาณ 6 โมง 15 นาที นี่เป็นครั้งแรกที่ผมได้เดินทางมา ม.วลัยลักษณ์เหมือนกัน ใช้เวลาประมาณ 2 ชั่วโมงครึ่งกว่าๆเกือบสามชั่วโมงในที่สุดเราก็มาถึงซุ้มประตูหน้าของมหาวิทยาลัย ปรากฏว่าเราต้องเดินทางต่อไปอีกประมาณเกือบสิบกิโลกว่าจะถึงอาคารศูนย์กีฬา ที่เป็นสถานที่จัดงาน

ม.วลัยลักษณ์ เป็นมหาวิทยาลัยใหม่ คณะแพทยศาสตร์เป็นคณะใหม่สุดในบรรดา 11 คณะ นักศึกษาที่เรามาทำกิจกรรมเป็นนักศึกษาชั้นปีที่สอง ซึ่งเป็นนักศึกษาแพทย์รุ่นแรก รุ่นบุกเบิกของมหาวิทยาลัยเลยทีเดียว มีพื้นที่ถึง 9,000 กว่าไร่ ตัวสถานที่เรียน อาคารที่พัก และศูนย์ facilities อยู่เป็นกลุ่มๆ ห่างกันเหลือเฟือ (หมายความว่าใครจะเดิน ก็คงจะเดินไปไหนมาไหนได้วันละที่เท่านั้น) เดิมที มหาวิทยาลัยจะแจกรถจักรยาน (แบบว่าใช้เสร็จก็จอดทิ้งไว้ ใครมาหยิบต่อก็ได้) ปรากฏว่ามันไกลจริงๆ คนก็เริ่มใช้รถมอเตอร์ไซด์มากขึ้น หรือไม่ก็รถยนต์ไปเลย

อาคารศูนย์กีฬาเป็น complex อยู่ติดวงแหวนรอบนอกของถนนวลัยลักษณ์ มี facilities เยอะ มีทั้งห้องเกม ห้องแอโรบิก ห้อง spa ห้องซาวนา ห้องน้ำก็มีห้องอาบน้ำ ฝักบัว (เสียอย่างเดียว ห้องสุขาชายนั้น จัดประตูห้องตรงกับโถพอดิบพอดี ชนิดไม่ต้องชะโงก ก็มองเห็นชัดเจนขณะกำลังปฏิบัติการอยู่!!)

แต่ที่สมบูรณ์แบบคือห้องที่ใช้ทำกิจกรรม เป็นห้องแอโรบิก พื้นปูไม้เรียบกริบ ผนังด้านขวามือของประตูเป็นกระจกทั้งผนัง ผนังด้านซ้ายเป็นหน้าต่างกระจก มองเห็นทิวทัศน์เป็นภูเขาไกลๆ และต้นไม้สุดสายตา ผนังห้องด้านในตรงกันข้ามประตูเป็นเวทียก มีเครื่องเสียงและจอฉายภาพขนาดใหญ่ ห้องนี้ถึงแม้จะอยู่แค่ชั้นสอง แต่ความที่ไม่มีตึกรามอะไรในวิทยาเขต ทำให้สามารถมองเห็นทิวทัศน์โดยรอบไม่แพ้มองจากยอดตึกสูงๆเหมือนกัน

Check-in, The Source

มีนักศึกษาทั้งหมดประมาณ 48 คน แม่มะบอกว่าพอดีตอนนี้เป็นช่วงรับน้องมหาวิทยาลัย นักศึกษาที่เรามาทำกิจกรรมเป็นนักศึกษาชั้นปีที่สอง คือเป็นรุ่นพี่ และมีอยู่รุ่นเดียวนี่แหละ (ไม่มีปีสาม เพราะพึ่งเปิดมาได้แค่นี้) ภาคกลางคืนอาจจะต้องมีบางท่านไปปฏิบัติหน้าที่ take care น้องปีหนึ่ง ไม่งั้นน้องจะน้อยเนื้อต่ำใจ ไม่มีพี่มาดูแลเหมือนคณะอื่นๆ

เด็กๆค่อนข้างใสมากทีเดียว บางคนเหมือนเด็กมัธยมอยู่เลย ที่ ม.วลัยลักษณ์นี่ห่างไกลต่ออบายมุขและอโคจรสถาน น่าจะเป็นจุดแข็งที่ผู้ปกครองสบายใจ และเด็กมีสมาธิดี (ถ้ามหาวิทยาลัยจัดให้มี facility ดูแลพลังงานของเด็กวัยนี้ที่จะมีเหลือเฟือได้ดี) เราไม่ได้ทำสมาธิอะไรมากมายตอนเข้าเริ่ม แนะนำตัวก็เป็นแบบเรียงแถวตามธรรมเนียม (เหมือนถูกสะกดจิต พอเพื่อนพูดจบส่งไมค์มาให้เรา เราก็จะพูดต่อ และส่งต่อๆไปโดยอัตโนมัติ) แต่ก็ดี เพราะกลุ่มค่อนข้างใหญ่ มี dialogue หรือ AAR วงใหญ่ทีนึง ก็ใช้เวลากว่าครึ่งชั่วโมงทุกครั้ง

น้องๆส่วนใหญ่อยากจะเข้ามาฟัง มาเรียน "เทคนิก" (ซึ่งปรากฏว่าเป็นสิ่งที่เราสอนน้อยมาก ฮึ ฮึ) ในการเรียน ในการมีสมาธิ ในการอยู่ร่วมกับผู้อื่น บางคนก็งงๆกับ "จิตตปัญญาศึกษา" ว่าคืออะไร (เหมือนอย่างที่ผมก็เคยงงๆมาแล้วเมื่อประมาณ 2 ปีก่อน) บางคน (สารภาพ) ว่าสงสัยถูกจับมานั่งสมาธิ สวดมนต์ภาวนาแหงๆเลย

EXPANDING THE NOW

In front of the Blank Canvas

เมื่อมองใกล้ชิดขึ้นในนักศึกษาแพทย์กลุ่มนี้ ก็จะเห็นรายละเอียดอะไรบางอย่างที่น่าทึ่ง น่าสนใจมาก นี่คือรุ่นที่หนึ่ง ของคณะแพทย์ มวล. ผมเองรุ่น 93 ศิริราช ซึ่งตอนนี้ก็ปาเข้าไปหลายร้อย เชียงใหม่ก็กว่าครึ่งศตวรรษ เรียกว่ายืนเขย่งอยู่บน Giant's shoulder อย่างแท้จริง ต่างจากน้องๆกลุ่มนี้ ที่ในอนาคต กำลังจะอยู่ใน "ตำนาน" ของคณะแพทย์ มวล.

ศิริราช จุฬาฯ รามา เชียงใหม่ ขอนแก่น สงขลานครินทร์ มีตำนาน มีถนนคนเดินผ่าน มีร่องรอยของ pioneer ผู้บุกเบิก แต่นักศึกษากลุ่มนี้กำลังเป็นผู้จารึก กำลังเป็นผู้ถากถางเส้นทางใหม่ สร้างร่องรอยใหม่ให้แก่ผู้เดินตาม ในสถาบันเก่าแก่มีสิ่งที่ลองทำแล้วทำไม่ได้ สิ่งที่รู้ว่าถูก ทำแล้วสัมฤทธิผล แต่ใน มวล.นี้ มีแต่ "สิ่งที่อาจจะทำได้" และข้อสำคัญคือ "สิ่งที่อยากจะทำ สิ่งที่เราจะทิ้งร่องรอยของเรา" ไว้บนโลกใบนี้ อยู่กับการคงอยู่และใช้ชีวิตของเราในอีกไม่กี่ปีข้างหน้านี้เอง

หมายเลขบันทึก: 264004เขียนเมื่อ 28 พฤษภาคม 2009 15:47 น. ()แก้ไขเมื่อ 4 มิถุนายน 2012 00:23 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)

อาจารย์เป็นวิทยากรที่ดีมากๆค่ะ ยินดีที่ได้เห็นพบอาจารย์ในงาน Gotoknow ค่ะ ประทับใจมาก

การเป็นรุ่นต้นๆ นี่ให้ความรู้สึกเก๋าดีนะคะ ตัวเองเรียนรุ่น 7 ของคณะที่แยกมาเปิดเฉพาะทาง Visual Communications Design ปรากฎว่าทุกวันนี้ปาไปรุ่น 25 แล้ว ถ้าได้รับเชิญกลับไปพูดให้น้องฟังทีไร เด็กจะแบบ โห...หู...รุ่นดึกดำบรรพ์มาก (รุ่น 1 หรือ 2 ไม่ค่อยยอมไปเพราะเด็กจะเซ็งแซ่หนักกว่าเราอีก เหมือนเห็นซากมัมมี่อะไรทำนองนั้น) เวลากลับไปบรรยายก็ให้ความรู้สึกเหมือนเป็นคนแปลกหน้าที่กลับมาเยี่ยมบ้านเก่าที่เคยอาศัยมาหลายปี พอเริ่มจะรำลึกความหลังก็รีบปัดความคิดออกไป เพราะเขาว่าคนที่ชอบรำลึกความหลังคือคนที่แก่แล้ว 555 ^ ^

Little Jazz P ครับ

คนที่ชอบรำลึกความหลังคือคนที่ได้ทำอะไรดีๆในอดีต มีความหลังที่มีค่าควรแก่การรำลึกนั่นเอง ไม่เกี่ยวกับอายุหรอกครับ

ชอบการเป็นวิทยากรของอาจารย์และการทำกิจกรรมมากคะ ประทับใจและได้มาอ่านบันทึกเพิ่มเติมทำให้ เข้าใจมากยิ่งขึ้นคะ ขอบคุณมากคะ

คุณประกาย..P เรียกผิดครับ

ไม่ใช่วิทยากร เพราะ "วิทยา" มาจากกัลยาณมิตรที่นั่งคุยกันนั่นเอง

เป็นแค่กระบวนกร พนักงานเคาะระฆังก่อกวนความสุนทรีย์ซะละมากกว่า (เคาะทีไร โดนค้อนทุกทีเป็นสถานเบา หรือไม่ก็ถูก ignore อย่างสิ้นเชิง...)

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท