จิตตปัญญาเวชศึกษา 101: Humanized Medical Curriculum สังคมปรนัย (1)


สังคมปรนัย

วันที่ 20-22 กรกฏาคมที่ผ่านมา มีงานประชุมแพทยศาสตรศึกษาแห่งชาติ ครั้งที่ 8 ซึ่งมีความสำคัญคือเป็นงานประชุมใหญ่ทุก 7-8 ปีในการที่เรามาร่วมชุมนุม ปรึกษา แลกเปลี่ยนกันว่า หลักสูตรแพทยศาสตรศึกษาทั้งระดับก่อนและหลังปริญญาควรจะมีโฉมหน้าเช่นไรในอนาคต 7-8 ปีข้างหน้านี้ ผู้เข้าร่วมก็มาจากหลากหลาย ล้วนแต่เป็นผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง ทั้งผู้ผลิต (รร.แพทย์) ผู้ใช้บริการระดับต่างๆ (กระทรวงสาธารณสุข ภาคประชาชน)

เนื่องจากเป็นการประชุมร่วมปรึกษาหารือ ฉะนั้นเรามีกิจกรรมแลกเปลี่ยนค่อนข้างเยอะ แต่ในงานนี้ก็มี 2 sessions ที่เป็นการบรรยาย โดย นพ.โกมาตร จึงเสถียรทรัพย์ และ นพ.ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ ในหัวข้อ Humanized Healthcare หรือ Compassionate Medicine ที่แม้จะเป็นการบรรยาย แต่ก็สร้างจินตนาการ คำถาม คำตอบ และข้อสำคัญคือ "แรงบันดาลใจ" ที่สามารถนำไปคิดต่อยอด งอกงาม เกิดอะไรต่อมิอะไรได้อีกมากมาย ผมจึงขอใช้พื้นที่นี้ในการบันทีกความทรงจำและความประทับใจลงไป ถ้าจะมีความดีแต่ประการใดขอยกให้วิทยากรทั้งสองท่าน ส่วนถ้าจะมีความขัดข้องใจหรือความผิดพลาด กรุณาถือเป็นการตีความส่วนตัวของผมเองแต่เพียงผู้เดียว

สำนักวิจัยสังคมและสุขภาพ (สวสส Society and Health Institute (SHI) ที่พี่โกมาตรเป็นผู้อำนวยการได้ตีพิมพ์หนังสือชื่อ "สังคมปรนัย" ออกมาแล้ว นัยว่า (จากคำนำใน website ของ shi) รวบรวมบทความเด็ดๆสะท้อนสังคมของพี่โกมาตรไว้ในหนังสือเล่มนี้ แต่ผมเองก็ยังไม่ได้หามาอ่านเลย สำหรับบทความคราวนี้ก็จะเป็นการกลั่นออกมาจากการที่ติดตามฟังการบรรยาย เรื่องนี้มาประมาณทั้งหมด 5 ครั้งได้แล้ว แต่ละครั้งก็ได้เกิดความรู้สึก เนื้อหาที่แตกต่างกันมากทีเดียว อาจจะเป็นเพราะทั้งการบรรยายที่เปลี่ยนไป มีเรื่องราวใหม่ๆเสริม และตัวคนรับเองที่เปลี่ยนไปตามเวลา สถานที่ บริบท ทั้งภายในและภายนอกประกอบกัน

ตอนเราเรียนหนังสือ พวกเราคงจะพอคุ้นกับคำ ปรนัย และอัตนัย มาบ้าง บางท่านอาจจะถึงกับขมวดคิ้วนิ่วหน้าเพราะเกิดจี๊ด เกิดความชอบ ไม่ชอบ ตามมาติดๆ ก็แล้วแต่รสนิยม ในคราวนี้พี่โกมาตรโยนคำๆนี้ใน scale ที่ใหญ่ขึ้นและกว้างขึ้น คือไม่ได้เป็นคำจำเพาะแต่ศึกษาศาสตร์แต่เพียงอย่างเดียวแล้ว แต่นำเอาลักษณะของทั้งสองประการมาเป็นแบบจำลองของ "สังคม" เพื่อใช้เป็นเครื่องมือสะท้อนปรากฏการณ์ต่างๆในปัจจุบันได้อย่างน่าคิดมาก

ปรนัย เรามักจะนึกถึงข้อสอบแบบ multiple choices ที่มี ก ข ค ง ให้คนตอบเลือกเอา จากเท่าที่มีว่าข้อไหนถูก ตรงกันข้ามกับ อัตนัย ที่ผู้ตอบที่จะต้องร่ายออกมาโดยตนเองทั้งหมดว่าจะตอบว่าอะไร ซึ่งตามพจนานุกรมก็จะคล้ายๆกับที่ว่านี้ ก็คือ ปรนัยจะเป็น "วัตถุ" เป็นอะไรที่กำหนดออกมา จากเกณฑ์ จากมาตรฐาน จาก references อะไรสักอย่างหนึ่ง ส่วน "อัตต" นั้นจะมีส่วนของอารมณ์ ความรู้สึกของผู้กระทำเข้าไปมีส่วนร่วมในการตอบ (และการให้คะแนน!!) ข้อสอบปรนัยมีข้อดีหลายประการ คือ ตรวจง่าย ไม่งง (เพราะมันไม่มีการตอบแบบ "ครึ่ง ก ครึ่ง ข" หรือสีเทาๆ ไม่ขาว ไม่ดำ) เอาลิงมาตรวจก็ได้ (ถ้าฝึกดีหน่อย) แต่เดี๋ยวนี้เขานิยมใช้คอมพิวเตอร์ (สงสัยเพราะไม่เปลืองกล้วย) สมัยก่อนอาจจะใช้กระดาษเฉลยมาเอาธูปจิ้มให้เป็นรูๆแล้วเอาไปทาบกับที่นักเรียนตอบมา เดี๋ยวนี้ธูปอาจจะหายากขึ้น ใช้บุหรี่แทนก็ดูไม่ค่อยจะ health promotion เท่าไร รูก็ใหญ่ไป ก็เลยพึ่ง computer ตรวจ เด็กรุ่นนี้เลยหัดใช้ดินสอที่เบอร์ถูกต้องระบาย เสร็จแล้วก็รอใจตุ๋มๆต่อมๆว่าเครื่องมันจะว่ายังไง หมดสิทธิ์ลุ้นขอความเวทนาจากอาจารย์ทันทีที่กาลงไปเรียบร้อย เรียกว่าผีถึงป่าช้าแล้ว และจากการพึ่งเทคโนโลยีนี้ได้นี่เอง ทำให้การตรวจข้อสอบแบบ mass เป็นร้อยเป็นพันฉบับ ทำได้โดยที่คนตรวจไม่สูญเสียสติสัมปชัญญะไปซะก่อน เหมาะอย่างยิ่งสำหรับอุตสาหกรรมการศึกษา (ลองนึกดู ข้อสอบ entrance ของจีน ที่อาจจะมีคนสอบเป็นล้าน หรือสิบล้านคน บรื๋ออออ...) ผลการตรวจก็ไม่ขึ้นกับสภาวะอารมณ์ของคนตรวจ เพราะไม่เกี่ยว จะตรวจเช้า ตรวจเย็น ก็ได้ ขึ้นกับระบบไฟฟ้า ระบบ scan ระบบ operating system ของคอมพิวเตอร์อย่างเดียว ซึ่งอาจจะดีกว่าระบบของคนเยอะ (ห้ามครูตรวจข้อสอบอัตนัยของเด็ก หลังจากทะเลาะกับภรรยา/สามี หรือช่วงปลายเดือน เปิดเทอม หวยออก ฯลฯ)

แต่จากลักษณะที่ว่านี้ เมื่อนำไปใช้ในบางบริบท ก็กลายเป็นข้อจำกัดได้

  • คำตอบที่ถูกมีอยู่แล้วล่วงหน้า (ห้ามออกข้อสอบ โดยไม่รู้ว่าจะตอบข้อไหนเด็ดขาด!!)
  • ตอบถูกหรือผิดมีผู้รู้ (ที่เป็นคนอื่น ไม่ใช่คนสอบ) เป็นผู้ตัดสิน
  • คำตอบมาจาก หรืออยู่ภายนอกตัวผู้เรียน (ความคิด ความรู้สึกคนตอบ ไม่มีนัยสำคัญ)

เดี๋ยวนี้ เวลาราวน์ (ไปดูคนไข้ตามหอผู้ป่วย) กับนักเรียนแพทย์ ถามอะไร ก็มักจะถูกย้อนกลับมาว่า "มี choices อะไรให้เลือกบางคะ อาจารย์" หรือ "ไม่ให้ตัวเลือกมาเลยเหรอครับ อาจารย์" เป็นนัยๆว่า "แน่ใจเหรอคะ 'จารย์ ว่าจะให้พวกหนูเดาไปเรื่อยๆจนกว่าจะถูก" เรียกว่าวัดใจกันกันครับ

ซึ่งบางหัวข้อ บางประเด็น การสอบแบบปรนัยนี้เหมาะมาก เช่น ไตมีกี่ข้าง หัวใจมีกี่ห้อง คำตอบชัดเจน ไม่ต้องพิศดาร เขียนปุ๊บ ถ้าอ่านออกก็ตอบได้แน่นอน ข้อสอบปรนัยที่ "ไม่ค่อยดี" คือกำกวม มันลดความเป็นปรนัยลงไป ประเภทมีภาษาแปลกๆลงมาที่บางคนในโลกนี้ใช้เท่านั้นจึงตอบได้

หรือที่หนักกว่านั้นคือ คนตอบอาจจะใช้วิธีเดา แล้วเผอิญถูก (โอกาสก็ 20% ถ้าเป็นแบบ 5 ตัวเลือก หรือ 25% ถ้าเป็นแบบ 4 ตัวเลือก) คนออกข้อสอบที่เด็กตอบได้น้อยกว่า 20% หรือ 25% แสดงว่าหลอกได้เก่งมาก คนคิดตามจะหลงผิดทันที อันนี้ก็อาจจะไม่ค่อยงามเท่าไหร่สำหรับการเป็นปรนัย โดยเฉพาะถ้าหลงผิดเพราะกับดักต่างๆที่ตั้งใจวางเอาไว้ เนื่องจากมันอาจจะกลายเป็นว่าไม่ได้สอบความรู้ที่มี แต่กลายเป็นสอบภาษา สอบ grammar ไปแทน เนื่องจาก keyword ตกไปอยู่ที่ แต่ หรือ กับ อาจจะ ต้อง ทั้งหมด ส่วนใหญ่ ส่วนน้อย อาจจะไม่ คงจะเกือบเป็น หาไม่ก็ กระนั้นก็ตามที อะไรที่ไม่จริง อะไรจริง อะไรเกือบจะเป็นจริงแต่ยังไม่จริง ฯลฯ สุดที่คนออกข้อสอบ (sadist) จะออกมากลั่นแกล้งเด็ก

ทีนี้สังคมปรนัยล่ะ จะเป็นเช่นไร?

มันเป็นสังคมที่ออกจะ "บีบ" คนตอบเอามากๆทีเดียว เพราะ "ทางเลือก" มันมีเท่าที่ให้มานั่นแหละ จะเอาหรือไม่เอา ไม่เอาก็เดินไปข้างหน้าโน่น คนเรามีสิทธิ์แค่เลือกของที่มี ไม่ต้องคิดจินตนาการอะไรเพ้อเจ้อนอกเหนือจากที่ให้มาเลย คนไข้มาหาหมอ บอกว่า "มีอาการปวดหัวค่ะ" หมอก็ให้ choices ทันที "ปวดจี๊ดๆ ปวดตื้อๆ หรือปวดตุ้บๆ ล่ะป้า?" นั่นแน่ ให้ไปแล้วสามตัวเลือกเชียวนะเนี่ย เพราะเราเรียนมาว่า จี๊ดๆอาจจะอักเสบ ตื้อๆอาจจะ migrane ตุ้บๆน่าจะเป็นพวกสัมพันธ์กับหลอดเลือด เรียกว่า ตอบแนวไหนมาล่ะก็ เสร็จตูแน่นอน

คนไข้พูดต่อไปว่า "เดือนที่แล้ว ลูกสาวอีชั้นไปเรียนที่ไต้หวัน...."

หมอก็แทรกมาทันที "เดี๋ยวๆก่อน ป้า หมอถามว่า จี๊ดๆ ตื้อๆ หรือตุ้บๆ ไง ป้ายังไม่ตอบผมเลย" (ผมรอเสียบ diagnosis อยู่นะเนี่ย) "มันปวดเรื่อยๆ หวิวๆ จ้ะ" ป้ารีบให้ความร่วมมือ

หมองง "แล้วไอ้เรื่อยๆ หวิวๆ นี่ มันจี๊ดๆ ตื้อๆ หรือตุ้บๆล่ะป้า" หมอพยายามเกลี้ยกล่อมให้คุณป้าอยู่ในลู่ในทางให้ได้ "มันปวดมากเลย ลูกสาวป้ามันก็ไม่โทรกลับมาซะที เนี่ย ตั้งนานแล้ว..." หมอชักหมดกำลังใจ

"ป้าๆ ใจเย็นๆ ตอบที่หมอถามก่อน มันจี๊ดๆแบบเข็มแทงน่ะนะ หรือว่าตื้อๆแบบมีอะไรมาบีบ หรือว่าตุ้บๆแบบชีพจรเต้นน่ะ แบบไหน" หมอเปลี่ยนกลยุทธ์โดยการขยายความ (choice) เพิ่มเติมให้ชัดเจน คิดว่าป้าน่าจะตอบได้แล้วนะ

"มันปวดจนป้าร้องไห้ นอนไม่หลับเลยน่ะหมอ ป้าเหนื่อยมากเลยนะเนี่ย..." ป้าถอนใจ

หมอถอนใจ......

.........

การที่เราติดความเป็นปรนัยเยอะ ส่งผลไปถึงพฤติกรรมของเราไปได้โดยไม่รู้ตัว อะไรที่แปลกใหม่ ไม่อยู่ในตัวเลือกเดิมๆ เรียกว่าเหมือนมองไม่เห็น เพราะไม่เคยนึกถึง ซึ่งพลังแห่งจินตนาการสร้างสรรค์นี่ เป็นอะไรที่ต้องฝึกฝน หล่อหลอมและหล่อเลี้ยงมานานเหมือนกับทักษะเรื่องอื่นๆเหมือนกัน ลองถามให้เด็ก (หรือผู้ใหญ่) ลองวาดรูปวิวทิวทัศน์ดูสิครับ ผลเป็นยังไง

ส่วนใหญ่ก็จะออกมาคล้ายๆกัน ภูเขาสองลูก มีดวงอาทิตย์กลมบ๊อกตรงกลาง ก้อนเมฆ นกรูปหยักๆสองสามตัว (ถ้ามีเวลาอาจจะมีเป็นฝูง) อืม.. เวลายังไม่หมดเหรอ เอ้า เติมต้นมะพร้าวก็ได้ เติมบึงน้ำเข้าไปหน่อย หมดเวลารึยัง ยังอีกเหรอ เอ้า เติมกระท่อมหนึ่งหลัง หลังคาจั่ว

เผลอๆจะได้แบบนี้มา 90 กว่าเปอร์เซนต์!!!

อะไรมันจะขัดสนจินตนาการกันขนาดนั้น!!!

ผมไปทำอย่างเดียวกันที่ออสเตรเลีย ก็ได้ผลอย่างนี้เหมือนกันเปี๊ยบ นี่แสดงว่าเป็น endemic แบบ pan-global คือวิวทิวทัศน์ในการวาดรูปของคน วัยไหนๆก็ตาม โขกออกมาแบบเรียกว่าเป็น archetype เลยทีเดียว แปลกไหม?

พี่โกมาตรเล่าให้ฟังว่าญี่ปุ่นมีรายการแข่งขัน ทีวีแชมเปี้ยน ที่เป็นโปรแกรมกระตุ้นสมอง จินตนาการสร้างสรรค์ ในรูปแบบการแข่งขันที่น่าสนใจมากๆ แต่ละครั้งก็จะมีโจทย์ประเภท "ทำราเม็งที่อร่อยที่สุดในโลก" มาสิ ผู้เข้าแข่งแต่ละคน ก็ต่างไปค้นหาวิธีจะทำยังไง ให้ราเม็งของตนเอง ออกมาสุดๆ เรียกว่ากรรมการตื่นตาตื่นใจในการคิดสร้างสรรค์ และไม่มีทางเดาหรือไม่มีใครกำหนดไว้ก่อนเลยว่ามันจะออกมาเป็นยังไง รู้อย่างเดียวว่าให้ทำราเม็ง จะใส่กุ้ง ใส่หอย ใส่สี เส้นเหนียวนุ่ม บางกรอบ เอ๊ย ไม่ใช่ นั้นมันปิซซา ฯลฯ เป็นการเปิดจินตนาการอิสระสุดๆภายใต้กรอบนิดเดียว่า ทำราเม็งมานะเว้ย ห้ามส่งเค้ก หรือข้าวผัดเข้ามา ผู้ชนะหน้าบาน

แต่ผู้แพ้ก็ได้พยายาม และหลายๆคนสร้างความประทับใจในความพยายาม และความคิดสร้างสรรค์แก่ผู้ชมอย่างมาก

รายการทีวีก็จะมีการ copy กันทั่วโลก เป็นเรื่องธรรมดา แต่พอมาในไทย รายการประเภทอย่างแฟนพันธุ์แท้ ทศกัณฐ์ หรือเกมโชว์ต่างๆที่มาแข่งขัน กลายสภาพเป็นการแข่งขันความจำ กับโชคไปหมดเลย ก็กลับเข้าสู่ "สังคมปรนัย" ของเราเช่นเคย มีรูปมาสองรูป รูปไหนถูก รูปไหนผิด คำตอบมันถูกกำหนดไว้ก่อนแล้ว ดูซิว่าคนตอบรู้ (หรือเดาถูก) หรือไม่ เอ้า เฮ...... ถูกต้องนะคร้าบบบบบบ

ผู้ชนะหน้าบานเหมือนกัน (จำได้ หรือเดาถูกไม่รู้) แต่ไม่ได้เพิ่มอะไรใหม่ให้แก่สังคม หรือใคร หรือตนเองเลย ผู้แพ้ก็ทำหน้าปูเลี่ยนๆ อายบ้าง เขินบ้าง ทำเป็นตลกบ้าง แล้วแต่ defence mechanism ของตนเอง

สิ่งเหล่านี้จะมีผลต่อการพัฒนาประเทศ หรือ profile ลักษณะของสังคมนั้นๆบ้างหรือไม่ ก็เป็นการสะท้อนที่ valid ที่พวกเรา (ที่ก็อยู่ในสังคมเดียวกัน) น่าจะขบคิด ใคร่ครวญ

ว่าเรากำลังเป็น "สังคมเสพย์" รึว่า "สังคมสร้าง" กันแน่?

วัฒนธรรมการทำงานในสังคมปรนัยก็จะมีรูปแบบอย่างนี้ครอบงำ ผูกมัดด้วย guidelines ที่คนอื่นทำมา (บางทีไม่ได้ดูบริบทเลย ก็ copy มาดื้อๆ อย่างรายการ The Weakest Link ของแอน โรบินสัน ประเทศอังกฤษเป็นต้น เป็น western attitude ที่เต็มไปด้วย judgemental attitude การด่วนตีค่า ตัดสินคนอื่น การ ranking การเหยียบคนอื่นเพื่อตนเองอยู่รอด หรือเอาชนะ ผมเคยเห็นหลายครั้งที่มีการใช้ tactical vote เอาคนเก่งออกก่อน เพราะที่เหลือเห็นว่ายายนี่ชนะแหงๆ เลยรุม vote ออกซะเลย ฮ่ะ ฮ่า ใครจะทำไม) เต็มไปด้วย protocols มากมายจนปฏิบัติตามไม่หมด เป็นสังคมที่มองหาแต่ "ผู้เชี่ยวชาญ" ที่่เหลือเป็นผู้ตาม ผู้เสพย์เท่านั้น

ทางการศึกษาพบเห็นจุดอ่อนเรื่องนี้ ก็พยายามแก้ ให้เพิ่มข้อสอบที่ต้องเขียนเอาเอง ไม่มี choices ให้เลือกมากขึ้น กำหนดสัดส่วนบังคับให้มีมากขึ้น

แต่ปรากฏว่า ตอนสอบเป็นอัตนัยก็จริง แต่ตอนตรวจ.. ขอโทษ

ก็ยังเป็นปรนัยเหมือนเดิม ฮึ ฮึ ฮึ

เพราะอาจารย์จะใช้ key words มากำหนดไว้ก่อน "ล่วงหน้า" ว่าข้อนี้ มันต้องมี key นี้ ความดี ต้องมีคำ "ศาสนา" มีคำ "พ่อแม่" "กตัญญู" ฯลฯ ใส่ไว้เพียบเลยนะ ตอนตรวจก็หากันใหญ่ว่าเจอไหม key words ที่เตรียมมา เพื่อจะได้ให้คะแนน

ถ้าเจอเด็กตอบแบบพรรณนา เล่าเรื่องมาล่ะก็ โอกาสได้ 0 คะแนนก็มี

ทั้งๆที่เด็กอาจจะนำเอาประสบการณ์ตรงของตนเอง มาบรรยาย มาพรรณนา ซึ่งเผอิญมันไม่ตรงกับประสบการณ์ชีวิตของอาจารย์คนออกข้อสอบ ก็หมดโอกาส สอบตกไป

วันก่อนมีเพื่อนรุ่นน้องเล่าให้ฟัง ลูกสาวอยู่อนุบาล ครูจะสอบภาษาไทย พ่อแม่ก็ช่วยกันติวกันใหญ่ พอลูกอ่าน ก เอ๋ย ก ไก่ คุณพ่อก็ทำท่าตีปีกพั่บๆ ขันเอ้กอี๊เอ้ก (พ่อฝรั่งจะขันอีกแบบ คือ cock-a-doo-dle-doo ไก่มันคนละพันธุ์น่ะครับ) ข ไข่ ในเล้า ก็วาดรูปเล้าให้ดู ค ควาย ไถนา ก็ทำเขาสองข้าง เดินเป็นควายให้ดู ลูกสาวหัวเราะเอิ๊กอ๊าก ท่องตามอย่างกะตือรือร้น เช้ามาไปสอบ ตกบ่ายไปรับอย่างคาดหวัง ว่าคราวนี้ฟันเละแน่นอน ลูกเดินหน้ามุ่ยมาหาคุณพ่อ ครูเรียกคุณพ่อไปบอกว่า "น้องสอบตกนะคะ คุณพ่อ ให้ท่อง ก ถึง ซ ไม่ได้" คุณพ่อก็งงสนิท ทำไมจะท่องไม่ได้ เมืื่อคืนยังท่องจนถึง ฮ นก ฮูก ตาโต๊โต จนตาคุณพ่อแทบจะแหกอยู่แล้ว

ปรากฏว่า"ตอนสอบเดี๋ยวนี้ ห้ามมีสร้อยค่ะ คุณพ่อ ให้ท่องแบบรวดเดียว รถไฟด่วน ก ข ค ง จ .... ปื้ดเดียวถึง ซ เลยนะคะ ไปหัดมาใหม่นะคะ คุณพ่ออย่าสอนน้องผิดๆนะค้า....... ห้ามร้องสร้อยอะไรแบบโบราณๆนั้น เราไม่สอนแบบนั้นอีกต่อไปแล้วค่า......"

ฟังแล้วเซ็งชีวิตเหมือนผมไหมครับ.... เฮ้อ..... ความสุนทรีย์มันหายไปไหน มันจะรีบกันไปถึงไหนกันหนอ

สังคมปรนัยจะลดความเป็นปัจเจกภาพลง หรือทำให้ไม่มีเลย โลกนี้ ruled ด้วยผู้เชี่ยวชาญ หรือ expert ที่จะเป็นกลุ่มคนที่กำหนดชีวิตคนที่เหลือว่าอย่างไรเรียกถูก อย่างไรเรียกผิด การศึกษาเรียนรู้ต้องทำเป็นระบบอุตสาหกรรม คือเป็น mass products เหมาะสำหรับสังคมบริโภคนิยม คือเสพย์ (ยัด) ลูกเดียว

ความเป็นเอกลักษณ์ ความคิดส่วนตัวไม่มีค่า ไม่มีความหมาย คนสร้างน้อย คนเสพย์มาก

เน้นใช้ ไม่เน้นคิด ทุกสิ่งทุกอย่างมีคนหามาให้ เป็นบะหมี่สำเร็จรูป แกะซอง โยนใส่น้ำร้อน กี่นาทีนะ เดี๋ยวๆ ขอดูก่อน ที่ข้างซองเขียนว่า 5-8 นาที เริ่มหงุดหงิด แล้วมันกี่นาทีกันแน่โว้ย ทำไมมันไม่บอกให้ละเอียดไปเลยวะ บางอย่างบอกให้ใส่ microwave อ่านดู อ้อ ใส่ microwave 850 wtt 5 นาที อ้าว เฮ้ย ของเรามัน 1000 wtt นี่หว่า ต้องกี่นาทีวะนี่ แทบจะตีอกชกหัว จะได้กินไหมเนี่ย

พอการศึกษาเป็น mass products คนก็จะออกมาเหมือนๆกัน ผลิตคนให้รับใช้ระบบที่เป็นตัวกำหนด เป็นตัวสร้าง และสร้างเงื่อนไขในการสร้างมาแต่แรก มาถึงนี่ ต้องเดินช่องนี้ ไปตามทางนี้ มานั่งตรงนี้

ผมเคยสอนนักเรียนแพทย์ เรื่องการสัมผัสตัวคนไข้ ว่าบางทีจะเกิดผลที่ดี และสร้างความสัมพันธ์อีกระดับหนึ่งได้ น้อง นศพ.ยกมือสูง ถามทันที "จับตรงไหน จับตอนไหน และจับนานเท่าไหร่คะอาจารย์ขา?"

มันต้องมี spec มี protocol มี script ไปหมดทุกเรื่องเลยนิ

อย่าคิดว่าส่ิงที่เกิดขึ้นตอนเรียนจะไม่มีผลระยะยาวนะครับ หัวใจของเรามันมี memory ความทรงจำพิเศษ อะไรที่เคยทำให้บาดเจ็บมาก่อน มันจะจำไว้ยาวนาน ถ้าในการเรียนการสอน การศึกษาเบื้องต้น กำหนดให้การคิด การตอบ เป็นแบบปรนัย เพราะถ้าทำแบบอื่น จะไม่ได้คะแนน จะไม่ถูกชื่นชม มันก็จะมีพฤติกรรมเดียวกันมาจนโตแล้วแน่นอน

พี่โกมาตรบอกว่ามันทำให้เกิด "เดินตามช่อง มองแค่ที่เห็น เน้นตัวชี้วัด วิสัยทัศน์เอาไว้่ท่องจำ งานที่ทำไม่มีความหมาย!!!"

ต้องต่อตอนสองแล้วล่ะครับ

หมายเลขบันทึก: 279697เขียนเมื่อ 24 กรกฎาคม 2009 12:29 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 มิถุนายน 2012 15:15 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

อ่านแล้ว ...ชอบมาก ขอบอก

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท