จิตตปัญญาเวชศึกษา 142: เรื่องเล่า... ทำไมต้องเล่า?


เรื่องเล่า... ทำไมต้องเล่า?

ตอนนี้ไปไหนมาไหน ที่ได้ยินกันเพิ่มขึ้นคือการใช้ "เรื่องเล่า" ในการทำงานเกี่ยวกับการสื่อสารมากขึ้น มีการพูดถึง "Narrative Medicine" ซึ่งเป็นการเข้าหา ศึกษา การแพทย์ การดูแลผู้คน โดยอาศัยคุณลักษณะสำคัญของ "การเล่าเรื่อง" หรือ "เรื่องเล่า"​ เป็นเครื่องมือสำคัญหลัก

ผมคิดว่าถ้าเราลองมาพิจารณาลักษณะของ​ "ภาษา" เราอาจจะเพิ่มความเข้าใจ หรือมีสมมติฐานเพิ่มเติมว่า "ทำไมเรื่องเล่าจึงทำงานได้ดี จึงสำคัญ"

Anthony Gregorc แยกแยะกลุ่มของข้อมูลที่เข้าและออกระบบสัมผัสของเราออกเป็นสองกลุ่มคือเป็น concrete (จับต้องได้ รูปธรรม) และ abstract (จับต้องไม่ได้ เป็นนามธรรม) กับแยกด้วย "วิธีการส่งข้อมูล" ออกเป็นแบบ sequential (ตามลำดับ) และแบบ random (แบบสุ่ม) ทำให้เราสามารถจัดกลุ่มความชอบ/ความถนัดในการรับรู้และแสดงผลความคิดออกเป็นกลุ่มต่างๆกัน ถ้าหากเราพูดถึงเรื่องพฤติกรรมมนุษย์ เราจะพบว่าพฤติกรรมจะคล้อยตามอารมณ์มากกว่าเหตุผล จะมากหรือน้อยแปรตามบริบท แต่ในสภาวะทั่วๆไป "ส่วนใหญ่" จะได้รับอิทธิพลของอารมณ์ความรู้สึก

"ภาษา" ที่เราใช้กันอยู่ทุกวันนี้ ไม่เพียงพอที่จะสื่อให้ลึกซึ้งจาก "คำ" ที่เรามีอยู่ โดยเฉพาะอย่่างยิ่งสิ่งที่เกี่ยวกับ "นามธรรม" และ "ความรู้สึก"

ลองพยายามอธิบาย "รสชาติ" ของอาหารที่เรากำลังกินให้คนอื่นฟัง

ลองพยายามอธิบาย "ความปวด" ของเราให้คนอื่นฟัง

ลองพยายามอธิบาย "ความเขิน" ของเราว่าเป็นอย่างไร รู้สึกยังไง

ลองพยายามอธิบาย "ความงาม" "ความอิ่มใจ" "ความหึง" ว่ามันเป็นยังไงกันแน่ให้กับคนอื่นๆฟัง

เราจะพบทันทีว่า เราไม่มี "คำ" อะไรที่จะช่วยสื่อสิ่งเหล่านี้ได้ เราได้แต่ใช้อุปมาอุปมัย ใช้สาธก ยกตัวอย่าง ซึ่งถ้าตัวอย่างนั้นๆ หรืออุปมาอุปมัยนั้นๆ คนฟังไม่ได้มี "ประสบการณ์เก่า" มาเป็นตัวช่วยแล้วล่ะก็ เรายังไปไม่ถึงไหนที่จะ "เข้าใจตรงกัน"

จึงไม่แปลกอะไรที่ยิ่งมี อุปมาอุปมัยชนิดง่ายๆ ตัวอย่างที่ใครๆก็เคยเจอ มาประกอบมากๆเราก็ยิ่งใกล้หรือง่ายยิ่งขึ้นที่จะ "เข้าใจ" และ "เข้าถึง"

และนี่เองที่นำมาสู่เหตุผลว่า "ทำไมเรื่องเล่าจึงทรงพลัง"

เรื่องเล่าเสริมเติมบริบท ช่วยให้เราดึงเอาความทรงจำเดิมของเรามาประติดประต่อคุณภาพหลายๆอย่างทางนามธรรม ให้หลุดพ้นจากความเป็นนามธรรม กลายเป็นอะไรที่เรา "พอเข้าใจ" จนถึง​ "เข้าใจได้ดี" ถ้าเผอิญเรามีประสบการณ์ตรงเป๊ะๆกับอุปมาอุปมัยหรือตัวอย่างที่เล่ามา ดังนั้นยิ่งเรื่องเล่าใช้ภาษาพื้นๆ เล่าให้ "ชัดเจน" หรือที่เรียกว่า figurative speaking คือเล่าจนเห็นภาพ สัมผัสสายลม ดมได้กลิ่น ได้ยินเสียงขิม ล้ิมรสหวาน ขนาดนั้นยิ่งดี เพราะการใช้ผัสสะทั้งหมด จะเพ่ิมการรับรู้ เพิ่มมิติการรับ การแปล การให้ความหมาย คลื่นสมองเราจะผ่อนคลาย ลงจาก beta wave เข้าไปสู่ alpha wave ได้ง่ายยิ่งขึ้น ยิ่งผ่อนคลายการรับรู้ของเราก็จะไม่ติดอยู่แค่ "เปลือกอารมณ์" ด้านนอก แต่สามารถลงลึกไปถึง "อารมณ์ด้านใน และตัวตนแท้" ในระดับคลื่นสมอง theta หรือ delta ได้ ยิ่งลงลึกเท่าไหร่ "ตัวตนที่แท้" ซึ่งจะประกอบด้วยความจำ ความรู้สึก สิ่งที่มีความหมายต่างๆตั้งแต่อดีตจวบจนปัจจุบัน (อีกนัยหนึ่งคือขันธ์ 5) เราก็จะได้ใช้สิ่งเหล่านี้มาช่วยพิเคราะห์ พิจารณ์ ใช้ทั้งอารมณ์และปัญญาทั้งหมดทั้งสิ้น

สิ่งที่น่าสนใจมากสำหรับเรื่องเล่าก็คือ คุณภาพที่เกิดขึ้นเป็น "ปฏิสัมพันธ์" ระหว่างคนด้วย ไม่ได้ว่าคุณภาพภายในของคนเท่านั้น

ฉะนั้นสิ่งแวดล้อมก็จะเอื้อ (หรือทำลาย) ผลลัพธ์ได้หลากหลายวิธี ทั้งเสียง (เซ็งแซ่ สงบ เพลงเบาๆ อึกทึก เสียงปืน ประทัด น้ำไหล ฯลฯ) อุณหภูมิ แสง สี ภาพ เป็นสิ่งแวดล้อมทางกายภาพ ผู้คนที่มาฟังก็เป็นสิ่งแวดล้อมทางชีวภาพก็มีอิทธิพลไม่น้อยกว่ากัน ทั้งด้านจำนวน ลักษณะของพลังงานของปััจเจกและภาพรวม (คุกคาม สงบ ตื่นเต้น เศร้า ยินดี เรียนรู้่ คาดหวัง ฯลฯ)

สิ่งแวดล้อมทางจิตวิญญาณและจิตสังคมก็เป็นอีกปัจจัย และบางครั้งบางคราก็มีอิทธิพลได้เยอะมาก เช่น สภาวะสงคราม บ้านเมืองไม่สงบสุข หรือสภาวะเฉลิมฉลอง ดิถีมงคลสมัย ภาวะกำเนิด ภาวะสูญเสีย สัญญลักษณ์สำคัญทางศาสนา จิตวิญญาณ ความรู้สึก เรื่องนี้เปรียบเสมือนสีพื้นหลังของภาพทุกภาพ ซึ่งไม่ว่าเราจะระบายสีอะไรลงไป สีพื้นหลังจะดูดซับ จะขับเน้น จะกล่อมเกลาหล่อหลอมให้เกิดภาพรวมสำเร็จออกมา

สิ่งแวดล้อมภายนอกทั้งหมดนี้ บางอย่างเราควบคุมได้ บางอย่างเราไม่มีทางที่จะควบคุม ทั้งหมดจะส่งผลถึงความมีประสิทธิภาพของเรื่องเล่าว่าจะเป็นเช่นไร เมื่อผนวกกับสิ่งแวดล้อมภายใน เราก็จะเห็นทันทีว่าโอกาสที่สุดท้ายแต่ละคนจะรับเรื่องเล่านั้นๆให้เหมือนกันแทบจะเป็นไปไม่ได้เลย เพราะเหตุปัจจัยต่อผลลัพธ์มีความหลากหลายมาก

ที่ว่าเป็นสัมฤทธิผลของเรื่องเล่า ยังไม่ได้พูดถึง "ทำไมต้องเล่า" ตามไตเติ้ลของบทความนี้เลย

ทำไมต้องเล่า

ถ้าเราพิจารณาประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นจากการเล่าเรื่องแล้ว คำถามที่ควรถามน่าจะเป็น "ทำไมจะไม่เล่า?" มากกว่า...

  • เล่าเพื่อสื่อสาร
  • เล่าเพื่อเยียวยา
  • เล่าเพื่อเสริมพลัง
  • เล่าเพื่อสะท้อน

เล่าเพื่อสื่อสาร

เป็นวัตถุประสงค์ทั่วไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งการสื่อสารข้อมูลทางนามธรรม ความรู้สึก ที่จับต้องไม่ได้ ที่ไม่มีคำศัพท์ที่จะสื่อได้อย่างลึกซึ้งเพียงพอ รูปแบบของเรื่องเล่าจะช่วยขยายบริบทให้กว้างมากขึ้น เข้าถึงผู้คนได้มากหมู่ มากเหล่ามากขึ้น

ที่อยากให้ลองก็คือการสื่อสารด้านคุณธรรม จริยธรรม จะเห็นว่าอุบายคนโบราณนั้นได้ผลมานักต่อนัก ไม่ว่าจะเป็นนิทานอีสป นิทานเวตาล ปัญหาพระยามิลินทร์ นิทานร้อยบรรทัด ฯลฯ แต่อดีต เล่าได้ ฟังดี แต่ละเรื่องแฝงคุณธรรม ความดี จริยาวัตร จริยธรรม เข้าถึงคนง่าย เพลิดเพลิน มีคติ จดจำไปเล่าต่อๆไปได้ไม่รู้เบื่อ

"มุก" เธอเป็นผู้หญิงอายุ 40 ปี ตัวเธอเองก็เจ็บไข้ได้ป่วย สุขภาพไม่แข็งแรง มีพี่น้องหลายคน แต่เธอเป็นเพียงผู้เดียวที่รับผิดชอบดูแลแม่ อายุ 70+ ปี ที่ป่วยเป็นมะเร็งระยะสุดท้าย เธอพาคุณแม่มารักษาที่โรงพยาบาลมาตลอด เป็นเวลานานกว่าสองปี โชคดีที่อาการไม่ทรมานมากนัก เธอก็สามารถจัดการได้แม้ว่าจะด้วยความยากลำบากเนื่องจากสุขภาพของเธอเอง

แต่ปรากฏว่าในช่วงสองสามเดือนสุดท้าย จู่คุณแม่ก็มีอาการปวดมากที่บริเวณสะโพกและบริเวณหลัง ตอนนั้นคนไข้นอนอยู่ที่บ้าน และมุกเป็นคนดูแลทุกวัน นอนเฝ้าที่หน้าเตียง คุณแม่ปวดทรมาน นอนครวญครางตลอดเวลา แต่ไม่ยอมกินยาอะไรทั้งสิ้่น มุกเองก็ไม่สบาย ไม่สามารถจะพาคุณแม่ไปโรงพยาบาลได้ ตลอดเวลาสองอาทิตย์ที่มุกต้องนอนเฝ้าคุณแม่ทั้งวันทั้งคืน ทนฟังเสียงครวญครางร้องไห้ของแม่ ไม่มีพี่น้องคนไหนเข้ามาช่วย มีอยู่คืนหนึ่งที่แม่ปวดมาก นอนกรีดร้องเป็นพักๆทั้งคืน ดิ้นรนอย่างอ่อนแรงด้วยความทุกข์ทรมานอย่างที่สุด ทั้งๆที่เสียงร้องดังขนาดนั้น ก็ไม่มีพี่น้องคนไหนตื่นมาดู มุกร้องไห้ด้วยความคับแค้นและไม่รู้ว่าจะทำอะไร เกิดอารมณ์วูบหนึ่ง มุกลุกขึ้น เอามืออุดปากแม่ อีกมือกุมที่คอของแม่กำลังจะบีบลง แม่ก็ลืมตา พูดออกมาว่า "มันบาปนะลูก"

มุกร้องไห้ออกมาอย่างหมดเรี่ยวแรง ถึงขนาดนี้ ผู้หญิงที่นอนอยู่ข้างหน้าเธอนี้ ก็ยังเป็นแม่ ยังเป็นห่วง ยังหวังดี ยังต้องการจะเตือนลูก ไม่ให้ลูกทำบาป เธอได้สติ ก็ได้ลูบเนื้อลูบตัวแม่ สักพักอาการบรรเทาลง

วันรุ่งขึ้นมุกแข็งใจฝืนร่างกายตนเอง พาคุณแม่ไป รพ. เล่าเรื่องให้พยาบาลและแพทย์ฟัง ตั้งแต่วันนั้นกระบวนการการรักษาอาการปวดอย่างเป็นระบบก็เริ่มทันที ภายในเวลาสองอาทิตย์ คนไข้ก็สามารถอยู่ได้อย่างปราศจากอาการปวด และดูแลต่อได้ที่บ้านอย่างที่ประสงค์ มีการบันทึกการใช้ยามอร์ฟีน การปรับยาที่ถูกต้องตามวิธีการอย่างเป็นระเบียบ ทำให้การคุมอาการดีอย่างสมบูรณ์

คุณแม่ของมุกเสียชีวิตอย่างสงบที่บ้าน เธอใช้เวลาเดือนสุดท้ายอยู่ข้างกายมุกลูกสาวที่รักเธอที่สุด และเธอจากไปด้วยความตระหนักรู้ถึงความรักของมุก"

เป็นเรื่องเล่าธรรมดาๆที่ใช้สอนการคุมอาการปวดแก่แพทย์ นักเรียนแพทย์ และอาจจะมีเรื่องอื่นๆที่เขาอาจจะตั้งวัตถุประสงค์การเรียนเองตามอัชฌาศัย

เล่าเพื่อการเยียวยา

บางครั้งเมื่อชีวิตประสบพบเจอวิบัติภัย ตัวตนมันแตกกระจายเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อย เปรียบเสมือน jigsaw ที่ถูกปัดตกแตกกระจาย อะไรที่เคยอยู่ที่ใด ก็ดูจะพรัดพรากจากหายไป หาไม่เจอแม้แต่ตัวตนของตนเอง

ในกรณีเช่นนี้อาการทางกายยังไม่สำคัญเท่ากับตัวตนทางจิตและจิตวิญญาณของผู้สูญเสีย สภาพแบบนี้อาจจะเกิดในกรณีเช่นพิบัติภัยตามธรรมชาติ สุนามิ หรือการฆ่าล้างหมู่บ้านอย่างทารุณในอาฟริกา

ซาฟีนา เด็กหญิงอายุ 12 ปี ได้รับการช่วยเหลือจากเจ้าหน้าที่องค์กรสหประชาชาติ (United Nation) มาหลังจากที่เธอหลบหนีจากการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ (extermination) จากกลุ่มทหาร ในที่ประชุมแวดล้อมด้วยเจ้าหน้าที่ UN นักสังคมสงเคราะห์ จิตแพทย์ นักจิตวิทยา ก็ให้ซาฟีนาเล่าเรื่องของเธอให้ฟัง เธอเล่าว่าเธออาศัยอยู่ในหมู่บ้านแห่งหนึ่ง มีพ่อมีแม่ มีพี่สาวหนึ่งคน หมู่บ้านของเธอถูกทหารบุกและฆ่าตายหมด เธอเองหลบอยู่ใต้เตียง ขณะที่ทหารฆ่าพ่อ ข่มขืนแม่และพี่สาวตายอย่างทารุณ หลังจากนั้น เธอหลบหนีออกมา ใช้ชีวิตหลบๆซ่อนๆ โกหก ลักขโมย ทุกวิถีทาง เพื่อให้อยู่รอดไปวันๆ เป็นเวลาเกือบสองปี

ซาฟีนาเล่าชีวิตของเธอติดต่อกันกว่าสามชั่วโมง พอเธอเล่าจบ ที่ประชุมนิ่งงัน ไม่มีใครเคยนึกหรือจินตนาการว่าเด็กสาวอายุเพียงแค่ 12 ขวบ จะต้องผ่านความทุกข์ในชีวิตมากมายขนาดนี้ ขนาดและความทุกข์ของเรื่องราวของเธอเกินสเกลที่ทุกคนในที่นั้นเคยพบเห็นมาก่อน ไม่มีใครพูดอะไรออกมาอยู่พักหนึ่ง ในที่สุดนักจิตวิทยาคนหนึ่งก็เอ่ยปากถามซาฟีนา

"หนูมีอะไรที่อยากจะให้พวกเราช่วยไหม"

ซาฟีนาฟัง แล้วหยุดนิ่งคิดอยู่พักใหญ่หลังจากได้ยินคำถามนั้น แล้วเธอก็พูดออกมาว่า

"ตั้งแต่หนีมา 2 ปี ไม่เคยได้เล่าเรื่องเหล่านี้ให้ใครเลย ที่จริงฝันนึกว่าเมื่อไรชีวิตจะหยุดลง ความทุกข์จะได้หยุดลงเสียที แต่หลังจากได้เล่าให้พวกคุณฟังแล้ว ตอนนี้รู้สึกดีขึ้น ยังนึกไม่ออกค่ะว่าจะให้ทำอะไร"

ในความทุกข์รุนแรงที่ฉีกทำลายตัวตนความเป็นมาของคนในลักษณะนี้ สิ่งสำคัญคือการที่คนป่วยได้มีโอกาสเรียงร้อย "ชีวิต" ของเธอใหม่ขึ้นมา ซึ่งสามารถทำได้ผ่านเรื่องเล่า เมื่อเธอได้ค่อยๆเก็บชิ้นเล็ก ชิ้นน้อยของชีวิตของเธอเข้าหากัน นำมาผูกกัน เชื่อมโยงกัน ตัวตนของเธอก็เริ่มก่อเป็นรูปเป็นร่างอีกครั้งหนึ่ง

การสัมภาษณ์ผู้ป่วย ไม่ว่าจะเป็นที่ OPD หรือในหอผู้ป่วยในก็ตาม กระบวนการเยียวยาได้เริ่มขึ้นตั้งแต่คนไข้ "ได้เล่า" ชีวิตของเขาให้เราฟังแล้ว เพราะเมื่อเจ็บป่วย ฐานกายทรุดโทรม ฐานใจก็ใช่ว่าจะดี ฐานความคิด ก็หม่นหมองมีปัญหาต้องแก้ไข การเล่าเรื่องเป็นการ "ตั้งหลัก" ใหม่ เล่าที่มา ที่ไป ความฝัน อุปสรรค การสัมภาษณ์ของเรานั้นตกลงเป็นไปเพียงเพื่อได้ "ข้อมูล" หรืออยากให้เกิด "การเยียวยา" ด้วย ก็ขึ้นกับการจัดการการสัมภาษณ์ของเราเอง

การเล่าเพื่อเสริมพลัง

เคยพูดถึงไปหลายครั้งแล้วในเรื่องเล่าเร้าพลัง และอภิชาตศิษย์ และอื่นๆอีกมากมายใน gotoknow นับไม่ถ้วน

การเล่าเพื่อสะท้อน

บางครั้ง บทเรียนที่เกิดขึ้นอาจจะทำให้อัตตาของเรากระทบกระเทือน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเรากำลังพบว่าตัวเราอาจจะไม่ได้ดีงามอย่างที่เราเคยเชื่อ แต่บทเรียนแบบนี้สำคัญอย่างยิ่งในการที่จะพัฒนาตนเองขึ้นไปจากที่เป็นอยู่ เพราะถ้าเราคิดว่าเราดีที่สุด ไม่มีอะไรผิด ไม่มีอะไรหย่อน ก็จะไม่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลง เราพบว่าการใช่้เรื่องเล่ามาช่วย จะมีประโยชน์มาก เพราะบทเรียนจะเข้ามาแบบทะแยงๆ สะท้อนไปอ้อมๆ ไม่ได้มากระแทกโดยตรง การเล่าเพื่อสะท้อนที่ใช้กันเยอะ มาในรูปแบบการเรียนผ่านภาพยนต์

หมายเลขบันทึก: 386031เขียนเมื่อ 19 สิงหาคม 2010 00:40 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:42 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (15)

กำลังฝึกเล่าเรื่อง และ ฝึกฟัง(และอ่าน)เรื่องเล่า อย่างตั้งใจค่ะ

ขอบคุณเรื่องเล่าดีๆ ค่ะ

     ประสบการณ์เรื่องเล่า  ผมเคยทำมาบ้าง เล็กๆน้อยๆ  ผมว่าความสำเร็จของเรื่องเล่ามาจาก 3  ส่วน ครับ

   1.  ผู้เล่า  เล่าอย่างเปิดใจ เล่าอย่างจริงใจ  ไม่เสแสร้ง 

   2.  ผู้ฟัง  ตั้งใจฟังอย่างตั้งใ

   3.  บรรยากาศของความปลอดภัย ความไว้วางใจ

    ผลจากการจัดกิจกรรมเรื่องเล่า  ที่ประกอบด้วยองค์ประกอบ3 ประการดังกล่าว

   1. ผู้เล่ามีความสุขครับ บางคนบอกว่าตั้งแต่เกิดมา ไม่เคยมีความสุขเท่านี้มาก่อน ไม่เคยสัมผัสประสบการณ์ที่ดีๆอย่างนี้มาก่อน คือ พูดเป็นตัวของตัวเองอย่างเต็มที่แล้วมีคนฟัง  เขารู้สึกว่าตัวของเขามีคุณค่า  มีความภาคภูมิใจในตัวเอง

  2. ผู้ฟัง ได้รับความรู้และประสบการณ์แปลกๆใหม่ๆ ที่ไม่เคยทราบมาก่อน  ที่มาจากการเล่าเรื่องจากใจจริง  ทั้งๆที่  เคยคุยกัน  ก็ไม่เคยได้ฟังเรื่องแบบนี้

    ทั้งผู้เล่า  และ ผู้ฟัง บอกว่า น่าจะจัดแบบนี้ บ่อยๆ

สวัสดีคะ ท่านอาจารย์

อ่านเรื่องนี้แล้วยิ่งมีความเข้าใจมากขึ้นคะ

ว่าเรื่องเล่ามีความสำคัญและมีพลังมากมายเหลือเกิน

ขอขอบพระคุณท่านอาจารย์คะ

เรื่อง อีเมลดา ตอนนี้ทำให้ใครต่อใคร ย้อนกลับมาดูตัวเอง

แม้แต่แม่ต้อยยังอดเสียใจไม่ได้ที่นาน นานมากแล้วเคยได้พบกับเด็กหญิงตัวน้อยที่ปากแหว่ง แต่ในตอนนั้น ความกรุณาที่มีต่อเธอน้อยๆมาก

จนอยากที่จะย้อนเวลานั้นมาอีกสักครั้ง

ขอบคุณมากคะ

แม่ต้อยครับ

แสดงว่าไม่เพียง "สื่อสาร" ยัง "สะท้อน" อีกด้วย

การเรียนด้วยเรื่องเล่า (ผมไม่อยากจะเรียกว่า "การสอน" เพราะทั้งคนเล่าและคนฟังต่างก็กำลังได้เรียนอะไรบางอย่างไปด้วยกัน) นั้นโดยตัวมันเอง จะเป็นการสร้างพื้นที่ปลอดภัยอยู่แล้ว (ถ้าไม่ปลอดภัยจะไม่เล่า หรือไม่เล่าแบบนี้) เงื่อนไขที่ดีคือความปลอดภัยเป็นส่ิงสำคัญลำดับต้นๆ บรรยากาศก็มีส่วนร่วมเยอะ

สองวันมานี้ผมยกทีมไป รพ.ชุมพรเขตรอุดมศักดิ์ ได้แลกเปลี่ยนเรื่องเล่า ความรู้ การทำงานเรื่อง palliative care และจิตอาสา ก็ได้เรื่องเล่ากลับมาหลายเรื่อง (trade in ใครใคร่่เล่าม้าเล่าม้า ใครใคร่เล่าช้างเล่าช้าง)

ได้ฟังพยาบาลเล่าเรื่องที่เธอกับพี่ชายดูแลคุณแม่ที่ป่วยที่บ้านอย่างไร แล้วก็ทั้งซาบซึ้งและสะท้อนตนเองเช่นกัน เหมือนแม่ต้อย เรื่องเล่ามักจะสอนอะไรที่แม่้แต่คนเล่ายังไม่ทราบด้วยซ้ำไปว่ามีคนต่อยอดไปทางนี้ ทางนั้น

คุณ small man ครับ

ยินดีร่วมวงการครับ

วงเล่า (ไม่ใช่วงเหล้า!!) ไม่ต้องจัด formal ก็ได้นาครับ ได้ทุกที่ รอบโต๊ะกินข้าวตอนเย็น ริมอ่างน้ำ ริมทะเล พัก break ตอนเที่ยง เล่าได้ทุกที่ที่มีคนเล่าและคนฟัง บรรยากาศสุนทรีย์นั้นก็พวกเรานี่แหละครับเป็นคนจัดสรรค์สร้างกันขึ้นมา

อาจารย์จุดประกายให้ผมตั้งวงเล่าอีกแล้วครับ 

    ครับ บางครั้งผมก็มุ่งไปที่รูปแบบมากไปหน่อย

         ที่อาจารย์แนะนำมา  กินข้าวตอนเย็น ริมอ่างน้ำ ริมทะเล พัก break ตอนเที่ยง

               จะนำไปปรับใช้ครับ

สวัสดีค่ะคุณหมอ

ขอบคุณสำหรับการแบ่งปันค่ะ 

เรื่องเล่า สามารถทำให้เราเห็นตัวตน ความเป็นไป มุมมอง อารมณ์ ฯลฯ ของผู้เล่า

การเล่าเรื่อง สามารถทำให้ผู้เล่ารู้สึกผ่อนคลาย ถูกปลดปล่อยจากพันธนาการบางอย่าง ภาคภูมิใจ อิ่มใจ ฯลฯ จากการบอกเล่า

แป๊วจะให้ความสำคัญกับเรื่องเหล่านี้ค่ะ แม้กระทั่งกับเด็กเล็กก็เป็นสิ่งที่ควรให้ความสำคัญ    ตอนลูกเล็กๆ ตั้งแต่ยังไม่เข้าเนอสเซอรี่ ก่อนนอนเราจะมีกิจกรรมเล่า/อ่านนิทาน สวดมนต์ และจบด้วยนวดค่ะ     พอเล่า/อ่านนิทานจบ ก็ปิดไฟ ธรรศกับธรณ์ก็จะนอนติดๆ กัน รอให้แม่นวดทีละคน   แป๊วจะนวดตัว-แขน-ขา-เท้า (เหมือนนวดแผนโบราณ) ระหว่างนวดก็จะคุยกันไป ว่าวันนี้ลูกทำอะไรบ้าง กินอะไรบ้าง สารพัดเรื่อง... พอทำไปซักพักลูกก็เริ่มหัดนวดให้แม่บ้าง

มุมมองของแป๊วสำหรับสำหรับการสร้างเงื่อนไขแบบนี้ (เล่า/อ่านนิทาน-นวด-คุย)

- การสร้างบรรยากาศสบายๆ ก่อนนอนโดยการเล่า/อ่านนิทานทำให้เด็กรู้สึกผ่อนคลาย

- การนวด เป็นกุศโลบายให้เด็กอายุยังไม่ถึง 2 ขวบ อยู่กับที่ ไม่วิ่งไปไหน เพราะเค้ารู้สึกสบายกับการถูกนวด แถมตอบทุกคำถามที่แม่ถาม และก็เล่าสิ่งที่ตัวเองอยากเล่าให้แม่ฟัง

- ลูกจะได้เคยชินกับการบอกเล่าอะไรๆ ให้พ่อแม่ฟังตั้งแต่เล็ก เพราะถ้าเด็กโตขึ้น โดยเฉพาะเป็นวัยรุ่น เราจะไปถามอะไรมากๆ เค้าอาจรู้สึกรำคาญ อาจคิดว่าเราจะจับผิดหรือไม่ การสร้างความเคยชินโดยการพูดคุยกันทุกวัน เสมอๆ มันจะกลายเป็นสิ่งปกติของเค้า ลูกจะเล่าสารพัดเรื่อง บางทีมีประเด็นอะไร เราก็สอนลูกจากเรื่องที่เค้าเล่า จนปัจุบันอายุจะ 7 ปี ก็ยังทำอยู่

สิ่งที่ “รู้สึก” ว่าได้รับจากลูกอันเนื่องมาจากการเล่าเรื่อง

- การบอกเล่า/พูดคุยกันเป็นเรื่องปกติ ลูกจะมีเรื่องมาเล่าให้ฟังทุกวัน บางทีถ้าแม่ยังไม่ถึงบ้านก็โทรศัพท์มาเล่า ... ไปทำอะไรบ้าง อาจารย์สอนอะไร เล่นอะไร ถูกดุ/ถูกทำโทษเรื่องอะไร มันกลายเป็นเรื่องปกติที่จะต้องคุยกัน บอกเล่ากัน

- ได้ความเชื่อใจ/ความไว้ใจจากลูก   ซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญมาก เป็นสิ่งที่เราสร้างได้ แป๊วจะ “ฟัง” ทุกเรื่องที่ลูกเล่า แม้จะเป็นเรื่องที่ลูกทำผิด/ถูกอาจารย์ทำโทษ ลูกก็จะเล่าให้ฟัง    ซึ่งแป๊วก็จะ “รับฟังอย่างสงบ” และค่อยสอนหรือชี้ให้เห็นว่าควร ไม่ควรอย่างไร แต่ก็ไม่ได้ตำหนิทุกครั้งที่ลูกทำผิด เพราะบางครั้งเค้าถูกตำหนิมาแล้ว รู้ตัวเองแล้วว่าทำผิด การไปตำหนิซ้ำอีก หรือตำหนิทุกครั้งที่ลูกทำผิด ต่อๆ ไปลูกอาจจะไม่อยากบอกเล่าให้ทราบ

- การเรียนรู้ที่จะมีน้ำใจต่อกัน พอแม่นวดให้แล้ว ลูกก็อยากลองทำดูบ้าง ไปๆ มาๆ พอแม่นวดให้ลูกเสน็จ ทั้ง 2 คนก็ช่วยกันนวดให้แม่ หรือพอได้ยินแม่บอกว่าปวด... ลูกก็จะอาสานวดให้ เพราะเค้านวดเป็น

นอกจาก “การเล่าเรื่อง” จะมีความสำคัญแล้ว แป๊วว่า “การรับฟัง” ก็มีความสำคัญพอๆ กัน 

ตอนที่ธรรศป่วย ต้องไปหาหมออยู่เรื่อยๆ ต้องไป admit เป็นระยะ ก็มีโอกาสได้เจอ/ได้คุยแม่คนไข้    ซึ่งก็จะคุยกันทั้งที่โรงพยาบาล และเมื่อออกจากโรงพยาบาลแล้วก็ยังโทรศัพท์คุยกัน

แม่คนไข้บางคนช่วงที่ลูกอาการไม่ค่อยดี ช่วงขาลง ก็จะโทรศัพท์มาคุยตอนดึกด้วย เช่น เที่ยงคืน ตี 1 เพราะเป็นช่วงเวลาที่ลูกเค้านอนแล้ว คุยสะดวก คุยได้เต็มที่ บางครั้งคุยกัน 15 นาที 45 นาที หรือ 1 ชม. ... แล้วแต่ความต้องการของคนโทรมา บางคนคุยกันอย่างเดียว บางคนคุยด้วยร้องไห้ด้วย พอคุยเสร็จเค้า เค้าบอกว่า สบายใจขึ้น รู้สึกดีขึ้น ...

ซึ่งการที่เค้าสบายใจขึ้น รู้สึกดีขึ้นนั้น ... หลายครั้งทีแป๊วไม่ได้ทำอะไรเลยนะคะ   แค่ “รับฟัง” สิ่งเค้าพูด   ฟังเค้าระบายสิ่งที่อัดอั้นตันใจ ฟังเค้าร้องไห้ แป๊วก็พูดนิดๆ หน่อยๆ  เพื่อให้เค้ารู้ว่า เรายังฟังเค้าพูดอยู่   แต่จะไม่บอกให้หยุดร้องไห้นะคะ เพราะแป๊วรู้สึกว่า ถ้าเค้าอยากหยุด เค้าก็ต้องหยุดด้วยตัวเอง มันแสดงว่าเค้ารู้สึกดีขึ้นแล้ว แต่ถ้าเราไปบอกให้หยุดร้องไห้อยู่เรื่อยๆ เค้าอาจคิดว่าเรารำคาญ หรือไม่อยากฟังก็ได้ ในบางรายยิ่งปลอบยิ่งร้องไห้ก็มี (สันนิษฐานเอาเองทั้งนั้นค่ะ)

แป๊วเลยสรุปเอาเองว่า บางครั้งการที่ได้บอกเล่าสิ่งที่อยากบอก ได้ระบายสิ่งที่อัดอั้นตันใจ ได้ร้องไห้ มันก็ทำให้ความอึดอัดที่มีอยู่ลดลง  แค่มี “ คนรับฟัง ” เท่านั้นเอง

ไม่ว่า “เรื่องเล่า” หรือ “การเล่าเรื่อง” หรือ “การรับฟัง” ก็ล้วนมีความสำคัญทั้งนั้น เพียงแต่ว่าเราจะอยู่ในจุดไหนของเหตุการณ์

 

สวัสดีคะอาจาย์ เรื่องเล่า..เปลี่ยนโลก ได้จริงๆ ค่ะ

อย่างน้อยโลกของความคิดของพอลล่าคนหนึ่ง ที่เปลี่ยนไปมากมายเมื่อได้ฟังเรื่องเล่าจากผู้คน ที่ทำงานเพื่อผู้ทุกข์ยากค่ะ

พอลล่ารู้แล้วว่าความหมายในชีวิตของพอลล่าอยู่ที่ไหนค่ะ

อาจารย์ เป็นแรงบันดาลใจหนึ่งของพอลล่าด้วยค่ะ แม้บางเรื่องอาจจะไม่ค่อยเข้าใจนัก แต่เราก็ไม่จำเป็นต้องเข้าใจทุกเรื่องใช่ไหมคะ อิอิ

ขอบคุณมากค่ะ อาจารย์ พบกันแน่ๆค่ะ อิอิ

คุณแป๊วครับ

ขอบคุณที่ share เรื่องราวดีๆครับ

บ้านผมก็นักฟังนิทานเหมือนกัน ตอนอยู่อังกฤษผมสั่งหนังสือ Disney series จาก​ Glorier' Bookstore จนได้ประกาศนียบัตร Mother of the Year (นัยว่าสั่งติดต่อกันกว่าสองปี!!) ใช้คุ้มมาก และเด็กๆก็กลายเป็นคนช่างเล่าจริงๆเหมือนกันครับ

พอลล่าตอนนี้อยู่โลกไหนแล้วครับ ฮึ ฮึ

เคยใช้การเล่าแทนการเล็คเชอร์ เพราะเวลาจำกัดหนึ่ง เพราะเห็นนักเรียนเริ่มจะง่วงอีกหนึ่ง

รู้สึกเอาเองว่า ได้ผล ดึงความสนใจกลับมาได้

 

วันนี้อ่านเรื่องเล่าของซาฟีนา คิดตาม เห็นคล้อยตามไปด้วย

จริงค่ะ เมื่อคนไข้หรือผู้มีความทุกข์เริ่มเล่า มีผู้ฟัง...

กระบวนการเยียวยาและรักษาได้เริ่มขึ้นแล้ว

ขอบคุณสำหรับเรื่องดีๆค่ะ ดิฉันเป็นคนหนึ่งที่ชอบเรื่องเล่า เรื่องเล่ามีเสน่ห์กว่าการรายงานผลแห้งๆ อย่างนักวิชาการทั่วไป เรื่องเล่าแสดงถึงหัวใจที่อยู่ด้านในของผู้เล่า ซึ่งผู้อ่านจะใช้หัวใจเข้าไปสัมผัส ช่วยให้เข้าใจกันและกัน

นึกถึงภาพยนต์เรื่องอวตาร ที่ผู้แสดงจะนำหางของตัวเองไปสัมผัสเป็นหนึ่งกับหางของอีกฝ่ายหนึ่ง ก็จะเสมือนเป็นคนๆเดียวกัน ยอมรับกัน และกัน เรื่องเล่าจะทรงพลังเมื่อผู้อ่านเปิดหัวใจสัมผัสเรื่องราว และจะทรงพลังยิ่งขึ้นถ้าผู้เล่าถ่ายทอดจากหัวใจ ไม่ใช่หัวคิด

การบันทึกเรื่องเล่าช่วยเยียวยาได้จริงๆ เพราะทำให้เกิดความชัดเจนในตัวเอง น่าประหลาดเวลาที่เราเนิบช้า ค่อยๆคลี่ตัวเองออกมาในเรื่องเล่า มันเกิดความกรุณาต่อตัวเองและผู้เกี่ยวข้องได้

ขอบคุณครับ สำหรับเรื่องเกี่ยวกับ เรื่องเล่า

ทำให้เห็นว่าเรื่องเล่านี้ทำไมเรื่องเรื่องจำเป็นมาก

แต่ผมขอให้คิดและตั้งคำถามถึง power of narrative ที่สามารถจะเปลี่ยนแปลงระบบได้ เล่าเรื่องเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงระบบ มีหนังสือเรื่อง Narrative Matters: The Power of the Personal Essay in Health Policy เป็นบทความที่ลงเป็น ตอนๆใน Health Affair แล้วรวบรวมเป็นเล่ม (http://www.healthaffairs.org/press/sepoct0607.htm)

ผมคิดว่าเรื่องดีๆอาจารย์ได้เล่ามาแล้ว ผมมีเรื่องที่เลวร้ายมากที่่พบเจอทุกวัน อาจเป็นเพราะผมดูโรคร้ายความคิดเลยร้ายไปด้วย เลยคิดว่าเรื่องเล่าที่จะทำให้ระบบดีขึ้นก็จำเป็นต้องเล่าถึงสิ่งร้ายที่เกิดซ้ำซากทุกๆวัน เพราะจะรอวิจัยก็ไม่ทันการ แม้มีวิจัยมาสนับสนุนแล้วก็ยังไม่ทำตาม เช่น ป้องกันไม่ให้เป็นไตวาย หรือลงทุนป้องกันไม่ให้คนเป็นเอดส์คุ้มค่าที่สุดกว่าเอาเงินไปล้างไตฟรี หรือรักษาเอดส์ที่ดื้อยาแล้วดื้อยาอีกฟรีๆๆๆ บ้านเราทำในสิ่งที่ฝรั่งยังงง เช่นไม่มี palliative care ในบ้านเรามีแต่ aggressive treatmentและไม่careด้วย คำพูดก็ aggressive???? treatment ก็ aggressive...ฝรั่งงง ว่าสิ่งที่หมอสั่งให้ยา aggressiveนั้นบ้างครั้ง บริษัทยาได้ประโยชน์สูงสุดไม่ใช่คนไข้ รองลงมาคือคนที่ใช้ยาแพงนั้นๆๆ คนไข้อาจจะได้ประโยชน์บ้างแต่บ้างรายคนไข้อาจจะเสียประโยชน์ และประเทศชาติเสียประโยชน์แน่นอนเพราะเงินที่ใช้ไปสามารถไปทำประโยชน์มากมายนั้นเช่นส่งเสริมให้มีนักสังคมสงเคราะห์มากยิ่งขึ้นและทำหน้าที่สมกับนักสังคมสงเคราะห์ ไม่ใช่ถูกหมอเอาไปใช้งานผิดประเภทเหตุเพราะหมอคงเข้าใจวิชาชีพอื่นผิดจากความเป็นจริง และคงไม่ค่อยมีใครอยากยุ่งกับหมอ เลยไม่ค่อยมีใครเล่าเรื่องแย่ๆของหมอและระบบ ผมไม่แน่ใจว่าเรื่องพวกนี้จะอยู่ในเรื่อง narrative หรือไม่ แต่เห็นเรื่องใน Health Affair อดคิดไม่ได้ว่าเรื่องนี้ก็จำเป็นเหมือนกัน

เรื่องแย่ๆที่ผมพบเช่นทำไมตัวเราถึงทนกันได้มาก เวลาที่พบเจอการที่ความไม่ถูกต้อง ในโรงพยาบาลของเราเอง เราเก็บกดมากไปเลยคอยเล่าเรื่องของคนไข้มากกว่าเป็นเรื่องของเรา ผมคิดว่ามีเรื่องไม่ถูกต้องในระบบที่เราอาศัยอยู่ เราต้องการความจริง และความจริงใจในการแก้ปัญหา เช่นคนไข้ต่างกันมากนัก หมอสบายต่างกัน หมอรายได้ต่างกัน พยาบาลงานต่างกัน งานหนึ่งพูดกับคนน้อยแต่พูดมาก งานหนึ่งพูดน้อยแต่ดูแลและพบเจอคนมากในเวลาเท่ากัน คนชมคนพูดมากว่าเอาใจใส่ ส่วนคนพูดน้อยก็ต้องทนไปกับคุณสมบัติของตัวเองที่พูดน้อย ทำไมความแตกต่างกัน ไม่เท่าเทียมกันจึงมีมาก หมอหนึ่งทำไมถึงต้องตรวจคนมากมายนัก ไม่มีเวลาฟังเรื่องทุกข์ทนของคนไข้ ถูกตำหนิจากการไม่ฟังคนไข้ เพราะหากฟังมากๆเขาคงต้องตายก่อน หรือลาออกไปเสียก่อน คนที่เหลือก็จะยิ่งลำบาก การทำงานเกินหน้าเป็นปัญหาอย่างยิ่งที่สมควรเล่า เช่นหน้าหนึ่งต้องทำอย่างหนึ่งแต่ก็ไปทำอีกอย่าง ปัญหาจึงเกิดขึ้นมาก และจะแก้ปัญหาไม่ได้หากไม่เล่าสิ่งที่เป็นจริง ผมว่าทุกข์และความน่าเห็นใจเกิดขึ้นกับคนทั้งสองฝ่ายทั้งผู้มารับบริการและให้บริการ หากมีความสุขกันดีอยู่คงไม่เกิดเหตุการณ์แย่ๆให้พบเจอทุกๆวัน แต่เมื่อพบเจอเรื่องแย่ๆก็คิดได้ว่าที่เราเป็นเช่นนี้อาจเป็นเพราะเราไม่เล่าเรื่องจริงๆ เล่าอ้อมๆสุดท้ายก็ได้ความจริงบ้างส่วนไม่ทั้งหมด

เรื่องของคนไข้ที่ถูกกระทำจากระบบกระทำมีมากนัก เช่น คนไข้บัตรทองใช้สิทธิ โรงพยาบาลเอกชน แล้วถูกกระทำจากคำว่ากฏระเบียบ การไม่มียาระงับปวดใช้หมอก็ทนได้ หมอเป็นโรคเฉยพร้อมที่จะไม่รู้เรื่องการ care และไม่คิดจะรู้เรื่องนี้และไม่คิดจะทำอะไรให้ดีขึ้นเกี่ยวเนื่องกับการ care นี้ (เรื่องเล่า หรือ narrative medicine ก็มาช่วยให้ palliative care ดีขึ้น) เพราะเหตุที่รู้เรื่องนี้ก็จำเป็นที่ต้องทำหน้าที่ให้ดี หากไม่รู้ก็พอใจในความไม่รู้ของตน การรักษาคนไข้จึงกลายเป็นเรื่องที่พูดว่ารักษาไม่ได้บ้าง พูดไม่ออกหรือไม่พูดบ้าง หมอที่เอาแต่ใช้ยาแพงโดยละเละการ care และ team ผมมองว่า การจะรับรู้และเล่าเรื่องไม่ใช่เพียงเฉพาะคนไข้ ผมคิดว่าหากสามารถรู้ว่า ทั้งสองฝ่ายทั้งผู้ให้และผู้รับมีเรื่องทั้งที่ดีและไม่ดีคละกันไปก็น่าจะดี ผมเห็นว่า ปัญหาอยู่ที่ระบบ และตัวของเราเอง

ได้มาพบขุมทรัพย์ใน gotoknow ขออนุญาตอ้างอิงถึงนะคะ :-)

อ่านบทความนี้แล้ว รู้สึกว่าทำให้ใคร่าครวญเหตุการที่เกิดขึ้น เรื่องมีทิศทางมากขึ้น ยิ่งเชื่อมากขึ้นว่าเรื่องเล่าเปลี่ยนโลกได้ ครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท