จิตตปัญญาเวชศึกษา 148: ความรู้นั้นตกผลึกหรือตกตะกอน? ตอน 1


ความรู้นั้น "ตกผลึก" หรือ "ตกตะกอน"?

บทความนี้เป็นการต่อตอนมาจากความค้างคาใจส่วนตัวของผมเองซึ่งตอนแรกก็ไม่ได้ตั้งใจจะต่อ แต่แล้วไปๆมาๆ อาจจะเป็นเพราะเดี๋ยวนี้กระบวนการจัดการความรู้เป็นอะไรที่ขึ้นอัันดับน่านิยม ก็เลยมีบางส่ิงบางอย่างต่อยอดตัวมันเองออกมาภายหลังได้เหมือนกัน

crystallization photos by Roosmoos

ในยุคต้น การบรรยายโดยวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิเป็นรูปแบบการถ่ายทอดความรู้อันคุ้นชินต่อพวกเราทุกคน เพราะเราเติบโตมาในระบบครูสอนศิษย์ คนอาบน้ำร้อนมาก่อนสอนคนพึ่งมาอาบ ในองค์กรองค์การศึกษาก็เต็มไปด้วยผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง รู้ลึก (กว้างหรือไม่นั้นเปิดโอกาสให้ถกกัน) ก็เป็นยุคแห่งนักคิด ยุคแห่งการจด lecture อัดเทป ดูด powerpoint ออกหนังสือกัน

คิดมากๆเข้า ปรากฏว่า "ไม่ได้ทำ"

คิดมากๆเข้า ปรากฏว่า "ไม่ได้ทำก็กลายเป็นผู้เชี่ยวชาญ ผู้ทรงคุณวุฒิได้" เพราะอ่านเยอะ รวบรวมเยอะ เอามาตัดต่อเรียบเรียง ก็กลายเป็นความรู้จากเราไปได้ (มีคนนินทาหนังสือตำรามาตรฐานศัลยศาสตร์ต่างประเทศบางเล่มว่า บรรณาธิการนั้นเลิกผ่าตัดหรือผ่าตัดน้อยมากมานานแล้ว หันมาเขียนหนังสือรุ่งกว่า ดังกว่า มีชื่อเสียงกว่า) ยิ่งเขียนตำราเยอะ ยิ่งได้ตำแหน่งวิชาการมาประกอบ เป็นหลักฐานเชิงประจักษ์แห่งความรอบรู้ แห่งความสำเร็จในวิชาชีพนักการศึกษา Academia ไป

ผนวกกับได้มาครุ่นคิดใคร่ครวญอย่างแยบคายกับพระบรมราโชวาทของสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนกที่ว่า "True success is not in the learning but in its application to the benefit of mankind" ก็มีคน "ฉุกคิด" ได้ว่า เอ... สงสัย ฐานคิดอย่างเดียวคงจะไม่พอรึเปล่า มันต้องไปกับ "ฐานกาย" และซึมลงไป "ฐานใจ" ด้วย จึงจะครบ Head Heart Hand

ก็เลยเริ่มสนใจ "คุณกิจ" หรือผู้ลงมือกระทำมากขึ้น มองเห็นคุณค่าของ First-hand knowledge มากขึ้น ไม่ใช่ขวนขวายสนใจแต่ second-hand, third-hand, forth-hand knowledge ที่ได้มาจากค้น จากคว้ามาครุ่นคิด แต่ไม่ค่อยจะได้คลำ คลึง เคล้น มาสักเท่านั้น ประเภท "เขาว่ามา ก็... ว่าตาม แต่ขอเติม (ความเห็น) อีกนิดของเราลงไป" พอเป็นเช่นนี้เวทีการเรียนรู้ ก็ปลด stage ลง เอา Podium ออก เอา "ผู้ลงมือทำ" มานั่งล้อมวงเล่าเรื่องราวกัน แลกเปลี่ยนกัน เป็นประสบการณ์สดๆจากผู้ปฏิบัติ (ภาษา Gotoknow ชอบใช้ว่า "เจอตัวเป็นๆ" (ฟังดูหวาดเสียว หวาดระแวง ว่าไอ้ที่เคยอ่านๆใน web น่ะ อาจจะไม่มีตัวตน อาจจะเป็นโปรแกรมอะไรสักอย่างนึง) ก็ได้อารมณ์มากขึ้นเยอะ

กระนั้นด้วยความนิสัยเก่าที่ฐานคิดแก่กล้า ฟังเรื่องเล่าเยอะๆชักมึน ชักยาวไป ชักเยิ่นเย้อเวิ่นเว้อ อะไรมันจะมีรายละเอียดมากขนาดนี้ มีทั้งแววตา หน้าแดง หายใจเร็ว มือสั่น หัวใจบวมพอง ท้องไส้ปั่นป่วน ฯลฯ คนที่เคยจด เคยบันทึก lecture ก็อึดอัด เพราะเยอะเกินไปบ้าง จดไม่ทันบ้าง หรือข้อสำคัญ "มันไม่เห็นเกี่ยวตรงไหน" หรือ "มันไม่เห็นจะสำคัญอะไร" ก็เลยมีคนทำหน้าที่สำคัญอีกประการคือ "ถอดความรู้" หรือ "สรุปบทเรียน" เกิดขึ้นมา

ซึ่งมีประโยชน์มากสำหรับสังคมยุค fast-food, drive-in, one-stop service ที่ไม่ต้องมานั่งอ่าน นั่งฟังอะไรที่เยิ่นเย้อเวิ่นเว้อให้เสียเวล่ำเวลาอีกต่อไป ได้ "เนื้อล้วนๆ" ไม่ติดมัน ติดกระดูก ให้ต้องมาเสียเวลาแคะขี้ฟัน แปรงฟัน ล้างปาก หลังเสพความรู้ เสียอารมณ์อีก

(หารู้ไม่ว่า สุนทรีย์ที่แท้จริงนั้น อาจจะอยู่ที่การได้แทะเอ็นจากข้อ ดูดน้ำจากเปลือก เช็ดปากด้วยแขนเสื้อ ก็เป็นได้)

ที่พบบ่อยมากก็คือ หลังถอดบทเรียน สิ่งที่ได้จะ "สั้นลง" จากเรื่องเล่า เรื่องราว จากเหตุการณ์จริงที่เกิดขึ้น มีบ้างบางครั้งเหมือนกันที่การถอดบทเรียน จะมีอะไร "เพิ่มเติม" เข้ากับสิ่งทีเกิดขึ้น จากการหล่อหลอมตัวตนของคนถอด เกิดความรู้ใหม่ เกิดทฤษฏีใหม่ เกิดสมมติฐานใหม่ แต่การถอดหลายๆครั้ง ลดกระบวนการเหลือเพียง "ตัดให้สั้นลง"

กุญแจสำคัญคือ "ตัดอะไรออกไป?"

คำตอบ "ตัดสิ่งที่ไม่เกี่ยว ไม่สำคัญน่ะสิ" พวกติดมัน เอ็น น้ำซุป กระดูก ผักชี ยี่หร่า ฯลฯ เอาแต่ "เนื้อล้วนๆ" น่ะ เข้าใจไหม?

สำหรับความรู้เชิง concrete ก็เห็นด้วยนะ วิศวะ สร้างถนน สร้างตึก สถาปัตย์ออกแบบตึกไม่พัง ไม่ถล่ม สร้างตุ่ม สร้างส้วม ของพวกนี้ชัดเจน ไม่ต้องพรรณนาเหลี่ยมมนกลมตรงคดโค้งมากนักก็ได้ แต่ถ้าพูดถึงเรื่องราวที่ซับซ้อน มีหลายมิติเกี่ยวข้องกัน จะพบว่า "การจะตัดอะไรออกไปที่ไม่สำคัญนั้น มันยาก"

ยกตัวอย่าง "ทำไมถึงทำซุ้มประตูสวยอย่างนี้ ไปเอาแบบมาจากไหนเหรอ ยุคไหน เรอเนซอง โกธิก หรืออะไร?"

ตอบ "อืม.. ไม่แน่ใจ เอามาจากหลายเล่ม เผอิญลูกสาวจะแต่งงาน และจะทำพิธีในซุ้ม ก็เลยอาสาทำให้"

"อ้อ แล้วหนังสือที่ใช้น่ะ มีอะไรบ้าง ขอจดหน่อย เดี๋ยวจะตามไปถอดดูอีก สวยจริงๆนะซุ้มนี้...."

นี่เรียกว่าฟังไม่หมด คิดออกแต่ว่าแบบประตูเอามาจากหนังสือ ไม่เห็น "จิต" คนทำว่่าเขากำลังทำเพื่อลูกสาว เป็นงานแต่งงาน วันแต่งงานของลูก ความสวยงาม ความทุ่มเทจิตใจมันเลยปรากฏออกมาในเนื้องาน ถ้าดันสรุปว่าเป็นการ integrate หนังสือออกแบบ 3 เล่ม 4 เล่มแค่นั้น ไม่ได้เอาบริบท เอาเรื่องเล่ามาประกอบ มันก็อาจจะไปกันคนละเรื่องกันอย่างสิ้นเชิง

หรือเมื่อเร็วๆนี้อาจจะจำได้ ในละครเรื่อง "ทัดดาว บุษยา" ที่ทำไม "กาแฟเจ้าทัศน์มันถึงอร่อยอย่างนี้ จ้าวน้อยถึงได้ติดใจกันนักหนา" สูตรกาแฟมันจะยากเย็นอะไรนัก

คำตอบก็คือ "เขาชงด้วยใจ"

"นั่นและ ไหนบอกสูตรหน่อยซิ กาแฟกี่กรัม กี่ช้อน น้ำตาลกี่เม็ด กี่ก้อน ใส่ครีมด้่วยไหม?"

"อืม ก็กาแฟสองช้อน ดำ ไม่ใส่อะไร แต่ตอนชงมันคิดถึงคนจะกินอยู่ อยากให้เขามีความสุข"

"เหรอ คิดอยู่เหรอ อ๋อ สงสัยต้องทิ้งไว้นานหน่อยใช่ไหมล่ะ คิดนานกี่วินาที ยืนคิด หรือเดินไปเดินมา (เผื่อลมโบกแก้วกาแฟ) บอกหน่อยสิๆๆ"

บลา บลา บลา.....

ข้อสำคัญ ไอ้คนอย่างนี้น่ะ ไปกินกาแฟเจ้าทัศน์ชง ก็ไม่ได้รู้รสชาติอีกตะหาก จะยิ่งฉงนงงงวยไปยกใหญ่ นั่นเป็นเพราะที่จ้าวน้อยชอบน่ะ มันไม่ใช่เพราะกาแฟ แต่เพราะ "เจ้าทัศน์ชง" ตะหาก ภาษิตไทยน่ะมีว่า "ยามรัก น้ำต้มผักก็ว่าหวาน"

ลองคิดดูว่าการถอดบทเรียนที่เป็นเชิงสังคมศาสตร์ สุนทรียศาสตร์ หรือที่สำคัญที่สุด "มานุษยศาสตร์" ที่เกี่่ยวข้องกับมนุษย์นั้น เราจะตัด "บริบท" ออกไปได้หรือไม่?

ถ้าเราเผอเรอ ตัดเอาอะไรที่เราคิดว่าฟุ่มเฟือย เยิ่นเย้อ เวิ่นเว้อ ออกไปหมด เหลือแต่ "เนื้อล้วนๆไม่ติดมัน" นั้น เราอาจจะตัดอะไรที่สำคัญที่สุดไปโดยไม่รู้ตัว อย่างที่ผมเคยเขียนไว้่ในบทความหนึ่ง เรื่อง "อะไรที่ห้ามพลาด ในการสนทนา" เพราะบางคนอุตส่าห์ได้มาร่วมใน world cafe ได้เจอะเจอกัลยาณมิตรเป็นสิบๆคน แต่เอาแต่ตั้งตาตั้งตาจดแต่ contents ก็เลยได้แค่ contents ไม่ได้มิตรภาพ ไม่ได้ความรู้สึกดีๆที่เกิดขึ้นจากการ share เรื่องราว บางคนยิ่งกังวล จดไม่ทัน คว้าเทปมาอัด เอาวิดิโอมาเรคอร์ด จิตฟุ้งซ่านไม่ได้อยู่กับคนเบื้องหน้าตลอดงาน

ผมอยากจะเรียกการถอดความรู้ แบบ "เปลือยบริบท" ออกไปหมด เหลือแต่ "เนื้อล้วนๆ" นี้ว่าเป็นการ "ตกตะกอนความรู้" เพราะเป็นการถอดแบบความเชื่อที่ว่า ความรู้ไม่ได้ขึ้นกับบริบท แต่เป็น linear equation ทำอย่างนี้จะต้องได้อย่างนี้ ตรงไปตรงมา

ตรงกันข้ามกับการเอาเรื่องราวทั้งหมด รายละเอียดทุกอย่าง ถือเป็น "เหตุปัจจัย" ที่ทำให้เกิดอะไรอย่างที่เกิด (และตระหนักอีกต่างหากว่า อาจจะมีอะไรที่เราเองก็ยังมองไม่เห็น เพราะไม่มีคนเล่า หรือเล่าไม่หมด ที่เป็นเหตุปัจจัยสำคัญ หรืออาจจะสำคัญที่สุด) ความรู้ที่ได้จึงไม่แยกชั้น บทเรียนที่ได้ เป็นการ "ตกผลึก" คือสารละลาย (ความรู้) และตัวทำละลาย (บริบท) มันเข้มข้นกลมกลืนในระบบ ในนิเวศน์นั้น จนชัดขึ้นๆ กลายเป็นผลึกจากทุกสิ่งทุกอย่างผสมรวมกัน

เราอยากจะได้ความรู้แบบไหน? ตกผลึก หรือ ตกตะกอน

ก็เลือกเอาเอง

หมายเลขบันทึก: 405269เขียนเมื่อ 29 ตุลาคม 2010 09:53 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:43 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

สวัสดีค่ะอาจารย์ ขออนุญาตเสริมหน่อยนึงค่ะ หลายๆ ครั้ง ที่ได้มีโอกาสเข้าร่วม World Cafe ดิฉันพบว่า ผู้จัดเน้นที่การได้ contents ในเวลาอันจำกัดค่ะ เลยทำให้ผู้เข้าร่วมไม่ได้สร้างมิตรภาพเท่าที่ควรค่ะ

ปล ได้ iPad ส่งมาแล้วค่ะ สุดยอดมากๆ ตอนนี้ อ.ธวัชชัย สนุกกับการโหลด app ค่ะ :)

ฮ่ะ ฮ่า สวัสดีครับอาจารย์จันทวรรณ

ผมนอนเล่นหลับคา iPad มาหลายอาทิตย์แล้ว อิ อิ มันจริงๆ HD graphic game ที่จอใหญ่ (ขนาดวัยผม หึ หึ) นี่ทำให้มีอะไรทำเยอะมากครับ ผม load Marvel, DC comic มาอ่าน ภาพคมชัด สีสวยงามกว่าหนังสือ แวววาว metalic ออกชัดเจน ราคาก็ถูกกว่าหนังสือ เท่ากับเราแบก library ส่วนตัวไปไหนมาไหนได้ตลอดเวลา app ที่อาจารย์ธวัชชัยใช้อาจจะไม่เหมือนของผมเท่าไหร่ แฮ่ะๆ บอก อ.ธวัชชัยระวัง addict อดหลับอดนอนนะครับ เดี๋ยวจะหาว่าไม่เตือน ใครเคยเล่น Angry Bird ฉบับ iPhone แล้ว มาเจอฉบับ iPad อลังการงานสร้างอย่าให้เทียบเลย

เรื่องการจัดสรรเวลาในการทำ KM ของเราเป็นข้อจำกัดจริงครับ แต่มันจะจำกัดมากหรือน้อย ก็ขึ้นกับสิ่งที่เราอยากจะได้ด้วย ของบางอย่างมัน worth for life-time work ก็มี บางอย่างก็ worth 10-minute work เท่านั้น ก็แล้วแต่กันไปครับผม

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท