บทความที่ 500: ลิขิตกรรมเพื่อการเยียวยา



บทความที่ 500: ลิขิตกรรมเพื่อการเยียวยา

อีกประมาณ 9 วันจะครบวาระ 4 ปีที่ผมเริ่มเขียนลง gotoknow และโดยบังเอิญ ชำเลืองไปดูสารบาญประจำ blog ที่ทาง Usable Lap ทีมจัดทำมาอย่างดี ผมได้เขียนมาถึง 499 บทความไปแล้ว ฉะนั้นฉบัับนี้จึงกลายเป็นฉบับที่ 500 ไปโดยปริยาย โดยไม่ใช่เป็นปริโยสาน เนื้อหานั้นก็มีทั้งปริยัติ ปฏิบัติ ส่วนใครจะปฏิเวธ (แม้แต่ผู้เขียนเอง) ก็สุดแล้วแต่และนอกเหนือจินตนาการ เหตุการณ์ในประเทศก็มีทั้งปฏิวัติ ปฏิรูป และปฏิสนธิมากมายในระหว่างทาง

การค้นพบว่าเป็นบทความที่ 500 ทำให้มีผลหลายอย่าง ที่แน่ๆแทนที่จะเขียนลงไปสบายๆ (อย่างทุกบท) มันเกิดมีวาระขึ้นมา ซึ่งเราเป็นคนสมมติขึ้นเองให้เป็นวาระ ฟุ้งซ่านอยู่หลายร้อยวินาทีก่อนที่สติจะกลับมาบอกว่า "ก็เขียนๆไปเหมือนปกติแหละ"

...ตามนั้น...

เช้านี้ในกระดานข่าวคณะแพทย์ มีคอลัมภ์หนึ่งมีบทความของอาจารย์นายแพทย์ธาดา ยิบอินซอย ให้ download ฟรีในรูปแบบ pdf file เป็นหนังสือที่ระลึกในงานพระราชทานเพลิงศพของท่านอาจารย์ ซึ่งผมขออนุโมทนาว่าเป็นการแสดงถึงความเคารพท่านในวิธีที่ดีที่สุด คือ เอาความเชื่อ คำแนะนำ และความคิดของบุรพาจารย์มาใคร่ครวญไตร่ตรองต่อ อ่านแล้วก็เกิดแรงบังดาลใจ ประหลาดใจ สะเทือนใจ หลายอารมณ์ขึ้นมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งเนื้อหาส่วนที่เกี่ยวกับแพทยศาสตรศึกษาที่ท่านเขียนมาตั้งแต่ปี 2537 ถึง 43-45 ก็หลายปีอยู่ ซึ่งด้วยความ ignorance ของผมเองหาทราบได้ไม่ว่าเคยมีบทความระดับนี้อยู่ใกล้ๆ เชื่อว่าบุญตามทัน ก็เลยทำให้ยังมีโอกาสได้อ่านตอนนี้

บทความที่จะเขียนนี้ ไม่ใช่บทวิเคราะห์ข้อเขียนในหนังสือดังกล่าว แต่ว่าเขียนหลังจากได้อ่านหนังสือเล่มนั้น ถือว่าเกี่ยวกันแบบนี้ (ก็แล้วกัน)

งานของหมอคือการเยียวยาผู้คน ประโยคนี้ไม่ได้หมายความเพียงว่า "หมอเท่านั้นที่สามารถเยียวยาผู้คน" เหมือนๆกับใครๆก็ทำอาหารได้แต่ทุกคนไม่ได้มีอาชีพขายอาหาร ใครๆก็สอนอะไรบางอย่างกับใครบางคนตลอดเวลาแต่ก็ไม่ได้มีอาชีพเป็นครู แต่เราตกลงปลงใจว่าในสิ่งที่ชีวิตนี้เราเลือกจะเรียกว่าเป็น "งาน" ฉันขอทำงานเพื่อการเยียวยาผู้คน และจากตรงนี้ก็เลยเป็นที่มา ที่อธิบายพฤติกรรมต่างๆนานาของหมอ ว่าจะทำอะไรบ้างจะได้ทำงานที่ว่านี้ได้

การเยียวยาเป็นคำใหญ่ (ของผม) เพราะมันเป็นกระบวนการธรรมชาติที่ทรงพลัง แม้แต่ตอนนี้เองที่เราเดินทางไปถึงดาวพลูโต (ก่อนจะพบว่ามันไม่ใช่ดาวในระบบสุริยะแล้วได้นำชื่อนี้ออกไป... หลังๆนี่ได้ข่าว ชักมีคนไม่แน่ใจอยากจะดึงกลับมาอีก) ก็หาได้แปลว่าเรารู้เรื่องในตัวเราหมดแล้วไม่ ตรงกันข้าม ความอหังการบางอย่างที่เรารู้เรื่อง (อื่น) มากๆ ทำให้เราหลงเพ้อว่าเรารู้บางเรื่องไปด้วยอย่างไร้สาระ ไร้เหตุผลสิ้นดี อีกมากมายหลายเรื่อง

สิ่งมีชีวิตมีการเยียวยาเป็นหน้าที่หนึ่งของระบบมาแต่แรกเริ่ม เยียวยาร่างกาย อวัยวะ สมดุล ต่างๆ อยู่ตลอดเวลา และตรงนี้เราพอจะสามารถ assume หรือสรุปโดยอ้อมว่า ถ้าเราเยียวยาร่างกายได้ด้วยตนเอง มิติอื่นๆของชีวิตที่ไม่ได้เป็นเพียงแค่ร่างกายเท่านั้น ได้แก่ ความรู้สึกนึกคิด จิตใจ จิตวิญญาณ ก็น่าจะมีกลไกตามธรรมชาติเยียวยาอยู่เหมือนกัน

รึเปล่า?

อาทิ การ counseling หรือการให้คำปรึกษานั้น ทักษะที่สำคัญที่สุดคือการฟังอย่างลึกซึ้ง และผลแห่งการฟังนี้ ก็สามารถเร่ิมขั้นตอนการเยียวยาให้เกิดขึ้นได้แล้วในตัวผู้ระบายออกมา การฟังที่ดีของแพทย์กล่าวได้ว่าเริ่มการเยียวยาแก่ผู้ป่วยแล้วตั้งแต่ที่ OPD โดยที่ยังไม่ทันได้สั่งยา ตรวจร่างกาย ส่ง investigate อะไรเลย แต่ที่น่าสนใจก็คือ แล้วคนที่เรียกตัวเองว่า "หมอ" ที่หน้าที่คือการเยียวยานั้น รู้ตัวหรือไม่?

สำหรับบางคน ที่ไม่พอใจเรียกตัวเองแค่ "หมอ" แต่ "ผมเป็น diagnostician (หรือ นักวินิจฉัยโรค)" (อย่างหนัง series การแพทย์ในดวงใจของหลายๆท่าน คือ House) ถ้าเรียกตัวเองอย่างนั้น การฟังคนไข้ที่ยังไม่ได้นำไปสู่การวินิจฉัย (diagnosis) ก็จะยังไม่บรรลุ mission ของท่านที่จะต้อง "วินิจฉัย" ให้ได้เสียก่อน และในขณะเดียวกัน ก็ทำให้เรามองเห็นพันธกิจของท่านที่ว่านี้ได้ว่า ท่านไม่ได้ทำงานเพื่อคนไข้ แต่ท่านทำงานเพื่อ ego ของท่านเองว่่าสิ่งสำคัญที่สุดคือ "การบอกโรคได้" และอาจจะยิ่งชัดขึ้น เมื่อกลุ่มแพทย์ทางเลือกอื่นๆ ที่จงใจเรียกตัวเองว่าเป็น Healer (ผู้เยียวยา) จะได้แยกแยะออกจากบรรดา "หมอ" อื่นๆ

คำหลายๆคำเหล่านี้ บ่งชี้ถึง "function หรือหน้าที่" มากกว่าสถานะ ซึ่งตรงนี้เราต้องไม่สับสน

เพราะสถานะนั้นประกาศยืนยันด้วยประกาศนียบัตร หรือใบปริญญาที่เรานิยมแขวนในที่ อรโหฐาน ว่าเราเป็นโน่น เป็นนี่ แต่คนไข้เขาจะเรียก (หรืออยากจะเรียก) เราตามสิ่งที่เรา "ปฏิบัติ" กับเขามากกว่า

การเรียนการสอนแพทยศาสตรศึกษาของเราก็น่าสนใจว่า เราใช้เครื่องมือต่างๆทางการศึกษามากมายนั้น เรา create healer หรือ doctor กันแน่?


ลิขิตกรรมเพื่อการเยียวยา

หลังจากที่ชาว gotoknow ได้ช่วยๆกันสร้างชุมชนแห่งนี้ขึ้นมา และผมได้มาระบายอะไรต่อมิอะไรตามอำเภอใจจนจะครบ 500 ในฉบับนี้ ก็ถึงเวลาสะท้อนว่าเกิดอะไรขึ้น เห็นอะไร รู้สึกอะไร เรียนอะไร ตามธรรมเนียมของบทความครบวาระต่างๆ

ไม่ต้องพูดถึงสิ่งที่ obvious คือ "ได้เขียน" หรือ "ได้เจอเพื่อน ได้เพื่อน" ฯลฯ ซึ่งเป็น common sentimental ที่หลายๆคนได้พรรณนาด้วยโวหารระดับเทพไปเยอะแยะมากมาย ผมขอเติมว่า "การเขียนเป็นการเยียวยา" ระดับสุดยอดวิธีหนึ่ง

เพราะอะไร?

ผมเขียนตอบคุณหมอปัทมา ที่มีปุจฉาว่าทำงานอย่างไรไม่เกิด burn out เอาไว้ว่า

สำหรับ ตัวผม "ชีวิต" คือ function เป็นการกระทำ เป็นการมีปฏิสัมพันธ์ ทั้งภายในและภายนอก และการได้ "มอง" ปรากฏการณ์เหล่านี้สำหรับผมเป็นการใช้ชีวิตที่เพลิดเพลิน

ดังนั้นมีสององค์ประกอบ คือ เรายัง "ทำ" อยู่ไหม และที่เราได้ทำ เรายัง "มอง" อยู่ไหม ตราบใดที่ทั้งสองประการ สององค์ประกอบยัง flow อยู่ ไม่ว่าจะเป็นงาน หรือเป็นอะไรก็ตาม ผมยัง "มีชีวิตและใช้ชีวิต"​ ที่ OK อยู่

นั่นคือตราบใดที่เรามีสติ มีความรู้ตัว และมองเห็นสิ่งต่างๆที่เกิดขึ้่นกับเรา ในตัวเรา และกับสิ่งรอบๆข้าง ด้วยเหตุผลบางประการ ความทุกข์ต่างๆดูจะชะลอและหยุดเติบโต ตราบใดที่เรายัง "มีใจ" ใคร่ครวญกับสิ่งนี่้อยู่อย่างมีปัญญษ

และการเขียนนี่แหละ ที่ทำให้เราหยุด หรือ "ช้าลง" และเกิด awareness that we aware หรือ awareness that we are feeling ได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งนัก

กลไกไม่ทราบชัดเจน แต่ที่แน่ๆ ถ้าเราจะเขียนอะไรสักอย่าง เราสามารถสังเกตได้เลยว่า "การเขียน" ใช้ function ของอวัยวะมนุษย์ที่พัฒนาเต็มที่ ได้แก่ fine movement ของนิ้วและของมือ ไม่นับสมองส่วนหน้าที่พัฒนาแตกต่างจากสัตว์อื่นๆ ผลงานมนุษย์ที่เป็นงานขีดเขียนนี่แหละที่เป็นจุดเริ่มต้นประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมของ Homo sapiens sapiens

แม้ว่าจะไม่ถึงขนาดเขียนแล้วหายหวัด หายไอ มะเร็งหดตัว ลิ้นหัวใจไม่รั่ว แต่มีกระบวนการเยียวยาเชิงระบบเกิดขึ้นอย่างละเอียดอ่อนในตัวเราเองแล้วแน่นอน บางคนทะลุความกลัวอะไรบางอย่างถึงเขียน บางคนสงสัยอะไรบางอย่างก็เขียน บางคนเกลียดอะไรบางอย่างก็นำมาเขียน

แล้วก็เยียวยา

หมอเองเวลาเจอคนไข้ ซักประวัติ ตรวจร่างกาย เสร็จแล้วก็เริ่มเครียด ไม่ทราบว่าเป็นโรคอะไร กลับมานั่งเขียน OPD card (หรือบางที่ก็ใช้พิมพ์ แล้วแต่ความ so-called high-tech) พอเริ่มเขียนไปได้หน่อย ชีวิตมันเกิด "ความชัด" ขึ้น เหมือนกับเรามีของที่เป็นนามธรรม (เช่นความคิด) แล้วสิ่งนั้นค่อยๆเปลี่ยนเป็นรูปธรรม สัมผัสได้ด้วยผัสสะทั้งหก สฬายตนะทั้งห้าของเรา เหมือนกับเราสามารรถ "มองเห็น" ความคิดของเราเอง คำตอบว่าจะทำอะไรต่อไปดี ก็หลุดออกมาได้โดยไม่มีเหตุผล

บ่อยครั้งที่การอ่านก็ทำให้เกิดสิ่งเหล่านี้ได้ แต่ผมคิดว่าในดีกรีที่น้อยกว่าเราเป็นคนเขียนเองเยอะ อธิบายไม่ได้เหมือนกัน

ก็อยากจะขอบคุณ gotoknow ทั้งคนผลิต คน maintenance และชาวประชาที่คอยอ่านเงียบๆ อ่านดังๆ อ่านแล้วบ่น ด่า ชม เถียง ฯลฯ เพราะผมเชื่อว่าในพื้นที่รุ่มรวยแห่งนี้ ไม่เพียงแค่สร้างสรรค์สังฆะ กัลยณมิตร แต่ยังเป็น sanctuary สถานอภิรมย์แห่งการเยียวยา ซึ่งสังคมเราจำเป็นต้องมีอย่างยิ่งยวดแล้วในขณะนี้

สุดท้าย อย่างน้อยผมตายไป คนจะทำหนังสืออนุสรณ์ก็ไม่มีปัญหาว่าจะหาบทความมาลงไม่ได้ ปัญหาก็คงจะเป็นจะเอามาลงแค่ไหน ซึ่งง่ายกว่ากันเยอะ

หมายเลขบันทึก: 422657เขียนเมื่อ 26 มกราคม 2011 16:21 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:35 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (23)

เป็นการบันทึกตำนานชีวิตที่ดีเหลือเกินค่ะอาจารย์ อีกท่านหนึ่งที่บอกไว้ว่าเขียนบล็อกเพื่อเขียนตำนานชีวิตให้ลูกหลานคือ อาจารย์หมอ JJ ค่ะ แต่อันที่จริงก็ยังมีอีกหลายท่านค่ะที่เขียนบอกเล่าสิงที่ผ่านมาในชีวิตเพื่อเป็นสมุดแห่งตำนานชีวิตค่ะ อาจารย์หมอวิจารณ์ เป็นอีกท่านหนึ่งค่ะ

ไม่น่าเชื่อว่า GotoKnow จะดึงดูดคนที่ใจที่อยากจะให้ความรู้มาอยู่กันมากมาย ที่เขาบอกกันว่า คนไทยหวงความรู้ ไม่น่าจะใช่แล้วค่ะ เพราะที่นี่มีคนไม่หวงความรู้อยู่มากมายนะค่ะ

ดีใจที่ได้อ่านเรื่องที่ 500 ถึงแม้ว่าจะไม่ได้เริ่มอ่านตั้งแต่เรื่องที่1 แต่หนูก็เป็นสาวก..นกไฟ..ซะแล้ว

ดีใจที่ได้อ่านเรื่องที่ 500 แม้ว่าจะไม่ได้เริ่มอ่านตั้งแต่เรื่องที่ 1 แต่หนูก็เป็นสาวก..นกไฟ..ชัวร์

500 .....เห็นทีต้องกลับไปอ่าน 499...ย้อนไปเรื่อยๆ การอ่านเป็นการเยียวยา และการเยียวยาตัวเองก็เป็นธรรมชาติของสิ่งที่มีชีวิต..มิใช่หรือ ขอบคุณที่มีข้อเขียนที่สนับสนุนธรรมชาติที่แท้จริงค่ะ

ขอบคุณครับ อ.จัน

หวงความรู้รึเปล่านั่นไม่แน่ใจ แต่ที่แน่ๆผมไม่หวงความไม่รู้ครับ ที่เขียนๆมานี่ ผลักดันจากความไม่รู้เป็นส่วนใหญ่

คุณ oraphan

เล่นเสียสองดอกซ้อนเลยนะครับ ดีไม่เอาอีกชุด จะกลายเป็น "ตติยัมปิ..." ไป หึ หึ

อาจารย์ Lin Hui

อ่านย้อนหลังระวังเมานะครับ ขนาดอ่านไปข้างหน้าบางทีผมยังคลื่นเหียนเวียนหัวเองเลย (เป็นห่วงสุขภาพแฟนๆ)

ตามอ่านงานของอาจารย์ตั้งแต่ได้ดู Departures ในบล็อก Human life cycle ครับ ถึงจะไม่ได้อ่านทั้งหมด แต่ก็ชอบบล็อกอาจารย์มากทีเดียว มันมีอะไรให้ได้คิดใคร่ครวญเยอะแยะไปหมด

จะติดตามต่อไปครับผม

ได้รับความรู้ มากมาย ครับ ต่อไปจะพยายามเขียนครับ

คำแรกนี่แหละยากสุด เขียนออกมาแล้วจะติดใจ

สวัสดีครับ อาจารย์Phoenix ครับ

อาจารย์ซิว...เคยบอกผมว่า...มีอาจารย์หมอท่านหนึ่ง เป็นศิษย์เก่าทวีษาภิเศก

หากผมจำไม่ผิด....วันนี้ผมค้นผมคนหัวใจเดียวกันอีกท่านหนึ่งที่นี่ ...

ขอบคุณบันทึกดี ดี ที่แสนงดงามจากความเอื้อเฟื้อของอาจารย์หมอPhoenix นะครับ

 

มาทีไรก็มานั่งจม...ส่องกระจกบานใหญ่ในห้องนี้นานๆ ท่านอาจารย์ช่วยกระตุ้นสติได้มากเลยค่ะ จากสภาพการณ์ที่เป็นอยู่ในงาน รวมถึงชีวิตในบ้าน ที่ใช้หูน้อยลงเรื่อย..ถนัดแต่ปากกับมือ.....หลังจากนี้ จะตั้งสติเพิ่มอวัยวะหูให้ทำงานมากๆๆขึ้นแล้วค่ะ

  • อ่านเพลินครับอาจารย์ เรื่อวราวในชีวิตของอาจารย์นี่ ไม่ว่าจะนั่งฟังอาจารย์คุย อ่านที่อาจารย์เขียน ดูรูปสะท้อนคิดผ่านเลนส์
  • เรื่องนี้และได้ความคิดอย่างนี้เลย เพิ่งได้แก่ตัวเองหมาดๆอีกด้วยเมื่อเสาร์ที่ผ่านมานี้เองล่ะครับ
  • เลยได้ลึกซึ้งจากอ่านการอธิบายของอาจารย์ครับ

ขอบคุณที่นำมาประสบการณ์ดีๆมาแบ่งปันค่ะ..ขอชื่นชม..และเก็บภาพ ดอกพุดตาน บานยามเช้า ที่บ้านมาฝากค่ะ..

อ่านแล้วคิดถึงตัวเองบ้างว่า เขียนทำไม (self center มาอีกแล้ว)

เขียนแล้วเยียวยาตนได้ ใช่เลย

และ

เขียนเพื่อทบทวน เก็บเป็นบันทึกส่วนตัวบ้าง(อ่านเองคนเดียว) เผยแพร่บ้าง

หลังการฟัง การอ่าน การถามในศาสตร์ทุกเรื่องที่เราสนใจ วิชาการทางแพทย์ การเมือง การเขียนบทความ บทกวี หรือแม้กระทั่งฟังเพลง

 

อ่านข้างบนใหม่เอง 

หัวใจนักปราชญ์ นั่นเองนะคะ สุตะ จิตะ ปุจฉา ลิขิต

อรุณสวัสดิ์ยามสายค่ะ อาจารย์ (ไปเข้าconference สายซะแล้ว)

สวัสดีค่ะ

ถ้าคุณหมอทั้งหลายมีเวลารับฟังอย่างลึกซึ้งก็จะดีมากๆ

น่าเห็นใจคุณหมอทั้งหลาย บางวันมีคนไข้เยอะมากๆๆๆ

 

ขอบคุณกัลยาณมิตรที่มาต่อเติมเพิ่มสีให้กับบทความนี้ครับ

ทุกๆความเห็นก็เป็น "กระจก" สะท้อนกลับมาให้ภาพตัวตนของเราชัดขึ้น หลากหลายมุมขึ้น หลายมิติขึ้น จากภาพเดิมสองมิติ กลายเป็นสามสี่มิติ เสมือน hologram และที่น่าทึ่งก็คือ ผมคิดว่า finished products ของแต่ละท่านก็ยังคงไม่เหมือนกันอยู่ดี มีคุณภาพอะไรบางอย่างที่ภาษาของเรานั้น inadequate ที่จะถ่ายทอดได้... แต่มีอยู่....

การเขียนคือการนำกระบวนคิด แนวคิด การรับรู้ แปลงเป็นตัวอักษรเพื่อสื่อสารให้ผู้อ่านได้รับรู้ เรียนรู้

ขอบคุณมากนะคะ

ตั้งแต่เป็นสมภาร ก็ไม่ค่อยได้เขียนได้อ่าน คืนนี้ มาเปิดบล็อกใหม่เพื่อใช้ในกิจกรรมของโรงเรียน เจอชื่ออาจารย์หมอก็เข้ามาเลย พอเริ่มอ่านก็เริ่มยิ้ม คล้ายๆ กับเจอเพื่อนเก่า...

พออ่านจบมาเจอความเห็นแรก เป็นของอาจารย์ดร.จันทวรรณ ก็นึกว่า อ๋อ เปลี่ยนนามสกุลแล้ว กำลังอุ้มน้องต้นไม้ ซึ่งตอนนี้ก็โตแล้วและก็เคยมาวิ่งเล่นในวัดแล้วด้วย นึกถึงรูปภาพของน้องต้นไม้ในอดีต บ่งชี้ว่าผ่านไปแล้วหลายปีจริงๆ...

ชอบใจเนื้อหาประเด็นว่า "การเขียนเป็นการเยียวยา" ก่อนโน้นอาตมาคงจะมีเวลาว่างมากจึงมาเยียวยาโดยการเขียน พอเป็นสมภารเวลาว่างน้อยลง การเขียนจึงมิใช่การเยียวยา การอยู่เงียบๆ รูปเดียวต่างหาก กลับเป็นการเยียวยา...

เจริญพร

*** หยก บูรพา เคยกล่าวว่า งานเขียนเป็นอนุสาวรีย์แห่งชีวิต ทำให้ดิฉันเกิดแรงบันดาลใจ แม้จะเป็นบทความสั้นๆ มุมมองไม่กว้างแต่เกิดจากประสบการณ์ตรง

*** การฝึกเขียน แต่ละบันทึกต้องใช้พลังความคิดและเวลา ชื่นชมการใช้ภาษาทุกถ้อยคำที่สวยงามของอาจารย์ ขอบคุณที่แบ่งปันทรัพย์สินทางปัญญาให้ได้เรียนรู้ค่ะ

สวัสดีค่ะ พึ่งรู้จักเวบไซต์โดยบังเอิญ ไม่ทราบว่าเชยไปหรือเปล่าคะอยากเป็นสมาชิกด้วยจัง

ได้อ่านบทความและการแสดงความคิดเห็น ทุกคนใช้วาจาสุภาพมากเลย

คิดว่าต้องเป็นสมาชิกอ่านด้วยคนนะคะ ไม่ทราบว่าคุณหมอเขียนบทความตั้งแต่ 1-500 เลยเหรอคะ น่าทึ่งมากเลย

ทุกครั้งที่ได้เข้ามาอ่านจะมีความประทับใจเสมอค่ะ อาจารย์เขียนจากประสบการณ์ทำให้อ่านแล้วเพลิดเพลินค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท