HA Forum 2011 (3.1) Aesthetic for Healing สุนทรียภาพเพื่อการเยียวยา


Aesthetic for Healing

สุนทรียภาพเพื่อการเยียวยา

ในงาน HA ครั้งนี้ มีอีกปรากฏการณ์ก็คือการมี workshop นอกกระแสหลักอยู่ถึงสองงาน ได้แก่ Aesthetic for Healing (สุนทรียภาพ/ศาสตร์ เพื่อการเยียวยา) และ workshop กายภาวนาและศิลปบำบัด ทั้งสอง workshop ได้ส่วนแบ่งเวลามาอย่างเรียกว่าจุใจคือ 1 วันเต็มๆ

ที่ผมเรียก (เอาเอง) ว่า "นอกกระแสหลัก" ก็เพราะว่ามัน.. เอ่อ.. นอกกระแสหลักอะ หึ หึ เป็นการเรียนรู้เชิงปฏิบัติที่ไม่ได้มี methodology งานวิจัยอย่างเป็นระบบมาก่อน มีส่วนที่เป็นอัตตวิสัย (subjectivity) ในสัดส่วนที่สูง และมีส่วนที่เรา "ภาวนา" (อันนี้ก็ "นอกระบบ" พอสมควรกระมังหนอ ไม่ค่อยได้ยินในวงการศึกษาเท่าไหร่ แม้จะพอมีบ้างก็เถอะ) มากพอควร

ในศาสตร์ทางตะวันออก การใช้ชีวิตกับการเยียวยาไม่ได้แยกออกจากกันสักเท่าไร การแพทย์จีนเน้นเรื่อง "สมดุล" ซึ่งไม่ได้จำเพาะเจาะจงที่การรักษา แต่เน้นที่การดูแลร่างกาย และการดูแลจิตใจด้วย ผสมผสานไปในคราวเดียวกัน อาหารการกินก็มีมิติของสมดุลปะปนเปกันอย่างไร้ตะเข็บ

สุนทรียภาพ หรือสุนทรียศาสตร์น่าจะมีคนพยายามให้นิยาม ความหมายเอาไว้เยอะ แต่เนื่องจากบทความนี้ไม่ใช่บทความวิทยานิพนธ์ เพื่อความสะดวกขอวิสาสะกำหนดนิยามเอาเองว่า "ผม" หมายถึงอะไร ทั้งตรงนี้และใน workshop ที่กล่าวถึง

"สุนทรียภาพ/ศาสตร์" คือสภาวะหรือวิชาที่ว่าด้วยปรากฏการณ์สั่นสะเทือนความละเอียดของการรับรู้ของมนุษย์

ภายในร่างกายมนุษย์มีการสื่อสารตลอดเวลา เรารับรู้อย่างหยาบๆถึงการสื่อสารภายในร่างกาย อาทิ อาหารลงจากคอไปกระเพาะ ดูดซึมจากลำไส้ ส่งไปตับม้าม หัวใจสูบฉีดเลือดส่งไปสมอง สมองรับรู้จากผัสสะทั้งห้า สฬายตนะทั้งหก เอาความรู้ความหมายเดิมใส่ลงไป เกิดความหมายใหม่และเก่า ฯลฯ ที่ผมบอกว่า "น้อย" หรือ "หยาบ" นั้นเป็นสัมพัทธ์ คือ เมื่อเปรียบเทียบกันปริมาณที่เกิดขึ้นกับที่เรารับรู้ ถือว่าน้อยมาก

กับภายนอกร่างกาย เรามีหน่วยรับรู้ที่ "ชัดกว่า" ภาพ เสียง ร้อนหนาว รส กลิ่น เยอะแยะไปหมดเหมือนกัน แต่ถ้าเรา focus ดีๆ เรารับได้ในเปอร์เซนต์ที่สูงพอใช้ได้ทีเดียว

จากนิยาม (ของผม) เติมคำว่า "ละเอียด" ลงไปในการรับรู้ทั้งในและนอกของมนุษย์ก็จะกลายเป็นสุนทรียภาพ ซึ่งจะพบว่ากว้างกว่า "ศิลปะ" จะครอบคลุมไปถึงการรับรู้ "ความจริงละเอียด" ก็ได้ ครอบคลุมไปถึงการรับรู้ความรู้สึกที่ละเอียดก็ได้ ความรู้ที่ละเอียด ความสัมพันธ์ที่ละเอียด ทำนองนี้

เมื่อนำกลับไปเชื่อมโยงกับหัวข้อบทความ ก็ออกเป็นข้อเสนอความคิดว่า

"เมื่อมนุษย์รับรู้ได้ละเอียด ก็จะเห็น เกิด รู้สึก ถึงการเยียวยา"

อันเป็นสมมติฐานส่วนตัวอีกเช่นกัน แต่เกิดจากประสบการณ์ตรงจากการทำงานดูแลผู้คนมาพอสมควร

เพราะการเยียวยาก็คือการกลับไปสู่สภาวะสมดุลนั่นเอง สมดุลหยาบๆก็มี แต่มีสมดุลหยาบไม่ได้การันตีสมดุลละเอียด แต่ว่าถ้ามีสมดุลละเอียด ค่อนข้างจะการันตีจะมีสมดุลหยาบไปด้วย สาเหตุที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะกว่าการเสียสมดุลละเอียดจะโค่นสมดุลหยาบๆลง อาจจะต้องเสียไปเยอะแล้ว เหมือนเราตัดต้นไม้ต้นใหญ่ๆ เลื่อยๆไปตั้งครึ่งค่อน กว่าที่ทั้งต้นจะโค่นล้มครืนลงมา และเช่นนี้เอง การเยียวยาแต่เพียงหยาบๆก็อาจจะไม่มั่นคงเท่าการเริ่มที่ละเอียดกว่า เราจะเอากระดาษหนังสือพิมพ์ไปห่อปราสาทไพ่ไม่ให้ทลายลงมา ก็ไม่มั่นคงเท่ากับเราค่อยๆทากาวที่ขอบไพ่แต่ละใบตรงจุดสัมผัสกันจะดีกว่า ร่วมกับการจัดการบริบท อาทิ ไปปิดหน้าต่างไม่ให้ลมพัดมาแรงๆ ติดป้ายเดินเบาๆเดี๋ยวปราสาทจะล้ม

ความละเอียดนั้นจะไปด้วยกันได้ดีกับ "ความช้า ความสุข ความผ่อนคลาย ความประณีตบรรจง ความสง่างาม ศักยภาพสูงสุดของมนุษย์" และจะลดลงกับ "ความเร็ว ลวกๆ จมทุกข์ เอาปริมาณเข้าว่า งกๆเค็มๆ"

สุนทรียภาพจึงเกิดได้ทั้งเป็นคนทำเองก็ได้ เป็นคนเฝ้าชมก็ได้ และไม่ต้องดิ้นรนแสวงหา copy กันไปกันมา มีอะไรก็สุนทรียะได้ทั้งนั้น เลี้ยงลูกเลี้ยงหลานก็ได้ จะอ่านหนังสือก็ดี จะฟังเพลงก็ตาม สวดมนต์ไหว้พระ พูดคุยสนทนากันในหัวข้อที่หล่อเลี้ยงจิตใจ ตรงนี้เป็นเวทีที่เปิดกว้างสำหรับพวกเราที่เกิดความอยากจะ "เพิ่มเติม" อะไรให้กับคนไข้ คนดูแล และตัวเอง นอกเหนือจากการสั่งยา ผ่าัด ฉายรังสี

ในส่วนของ workshop ที่เรานำมาใช้ได้ค่อนข้างมีประสิทธิภาพคือเรื่องของการเขียน การเขียนทำให้ "ช้าลง" การเขียนเพิ่มมิติการ "มองเห็นความคิด" เข้าไปในกระบวนการ เกิด immediate reflection หรือการสะท้อนฉับพลัน ความคิดไม่หลุกลอยกระเจิดกระเจิงไปในทันที หากแต่ถูกดึงยั้งๆเอาไว้จากการรับรู้ทางสายตา (ยกเว้นพวกจิ้มกดมองแต่แป้นพิมพ์ตลอดเวลา... นั่นลำบากหน่อย) อย่างที่เรียนให้ทราบ พอ "ช้าลง" เราก็เพิ่มโอกาสที่จะละเอียดขึ้น มองเห็นรายละเอียด เห็นมุมต่างๆชัดเจนขึ้น ตรงนี้ก็จะกลายเป็นพื้นที่อันอุดมที่ความสุนทรีย์จะงอกงาม

ในการ empower ผู้คน ในฐานะผู้เยียวยาหรือผู้บำบัด เราสามารถเป็นได้ทั้งผู้กระทำสุนทรียกรรมต่างๆให้แก่คนไข้ หรือให้คนไข้/ผู้ดูแล เป็นผู้กระทำ เพราะสุนทรีย์อยู่ที่การรับรู้ การรับรู้นั้นเกิดขึ้นทั้งตอนเรากระทำและตอนเราเฝ้าชม ทำให้บริบทเปิดกว้างมากขึ้น

การเพิ่มความละเอียด แม้แต่ในช่วงระยะสุดท้ายก็สามารถมีประโยชน์มาก ไม่ว่าจะเป็นการเผชิญความเป็นจริงโดยคงไว้ซึ่งปัญญาและสถานะแห่งปัญญาให้ได้ตลอดรอดฝั่ง กระทั่งตอน "ตกกระไดพลอยโจน" ในช่วงวินาที หรือนาทีสุดท้าย จิตที่ละเอียดก็จะเป็นจิตที่ปลอดทุกข์หรือบรรเทาทุกข์ ไม่เพียงแต่เยียวยาตนเอง หากแต่เยียวยาจิตใจของคนเฝ้า คนรอบข้าง หรือแม้แต่ทีมแพทย์พยาบาลก็พลอยถูกเยียวยาไปด้วย หากคนไข้จากไปด้วยความสงบ

สิ่งเหล่านี้เป็น "ทักษะ" ซึ่งเรามีพื้นฐานและอวัยวะต่างๆที่จำเป็นพร้อมอยู่แล้ว หากแต่ขาดการฝึกฝนเท่านั้น จะไปฝึกฝนตอนใกล้จะจากไป ก็อาจจะทันบ้าง ไม่ทันบ้าง หากฝึกฝนแต่เนิ่นๆ ก็จะเป็นการสั่งสมบารมี สั่งสมต้นทุนของตนเอง ที่สามารถช่วยเหลือเกื้อกูลคนที่อยู่เบื้องหลังได้มากมาย

หมายเลขบันทึก: 433667เขียนเมื่อ 1 เมษายน 2011 12:33 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:40 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

สวัสดีครับอาจารย์

ชอบตรงนี้มากครับ 

พอ "ช้าลง" เราก็เพิ่มโอกาสที่จะละเอียดขึ้น มองเห็นรายละเอียด เห็นมุมต่างๆชัดเจนขึ้น

ผมเคยใช้เทคนิคนี้ตอนเดินขึ้นเขาเจ็ดยอดเมื่อปีก่อน ทำให้ความเหน็ดเหนื่อยจากการเดินกลายมาเป็นสุนทรียขึ้นมาในทันที

แหะ แหะ แต่ทำไมภรรยาผมไม่ค่อยเข้าใจไม่รู้ งานที่ผมทำให้ผมจะทำแบบมีสุนทรียะแต่เธอไม่เข้าใจ เร่งจะเอาแต่งานเพิ่งสั่งเมื่ออาทิตย์ที่แล้วแท้ ๆ (ฮิ ฮิ....)

มิกล้าวิจารณ์สิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำบ้านอะ ผมถือยังไงที่บ้าน ก็ต้องถือยังงั้นของคนอื่นเหมือนกัน แหะ แหะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท