จิตตปัญญาเวชศึกษา


เป็นการเรียน เพราะเรามีชีวิต และเพราะเราอยู่ในสังคม

จิตปัญญาเวชศึกษา (Contemplative Medical Education) เป็นอย่างไร แม้แต่ผู้เขียนเอง ณ ตอนที่จรดปากกา (เอ๊ย จรดปลายนิ้วบนแป้นพิมพ์) ก็ไม่ทราบ ดังนั้นจึงย้อนไปเติม ฉบับร่าง ก็ยังเกิดความไม่มั่นใจในตัวเองต้องเปลี่ยนเป็น ฉบับร่าง 1 จะได้มีที่เหลือสำหรับร่าง 2, 3, 4 5 และฉบับเต็มที่จะคลอดรึเปล่าก็ไม่รู้ หรือจะเป็น abortion, stillbirth ก็ต้องรอดูกันต่อไป

Contemplative Education แปลเป็นไทยว่าจิตตปัญญาศึกษาโดยศาสตราจารย์ ดร. สุมน อมรวิวัฒน์ และเรียกอีกอย่างว่า การเรียนรู้ด้วยใจที่ใคร่ครวญ โดย อาจารย์วิจักขณ์ พานิช ที่กำลังศึกษาอยู่ที่มหาวิทยาลัยนาโรปะ (Naropa University) มี references มากมายในเรื่องนี้ที่จะหาได้จาก internet และเพื่อไม่ให้คนอ่านต้อง click ไปคลิ้กมาจนกลับมาที่นี่ไม่ถูก จะให้เป็นอิสระไปค้นเอาเองต่อไป ขอถอดความเป็นภาษาของผมเองดังนี้ ในการเรียนยุคปัจจุบัน มีแตกย่อยออกเป็นสาขา เป็นสาขาย่อย เป็นอนุสาขาย่อย มากมาย สมัยคุณพ่อ (ผู้ล่วงลับ) ของผม ท่านได้ทุน scholarship หลังสอบไล่ได้ที่หนึ่งประเทศไทย (ขอโม้หน่อยเถอะ ไม่ทราบว่าชื่อท่านที่บอร์ดไม้หน้าประตูสวนกุหลาบยังอยู่หรือไม่) จากสวนกุหลาบ นั่งเรือไปเรียนที่ กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ ท่านเรียนอยู่ไม่กี่วิชาเอง คือ คณิตศาสตร์ ภาษาอังกฤษ แล้วก็ประวัติศาสตร์ แต่นักเรียนจะเดินไปเดินมาไปเรียนห้องไหน ก็ไม่เห็นใครว่าอะไร เป็นยุคที่เรียน เพื่อเฉลียวฉลาด คือมี wisdom ไม่ได้เรียนเพื่อ รู้มากๆ หรือ ฉลาดเฉยๆ เพียงอย่างเดียว ไม่ทราบเหตุผลจริงๆ แต่อาจจะเป็นเพราะครูสมัยนั้นรู้ว่า อันความรู้นั้นไม่มีทางเรียนจน รู้มาก จริงๆได้ เรียนจนรู้มากจะไปสิ้นสุดที่ ความรู้ท่วมหัวเอาตัวไม่รอด ซะละมากกว่า เลยสอนให้คิดเอา ได้สองสาม domains คือ math, language, history ก็พอ

มองเห็นความสุดยอดของสามวิชานี้ไหมครับ Math คือ mathmatic/logistic ภาษาก็คือ linguistic สุนทรียศาสตร์ and communication ส่วนประวัติศาสตร์ก็คือ สังคมศาสตร์  และความเชื่อมโยงต่อเนื่อง

ท่านเรียนไปเรียนมาอยู่แค่นี้ก็จบ กลับประเทศไทย ทำงานได้ ประสบความสำเร็จพอสมควร

แล้วคนเราก็มาสงสัยในปัจจุบันว่า เออหนอ ความรู้ตอนนี้ก็มี break-through กันแทบทุกสามเดือนหกเดือน ทำไมคนยิ่งรบกัน ยิ่งฆ่ากันได้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ยิ่งเกลียดกัน ยิ่งมีความทุกข์ แล้วเรียนกันไปหาสวรรค์วิมาน หรือหานรกชั้นไหนกันแน่?

Contemplative Education เชื่อมโยงคุณค่าของคนเข้ากับวิชาที่ตนเองกำลังศึกษา และเชื่อมโยงคุณค่าของตนเองเข้ากับประโยชน์ของสิ่งแวดล้อมที่สังคม นอกจาก output outcome แล้ว ยังเน้นที่การเรียนรู้ ขณะเรียน และเรียนทุกอย่างขณะใช้ชีวิต เมื่อเป็นเช่นนี้ คุณธรรม จริยธรรม เกิดคู่ขนานกับความรู้ เป็นการเชื่อมโยงศาสตร์กับความดีไปพร้อมๆกัน ไม่ใช่เป็นแค่ ทางเลือก ควร/ไม่ควร แต่เป็นวิถีที่ถูกต้องของศาสตร์นั้นๆทุกสาขาวิชาไป

ดังนั้น contemplative education จะมี "องค์" คือ

Self searching/ Self studying

Experiencing

Interconnectedness 

เป็นการเรียน เพราะเรามีชีวิต และเพราะเราอยู่ในสังคม

ถ้าเราไม่ aware ว่าเราเรียน ทำงาน หรืออะไรก็แล้วแต่ เพราะ สองเหตุผลนี้เท่านั้น จริยธรรมก็จะเกิดยาก เกิดแบบจำลอง เกิดแบบแกนๆ เราจึงต้องเรียนเพื่อ คิด ไตร่ตรอง ใช้เหตุผล สังเกต พิจารณา (mathematic /  logistic) เราจึงต้องเรียนเพื่อ สือสาร เข้าใจ และสุนทรีย์ที่มีชีวิต (linguistic) และเราจึงต้องเรียนเพื่อ เข้าใจความเชื่อมโยง (interconnectedness, history) ที่มา / ที่ไป / multidimensional connection

การเรียนการสอนแพทยศาสตร์นั้น เป็นแบบ contemplative มากน้อยแค่ไหน ก็ไม่อยากจะ stereotype ณ ขณะนี้ แต่จากหลักปรัชญาที่ว่ามานี้ ประเด็นน่าจะเป็นว่า เราควรจะจัดประสบการณ์การเรียนแพทยศาสตรศึกษา เป็นแบบ contemplative education เต็มรูปแบบอย่างไร มากกว่าหรือไม่

ถ้านักศึกษาเรียนแพทย์ด้วยความเกร็ง ความกลัว เรียนแล้วไม่มีความสุข ทั้งๆที่วิชานี้ มันช่างยิ่งใหญ่เหลือเกิน นักศึกษากำลังเรียน พัฒนาตนเองเพื่อจะไปช่วยเหลือชีวิตผู้อื่นที่อยู่ในความทุกข์ นักศึกษากำลังเรียน พัฒนาตนเอง เพื่อจะให้ตนเอง ชอบ ช่วยเหลือผู้อื่นที่ตกอยู่ในความทุกข์ นักศึกษากำลังเรียนเพื่อให้มีความสุข "จากการ" ที่ได้อุทิศความสุขส่วนตนเพื่อประโยชน์ของเพื่อนมนุษย์

ถ้าเรียนๆอยู่แล้ว "ไม่มีความสุข" จะต้องมี something very, very wrong เกิดขึ้นในหลักสูตรแน่ๆ

เอาแค่ concept โยนลงมาก่อนนะครับ เชิญร่วมสนทนาได้เลยครับ

หมายเลขบันทึก: 79823เขียนเมื่อ 21 กุมภาพันธ์ 2007 11:32 น. ()แก้ไขเมื่อ 14 พฤษภาคม 2012 13:59 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (9)

เขียนต่อครับ

แล้วหลักสูตรนี้จะออกมาหน้าตาเป็นอย่างไร?

น่าจะเป็นหลักสูตรที่มี เงา ของหลักปรัชญาข้างต้นทอดอยู่เบื้องหลังตั้งแต่ต้นจนจบ

  • มีความ เชื่อมโยง ว่าทำไมถึงต้องเรียนวิชานี้ เรียนแล้วนักศึกษาเป็นคนดีขึ้นอย่างไร เรียนแล้วนักศึกษาใกล้เคียงกับความเป็นแพทย์ขึ้นอย่างไร
  • เรียนด้วยความ สุนทรีย์ วิชาแพทย์เป็นวิชาที่มี ราก อยู่บนความเมตตากรุณา มุทิตาอุเบกขา อะไรที่ ขัดแย้ง กับสี่ประการนี้ ต้องระแวดระวังให้ดี ในที่นี้รวมทั้งสิ่งแวดล้อม และบุคคลที่อยูภายในคณะฯ เพราะเราต้องการ วัฒนธรรม เป็นตัว เชื่อมโยงที่สำคัญ จึงจะปลูกฝัง value ของสิ่งเหล่านี้ให้นักศึกษาได้
  • มีความสามารถในการคิด วิเคราะห์ สังเกต และเข้าใจ ผู้ที่จะเป็นแพทย์ ต้องใจกว้าง กระตือรือร้น ค้นคว้าใฝ่ศึกษาการเล่าเรียน ดังนั้นบรรยากาศกดขี่ บับคั้น เป็นอุปสรรคในการเกิดจินตนาการ บรรยากาศบังคับขู่เข็ญ เป็นอุปสรรคในการเกิดความเมตตากรุณา
  • เรียนแพทย์แบบ mature learner แต่ด้วยจิตสำนึกของเด็กไร้เดียงสา ตรงนี้เหมือนขัดแย้งกัน แต่ไม่ขัดแย้ง จะขออธิบาย

เรียนแพทย์แบบ mature learner แต่ด้วยจิตวิญญาณของเด็กไร้เดียงสา

แพทย์นั้นต้องมี maturity เป็นสมบัติเบื้องต้น นั่นคือ "ความรับผิดชอบ" ต่อการคิด การแสดงออกของตนเองร้อยเปอร์เซนต์ แต่ในมุมหนึ่ง "จิต" ที่พร้อมในการเรียนนั้น ไม่ใช่จิตของผู้ใหญ่ แต่เป็น จิตของเด็กทารก จิตไร้เดียงสา ที่ธรรมชาติกำหนดหน้าที่มาให้มีเพียงอย่างเดียว คือ เรียนเพื่ออยู่รอด หรือ เรียน / อยู่รอด ก็ได้ จะเห็นว่าเป็น instinct ของเด็กที่จะเรียนรู้ และเด็กมีศักยภาพในการเรียนรู้ที่สูงมาก กระหายที่จะเรียน กระหายที่จะรู้ ตื่นเต้น และสนุกสนานมีความสุข เพลิดเพลินกับสิ่งใหม่ๆ ทำซ้ำแล้วซ้ำอีกไม่รู้เบื่อ

บางทีเราจัดหลักสูตร จัดประสบการณ์การเรียนการสอนแล้ว แทนที่เราจะได้การเรียนรู้แบบ mature learner ด้วยจิตไร้เดียงสา เรากลับได้ การเรียนรู้แบบ immature learner ด้วยจิตที่อ่อนล้าชราภาพ แทน คือนักศึกษาไม่ได้พัฒนาความรับผิดชอบ คะแนนตกก็ถูกช่วยเหลือ อ่อนแอก็มีคนปกป้อง มีคนให้เหตุผล แต่กลับทำให้จิตแห่งการตื่นตัวในการเรียนยิ่งอ่อนแอ ไม่ได้ฝึก ดูไปกลับเป็นจิตที่อ่อนล้าชราภาพกว่าร่างกาย

จะทำอย่างไรให้คนพัฒนา ความรับผิดชอบในตนเอง?

จะทำอย่างไรให้คนพัฒนา จิตไร้เดียงสาแห่งการเรียนรู้?

หลักสูตรอันเชื่อมโยงและต่อเนื่อง

ในการร่างหลักสูตรที่เชื่อมโยงและต่อเนื่องจำเป็นต้องออกมาจากผู้ที่เข้าใจในวัตถุประสงค์ของหลักสูตรนั้นๆอย่างถ่องแท้ องค์ความรู้ในปัจจุบัน นั้นกว้างขวาง มากมาย เกินกว่าที่เราจะใส่อะไรลงไปก็ได้ หรือจะใส่อะไรที่มีประโยชน์ทั้งหมดไปให้เรียน เพราะจะเรียนไม่มีวันจบสิ้น ไม่ต้องคิดถึงความรูบางสาขากำลังอยู่ในช่วง burst of breakthrough เช่น computer sciences, nanotechnology, genetics, immunology ต่างๆเหล่านี้ การเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นรวดเร็วจนกระทั่ง การใช้ตำรา textbook ต่างๆเป็นมาตรฐานนั้น เริ่มเกิดความไม่แน่นอนว่าจะเป็นความรู้ที่ดีที่สุดอีกต่อไป

นักศึกษาแพทย์มีเวลา 6 ปี ในการเรียนและฝึกหัดเป็นแพทย์ ก่อนที่จะได้รับใบประกอบวิชาชีพเวชกรรม (ซึ่งแต่ก่อนใช้คำที่ผมคิดว่าดีกว่า คือ ใบประกอบโรคศิลป์) ในการสร้างความเชื่อมโยงนั้น ต้องเป็นทั้งในรูปธรรมและนามธรรม (หรือ value / คุณค่า) ผมคิดว่าการ ตอกย้ำใน value นั้น ไม่มีคำว่า "มากเกินไป" เพราะสิ่งหนึ่งที่เป็นความจริง ที่เราต้องตระหนักด้วยในเวลานี้ก็คือ การเพาะสร้างภูมิคุ้มกันให้แก่นักศึกษาที่จะถูกโยกคลอนคุณค่าและ value อะไรหลายๆประการ เมื่อจบออกไปอยู่ภายนอก กระแส materialism หรือ capitalism นั้น รุนแรง ยั่วยวน เชิญชวน มากนัก เป็นกระแสที่ manipulate และ exploit emotional drive ของคน ซึ่งเป็นกระแสกระตุ้นที่ primitive และแรงที่สุดต่อพฤติกรรมและความคิดของคน (สำคัญขนาด ถ้า ตัดได้ ก็แทบจะตรัสรู้ นั่นเลยทีเดียว

สวัสดีครับอาจารย์

  • ขอสารภาพว่าตอนที่ผมเรียนนั้น ผมเป็นคนที่กลัวอาจารย์แพทย์มากๆครับ  กลัวโดนถามแล้วตอบไม่ได้  กลัวโดนดุ  กลัวโดนว่า  ยิ่งที่เป็นที่รำลือแล้วละก็  ยิ่งกลัวมากๆครับ(ตัวหด)  แต่คนอื่นอาจไม่กลัวเท่าผมก็ได้นะครับ
  • ถ้าสามารถมีหลักสูตรแพทย์แบบอาจารย์กล่าว  จะเป็นสิ่งที่เกิดประโยชน์ที่ยิ่งใหญ่กับสังคมมากครับ
  • ตามอาจารย์เข้าไปอ่าน Contemplative Education แล้วครับ  เคยเข้าจิตตวิวัฒน์ มา 2 ปีแล้วครับ อ่านบ้างแต่บางครั้งก็ไม่ค่อยเข้าใจมากนักครับ  แต่โดยความรู้สึกว่ามันดี ต้องอ่านไว้ก่อนนะแม้จะไม่เข้าใจ  ก็คุ้นๆไว้ก่อนวันหน้าอาจจะเข้าใจมากขึ้นครับ
  • ผมเป็นคนหนึ่งครับ  ที่กำลังเรียนรู้อย่างต่อเนื่องตลอดเวลาครับ  แต่บางครั้งก็ตั้งคำถามเสมอครับ  ว่าความรู้อันไหนที่สำคัญและน่าจะเป็นประโยชน์มากที่สุดกับตัวเราทั้งตอนนี้  และอนาคตครับ 
  • ขอบคุณอาจารย์ครับ

เห็นประตูห้องมีป้ายติดอยู่ว่า จิตตปัญญาเวชศึกษา
 
ผมเดินผ่านไปก่อน เพราะรีบเดินไปเข้าเรียนห้องกายวิภาคศาสตร์์

ผมพยายามวาดภาพตัวเองหรือนิสิต นักศึกษาแพทย์เวลาเรียน..หมอ ทุกคนต่างวาดภาพ หมอในหัวของตนเอง วิชาอะไรที่ส่งสนับสนุนให้เราบรรลุสิ่งนั้น เราสนใจเราอยากรู้ ไม่ต้องแปลกใจนะครับที่มีความต้องการจากนักศึกษาแพทย์ว่า อยากจะกลับไปเรียนกับอาจารย์ใหญ่ 

เพราะเรียนหมอต้องเรียนผ่าศพ นั้นคือภาพที่เคยชิน คุ้นหู 

ส่วน วิชาชื่อแปลกๆ อย่างข้างบนนี้ เอาไว้ว่างๆค่อยมาสนใจ อ้อ ถ้าไม่มีคะแนนสอบละก้อ  ทำเป็นลืมๆไปดีกว่า  ไอ้วิชาที่ต้องอ่าน ต้องสอบก็เยอะจนไม่รู้จะอ่านจบหรือเปล่าแล้ว

การจุดประกายเรื่องนี้ของสกล เป็นสิ่งที่ท้าทายมาก ผมอยากให้ย้อนกลับไปดูพื้นฐานเรื่อง การจัดการศึกษา เลย 

ถ้าเรามองว่า นั่นคือ กระบวนการเปลี่ยน input เป็น outcome 

ความคาดหวังใน outcome ของเราหรือของใครที่ใหญ่พอที่จะชี้นิ้วในเรื่องนี้ได้ จะมีความสำคัญ 

มีต่อตอนต่อไป.. เก๋มั้ย

 

ลืมบอกไปว่า ที่สวนกุหลาบ ป้ายไม้จารึกชื่อนักเรียนที่ได้ทุนเล่าเรียนหลวงถูกเก็บไว้ในหอประวัติศาสตร์ ผมไม่ทราบมาก่อนว่าเคยตั้งไว้ตรงประตูโรงเรียนนะครับ 

 

 

 

 

 

แบ่งเป็นตอนๆ เหมือนเจ้าของบันทึก

output หรือ outcome ในการจัดการเรียนการสอนแพทยศาสตรศึกษา ถูกกำหนดโดยเกณฑ์กลาง ..เกณฑ์มาตรฐานของแพทยสภา
ซึ่งเป็นเกณฑ์ขั้นต่ำที่ หมอ ทุกคน ต้องเป็น ต้องรู้ ต้องทำได้

สำหรับผมแล้ว ผมยังรู้สึกว่า แค่นั้น มันก็มากมายมหาศาลจนผลิตให้ตรง spec ไม่ไหวแล้ว 

แล้วไม่ต้องห่วงกับอาจารย์อย่างเราๆ ที่หวังดี อยากให้ลูกศิษย์รู้มากกว่านั้นไปอีก  จึงแถม แถม แล้วก็แถมในส่วนที่ตนเองถนัด

ถ้าจะเล่นเรื่องนี้

  • คงต้องเอาที่กรอบใหญ่ ลดได้มั้ย หมอทุกคนต้องปั๊มกันออกมาเหมือนรถกระบะหรือเปล่า
  • ของแจก ของแถมที่เขาไม่ต้องการ เรายังจะแจกกันต่ออีกหรือ
  • โดยส่วนตัวผมเชื่อว่า สิ่งที่ ม.อ. ทำกับ PBL เน้นกระบวนการ ไม่เน้นการบรรยาย คือถูกทางแล้ว
  • การแฝง จิตตปัญญาเวชศึกษา เข้าไปในหลักสูตร โดยที่เขาไม่รู้ตัวอย่างที่สกลทำอยู่นั้น ดีมากแล้ว มันไม่ใช่วิชาใหม่ มันไม่ใช่ห้องเรียนอีกห้องหนึ่งที่จะสร้างความรู้สึกว่า มีหนังสือให้อ่านเพิ่มอีกหนึ่งวิชา
ผมเข้าช่วยอาจารย์ผ่าตัด โดยเป็นคนถือ retractor  อาจารย์เอามือล้วงเข้าไปในช่องท้องผู้ป่วย ควานหาอยู่พักใหญ่ ในที่สุดก็ยิ้มออกมา พูดกับผมว่า เจอแล้ว อยู่ตรงนี้เอง.. จิตตปัญญาเวชศึกษา

 

ขอบคุณครับพี่เต็ม

แค่นั้น มันก็มากมายมหาศาลจนผลิตให้ตรง spec ไม่ไหวแล้ว 

จริงซะยิ่งกว่าจริง และผมเห็นใจคนกำหนดหลักสูตรมากเหมือนกัน เพราะ การตัดทอน มันมี barrier ในใจว่ากลัวจะ ลดมาตรฐาน

ถ้าเพียงแต่เราสามารถ convince ได้ว่า การตัดไม่ลดมาตรฐาน แต่เพิ่ม น่าจะ reverse phycjological perspective นั้นลงได้

จริงๆ การทำ PBL หรือ การเรียนรู้โดยใช้ปัญหาเป็นฐาน นั้นเป็นการ address ปัญหาเรื่องนี้โดยตรง แต่ขนาด ที่ ม.อ. เราใช้วิธีนี้มาเป็นสิบปีแล้ว เราก็ยังไม่ไว้ใจ (หรืออาจารย์บางท่านอาจจะเลือกใช้คำว่า "ยังไม่มีอะไรทำให้ไว้ใจ) ว่า adult learner can learn by themselves ผมเองก็ไม่ทราบว่าตรงนี้เป็น psychological barrier เฉยๆ หรือว่าเป็น evidence-based precaution กันแน่ อาจจะต้องรอจนกว่าทีมแพทยศาสตรศึกษาทั้งหมดมาจากนักศึกษา PBL-based generation เพราะอาจารย์ที่สอนอยู่ตอนนี้ล้วนแล้วแต่มาจากระบบเก่าเป็นส่วนใหญ่ (รึเปล่า) เราจึงตะขิดตะขวงใจที่จะ let them go (grow)

PS: เมื่อก่อนสมัยผมกำลังจะสอบเข้าสวนกุหลาบ พ่อเคยพาเข้าไปดูสถานที่ หน้าประตูสวนกุหลาบยุคนั้น เป็นตึกอยู่ริมถนน และเปิดเป็นช่องใหญ่เข้าไปเหมือนซุ้ม มีป้ายรายชื่อนักเรียนทุนเก่าๆติดเรียงอยู่ รายชื่อคุณพ่อผมรู้สึกจะติดรองอยู่เป็นลำดับต้นๆ เพราะท่านเรียนอยู่ที่อังกฤษทันตอนก่อนทีฮิตเลอร์กำลังปลุกระดมเยอรมันนี ทางวิทยุทุกวัน แล้วพอดีรัฐบาลเกิดหัวดี introduce ระบบ "เรียนใกล้บ้าน" เป็นปีแรก เพื่อผมส่วนใหญ่ก็ย้ายสำมะโนครัวมาอยู่วัดข้างๆสวนกุหลาบกัน แต่พ่อผมไม่ยอมย้าย ก็เลยต้องเรียนที่ทวีธาภิเศก ใกล้ๆบ้านแทน

ในเมื่อพี่เขียนเป็นตอนๆ ก็ต้องตอบเป็นตอนๆเหมียนกัน!!

แต่โชคยังดี เพราะ จิตตปํญญาเวชศึกษา นั้น ไม่ใช่วิชาเรียนซะทีเดียว อาจจะเป็นวิชาเรียนสำหรับนักการศึกษา แต่สำหรับบัณฑิต หรือสำหรับครูแล้ว จิตตปัญญาศึกษา เป็นเครื่องมือ

แปลว่า

  1. ครูช่วยได้
  2. ครูเป็นคน "เอื้ออำนวย" บรรยากาศจิตตปัญญาศึกษา
  3. ไม่ต้องเพิ่มในหลักสูตรนักเรียน แต่เป็น การจัดการเรียนการสอน
  4. อยู่ที่ไหนก็ได้ แม้แต่ข้างๆไส้ติ่ง หลังถุงน้ำดี หรือในมดลูก ก็มีจิตตปัญญาศึกษา ล้วงลงไปก็เจอ!!
  5. จิตตปัญญาไม่ใช่ของแถม แต่เป็นช้อนซ่อมที่มากับอาหาร เป็นกระดุมเป็นซิบที่มากับเสื้อผ้า เป็นเข็มยาวเข็มสั้นที่มากับนาฬิกา เป็นเชือกผูกรองเท้าที่มากับรองเท้า เป็นกุญแจที่มากับรถ so on and so on
  6. เด็กเดินเลยห้องไปก็ไม่เป็นไร เพราะมีอยู่ทุกห้อง!!
  7. ครูต่างหากที่ต้องศึกษาเพิ่มเติม เพราะนี้เป็น ศึกษาศาสตร์ ศาสตร์ที่ว่าด้วยการเรียนรู้

แน่นอนที่สุด นักศึกษาคนไหนที่สนใจใฝ่รู้ และเข้าใจในวิชาว่าด้วยการรับรู้ เรียนรู้ ก็สามารถหาความรู้เพิ่มเติมได้ แต่เขาจะไม่ทันสังเกตว่า ชั่วโมงบรรยายเมื่อตะกี้นี้มันมีเพลงเบาๆเปิดอยู่ใน background มันมีเวลาพอที่จะ "ห้อยแขวน" และ "ไม่เร่งด่วนตัดสิน" ในเนื้อหาที่เข้ามา เขามี "อิสระ" ที่จะพิจารณาเรื่องราวอันมี "บริบทจริง สัมพันธ์กับประสบการณ์เก่า" และตอนจบได้มีการ "แลกเปลี่ยนสะท้อนกับเพื่อน กับครู กับพี่" และได้สังเกต "การเติบโตของตนเอง"

โดยไม่ทราบ หรือเรียกไม่ถูกว่าว่า "นั่นคือจิตตปัญญาเวชศึกษา" แม้แต่น้อยก็ไม่เป็นไร

เห็นด้วยครับ ครู ต้องเป็นฝ่ายเรียนรู้เรื่องนี้เพิ่ม
แปลว่าพี่จะไปเป็นเพื่อนผมขอเงินท่านคณบดีจัดอบรมสุนทรียสนทนาให้อาจารย์ในคณะอีกใช่ไหมครับ? :)  :)
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท