อยู่อย่างมีศักดิ์ศรี ตายอย่างมีศักดิ์ศรี


เราตายอย่างไร ก็ขึ้นอยู่กับเราอยู่อย่างไรนั้นเอง

อยู่อย่างมีศักดิ์ศรี ตายอย่างมีศักดิ์ศรี

ในการทำงาน palliative care นั้น มีคำถามที่ถูกถามซ้ำแล้ว ซ้ำอีก อยู่ไม่กี่ประการ แสดงถึง ความลึกซึ้ง ความเป็นปัจเจก ความเป็นบริบท ของเรื่องมรณวิทยา (thanatology) นี้จริงๆ อาทิ ตายดีคืออะไร ตายอย่างมีศักดิ์ศรีคืออะไร การบอกข่าวร้าย การบอกความจริง

คำตอบนั้นไม่ง่ายนักที่จะตอบ

สำหรับบางคนก็ไม่ง่ายนักแม้แต่จะ "ถาม"

หรือไม่ง่ายนักแม้แต่จะ "คิด" เรื่องนี้

สำหรับส่วนตัวผมเอง เวลาแนะนำตัว ประวัติ resume curriculm vitae เสร็จ ก็จะมีคำถามอีกว่า มาทำเรื่องนี้ทำไม สนใจเรื่องนี้ทำไม รู้สึกเสียดายไหม เรื่องการผ่าตัด เรื่อง transplantation immunology เรื่อง stem cell ทีได้ไปร่ำเรียนมาเกือบทศวรรษ

ผมคิดว่าเรื่องทุกเรื่องเกี่ยวเนื่องเชื่อมโยงกัน (interconnectedness) ผมไม่คิดว่าเป็นเรื่องบังเอิญที่ได้มา "waste time" ที่อังกฤษ ปล้ำเจาะเลือดจากหมู เลี้ยง stem cells จะ ไม่เกี่ยวอย่างสิ้นเชิง กับเรื่องราวที่ผมสนใจอยู่ ณ ขณะนี้ รวมทั้งหนังสือทุกเล่ม หนังทุกเรื่อง ประสบการณ์ทุกนาทีในอดีต จะไม่มีผลต่อตอนนี้ ขณะนี้ ไม่มีอะไรที่ waste หรือเพียงแค่ สูญเปล่าไปเฉยๆ

แต่เรื่องราวทุกเรื่อง จำได้บ้าง ไม่ได้บ้าง ผมเชื่อว่า มีส่วน ในการที่ตัดสินใจทำอะไรสักอย่างตอนนี้แบบนี้ และความเกี่ยวเนื่องเชื่อมโยงสัมพันธ์เป็นห่วงโซ่นี้เองที่ทำให้การที่มาสนใจเรื่อง ความตาย นี้ยิ่งสมเหตุสมผลยิ่งขึ้น

และอาจจะตอบคำถามบางประการข้าวต้นได้อีกด้วย

อย่างไรคือตายดี อย่างไรคือตายอย่างมีศักดิ์ศรี? 

ดูเหมือนจะเป็นโจทย์ที่ท้าทาย ไม่ว่าจะกับคนทั่วๆไป (ที่อยากตายแบบนี้... เอ้อ คำว่า "อยาก" ขยายคำว่า "แบบนี้" ไม่ใช่ขยายคำว่า "ตาย" นะครับ) หรือกับบุคลากรบริการสุขภาพ ที่คิดว่าเรื่องนี้เป็น mission ในการทำงานของเขา/เธอ

ขอแบ่งเป็นสองมุมมอง

  • มุมมองของบุคลากรบริการสุขภาพ
  • มุมมองของคนทั่วๆไป

ทำอย่างไรคนไข้ในการดูแลจึงจะจากไปอย่างมีศักดิ์ศรี?

เรื่องศักดิ์ศรีเป็นเรื่องการ รับรู้ อย่างหนึ่ง ที่ไม่จำเป็นต้องเหมือนกันสำหรับคนแต่ละคน บางคนศักดิ์ศรีคือการเป็นที่ยอมรับของคนอื่น บางคนศักดิ์ศรีคือผลงานความสำเร็จของตนเองในอดีต บางคนคือยศฐาบรรดาศักดิ์ บางคนคือการเป็นคนดี ของครอบครัว ของคนบางคน ของพ่อแม่ ของภรรยา/สามี ของลูก สำหรับบางคนคือการเป็นพุทธที่ดี การเป็นคริสเตียน คริสตังที่ดี เป็นมุสลิมที่ดี ฯลฯ

และไม่ว่าจะเป็นแบบไหน ก็ไม่มีอะไรถูก อะไรผิด แต่เป็นเรื่องที่ถ้าคนดูแลคนไข้ คนไข้เอง หรือญาติสนิทมิตรสหายทราบว่าคืออะไรแล้ว จะ ช่วยได้เยอะมาก

เพราะเมื่อเรามี "ศักดิ์ศรี" สิ่งเหล่านี้จะยากที่จะหายไป เป้นอะไรที่เราสามารถใช้ยึดเหนี่ยว make sense กับสิ่งนั้นๆ ว่าเรามีชีวิตเพื่ออะไร อะไรคือเหตุของ existence ของตัวตนของเรา (หรือเหตุผลของ non-existence ของ "ตัวตน" ของเราก็ยังได้)

การที่คนเรา gain ศักดิ์ศรีมาได้ ความทุกข์ทางร่างกายอาจจะดูเป็นเรื่องที่ไม่ใช่ unbearable อีกต่อไป ไม่ว่าเราจะทุกข์แค่ไหน ลำบากเพียงไร อย่างน้อยเราก็มีอะไรบางอย่างที่ใครก้พรากจากเราไม่ได้ (จริงหรือ... แต่ไม่เป็นไร)

บางทีการค้นหาข้อมูลเรื่องนี้ บุคลากรสุขภาพจำเป็นต้องมี "ความไว้วางใจ" เกิดขึ้นระหว่างคนไข้กับเขา/เธอก่อน บางทีอาจจะรวมทั้งการ involve ในด้านอารมณ์ด้วย (ไม่ใช่ absolute contraindication ว่าหมอ/พยาบาล ต้องไม่มีอารมณ์ร่วมกับคนไข้ ผมคิดว่าเราสามารถมี shared emotion ได้โดยไม่เกิด sympathy ก็ได้) เป็นงานที่หนักบ้าง เบาบ้างในการ "ค้นหา" ตัวตนของคน เทคนิกการทำอาจจะเริ่มตั้งแต่สามารถควบคุมอาการทางกายให้ได้พอสมควร หรืออีกวิธีก็คือการประเมินเรื่องแบบนี้ตั้งแต่เนิ่นๆ ที่ยังไม่มีอาการทางกายมากเกินไป เพราะเมื่อไรก็ตามที่เราปวด ทรมาน สติสัมปชัญญะเราอาจจะลดน้อยลง เพราะต้องเบี่ยงพลังงานไปช่วยเหลือการ "ทน" ทรมานเสียก่อนหลังจากนั้นก็เหมือนหนังสือนักสืบ เพียงแต่เป้นหนังสือเรื่องราวของชีวิตคนๆหนึ่ง อยู่บนเส้นทางค้นหาตนเอง ค้นหาความหมายของตนเอง

เป็น privilege อย่างยิ่ง สำหรับคนๆหนึ่ง ที่งาน อาชีพ มีส่วนในการ "ช่วยเหลือ" คนอื่นให้ค้นหาตนเอง ค้นหาคุณค่าของตนเองให้เจอ การได้อยู่ ณ ที่แห่งนั้น เวลานั้น เป็น prime time in the lifetime ทีเดียว

ตอนจะทำเรื่องแบบนี้ เราต้องละทิ้งตัวตนของเราออกไปชั่วขณะ เปิดรับตัวตนของคนไข้ที่ค่อยๆคลี่คลาย เปิดเผย share ให้รับทราบ โดยปราศจากจิตตัดสิน (non-judgemental attitude) วิธี deep listening ของ David Bohm ก็เป็นวิธีที่ดี หรือการฟังอย่างเปี่ยมจิตเมตตากรุณาก็ได้เหมือนกัน

บางทีเราก็เจอ case ที่ยากจริงๆที่จะค้นหา ไม่ใช่ว่าชีวิตเขาไม่มีอะไรดีเลย แต่เป็นเพราะตอนนั้นร่างกายอาจจะทุกข์ทรมานมากจนนึกอะไรที่เป็นบวกไม่ออกเลย

จะทำอย่างไร?

ผมมีวิธีการันตีที่บุคลากรทุกคนสามารถทำได้อยู่อย่างหนึ่ง เป็น ไม้ตาย ก็ว่าได้ เพราะไม่เคย fail มาก่อน เหมือนแสงสเปเซียมของอุลตร้าแมน (ที่จะยิงตอนที่แสงที่หน้าอกกระพริบเตือนว่าหมดพลังที่จะอยู่บนโลกแล้ว) ยิงตูมออกไปได้ทันที

คือ

การที่เราไปดูแลคนไข้อย่างเต็มที่ เต็มความสามารถ และสม่ำเสมอ ไม่ว่าเขาจะเป้นคนอย่างไร ประวัติความเป็นมาเช่นไร

เป็นการ มอบศักดิ์ศรี ของความเป็นคนโดยการ respect และประพฤติต่อเขาอย่างนั้น

ถ้าเรา treat ใครเสมือนเด็ก ก็เท่ากับเราให้คุณค่าเขาเป็นเด็กคนหนึ่ง รวมทั้ง adult learner เช่น นักศึกษาแพทย์ ตราบใดที่เรายังคิดว่าเขาเป็นเด็กที่ยังไม่โต ไม่สามารถจะดูแลรับผิดชอบตนเองได้ เขาก็มีค่าในสายตาของเราเหมือนเด็กนั่นเอง และเขาก็ "ทราบด้วย" ว่าเราคิดกับเขาอย่างไร

ในทำนองเดียวกัน เวลาเรา approach หรือสร้างความสัมพันธ์กับใคร โดยมีจิต respect the autonomy ความเป็นตัวตนของเขา เขาก็รับทราบได้เหมือนกัน

ทำอย่างไรคนๆหนึ่งจะตายดี ตายมีศักดิ์ศรี?

ตรงนี้จะย้อนกลับมาถึงเรื่อง interconnectedness และความหมายของชีวิตที่ผมได้เกริ่นไว้ตอนเริ่มเรื่อง

ถ้าเรา เชื่อในเรื่องความเชื่อมโยงเกี่ยวเนื่องสัมพันธ์ ก็จะได้คำตอบของคำถามเบื้องต้นนี้ในตัวเองเรียบร้อยแล้ว

 เราตายอย่างไร ก็ขึ้นอยู่กับเราอยู่อย่างไรนั้นเอง

"ถ้า" เราเชื่อเรื่องแบบนี้ และ "อยาก" ตายอย่างดี ตายอย่างมีศักดิ์ศรี เราจะมีการ ดำเนินชีวิตแบบหนึ่ง เพื่อที่เมื่อถึงเวลา การดำเนินชีวิตของเรานั้น จะ "ช่วย" ให้เรามีสติ สามารถใคร่ครวญชีวิตที่ผ่านมา สามารถมองเต็มตาถึงสิ่งที่ได้ผ่านตา ผ่านมือ สิ่งที่คนอื่น ได้รับ จากสิ่งที่เราทำ โดยจิตที่สงบนิ่ง สันติ และอ่อนโยนได้ เราก็จะตายดี และตายอย่างมีศักดิ์ศรี อย่างของคนที่ได้ "บรรลุวัตถุประสงค์ที่เกิดมา" อีกคนหนึ่ง

ดังนั้นตรงนี้ก็จะไม่ขึ้นกับเราโชคดีพอที่จะเจอกับบุคลากรสุขภาพที่จะทำให้เราตายดีหรือไม่อีกต่อไป แต่เป็น เรื่องที่เราควบคุมได้ เกือบจะอย่างสิ้นเชิง

และเมื่อเราคิดแบบนี้ ลองจินตนาการดูว่าเราจะมีชีวิตแบบไหน มีพฤติกรรมอย่างไร และคนรอบข้างของเราจะเป็นอย่างไร ได้อานิสงค์ของเราหรือไม่อย่างไร

เป็นคำถามที่น่าตื่นเต้น น่าปิติ น่าเบิกบาน

ในการมี ชีวิต จริงๆ

หมายเลขบันทึก: 87421เขียนเมื่อ 29 มีนาคม 2007 21:37 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 09:11 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (10)

เคยคิดว่าตายดีก็ไม่น่าจะแตกต่างจากตายอย่างมีศักดิ์ศรีแต่เมื่อได้ลองคุยกับผู้ป่วยรวมกระทั่งคนใกล้ชิด(ญาติผู้ใหญ่)พบว่า..หลายคนจะมองตรงกันว่าการตายดีก็คือการไม่เจ็บปวดทรมานหรือทุรนทุรายก่อนที่จะตายแต่เมื่อถามต่อว่าแล้วการตายอย่างมีศักดิ์ศรีล่ะ..หลายๆคนยังไม่เข้าใจแต่บางคนก็บอกว่าคือการจากไปอย่างไม่ต้องเป็นภาระหรือสร้างความยุ่งยากให้แก่ใคร..แต่ก็มีบางคนบอกว่าคือการปลดเปลื้องเรื่องค้างคาใจและกายกับคนในครอบครัวอย่างเสร็จสิ้นสมบูรณ์แล้ว(ตัวอย่างเช่น ป้าสมปองที่ขอหมอออกจากรพ.เพื่อจัดการทรัพย์สินให้กับลูกให้แล้วเสร็จก่อนตาย / บุรินทร์ที่รอพ่อมาหาเพื่อจะบอกว่าเขาเก็บเงินไว้หลังฟูกที่นอนพันห้าร้อยบาท-เขาฝากให้พ่อช่วยเอาไปจ่ายหนี้ให้กับเพื่อนคนหนึ่งด้วย)

จากการคุยและฟังเรื่องราวชีวิตของครู/ผู้ป่วยทั้งหลาย..บางเรื่องที่กระทบโดนใจอย่างแรงทำให้นึกย้อนมองถึงตัวเองและคนใกล้ชิด.และก็ครุ่นคิดถึงทางออกหากเราเป็นเขาเราจะทำหรือไม่ทำอย่างที่เขาเลือกดี

.เห็นด้วยกับที่อจ.บรรยายว่าการค้นหาให้เจอและพยายามดำรงตนเพื่อที่จะบรรลุถึงจุดประสงค์ที่เกิดมาเป็นจุดเชื่อมต่อถึงการที่เราจะสามารถมองเห็นและเข้าใจได้ถึงการจะตายอย่างสมศักดิ์ศรีของตัวเราได้ซึ่งกระบวนการค้นหานี้ช่างท้าทายและตื่นเต้นจริงๆ

ชื่อเรื่องก็น่าสนใจซะแล้ว อยู่อย่างมีศักดิ์ศรี ตายอย่างมีศักดิ์ศรี  ผมมีปัญหากับคำๆ นี้มาก ว่าจริงๆ แล้วมันคืออะไร คำๆ นี้มันมีแนวคิดมาจากไหนกัน ...

"เรื่องศักดิ์ศรีเป็นเรื่องการ รับรู้ อย่างหนึ่ง ที่ไม่จำเป็นต้องเหมือนกันสำหรับคนแต่ละคน บางคนศักดิ์ศรีคือการเป็นที่ยอมรับของคนอื่น บางคนศักดิ์ศรีคือผลงานความสำเร็จของตนเองในอดีต ..."

ตรงนี้มันเหมือนกับเป็นความภูมิใจในตัวเองใช่ไหมครับ  คนที่ชกหน้าคนอื่นเพราะเจ้าหมอนั่นมาหยามศักดิ์ศรีด้วยการมองหน้า นี่มันเป็นศักดิ์ศรี ใน sense เดียวกันหรือเปล่า 

ของผมมีอีกมุมมองหนึ่งว่าคำว่าศักดิ์ศรีนี่มันสัมพัทธ์มากๆ แม้แต่ในตัวเราเองมันก็อาจจะเปลี่ยนไปได้เหมือนกัน อีกประเด็นหนึ่งคือ ยิ่งไขว่คว้าหามันเท่าไร ก็จะยิ่งรู้สึกเหมือนมันจะขาดเอาเท่านั้น กลายเป็นประหนึ่งตัวอย่างข้างต้นที่หมกมุ่นกับการมีคนมองหน้า 

คำว่าศักดิ์ศรีมันเหมือนกับการที่เราเอาอะไรในตัวเราไปผูกไว้กับการ respect ของคนอื่นต่ออะไรบางอย่างในตัวเรา เป็นสิ่งที่ ในบางแง่มุมแล้วเรามองหามัน  (การที่คนเรา gain ศักดิ์ศรีมาได้ ความทุกข์ทางร่างกาย ...) ทำให้บางครั้งเรา protect มันเหมือนมันคือ definite truth จริงๆ แล้วเป็นอย่างนั้นหรือเปล่า??    ผมลองยก dilemma ทำนองว่า  ศัตรูให้พระเอกคลานลอดหว่างขา เพื่อแลกกับการได้เมืองคืน หรืออะไรทำนองนี้ เขาจะยึดอะไรเป็นหลักในการตัดสินใจ

อีกประเด็นหนึ่งคือ ผมรู้สึกว่าคำๆ นี้มันค่อนข้างจะคู่กับผู้ชายยังไงก็ไม่รู้  แต่สมัยนี้ผู้หญิงก็เรียกร้องศักดิ์ศรีกันมากขึ้นนะ หรือผู้หญิงสัมยก่อนเขาค่อนข้างจะเจียมเนื้อเจียมตัว เลยไม่ค่อยมี self   

กลับมาเรื่องการตาย ...

คำว่าศักดิ์ศรี เนี่ยในคำที่ชาวบ้านทั่วๆ ไปเขาใช้กันไหมครับ เท่าที่ผมอ่าน ชาวบ้านจำนวนหนึ่งตายอย่างสงบ ดีใจที่มีลูกหลานอยู่ใกล้ก่อนตาย หรืออยู่ใกล้พระธรรมก่อนตาย  ดูเหมือนสิ่งที่เขาเน้นหรือคนสมัยก่อนเน้นในเรื่องการตายคือการตายดีหรือตายอย่างสงบ เพราะสภาวะจิตขณะจะหลุดจากร่างนั้นสำคัญมาก  

ผมว่านะครับ สิ่งที่คนไข้ต้องการจากบุคลากรทางการแพทย์มากก็คือ การเห็นใจเข้าใจเขา (ไม่ใช่สงสาร)  เขาไม่ได้มองถึงเรื่องศักดิ์ศรีอะไร  หากแต่ในมุมมองของแพทย์แล้ว เราต้องคืนศักดิ์ศรีให้เขา เพราะเราได้เอาสิ่งนี้ไปจากเขาเสียนาน

ฝากข้อคิดเห็นแค่นี้ก่อนนะครับ อาจารย์จะต้องมีประเด็นเฉียบๆ ตามมาอีกแน่ รออ่านครับ 

สวัสดีครับ คุณ Seangja

ตายดี ตายมีศักดิ์ศรี

ผมคงจะไม่ได้พยายาม หรืออยากให้ใครพยายาม ให้นิยาม หรือ อธิบาย แต่ที่ยกทั้งสองคำ เพราะเป็นสองคำที่พบว่าเราใช้ "บรรยาย พรรณนา" เป็นวิเศษณ์คู่กับ "ความตาย" พอสมควร

ตอนที่เราได้ทำ workshop เผชิญความตายอย่างสงบ นั้น ก็พบมีคนให้พรรณนา หรือบรรยาย "สภาพการตายที่พึงปราถนา" คล้ายๆกับ "ตายดี" อย่างที่คุณ seangja ว่ามา คือ ตายไม่ทรมาน ไม่เจ็บปวด หรือบางท่านก็เพิ่มตายตายในสภาพศพดี แต่ถ้าโจทย์เป็น "ตายอย่างมีศักดิ์ศรี" จะออกอะไรที่ "นามธรรม" อีกนิดนึง ตรงนี้คงแล้วแต่คน เพราะไม่น่าจะเป็นคำที่แปลเหมือนๆกันหมดทั้งโลก ถ้าจะยกตัวอย่างที่ค่อนข้าง extreme ก็เช่น ตัวตายแต่ชื่อยัง หรือ สละชีพเพื่อชาติ เพื่ออุดมการณ์ อะไรทำนองนั้น แต่ประเด็นคือ จัดอยู่ในการตายที่ "พึงปราถนา" เหมือนกัน

ผมพบเรื่องนี้น่าสนใจตรง "ความแตกต่าง" ไม่ใชเพราะ "ความเหมือน" ครับ บอกไม่ได้เหมือนกันว่าถ้าพบว่าเหมือนกันแล้วจะสนใจหรือไม่

สวัสดีครับ อ.มาโนช ครับ

long time,no see ดีใจที่ได้เสวนากันอีกครั้งนึงครับ และทรงคุณภาพเหมือนเดิม

ผมมีประสบการณ์คล้ายๆกับที่อาจารย์บรรยายมา คือ พอเราพยายามจะ define ความหมาย ปรากฏว่ามันเริ่มมี ขอบเขตไม่ชัด ไม่ "fine" สักเท่าไร และบางทีค่อนข้างจะมีกลิ่นนมเนยติดมา เพราะยมรับว่าส่วนหนึ่งคำนี้เราไมได้เริ่มใช้เอง แต่เป็น "แปลมา" จาก dead with dignity

ผมชอบการตายแบบที่อาจารย์ว่ามาเหมือนกัน คือ ขอตายอย่างมีสติ แต่ลำพังคำว่า "มีสติ" กับ "อย่างสงบ" ก็เริ่มมีกลิ่นอายที่แตกต่างกันแล้ว หลวงพี่ไพศาลก็บอกถึง ความสำคัญ ด้านสติขณะที่เรากำลังถึงวาระสุดท้ายเช่นกัน ว่าไปถึง "ภพภูมิ" แรกที่เราจะไปเกิดนั้นเลยทีเดียว

ในย่อหน้าสุดท้ายเรื่องการมอบและการคืนศักดิ์ศรีนั้น อาจารย์พูดได้ถูกใจผมมากครับ ผมคิดว่าเวลาคนไข้เซ็นใบ informed consent นั้น เป็นอะไรที่ทรงอานุภาพมากๆ ผมเคยใช้คำ surrender autonomy ให้หมอ เพราะต่อไปนี้อะไรที่เขาเคยเป็นอิสระและเป็นสิทธิของเขานั้น เขาได้ consent ให้เรา กระทำได้ และเราควรที่จะ aware เรื่องการที่คนไข้ ให้ยืม สิทธิและ/หรือศักดิศรีแห่งความเป็นมนุษย์ตรงนี้ให้มากๆหน่อย เพราะปรากฏว่าเราบางคนติดนิสัย take it for grant ว่าคนไข้ให้เรามาเป็นประจำ เหมือนส้มในลัง ที่เราจะหยิบ จะโยน ยังไงก็ได้ จนบางทีเราไมได้ทำด้วยความสำรวมในความศักดิ์สิทธิ์ตรงนี้เท่าที่ควร และบางคนถึงกับ โกรธคนไข้ ที่บางคน "บังอาจ" withdraw consent คืน ยังกับลืมไปว่านั่นเคยเป็นของของคนไข้มาก่อน ดูได้จากปฏิกิริยาหมอ (บางท่าน) เวลาคนไข้ปฏิเสธการรักษา และยอมเซ็นใบไม่สมัครใจ

ใบไม่สมัครใจ หรือ refusal of treatment form นั้น ผมเคยให้ analogy ไว้ว่า มาจากคำเต็มคือ Refusal of MY treatment แค่ตัดคำว่า my ทิ้งไป เท่านั้น เพราะพิจารณาดูแล้ว คนไข้เกือบร้อยเปอร์เซนต์ หลังการเซ็นใบนี้ ก็เห็นมีการรักษาอย่างนู้น อย่างนี้ต่อไปอีกพักนึง ตามอาการ ตามบริบทของตน ไม่เห็นค่อยมีใครที่ refuse any treatment จริงๆจังๆเลย

บางคนก็ไปเรียกคนไข้กลุ่มนี้ว่าเป็น difficult patient ซึ่งก้อีกเหมือนกัน เราเคยทำ seminar เรือง difficult patient ทำไปทำมา ปรากฏว่า 80-90% ของ difficult patient นั้นกลายเป็น difficult nurse, difficult doctor เสียละมากกว่า ดังนั้นคำว่า difficult patient ผมก็บอกว่ามาจากคำเต็มคือ It is too difficult for me to understand this patient  

เกี่ยวกันอย่างไร ขออนุญาต quote reference นิดหน่อย

Online Etymology Dictionary - Cite This Source
dignity 
c.1225, from O.Fr. dignete, from L. dignitatem (nom. dignitas) "worthiness," from dignus "worth (n.), worthy, proper, fitting" from PIE *dek-no-, from base *dek- "to take, accept" (see decent). Dignitary is first recorded 1672.

Online Etymology Dictionary, © 2001 Douglas Harper

เราแปลกใจว่าเราละเลย "ศักดิ์ศรี" คนไข้ เพราะเรา ไม่เข้าใจ เรือง อะไรที่ worthiness และ อะไรที่เราควรจะ take / respect

โดยไม่รู้ตัวแม้แต่น้อย ในการที่เรา "ไม่ take และ ไม่เข้าใจ"

คำว่า "เห็นอกเห็นใจ" ก็ยังไม่โดนใจครับอาจารย์ (ขออภัย) เพราะบางทีการที่ไม่ต้องมีคนมาเห็นอกเห็นใจเขาก็กลายเป็น "ศักดิ์ศรี" อีกแบบนึงเหมือนกัน ผมคิดว่าอาจจะไป ลงเอยที่คำ "เข้าใจ" และ "respect" ในความคิด ใน autonomy ของเขา

ยินดีแลกเปลี่ยนต่อหากอาจารย์มีอะไรเพิ่มเติมนะครับ

 

 

ครับผมว่าคำๆ นี้มันมีความหมายในทางการแพทย์ เพราะการถูก treat โดยบุคลากรทางการแพทย์และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง การอยู่โรงพยาบาลมันลดศักดิ์ศรีของเขา มันเลยสำคัญ  เพราะมันพร่อง แต่ถ้าเขาอยู่บ้าน ตายที่บ้าน ถึงจะอ้วกจะถ่ายก็เป็นบ้านของเขาลูกหลานของเขา   มันไม่รู้สึกเหมือนกับต้องไปขอร้องขออะไรจากใครนะ ผมคิดว่างั๊น 

ไอ้การมาโรงพยาบาลรัฐนี่มันแย่จริงๆ นะ คิดดูก็แล้วกัน ห้องน้ำญาติกับคนไข้ต้องเข้าห้องเหม็นๆ ส่วนห้องที่สะอาดเขาเขียนป้ายว่า เฉพาะเจ้าหน้าที่ แต่ถ้าคุณไปรพ.เอกชน คำว่าถูกทอนศักดิ์ศรีมันจะเปลี่ยนไปเลย มันเหมือนเราไปอยู่โรงแรมยังไงยังงั้น แทบจะว่าหมอต้องเข้าห้องน้ำเหม็นๆ ไอ้ที่หอมๆ เก็บไว้ให้คนไข้ก่อน

อ้อ ได้คำว่าเห็นใจเข้าใจ จริงๆ แล้วผมจะหมายถึง empathy ครับ ไม่ใช่ sympathy ก็คงต้องบอกว่าแค่เข้าใจก็พอ ไม่ต้องมาเห็นใจอะไรหรอก คนไข้เขาจัดการของเขาเองได้ (ขอให้ได้แค่นี้ก็ดีแย่แล้วนะ ผมว่า)

 โดนใจและสนับสนุนอจ.ตามมุมมองในย่อหน้านี้จริงๆ......

.""ใบไม่สมัครใจ หรือ refusal of treatment form นั้น ผมเคยให้ analogy ไว้ว่า มาจากคำเต็มคือ Refusal of MY treatment แค่ตัดคำว่า my ทิ้งไป เท่านั้น เพราะพิจารณาดูแล้ว คนไข้เกือบร้อยเปอร์เซนต์ หลังการเซ็นใบนี้ ก็เห็นมีการรักษาอย่างนู้น อย่างนี้ต่อไปอีกพักนึง ตามอาการ ตามบริบทของตน ไม่เห็นค่อยมีใครที่ refuse any treatment จริงๆจังๆเลย

บางคนก็ไปเรียกคนไข้กลุ่มนี้ว่าเป็น difficult patient ซึ่งก้อีกเหมือนกัน เราเคยทำ seminar เรือง difficult patient ทำไปทำมา ปรากฏว่า 80-90% ของ difficult patient นั้นกลายเป็น difficult nurse, difficult doctor เสียละมากกว่า ดังนั้นคำว่า difficult patient ผมก็บอกว่ามาจากคำเต็มคือ It is too difficult for me to understand this patient  ."

อ.มาโนช ครับ

ประเด็นเรื่องความแตกต่างของเอกชนกับรัฐน่าสนใจมากครับ ไม่ใช่เฉพาะ "อย่างไรบ้าง" แต่เป็น "ทำไม" จึงได้แตกต่างกันแบบนั้น

ถ้ามองตื้นๆก็อาจจะเป็นเพราะทำแบบนั้นที่เอกชนแล้วเราได้เงินตอบแทน (หรืออีกนัยหนึ่ง ถ้าไม่ทำ เราอาจจะถูกเชิญออก) เป็นแบบ quip pro quo ยื่นหมูยื่นแมวกัน แต่จริงๆใน รพ.ของรัฐเอง ก็มี บุคลากรบางคน ที่สามารถให้การบริการแบบเอกชนได้ ซึ่งนี้เป็นประเด็นสำคัญ

คือ ต้องทำอย่างไร จึงจะมี practice แบบที่ว่าได้ใน รพ.ของรัฐ?

ความเห็นใจ เข้าใจ นั้นดูเหมือนเป็นเส้นผมบังภูเขา แต่ในบริบทปัจจุบัน ดูเหมือนว่าปัจจัยเสริมในการเข้าใจ มันน้อยลงๆไปเรื่อยๆ

ดูเหมือนว่าการ set ความคาดหวังนั้นอาจจะไม่ดีเสมอไป เพราะความคาดหวังที่เป็นตัวมากับความผิดหวัง (expectation vs disappointment) ซึ่งผมคิดว่าไม่เหมือนกับตอนเรามี ความหวัง (Hope) ที่เป็นเรื่องที่ดี บริสุทธิ์ อันนี้อาจจะเป็นความรู้สึกส่วนตัวของผมเอง แต่ไม่ได้แปลว่าเราจะแก้ปัญหาโดยการปรับความคาดหวังของคนไข้ให้หวังอะไรน้อยๆหน่อยจาก รพ.รัฐนะครับ ผมคิดว่าเราน่าจะยังพอมีทางที่ empower คนงานของรัฐให้มี พลังแบบเอกชน ได้บ้าง

สวัสดีค่ะ อาจารย์หมอ Phoenix

เข้ามาเรียนว่าได้ตามอ่านเรื่องที่อาจารย์เขียนมาระยะหนึ่งแล้วค่ะ  และกำลังติดตามต่อไป 

ดิฉันสนใจเรื่องที่อาจารย์เขียนมามานานแล้วค่ะ  ตอนไปโรงพยาบาล  และได้เห็นสภาพการพยาบาล และการดูแลรักษาที่หลากหลาย  ก็ทำให้ทึ่งในอาชีพบุคลากรทางการแพทย์มาก  

ระหว่างสองอาชีพ  คือครูกับบุคลากรทางการแพทย์นั้น   ดิฉันได้คำตอบอยู่เสมอว่าอาชีพหลังหนักหนาสาหัสกว่ามากมายนัก  เพราะต้องรับมือกับสภาวะทุกข์โดยแท้ 

ที่บ้านดิฉัน  พ่อกับแม่เกษียณอายุแล้วทั้งคู่  และมีความสุขตามอัตภาพ   พ่อจะพูดถึงการตายอย่างมนุษย์  ด้วยความรู้สึกว่า อยากให้วาระสุดท้าย   เป็นวาระที่ไปอย่างเป็นธรรมชาติ  ไม่ต้องการให้ใช้เครื่องมือวิทยาศาสตร์ใดๆ  พูดตรงๆว่าไม่ต้องยื้อชีวิต

ดิฉันในฐานะลูกก็รับฟัง  เข้าใจ  แต่ก็บอกพ่อตรงๆว่าเมื่อถึงวันนั้น  แพทย์ก็จะดูความเหมาะสมด้วย  พ่อก็ยังยืนกรานว่าต้องการตายอย่างมนุษย์

ดิฉันก็รับฟัง  และพยายามเข้าใจอีก  ถ้าถามใจดิฉัน  ดิฉันก็รู้สึกอย่างเดียวกับพ่อเหมือนกัน

เวลาอ่านบันทึกของอาจารย์หมอPhoenix   ดิฉันรู้สึกว่าอาจารย์เข้าใจความรู้สึกเช่นนี้  ทำให้รู้สึกดีนะคะ : )

สวัสดีครับ อาจารย์ดอกไม้ทะเล  P

ดูเผินๆงานแพทย์พยาบาลจะสำคัญจริง เพราะพลาดหมายถึงโอกาสสุดท้าย ที่แก้ไขไม่ได้แล้ว แต่ภายหลังผมคิดว่า "พลาดของครู" นั้น อาจจะหมายถึง ความทุกข์ทรมานของชีวิตที่เหลือทั้งชีวิตของคนๆหนึ่ง รวมทั้งชีวิตของครอบครัว คนรอบข้างเขาด้วย ไปๆมาๆ ผมเลยไม่ค่อยแน่ใจว่าเราจะเปรียบเทียบความสำคัญได้ตรงไปตรงมาหรือไม่อีกต่อไปครับ

ถ้าเราบอกว่าถึงที่สุดแล้ว ความสำเร็จของเวชกรรมคือ "ตายดี" ผมคิดว่าความสำเร็จของครุกรรม ก็คือ "อยู่ดี" ทั้งสองเรื่องกลายเป็นเรื่องเดียวกันไปได้ อย่างแนบเนียน

อาจารย์หมอPhoenix คะ

เข้ามาเรียนว่าประทับใจในคำตอบของอาจารย์ค่ะ  ทั้งสองอาชีพ มีส่วนที่ต้องรับผิดชอบ "ร่วมกัน"   ตั้งแต่วันแรกจวบจนวันสุดท้ายของชีวิต
ขอบพระคุณมากค่ะ  : )  

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท