นิราศมณฑลพายัพ (7): สวนดอกงอกปัญญา สนทนากับผู้ปฏิบัติ


สวนดอกงอกปัญญา สนทนากับผู้ปฏิบัติ

ก่อนอื่นตรงนี้จะเกิดการเบียด scene sequence นิดหน่อย จริงๆมีเหตุการณ์ก่อนหน้าการไปพูดที่สวนดอก แต่จะเป็น theme ต่อเนื่องกับเหตุการณ์หลังสวนดอก เลยขอแปลงกายเป็น Quentin Terantino แป๊กนึง ตัดต่อหนังแบบไม่เรียงตาม sequences นะครับ

เช้านี้ฝนพรำๆแต่เช้า อ.ประสาทและแอ๊ดพาผมมาส่งที่ รพ.สวนดอก (แอบไปแวะ รพ.ประสาทแว่บนึง สงสัยอ.ประสาทจะคุ้นเคยเพราะชื่อเดียวกัน พาไปจอดดิบดี พยาบาลเดินมาเกือบจะพาทั้งแก๊งไป OPD [ดูจากเสื้อผ้า เครื่องแต่งกายของทีมเรา น่าจะไป OPD หรือห้องฉุกเฉิน รพ.ประสาทจริงๆ] แต่แล้วก็บอกทางให้เราไปต่อจนได้)

แอ๊ดแสดงฝีมือหาที่จอดที่ รพ.สวนดอกได้โดยไม่ถูกล็อกล้อ (อาศัยคลื่นเดลต้าของสามคนช่วยกันเพ่ง ฉับพลันทันใดก็มีรถถอยออกมาจากที่จอดตรงหน้ารถเราพอดี!!!) ยังมีเวลาครึ่งชั่วโมงที่จะหาห้องประชุมบุญสม มาร์ตินให้เจอ เราก็เดินไปแบบแมลงสาบ (คือใช้หนวดไต่ชิดผนังไปเรื่อยๆ) จนกระทั้งมาเจอ เข้าไปในห้องประชุม อืม.... ดูท่าทางเป็นห้องประชุมผู้บริหาร อยู่ติดกับห้อง ผอ. เลย เป็นห้องประชุมโต๊ะตัว U แบบยาวมาก มีจอ powerpoint ตรงปลาย ห้องไม่ใหญ่เท่าไหร่ ขณะที่อาจารย์ที่มาต้อนรับกำลังตัดสินใจว่า ในสามคนที่สวมชุดชาวเหนือสะพายย่ามนี่ ตูเชิญใครมาพูดหว่า ผมรีบแสดงตนก่อนที่แกจะไปทักอาจารย์ประสาท (เพราะดูอาวุโสสุด) หรือที่จะแล้วกันไปใหญ่คือ ทักแอ๊ด แทนทักผม (ซึ่งจะเสียหน้าเป็นอันมาก) ว่าผมเองครับที่จะมาพูด อาจารย์ปฏิคมก็ยิ้มออกมาได้ เชื้อเชิญเข้าห้องน้ำห้องท่า ติดตั้งโน้ตบุ้ค

สักประเดี๋ยวก็เริ่มมีคนทะยอยเข้ามา ซึ่งดีมาก เพราะห้องทำท่าจะเย็นลงเรื่อยๆ จากแอร์คุณภาพดี และฝนที่ตกหนักข้างนอก คนเยอะเริ่มแผ่รังสีความอบอุ่นให้กันและกัน อืม.... มีพยาบาล และพยาบาล แล้วก็พยาบาล เดินเข้ามาเรื่อยๆ อา... นั่นหมอแน่ๆ อ๊ะ มีหมอมาอีก ดีจังๆ มีทั้งหมอ ทั้งพยาบาลมากันจนเต็มห้อง ท่านผู้อำนวยการ อาจารย์วัฒนาก็มาหา รีบก้มลงกราบคารวะขอบคุณอาจารย์ ที่ได้กรุณาเชื้อเชิญมาเยี่ยมเยียนในครั้งนี้

อาจารย์ถามผมว่า จะพูดสักกี่ slides? ผมเรียนท่านไปว่ามีทั้งหมดประมาณ 50 slides (แต่ผมไม่ได้บอกท่านไปว่า ตอนไปพูดที่สุราษฏรธานี เขาให้เวลาผม 4 ชั่วโมง ผมเตรียมไป 74 slides พูดไปได้แค่ 14 slides ก็หมดเวลาไปแล้ว 3 ชั่วโมง!!) เห็นอาจารย์วัฒนาคำนวณในใจ ชั่วโมงครึ่ง 90 นาที 50 slides อืม... หลวมๆ แล้วก็กล่าวเปิดงานประชุม

ก่อนหน้านี้เราได้ติดต่อพูดคุยทางโทรศัพท์กับอาจารย์ผู้ประสานคืออาจารย์สุปรียา บอกว่าคนมาฟังจะมาจากองค์กรแพทย์ และทีมผู้บริหารพยาบาล ส่วนใหญ่จะมีพื้นอยู่แล้ว ขอให้พูดเชิงองค์กรก็แล้วกัน ผมเลยเอาเรื่องราวส่วนใหญ่ที่เราทำมาที่ ม.อ. จะมา share แต่ผมทราบกิตติศัพท์เรื่องราวของ palliative care ของที่ มช.มานานแล้ว พี่เต็มศักดิ์เคยมาดูงานทีนึงเมื่อหลายปีก่อน ผมเคยมาพูดที่ศูนย์ฝึกอบรม ธ.ไทยพาณิชย์ทีนึงเมื่อปีที่แล้ว แอบลักขโมย concept ไปก็ไม่น้อย ไม่ได้คิดจะมา lecture อะไรที่นี่อยู่แล้ว (ตั้งใจจะมาขโมยต่อมากกว่า)

เริ่มฉาย slides ไปสองสามรูป สังเกตเห็นการขยับตัว มีคลื่น theta แผ่วๆมากระทบจิตเรา อ.วัฒนาสะกิด (ท่านนั่งข้างๆผมครับ) บอกว่าขอถามดีกว่า ผมเรียนไปว่า ยินดีครับ และกรุณา interrupt ทันทีที่ใครอยากจะมี interaction อยากจะให้เป็น KM session มากกว่าบรรยาย เท่านั้นเอง ก็เหมือนการเปิดประตูน้ำ คลื่นคำถามก็หลั่งไหลมาไม่ขาดสายจากพี่ๆพยาบาล

  • การดูแล

  • การประเมิน

  • การจัดตั้งองค์กร

  • การจัดการความรู้ 

  • เป็นกลุ่มคำถามที่ผมคิดว่าพอจะจัดได้จากการสนทนาในวันนี้

    การดูแล

    การสื่อสารดูเหมือนจะเป็น หัวใจสำคัญที่สุด ของการทำ palliative care หรือเป็น "จุดเริ่มตัน" แน่นอน องค์ความรู้ที่เป็น skeleton ของการทำ palliative medicine ก็คือ symptoms control หรือการดูแลควบคุมอาการทุกข์ทรมาน ซึ่งเป็น หน้าที่โดยตรง โดยสายอาชีพและความรู้ความชำนาญของแพทย์ พยาบาล

    แต่การดูแลของแต่ละหอผู้ป่วย ของคนไข้แต่ละคนนั้นไม่เหมือนกัน เราไม่สามารถจะ train universal ได้ จะมีบางประเด็นเช่น เรืองการจัดการความปวด (pain management) นั้นเรื่องหนึ่ง แต่ที่เหลือจะเป็นความเอกลักษณ์มาเยอะ อาทิ คนไข้ ward neuro จะเป็นคนไข้ที่ขยับเขยื้อนตัวไม่ได้ คนไข้ ward ENT (หู คอ จมูก) ก็จะเป็นคนไข้มะเร็งที่ตัดเอากล่องเสียงออกไป พูดไม่ได้ คนไข้ ward สูตินรีเวช ก็อาจจะมีคนไข้มะเร็งที่กำลังตั้งครรภ์อยู่ด้วย คนไข้ ward ศัลยกรรม ก็จะมีคนไข้ที่มีทวารเทียมเปิดทางหน้าท้อง คนไข้ ward เด็ก ก็ยิ่งซับซ้อน มีเด็กเป็นมะเร็งที่กำลังจะตายอย่าง untimely ปัญหาของแต่ละ ward นั้น unique และ มีประโยชน์อย่างยิ่งในการศึกษา ทำความเข้าใจ นำมาเป็นบทเรียนแห่งชีวิตขอตนเอง ของผู้ดูแล

    การประเมิน

    เมื่อทำไปแล้ว อยากทราบว่าได้ผลหรือไม่ อย่างไร เป็นประเด็นสำคัญของการทำกิจกรรม การบริหารจัดการทรัพยากร

    สำหรับเรื่อง palliative care นั้นเป็นการประเมินด้านคุณภาพเป็นหลักหัวใจสำคัญ การประเมินด้านปริมาณ หรือประเมินกิจกรรมนั้นก็ช่วย แต่อย่าสับสนหลงผิดว่าเป็นตัว representative ที่ดีมากนัก เพราะบางครั้งกิจกรรมเยอะ ไม่ได้แปลว่าการดูแลดีขึ้น

    การประเมินแบบ qualitative จึงน่าสนใจและอยู่ในขั้นตอนการศึกษา ความยากอยู่ที่ validation ซึ่งเป็น bull's eye และเป็น Achilles's heel ของการวิเคราะห์ด้วย คนเราถามบางเรื่องตอนเช้าตอบอย่างนึง ตอนบ่ายตอบอีกอย่าง และทั้งสองคำตอบถูกทั้งคู่ เพราะเป็นไปตามบริบท ตามการรับรู้ ณ เวลานั้นๆ ณ สถานที่นั้นๆ ต่อบุคคลนั้น (ที่ถาม และที่ตอบ) ที่อาจจะเปลี่ยนแปลงไปตามเวลา

    ที่อเมริกามีการประเมิน 1 เดือนหลังคนไข้เสียชีวิต และ 1 ปีหลังคนไข้เสียชีวิต ตาม phase ของการรับรู้ ผมคิดว่า ในระหว่างนั้นก็จะมีการ swing ไปมาของดี/ไม่ดี แล้วแต่ว่า "ตัวกวน" ณ เวลานั้น จะไปจุดประกายให้พลังงานด้านไหนของการรับรู้

    ประเมินก็ได้ แต่ระวัง และสำเนียกเสมอว่า "ประเมินไปทำไม ประเมินไปเพื่ออะไร" ขอให้เป็นเรื่องดีๆ เรื่องที่เป็นประโยชน์ก็ทำไปเถิด แต่ประเมินแล้วมีคนถูกลงโทษ มีคนล้มเหลว มีคนที่ล้ม มีคนที่ทรุด มีคนหมดกำลังใจ บางทีอยู่เฉยๆอาจจะดีกว่า

    ในความคิดของผมเอง ณ ตอนนี้ คนทำ palliative care มีไม่เยอะ ไม่มาก เป็นบุคลากรหายาก ตอนนี้เรามีหน้าที่หล่อเลี้ยง ไม่ใช่เอาต้นกล้าไปปลูกต้านลม (ลม HA, ลม TQA, ลม ISO ต่างๆ) แล้วจะมาสงสัยทีหลังว่าทำไมพันธุ์มันถึงได้แกร็นไปหมด

    การจัดตั้งองค์กร

    ตรงนี้แล้วแต่ ตามบริบท

    ผมคิดว่าถ้าเราพิจารณาองค์กรเป็นองค์กรมีชีวิต เราก็จะมองเห็นได้ว่า ชีวิตแต่ละชีวิตนั้นไม่เหมือนกันเลย แต่ก็มีคุณค่าในตัวตนของมันเอง เป็น self value เป็น self organization

    ผู้บริหารต้องรู้สึกพร้อมๆกับองคาพยพต่างๆ เสมือนเป็นร่างเดียวกัน เวลาเราถูกตะปูตำเท้า ร่างกายเราประสานการทำงาน hip flex, knee flex, เท้ากระโดดโหยงๆ, มือลงไปกุม, สะโพกเอียงเลี้ยงตัวไม่ให้ล้ม, ปากอ้า, ร้องเสียงดัง, หน้านิ่ว คิ้วขมวด, ตามองหาตะปูว่าอยู่ไหน ระแวงระวังภัยในทันที

    สมองก็จะ release orders ต่างๆ ออกมา หาที่ปลอดภัย หาหยูกยา หาที่ comfort นี่คือการทำงานแบบมีชีวิต

    ไม่ใช่ตะปูตำ เจ็บเท้า เราก็ตัดเท้าทิ้ง หรือเยาะเย้ยเท้าว่าโง่เอง เดินเหยียบลงไปได้ ตะปูทั้งตัว อย่างนี้ไม่ได้เป็นองคาพยพ ไม่ได้เป็นอวัยวะของสิ่งมีชีวิตเดียวกัน

    การจัดการความรู้

    ทำงานทั้งที Peter Senge บอกว่าอย่างน้อยเราต้องพัฒนา personal mastery ขึ้นมาให้ได้ เกิดเป็น mental model แล้วกลายเป็น shared vision เป็น team learning เป็น system thinking

    The Fifth Disciplines

    Personal mastery         หมั่นพัฒนาตน

    Mental model                 ฝึกฝนเป็นนิสัย

    Shared vision                 ร่วมใจกัลยาณมิตร

    Team Learning               คิดเรียนรู้เป็นทีมงาน            

    System thinking              ร่วมกันสานเป็นระบบ 

    จบการสนทนา อาจารย์วัฒนาคว้าไมค์ ยึดเวที บอกว่าขืนปล่อยให้ถามต่อ คุยต่อ สงสัยผมจะไปถึงแพร่เที่ยงคืน อาจารย์กล่าวได้ซาบซึ้งคนมาบรรยายมากว่า ตอนแรกว่าจะมาเปิดงาน ฟังสักพักแล้วจะไปทำงานต่อ แต่ตอนหลังอาจารย์อยู่ฟังจนจบเลย เลยเวลาที่กำหนดไว้นิดหน่อย ว่าจะเลิกบ่ายสาม ไปเลิกเอาบ่ายสี่กว่าๆ!!! พี่พยาบาลหลายท่านยังตามมาคุย มาสนทนา คลื่น theta ปั่นป่วนวุ่นวาย แต่เต็มไปด้วยความสุข ที่ได้ shared ปรสบการณ์ อาจารย์วัฒนาได้กรุณาเล่า case ที่ได้ดูแลมาประกอบมากมายหลายเรื่อง ได้อารมณ์อย่างยิ่ง

    ผมคิดว่าพลังที่สวนดอกนี้เหลือเฟือ ศักยภาพเป็นผู้นำด้าน palliative care ของประเทศไทยได้สบายๆ ขอเพียงมีที่พี่ๆเขาเรียก "เก้า หรือ เก๊า" เป็นภาษาเหนือ แปลว่า "คนนำ หรือคนริเริ่ม" ซึ่งการประจักษ์พยาน หรือหลักฐานเชิงประจักษ์ evidence-based level 5 (คือ personal experience) มีเหลือเฟือ เกินพอเสียอีก

     

     

    หมายเลขบันทึก: 96334เขียนเมื่อ 15 พฤษภาคม 2007 12:13 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 18:36 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


    ความเห็น (2)

    สวัสดีค่ะอาจารย์หมอPhoenix  

    กำลังนึกถึงอาจารย์แปลงกายเป็น Quentin Terantino อยู่ค่ะ อิอิ..

    อ่านจากที่อาจารย์เขียนไว้เรื่องการจัดตั้งองค์กร โดนใจพอดี เพราะองค์กรที่ทำงานอยู่ตอนนี้ องค์กรโดนตะปูตำเท้า แต่ผู้บริหารไม่ได้เป็นองคาพยพเดียวกันกับองค์กร ไม่รู้สึกรู้สา ก็กำลังปล่อยให้เท้าข้างนั้นเน่าอยู่ กำลังดูอยู่ว่าจะโดนตัดขาหรือบาดทะยักกินเมื่อไหร่... บ่นเฉยๆ ค่ะอาจารย์ พอดีมันโดนใจ

     อ้อ...ดิฉันไม่เคยอ่านของ Peter Senge เลยนะคะ (เป็นพวกตกยุคค่ะ) รู้แต่ว่าเขาดังมากๆ แต่ที่อาจารย์เอา the fifth disciplines มาสรุปก็รู้สึกว่าเข้าท่าดี แล้วจะเอาไปใช้ ขอบคุณมากค่ะ

     

    สวัสดีครับ อาจารย์หมอPhoenix  ผมสนใจด้าน palliative เหมือนกัน กำลังลงมือทำอยู่ได้ปีกว่าๆ ก็เริ่มจะเป็นรูปร่างและก็เริ่มมีคนมาถามว่าคุณภาพงานคุณอยู่ตรงไหน ผมอ่านบทความนี้แล้วผมได้ idea หลายอย่าง ขอบคุณอาจารย์และถ้ามีปัญหาผมคงได้ปรึกษาอาจารย์ในโอกาสต่อไป
    พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
    ClassStart
    ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
    ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
    ClassStart Books
    โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท