อยู่รอด อยู่ร่วม และอยู่อย่างมีความหมาย


อยู่รอด อยู่ร่วม และอยู่อย่างมีความหมาย

ผมเคยเขียนเอาไว้ในบทความ จิตตปัญญาเวชศึกษา 4: สังคมศาสตร์ในแพทยศาสตรศึกษา ว่าด้วยเหตุผลประการทั้งปวงที่เรา "คงอยู่" นั้นมีสองอย่างแค่นั้นเองคือ

  1. เรามี "ชีวิต" ชีวิตที่มีความทุกข์เป็นสัจจธรรม

  2. เรา "อยู่ด้วยกันในสังคม" หน้าที่ของเราคือหน้าที่ต่อสังคม ตัวเราจึงดำรงคงอยู่ได้ 

ช่วงนี้ G2K คึกคักเรื่องการเรียน การศึกษา ปรัชญาการจัดการความรู้ มีคำถามที่น่าสนใจมากมาย เลยเห็นว่าขอหยิบประเด็นนี้มาปัดฝุ่น (แค่ 3 เดือนเอง) มาทบทวน ใคร่ครวญใหม่

ปัญญาสามฐาน

    1. ฐานกาย ความปลอดภัย มีชีวิต
    2. ฐานใจ ความรัก อยู่ในสังคม
    3. ฐานความคิด ความหมาย เป้าหมายชีวิต สร้าง

การเรียน (และการสอนด้วย..... ไม่ใช่อะไร เห็นว่าแถวนี้มีครูเยอะ รวมทั้งตัวเอง ก็อยากจะเขียนเตือนตนเองบ่อยๆว่าเรื่องนี้เป็นเรื่อง ของเรา ด้วย ไม่ใช่เรื่องของนักเรียนฝ่ายเดียว) หรือกิจกรรมใดๆก็ตาม ทุกอย่างที่เราทำนั้น เราทำในขณะที่เรา มีชีวิต อยู่ และทุกอย่างที่เราทำ (และไม่ทำ) มีผลกระทบต่อเนื่องไม่จบสิ้น พลังงานที่เกิดจากการกระทำ เพียงแค่แปรสภาพไปเป็นสถานะต่างๆ เราอาจจะมองไม่เห็น จนกระทั่ง (แสร้ง) คิดว่าไม่มี เพียงแค่สลายไปเฉยๆ แต่การกระทำทุกอย่างของเรา เสมือนคำ "เด็ดดอกไม้ สะเทือนถึงดวงดาว" นั่นจริงๆ

นอกจากนี้ ชีวิตเราก็ไม่ได้ยืนยาวอะไร เดี๋ยวๆก็ต้องไปแล้ว (ทุกคนนะจ๊ะ) บางคนบอกว่า "ดีสิ งั้นขอบันเทิงให้สุดขีด ใช้ชีวิตให้เต็มที่ก่อนจะไปก็แล้วกัน" คำว่า "เต็มที่" ก็คงจะแปลออกมาได้หลากหลายเช่นกัน การตัดสินใจว่าเวลาอันจำกัด จำเขี่ยนี้ (ค่าเฉลี่ยของไทย ก็ผู้หญิง 76 ปี ผู้ชาย 71 ปี) เราจะเลือกทำอะไรดีหนอ?

เราเกิด เราโต เราเรียนรู้ เราทำงาน เรามีครอบครัว เลี้ยงดู สั่งสอน หล่อเลี้ยงสังคมตอบแทนที่ให้ที่เราอยู่ ให้พื้นที่เราเติบโต แล้วก็...ตาย 

แต่ละคนสามารถ "เลือกได้" ว่า วงจรข้างบน เราอยากจะให้ชีวิตของเราสรุปออกมาในทำนองไหน เราจะสอดใส่ ระบายสีสัน ลงไปในแต่ละจังหวะอย่างไร เป็นเรื่องที่เราเลือกทั้งสิ้น ที่จะทำอะไร ที่จะไม่ทำอะไร

วันก่อน ตอนกลางคืน ผมกำลังนั่งทำงานอยู่ที่หน้าคอมพิวเตอร์ (routine) กำลังเขียน อ่าน อะไรมันๆ ภรรยาก็บอกว่า "เอ้า ถึงเวลาป๋อมแป๋มไปนอนแล้ว พ่อขึ้นไปส่งลูกนอนหน่อย อ่าน Peter Rabbit ด้วย" ตอนนั้นผมก็รู้สึกหงุดหงิดขึ้นมาแว๊บนึง กำลังทำงานมันๆ ฮึ เดี๋ยวได้ไม้ "ไม่ได้ๆ เดี๋ยวก็จะเลยเวลานอนแล้ว"

"ก็ได้ๆ"

เรา (ผมกับป๋อมแป๋ม) ก็เดินขึ้นไปห้องนอน หยิบรวมเรื่อง Beatrix Potter ที่ซื้อมาตั้งแต่ป๋อมแป๋มเกิด (ดูจากจำนวนหนังสือเด็กที่มีในบ้าน น่าจะซื้อเฉลี่ยอาทิตย์ละเล่มตั้งแต่เกิด.... ผมได้ประกาศนียบัตร "Best Mum" จาก Glorier Book Publishing ในฐานะที่เป็นสมาชิกซื้อหนังสืออ่านเล่นของดิสนีย์ติดต่อกันทุกเดือนเป็นเวลาสองปี!!) มา ป๋อมแป๋ม (9 ขวบ ป.4)

ป๋อมแป๋มก็อ่าน Peter Rabbit ไป โดยความบังเอิญ ก็อ่านตอนที่มีคำว่า "soporific" ที่แปลว่า "ทำให้ง่วง" พอดี ที่ผมเรียกว่าบังเอิญเพราะตอนนี้ เป็นตอนที่ภาพยนต์เรื่อง WIT ที่เราเอามาฉายสอน palliative care ยกมาด้วย พลางก็คิดว่า "เอ่อ... ไมได้ฟังป๋อมแป๋มอ่านหนังสือมานานแล้วหรือนี่ อ่านได้คล่องกว่าที่คิดมากเลย" รออ่านจนจบ สี่ทุ่ม ปิดไฟ นอน ผมก็เดินลงมาดู CSI ต่อพอดี

ดูเหมือนเป็นกิจกรรมอะไรที่ routine ไม่มีอะไรพิศดาร แต่การได้เห็น "คนเติบโต" นั้น ผมว่าเป็น privilege อย่างหนึ่งทีเดียว ไม่ต้องพูดถึงว่าคนๆนั้นเผอิญเป็นลูกของเราเอง บางที "quality time" แบบนี้ มีมาเรื่อยๆ แต่เราไม่ได้ appreciate มันเท่าที่ควร ถามว่าคุ้มไหมกับการเสียเวลาทำงานไป 1 ชั่วโมง คงตอบไม่ได้ เพราะมันไม่เกี่ยวกับเรื่องคุ้ม หรือไม่คุ้มเลย มันเกี่ยวกับว่า "ชั่วโมงที่แล้ว มันมีความหมายต่อเราว่าอย่างไรบ้าง?" บางทีการเฝ้ามองการเติบโต ก็เป็นการเติบโตทางจิตใจ ทางจิตวิญญาณของตัวเราเองด้วย (รึเปล่า?)

การอยู่รอด อยู่ร่วม อยู่อย่างมีความหมายนั้น ดูเผินๆเป็น step เป็นขั้นตอน แต่จริงๆ เราเดินขึ้น เดินลง step สามขั้นนี้ตลอดเวลา บางวันเราก็ขึ้นไปถึงขั้นสร้างสรรค์ มี new idea มี creation ได้ แต่วันต่อมาก็ตกอยู่ในความกลัวต่างๆนานา กลัวไม่มีเงินจ่ายค่าเช่าบ้าน กลัวเดินทาง กลัวลูกออกไปเที่ยวแล้วจะเป็นอะไร เซลล์ของเราก็จะปรับเปลี่ยนระหว่าง mode ปกติ และ mode ปกป้อง ไปๆมาๆตลอดเวลา

เมื่อมองไปที่นักเรียนแพทย์ปัจจุบัน หรือมองกลับไปหาตัวเราตอนเรียนหนังสือ ปรากฏว่า เราเรียนด้วย ความกลัว ซะเยอะมากทีเดียว กลัวตอบไม่ได้ กลัวทำไม่ได้ดี ทำดีแล้วก็กลัวเพราะเพื่อนทำดีกว่า เกรดเราจะตกไหมเนี่ย ไม่นับกลัวรักษาผิด กลัวคนไข้ตาย กลัวการไปบอกข่าวร้ายให้แก่ญาติ ฯลฯ ร้อยแปดพันประการ

เซลล์ตอนนั้นก็ไม่ได้เรียนรู้อะไร

เพราะใน mode ปกติ เซลล์มีหน้าที่ 4 ประการ คือ เจริญเติบโต ซ่อมแซม สื่อสาร และเรียนรู้ เมื่อตกอยู่ใน mode ปกป้อง เซลล์ก็จะหยุดหน้าที่เหล่านี้ไป หรือมี compremized ในการทำงานเกิดขึ้น

การที่คนเราเติบโต และต้องเรียนรู้ ก็เพื่อที่เราจะได้สามารถ "เลือก" ได้เหมาะสม เลือกที่จะดำรง ดำเนิน ชีวิตอยู่ และอยู่ในสังคม ถ้าเมื่อไหร่ก็ตาม การเลือกมีชีวิตอยู่ แต่ไม่ได้คำนึงถึงว่าเราอยู่ในสังคม นั่นคือ มีคนอื่นๆอยูด้วย และความสุขของคนอื่นๆก็จะมีผลกระทบต่อเราเสมอ ก็จะเกิดการเสียสมดุลเกิดขึ้น

ครั้งหนึ่งในการประชุม สัมมนา เขียนวิสัยทัศน์ พันธกิจ น่าสนใจมาก ยุคหนึ่งเวลาเขียนวิสัยทัศน์ พันธกิจ จะต้องมีคำว่า "แข่งขัน" อยู่ด้วยเสมอ (หรือยุคนี้ก็อาจจะยังเป็นอยู่) และใส่ลงไปได้ใน "ทุกวงการ" ทุกวงการจริงๆ (เน้น) ไม่ว่าจะเป็นการศึกษา การสาธารณสุข ไม่ทราบว่าการยุติธรรม หรือวัฒนธรรมด้วยหรือไม่

ประเด็นก็คือ "การแข่งขัน" นั้นมันแฝงนัยยะแบบแผนของการ "อยู่ร่วม" เอาไว้แบบหนึ่ง การอยู่อย่างแข่งขันนั้น เราอยู่กันอย่างไร เรามีความสัมพันธ์อย่างไรกับคนรอบๆข้าง? ก็จะเกิดการแบ่งฝ่าย เอ้า นี่เป็นฝ่าย stake-holder ของเรา เป็นพวกเดียวกัน เป็นเผ่าเดียวกัน มีผลประโยชน์ร่วมกัน เอ้า นั่นเป็นอีกฝ่ายหนึ่ง เป็นคนละพวก เป็นคนละเผ่า เมื่อมี การแข่งขัน ก็จะมีการเปรียบเทียบแน่นอน มีการวัด วัดแล้วเปรียบเทียบด้วย มี คนแพ้ คนชนะ มีการจัดลำดับเกิดขึ้น แล้วเราก็มี ลำดับมหาวิทยาลัย ลำดับโรงเรียน ลำดับโรงพยาบาล ลำดับหมอ ลำดับครู ลำดับนักเรียน ลำดับ ฯลฯ

เพื่ออะไร? หมายความว่าอย่างไร? และจะมีผลอย่างไร?

เชื่อหรือไม่ จากการพูดคุย บางครั้งผมแทบจะรู้สึกว่าเวลาพูดเรื่องการแข่งขันที่ว่า แทบจะเป็นประเด็นเรื่อง "การอยู่รอด" เลยทีเดียว ถ้ามหาวิทยาลัยเรา ranking ไม่ดี งบประมาณจะลดลง พัฒนาไม่ได้ เราอยู่เฉยๆ คนอื่นไปข้างหน้า แปลว่าเราถอยหลัง ฯลฯ บางครั้ง ระดับการแข่งขัน ไปๆมาๆสำคัญกว่าสิ่งที่เรากำลังทำอยู่ หรือสิ่งที่เรากำลังทำเพื่อ เสียอีก

แล้วจริงหรือ? เราต้องแข่งเพื่อที่จะอยู่รอดจริงหรือ?

กลายเป็นการแก่งแย่งอะไรสักอย่าง ตลอดเวลา แล้ว การอยู่ร่วมแบบนี้ จะมี "ความหมาย" ว่าอย่างไร?

นึกถึงทีมฟุตบอล premier league ในอังกฤษ ที่ทุกปีจะมี 3 ทีมตกชั้น 3 ทีมไต่ชั้น หัวกระดานก็จะมี 5 ทีมเข้าแข่งในยุโรป อย่านึกว่าอยู่ top แล้วจะผ่อนคลายมีความสุข คนที่มีสมรรถภาพดี เก่ง แข็งแรง จะต้องต่อสู้เพื่อรักษาสถานะนั้นไว้ ซึ่งในที่สุดก็จะตกลงมาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

สมมติมหาวิทยาลัยเราติดอันดับโลก ตอนนี้จะเกิดอะไรขึ้น เราก็จะพยายามดิ้นรนเพื่อรักษาสถานะนั้นไว้ แค่รักษาสถานะไม่ได้แปลว่าทำเท่าเดิม เพราะทีมล่างๆ มหาวิทยาลัยล่างๆ ก็กำลังดิ้นรนที่จะเข้ามาแทนที่ การคัดเลือกเด็กนักเรียนก็เริ่มมีความหมายมากขึ้น มีการสอบตรงดักหน้า ดักหลัง ขอคัดเลือกเด็กก่อน ขอเด็กเก่งก่อน เพราะ สอนคนเก่งนั้นง่ายกว่า สอนคนไม่เก่ง

เป็นความท้าทาย (? อย่างไร ?) ที่จะสอนเด็กเก่ง ให้เก่ง?

หรือความท้าทาย (ของครู อาจารย์) น่าจะอยู่ที่การ ปั้นดินให้เป็นดาว การเสาะแสวงหาพยายาม optimize เด็กที่อยู่เบื้องหน้าเราให้พัฒนาได้ดีที่สุด เท่าที่บริบทของเขาจะเอื้ออำนวย

อย่างที่เล่าเรื่องฟังลูกอ่านหนังสือให้ฟัง ถ้าเราสามารถชื่นชมการพัฒนาการของลูกเราได้ เราก็น่าจะรู้สึกอย่างเดียวกันหรือไม่ กับการพัฒนาการของนักเรียน ของลูกศิษย์ และ ยิ่งยากจะยิ่งมีความหมายรึเปล่า? หรือว่าการได้เจอะ เจอ เด็กเรียนยาก จะทำให้เรายิ่งท้อแท้ นี่ก็ขึ้นกับ ความหมายของชีวิตครู ที่เราแต่ละคนได้ตั้งไว้เหมือนกัน

หมายเลขบันทึก: 98219เขียนเมื่อ 24 พฤษภาคม 2007 09:46 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 18:01 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (7)

สวัสดีค่ะท่านอาจารย์

ตามมาอีกแล้วค่ะ เพราะติดใจวิธีคิด และ ความเป็น อาจารย์ ของอาจารย์ค่ะ ยิ่งตอนนี้ มีหลานเล็กๆ ยิ่งสนใจใหญ่ค่ะ

  • ได้อ่านคำตอบของอาจารย์แล้ว ประทับใจ เพราะ ดิฉัน ก็คิดแบบนี้ มานานแล้ว  แม้จะชื่นชมหลานชายมากๆที่เก่งแบบมีพรสวรรค์ติดตัวมา เจออะไรกระตุ้นเข้า ก็หยุดไม่อยู่แล้ว แต่ก็อดคิดไม่ได้ว่า ค่อนข้างจะเก่งแบบโดดๆไปหน่อย แต่เก่งก็ดีกว่าไม่เก่งค่ะ น้องสาวเขาก็เก่งมากเช่นกัน แต่คนละแบบ  ดิฉันถึงเชื่อว่า พันธุกรรมมีบทบาทสูงจริงๆค่ะ
  • ดิฉันคุยในหมู่เพื่อนๆบ่อยๆว่า ลูกหลานเรา คงไม่ต้องเก่งมากๆหรอก เก่งพอประมาณแต่ขอให้เป็นคนดี มีคุณธรรม ก่อน
  • ถ้าจะเก่ง ก็อยากให้ความเก่งนั้น สามารถเป็นประโยชน์ต่อผู้อื่น ต่อสังคม และประเทศชาติได้ด้วย  สามารถที่จะเสียสละความสุขส่วนตนเพื่อคนอื่นได้บ้าง เพื่อให้ชีวิตมีความหมายขึ้นค่ะ
  • อาจารย์คะน้องป๋อมแป๋ม น่ารักมาก มีแววตาที่ฉลาดเฉลียวมากค่ะ อาจารย์นำรูปเขามาลง และแนะนำวิธีอบรมเลี้ยงดูบ้างซีคะ จะได้เป็นแบบอย่างให้คนอื่น ทีมีลูกเล็กๆบ้างค่ะ
  1. เรามี "ชีวิต" ชีวิตที่มีความทุกข์เป็นสัจจธรรม

  2. เรา "อยู่ด้วยกันในสังคม" หน้าที่ของเราคือหน้าที่ต่อสังคม ตัวเราจึงดำรงคงอยู่ได้

  ผ่านมาครับ คุณฟีนิกส์ .... ขอร่วมแลกเปลี่ยนครับ

 "การอยู่รอด  อยู่ร่วม และอยู่อย่างมีความหมาย" ครับดีครับ

การอยู่รอด คือเข้าใจว่า เราเกิดมารับทุกข์ ทำนองนั้นหรือเปล่าครับ........เมื่อมีทุกข์เข้ามาในชีวิต เราก็จะยิ้มสู้ใช่หรือไม่ครับ ไม่ท้อแท้

การอยู่ร่วม คืออยู่ด้วยกันในสังคม ดั่งคำโบราณกล่าวว่า "อยู่ลำพังระวังความคิด อยู่กับมวลหมู่มิตรระวังคำพูด" หนึ่งหล่ะที่ต้องปฏิบัติ "คำพูด"ที่ถูกกับกาละเทศะ แล้ว "หน้าที่"  พระอาจารย์พุทธทาส ท่านกล่าวว่าเราเกิดมามีหน้าที่  เราทำหน้าที่สมบูรณ์ก็ถือว่าเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์

หน้าที่คงไม่ต้องกล่าว เหมือนกับว่า เราคนไทยต้องรู้กฎหมายของเมืองไทยอย่างดี

แต่พระอาจารย์ท่านพุทธทาส ท่านเติมว่า ถ้าเราเป็นพูทธศาสนิกชนที่ดี  เราต้องรู้จักประพฤติธรรม และปฏิบัติธรรมด้วยจึงจะครบถ้วนสมบูรณ์ ครับ

 

สวัสดีครับ คุณศศินันท์ P

ดีใจมากครับ ที่คุณศศินันท์กรุณาตามมา comment ยินดี และดีใจเป็นอย่างยิ่ง เผอิญที่ผมค้างไว้ ตอนคุณศศินันท์เขียนมา ยังไม่จบ ต้องออกไปดูคนไข้ กลัวว่า file จะหายไป เลย post มาก่อนครับ

ผมคงจะไม่ได้เป็นคนเลี้ยงลูกเก่งอะไร หรือต่างจากคนอื่นๆสักเท่าไหร่หรอกครับ ก็ถามๆเอาแถวๆนี้เหมือนกัน

รู้สึกจะเคยมีงานวิจัย คล้ายๆกับที่คุณศศินันท์เล่ามา คือ ถามคนไข้ว่าระหว่างหมอเก่ง กับหมอที่ใจดี เห็นอกเห็นใจ อยากจะรักษากับใคร คำตอบก็หลากหลายครับ แล้วแต่ ประสบการณ์ส่วนตัว ที่สร้างความ (ไม่) ประทับใจ ตอบตามตรรกะ ก็ขอหมอเก่งรักษาหายแน่ๆ (ซึ่งไม่แน่) แต่ถ้าเจอเข้ากับตัวเอง สักราย สักครั้ง คำตอบก็อาจจะเป็นอีกอย่างหนึ่ง

ผมมักจะถามนักเรียนแพทย์ของผมว่า "เคยมีเรื่องอะไร อยากจะปรึกษาเพื่อนไหม" พยักหน้ากันหงึกๆ ถามต่อ "แล้วเราเลือกเพื่อนไหมครับ คนที่เราจะปรึกษา หรือว่าใครก็ได้" และถ้าเลือก "เราเลือกเขาเพราะคุณสมบัติข้อใดสำคัญมากที่สุด"

แล้วตรงนั้นล่ะ คือ สิ่งที่น้องๆนศพ. ต้องพัฒนาให้เกิดในตัวเอง

สวัสดีครับ คุณสมพงศ์

เห็นด้วยครับ และเห็นด้วยว่าหลักธรรมะนั้น กว้างใหญ่ไพศาล และครอบคลุมทั้งลึกทั้งครบถ้วนจริงๆ

ผมเลยอยากจะให้เป็น คุณค่าที่เป็นสากล คือศาสนาไหนก็ได้ มาถือคุณค่านี้กัน แต่ละศาสนา แม้จะต่างใน protocol หรือพิธีกรรม รายละเอียด แต่ลงท้ายก็ไปเป็น เครื่องยึดเหนี่ยวต่อสังคม เหมือนๆกันไหมครับ

คุณธรรม และประพฤติธรรม นั้น จะมีความหมายก็เพราะเราอยู่ในสังคมรึเปล่า (มั้ง) ถ้าเราอยู่คนเดียวในโลก ก็ไม่รู้จะไปสัมมาวาจากับใคร ทำงานเพื่อใคร เพื่ออะไร ดังนั้น อยู่อย่างมีความหมาย ในบริบทนี้ ก็สามารถนับเอาการอยู่อย่างมีศีลธรรม มีคุณธรรม ด้วย ก็พอไหว (มั้งครับ)

ขอบพระคุณมากครับ

ผมอ่านบทความนี้แล้วเกิดความคิดเกี่ยวกับการดำเนินชีวิตที่เหมาะกับตัวเองครับ

คงจะเป็นมุมมองในการดำเนินชีวิตโดยทำหน้าที่ของตนในมิติต่างๆ ในถึงพร้อม "หน้าที่ในการพัฒนาตน" เมื่ออยู่อย่างผู้ที่พัฒนาตนให้เกิดปัญญา ผู้มีปัญญา(อย่างแท้จริง) จะทำหน้าที่ตนได้อย่างดี เป็นประโยชน์ต่อครอบครัว/สังคมของตนได้

เมื่อก่อนผมอยากพัฒนาสิ่งนั้น สิ่งนี้ แต่หลายครั้งไม่สำเร็จ จนมาย้อนนึกถึงมูลเหตุหนึ่งที่ล้มเหลวก็พบว่า "ลืมพัฒนาตนเองให้ถึงพร้อมแก่การทำประโยชน์"

เพิ่งได้เข้าร่วมในชุมชนนี้ไม่นาน แต่พบว่ามีสิ่งที่ได้รับมากมาย  ได้อ่านความเห็นของอาจารย์แล้ว ได้ประโยชน์แก่ตัวเองมากเลยครับ   เรื่องการได้เห็นการเติบโตของลูกนั้นถือเป็นความสุขที่ลึกซึ้ง

อย่างนึงในชีวิตครับ 

โอ ชอบจังเลยค่ะ

อยู่รอด อยู่ร่วม และอยู่อย่างมีความหมาย

โดนค่ะท่านอาจารย์

http://leadership.exteen.com

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท