เมื่อฉันเป็นผู้ต้องสงสัย...ติดไข้หวัดใหญ่ 2009....?


ความวิตกกังวล...กับอาการที่เป็นว่าใช่หรือไม่?

         อาการเริ่มจากการมีไข้ติดต่อกัน 3 วันและเริ่มมีมากขึ้นในวันที่ 4 (15 ก.ค) ครั่นเนื้อครั่นตัว เบื่ออาหาร อ่อนเพลีย รู้สึกเหนื่อย ฉันจึงตัดสินใจไปหาหมอที่โรงพยาบาลรามาธิบดี ซึ่งจะมีศูนย์ควบคุมและเฝ้าระวังของไข้หวัดใหญ่ 2009 อยู่ที่บริเวณชั้นสอง ตึกใหม่ ซึ่งกันพื้นที่ไว้โดยเฉพาะ

          บริเวณชั้นสอง จะมีใบกรอกประวัติผู้ป่วยและอาการที่เกิดขึ้นอย่งละเอียด เพื่อเป็นข้อมูลเบื้องต้น โดยจะมีแยกเด็กกับผู้ใหญ่ โดยการแยกบัตรคิวคนละสี มีเจลล้างมือทุกจุดที่มองเห็นพร้อมผ้าปิดจมูกแจก เมื่อกรอกเสร็จก็วัดอุณหภูมิและความดัน ช่างน้ำหนัก รอเรียกชื่อเข้าตรวจ ถ้าต้องการใบรับรองแพทย์ก็บอกตรงนั้นเลย แล้วรอพบแพทย์ซึ่งแยกกันของเด็กกับผู้ใหญ่

          อาการที่ต้องสงสัย  ฉันเองมีโรคประจำตัวอยู่แล้วคือ โรคเบาหวานและไขมันในเลือดสูงแถมภูมิแพ้(อากาศ)ร่วมด้วย เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา(12 ก.ค) ฉันเริ่มมีไข้อ่อนๆแต่ก็ไม่เป็นมาก พอวันจันทร์(13 ก.ค)ก็ใช้ผ้าปิดจมูกเวลาเดินทาง กินยาแก้ไข้ตลอด พอวันที่สาม(14 ก.ค) อาการไข้ก็ทุเลาเฉพาะตอนกินยาพอหมดฤทธิ์ยาก็มีอาการตัวร้อนอีก พร้อมกับอาการครั่นเนื้อครันตัว อ่อนเพลีย เบื่ออาหารร่วมด้วย แต่ไม่มีอาการไอ จามหรือมีน้ำมูกแต่อย่างใด แต่ฉันก็ปิดจมูกตลอดทั้งวัน บอกเพื่อนว่ามีไข้จะได้ไม่เข้าใกล้ และรู้สึกเป็นกังวล เพื่อนที่อยู่ร.พ.บำราศฯซึ่งเป็นศูนย์เฝ้าระวังไข้หวัด 2009 โทรมาถามอาการตลอดเป็นไง หายไข้หรือยัง? แล้วก็บอกว่าควรจะไปตรวจได้แล้วเนื่องจากมีอาการหลายวันและเป็นกลุ่มเสี่ยง บางคนอาการอาจจะไม่มากแต่ก็สามารถแพร่เชื้อได้เช่นกัน อาการที่ฉันเป็นก็ก้ำกึ่งมาก อีกทั้งทำงานอยู่ในโรงพยาบาลเหมือนกัน ซึ่งก็เป็นแหล่งที่เสี่ยงพอสมควร ดังนั้นการเฝ้าระวังอาจจะไม่ค่อยเพียงพอก็ได้ อีกทั้งเพื่อนก็สงสัยว่าตัวเองจะเป็นพาหะ? นำเชื้อหวัดมาติดหรือไม่? เนื่องจากฉันมีไข้หลังจากพบเพื่อนเพียง 1 วัน (ซึ่งไม่น่าเป็นไปได้ )

          เมื่อได้รับการตรวจจากแพทย์   ฉันก็เล่าอาการดังกล่าวให้ฟัง คุณหมอก็ตรวจคอว่าอักเสบไหม? แล้วจากอาการดังกล่าวและไข้สูงๆต่ำๆนี้ทำให้แพทย์เกิดอาการก้ำกึ่งว่าอาจจะติดเชื้อหวัด 2009 ดังนั้นจึงให้เก็บSwab จากช่องจมูกไปตรวจหาเชื้อไข้หวัดใหญ่ 2009 โดยวิธีการทำ Real time PCR (ค่าตรวจ 1500 บาท) ใช้เวลาตรวจ 2 วันจึงจะทราบผล แพทย์บอกว่าฉันเป็นกลุ่มเสี่ยงดังนั้นจึงให้กินยาต้านไวรัส(Oseltamivir 75 mg) 2 วันไปก่อน พร้อมยาลดไข้ตามอาการ อีก 2 วันถ้าผลการตรวจออกมาจะแจ้งให้ทราบทางโทรศัพย์ ถ้าปกติก็ไม่ต้องกินยาต่อ ถ้าตรวจพบเชื้อก็ให้มารับยาเพิ่มอีก 5 วัน พร้อมกันนี้ก็แนะนำให้พักผ่อนอยู่บ้านอย่าออกไปไหน หมอให้ใบรับรองแพทย์หยุดงาน 3 วันรอดูอาการ

          กลับไปที่ทำงาน  ฉันได้แจ้งให้หัวหน้าและเพื่อนๆรับทราบว่าฉันมีไข้(ซึ่งก็บอกก่อนนี้แล้ว ใช้ผ้าปิดจมูกตลอดที่มีไข้) และรอฟังผลการตรวจไข้หวัด 2009 ระหว่างนี้หมอให้พัก 3 วันจนกว่าอาการไข้จะดีขึ้น และรอผลการตรวจอีกสองวันว่าเป็นหรือไม่? และได้แจ้งให้ฝ่ายเฝ้าระวังโรคไข้หวัด2009 ของร.พ.ให้ทราบว่าฉันได้เข้ารับการตรวจไข้หวัด2009 รอฟังผลขณะนี้มีไข้หมอให้หยุด 3 วัน จนท.ถามว่ามีเพื่อนร่วมงานมีอาการไข้หรือไม่? ซึ่งไม่มี เพื่อนๆก็ตื่นตัวอย่างมากในการที่จะป้องกันตัวเอง โดยใช้ผ้าปิดจมูก ซึ่งป้องกันซึ่งกันไว้เป็นเรื่องดี

          ขณะรอฟังผลอาการไข้  ก็เพิ่มมากขึ้น ฉันกลับมานอนพัก พร้อมกินยาตามหมอสั่งพร้อมกับอาการไข้ วันที่ 5 ,6 ที่ขึ้นๆลงๆ ในระหว่างนี้ก็กินน้ำเยอะๆและกินฝรั่งซึ่งมีวิตามินซีสูงและนอนพักมากๆ เนื่องจากเกิดอาการเพลียไข้ จนกินยาต้านไวรัสเม็ดสุดท้ายหมด อาการดีขึ้น วันที่ 16 ก.ค เวลาตอน 2 ทุ่มครึ่ง ฉันนอนอยู่ก็ได้ยินเสียงโทรศัพท์ดังขึ้น

          โทรศัพท์แจ้งข่าวจาก ร.พ.รามา  ดังขึ้นบอกว่าโทรมาแจ้งผลการตรวจไข้หวัดใหญ่ 2009 ฉันแทบจะกลั้นใจฟัง...ผลการตรวจของคุณ ไม่พบเชื้อค่ะ...เสียงสวรรค์จริงๆ เป็นคำตอบที่เมื่อได้ฟังแล้วโล่งอก...(ทั้งที่ยังไม่หายไข้) พยาบาลยังถามต่อด้วยความห่วงใยอีกว่า อาการเป็นอย่างไรบ้าง? ก็บอกไข้ยังไม่ค่อยลด คงเป็นหวัดธรรมดาค่ะ คงจะค่อยดีขึ้นถ้าอาการไม่ดีขึ้นก็มาตรวจซ้ำใหม่อีกครั้งนะคะ แถมทิ้งท้ายด้วยความห่วงใยว่า...ตอนนี้ไข้หวัดระบาดหนัก ก็อย่าประมาทให้ระมัดระวังสุขภาพต่อด้วยนะคะ ฉันขอชื่นชมทีมไข้หวัด2009 ร.พ.รามา ที่ดูแลคนไข้ที่มารับการตรวจต่อวันเป็นพันคน ด้วยความสุภาพและห่วงใย ไม่มีอาการรังเกียจหรือหงุดหงิดแต่อย่างใด ขอเป็นกำลังใจให้ทีมแพทย์และพยาบาลทุกท่านด้วยค่ะ

          วันนี้อาการไข้ของฉันดีขึ้นมากแล้ว จึงมีแรงเขียนบันทึกมาเตือนเพื่อนๆว่า ไข้หวัดใหญ่2009  ไม่ใช่เรื่องเล่นๆ อย่าประมาท ในความแออัดของผู้คนในกทม. หรือที่ชุมชุมชน สามารถที่จะทำให้เกิดการแพร่ระบาดของเชื้ออย่างรวดเร็วทีเดียว การรับผิดชอบต่อสังคมโดยการใช้ผ้าปิดจมูก ต่างคนต่างป้องกันก็จะช่วยได้เยอะทีเดียว

          ฉันได้รับเอกสาร ซึ่งเป็นแผ่นพับที่แจกในขณะรอตรวจ จึงขออนุญาตนำข้อมูลของร.พ.รามาธิบดี ซึ่งพิมพ์เมื่อ 3 ก.ค. 52 มาเผยแพร่ต่อ ซึ่งอาการที่เกิดใกล้เคียงกับที่ทุกคนสงสัยอยากรู้กันมากค่ะ

          ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ เอ / เอช 1 เอ็น 1  

          ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ เป็นโรคติดต่อระหว่างคนสู่คน เริ่มที่ประเทศเม็กซิโกและสหรัฐอเมริกา เมื่อมีนาคม 2552 แล้วแพร่ไปยังหลายประเทศ

          เชื้อที่เป็นสาเหตุ  เป็นไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ ชนิดเอ เอช 1 เอ็น 1 (A/H1N1) ไม่เคยพบมาก่อน เชื้ออยู่ในเสมหะ น้ำมูก น้ำลายของผู้ป่วย

          การติดต่อ  เชื้อติดต่อระหว่างคนได้ง่ายโดย

·       การหายใจรับเชื้อเข้าไป เมื่อผู้ป่วยไอ จามรดหรืออยู่ในที่อากาศไม่ระบายและมีเชื้ออยู่

·       การรับเชื้อผ่านทางมือ หรือสิ่งของเครื่องใช้ที่เปื้อนเชื้อ เช่น แก้วน้ำ ลูกบิดประตู โทรศัพท์ ผ้าเช็ดมือ เป็นต้น เชื้อจะเข้าทางจมูก ปาก และตา

·       ผู้ป่วยแพร่เชื้อได้ตั้งแต่ 1 วันก่อนป่วย แพร่เชื้อได้มากที่สุดใน 3 วันแรกที่ป่วย มักแพร่ไม่เกิน 7 วัน

อาการป่วย  ผู้ป่วยส่วนใหญ่ เริ่มมีอาการหลังได้รับเชื้อ 1- 3 วัน ส่วนน้อยนานถึง 7 วัน  ผู้ที่ติดเชื้อมีอาการน้อยเหมือนไข้หวัดธรรมดาคือมีไข้ต่ำๆ เจ็บคอ ไอเล็กน้อย กินอาหารได้ บางคนมีอาการป่วยเช่นเดียวกับไข้หวัดใหญ่อื่นๆคือ มีไข้ เจ็บคอ ไอ ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ อ่อนเพลีย อาจมีอาการเบื่ออาหาร คลื่นไส้ อาเจียนหรือมีท้องเสียด้วย ส่วนใหญ่จะหายภายใน 5-7 วัน

โรคแทรกซ้อน น้อยรายมีโรคแทรกซ้อน เช่น ปอดอักเสบ มีอาการหายใจเร็ว เหนื่อย หอบ หายใจลำบาก ซึ่งต้องรีบรักษา

การรักษา  ผู้ป่วยติดเชื้อที่ต้องรีบไปพบแพทย์ที่ร.พ.คือ

1. ผู้ป่วยที่มีอาการมาก เช่น ไข้สูง ปวดหัวและปวดเมื่อยตัวมาก ไอมาก เหนื่อย หอบ กินอาหารไม่ได้

2. ผู้ที่มีโรคประจำตัว ได้แก่ โรคที่ทำให้ภูมิต้านทานต่ำ (เช่นมะเร็ง ได้รับยากดภูมิต้านทาน) โรคปอด โรคหัวใจ โรคไต โรคนับ เบาหวาน อ้วนมาก เป็นต้น

3. ผู้ป่วยอายุน้อยกว่า 5 ปีหรือมากกว่า 65 ปี

ผู้ป่วยที่มีอาการน้อยและผู้สัมผัสที่ไม่มีอาการ ไม่จำเป็นต้องมาร.พ. ควรพักรักษาตัวที่บ้านโดย

1. กินยารักษาตามอาการ เช่น กินยาพาราเซตามอล เพื่อลดไข้ ลดการปวดหัว ปวดเมื่อยตัวหรือเจ็บคอ เช็ดตัวลดไข้เป็นระยะ

2. ดื่มน้ำสะอาดและน้ำผลไม้มากๆ หลีกเลี่ยงการดื่มน้ำเย็น

3. พยายามกินอาหารที่มีประโยชน์ให้ได้มากพอเพียง โดยทั่วไปจะกินอาหารอ่อนได้ดีกว่า เช่น โจ๊ก ข้าวต้ม ไข่ ผัก ผลไม้ เป็นต้น

4. ไม่ต้องกินยาปฏิชีวนะเพราะไม่ช่วยรักษาไข้หวัดใหญ่ เมื่ออาการไม่ดีขึ้นตามคาด ควรพบแพทย์และหากตรวจพบว่าการติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อน แพทย์จะให้การรักษาด้วยยาปฏิชีวนะที่ถูกต้อง การกินยาปฏิชีวนะเองอย่างไม่ถูกต้อง ก่อให้เกิดอันตรายได้

5. พักผ่อนให้เพียงพอในห้องที่มีอากาศถ่ายเทดี ไม่ออกกำลังกายที่หักโหมหรือทำงานหนักเกินไป

6. หากมีข้อสงสัย ปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรรมใกล้บ้านได้

การป้องกันการติดเชื้อ  กินร้อน  ใช้ช้อนกลาง  ล้างมือ

·       หลีกเลี่ยงการอยู่ใกล้ชิดดกับผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่

·       เมื่อต้องเข้าใกล้ชิดผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่ในระยะน้อยกว่า 1 เมตร ควรปิดปากปิดจมูก  โดยใช้ผ้าหรือสวมหน้ากากอนามัย หากทำได้ควรให้ผู้ป่วยสวมหน้ากากอนามัยด้วย

·       ล้างมือด้วยน้ำและสบู่บ่อยๆ ถ้าไม่มีให้ใช้เจลแอลกอฮอล์ล้างมือแทนโดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังการสัมผัสใกล้ชิดผู้ป่วยหรือของใช้ที่อาจเปื้อนน้ำมูกน้ำลายของผู้ป่วย ก่อนกินอาหาร หลังกลับจากที่สาธารณะ หลังเข้าห้องน้ำ

·       ฝึกนิสัยไม่เอามือสัมผัสใบหน้า ปาก จมูก ตา โดยำม่จำเป็น

·       ไม่ใช้แก้วน้ำ หลอดดูดน้ำ ช้อนอาหาร ผ้าเช็ดมือ ผ้าเช็ดหน้าร่วมกับผู้อื่น

·       รักษาสุขภาพให้แข็งแรง โดยกินอาหารที่มีประโยชน์ พักผ่อนให้เพียงพอ ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ หลีกเลี่ยงบุหรี่และสุรา

การป้องกันการแพร่เชื้อ  ผู้ป่วยต้องป้องกันการแพร่เชื้อให้ผู้อื่นโดย

·       หลีกเลี่ยงการอยู่ใกล้ชิดกับผู้อื่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในที่แออัด อากาศถ่ายเทไม่ดี

·       หยุดงาน หยุดเรียน จนกว่าจะหาย

·       สวมหน้ากากอนามัย เมื่ออยู่กับผู้อื่น

·       ทุกครั้งที่ไอจาม ให้ใช้ต้นแขนหรือทิชชูปิดปากจมูก ทิ้งทิชชูลงในถังขยะที่มีฝาปิด แล้วล้างมือที่ปิดปากจมูกให้สะอาดด้วยน้ำและสบู่

สิ่งเหล่านี้เป็นข้อมูลที่น่าสนใจและมีประโยชน์ จากร.พ.รามาธิบดี ศูนย์ตรวจไข้หวัดใหญ่ 2009 จากข้อมูลไข้หวัดใหญ่ธรรมดาจะโจมตีทางเดินหายใจส่วนบน เช่น คอ จมูก แต่ไข้หวัดใหญ่ 2009 จะโจมตีทางเดินหายใจส่วนล่าง โดยเฉพาะปอด ทำให้ปอดอักเสบ ปอดติดเชื้อ ปวดบวม น้ำท่วมปอด และโรคแทรกซ้อนอื่นๆตามมาและเสียชีวิต

ดังนั้นอย่านิ่งนอนใจ ถ้าคุณไม่แน่ใจว่าจะเป็นหรือไม่ เมื่อสังเกตอาการดังที่ได้กล่าวไปแล้วและอยู่ในกลุ่มเสี่ยง ก็ไปรับการตรวจให้แน่ใจเถอะ จะได้ดูแลได้ทันไม่เกิดอาการแทรกซ้อน อย่าลืมรับผิดชอบสังคม ด้วยการใส่หน้ากากอนามัยนะคะไม่ว่าคุณจะเป็นไข้หรือไม่ก็ตาม ป้องกันไว้ก็ไม่เสียหายอะไร จริงไหมคะ? อย่าลืมพักผ่อนมากๆ ขอให้ทุกคนมีสุขภาพแข็งแรงและปลอดภัยจากไข้หวัดใหญ่2009 ค่ะ.

หมายเลขบันทึก: 277854เขียนเมื่อ 18 กรกฎาคม 2009 18:46 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:44 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (9)

มาขอเรียนรู้ กำลังห่วงใยคนข้างล่างอายุต่ำกว่า 5 ขวบ ชอบเอามือสัมผัสที่ตา จมูกและปาก เป็นประจำ ใช้เจนล้างมืออยู่บ่อยๆ  ขอบพระคุณมากครับ

สวัสดีค่ะท่านอาจารย์ประจักษ์

·       การป้องกันนั้น....ดีกว่าการแก้ไขเสมอ

·       ยิ่งเด็กเล็กแล้วต้องดูแลเป็นพิเศษค่ะ

·       แต่ดูแล้ว....รู้สึกว่าน้องม่อนจะเตรียมพร้อมในการป้องกันอยู่แล้วค่ะ

·       ขอให้สุขภาพแข็งแรง และปลอดภันจากไข้หวัดใหญ่ 2009 ค่ะ.

·       ขอบคุณที่แวะมาเยี่ยมค่ะ.

นมัสการพระคุณเจ้าธรรมฐิต

·       วันก่อนผึ้งงานเห็นมีข่าวคนนำผ้าปิดจมูกไปถวายพระที่วัดด้วย รู้สึกดีใจค่ะที่ท่านผู้นั้นมีจิตใจที่ดีงามและรอบคอบมากๆ ไม่มองข้ามความปลอดภัยของพระสงฆ์

·       เนื่องจากไข้หวัดใหญ่ 2009 ระบาดไปทั่วและตอนนี้ผ้าปิดจมูกก็เริ่มขาดตลาด

·       การปิดจมูกก็ถือว่าเป็นการรับผิดชอบสังคมร่วมกัน ซึ่งเป็นวิธีป้องกันที่ได้ผลดีวิธีหนึ่งค่ะ

·       ผึ้งงานอยากเผยแพร่ข้อมูลไข้หวัด 2009  เพื่อคนอื่นจะได้ป้องกันและรักษาได้ทันกับอาการที่พบค่ะ.

·       ขอให้ท่านจงมีสุขภาพแข็งแรง ห่างไกลจากไข้หวัด 2009 ค่ะ

·       ขอบคุณในความเมตตาที่ท่านแวะมาเยี่ยมค่ะ.

ขอขอบคุณที่ท่าน Pแวะมาเยี่ยมอีกครั้งค่ะ.

  • ขณะนี้คงหายเป็นปกติแล้วนะครับ
  • อ่าน ฟังจากข่าว..สถานการณ์ปัจจุบันน่ากลัวขึ้นเรื่อยๆ
  • บันทึกนี้อ่านแล้วชวนให้ติดตามมาก ช่วยลุ้นไปด้วยยังกับเป็นผู้ต้องสงสัยเองเลย
  • ขอบคุณความรู้ดีๆ เรื่อง หวัด 2009 ครับ

สวัสดีค่ะPคุณครูธนิตย์

·       ตอนนี้ผึ้งงานหายดีแล้ว รวมแล้วเป็นไข้ 9 วันพอดีค่ะ.

·       อาการไข้หวัด 2009 กับอาการไข้หวัดใหญ่ธรรมดา จะคล้ายกันมากจนแยกกันไม่ออก แต่การไม่ประมาทในเรื่องสุขภาพเป็นเรื่องดีค่ะ

·       สำหรับเพื่อนของผึ้งงานเองนั้น ไม่โชคดีเหมือนผึ้งงาน เพราะเธอได้ติดเชื้อ ไข้หวัด 2009 ซึ่งระบาดหนักในช่วงเดียวกับที่ผึ้งงานป่วยเช่นกัน ซึ่งตอนนี้เธอก็ยังไม่หายดีนัก จากการทำงานในจุดที่สัมผัสกับกลุ่มเสี่ยง

·        คุณครูธนิตย์และเด็กๆนักเรียน ก็ต้องคอยดูแลซึ่งกันและกันให้มากขึ้น ซึ่งเดือนหน้า(ส.ค.)นี้ข่าวจากวงการสาธารณสุข คาดการณ์ว่าจะมีการระบาดหนักมาอีกรอบ การล้างมือและการใช้ผ้าปิดจมูกช่วยได้มากถึง 90%  ทั้งการป้องกันจากคนอื่นและป้องกันตัวเองให้ปลอดภัย

·       ขอบคุณที่แวะมาเยี่ยมและรักษาสุขภาพด้วยนะคะ  โชคดีค่ะ.

สวัสดีค่ะ

·       คุณหมอธีระวัฒน์ เหมจุฑา อยู่คณะแพทย์ศาสตร์จุฬ่าลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นผู้อำนวยการศูนย์ความร่วมมือองค์กรอนามัยโลกไวรัสสัตว์สู่คน ได้ให้ประเด็นการที่เชื้อดื้อยาได้อย่างน่าสนใจและการให้ยาโดยไม่จำเป็นจะทำให้เกิดการดื้อยาได้

·       การให้ยาโอเซลทามิเวียร์ ในวันที่4หรือ5 คนละ 10 แคปซูล(5 วัน) ในรายที่เหมาะสม ไม่ใช่พร่ำเพื่ออาจเกิดการดื้อยาได้ในอนาคต

·       การสังเกตในการพิจารณาความผิดปกตินั้น โดยเริ่มแรก อาการน้อย...เป็นรุนแรงขึ้น มีไข้สูง 38 องศา จากเดิมเคยดีขึ้นเมื่อกินยาพาราเซลตามอลแต่เริ่มไม่ได้ผลและยังมีอาการ 1 ใน5 ประการร่วมด้วยหรือไม่?คือ

         1.      ปวดเมื่อยเนื้อตัว จนแทบไม่อยากเคลื่อนไหว

         2.      ปวดหัวยาพาราเอาไม่อยู่

         3.      เหนื่อยเพลีย จนไม่อยากลุก

         4.      เบื่ออาหารของชอบอยู่ตรงหน้าก็ไม่อยากกิน

         5.      คลื่นไส้อาเจียน ท้องเสียบ่อยขึ้น

·       หากอาการเหล่านี้ร่วมกับไอ-จามและเจ็บหน้าอกเฉพาะที่ เป็น  สัญณานว่าต้องเข้าข่ายได้รับการตรวจและรักษาโดยเร็ว

·       ส่วนที่กังวลอย่างมากของคุณหมอชัยวัฒน์คือ การใช้ยาในรายที่ไม่ได้เป็นไข้หวัด 2009 จริง (เป็นหวัดธรรมดา หรือไข้หวัดใหญ่) เมื่อเกิดป่วยซ้ำ(ไข้หวัด 2009 )มาอีกครั้งยาดังกล่าวอาจจะใช้ไม่ได้ผลและเกิดการดื้อยาได้ จะทำให้เกิดอันตรายตามมาได้น่ากลัวกว่าที่คิด เนื่องจากยามีจำกัด ดังนั้นควรรอบคอบในการใช้ยาให้มากที่สุด

·       ดังนั้นการรักษาสุขภาพให้แข็งแรง ช่วยดูแลซึ่งกันและกัน อย่าลืมรับผิดชอบต่อสังคมด้วยการใช้ผ้าปิดปากในที่ชุมชนด้วยนะคะ.

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท