เรื่องเล่าจากภาพ ชายชรากับทะเล


เรื่องราวหรือสิ่งที่เกิดขึ้นในชีวิตหรือกิจกรรมปกติธรรมดาในประจำวัน บางครั้งก็เป็นเรื่องธรรมดาๆ สามัญ ที่เกิดขึ้นในชีวิตของเรา แต่อาจไม่เห็นความสำคัญหรือมองผ่านเลยไป แต่พอศิลปินเอามาเขียนเป็นภาพ กลับดูน่าสนใจอย่างแปลกประหลาดและในความน่าสนใจนั้น เราเองก็มีประสบการณ์ร่วมเช่นนั้น

                           ผมขอเชิญชวนมาดูภาพเขียนสักภาพหนึ่ง

                         เป็นภาพสีน้ำมันของศิลปินอเมริกัน ชื่อ Andrew Wyeth คนคนเดียวกันกับผู้เขียนภาพ Spring ที่ผมลงให้ดูในคราวก่อน

                   Wyeth เป็นศิลปินคนโปรดของผมคนหนึ่งที่สไตล์เขียนภาพแบบ Realistic หรือแบบเหมือนจริง หรือที่บางครั้งก็เรียกว่า แบบธรรมชาตินิยม ที่มีรูปแบบและเนื้อหายึดเอาสิ่งที่เกิดขึ้นจริงในชีวิตในโลกมาแสดงออก เช่นเรื่องราวหรือสิ่งที่เกิดขึ้นในชีวิตหรือกิจกรรมปกติธรรมดาในประจำวัน

                         างครั้งก็เป็นเรื่องธรรมดาๆ สามัญ ที่เกิดขึ้นในชีวิตของเรา แต่อาจไม่เห็นความสำคัญหรือมองผ่านเลยไป 

                        แต่พอศิลปินเอามาเขียนเป็นภาพ กลับดูน่าสนใจอย่างแปลกประหลาดและในความน่าสนใจนั้น เราเองก็มีประสบการณ์ร่วมเช่นนั้นด้วย เช่น ภาพทิวทัศน์ ภาพคนนั่งขายสินค้า ภาพคนรอรถเมล์ เป็นต้น

                       รูปแบบของงานศิลปะแบบธรรมชาตินิยมนี้ จะเคารพในธรรมชาติ คือไม่เปลี่ยนแปลงรูปทรง สีสันหรือสิ่งที่เห็นสิ่งที่เป็นจริงที่เกิดขึ้นในธรรมชาติเลย ตรงกันข้ามศิลปินพยายามถ่ายทอดความเป็นจริงนั้นออกมามากที่สุดเท่าที่ศิลปินจะมีฝีมือแสดงออกได้แต่ในบางครั้ง ภาพเขียนธรรมดา ธรรมชาติเช่นนี้ ในบางครั้งก็ดูออกยากเหมือนกัน หากศิลปินเป็นคนลึกซึ้งละเอียดอ่อน เนื้อหาที่เขาแสดงออกนั้นจึงลึกซึ้งไปตามสภาพจิตใจของการรับรู้ครั้งแรกนั้นไปด้วยอย่างเช่นภาพที่ชื่อ Adrift นี้

 

 

 

 

                             ดูจากชื่อแล้ว แปลว่า ไร้จุดหมาย หรือลอยไป เคว้งคว้าง อย่างไร้จุดหมายแต่บางที ชื่อ หรือป้ายชื่อที่เรามักนิยมติดป้ายให้กับสิ่งที่เราพบเห็นนั้น กลับเป็นตัวปิดกั้นการรับรู้ตามธรรมชาติ เพราะทำให้เรานึกว่าเพียงแค่เห็นชื่อ เราก็เข้าใจในสิ่งนั้นแล้ว

                           ทำให้เรามองผ่านเลย ความเป็นจริง (ที่ดีดี) หลายอย่างในชีวิตไป

                           ครั้งนี้ ผมขออนุญาตบังอาจแนะนำการดูภาพเขียนให้ได้อรรถรสทางสุนทรียภาพ ตามทฤษฏีจากภายนอกสู่ภายใน (Outside in) คือการดูภาพแบบมองจากสิ่งที่เห็นในภาพทุกอย่างจนลึกเข้าไปถึงสภาพความคิดของศิลปิน

                          ก่อนอื่นผมจะถามว่า คุณเห็นอะไรบ้างในภาพนี้ ?

                           เดี๋ยวก่อนครับ...อย่าเพิ่งรีบตอบ ผมอยากให้คุณตั้งสติ ปล่อยใจสบายๆ แต่มีสมาธิดูอย่างพินิจว่าคุณเห็น อะไรบ้าง

                           ........................................................................................................................

                          .................................................................................. 

                          ผมเชื่อว่า สิ่งแรกที่คุณเห็นคือภาพของชายคนหนึ่ง นอนหงายอยู่ในเรือเล็กๆลำหนึ่ง ลอยอยู่ในน้ำทะเลผมขอถามต่อว่า  เห็นอย่างนี้แล้ว เกิดความรู้สึกอะไรบ้าง?.

                          ....................................................................................

                         หากยังตอบไม่ได้ ยังไม่ชัดเจน ผมขอแนะนำให้คุณกลับไปมองภาพเขียนนี้อีกครั้งหนึ่งคราวนี้ มองอย่างเก็บรายละเอียด เพราะครั้งแรกคุณได้เห็นในภาพรวมทั้งหมดแล้ว

                        .....................................................................................................................

                        ......................................................................................................................

                          ผมเชื่อว่า รายละเอียดที่คุณมองเห็นได้เพิ่มเติม คือรายละเอียดของชายที่นอนอยู่ในภาพ เป็นชายชราอายุประมาณหกสิบ ใบหน้ามีร่องรอยผ่านโลกผ่านชีวิตมาพอควร ที่บางคนเรียกว่า wisdom line          

                       เขานอนหลับตานิ่งอยู่ มีหนวดเคราปกคลุมใบหน้า สวมหมวกไหมพรมสีดำ สวมเสื้อหนังแจ็กเก็ตสีน้ำตาลอ่อนมีซับในเป็นผ้าขนสัตว์ สวมกางเกงสีเข้ม วางมือทั้งสองข้างอยู่บนหน้าท้อง มือทั้งสองกำมือแบบหลวมๆ สบายๆดูผ่อนคลาย             
                    คุณรู้สึก “อะไร ขึ้นมาบ้างแล้วหรือยัง

                           ......................................................................................

                          ถ้ายัง ไม่เป็นไรครับ แต่ต้องดูภาพเพิ่มเติม

                          ลองเลื่อนสายตามาดูรายละเอียดด้านล่างของภาพเพิ่มเติม เรียกว่าดูสิ่งที่เป็นองค์ประกอบรองขอภาพ เพราะประธานของภาพ คือภาพชายชราเราดูไปแล้ว

                         หากเลื่อนสายตาดูต่ำลงมาด้านล่าง จะเห็นได้ว่า ชายชราผู้นี้นอนอยู่บนเรือโบ็ตขนาดเล็กสีขาว ที่กราบเรือมีหูกรรเชียงอยู่สองข้าง หากสังเกตให้ดีจะเห็นว่า ไม่มีพายวางอยู่ เพราะชายชราผู้นี้ เอาพายออกแล้ววางอย่างเรียบร้อยในเรือบริเวณด้านศีรษะของเขา จะเห็นได้ว่ามีสีน้ำตาลของใบพายไม้โผล่ขึ้นมาให้เห็นอยู่รำไรมองต่ำลงมาอีกนิด ที่ลำเรือจะเห็นแสงอาทิตย์สาดลงมาจับที่ตัวเรือที่เป็นเส้นไม้เป็นซี่ๆประมาณสิบนิ้ว ดูจากลักษณะองศาของแสงที่ส่องมาทางด้ายซ้ายของภาพ ประมาณสามสิบองศา ทำให้เราสามารถประมาณช่วงเวลาได้ว่า น่าจะอยู่ช่วงเวลาเช้าไม่เกินสิบโมงเช้า

                         ที่ลำเรือมีแสงสะท้อนจากพรายน้ำสีเงินแกมเขียว น่าจะเป็นสีจากน้ำทะเลในที่มีช่วงลึกพอดูมองดูที่ด้านบนของภาพ โน่นเห็นคลื่นระลอกใหญ่วิ่งเข้ามาแต่ไกล ทำให้รับรู้ถึงแรงกระแทกของคลื่นจะทำให้เรือน้อยนี้ กระเพื่อมเป็นระยะได้ หากคลื่นลูกใหญ่ขนาดนี้ คงทำให้ลำเรือโยนตัวสูงพอควร 

                       ผมเชื่อว่า ขณะนี้คุณเห็นและเริ่มรู้สึก อะไรขึ้นมาบ้างแล้ว 

                      อะไร ที่ว่านี้ คืออารมณ์สุนทรียภาพ คือการรับรู้ในเรื่องความงาม ความดีงาม ที่เป็นอารมณ์ละเอียดอ่อนเกิดขึ้นในจิตใจตน จนเห็นสิ่งที่เกิดขึ้นในผู้อื่นและในสิ่งแวดล้อมรอบตัวของตัวอยู่

                     ลองให้ผมเล่าว่า อะไรเกิดขึ้นกับชายชราผู้นี้บ้างครับ และเขากำลังทำอะไรอยู่                

                       ครั้งแรกที่ผมเห็นภาพนี้ จิตผมประหวัดถึงเรื่อง The Old man and The Sea ของแฮมมิงเวย์ ที่กำลังลอยเรือเข้าฝั่งหลักจากพิชิตปลาวาฬคู่แค้นได้

                        แต่ชายชราคนนี้มิใช่ชายคนเดียวกันกับเฒ่าทะเลคนนั้น เขามิได้ออกเรือเพื่อล่าปลา แต่เขาล่าความสุข ความสุขที่ได้จากการอยู่โดดเดี่ยวอย่างเงียบสงบท่ามกลางธรรมชาติที่เขารักเขาพายเรือออกทะเลแต่เช้า กรรเชียงเรือด้วยพลังจากสองแขนที่ชำนาญ

                          พอลอยเรือห่างออกมาจากฝั่งพอสมควร ไกลจากสายตาของผู้คน เขาก็ปลดพายออกจากหูกรรเชียง เอาไปวางไว้ในเรือทอดยาวไปตามลำเรืออย่างปราณีต แล้วล้มตัวลงนอน ยกมือขึ้นมาวางบนหน้าท้อง มือทั้งสองยังกำอยู่เล็กน้อย เป็นผลมาจากการกำด้ามพายมาเป็นช่วงเวลานาน เขาค่อยหลับตาลง ปิดเปลือกตาเบาๆ ไม่มีสิ่งใดที่ต้องรีบร้อนทำเมื่อหลับตาลงมาสักพักใหญ่ จิตของเขาก็รวมตัวนิ่ง รับรู้และซึมซับรายละเอียดของสิ่งที่เคลื่อนไหวอยู่รอบๆตัว

                    .................................................................................................

                    อะไรบ้างนะ ผมคิดว่าคุณคงอยากรู้

                    แรงกระเพื่อมของลำเรือที่ขึ้นลงตามกระแสคลื่น โยนตัวไปมา เดี๋ยวสูงเดี๋ยวต่ำ สักพักคุณจะรู้สึกเหมือนย้อนกลับไปในวัยเยาว์สมัยนอนเปลหูนั้นเล่าได้ยินแต่เสียงคลื่น ที่ไหลทำเสียงซู่ซ่า เหมือนกระซิบบ้าง บางครั้งก็เหมือนเสียงพูดพึมพัมมาแต่ไกลๆแล้วค่อยๆมาดังชัดที่ข้างหู คงเป็นตอนที่ยอดคลื่นวิ่งมากระทบกับลำเรือ พร้อมๆกับรู้สึกตัวลอยสูงขึ้นและยวบลงต่ำ เสียงนั้นก็กลายตัวเป็นเสียงที่เปรียบได้ยากค่อยๆกลายมลายไกลออกไป แล้วเสียงใหม่ก็วิ่งเข้ามาชัดเจนขึ้นอีกครั้งหนึ่งซ้ำแล้วซ้ำเล่า ฟังได้ไม่รู้เบื่อ เพราะมีรายละเอียดที่ไม่เหมือนกัน หูของชายชรารายงานว่าอย่างนั้น

                         ที่ผิวหน้า รับรู้ถึงแสงแดดอุ่นๆที่ส่องมากระทบ บางครั้งก็อุ่นจนร้อนวูบวาบ บางครั้งรู้สึกเย็นวาบเมื่อมีแรงลมพัดวูบเข้ามา จนรู้สึกได้ตรงปลายหนวดและเคราที่ขนอ่อนลู่เข้ามากระทบกับเนื้ออ่อนๆที่ริมฝีปากล่าง จนบางครั้งต้องขยับริมฝีปากและแลบลิ้นออกมารับรสเค็มประแล่มของไอเกลือที่ลอยมากับหยดน้ำฝอยเล็กๆที่เป็นผลจากยอดคลื่นบางยอดที่มีกำลังแรง พอประทังไม่ให้ริมฝีปากแห้งเกินไปด้วยแรงลม

                        ......................................................................................................

                       เขาจะรู้อะไรต่อไปอีก...ตอนนี้ผมจะละไว้ให้คุณดูและคิดต่อจากผมบ้าง

                       ผมจะได้พัก หลับตาลงลอยตัวไปกับชายชราผู้นี้ 

                      ล่องลอย...เคว้งคว้าง แต่ไม่ไร้จุดหมาย

                      ผมกับเขามีเป้าหมายเดียวกันและเข้าถึงสิ่งเดียวกัน

                คุณละ?

 

 

หมายเลขบันทึก: 68690เขียนเมื่อ 22 ธันวาคม 2006 00:49 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 17:42 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)

 

อืมม....ถ้าอ่านจากที่อาจารย์เขียนเฉย ๆ โดยไม่ได้เห็นภาพ ก็คงจะตอบทัีนทีเลยมั้งคะ่ว่า น่าจะเป้าหมายเดียวกันน่ะนะคะ ในการดำเนินชีวิต

โดยเฉพาะวิธีการเข้าสู่เป้าหมายในชีวิต  โดยผ่านประเด็นที่อาจารย์ทำตัวเข้มไว้ตอนต้น  คือ ผ่าน "เรื่องธรรมดาๆ สามัญ ที่เกิดขึ้นในชีวิตของเรา " ที่บางทีเรามักจะ  "ไม่เห็นความสำคัญหรือมองผ่านเลยไป"

แต่ถ้าดูรูปคุณลุงนอนในเรือเฉย ๆ โดยไม่มีัคำอธิบายจากอาจารย์แล้วกลัวน่ะค่ะ แหะ ๆ สงสัยจริตหนูจะเป็นพวกขี้กลัว วิตกจริต  ภาพนี้แรก ๆ ตั้งแต่ก่อนอ่านคำแนะนำการดูภาพของอาจารย์หนูก็นู่นเลยเห็นคลื่นอยู่ในแบ็คกราวนด์มาแต่ไกล  ไพล่ไปคิดถึงสึนามินู่น  แถมเห็นคุณลุงนอนมือกำหลวม ๆ พายก็ไม่มี ก็เลยนึกว่าคุณลุงจากไปแล้วเรียบร้อย หรือไม่ก็เตรียมตัวลาจากโลก อะไรทำนองนี้ สุดยอดจะขี้กลัวเลยนะคะนี่  ท่าทางจะเอาดีด้านการศึกษาศิลปะกับเขาไม่ได้

โจทย์อาจารย์อันนี้ยากค่ะ  ที่มาถามต่อตอนจบว่า แล้วคุณล่ะ  ถ้าจะให้คิดต่อนั้นว่าชายชราจะรู้อะไรต่อไปอีก  หนูขอยกธงขาว  โจทย์ยาก ๆ อย่างนี้ ทำให้นึกถึงตอนที่หนูไปเรียนนั่งสมาธิแบบเซนที่นี่กับหลวงพ่อใจดีท่านหนึ่ง หนูก็ฟังไม่ค่อยออกหรอกค่ะอาศัยธรรมะจัดสรรได้คนญี่ปุ่นที่เขาพูดภาษาไทยได้ปร๋อท่านหนึ่งมาอาสาแปลให้  เขาพูดภาษาคนปฏิบัติธรรมได้คล่องเพราะเขาเคยบวชอยู่วัดของครูบาอยู่เดือนหนึ่งค่ะ และตอนนี้ทำวิทยานิพนธ์เรื่องครูบาศรีวิชัยอยู่ ในประเ้็ด็นเรื่องพระนักพัฒนา  หนูล่ะขนลุกจริง ๆ ครูบาตามมาช่วยถึงที่นี่ ฝากเล่าให้อาจารย์ศิริพรฟังด้วยนะคะ  (อาจารย์ศิริพรคงจะส่ายศีรษะแล้วบอกว่าเอาอีกแล้วหนูณัชรเชื่อเรื่องอภินิหาร ฮิ ๆ)

ที่อาจารย์่ทำให้หนูนึกถึงหลวงพ่อท่านนั้นก็เพราะว่า
ท่านถามมายากเหลือเกินค่ะ ตอนไปส่งอารมณ์  ท่านยกไม้ขัดมันแท่้งหนึ่งขึ้นมา หน้าตาโบราณมาก หนูก็ไม่ทราบว่าท่านเอาไว้ทำอะไร แต่เล็กกว่าไม้เรียวที่ไว้ตีโยคีนั่งหลับน่ะค่ะ แหะ ๆท่านถามว่า  แท่งไม้นี่น่ะ มี หรือว่า ไม่มี  โห.....

 หนูคงจะทำหน้ายู่ยี่เลย  ท่านก็เลยหัวเราะฮ่า ๆ ๆ (พระเซนท่านหัวเราะเหมือนในหนังสือนิทานเซนจริง ๆ นะคะ) แล้วก็บอกว่า  แต่คำถามนี้ง่ายเกินไป 

 หนูเกือบจะหงายหลังผึ่งไปแล้ว  แต่กลัวเสียชื่อมูลนิธิศูนย์วิปัสสนาเชียงใหม่  ก็เลยได้แต่ันั่งพนมมือกระพริบตาปริบ ๆ แล้วกำหนดไปด้วย  ฟังท่านต่อ

 ท่านบอกว่า  พระเซนเราไม่ถามกันแค่นี้หรอก ว่ามี หรือไม่มี  แต่เราจะถามว่า  ถ้ามี ทำไมถึงมี  และถ้าไม่มี ทำไมถึงไม่มี

 ทีนี้ล่ะค่ะ หนูชักจะเริ่มอยากร้องไห้จริง ๆ หลวงพ่อก็คงจะทราบแล้วโดยไม่ต้องอ่านวาระจิต  ท่านก็เลยเปลี่ยนสายตาจากดุ ๆ มาเป็นอ่อนโยนมาก  แล้วพูดผ่านคุณโอซามุ คนญี่ปุ่นที่เคยมาบวชที่เชียงใหม่ว่า  ให้หนูไปนั่้งสมาธิต่อแล้วก็ลองทำตัวให้เหมือนแท่งไม้แท่งนี้  ถ้าสามารถทำตัวให้คนอื่นมองเราเหมือนแท่งไม้แท่งนั้นได้เมื่อไหร่  ก็จะตอบคำถามข้อนั้นได้

 สรุปว่า นั่นคือ โจทย์ หรือ โคอัน ที่ท่านให้หนูมาค่ะ  สำหรับเซน นั้น มีหลายนิกาย  แต่นิกายที่เป็นของซามูไรสมัยโบราณคือ รินไซ นั้น นิยมใช้โคอัน หรือ การถามตอบประกอบการนั่งสมาธิและเจริญสติในอิริยาบถต่าง ๆ ด้วย  แต่น่าเสียดายว่า หลังจากนั้น หนูก็ติดหลายภาระกิจเหลือเกินของทั้งทางมหาวิทยาลัยและรับใช้ชาติ คือ ไปแข่งรายการต่าง ๆ ของดาบซามูไรนี่ รวมทั้งชิงแชมป์โลกด้วย ก็เลยไม่ได้ไปหาท่านอีกเลย 

แต่จะว่าไปแล้ว  หนูก็ยังคิดไม่ออกอยู่ดีน่ะค่ะว่า  ตกลงแท่งไม้นั้นมีหรือว่าไม่มี  และถ้ามี ทำไมถึงไม่มี  และถ้าไม่มี ทำไมถึงไม่มี  ยังนึกอยู่เลยค่ะว่า  จะไปพลิกตำราสายเถรวาทไปตอบดีไหมนี่  เพราะยังไงไม่มีทางเกิดภาวนามยปัญญาไปตอบหลวงพ่อทันในอาทิตย์สองอาทิตย์แน่ ๆ  แหะ ๆ อย่างนี้เรียกว่าโกงข้อสอบหรือเปล่าคะอาจารย์  ก็ท่านไม่ได้ห้ามนี่คะว่า ห้ามไปหาคำตอบด้วยวิธีอื่น แหะ ๆ  แต่นี่หนูก็ใกล้จะกลับอยู่แล้ว  ไม่ทราบจะทันได้ไปเจอท่านอีกหรือเปล่า  (ว่าแต่ว่า จริง ๆ มันต้องตอบว่าอะไรคะอาจารย์ แหะ ๆ)

 สรุปว่าหนูเลยไม่ได้ตอบเรื่องชายชรากับทะเลเท่าไหร่เลย  ขอโทษด้วยค่ะ  ยากจริง ๆ ถ้านึกออกจะมาเติมทีหลังก็แล้วกันนะคะ

                                   สวัสดีค่ะ,

                                   ณัชร

ป.ล. หนูไม่ทำอาจารย์เสียชื่อนะคะที่วัดเซน เพราะหนูนั่งสมาธิไม่มีหลับเลย  เนื่องจากหนูกลัวโดนไม้เรียวค่ะ  อ้อ, และเขามีตีระฆัีงเสียงใส ๆ อยู่บ่อย ๆ ด้วยค่ะ เป็นการเรียกโยคีคนถัดไปออกไปส่งอารมณ์น่ะค่ะ เลยไม่ทันได้หลับ เอ๊ย ไม่ทันได้เกิดสมาธิรวมเป็นอารมณ์เดียวมากนัก ทั้ง ๆ ที่ไม่มีการให้กำหนดดูอะไรเลยนอกจากลมหายใจ และไม่มีคำบริกรรมด้วย  และนั่งตั้งสองชม.  เบาะก็สบายและขยับได้ เอื้ออำนวยต่อการหลับได้อย่างยิ่งค่ะ  ความจริงอาจารย์ศิริพรน่าจะแกล้งลองถือไม้เรียวอันยักษ์เดินไปเดินมาเล่นดูเหมือนกันนะคะ  หนูว่าคงจะเป็นกุศโลบายที่ดี  รับรองโยคีไม่มีทางหลับเลยค่ะ

  

ว่าแล้วก็เอารูปสวนหินปริศนาธรรมวัดเซนมาฝากอาจารย์ให้ขบคิดเล่นค่ะ จริง ๆ แล้วมีคำสอนอยู่ในนั้นด้วยน่ะนะคะ แต่หนูไม่แน่ใจว่ารูปนี้เป็นของวัดไหน

อาจารย์เคยเล่าให้หนูฟังแล้ว

ถึงปริศนาธรรมของท่านอาจารย์ชา วัดหนองป่าพง

ปริศนาของท่านคือ

"มี...ไม่มี...มี" ต้องแยกออกเป็นสามคำ

ตามประสบการณ์ปฏิบัติธรรม

ก่อนมาปฏิบัติธรรม ทุกๆอย่างล้วนมีตัวตน

พอปฏิบัติไปได้สักหน่อย ผยองตัวว่ารู้ธรรมขั้นสูง

ปากบอกผู้อื่นว่า ไม่มีตัวตน

พอบารมีแก่กล้ามาอีกหน่อย...จึงรู้ว่า

แท้จริงนั้น เป็นเหตุปัจจัย

จะมี ก็เพราะมีเหตุ ...จะไม่มีก็เพราะเหตุนั้นดับไป

ดังนั้น จึง "มี...ไม่มี... มี"

ได้คำตอบแล้วหรือยัง

 

ขอก้มลงกราบอาจารย์ทีนึงค่ะด้วยความขอบพระคุณและเคารพอย่างยิ่งในธรรมของอาจารย์

 

หนูลืมธรรมะหลวงพ่อชาไปได้อย่างไร? 

  

คงเพราะยังไม่ได้เข้าไปใน "ใจ" หนูนั่นเอง

 

ทุกอย่างเป็นไปเพราะเหตุปัจจัยจริง ๆ ด้วยค่ะอาจารย์

 

หนูไม่ทราบจะได้เจอหลวงพ่อท่านนั้นอีกหรือเปล่า 

 

แต่ถ้าได้เจอ  หนูจะพยายามตอบตามที่หนูเข้าใจอย่างที่ได้ฟังจากอาจารย์นี้นะคะ

 

ว่าแต่ว่าจะแปลเป็นภาษาญี่ปุ่นยังไงดีหนอ....คุณโอซามุยังอยู่หรือเปล่านี่ แหะ ๆ  ไม่อย่างนั้นต้องหาทางสื่อสารอย่างเซนอีกแล้ว  ซึ่งเซนเขาอ้างเอาว่าพระพุทธองค์ทรงแสดงธรรมครั้งแรกอย่างเซนด้วยการยกดอกไม้ขึ้นมาดอกหนึ่ง  แล้วมีพระมหากัสสปะเข้าใจอยู่รูปเดียว  โอ้โห...

 

หนูว่าอาจารย์มาเป็นอาจารย์แลกเปลี่ยนที่นี่ได้สบายเลยค่ะ  เพราะอาจารย์เป็นอาจารย์เซนเหมือนกัน   อาจารย์มีสื่อการสอนเพียบและมีอุปมาอุปไมยเยอะดีเหลือเกิน  โดยไม่จำเป็นต้องใช้คำพูดสื่อ

 

อืมม.....มี...ไม่มี...มี

 

สวัสดีค่ะ อาจารย์

 

ณัชร 

อาจารย์คะ

หลังจากที่เรียนถามวิธีดูภาพและลองกลับมาดูตามคำแนะนำของอาจารย์แล้ว ดูรูป..รู้สึกเหมือนชายชรายิ้มเล็กน้อยแบบคนที่มีความสงบในใจค่ะ และพอค่อยๆเลื่อนอ่านคำอธิบายของอาจารย์ จะรู้สึกถึงความละเอียดอ่อนของภาพอย่างกับมีความเคลื่อนไหวเกิดขึ้นไปพร้อมๆกัน คือรู้สึกเหมือนมีคลื่นโยนตัว มีแสงแดดที่เริ่มร้อนขึ้นเรื่อยๆ

ขอเรียนถามอาจารย์ค่ะ ว่า จะถูกต้องไหมคะ ถ้าจะสรุปว่า การดูภาพหนึ่งภาพจนได้ความหมายนั้น หากเรามีจิตที่นิ่งพอ รูปนั้นก็จะโดดเด่นความหมายที่จิตรกรต้องการ และถ้ามีผู้รู้นำทางอย่างที่อาจารย์กรุณาแนะนำ จินตนาการถึงจะก่อตัวเด่นขึ้น

 

 

อาจารย์อินทรรัตน์ครับ

การเข้าถึงธรรม หรือสาระ ในธรรมชาตินั้น ต้องอาศัยจิตที่นิ่งสงบ อย่างที่อาจารย์เข้าใจถูกต้องแล้วครับ

จิตตั้งมั่น หมายถึงสมาธิ

ปราศจากสิ่งรบกวน คือไม่ว่อกแว่ก จิตจะเป็นหนึ่งเดียวกับอารมณ์ที่เรารับและรู้ในขณะนั้น

สมาธิ คือจิตตั้งมั่นในแต่ละขณะ สั้นๆ ครับ แต่ติดต่อกัน

ผมรู้สึกว่าอาจารย์มีสมาธิเพิ่มและสงบนิ่งมากขึ้นครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท