จิต วิญญาณ สมองเสื่อม? คำตอบทางธรรม


ในขณะจิตสุดท้ายก่อนจะดับ สติที่ฝึกมาดีแล้ว จะเข้ามาอุปถัมน์จิต

จิต วิญญาณ กับ โรคสมองเสื่อม

        คำถามนี้เป็นของคุณมัทนา ที่ถามคำถามนี้มา เมื่อผมได้ตอบไปแล้วมาอ่านทบทวนดู เห็นเป็นประโยชน์แก่ผู้อื่น จึงขออนุญาตนำมาบรรจุเป็นบันทึกธรรมในที่นี้ครับ

สวัสดีค่ะ อ. พิชัย

มัทสงสัยมานานแล้ว เพราะทำงานกับผู้สูงอายุด้วย ขอสอบถามว่าอาจารย์มีความคิดเห็นอย่างไรในเรื่องต่อไปนี้ค่ะ

ทางการแพทย์สมัยใหม่จะมองว่าโรคสมองเสื่อม (dementia) นั้นเป็นเพราะสารเคมีหรือเนื้อเยื่อในสมองผิดปกติ เช่นเส้นเลือดในสมองแตก เซลล์สมองตาย

คนไข้ที่เป็นมากๆนอกจากหลงๆลืมๆแล้ว ยังสูญเสียความสามารถในการรู้ผิดชอบชั้วดีด้วย การใช้เหตุผลก็หายไป 

นักประสาทวิทยาได้ทำการศึกษาว่าสมองส่วนไหน มีหน้าที่อะไร เค้าก็แปลไปว่าส่วนนั้นๆเสื่อม

แต่ถ้าเราดูทางจิตวิญญาณ มัทอยากทราบว่าจิตวิญญาณของคนไข้ทำงานไม่ได้ เพราะร่างกายเรามันไม่ครบ เส้นประสาทต่อกันไม่สมบูรณ์เหรอค่ะ คือการทำงานของจิตก็ต้องใช้รูปกายทางระบบประสาทช่วยด้วย?

แล้วถ้าเราฝึกให้มีสติมากๆจะช่วยได้ไม๊ ถึงร่างกายเสือมตามอายุแต่จิตยังแข็งแรง


อ.เคยเห็นคนที่เจริญสติได้ขั้นสูงๆเป็นโรคสมองเสีื่อมไม๊ค่ะ
(หวังลึกๆในใจว่าไม่เคย)

แล้วเวลาหมอวางยาสลบเรา จิตเราอยู่ไหนและทำอะไรอยู่?
สรุป มัทคิดว่าสิ่งที่มัทไม่เข้าใจคือ ความสัมพันธ๋ของ จิต วิญญาณ กับ ระบบประสาทและการทำงานของสมอง แล้วก็เรื่องใจด้วยค่ะ เพราะเวลาคิดถึงจิต มัทไม่ได้นึกถึง"ในหัว"ไปซะทุกครั้ง

ปล. โรคสมองเส่ีือมนี่แปลกนะคะ เหมือนจะลืม เหมือนจะพูดไม่รู้เรื่อง แต่มันไม่เป็นโดยสมบูรณ์ บางคนไม่พูดแล้ว แต่ให้ร้องเพลงร้องได้ บางคนเหมือนบ้าพูดไม่รู้เรื่อง ช่วยตัวเองไม่ได้กินข้าวเองไม่ได้ แต่ให้เล่นเปียโนเล่นได้ มันไม่ธรรมดาเลยค่ะ 

ขอบคุณอ.ล่วงหน้าด้วยค่ะ ว่างเมื่อไหร่ค่อย ตอบก็ได้ค่ะ ไม่รีบ

คนถามเองก็งงเอง อ.เห็นว่าเป็นคำถามที่ไม่ควรถามก็ว่ามาตามนั้นนะคะ ไม่ต้องเกรงใจค่ะ รับได้หมด : )

ว่ากันซื่อๆคือ

เวลาเจริญสติจน "เห็น" แจ้งแล้วเนี่ยะ คำถามของมัทจะได้รับคำตอบไม๊ค่ะ?
 

 

หนูมัท

ได้ฤกษ์ตอบปัญหาที่ติดค้างมาเสียนานเสียที

ทีจริงคำถามของหนูนี้ การตอบต้องอาศัยความรู้สองด้านคือ ความรู้ทางโลกและความรู้ทางธรรม

ความรู้ทางโลกนั้น ได้แก่ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ด้านการแพทย์ ที่มีผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านสาขานั้น เช่น ระบบประสาท ระบบสมอง และจิตวิทยา

ความรู้ทางธรรม ได้แก่ ความรู้ด้านปริยัติธรรม คือ พระอภิธรรม และความรู้ด้านการปฏิบัติธรรม

สำหรับอาจารย์มีเพียงความรู้ทางธรรมเท่านั้น ซึ่งเป็นความรู้ระดับพอรักษาตน มิได้รู้อะไรลึกซึ้งมากมาย

ดังนั้น การตอบครั้งนี้ หนูก็อย่าเอาไปถือเป็นจริงจังว่าเป็นคำตอบสุดท้ายนะจ๊ะ

ก่อนอื่น ขอทำความเข้าใจว่า ในทางธรรมนั้น แยกส่วนของชีวิตออกเป็นสภาพธรรมสองประการ คือ รูปและนาม

คำว่า "รูป"นั้น มาจากคำว่ารูปธรรม หมายถึงสิ่งที่เห็นได้ สัมผัสจับต้องได้ เป็นสิ่งที่ไม่มีสภาพรู้และมีสภาพเสื่อมไปอยู่เสมอ ได้แก่ ร่างกายทั้งหมด ตั้งแต่ศรีษะจรดปลายเท้า ทั้งรูปภายนอกและอวัยวะภายในทุกชิ้น

ส่วนคำว่า "นาม"นั้น มาจากคำว่า นามธรรม หมายถึงสภาพที่มีแต่ชื่อแต่ไม่มีรูปร่างให้เห็นหรือจับต้องได้ มีเพียงสภาพ"รู้"ได้ เท่านั้น

นาม แบ่งออกเป็น ๔ อย่าง ตามสภาพรู้ คือ

เวทนา คือความรู้สึก ชอบ ชัง เฉย ขณะกระทบอารมณ์ทางกายและใจ

สัญญา คือความจำได้และหมายรู้ เป็นภาวะรู้ที่ทำหน้าที่รู้และเก็บความรู้นั้นไว้ในภวังค์จิต(ส่วนนี้แหละที่เกี่ยวข้องกับคำถามเรื่องอัลไซเมอร์)

สังขาร คือ สภาพรู้ที่ปรุงแต่ง เป็นการประมวลเอาความรู้ที่เกิดจากการรับรู้อารมณ์แต่ละขณะมาปรุงแต่ง เป็นสภาพมโนกรรม พร้อมที่จะทำกรรม(ดี ชั่ว) ทางกาย วาจา ต่อไป

วิญญาณ คือ วิญญาณ๖ ที่เกิดสภาพรู้ทาง ตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ เป็นสภาพรู้ที่ก่อให้เกิดการรับรู้เบื้องต้น แบ่งออกเป็นสองช่องทาง คือ กายวิญญาณ (สภาพรู้ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย) และ มโนวิญญาณ (สภาพรู้ทางใจ)

ทั้งหมดประมวลเรียกว่า ขันธ์ ๕ อย่างที่เคยรู้กันมาแล้ว

ทีนี้มาเข้าประเด็นคำถามของหนู คนทีเป็นโรคสมองเสื่อมนั้น แน่นอนสาเหตุแรกเกิดจาก รูปเสื่อม ได้แก่ตัวสมองและระบบประสาทในสมอง

เมื่อรูปเสื่อม ย่อมก่อให้เกิดการรับรู้ วิปริตไปด้วย เช่น

เมื่อวิญญาณรับอารมณ์ที่เข้ามากระทบทาง ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ สิ่งที่รู้ที่เกิดติดตามมา ได้แก่ เวทนา สัญญา สังขาร จึงรู้ผิด วิปริตไปด้วย

ดังนั้นผู้ป่วยโรคสมองเสื่อม จึงเกิดสภาพรู้ที่วิปริตไปจากความเป็นจริง เพราะสภาพกายหรือรูปเสื่อมไปเป็นเหตุต้นและเกิดสภาพรู้ที่วิปริตไปเป็นผล จึงเกิดอาการต่างๆ เช่น เห็นภาพหลอน หรือแปลสิ่งที่รับนั้นผิดไป เช่น กินของเย็นว่าเป็นของร้อน

สิ่งที่สูญเสียประสิทธิภาพหรือความสามารถไป ได้แก่ สัญญา ที่ทำหน้าที่สองอย่าง คือ จำได้ และหมายรู้

การจำได้ คือการนำสิ่งที่เกิดจากการรับรู้ไปเก็บไว้(ทางโลกเชื่อว่าสมอง แต่ทางธรรมบอกว่า ภวังคจิต) สิ่งที่เคยพบเห็น สิ่งที่เคยกระทำ สภาพจิตที่เรียกว่าสัญญานี้จดจำไว้ได้หมด เป็นประจุกรรมของชีวิต

หมายรู้ เป็นสภาพรู้ที่เกิดขึ้นในแต่ละขณะของการรับรู้ทางระบบกายวิญญาณ(ตา หู จมูก ลิ้น กาย) ในสิ่งใหม่ๆ ที่ไม่เคยรับรู้มาก่อน จิตจึงทำอาการเหมือนขีดหมายไว้ว่า สิ่งนี้มีรูปร่าง ลักษณะใด เรียกว่าอะไรก่อให้เกิด"การจำได้"ติดตามมา

คนที่เป็นโรคสมองเสื่อม จึงเกิดการพกพร่องทางด้านการหมายรู้ เพราะแยกแยะไม่ได้ ว่าเคยรู้เห็นมาแล้วหรือเป็นสิ่งใหม่และการจำได้ จึงเก็บเฉพาะสิ่งที่เคยรับรู้เดิมๆได้เท่านั้น

  • ดังนั้นคำตอบแรกต่อ คำถามที่ถามว่า... แต่ถ้าเราดูทางจิตวิญญาณ มัทอยากทราบว่าจิตวิญญาณของคนไข้ทำงานไม่ได้ เพราะร่างกายเรามันไม่ครบ เส้นประสาทต่อกันไม่สมบูรณ์เหรอค่ะ คือการทำงานของจิตก็ต้องใช้รูปกายทางระบบประสาทช่วยด้วย?

คงกระจ่างขึ้นจากการประมวลความรู้เบื้องต้น เพราะเมื่อรูปเสื่อม วิญญาณก็เสื่อม เวทนาก็วิปริต สัญญาก็วิปริต สังขารก็วิปริต

โดยเฉพาะสังขารจิต เป็นสภาพธรรมที่ปรุงแต่งให้เกิดการกระทำทางกาย วาจา เป็นกรรมดี กรรมชั่ว เรียกว่า สัญญเจตนา จึงผิดเพี้ยนไป

  • คำถามที่สอง...แล้วถ้าเราฝึกให้มีสติมากๆจะช่วยได้ไม๊ ถึงร่างกายเสื่อมตามอายุ แต่จิตยังแข็งแรง

ช่วยได้ครับ การฝึกเจริญสติ หมายถึงฝึกฝนให้เกิดการ"รับ" และ การ"รู้" ให้ถูกตามความเป็นจริง ไม่วิปริตไป จนรู้เห็น"ธรรมตามความเป็นจริง" เรียกว่าเกิดปัญญารู้แจ้ง

แต่...มิได้หมายว่าจะช่วยให้สภาพกายหรือรูปนั้นไม่เสื่อม เพราะทุกสรรพสิ่ง(รูปและนาม) ย่อมมีสภาพเสื่อมไป(อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา) เป็นธรรมดา

ผู้เจริญสติ เมื่อแก่เฒ่าลง มีสภาพร่างกายเสื่อมลงตามธรรมดาโลก แต่ก็มีสภาพจิตที่ดี คือ รู้ทันอาการที่เป็นไปนั้น อย่างปล่อยวาง ไม่ยึดติดหรือยึดติดน้อยลง ขึ้นอยู่กับว่าสภาพของรูปใดเสื่อมไป เช่น แขน ขา หู ตา สมอง เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม ผู้ปฏิบัติธรรม ยังมีสภาพสติที่ดีกว่า ปุถุชนคนธรรมดา ถึงแม้จะป่วยเป็นโรคอัลไซเมอร์ แต่ในขณะจิตสุดท้ายก่อนจะดับ สติที่ฝึกมาดีแล้ว จะเข้ามาอุปถัมน์จิต จิตที่เกิดในวาระสุดท้าย จะเป็นจิตในระดับการรับรู้ในมโนทวาร คือเอาประจุกรรมสัญญาในภวังคจิตออกมา เป็นชนกกรรม (กรรมนำเกิด) ไปสู่สุคติภูมิแน่นอน

ดังนั้น จึงต่างกับผู้ที่ไม่เจริญสติ และไม่ประกอบกรรมดีเป็นทุนของชีวิตไว้ เมื่อในขณะสุดท้ายของจิตจึงเศร้างหมองเพราะ จิตรับอารมณ์จากกรรมที่มานำเกิด คือ อาจิณกรรม(กรรมที่ทำบ่อยๆ) นั่นเอง ขึ้นอยู่กับเคยทำกรรมอย่างไรไว้มากน้อยกว่ากัน

ฉะนั้น ผู้ที่เคยปฏิบัติธรรม เจริญสติ หรือประกอบกรรมดีมา แม้ว่า ในช่วงสุดท้ายของชีวิต สภาพทางกายอาจดูภายนอกย่ำแย่ ป้ำๆเป๋อๆ แต่เมื่อถึงวาระสุดท้าย ในขณะจิตสุดท้าย สติเจตสิกและกุศลเจตสิกจะเกิดขึ้นในจิตดวงสุดท้ายเพื่ออุปถัมน์จิตนั้นอย่างแน่นอน ดังพุทธพจน์ที่ว่า

"จิตเต อสังกิลิเถ สุคติ ปาฏิกังขา"

เมื่อจิตไม่เศร้าหมอง สุคติเป็นอันพึงหวังได้ ไม่ต้องสงสัยเลย" ดังนี้

  • คำถามที่สาม อ.เคยเห็นคนที่เจริญสติได้ขั้นสูงๆเป็นโรคสมองเสีื่อมไม๊ค่ะ
    (หวังลึกๆในใจว่าไม่เคย)

หนูเอย สภาพธรรมทั้งหลาย ย่อมเสื่อมไปเป็นธรรมดา ไม่มีข้อยกเว้น

ใดใด แม้พระพุทธเอง ยังได้รับทุกขเวทนาทางกายมาก เพียงแต่สภาพจิตไม่ทุกข์ตาม ตามสำนวนผู้ปฏิบัติธรรมว่า

"ทุกข์แต่กาย ใจไม่ทุกข์"

ที่ไม่ทุกข์ เพราะ มีสติรู้เท่าทัน (ว่าเป็นเช่นนั้นเอง)

พระพุทธองค์อุปมาไว้ว่า บุรุษทั้งหลาย ล้วนถูกลูกศรสองดอกทั้งทางกายและทางใจ ตรึงอยู่เช่นนั้น จึงสร้างความทุกข์ โทมนัส ให้เกิดขึ้นอยู่เนืองๆ

เมื่อบุรุษนั้น มาปฏิบัติธรรม จักรู้เท่าทันเวทนา และสามารถถอนลูกศรออกจากใจได้หนึ่งดอก เหลือเพียงพิษศรทางกายเท่านั้น

หลวงปู่ชา พระอาจารย์ดังๆหลายรูป ต่างก็ตกอยู่ในสภาพธรรมนี้มาแล้ว แต่ท่านเหล่านั้นมีทุนเดิม คือสติที่ฝึกมาดีแล้วนำจิตไป จึงไม่เกิดทุกข์เวทนาทางใจ และสังขารทุกข์ ปรุงแต่งไปทางอกุศลอีก

ท่านจึงได้ชื่อว่า ผู้ไปดี 

  • คำถามที่สี่ แล้วเวลาหมอวางยาสลบเรา จิตเราอยู่ไหนและทำอะไรอยู่?

แหม หนูมัทอยากรู้มากจังนะ ถ้าเป็นสมัยก่อนอาจารย์จะไม่ตอบ แล้วบอกว่าให้มาปฏิบัติจะรู้ได้ด้วยตนเอง แต่เห็นว่าอยู่ไกลจึงตอบพอเป็นแนวทาง เพื่อก่อให้เกิดศรัทธาจ๊ะ

จิต หมายถึง สภาพที่รู้อารมณ์

โดยปกติ จิตจะอยู่ได้ทั่วไปในกายเรา เช่น เกิดรู้ที่ ตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ เรียกง่ายว่าเกิดการรู้สองระดับ คือ รับรู้ทางกายทวาร และมโนทวาร เมื่อถูกวางยาสลบ ยานั้นก็จะไปทำหน้าปิดกั้นหรือกดระบบการรับรู้ทางกายทวาร ทำให้ช่องทางนั้นปิดไป

แต่ จิต ต้องทำหน้าที่รับอารมณ์อยู่เสมอ คำว่าจิตว่าง(จากอารมณ์)ไม่มี ดังนั้นจิตจึงต้องหันไปหาอารมณ์เก่าที่เก็บไว้ในภวังคจิตหรือสัญญาเดิม เมื่อเก็บมาก็มาปรุงแต่งเป็นสังขารจิตได้ จึงเกิดการรู้ตัว เช่นฝันไป หรือเกิดปฏิกิริยาตอบสนองจิตรู้นั้นได้ ปรุงแต่งไป เรียกว่าเกิดจิตสืบต่อได้เรื่อยๆ

จึงเรียกว่า จิตกินอาหารเก่า และนำมาปรุงแต่งใหม่

สำนวนครูอาจารย์เรียกว่า "วัวเคี้ยวเอื้อง" เคยได้ยินหรือเห็นวัวเคี้ยวเอื้องไหม?

  •  สรุป มัทคิดว่าสิ่งที่มัทไม่เข้าใจคือ ความสัมพันธ๋ของ จิต วิญญาณ กับ ระบบประสาทและการทำงานของสมอง แล้วก็เรื่องใจด้วยค่ะ เพราะเวลาคิดถึงจิต มัทไม่ได้นึกถึง"ในหัว"ไปซะทุกครั้ง

คิดว่าจากคำตอบเบื้องต้น หนูคงเข้าใจในกระบวนการทำงานของกายและใจหรือรูปกับนาม พอสมควร

ถูกแล้ว จิตไม่ได้อยู่ในสมอง สมองเป็นเพียงโรงงานของจิต ที่อาศัยก้อนเนื่อเยื่อ สารเคมีและระบบประสาท เป็นสะพานรับและส่ง"สภาพรู้" ไปทั่วร่างกาย

เวลาคิดมากๆ จึงปวดหัว มิใช่ปวดใจ เพราะ(โรงงาน)สมองทำงานหนัก ปั้มชี่ง ปั้มชึ่งๆๆๆๆ เครียด! จน! กินเหล้า! กินขนมหวาน! อ้วน!

แต่เวลากระทบอารมณ์ที่เป็นความรู้สึก จึงปวดที่ใจ เช่นอกหัก หรือเจอกิ๊ก เป็นต้น จะปวดแปล็บๆที่ใจ...ฮ่า!

 

นึกว่าหมดแล้ว ยังมีคำถามสุดท้ายเป็นคำถามแถม

  • เวลาเจริญสติจน "เห็น" แจ้งแล้วเนี่ยะ คำถามของมัทจะได้รับคำตอบไม๊ค่ะ?

โถ หนูมัท ใช่แล้ว เมื่อหนู"เห็นแจ้ง" คำตอบทุกอย่างก็จะผุดขึ้นมากระจ่างชัดประจักษ์แก่ใจหนูเอง ดังคำว่า "รู้แจ้ง" ไงครับ

การรู้ธรรม มิได้รู้จากการอ่าน คิด แต่เกิดจากสั่งสมการปฏิบัติ(เจริญหรือภาวนา) จนเกิดปัญญา...ผุดรู้ขึ้นมาในแต่ละขณะ แต่ละขณะ จน สว่างโพล่ง เรียกว่า ตามดู ตามรู้...รู้ตาม.. รู้ตาม... จน... เห็นแจ้ง

เป็นคำตอบที่หนูจะได้ จากใจของหนูเอง โดยไม่ต้องพึ่งใครอีกเลยจ๊ะ

(คำตอบนี้ อาจารย์ใช้สัญญาและสังขารจิตปัจจุบันขณะตอบ หากมีอะไรขาดตกพกพร่อง หรือไม่ตรงตามตำรา อย่าได้ถือสาและขออภัยด้วย)

 



ความเห็น (14)

สวัสดีค่ะ อ.พิชัย กรรณกุลสุนทร

มาจ่ายค่าลงทะเบียนเป็นศิษย์ค่ะ ; )

มายืนยันว่าการเจริญสติ ตามดู ตามรู้ นั้นให้ผลดีจริงๆ ค่ะ ต้องบอกว่า(อาจจะเว่อร์สักหน่อย) ว่าการเจริญสติทำให้เข้าใจในชีวิตมากขึ้น เข้าใจกลไกของชีวิต พฤติกรรมมนุษย์ แม้นว่าจะเห็นสิ่งที่ไม่ชอบมาก แต่เข้าใจ และไม่ทุกข์ ไม่เป็นไปตามเขา แต่ยังมีความรำคาญใจอยู่ กระทบจิตไปมา เล็กๆ น้อยๆ ค่ะ

ถ้านึกอะไรอื่นๆ ออก จะมาแลกเปลี่ยนอีกค่ะอาจารย์..

 

สวัสดีครับอ.กมลวัลย์

หนูมาเร็วจริงๆ อาจารย์ยังปรับแก้บางวรรคตอน บันทึกเสร็จเจอหนูเข้ามาจ่ายค่าลงทะเบียนแล้ว

อีกหน่อยต้องเรียกว่า กามนิตน้อย เพราะอ.ขจิต เอาตำแหน่งกามนิตใหญ่ไปครองแล้ว

อาจารย์ดีใจที่หนูช่วยยืนยันว่า การเจริญสตินั้น เมื่อหมั่นตามดู ตามรู้ จะเกิดความเข้าใจชีวิตตนขึ้นมามาก ขอให้เจริญต่อไป ความรู้ที่ได้จากการตามดู ตามรู้ในสภาพอารมณ์ทุกขณะ และทุกทวาร จะนำทางไปสู่การเข้าถึงความเป็นจริงของชีวิตครับ

เช่น ความหงุดหงิด รำคาญใจ แม้เล็กๆน้อย ก็จัดเป็นปฏิฆะอารมณ์ หากขาดความเอาใจใส่(ไม่กำหนดรู้) ก็จะก่อตัวเป็น โทสะที่รุนแรงได้ในภายหลัง

อุปมาเหมือน ไฟที่เกิดจากก้านไม้ขีดอันเล็กๆ ดูไม่ค่อยมีพิษภัย ฉันใด หากละเลยไม่ระวัง เป็นเหตุให้เกิดไฟไหม้ป่า หรือ บ้านเรือนได้ ฉันนั้น

สวัสดีอีกรอบค่ะ อ.พิชัย กรรณกุลสุนทร

ทราบเหมือนกันค่ะว่าที่ยังมีกระทบหรือค้างอยู่เล็กๆ น้อยๆ ไม่ดีค่ะ แต่ตอนนี้ได้ประมาณเท่านี้ค่ะ เพราะบางทีไม่รู้ตัวว่ายังเก็บเรื่องบางเรื่องไว้อยู่ จนกระทั่งโดยแหย่ให้มันโผล่ออกมาอีกครั้งนั่นแหละค่ะ ถึงได้รู้..

ส่วนใหญ่เวลารู้ตัวว่ามันยังค้างอยู่ มักเกิดตอนมีเรื่องเดิมมากระทบ เช่น มีคนมาพูดย้ำอีก ซ้ำๆ หรือเจอเรื่องเดิมๆ เช่น นักศึกษาสอบตกอีกแล้วทั้งๆ ที่ไม่น่าเลยจริงๆ  จะเห็นเลยว่าจิตตัวเองตก

เรื่องที่กระทบมักทำให้จิตใจเศร้าหมองค่ะ มองออกด้วยตัวเองเลยว่าจิตใจไม่ใส เหมือนฟ้ามีเมฆบดบัง แต่ยังไม่สามารถกำจัดเมฆออกไปในในทันที ก็เลยนั่งดูเมฆไปเรื่อยๆ บางครั้งก็ก่อตัวมากขึ้น เกิดเป็นโกรธชั่ววูบ (คล้ายมีสายฟ้าฟาด แล้วก็หมดไป) พอรู้ตัวก็หาย บางครั้งดูไปดูมา ก็รู้ว่ามันก็เท่านั้น เมฆก็หายค่ะ

นึกว่าอาจารย์ไปนอนแล้วเสียอีกค่ะ ขอบคุณนะคะที่ตอบอย่างรวดเร็วเช่นกันค่ะ ไวเป็นกามนิตหนุ่มเหมือนกันนะคะเนี่ย ; )

ตามมาเยี่ยมเยียนถึงบ้านเลยค่ะอาจารย์พิชัย

อ่านไปคิดไปค่ะ..ขอบพระคุณทั้งอาจารย์มัทนาที่ถามและอาจารย์พิชัยที่อธิบายจะแจ้งค่ะ

...จะนำไปปฏิบัติโดยทันทีค่ะ....ไม่อยากเป็นคนแก่ที่หลงลืมเลอะเลือนง่ายเกินไปค่ะ

สำหรับตัวเองยอมรับว่าสติในชีวิตประจำวันเกิดน้อยมาก เลยต้องบังคับตัวเองให้ทำการบ้านก่อนนอนและตื่นนอนทุกวันด้วยการสวดมนต์ทำวัตร และเจริญภาวนาต่อประมาณ 30 นาที เพิ่งทำมาได้ 2 เดือน  ประเมินผลดู(อย่างคร่าวๆ) รู้สึกว่าเริ่มมีสนามแม่เหล็กเรียกสติเพิ่มแล้วค่ะ

  • เกิดปัญญา ผุดรู้ขึ้นมาในแต่ละขณะ แต่ละขณะ จน "สว่างโพล่ง"
  • รู้ "แจ้ง"


น่าสนใจในที่มาของคำมากเลยค่ะ : )

มันสว่างขึ้นแต่มันไม่แจ้งไม่โพล่งซักทีค่ะ ฝึกเองไม่มีครูนำทางจริงจัง แถมไม่สม่ำเสมออีก -_-'

มัทไม่ค่อยมีปัญหาเรื่องรู้อารมณ์ แถมเป็นคนใจเย็นมากเป็นทุน 

แต่ไอ้ความขี้สงสัยว่า รูปกับนามทำงานร่วมกันยังไง แล้วภาวะที่ไม่มีการแยกรูปแยกนามแล้วเป็นยังไง

ไอ้ความอยากรู้มากนี่แหละค่ะ ที่มัทคิดว่าปัญญาเลยไม่ผุดมาแบบแจ้งๆจังๆยาวๆนิ่งๆซักที 

"อยาก".....แค่นี้ก็แย่แล้วใช่ไม๊ค่ะ : P

ขอบคุณอาจารย์พิิชัยมากๆค่ะ 

 

 

ขอบคุณอาจารย์สำหรับแง่คิดดีดีทางธรรมค่ะ

หนูพยายามศึกษา แต่บางประโยคของอาจารย์ลึกซึ้งจนหนูยังไม่เข้าใจเพราะภูมิธรรมไม่พอมังค่ะ เช่น

สัญญา คือความจำได้และหมายรู้ เป็นภาวะรู้ที่ทำหน้าที่รู้และเก็บความรู้นั้นไว้ในภวังค์จิต

อยากขอความกรุณาอธิบายเรื่องภวังคจิต และเจตสิก เพิ่มเติมค่ะ

จากหนูนาสุกกำลังดี

หนูกมลวัลย์

จิตตก เป็นธรรมชาติ เมื่อกระทบกับอารมณ์ที่ไม่พึงใจ หากสติระลึกรู้ไว ก็จะทำหน้าที่ยกจิตออกจากอารมณ์ที่ขุ่นมัวนั้นได้ไว

จิต คือ ตัวรู้....อารมณ์ คือสิ่งที่เป็นอาหารของจิต

จิตที่ขุ่นมัวด้วยอารมณ์ที่ไม่พึงใจ เปรียบเหมือนคนที่กำลังกินอาหารแสลง บูดเน่า เป็นพิษได้ในภายหลัง

ผู้ใดรู้เห็นโทษ พึงยกจิตออกจากอารมณ์นั้นโดยไว

ฉันใดก็ตาม พึงกระทำต่อจิตที่รักและยินดีในอารมณ์ที่พึงใจด้วย

เพราะจิตที่ติดอยู่ในอาหารที่พึงใจ จะหมกมุ่นและเสพสมอยู่นาน และเกิดจิตที่ทะยานอยากที่มีกำลังเพิ่มมากขึ้น

ผู้ใดเห็นโทษ พึงยกจิตออกจากอารมณ์นั้น เช่นกัน

ทั้งความรู้สึก ชอบใจและไม่ชอบใจ เกิดขึ้นบ่อยครั้งในชีวิตประจำวัน เป็นบทเรียนที่ล้ำค่าของผู้ปฏิบัติธรรม

ตามดู ตามรู้ และตามทัน

ได้บ้าง หลุดบ้าง รู้ไม่ทันบ้าง

เป็นปกติวิสัยของผู้ฝึกอยู่

ทำด้วยความเพียร อดทน อดกลั้น ต่อสิ่งที่ไม่รักไม่ชอบใจและทนได้ยาก

ทำด้วยความเพียร อดทน อดกลั้น ต่อสิ่งที่รัก ชอบใจอยากได้ อยากมีและอยากเป็น เช่นกัน

เมื่อทำบ่อยๆ เรียกว่า ภาวนา เพราะงอกงามและเจริญ(สภาพจิตกุศล) ขึ้นเรื่อยๆ

สติ เมื่อ กำหนดรู้ ก็เกิดขึ้นบ่อยๆ มีคุณสมบัติใหม่ติดตามมา คือ ไวขึ้น คมขึ้น และละเอียดขึ้น

เมื่อสติเกิดขึ้นบ่อยๆ ก็เกิดจิตที่ติดตามรู้ในอารมณ์นั้นๆมากขึ้น เรียกว่าจิตตั้งมั่นในอารมณ์...สมาธิย่อมเกิดมี

เมื่อจิตตั้งมั่นในอารมณ์ สภาพรู้อารมณ์จะชัดเจนขึ้น  รู้คุณลักษณะของอารมณ์ รู้อาการ รู้ว่ามาทางใด...สัมปชัญญะ ความรู้ชัดเกิดขึ้นแล้ว

เมื่อรู้ชัดในอารมณ์ที่รับและรู้ บ่อยๆ จะรู้เห็นในธรรมชาติของอารมณ์ที่เกิดขึ้น ตั้งอยู่และดับไป ตามธรรมนั้นๆ

เรียกว่า เห็น อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ชัดเจนในอาการหนึ่งๆ

เกิดปัญญาแยกแยะ รู้ทุกข์ โทษ ที่มา ที่ไป

เรียกว่ารู้ สมุทัย เพราะเห็นเหตุแห่งทุกข์

และรู้ มรรค คือทางที่จะปฏิบัติให้พ้นจากทุกข์นั้น

นิโรธ จึงเกิด เพราะเมื่อปฏิบัติได้ ทุกข์ก็ดับไป(ขณะนั้นๆ)

ผู้ใดรู้ ผู้ใดเห็น ผู้นั้นแหละเป็นผู้ที่พึงเจริญให้ยิ่งๆขึ้นต่อไป

สวัสดีครับ หนูราณี

มาเยี่ยมถึงวัด เอ้ย! บ้าน...เอาธรรมะเป็นของฝากไปนะครับ

คุณพัชรา

อนุโมทนาในกุศลที่ทำเป็นประจำครับ

สวดมนต์ไหว้พระ และเจริญภาวนา เป็นกิจของชาวพุทธ หากหมั่นปฏิบัติได้ประจำวัน เป็นกำลังของจิตครับ

แนะนำให้กำหนดรู้ ดูอารมณ์ในชีวิตประจำวันเพิ่มเติมเป็นแบบฝึกหัดของการเจริญสติ จะได้รู้เห็นธรรมชาติของจิต และหากมีเวลาแนะนำให้เดินจงกรมก่อนนั่งสมาธิครับ อย่างน้อยสัก 30 นาที สมาธิจะตั้งมั่นขึ้น

เรียน ท่านอ.พิชัยค่ะ

  • ดิฉันเคยถูกทำให้สลบ... ทำหมัน...
  • ณ ตอนนั้นไม่รู้เรื่อง  เจ็บปวด  และไม่มีอะไรหลงค้างในจิตเลยค่ะ   ......ช่วงนั้นจิตว่างจริงๆ.....ยิ่งกว่าว่างจากความคิดซะอีกค่ะ....พอฟื้นขึ้นมาจิตก็ฟุ้งซ่าน...เหมียนเดิมค่ะ......
  • ขอบคุณสำหรับข้อคิดที่...ให้สติ...เป็นตัวกำหนดความสุขของชีวิตค่ะ
  • ขอบคุณค่ะ

--/\-- ขอบพระคุณอาจารย์ ที่เมตตาให้ข้อเสนอแนะ

และขออนุโมทนาด้วยค่ะ  --/\--

หนูกฤษณา แม้จิตว่าง ก็มีสภาพว่างเป็นอารมณ์ เรียกว่ารู้อารมณ์ว่าง

จิตมีลักษณะเกิด ดับ เกิด ดับ

ตอนเกิด คือเกิดขึ้นมาพร้อมอารมณ์

ตอนดับ ก็ดับไปพร้อมกับอารมณ์

อยู่ในภวังคจิต มีอารมณ์เก่าเป็นอาหาร

จิตที่ไม่รู้อารมณ์นานๆ แสดงว่า จิตตกภวังค์อยู่ติดต่อกันนานครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท