เรียนรู้จากชาวบ้าน ในการจัดสวัสดิการชุมชน


เป็นทางออกในการจัดสวัสดิการตามวิถีชีวิตของชาวบ้านที่เราต้องเรียนรู้อีกเยอะเลย

เมื่อวานได้ร่วมประชุมเพื่อจัดสรร "ทุนน้ำใจ" สำหรับชาวบ้านที่เดือดร้อนจากอุทกภัย ได้ฟังความคิดของชาวบ้านแล้ว คนนอกอย่างเราถึงกับงง !!  เป็นทางออกในการจัดสวัสดิการตามวิถีชีวิตของชาวบ้านที่เราต้องเรียนรู้อีกเยอะเลย

"ทุนน้ำใจ" เป็นกองทุนข้าวเปลือก ที่ชาวบ้านร่วมกันบริจาคครอบครัวละ 1 ปี๊บ ในช่วงหลังฤดูกาลเก็บเกี่ยวในแต่ละปี เพื่อเอาไว้ช่วยเหลือกันเวลาประสบภัยฉุกเฉิน ที่ไม่รู้จะหันหน้าไปพึ่งใคร (โดยเฉพาะคนที่ยังไม่มีสัญชาติไทย ซึ่ง อบต.ไม่ให้ความช่วยเหลือ) ซึ่งชีวิตบนดอยมักประสบเหตุจากธรรมชาติบ่อยๆ ไม่ว่าจะไฟไหม้บ้าน(หญ้าคา+ไม้) ในช่วงหน้าแล้ง หรือพายุ ดินถล่ม พังบ้านในช่วงหน้าฝนอย่างนี้

ฝนนี้มีชาวบ้านเดือดร้อนเยอะ นอกจากดินถล่มมาทับบ้านแล้ว มีหมู่บ้านนึงที่มาขอความช่วยเหลือเพราะพายุฝนทำให้น้ำท่วมนาเสียหายมาก กว่า 10 ครอบครัว พวกเราก็ต้องช่วยกันวางหลักเกณฑ์การช่วยเหลือให้ชัดเจน เพราะกองทุนน้ำใจมีจำกัด และเพิ่งเริ่มรวบรวมเป็นปีแรก

เลยสรุปกันว่าจะช่วยเหลือกรณีความเดือดร้อนฉุกเฉินที่ทำให้ชาวบ้านไม่อาจดำเนินชีวิตปกติได้ เช่น ดินถล่มทับบ้านพัง จึงจะไม่รวมกรณีที่ทำกินเสียหาย เพราะถือว่าเป็นเหมือนการลงทุนทางเกษตรที่ชาวบ้านต้องแบกรับความเสี่ยงด้วยตนเองอยู่แล้ว  แต่ก็ยังติดใจ ไม่ค่อยสบายใจ เมื่อจะตัดสินใจเช่นนี้ เพราะก็เห็นว่าชาวบ้านเดือดร้อนอยู่เหมือนกัน

แต่ก็มีชาวบ้านคนนึง มีข้อเสนอที่เป็นทางออกที่ดีมาก แต่ฟังทีแรกเราก็งงๆ

"พวกที่ที่ทำกินเสียหายก็น่าจะช่วยเหลือด้วย แต่ถ้าปีนี้ยังมีพอกินก็ยังไม่ต้องช่วย ไว้ค่อยช่วยปีหน้าถ้าไม่พอกิน"

"อ้าวก็ไร่นาเค้าเสียหายอยู่ตอนนี้ ทำไมต้องรอช่วยปีหน้าล่ะ?"

"ก็ข้าวที่เค้าใช้กินกันในปีนี้ มันเป็นข้าวที่เค้าเก็บเกี่ยวในปีก่อนแล้วเก็บไว้กินปีนี้ แต่ที่มันเสียหายเป็นข้าวของปีหน้า ซึ่งถ้าถึงปีหน้าไม่พอกินเมื่อไหร่ ก็ค่อยช่วยเหลือเท่าที่ขาด เพราะแต่ละบ้านก็เสียหายไม่เท่ากันด้วย"

เฮ้อ.. ถ้ามนุษย์เราเรียนรู้จักคำว่า "พอ" ของตนเอง และรู้จัก "แบ่ง" ไว้ให้คนอื่นเช่นนี้แล้ว อะไรๆ มันคงง่ายขึ้น และโลกก็คงสวยงามน่าอยู่มากขึ้นกว่านี้ด้วย !!

 

คำสำคัญ (Tags): #สวัสดิการชุมชน
หมายเลขบันทึก: 384241เขียนเมื่อ 12 สิงหาคม 2010 19:41 น. ()แก้ไขเมื่อ 5 พฤษภาคม 2012 14:18 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

อ.แหวว บอกว่า อ่านทีแรกก็งงๆ เหมือนกัน ทำไมชาวบ้านถึงเสนอว่ายังไม่ต้องช่วยข้าวเปลือกปีนี้ ทั้งที่นาเสียหายปีนี้ ต้องใช้เวลานั่งคิดพักนึง ถึงเข้าใจวิธีคิดของชาวบ้าน ซึ่งยังช่วยให้เงินกองทุนสวัสดิการสำหรับปีนี้โตขึ้นด้วย จากความรู้จัก "พอ" ของชาวบ้าน !!

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท