ฃ และ ฅ พยัญชนะไทย ที่น่าสงสาร


เหมือนกับที่มันกำลังจะเกิดกับ ร และ ล ในเด็กๆวัยรุ่นยุคนี้

 

ฃ และ ฅ พยัญชนะไทยที่น่าสงสาร 

               ผมหยิบหนังสือลายสือไท ๗๐๐ ปี  ของศาสตราจารย์กำธร สถิรกุล มาอ่าน แล้วก็นึกถึงการที่มีนักอนุรักษ์บางคน พยายามจะนำ ฅ กลับมาใช้อีก เช่นใช้เขียนคำว่า ฅน 

                 เมื่อไปเปิดประวัติการพิมพ์ก็พบว่า ฃ และ ฅ  ถูกตัดทิ้งจากเครื่องพิมพ์ดีดยุคเริ่มแรก ตามประวัติเล่าว่าผู้ประดิษฐ์เครื่องพิมพ์ดีดภาษาไทยเครื่องแรกคือ เอ็ดวิน ฮันเตอร์ แมคฟาร์แลนด์ ชาวอเมริกัน ที่เกิดในกรุงเทพฯ ประดิษฐ์ขึ้นเมื่อปี พ.ศ.๒๔๓๔ ตรงกับสมัยรัชกาลที่ ๕

เอ็ดวิน ฮันเตอร์ แมคฟาร์แลนด์ ดัดแปลงมาจากเครื่องพิมพ์ดีดของโรงงานสมิทพรีเมียร์ แต่อักษรไทยมีมากกว่าอักษรฝรั่ง ไม่สามารถบรรจุอักษรทั้งหมดลงในแท่นพิมพ์ดีดได้ครบ จึงตัดพยัญชนะออก ๒ ตัว คือ ฃ และ ฅ

 

                อย่างไรก็ตามในสมัยรัชกาลที่ ๖ ตัว ฃ และ ฅ ก็ได้มีโอกาสใช้อย่างแพร่หลายอีก จนมาถึงในสมัยต้นรัชกาลที่ ๗ ปี พ.ศ.๒๔๗๐ ได้มีการยกเลิกการใช้ ฃ และ ฅ  ดร.นันทนา ด่านวิวัฒน์  ท่านบอกว่าการยกเลิกนั้นไม่ได้กล่าวถึงที่มาของการยกเลิก ฃ และ ฅ เพียงสันนิษฐานว่า เนื่องจาก ปทานุกรม ที่กระทรวงธรรมการ(ถ้าสมัยนี้ก็คือกระทรวงศึกษาธิการ) จัดพิมพ์ออกมาเป็นครั้งแรก ในปี พ.ศ.๒๔๗๐ ได้อธิบายไว้เมื่อถึงหัวข้อ ตัวฃ และ ฅ ว่า ๒ ตัวนี้เลิกใช้แล้ว แถม ไม่ได้เก็บคำศัพท์ใดๆที่ใช้ ฃ และ ฅ ไว้ในปทานุกรม นั้นเลย

 

                แต่ยังโชคดีที่ตำราเรียนของกระทรวงศึกษาธิการ ยังคงมี ฃ และ ฅ มาตลอด แต่การใช้ค่อยๆหมดไป คำศัพท์ในพจนานุกรมของราชบัณฑิตยสถาน ก็ได้ตัดคำศัพท์ที่เคยใช้ ฃ และ ฅ ในสมัยรัชกาลที่ ๖ ออกแล้วใช้ ข และ ค แทนที่

 

                เรื่องเครื่องพิมพ์ดีดนั้น ในตอนเริ่มแรกได้ตัด ฃ และ ฅ ดังที่เล่ามาข้างต้น แต่ต่อมาก็ได้ปรับปรุงเอา ฃ และ ฅ ไปใส่เครื่องพิมพ์ดีดจนครบ แต่ต่อมา ก็ได้ตัด ฃ และ ฅ ออกจากพิมพ์ดีดไปหมด

 

                ทีนี้เราคงอยากทราบกันว่า ตัวฃ และ ฅ  เคยใช้เขียนคำใดบ้าง ท่านผู้เขียนหนังสือ ยกตัวอย่างคำที่เคยผ่านตาไว้ดังนี้

 

ตัวอย่าง ฃ  พบในคำว่า เฃตร์ ฃ้า ฃวด ฃำ ฃาว เกรงฃาม ฃอบฃัณฑสีมา ปีฃาร

 

ตัวอย่าง ฅ พบในคำว่า ฅน ฅาดคะเน ฅำ

 

                มีคนสงสัยว่า พ่อขุนรามคำแหงประดิษฐ์อักษรมาทำไมมากมายเสียงซ้ำๆกัน เรื่องนี้ผมเคยเรียนภาษาศาสตร์เชิงประวัติ เชื่อว่า ข กับ ฃ และ ค กับ ฅ ออกเสียงไม่เหมือนกัน เช่นการกักลมในลำคออาจต่างกัน แต่คงเป็นความมักง่ายของคนไทยยุคหลังๆมา จึงออกเสียงเหมือนกันไปหมด

                 เหมือนกับที่มันกำลังจะเกิดกับ ร และ ล ในเด็กๆวัยรุ่นยุคนี้ รวมทั้งผมเองในเวลาเผลอๆด้วยครับ

 

คำสำคัญ (Tags): #ภาษาไทย
หมายเลขบันทึก: 102623เขียนเมื่อ 11 มิถุนายน 2007 22:08 น. ()แก้ไขเมื่อ 27 พฤษภาคม 2012 20:45 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)

ขอบคุณครับที่อุตส่าห์เขียนเรื่องดีๆแบบนี้ให้อ่าน

ผมเองก็เป็นพวกคลั่งไคล้หนังสือก.ไก่ ลูกจึงมีให้อ่านหลายแบบ

แต่ที่ชอบที่สุดก็คงหนีไม่พ้น ก เอ๋ย ก ไก่ ข ไข่ อยู่ในเล้า เล่มสีส้มเล็กๆนั่นแหละครับ

  • ขอบคุณครับ คุณธนพันธ์
  • เล่มของคุณ คงเป็นสำนักพิมพ์ประชาช่าง
  • ถ้าเป็นของ คุรุสภา ท่านศ.กำธร เขียนใหม่ว่า
  • ก.เอ๋ย ก.ไก่ ข.ไข่มากมาย ฃ.ฃวด เรียงราย ค.ควาย ลากไถ ฅ.ฅนนั่งฟัง ฆ.ระฆัง ดังไกล ง.งู เลื้อยไป จ.จาน ใส่ข้าว ฉ.ฉิ่ง ตีพลาง ช.ช้าง เผือกขาว ซ.โซ่เส้นยาว ฌ.เฌอ ผลัดใบ...(แค่นี้พอนะครับ)
  • สวัสดีค่ะ
  • ขอบคุณนะคะ ที่มาบอกเล่าเรื่องราวดี ๆ ที่ไม่เคยรู้มาก่อน
  • แล้ว  ก.เอ๋ย ก.ไก่  ข.ไข่อยู่ในเล้า  ฃ.ฃวด ของเรา  ค.ควาย ไถนา .. รุ่นของดิฉันได้ท่องประมาณนี้น่ะค่ะ 
  • ขอบคุณ คุณเนปาลี มากครับที่แวะมาเยี่ยม
  • สมัย เด็กๆผมก็ท่องแบบเดียว กับของคุณเนปาลีนั่นแหละครับ
  • เชื่อไหมผมนำใส่ทำนองแหล่เด็กๆร้องกันได้สนุกสนานมากเลย
  • ว่างๆแวะมาเยี่ยมอีกนะครับ

ขอบคุณครับที่ให้ความรู้ ผมเป็นครูสอนภาษาไทย เลยรู้สึกแปลกกับการที่ต้องบอกนักเรียนให้จำ แต่ไม่ใช้ อย่างนี้ภาษาไทยจะเป็นภาษาของเราได้ยังไง บอกมี ๔๔ ตัว ใช้ ๔๒ ตัว คือ สอนภาษาไทยให้ชาวต่างประเทศครับ อายเขา ว่าเราไม่อนุรักษ์ความเป็นเราไว้ แล้วใครจะช่วยครับ

ขอบคุณอีกครั้งครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท