ขั้นตอน..การจัดการความรู้..สู่แชมป์เพลงพื้นบ้านฯระดับประเทศ.๒.ปีซ้อน..บางลี่วิทยา


ขั้นตอน..การจัดการความรู้..

สู่แชมป์เพลงพื้นบ้านฯระดับประเทศ.

๒.ปีซ้อน..บางลี่วิทยา

       วันที่ ๔ กรกฎาคม ๒๕๕๑ ผอ.ประจักษ์ แจ้งว่า สพท.ปราจีนบุรี จะมาดูงาน KM. ที่ สพท.สพ.๒ ของเรา แล้วจะแวะดู KM. ที่โรงเรียนบางลี่วิทยาด้วย มีอะไรดีให้เขาดูบ้าง ผมก็นึกไม่ออก ผมไม่เห็นว่าผมจะมีอะไรดี

     ทันใดก็คิดขึ้นได้ว่า โรงเรียนบางลี่วิทยาประสบความสำเร็จ เรื่องเพลงพื้นบ้าน ที่พวกเราทุกฝ่ายทั้งเด็กทั้งครูช่วยกันนำความรู้ที่มีอยู่ในพวกเรา มาจัดการจนประสบความสำเร็จ ผมจะนำเรื่องนี้แหละมาให้ท่านผู้มีเกียรติจาก จังหวัดปราจีนบุรีชม ชมแล้วก็อย่าบ่นว่า..ไม่เห็นดีเลย..ก็แล้วกัน..ก็ผมบอกท่านแล้วว่าผมไม่มีอะไร..ดีหรอก...

     ผมจึงมานั่งเรียบเรียงขั้นตอนที่พวกเราชาวบางลี่ร่วมกันพัฒนาเพลงพื้นบ้านได้ดังนี้ ครับ

๑.จัดการความรู้สู่แชมป์เพลงพื้นบ้านภาคกลางระดับประเทศ

๒ ปีซ้อน

            ๑.๑ ความสำเร็จที่ถือเป็น Best Practice

           ๑.๑.๑ กรกฎาคม ปี ๒๕๔๙ ชนะเลิศการประกวดเพลงพื้นบ้านภาคกลางระดับภูมิภาค(จังหวัดนครปฐม ปทุมธานี สุพรรณบุรี) ณ คุ้มหม่อมไฉไล อ.บางเลน จ.นครปฐม จัดโดย สพท.นฐ. เขต ๒ , คุ้มหม่อมไฉไล และ เซเว่นอีเลฟเว่น

            ๑.๑.๒ วันที่ ๒๑ พฤศจิกายน ปี ๒๕๔๙ ชนะเลิศการประกวดเพลงพื้นบ้านภาคกลาง ชั้นมัธยมศึกษา ระดับประเทศ จัดโดยมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย

            ๑.๑.๓  วันที่ ๒๒ พฤศจิกายน ปี ๒๕๕๐ ชนะเลิศการประกวดเพลงพื้นบ้านภาคกลาง ชั้นมัธยมศึกษา ระดับประเทศ จัดโดยมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย

            ๑.๑.๔  วันที่ ๗ เมษายน ปี๒๕๕๑  ชนะเลิศ(รางวัลยอดเยี่ยม) การประชันเพลงอีแซว ระดับมัธยมศึกษา ของจังหวัดสุพรรณบุรี จัดโดยสำนักงานป้องกันและปราบปรามยาเสพติด

            ๑.๒ แนวทางการจัดการความรู้ เพื่อความเป็นเลิศในการแสดงเพลงพื้นบ้านนักเรียน

            ๑.๒.๑ กำหนดหัวปลา

โดยดูวิสัยทัศน์โรงเรียนบางลี่วิทยา ส่วนหนึ่งพบวิสัยทัศน์ตอนหนึ่งว่าโรงเรียน..จัดการการศึกษาให้มีคุณภาพตามมาตรฐานการศึกษา....เน้นการบริหารจัดการแบบมีส่วนร่วม โดยใช้แหล่งเรียนรู้ ภูมิปัญญาท้องถิ่น และเทคโนโลยีสารสนเทศ ครูพิสูจน์ คณะครู กับเด็กๆสนใจที่จะใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่นและแหล่งเรียนรู้ มาพัฒนานักเรียนและองค์กรบางลี่วิทยา ให้ได้ตามมาตรฐานการศึกษา ครูพิสูจน์กับคณะ ไปศึกษามาตรฐานของสพฐ. ดูตัวบ่งชี้แล้วน่าจะเกี่ยวข้อง กับการพัฒนาด้านนี้หลายข้อเช่น ข้อ ๑.๖ เกี่ยวกับนิยมไทยเห็นคุณค่าในภูมิปัญญา ภูมิใจในความเป็นไทยและรักวัฒนธรรมไทย ๘.๒ ชื่นชม ร่วมกิจกรรมและมีผลงานด้านดนตรี/นาฏศิลป์ ๑๔.๗ มีการนำแหล่งเรียนรู้และภูมิปัญญาท้องถิ่นมาใช้ในการเรียนการสอน และอีกหลายข้อ เรามาร่วมกันคิดได้ว่าเมืองสุพรรณเป็นเมืองเพลง มีศิลปินแห่งชาติเกี่ยวกับเพลง หลายคน สาขาเพลงพื้นบ้าน ๒ คน เพลงลูกทุ่ง ก็มี ดนตรีไทยก็มี เสภาก็มี เห่เรือก็มี ล้วนเกี่ยวกับเพลงพื้นบ้านเราน่าจะพัฒนาเพลงพื้นบ้านสุพรรณ ให้โรงเรียนบางลี่วิทยาของเรามีชื่อเสียงขึ้นมาให้ได้ ครูพิสูจน์ ครูอาจารย์ทั้งกลุ่มสาระฯภาษาไทย ศิลปะ คณิต และ อีกหลายกลุ่มสาระ พร้อมทั้งนักเรียนจึงร่วมกันตั้งหัวปลาขึ้นมาเราจึงได้หัวปลาว่าจะ

พัฒนานักเรียนและโรงเรียนบางลี่วิทยาให้มีชื่อเสียงด้านเพลงพื้นบ้าน

 

            ๑.๒.๒ สรรหาผู้มีประสบการณ์

       จากนั้นเราก็เริ่มหาผู้มีประสบการณ์ในโรงเรียนบางลี่วิทยา ในกลุ่มครู ครูพิสูจน์ เก่งเรื่องกลอน ครูพินิจ  เก่งเรื่องดนตรี  ครูวรรณทนาเก่งรำ ครูปริน เก่งเรื่องพูดให้คนฟังไม่เบื่อ ครูผู้หญิงหลายคนเก่งเรื่องแต่งตัวน้องโจ้รำออกท่าทางตีบทดี น้องจิ เก่งหลายอย่าง น้องเก่งเสียงดี เป็นนักร้อง น้องเปิ้ลแต่งเนื้อได้บ้าง เสียงใช้ได้ น้องแตงโมประกวดร้องเพลงลูกทุ่งชนะเลิศ น้องแจ๊ก เป็นนักดนตรี น้องจ๊ะเอ๋รำสวย และเด็กๆที่กล้าแสดงออกและมีประสบการณ์อีกมากมาย มารวมกันตั้งเป็นกลุ่มอนุรักษ์เพลงพื้นบ้าน ร่วมพัฒนาเพลงพื้นบ้านโดยมีครูพิสูจน์ เป็นผู้ประสานงาน พอดีรุ่นแรกได้ส่งเข้าอบรมกับแม่ขวัญจิต ศรีประจันต์ จึงเป็นรุ่นบุกเบิกที่จะก้าวสู่ความสำเร็จต่อไป

 

            ๑.๒.๓ ดำเนินงานแลกเปลี่ยนเรียนรู้

       ขั้นนี้เป็นขั้นที่พวกเราดำเนินงานแลกเปลี่ยน และเรียนรู้กัน โดยใช้เครื่องมือ KM. ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการเล่าประสบการณ์ความสำเร็จ เพื่อนช่วยเพื่อน ซึ่งที่จริงบางทีก็เป็นพี่ช่วยน้อง น้องช่วยพี่ หรือเพื่อนช่วยเพื่อนจริงๆ การสัมภาษณ์คุยกับผู้เชี่ยวชาญ เช่นปีนี้ พี่จิราภรณ์ เรียนจบไปต่อคณะอักษรศาสตร์มหาวิทยาลัยศิลปากร พี่จิราภรณ์ ก็ต้องถ่ายทอดวิชาต่างๆให้น้อง ทั้งการขับเสภา การเล่นมุกตลก และการพูดหน้าเวที การแลกเปลี่ยนเรียนรู้จากโรงเรียนที่ประสบผลสำเร็จมาก่อนที่เราถือว่าเป็น Best Practice เช่นโรงเรียนบรรหารแจ่มใสวิทยา ๑ ของ อาจารย์ชำเลือง ที่เก่งหลายอย่าง ส่วนด้านดนตรีก็แลกเปลี่ยนเรียนรู้กับโรงเรียนสระกระโจมโสภณพิทยา บางครั้งแม้โรงเรียนอนุบาล โรงเรียนประถมศึกษาเราก็ไปแลกเปลี่ยนเรียนรู้ บางทีก็ไม่แลกเปลี่ยนแต่ไปแอบทำแบบครูพักลักจำมาเลยก็มี

 

            ๑.๒.๔ นำมาสู่การปฏิบัติ

       จากนั้นเราก็นำมาสู่การฝึกซ้อมปฏิบัติ ในสิ่งที่เรียนรู้และทดลองนำผลงานออกแสดง ภายในโรงเรียนก่อน ตรงไหนร้องเพี้ยน ตรงไหนรำเก้งก้าง ตรงไหนจังหวะตีเร็วไปช้าไป ก็พยายามนำมาปรับแก้ไข โดยต่างช่วยกันชี้กันแนะ ห้ามโกรธกัน เปิดใจเข้าหากัน ใหม่ๆพี่โจ้ ถูกเพื่อน ถูกน้องรุมว่าพี่โจ้ร้องคร่อมจังหวะ พี่โจ้ ก็ยิ้ม และแก้ไข จนพี่โจ้กลายเป็นพ่อเพลงดีเด่นที่ได้รางวัลระดับประเทศ พี่แจ๊กตีเร็วไปน้องก็ ดุว่าพี่ๆหนูหายใจไม่ทันแล้ว พี่แจ๊กก็ยิ้มแล้วตีช้าลง ตอนหลังๆพี่แจ๊กมีลูกเล่นในการตีกลองมากขึ้น เพราะไปแอบจำโรงเรียนต่างๆมา ปีนี้พี่แจ๊กจบแล้ว น้องแม็ก น้องแมน ต้องมาสัมภาษณ์ผู้เชี่ยวชาญอีกแล้ว พวกเราพยายามหาความรู้มาต่อยอดพัฒนาทั้งเด็กทั้งครู พวกที่ถนัดรำก็ไปแอบลักจำโรงเรียนนั้นบ้างโรงเรียนนี้บ้าง แล้วมาประยุกต์เป็นของบางลี่วิทยา แม้มุกตลกก็จำไวพจน์ ทศพนบ้าง ตลกเชิญยิ้มบ้าง นำมาประยุกต์ เติมเต็ม จากนั้นก็เริ่มแสดงตามงานต่างๆในชุมชน ได้รับคำชื่นชมเป็นกำลังใจพอสมควร แต่พวกเราก็คอยทบทวนตนเองกันอยู่เสมอ ในที่สุดเราก็คิดว่าเราพร้อมที่จะก้าวไปสู่การแข่งขันเพื่อชื่อเสียงยิ่งขึ้นแล้ว

 

            ๑.๒.๕ ให้แจ่มชัดต้องทบทวน

       พวกเราฝึกซ้อมแล้วก็บันทึกวีดิทัศน์ไว้ แล้วก็มาประเมินทบทวนกันอีกว่า เหมาะสมกับเวลาไหม คนดูจะเบื่อไหม มุกไหนคนดูจะชอบ การดึงผู้ชมมามีอารมณ์ร่วมกับเรา ทำได้ดีเพียงไร ถ้าเป็นกรรมการจะให้คะแนนเท่าไร ถ้าจะให้ได้คะแนนมากขึ้น ต้องแก้ไขตรงไหน เพิ่ม ตัด ตรงไหน แล้วเราก็นำสิ่งที่ควรพัฒนาเหล่านี้มาปฏิบัติ แล้วฝึกซ้อมให้แม่นยำพร้อมที่จะเป็นตัวแทนนำชื่อเสียงด้านเพลงพื้นบ้านมาสู่โรงเรียน

      

 

            ๑.๒.๖ ของดีควรเผยแพร่

           เมื่อเรามั่นใจในผลงานว่าเป็นผลงานที่ดีที่สุดแล้วเราก็นำผลงานส่งเข้าแสดงประกวดแข่งขัน เผยแพร่ ในที่สุดผลงานของเราก็ได้รับการยอมรับจากผู้ทรงคุณวุฒิด้านเพลงพื้นบ้าน ให้เราชนะเลิศ ระดับประเทศ ๒ ครั้งซ้อน ระดับภูมิภาค ที่น่าภาคภูมิใจอีก ๒ ครั้ง

          ภายหลังเราได้นำผลงานที่ถือเป็น Best Practice นี้แสดงเผยแพร่ในโอกาสต่างๆ ตามสถานที่ต่างๆมากมาย ทั้งในกรุงเทพฯและต่างจังหวัดเช่นการแสดงต้อนรับและแสดงความยินดีกับปลัดกระทรวงหลายกระทรวง แสดงในงานมหัศจรรย์เด็กไทย หลายเวที แสดงในเทศกาล วันพ่อ เทศกาลสงกรานต์และงานต่างๆทั้งภาครัฐและเอกชน ที่ติดต่อให้เราไปเผยแพร่

            นอกจากนี้สมาชิก ในวงเพลงพื้นบ้านของเรายังเป็นนักเขียนบล็อก ของ gotoknow  หลายคน เช่นน้องจิ ซึ่งได้รางวัลนักเรียนผู้มีผลงานแลกเปลี่ยนเรียนรู้ผ่านเว็บไซต์ดีเด่นของ สพท.สพ.๒ ปี ๒๕๕๑ น้องข้าวฟ่าง น้องเปิ้ล น้องแม็ก และครูพิสูจน์ ต่างก็ได้นำผลงานความสำเร็จเผยแพร่ผ่านเว็บไซต์ตลอดมา

           ครูพิสูจน์ รำไม่เป็น (สับปะรด) ตีกลอง หลงจังหวะ ร้องพอได้แต่ไม่เพราะ มุกตลกฝืด ดีแต่พอแต่งกลอนได้ ทำไมโรงเรียนบางลี่วิทยา มีชื่อเสียงด้านเพลงพื้นบ้าน คำตอบคือ ครูพิสูจน์ ไม่ได้เก่งคนเดียว ครู เด็ก แม้ภารโรง แม่ค้าในโรงเรียน ช่วยกันดึงความรู้มาแลกเปลี่ยนมาใช้กันอย่างลงตัว แล้วนำมาพัฒนาคณะเพลงพื้นบ้านจนมีชื่อเสียงในระดับแชมป์อยู่ในปัจจุบันนี้

          ขอบคุณ คุณเอื้อ ผอ.ประจักษ์ ปานอินทร์ และรอง ผอ.ทุกท่านที่ให้การสนับสนุน ขอขอบคุณครูที่เป็นคุณอำนวย และคุณกิจจาก

กลุ่มสาระวิชาต่างๆ ขอบใจคุณกิจ นักเรียนทุกคนที่มีส่วนสรรค์สร้างพัฒนา โรงเรียนบางลี่วิทยา ให้เป็นที่รู้จักและยอมรับในหลายๆด้าน

          จาก ครูพิสูจน์ ผู้ทำหน้าที่ ทั้งคุณอำนวย คุณกิจ(บางครั้ง) คุณประสาน คุณวิศาสตร์และอีกหลายคุณ...ครับ

 

หมายเลขบันทึก: 192005เขียนเมื่อ 3 กรกฎาคม 2008 17:07 น. ()แก้ไขเมื่อ 14 มิถุนายน 2012 20:12 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (10)
  • ผลงานไม่น้อยเลยครับ
  • รอดูวนที่ สพท ปราจีนมาดีกว่า
  • อิอิๆๆ
  • ท่าทางสนุก
  • เจออีแซวภาษาอังกฤษ ขับเสภาภาษาอังกฤษเข้าไป
  • บอกได้คำดียวว่า อึ้งๆๆครับ
  • งานเข้าอีกแล้วครับ อิอิๆๆ

ขอบคุณ อ.ขจิต ยังคิดถึงบางลี่วิทยา และบางลี่วิทยาก็ยังคิดถึงอ.ขจิตเสมอครับ..ไม่แน่ผมอาจจะนำ..เสภาและแหล่ภาษาอังกฤษวันนั้นไปอวดท่านผู้มีเกียรติจากปราจีนบุรีอีกครั้ง...ขออนุญาตนะครับ...หากพาดพิง

ขอบคุณ อ.Panik มากครับที่แวะมาให้กำลังใจ

สวัสดีครับ

  • แวะมาเยี่ยมอาจารย์พิสูจน์ครับ
  • การเป็นแชมป์ยากครับ
  • แต่การรักษาแชมป์ยากยิ่งกว่า
  • แต่ระดับบางลี่วิทยาซะอย่าง
  • จิ๊บ ๆ อิอิ
  • เป็นกำลังใจให้ครับ
  • อาจารย์พิสูจน์เป็นบุคคลที่ควรยกย่องเชิดชู
  • เพราะอนุรักษ์ภูมิปัญญาไทย ตั้งแต่สมัยโบราณ
  • ชื่นชมจากใจจริงครับ
  • เห็นภาพการจัดการความรู้ชัดเจน มีลำดับขั้นตอน
  • ขอใช้คำของ ผอ.ประจักษ์นะคะ
  • บอกได้คำเดียว "เยี่ยม"

ขอบคุณ กำลังใจอันมีคุณค่าของครูโย่ง ที่จะส่งผลให้ผมทำงานอนุรักษ์สืบสานต่อไป

ขอบพระคุณ หัวหน้าลำดวน..ที่ติดตามดูแลแนะนำ..เป็นกำลังใจให้..ชาวบางลี่วิทยาตลอดมาครับ

  • เช้าวันที่ 4 นั้น ปราจีนส่วนหนึ่ง (ประกอบด้วยท่านรองฯ หน.กลุ่ม ศน.และจนท.บางส่วน) แวะไปแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับพวกเราที่สำนักงานเขตฯ ก่อน และอีกส่วนหนึ่งแยกตัวไป ร.ร.วัดท่าไชย ก่อนที่ทั้งหมดจะไปรวมตัวกันที่ ร.ร.บางลี่วิทยา ในช่วงบ่าย
  • ได้โชว์บล็อกของชาวบางลี่ให้ดูก่อนตอนอยู่ที่เขตฯ บ้างแล้ว...ทำนองจุดประกาย แล้วให้ไปขยายความ (อยาก) รู้ ที่บางลี่ต่อ ว่าทำอย่างไรอย่างละเอียดใน 6 ขั้นที่ครูพิสูจน์ว่าไว้
  • ศน.กุ้ง วิ่งวุ่นทั้งสองวันที่ผ่านมา....จึงไม่ได้ฝากรอยไว้ที่บันทึกนี้เมื่อสองวันที่แล้ว
  • อยากบอกว่าทั้งชื่นชม....และชื่นชอบ....ในสิ่งที่เชื่อมโยง พาให้เห็นขั้นตอนในการจัดการความรู้ของชาวบางลี่....
  • ดูแล้วเห็นท่าต่อไปนี้....หัวบันไดของร.ร.บางลี่วิทยา จะไม่แห้งซะแล้ว....ยังไงก็ต้องรักษาสุขภาพบ้างนะคะ....น้องนุ่งเป็นห่วงค่ะ...

ขอบคุณ ศนฯกุ้ง ผอ.ประจักษ์ ได้เล่าให้ชาวปราจีนบุรีฟังว่า ศนฯกุ้งคือครูคนสำคัญ ที่สอน km. พวกเราชาวบางลี่วิทยาจนรู้จักธารปัญญาครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท