"หลักสูตรท้องถิ่น VS สาระการเรียนรู้ท้องถิ่น" ตอนที่ 2 : ข้อค้นพบ


ข้อค้นพบ : (1) สาระการเรียนรู้ท้องถิ่น

              ข้อกำหนดว่าต้องมี

              ตัวเองเริ่มค้นจากสิ่งที่ไม่รู้ก่อน ก็คือ สาระการเรียนรู้ท้องถิ่น โดยการสืบค้นจาก Google เพื่อต้องการหาที่มาที่ไปว่า คำนี้น่าจะมาจากไหน มีความหมายว่าอย่างไร จากการสืบค้นพบเอกสารหลายฉบับทำให้ทราบว่า คำว่าสาระการเรียนรู้ท้องถิ่น น่าจะมาจากข้อความใด สิ่งที่พบเริ่มจาก ข้อกำหนดกฎหมาย

                          รัฐธรรมนูญ 2540 มาตรา 81   ให้ปรับปรุงการศึกษา....สร้างเสริมความรู้...และส่งเสริมภูมิปัญญาท้องถิ่น

                          พรบ.การศึกษา 2542 มาตรา 27  ...สถานศึกษามีหน้าที่จัดทำสาระของหลักสูตรในส่วนที่เกี่ยวกับสภาพปัญหาในชุมชนและสังคม ภูมิปัญญาท้องถิ่น คุณลักษณะที่พึงประสงค์...

                          พรบ.ระเบียบบริหารราชการกระทรวงศึกษาธิการ 2546 มาตรา 35 โรงเรียนมีฐานะเป็นนิติบุคคล มาตรา 37 หน้าที่ของสพท. ในการพัฒนาสาระของหลักสูตรให้สอดคล้องกับหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน

                          นอกจากนี้ยังมีการอ้างถึงระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยคณะกรรมการ การบริหารหลักสูตรและงานวิชาการศถานศึกษาขั้นพื้นฐาน 2544 ข้อ 5 ระบุถึงหน่วยงานที่คณะกรรมการนี้สังกัดคือ คณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน โดยคณะกรรมการบริหารหลักสูตรฯนี้มีหน้าที่ กำหนดสาระรายละเอียดของหลักสูตรระดับสถานศึกษา และแนวการจัดสัดส่วนสาระการเรียนรู้และกิจกรรมพัฒนาผู้เรียนของสถานศึกษาให้สอดคลอ้งกับหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน สภาพเศรษฐกิจ สังคม ศิลปวัฒนธรรม ภูมิปัญญาของท้องถิ่น

( จากพรบ.2542 มีการจัดทำหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน 2544 ขึ้น ซึ่งเรียกกันว่า หลักสูตรแกนกลาง มีเอกสารฉบับหนึ่งระบุว่า ตามวัตถุประสงค์ของหลักสูตรแกนกลางในส่วนของท้องถิ่นนี้จึงให้เรียกว่า “การจัดทำสาระการเรียนรู้ท้องถิ่น”) จากข้อกำหนดต่างๆ นี้ เข้าใจว่า คำว่า "สาระ" คงมาจากการตีความ /ถอดความ/ แปลความจากข้อกำหนดต่างๆ เหล่านี้ก็เป็นได้ (ตรงนี้ไม่แน่ใจและยังไม่มีข้อมูลเรื่องนี้ค่ะ)

            ความหมายที่ถูกระบุไว้

               "สาระการเรียนรู้ท้องถิ่น" หมายถึง รายละเอียดของข้อมูลสารสนเทศรวมทั้งเนื้อหาองค์ความรู้ที่เกี่ยวกับท้องถิ่นในด้านต่างๆ เช่น สภาพภูมิประเทศ ภูมิอากาศ ทรัพยากร สิ่งแวดล้อม ประวัติความเป็นมา สภาพเศรษฐกิจ สังคม การดำรงชีวิต การประกอบอาชีพ ศิลปะ วัฒนธรรม ประเพณี ภูมิปัญญา ฯ,ฯลฯ ตลอดจนสภาพปัญหาและสิ่งที่ควรได้รับการถ่ายทอดพัฒนาในชุมชนและสังคมนั้นๆ ที่สถานศึกษากำหนดขึ้นเพื่อจะนำไปใช้จัดประสบการณ์ให้ผู้เรียนได้เรียนรู้เกี่ยวกับท้องถิ่นของตนเอง

                สาระการเรียนรู้ท้องถิ่น (Local-related content)  หมายถึง  องค์ความรู้  และทักษะ ที่เขตพื้นที่การศึกษาพัฒนาขึ้น โดยพิจารณาจาก สภาพภูมิศาสตร์ ประวัติความเป็นมา สภาพปัญหาชุมชนวัฒนธรรม เศรษฐกิจ การงานอาชีพ  ภูมิปัญญาท้องถิ่น   เพื่อปลูกฝังผู้เรียนให้มีความรัก  และหวงแหนมรดกทางสังคมของบรรพบุรุษ  มีความเป็นไทย  เป็นสมาชิกที่ดีของสังคม  และสามารถดำรงชีวิต ประกอบอาชีพ   แก้ปัญหาการดำเนินชีวิตในชุมชน 

                ตามความหมายของ "สาระการเรียนรู้ท้องถิ่น" ที่เสนอทั้ง 2 ความหมายจาก 2 แหล่งข้อมูล (ซึ่งน้อยมากหากจะนำมาวิเคราะห์ แต่ก็ทำให้พบข้อสังเกต) ข้อสังเกตที่พบจากความหมายเหล่านี้คือ

                            "สาระการเรียนรู้" จะครอบคลุมข้อมูลของท้องถิ่นทุกด้านทั้ง สภาพภูมิศาสตร์ ประวัติความเป็นมา สิ่งแวดล้อม  ศิลปะ วัฒนธรรม ประเพณี ภูมิปัญญาท้องถิ่น สภาพปัญหาชุมชน เศรษฐกิจ การงานอาชีพ การประกอบอาชีพ ซึ่งเป็นเนื้อหาที่จำเป็นต้องมีการตรวจสอบความชัดเจนถูกต้องในข้อมูลที่นำมาจัดทำสาระการเรียนรู้ ในสภาพจริงของการดำเนินงานในโรงเรียนค่อนข้างที่จะเป็นไปได้อยากลำบาก ต้องอาศัยกระบวนการศึกษาโดยใช้การวิจัยมาเอื้ออำนวยการดำเนินงานตรงนี้ ซึ่งกินระยะเวลายาวนาน

                อีกคำหนึ่งที่น่าสนใจคือ "กรอบสาระการเรียนรู้ท้องถิ่น"

                กรอบสาระการเรียนรู้ท้องถิ่น หมายถึง ขอบข่ายของเนื้อหาการเรียนรู้ท้องถิ่นที่สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง วิเคราะห์และกำหนดขึ้นเพื่อเอื้ออำนวยประโยชน์ให้สถานศึกษานำไปจัดทำรายละเอียดสาระการเรียนรู้ท้องถิ่นตามสภาพความพร้อมและความต้องการของสถานศึกษา

                    จากความหมายข้างต้น สาระการเรียนรู้ท้องถิ่นที่โรงเรียนต้องจัดทำ ต้องมาจากกรอบสาระการเรียนรู้ท้องถิ่นที่ถูกกำหนดโดยเขตพื้นที่การศึกษาซึ่งมีกระบวนการจัดทำกรอบสาระการเรียนรู้ท้องถิ่น โดยการตั้งคณะกรรมการจัดทำดำเนินการ ศึกษาวิเคราะห์นโยบาย ข้อมูลสารสนเทศของท้องถิ่น ปัญหาและสิ่งที่ควรพัฒนา นำมากำหนดกรอบสาระการเรียนรู้ท้องถิ่น สอบถามรับฟังความคิดเห็นจากผู้เกี่ยวข้อง ปรับปรุง เผยแพร่ ประชาสัมพันธ์ และนิเทศ กำกับ ติดตาม ประเมินผลการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ 

                    และการจัดทำ "สาระการเรียนรู้ท้องถิ่น" โรงเรียนจะต้องนำกรอบสาระการเรียนรู้ท้องถิ่นจากเขตพื้นที่มาจัดทำเนื้อหาองค์ความรู้ที่เกี่ยวกับท้องถิ่นให้เหมาะสมกับบริบทของโรงเรียนและสภาพชุมชน โดยโรงเรียนมีแนวการดำเนินการในรูปคณะกรรมการประกอบด้วย ครู ผู้บริหาร ผู้นำทางศาสนา ผู้นำชุมชน ผู้ทรงคุณวุฒิที่มีความรู้และประสบการณ์หลากหลาย  ดำเนินการวิเคราะห์ขอบข่ายรายละเอียดในกรอบสาระการเรียนรู้ท้องถิ่นที่เขตพื้นที่กำหนดไว้  ต่อมาคือวิเคราะห์หลักสูตรสถานศึกษาของโรงเรียน เพื่อจะได้ทราบถึงจุดเน้นและแนวทางการจัดทำสาระการเรียนรู้ท้องถิ่นว่าควรจะอยู่ในกลุ่มสาระการเรียนรู้ใด ชั้นปีใด เป็นรายวิชาพื้นฐาน หรือรายวิชาที่ต้องการเรียนเพิ่มเติม  จากนั้นร่วมกันศึกษาและวิเคราะห์ข้อมูลสารสนเทศของโรงเรียนและชุมชนเพื่อนำมาเป็นข้อมูลจัดทำสาระการเรียนรู้ท้องถิ่น สุดท้ายคือนำมาจัดทำสาระการเรียนรู้ท้องถิ่นให้สอดคล้องกับบริบทและจุดเน้นของโรงเรียนและสภาพชุมชน ซึ่งอาจจัดทำรายละเอียดสาระการเรียนรู้ท้องถิ่น โดยจำแนกตามกลุ่มสาระการเรียนรู้และจัดทำเป็นช่วงชั้นหรือเป็นชั้นปี 

แนวทางการดำเนินการผนวกสาระการเรียนรู้ท้องถิ่นเข้าสู่ห้องเรียนที่พบว่ามีการปฏิบัติกันทั่วไปคือ การจัดทำรายวิชาเพิ่มเติม การสอดแทรกกิจกรรมการเรียนรู้ในรายวิชาใดวิชาหนึ่ง และจัดกิจกรรมบูรณาการในลักษณะค่ายการเรียนรู้ต่างๆ

จากกระบวนการที่กล่าวมาจากเอกสารฉบับหนึ่ง เป็นที่น่าสังเกตว่า สาระการเรียนรู้ท้องถิ่นนี้ มีการดำเนินการจัดทำหลายขั้นตอนในรูปของคณะกรรมการ ซึ่งเป็นการเปิดโอกาสให้ทุกฝ่ายมีส่วนร่วมและรับรู้ในการดำเนินการจัดทำสาระการเรียนรู้ท้องถิ่นของโรงเรียน สิ่งที่ตามมาคือ ความร่วมมือ แต่สาระการเรียนรู้ท้องถิ่นที่โรงเรียนหลายแห่งได้ เป็นเพียงแผนการจัดการเรียนรู้เท่านั้น หรือเป็นกิจกรรมต่างๆ น้ำหนักและความสำคัญตามความคิดเห็นส่วนตัวแล้วที่พิจารณาเทียบกับความรู้ด้านหลักสูตรแล้วสาระการเรียนรู้ต่างจาก "หลักสูตรท้องถิ่น" อยู่หลายประการ

                     ไม่ทราบว่า ข้อความที่นำมาอ้างอิง และความคิดเห็นที่แสดงมาตั้งแต่ต้นจะถูกผิดประการใด ของใช้พื้นที่นี้แลกเปลี่ยนความรู้ และความคิดเห็นจากทุกท่านโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ท่านที่เป็นครูซึ่งปฏิบัติการสอนในสาระการเรียนรู้ท้องถิ่น และหลักสูตรท้องถิ่น นับว่าเป็น คุณกิจ ตัวจริงมาแลกเปลี่ยนวิธีปฏิบัติให้เป็นวิทยาทานในที่นี้ด้วย

                  ความหมาย /ความสำคัญ/ องค์ประกอบ ของหลักสูตรท้องถิ่นอยู่ในบันทึกฉบับต่อไป "หลักสูตรท้องถิ่น VS สาระการเรียนรู้ท้องถิ่น" ตอนที่ 3 : หลักสูตรท้องถิ่น

หมายเลขบันทึก: 217287เขียนเมื่อ 18 ตุลาคม 2008 01:19 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 20:51 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)

เรียน คุณเหมี่ยว ครับ

อ่านหลักสูตรท้องถิ่น vs สาระการเรียนรู้ท้องถิ่นทั้งสองตอนแล้ว ได้ความรู้ดีขึ้นมาก เพราะก็ได้แต่ฟังมาเช่นกัน ไม่นึกเลยว่าแค่เรียกชื่อต่างกัน มันจะสำคัญขนาดนั้น เดี๋ยวนี้ก็ยังคิดอย่างนั้นอยู่นะ ความสำคัญมันน่าจะอยู่ที่สอน นร. ให้ความรู้ นร.เกี่ยวกับเรื่องท้องถิ่นของตนเองแล้วหรือยัง ชื่อนั้นสำคัญไฉน? บ่อยๆครั้งเรามักติดอยู่กับประเด็นย่อยๆ จนไปไม่ถึงประเด็นหลัก ประเด็นสำคัญ...นี่คือตัวอย่างก็อีกเรื่องหนึ่ง ถ้าฟังจากคุณเหมี่ยวเล่ามา แต่หลักสูตรปัจจุบันกำลังจะหมดอายุแล้ว

2553 นี้ ก็ต้องเปลี่ยนหลักสูตรใหม่อีกครั้ง ยังมิได้ศึกษา ยังมิได้อ่าน แค่ดาวน์โหลดไว้หลักสูตรแกนกลาง หลักสูตร(สาระ)ท้องถิ่น วิทยาศาสตร์ ชีววิทยา ในส่วนที่ตนเองรับผิดชอบ เปลี่ยนแปลงไปอย่างไรบ้าง คงต้องติดตามต่อไปเรื่อยๆ ตราบที่ยังเป็นครู...

ขอบคุณความรู้ดีๆที่มีให้

ขอบพระคุณ อ.ธนิตย์ อีกครั้งค่ะ

ขอบพระคุณอาจารย์ที่ยังติดตามอ่านบันทึกเรื่องหลักสูตรท้องถิ่นของเหมี่ยวอยู่ ที่จริงมันยังมีตอนที่ 3 อยู่นะคะ แต่ยังไม่ได้เขียนสักที มัวทำข้อมูลวิทยานิพนธ์เพลินเลย กะว่าตอนที่ 3 จะเขียนเรื่อง หลักสูตรท้องถิ่นค่ะ ว่ามันมีประโยชน์อย่างไร หน้าตาเป็นอย่างไร มีองค์ประกอบอะไรบ้าง อะไรที่ทำให้หลักสูตรท้องถิ่นต่างจากสาระการเรียนรู้ท้องถิ่น และหลักสูตรท้องถิ่น จะเปลี่ยนบทบาทของครูจากครูผู้รับ หรือครูผู้ถ่ายทอด เป็นครูผู้สร้าง (สร้างองค์ความรู้เอง) และพัฒนาวิชาชีพครูจากการพัฒนาหลักสูตรท้องถิ่นได้อย่างไร สิ่งที่เป็นหลักสูตรแฝงของการพัฒนาหลักสูตรท้องถิ่นนี้คืออะไร อยู่ที่ไหน มันจะมหัศจรรย์อย่างไรถ้านำ KM มาใช้ในการพัฒนาหลักสูตรท้องถิ่น และอีกหลายเรื่องเลยค่ะที่อยากจะเขียน คงต้องทยอยปล่อยออกมา

จริงอย่างที่อาจารย์บอกค่ะ "ชื่อมันสำคัญไฉน" ตอนแรกก็คิดเหมือนอาจารย์ค่ะว่ามันไม่สำคัญ แต่จากการลงพื้นที่วิจัยใน 30 โรงเรียนของพิษณุโลก (นับว่าน้อยมาก)ก็พบว่า "มันสำคัญค่ะ" ตรงที่มีการตรวจ /ประเมินเข้ามาเกี่ยวข้องนี่แหละ โรงเรียนหลีกหนีไม่ได้ ครูต้องมีคำตอบสำหรับผู้ประเมิน ดังนั้นครูต้องรู้ว่า สิ่งที่ทำ/ที่โรงเรียนมี เป็นสาระการเรียนรู้ท้องถิ่น หรือหลักสูตรท้องถิ่น หรือว่ามีทั้ง 2 อย่าง (เช่น รร.จ่านกร้อง มีทั้งสาระการเรียนรู้ท้องถิ่น และหลักสูตรท้องถิ่น)ความลึก หรือการเรียนเจาะลึกเฉพาะจุดสำคัญมันแตกต่างกัน

ในมุมมองของนิสิตที่เรียนสาขาหลักสูตรและการสอน คงจะครบเวลา 10 ปีแล้วมั่งคะ ตั้งแต่หลักสูตร 2544 ถึงเวลาต้องเรียนแผนพัฒนาชาติ เปลี่ยนหลักสูตรชาติใหม่ จากวันประกาศใช้ จนกระทั่งวันนี้ ปี 2551 ก็ยังมีครูจำนวนไม่น้อยที่ยังไม่เข้าใจหลักสูตร 2544 อย่างถ่องแท้ มีครูจำนวนไม่มากที่ศึกษาหลักสูตร 2544 หลักสูตรสถานศึกษา และหลักสูตรกลุ่มสาระฯ (หลักสูตรที่อยู่ใกล้ชิดกับครูที่สุด)อย่างจริงจังแล้วดำเนินการจัดการเรียนการสอนให้บรรลุจุดหมายของหลักสูตร ไม่ทันที่ครูจะปรับเปลี่ยนกระบวนยุทธ ก็ถึงเวลาต้องเรียนรู้หลักสูตรใหม่ (เหมือนข้อบังคับใหม่)อีกครั้ง

แต่อย่างไรแล้วสิ่งที่คาดหวังก็คือ การเรียนรู้จากสิ่งใกล้ตัวนักเรียน ด้วยธรรมชาติของนักเรียน สิ่งแวดล้อมใกล้ตัว และทรัพยากรต่างๆ ใกล้ตัวนักเรียนก็ยังเป็นสิ่งที่หลักสูตรชาติทุกฉบับได้เน้นและเจตนาให้ครูจัดการเรียนการสอนอย่างที่เด็กเป็น เชื่อมบริบทจริงกับความรู้ภายนอกอย่างเนียนที่สุด แม้ว่าโลกจะหมุน เศรษฐกิจจะพลิกผัน การเมืองจะแปรปวน ฝนจะไม่ตกตามฤดูกาล หรือ น้ำจะท่วมโลก หลักสูตรก็ยังคงต้องการ ความรู้ท้องถิ่นที่ปลูกลงสู่นักเรียนในชุมชนอยู่ดี

สุดท้ายขอบคุณสำหรับการติดตามและการแจ้งข่าวสารเรื่อง หลักสูตรฉบับใหม่นะคะ เป็นประโยชน์มากเลยค่ะ

  • ฮ่าๆๆๆๆๆๆ
  • ทำไมงง งง ไม่เห็นบันทึกนี่
  • อ่านหลักสูตรฉบับใหม่หรือยังครับน้องเหมี่ยว
  • สบายดีไหมเนี่ย

ทราบแล้วเปลี่ยนค่า....

ขอโทษค่ะที่เหมี่ยวบอกว่า เป็นหลักสูตรใหม่ กลับไปค้นคว้าหาความรู้มานิดหน่อย ทราบว่าเป็นหลักสูตร 2544 แต่เป็นฉบับปรับปรุง สิ่งที่เปลี่ยนเป็นเห็นจะเป็นกรอบที่กำหนดให้มากขึ้น เช่น เกณฑ์การวัดผลประเมินผล ตัวชี้วัดในส่วนของมาตรฐานการเรียนรู้ เวลาเรียนที่น้อยลง (รึป่าว ไม่แน่ใจ)วิสัยทัศน์ คุณลักษณะที่พึงประสงค์ ก็กำหนดมาให้ มองอีกมุมก็ดี ผลผลิตของชาติจะได้ออกมามีคุณภาพเท่าๆ กันทุกโรงเรียน

แบบนี้เหมือนจับโรงเรียนใส่บล๊อกแม่พิมพ์ ปั๊มออกมาให้เหมือนๆ (เหมือนในโรงงานอุตสาหกรรมที่ผลผลิตจะมีคุณภาพเท่ากัน...ก็ดีนะคะ)

แต่มองอีกแบบ เหมือนกำลังเดินถอยหลังกับไปสู่แบบเดิม ส่วนกลางกำหนดให้ทุกอย่าง โรงเรียน ครู ผู้บริหารต้องเดินตาม เหลือโอกาสให้แสดงศักยภาพทางความคิดเชิงวิชาการลดน้อยละทุกที การเรียนการสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญคงไม่สำเร็จ เพราะผู้จัดการศึกษาก็ไม่ได้ใช้กระบวนการที่เน้นผู้ปฏิบัติเป็นสำคัญ ตรงนี้น่าพิจารณา

การพิจารณา...การพัฒนาหลักสูตร (ทุกระดับ) ควรคู่กับแนวทางการพัฒนาวิชาชีพ

ปัจจุบันมองดูเหมือนหนทางเดียวที่บุคลากรทางการศึกษาจะพัฒนาตนเองได้ก็คือ ทำผลงาน (อบรม ถ่ายรูป พัฒนานวัตกรรม เอาไปบังคับให้เด็กเรียน จ้างเค้าวิเคราะห์ผล เขียนรายงาน ใส่กล่องสวยๆ ส่ง รอแก้จนหน้ามืด และรอรับเงิน(ข้อมูลนี้จากสภาพจริงจากผู้ใกล้ชิด หาได้มาจากการเห็นอยู่ห่างๆ และเขียนลอยๆไม่)ไม่นับกรณีการจ่ายค่าบริการอื่นๆ ที่มีอย่างแพร่หลายและเปิดเผย)

สวัสดีตอนเช้าค่ะ อ.ขจิต

ยังไม่ได้อ่านตัวต้นฉบับจริงๆ เลยค่ะ

แต่อ่านจากเอกสารที่เปรียบเทียบหลักสูตรเดิม กับหลักสูตรปรับปรุงค่ะ

พอเห็นความแตกต่างอยู่บ้าง

แต่อย่างไรก็จะพยายามหา ต้นฉบับ หลักสูตรนี้ ศึกษาแน่ๆ ค่ะ

เขียนไปเขียนมา เหมี่ยวว่า ปากดี สมองน้อย "ความคิดด้านเดียวอย่างเหมี่ยวคงไม่มีใครเอาไปทำงานด้วยแน่ๆ เค้าคงกลัวไปประท้วงในที่ทำงานแหงๆ" เฮ้ย!! เรียนจบตกงานแน่ๆ 55555 แค่คิดก็มีสนุกแล้ว 55

ขอบคุณสำหรับข้อมูลนะคะ ให้ความรู้ดีมากเลย ^ ^

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท