AAR Peer Assist ระหว่าง สคส. และ TEI


        เมื่อวันที่ ๑๔  กันยายน  ๒๕๔๘  ณ ที่ทำการสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย  เมืองทองธานี ศ.นพ.วิจารณ์  พานิช,  คุณสุนทรี  ไพรศานติ  และผู้เขียน  ได้มีนัดประชุมร่วมกับสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย  หรือ  TEI  ซึ่งเป็นการประชุมที่ใช้รูปแบบหรือเครื่องมือที่เรียกว่า  Peer  Assist  หรือ  เพื่อนช่วยเพื่อน  โดยมีผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ระดับอาวุโสของสถาบันสิ่งแวดล้อมไทยเข้าร่วมประมาณ  ๓๐  คน  มี ศ.ดร.สนิท  อักษรแก้ว  ประธาน TEI  ทำหน้าที่เป็นประธาน  และ ศ.นพ.วิจารณ์  พานิช  ทำหน้าที่  "คุณอำนวย"   ซึ่งโจทย์ของการทำ  Peer  Assist  ครั้งนี้  คือ  "TEI  ควรประยุกต์กิจกรรม  KM  ภายในสถาบันอย่างไรให้เกิดประโยชน์สูงสุด" 
         โดยเริ่มแรก ศ.นพ.วิจารณ์  ได้เกริ่นนำถึงความสำคัญของเครื่องมือ  Peer  Assist  ที่นำมาใช้ในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกัน  ซึ่งถือเป็นเครื่องมือหนึ่งของ KM  หลังจากนั้น ได้ให้ผู้ที่อาวุโสน้อยที่สุดของวง Peer  Assist  นี้  ได้พูดถึง  ว่า  "TEI  จะนำ KM  มาใช้ในการพัฒนาการทำงานของ TEI  ได้อย่างไร"  และตามด้วยผู้ที่มีอาวุโสคนต่อๆ ไป  ซึ่งแต่ละคนได้แสดงความคิดเห็นของตนเองออกมาอย่างอิสระ  และน่าสนใจมากมาย  ต่อจากนั้น จึงเป็นฝ่าย สคส.  ที่แลกเปลี่ยนให้  TEI  ฟังบ้างว่า  สคส.  มีวิธีการประยุกต์ใช้ KM  เพื่อการแลกเปลี่ยนเรียนรู้และการพัฒนาการทำงานกันอย่างไร   และต่อมา  ได้ให้ทางฝ่าย  TEI  บอกว่า  จากที่ได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้หรือได้ฟังประสบการณ์ของฝ่าย สคส. แล้ว  แต่ละคนจะสามรถนำวิธีการหรือแนวคิดเหล่านี้ของ สคส.  ไปปรับประยุกต์ใช้กับการทำงานของ  TEI  ได้อย่างไรบ้าง  พร้อมทั้งมีการสอบถาม/ซักถามแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันอย่างอิสระ  ไม่มีผิดไม่มีถูก   ท่ามกลางบรรยากาศที่เป็นกันเองและสนุกสนานตลอดระยะเวลา ๒ ชั่วโมงครึ่ง              
          สุดท้าย  ศ.ดร.สนิท  ได้กล่าวสรุปถึงสิ่งได้รับฟังจากวงแลกเปลี่ยนเรียนรู้  และสิ่งที่ TEI  สามารถนำไปใช้ประโยชน์ต่อไปได้ เพื่อเป็นการจุดประกายให้เกิดการเรียนรู้ KM ภายใน TEI  จากการปฏิบัติจริง   ดังนี้ คือ
             ๑. ต้องสร้างแนวคิดใหม่ ว่าการแลกเปลี่ยนเรียนรู้เป็นความจำเป็นของคน / องค์กร
             ๒. ความสำเร็จในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้  คือ  การที่แต่ละคนต้องมีความสมดุลย์กันระหว่างการฟังและการพูด 
             ๓. การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ที่ดีต้องทำลายสิ่งกีดขวาง  ต้องมีการบริหารจัดการสิ่งกีดขวางเหล่านั้นให้หมดไป
             ๔. ต้องสร้างกลไกและกระบวนการในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้แบบบูรณาการ
             ๕. การติดตามและประเมินผล  ทั้งของตนเองและองค์กร  เช่น  เราได้เรียนรู้อะไรบ้าง,  เพื่อนได้เรียนรู้อะไรจากเราบ้าง,  งานที่เราทำดีขึ้นหรือไม่  เป็นต้น
         นอกจากนั้น  ศ.นพ.วิจารณ์  ได้แนะนำให้  TEI   จัดตลาดนัดความรู้ขึ้น  เพื่อฝึกฝนและเริ่มต้นการดำเนินการ KM  ในหน่วยงาน  และขอให้ทุกๆ  คนที่เข้าร่วมในวงครั้งนี้  ได้เขียน AAR  ถึงการทำ  Peer  Assist  ครั้งนี้  แล้วรวบรวมให้ สคส. ได้รับรู้ต่อไปด้วย
         สำหรับ  AAR  ในมุมมองความคิดของผู้เขียน คือ
              ๑.  เป้าหมายของการทำ Peer  Assist  ในครั้งนี้ คือ  ได้ร่วมแลกเปลี่ยนวิธีการทำงานของตนเอง  กับ  TEI  และได้เรียนรู้วิธีการทำงานของ TEI  รวมทั้งหวังว่าจะได้เรียนรู้เครื่องมือ  Peer Assist  จากการปฏิบัติจริงด้วย
              ๒.  โดยส่วนตัว  คิดว่าตนเองได้บรรลุผลตามเป้าหมายเป็นอย่างดี  โดยเฉพาะได้ลงมือปฏิบัติการใช้เครื่องมือ  Peer  Assist  ด้วยตนเอง  ซึ่งในช่วงก่อนถึงวันจริงจะค่อนข้างตื่นเต้น  กังวลว่าตนเองจะเตรียมตัวไม่พร้อม  จึงได้เตรียมอ่านเอกสารเรื่อง Peer Assist  ที่ ศ.นพ.วิจารณ์  พานิช  เขียนบันทึก และคนอื่นๆ เขียน AAR  ที่ได้ทำ Peer  Assist  ไว้มาก่อนล่วงหน้า 
               ๓.  สิ่งที่ไม่บรรลุผล คือ  ผู้เขียนรู้สึกว่า  ผู้เข้าร่วมของ  TEI  ยังไม่ค่อยเปิดใจ  รู้สึกเกร็งๆ  แต่ในช่วงหลังๆ  ค่อยเริ่มผ่อนคลายและได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันมากขึ้น
               ๔.  สิ่งที่ควรปรับปรุงในครั้งต่อไป คือ  การเตรียมความพร้อมของผู้เข้าร่วมประชุมก่อน  ว่า  กิจกรรมนี้มีลักษณะอย่างไร  ทำไปเพื่ออะไร  หากแต่ละคนได้เตรียมประเด็นที่จะพูดแลกเปลี่ยนด้วยก็จะเป็นการดียิ่งขึ้น   รวมทั้งต้องมีการระบุหรือมอบหมายบทบาท  “คุณลิขิต”  อย่างเป็นกิจลักษณะ  เป็นต้น      

          นอกจากนั้น สิ่งที่ผู้เขียนได้เรียนรู้เพิ่มเติมจากการร่วมกิจกรรม  Peer Assist  ในครั้งนี้  คือ
                ๑.ได้มีโอกาสทดลองทำ Peer  Assist  จริงๆ  หลังจากที่ฟังเพื่อนๆ ใน สคส. หรือ คนอื่นๆ  ที่เคยร่วมกิจกรรม Peer  Assist  มาแล้ว  เล่าให้ฟัง 
                ๒. Peer  Assist  เป็นเครื่องมือสำหรับการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ที่ง่ายๆ  เพราะทุกคนเล่าถึงวิธีการทำงานในประเด็นนั้นๆ  (ตามหัวปลา)  ว่าเรามีวิธีการทำงานอย่างไรบ้าง  ซึ่งเป็นเรื่องที่ทุกคนพูดได้อยู่แล้วว่าเราทำอะไรและทำอย่างไร
                ๓.  ได้ฝึกการรับฟัง  และยอมรับความแตกต่างของแต่ละบุคคล  รวมทั้งทำให้เราได้เรียนรู้วิธีการทำงานของหน่วยงานหรือองค์กรอื่นๆ  ด้วย  โดยในบางจุด เราสามารถนำมาปรับประยุกต์ใช้กับงานของเราเองให้เกิดความสมดุลย์ได้ด้วย  เรียกว่า  win-win  ทั้งสองฝ่าย
                ๔. ทำให้ได้เรียนรู้ว่า ผู้นำองค์กร, วัฒนธรรมองค์กรและบรรยากาศภายในองค์กร  รวมไปถึงกระบวนการหรือกลไกต่างๆ  มีผลอย่างมากต่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้  และต่อการดำเนินการจัดการความรู้ หากองค์กรใดที่มีองค์ประกอบเหล่านี้ดีและสมบูรณ์ ก็จะทำให้องค์กรนั้นมีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้หรือการทำงานที่ดีตามไปด้วย
                ๕.  การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ไม่ได้เป็นสิ่งที่อยู่นอกเหนือภาระงานของเรา  แต่มันคือส่วนหนึ่งในการทำงานของเราเลยทีเดียว

   

คำสำคัญ (Tags): #peer#assist#องค์กร
หมายเลขบันทึก: 4001เขียนเมื่อ 16 กันยายน 2005 17:12 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 13:59 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท