199 สถานที่สำคัญทางพุทธศาสนาในเดลีที่ถูกลืม...ความสำคัญ


กัมมาสทัมมะนิคม

 

 

 

วันที่ 29 เมษายน 2551 ได้เวลาที่จะไปสำรวจสถานที่สำคัญทางพุทธศาสนาแห่งหนึ่งในกรุงเดลี ที่กล่าวได้ว่าสำคัญแต่ถูกลืม...ความสำคัญไปอย่างน่าเสียดาย (ความเห็นส่วนตัว)

สถานที่ว่านี้ แม้จะมีทัวร์ผู้แสวงบุญชาวไทยมาแวะชมแต่ก็เหมือนไม่ได้รับความสำคัญมากนัก

นั่นคือสถานที่พระพุทธองค์ทรงแสดงเทศนาเรื่องมหาสติปัฏฐาน 4 ให้แก่ชาวกุรุ ณ เมืองที่เรียกว่า "กัมมาสทัมมะนิคม"

ปัจจุบันคือเขตไกรลาศในนครเดลี หรือชื่อเดิมอินทปัตถ์ เมืองหลวงของแคว้นกุรุในสมัยพุทธกาลนั่นเอง

ตรงที่ระบุว่าเป็นที่แสดงมหาสติปัฏฐาน 4 นั้นเป็นเนินกองหินขนาดย่อม มีรั้วล้อมรอบเป็นสัดส่วนเหมือนสวนสาธารณะซึ่งทางการเดลีจัดให้เป็นโบราณสถานแห่งหนึ่ง

ตรงที่สำคัญที่สุดคือยอดเนินเขาที่เต็มไปด้วยหินสีแดง ตรงกลางยอดเนินมีหินก้อนหนึ่งขนาดประมาณ 1 เมตรครึ่งได้ พื้นผิวเรียบ มีรอยจารึกอักษรพราหมีซึ่งกล่าวกันว่าพระเจ้าอโศกให้จารึกไว้เพื่อบอกว่าสถานที่นี้พระพุทธเจ้าเสด็จมาแสดงมหาสติปัฏฐาน 4

ไม่มีหลักฐานอื่น นอกจากรอยจารึกนี้ ซึ่งดูเลือนรางพอสมควร ดูด้วยตาเปล่าแทบไม่เห็นถ้าไม่มีน้ำมารดเพื่อให้เกิดแสงเงา

ในความสำคัญที่สำคัญยิ่งนี้ ในความเห็นของผมเห็นจึงกลายเป็นว่าไม่ได้รับความสำคัญนักเพราะไม่มีการจัดการ มีเพียงการสร้างศาลากรงเหล็กครอบก้อนหินนี้ถึง 2 ชั้น

โบราณสถานนี้ดูเหมือนกำลังปรับปรุง ก้อนหินส่วนหนึ่งถูกกระเทาะมากองไว้ ไม่มีข้อมูลเสริมไว้บริการไม่มีเจ้าหน้าที่ดูแล นอกจากคนเฝ้าและเด็กชาวบ้านแถวนั้นวิ่งเล่นไปมานับสิบคน

จากยอดเนินกองหิน สามารถมองเห็นวัดฮินดู วัดพุทธ และวัดดอกบัวของศาสนาบาไฮอยู่ลิบๆ

การตามรอยพระบาท ณ สถานที่แห่งนี้จึงต้องใช้ความรู้สึกและจินตนาการส่วนตัวค่อนข้างมาก.......

ความเป็นมาของสถานที่นี้ ผมคงจะไม่ลงในรายละเอียดเพราะสามารถหาได้ในอินเตอร์เน็ตพอสมควร

สรุปก็คือ เป็นอีกสถานที่หนึ่งที่พระพุทธองค์เสด็จมาโปรด ด้วยทรงเห็นว่าชาวเมืองกุรุมีสติปัญญาพอที่จะเข้าถึงธรรมระดับสูงคือมหาสติปัฏฐาน จึงได้ทรงแสดงธรรมนี้แก่ชาวเมืองและหลังจากนั้นในสมัยพระเจ้าอโศกก็ได้ทรงจารึกไว้เป็นหลักฐานถึงเหตุการณ์นี้

ผมยังไม่สรุปอะไรมากกว่านี้ เอาเป็นว่าไปดูมาแล้ว เห็นแล้ว ตามหลักฐานชิ้นเดียวที่มีอยู่คือก้อนหินที่มีอยู่

คงจะต้องค้นคว้าและศึกษาต่อไปเท่าที่จะทำได้ ทั้งนี้ดังที่พระพุทธเจ้าทรงสอนไม่ให้เชื่ออะไรง่ายๆ แม้แต่คำสอนของพระองค์เองก็อย่าเพิ่งเชื่อโดยไม่พิจารณา

อย่างไรก็ดี คณะสำรวจของเราที่ไปวันนั้นอันมีพระมหาอ้าย ธีรปุญโญ พระมหาประภากร นนทกโรและ จนท.อีก  3 ท่าน ก็ได้ตั้งจิตสักการะ และอธิษฐาน ขอบารมี รวมทั้งหากมีโอกาสก็จะสนับสุนนให้มีการเห็นความสำคัญของสถานที่นี้ต่อไป

สำหรับผมแล้ว (และอีกหลายๆคน) ปรารถนาที่จะเห็นวัดไทยเกิดขึ้นในเดลี ซึ่งในปัจจุบันยังไม่มี ทั้งที่เดลีในอดีตนั้นเป็นเมืองที่มีความสำคัญทางพุทธศาสนาแห่งหนึ่ง

ก็ขอให้สิ่งที่ดีงามจงบังเกิด เพื่อที่พระพุทธศาสนาจะกลับมาสถิตย์อย่างมั่นคงในอินเดียอีกครั้งหนึ่ง

ด้วยความปรารถนาดี

 

หมายเลขบันทึก: 179864เขียนเมื่อ 30 เมษายน 2008 23:58 น. ()แก้ไขเมื่อ 7 มิถุนายน 2012 19:41 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (12)

สวัสดีค่ะ

ขอชื่นชมคณะสำรวจ และอนุโมทนาจิตในครั้งนี้ น่าเห็นใจ ที่พระพุทธศาสนาในอินเดียนั้น ถูกทำลายล้างจนหมดสิ้น หลังพุทธกาล ๑,๗๐๐ ปี รวมทั้งการทำลายหลักฐาน ต้องขอบคุณศาสนาฮินดู ที่เก็บหลักฐานทางพระพุทธศาสนาเช่นพระพุทธรูป คำสอนไว้ให้ และถือว่าพระพุทธเจ้า เป็นเทพเจ้าองค์หนึ่งของเขา

หลังจากนั้นที่ทราบคือ ท่านเนรูห์ ผู้นำอินเดีย ในปี พ.ศ.๒๕๐๐ เป็นชาวพุทธ และเชิญให้ต่างชาติเข้ามาสร้างวัด ฟื้นฟูศาสนาพุทธอีกครั้ง จึงทำให้เราเห็นอินเดีย เป็นดินแดนห่งพุทธศาสนาอีกครั้ง

ทุกสิ่งอย่างในโลกนี้ ล้วนแต่รอเวลา และผู้มีบุญ ที่จะมาทำหน้าที่นั้น ไปวันนี้ เห็นวันนี้ เหมือนไม่มีผล แต่ในส่วนตัวคิดว่า มีผลกระทบแน่นอน

มหาสติปัฏฐาน ๔ สำคัญเพียงใด ผู้ปฏิบัติธรรมทราบดี การไปพบสำรวจครั้งนี้ ของพี่โยคี จึงทำให้นึกถึงว่า เรื่องราวในในพระพุทธศาสนา เริ่มแจ่มแจ้ง ขึ้นมาให้ชาวโลกได้ศึกษากันมากขึ้นทุกที

นี่ถ้าเป็นไปได้นะ ช่วยลงเรื่องสติปัฏฐาน ๔ ให้ได้ทบทวนกันอีกครั้ง จะต้องกล่าวสาธุ ดังๆเชียวค่ะ

สาธุ สาธุ สาธุ

โยคีน้อย

เรื่องสติปัฏฐาน 4 มีดังนี้

ที่มา http://www.wfb-hq.org/specth11.htm (ขออนุญาตนำมาเผยแพร่นะครับ)

คำว่า "มหาสติปัฏฐาน" หมายถึง การตั้งสติอย่างใหญ่ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ตรัสมหาสติปัฏฐานแก่พระภิกษุและชาวแคว้นกุรุรัฐ ขณะที่พระองค์ประทับอยู่ ณ นิคม ชื่อกัมมาสทัมมะ* มีใจความสำคัญว่า

"ภิกษุทั้งหลาย หนทางสายเอกสายเดียวนี้คือ เอกายโน มคฺโค (เอกายนมัคค์) เป็นทางที่ทำให้สัตว์บริสุทธิ์ พ้นจากความโศก ความคร่ำครวญ เพื่อกำจัดทุกข์กายทุกข์ใจเพื่อให้เข้าถึงธรรมที่ถูกต้อง เพื่อทำพระนิพพานให้แจ้งด้วยการตั้งสติ 4 อย่าง"

มีคำกล่าวว่า สาเหตุที่ทำให้พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสมหาสติปัฏฐาน 4 แก่พระภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา และปวงชนทั่วไปแห่งกุรุรัฐ ด้วยเหตุ 5 ประการ คือ

1. ผู้ฟังพระธรรมเทศนามีสุขภาพกายดี

2. เป็นผู้มีปัญญา เฉลียวฉลาดสามารถรับพระธรรมเทศนาที่มีอรรถะ ลึกซึ้งได้

3. เป็นผู้มีความเพียรสูง

4. มีการเจริญสติปัฏฐานเป็นปกติ นับแต่คนรับใช้ไปจนถึงผู้ใช้แรงงาน

5. เรื่องที่สนทนากันก็เป็นเรื่องเกี่ยวกับสติปัฏฐาน แม้แต่สัตว์เดรัจฉานที่อาศัยมนุษย์ก็เจริญสติปัฏฐาน กล่าวหรือพูดกันถึงแต่เรื่องสติปัฏฐาน 4 ทั้งสิ้น

ในกุรุรัฐนี้ มิใช่แต่มนุษย์เท่านั้นที่เจริญสติปัฏฐาน 4 แม้แต่สัตว์ดิรัจฉานที่อาศัยมนุษย์ ก็เจริญสติปัฏฐานเหมือนกัน มีตัวอย่าง นกแขกเต้าแสดงให้เห็นเป็นกรณีศึกษาดังนี้

"มีนักรำท่านหนึ่ง เลี้ยงลูกนกแขกเต้าเอาไว้ แล้วฝึกให้พูดภาษามนุษย์ ไปไหนก็พาเอาไปด้วย คราวหนึ่ง นักรำท่านนี้ไปขออาศัยพักอยู่ ณ ที่อาศัยของนางภิกษุณีรูปหนึ่ง เวลาลาไป กลับลืมนกแขกเต้าตัวนั้นเสียสนิท สามเณรีจึงเลี้ยงนกแขกเต้าตัวนั้นไว้ ตั้งชื่อให้ว่า พุทธรักขิต นางภิกษุณีสอนให้นกพุทธรักขิตสาธยายคำว่า อัฐิ อัฐิ (กระดูก กระดูก) เป็นเนืองนิตย์ นกแขกเต้าพุทธรักขิตก็ปฏิบัติตามคำสอนของนางภิกษุณีรูปนั้นเป็นอันดี วันหนึ่งตอนเช้า ขณะที่นกพุทธรักขิตกำลังนั่งผิงแดดอ่อนอยู่ บนซุ้มประตู เหยี่ยวตัวหนึ่งมาโฉบเฉี่ยวเอาไป นกพุทธรักขิต ส่งเสียงร้องว่า กิริ กิริ พวกสามเณรีทั้งหลายได้ยินเข้าก็พากันช่วยนกพุทธรักขิตจนปลอดภัย นางภิกษุณีเถรีถามนกพุทธรักขิตว่า เวลาที่ถูกเหยี่ยวเฉี่ยวเอาไปว่าคิดอย่างไร นกพุทธรักขิตตอบว่า มิได้คิดอื่นใด คิดถึงแต่เพียงว่า -- อย่างนี้ว่า 'กองกระดูกพากองกระดูกไป จะไปเรี่ยรายกลาดเกลื่อนอยู่ที่ไหนก็ไม่รู้ได้เท่านั้น พระเถรีให้สาธุการว่า สาธุ สาธุ พุทธรักขิตเจ้าคิดอย่างนั้น ก็จักเป็นปัจจัยแห่งความสิ้นภพ สิ้นชาติของเจ้าในอนาคต"

พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ตรัสสอนให้ใช้หลักมหาสติปัฏฐาน 4 (การตั้งสติอย่างใหญ่) ซึ่งเป็นทางสายเอกและเป็นทางสายเดียว (เอกายนมัคค์) ที่จะทำให้สรรพเวไนยสัตว์บริสุทธิ์สะอาดปราศจากโรคจิต ล่วงพ้นเสียได้จากความโศก ความร่ำไร ความดับทุกข์ ความเสียใจ (โทมนัส) เพื่อบรรลุญายธรรม คือ ธรรมที่ควรรู้ควรเห็น ธรรมที่ถูก คืออริยมรรค เพื่อทำพระนิพพานให้แจ้ง

มหาสติปัฏฐาน 4 (Foundation of Mindfulness) คือ การตั้งสติอย่างใหญ่ กำหนดพิจารณาสิ่งทั้งหลายให้รู้เห็นตามความเป็นจริง ว่าสิ่งนั้น ๆ ว่ามันเป็นของมันเอง โดยธรรมชาติ โดยธรรมดา

มหาสติปัฏฐานจำแนกออกไปได้ ดังนี้

มหาสติปัฏฐาน 4 ส่วนย่อย

1. กายานุปัสสนา การตั้งสติพิจารณากาย แบ่งย่อยออกไปเป็น 6 ส่วน (การตั้งสติกำหนดพิจารณากายให้รู้เห็นตามความเป็นจริงว่า เป็นแต่เพียงกาย ไม่ใช่สัตว์บุคคล ตัวตนเราเขา)

1. อานาปานสติ กำหนดลมหายใจเข้า-ออก

2. อิริยาบถ กำหนดให้รู้เท่าทันอิริยาบถ

3. สัมปชัญญะ ความรู้ตัวในการเคลื่อนไหวทุกอย่าง

4. ปฏิกูลมนสิการ พิจารณาส่วนประกอบของร่างกาย (อวัยวะต่าง ๆ) ว่าเป็นของไม่สะอาด

5. ธาตุมนสิการ พิจารณาร่างกายของตนให้เห็นว่าเป็นสักแต่ว่าธาตุแต่ละอย่าง ๆ

6. นวสีวถิกา พิจาณาซากศพในสภาพต่าง ๆ ตั้งแต่เริ่มตายใหม่ ๆ จนถึงกระดูกป่นเป็นผุยผง (อันแตกต่างกันใน 9 ระยะเวลา ท่านเรียกว่าป่าช้า 9) ให้เห็นว่าเป็นคติธรรม ร่างกายของผู้อื่น (ซากศพที่กำลังพิจารณา) เป็นเช่นใด ร่างกายของเราก็จักเป็นเช่นนั้น (รวมเป็น 6 ส่วน)

2. เวทนานุปัสสนา (การตั้งสติกำหนดพิจารณาเวทนา คือ

การรู้สึกอารมณ์ให้รู้เห็นตามความเป็นจริงว่าเป็นเพียงเวทนา ... ที่เป็นอยู่ในขณะนั้น ๆ) 1) สุข 2) ทุกข์ 3) ไม่ทุกข์ไม่สุข 4) สุขประกอบด้วยอามิส 5) สุขไม่ประกอบด้วยอามิส 6) ทุกข์ประกอบด้วยอามิส 7) ทุกข์ไม่ประกอบด้วยอามิส 8) ไม่ทุกข์ไม่สุขประกอบด้วยอามิส 9) ไม่ทุกข์ไม่สุข ไม่ประกอบด้วยอามิส (รวมเป็น 9 อย่าง)

3. จิตตานุปัสสนา (การตั้งสติกำหนดพิจารณาจิต ...) 1) จิตมีราคะ 2) จิตไม่มีราคะ 3) จิตมีโทสะ 4) จิตไม่มีโทสะ 5) จิตมีโมหะ 6) จิตไม่มีโมหะ 7) จิตหดหู่ 8) จิตฟุ้งซ่าน 9) จิตใหญ่ (จิตในฌาน) 10) จิตไม่ใหญ่ (จิตที่ไม่ถึงฌาน) 11) จิตมีจิตอื่นยิ่งกว่า 12) จิตไม่มีจิตอื่นยิ่งกว่า 13) จิตตั้งมั่น 14) จิตไม่ตั้งมั่น 15) จิตหลุดพ้น 16) จิตไม่หลุดพ้น (รวม 16 อย่าง)

4. ธัมมานุปัสสนา (การตั้งสติกำหนดพิจารณาธรรม ...) 1) พิจารณาธรรมที่กั้นจิตไม่ให้บรรลุสมาธิ คือ นีวรณ์ 5 มี กามฉันท์ พยาบาท ถีนมิทธะ อุทธัจจกุกกุจะ และวิจิกิจฉา) เรียกว่า นี วรณบรรพ 2) ... ขันธ์ 5 คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณ เรียกว่า ขันธบรรพ 3) ... อายตนะภายใน 6 คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ เรียกว่า อายตนบรรพ 4) ... ธรรมที่เป็นองค์แห่งการตรัสรู้ 7 คือ โพชฌงค์ 7 (สติ ธัมมวิจยะ วิริยะ ปีติ ปัสสัทธิ สมาธิ และอุเบกขา) เรียกว่า โพชฌงคบรรพ

5) ตั้งสติกำหนดรู้ชัดธรรมทั้งหลายมีนีวรณ์ 5 (กามฉันท์ พยาบาท ถีนมิทธะ อุทธัจจกุกกุจจะ และวิจิกิจฉา) ขันธ์ 5 (รูป เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณ) อายตนะภายใน 6 (ตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ) อายตนะภายนอก 6 (รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะและธัมมารมณ์) โพชฌงค์ 7 {สติ ธัมมวิจยะ วิริยะ ปิติ ปัสสัทธิ (ความสงบกาย-สงบใจ) สมาธิ อุเบกขา] และอริยสัจจ์ 4 ทุกข์ ทุกขสมุทัย ทุกขนิโรธ ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา) ว่าคืออะไร เป็นอย่างไร มีในตนหรือไม่ เกิดขึ้น เจริญขึ้นและดับไปอย่างไร เป็นต้น ตามความเป็นจริงของสรรพสิ่ง อย่างนั้น ๆ (รวม 5 ส่วน)

อานิสงส์ผลของการปฏิบัติมหาสติปัฏฐานทั้ง 4

พระสัมมาสัมพุทธเจ้า เมื่อได้ตรัสเทศนามหาสติปัฏฐานสูตรแล้ว ได้ตรัสถึงอานิสงส์คือ ผลการตั้งสติอย่างใหญ่นี้ว่า ผู้ปฏิบัติจะได้รับผล 2 ประการ ประการใดประการหนึ่ง คือ บรรลุพระอรหัตตผลในชาติปัจจุบัน หากยังมีอุปาทิคือสังโยชน์ 10 (เขียนสัญโญชน์ก็ได้) หรือ อนุสัย 7 (มีกามราคะ ปฏิฆะ ทิฏฐิ วิจิกิจฉา มานะ ภวราคะ และอวิชชา) เหลืออยู่ จะได้เป็นพระอนาคามี (ผู้ไม่กลับมาเกิดในโลกนี้อีก) คือ เป็นผู้จะได้บรรลุพระอรหัตตผล หรือพระอนาคามิผล ในชาตินี้เป็นแม่นมั่น ภายใน 7 ปี หรือลดลงไปจนถึงเพียง 7 วัน (7 ปี, 6 ปี, 5 ปี, 4 ปี. 2 ปี, 1 ปี; 7 เดือน, 6 เดือน, 4 เดือน, 3 เดือน, 2 เดือน, 1 เดือน, 15 วัน, (กึ่งเดือน) หรือ 7 วัน)

………………………

ที่มา http://www.wfb-hq.org/specth11.htm

ด้วยความปรารถนาดี

สาธุ สาธุ สาธุ

นี่แหละค่ะผลกระทบแรก ในโอกาสที่ได้ไปสำรวจสถานที่สำคัญข้างต้น นั่นคือได้มีการนำธรรมมาแจกแจง ทั้งผู้ไม่รู้ ได้รู้ ทั้งผู้เคยรู้ ได้ทบทวน และผู้รู้มากแล้วก็ได้ปฏิบัติให้ยิ่งๆขึ้นไป

ไม่มีความบังเอิญในโลกนี้หรอกค่ะ พี่โยคี

โยคีน้อย

รู้ซึ้งแล้วใช่ไหม กับคำว่า

"ธรรมะจัดสรร"

และที่ท่านเจ้าคุณท่านราชได้เคยกล่าวไว้ตอนที่บวชพระนวกะตระกูลโพธิ์

"เทวดาจัดสรร"

ความคิดที่จะสร้างวัดไทยที่เดลีนั้นเคยมีอยู่และจะยังมีอยุ่ต่อไป

สำหรับสถานที่แสดงมหาสิตปัฏฐาน 4 นี้ ก็เช่นกัน

หากมีการจัดการให้เป็นระบบ อาจจะเป็นประโยชน์ทั้งกับคนในท้องถิ่นนั้นและผู้แสวงบุญชาวพุทธ

ในวันที่ไปสำรวจนั้น ท่านมหาอ้ายและมหาประภากรได้นำสวดบทมหาสิตปัฏฐาน 4 ด้วย

หลังจากนั้นนั่งสมาธิกันประมาณ 5 นาที

ต้องบอกว่าในช่วงนั้น สายลมบนยอดเนินนั้นพัดแรงดี

เหมาะกับการปฏิบัติจริงๆ

ขอนำบุญมาฝากทุกท่านใน G2K และกลัยาณมิตรที่เข้ามาอ่านบันทึกนี้

ด้วยความปรารถนาดี

ผมไปพบเว็บเกี่ยวกับจารึกของพระเจ้าอโศกมา เลยนำมาฝากกันครับ

 

ที่มา :http://www.cs.colostate.edu/~malaiya/ashoka.html

 

ดูจากภาพที่ผมถ่าย รอยจารึกบนก้อนหิน จะมีบางตัวอักษรที่เป็นลักษณะที่เห้นในภาพนี้ ซึ่งเรียกกันว่าอัษรพราหมี ที่น่าสนใจก็คือ หากได้ตัวอักษณทั้งหมดของจารึกบนหินนี้และสามารถแปลถอดความออกมาเป้นภาษาปัจจุบันได้ จะช่วยในเรื่องหลักฐานและความเชื่อมั่นของชาวพุทธได้มาก ด้วยความปรารถนาดี

สวัสดีค่ะ

ธรรมะจัดสรรอีกลำดับแล้วนะคะ สาธุ สาธุ สาธุ

ขอให้กำลังใจ ถอดระหัสออกมาให้ได้นะคะ เป็นภาษาพราหมี ไม่เคยได้ยิย ต้องชนชาติไหนจึงจะอ่านได้คะ

โยคีน้อย

กำลังรอพระมหาอ้ายและผู้รู้มาเพิ่มเติมสาระ

อักษรพราหมี เป้นต้นตระกูลของอักษณที่ใช้ในภูมิภาคเอเชีย ตั้งแต่อินเดียและประเทศข้างเคียง และในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ด้วย คือทั้งลาว มอญ ไทย เขมรและพม่า

น่าสนใจมาก

อาจจะต้องกลับไป กัมมาสทัมมะนิคม กุรุรัฐ อีก เพื่อถอดระหัส :)

เข้ามาร่วมเรียนรู้ด้วยคนค่ะ

ขอบพระคุณค่ะ

คูรปูครับ

ความประทับใจจากการไปตามรอยองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านี้ก็คือ การระลึกถึงพระองค์ว่าทรงได้มาประทับ ณ ที่นี้ ด้วยตัวพระองค์จริงๆ แม้จะเมื่อ 2 พันกว่าปีมาแล้วก็ตาม

สิ่งที่เราจะต้องทำก็คือการเรียนรู้พระธรรมที่พระองค์มอบทิ้งไว้

เพื่อจะได้เห็นพระองค์ท่าน

เจริญสุขครับ

สวัสดีค่ะ

  • เข้ามาศึกษาธรรมะกับอาจารย์ค่ะ
  • มีเรื่องราวอีกมากมายที่ครูตาไม่รู้ ..
  • กราบขอบพระคุณอาจารย์ที่ให้ปัญญาค่ะ

 ครูตา ลป.ครับ

ยินดีครับ ถือเป็นการแลกเปลี่ยนความรู้กันนะครับ

ธรรมะมอยู่ในตัวทุกคนและในธรรมชาติรอบๆ

ตัวเราครับ ชี้ไปตรงไหน ก็ธรรมะทั้งนั้น

สิ่งที่น่าสนใจสำหรับคุณครูไทยก็คือ ทำอย่างไรจะสอนให้เด็กไทยคิดเป็น คิดเก่ง และตั้งคำถามเป็น

สิ่งเหล่านี้ คนอินเดียเก่งครับ

ในสมัยโบราณ คนในแคว้นกรุจึงเก่งมาตั้งแต่อดีต

ซึ่งก็คงตกทอดความเก่งนี้มายังลูกหลานในยุคนี้บ้าง

เมื่อมีสติ ปัญญาจึงสามารถเกิดได้ครับ

ยินดีกับการเป็นครู ผู้ซึ่งมีหน้าที่อันทรงเกียรตินะครับ

เจริญสุขนะครับ

 

 

ได้ข้อมูลแคว้นกุรุจากท่านฑูตพลเดช วรฉัตร และได้เรียนรู้ดินแดนพุทธองค์อีกหลายแห่งจากท่านฑูต อจ.ดร.ไพฑูรย์ สงค์แก้ว ที่เชี่ยวชาญด้านพุทธศาสนาและภาษาฮินดีต้องขอขอบคุณอาจารย์

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท