โครงการสร้างเสริมความปลอดภัยในการขับขี่รถจักรยานยนต์ : วิทยาลัยเทคนิคพะยา


โครงการคุณธรรมนำความรู้ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง สอศ.

โครงการนี้ได้รับคัดเลือกเป็น the best practice ของ อศจ. ประจำปี 2550 ภายใต้ชื่อ โครงการพัฒนารูปแบบการสร้างเสริมความปลอดภัยในการขับขี่รถจักรยานยนต์ของนักเรียน/นักศึกษา เปิดไฟใส่หมวกกันน๊อค  โครงการนี้เกิดจากนำเอาปัญหามาตั้งเป็นโจทย์ นั้นคือ  รายงานการป้องกันภัยยานพาหนะบนถนนตามช่วงฤดูกาล เช่น วันขึ้นปีใหม่  วันสงกรานต์ ในระดับจังหวัดที่แจ้งให้เห็นยอดของอุบัติเหตุซึ่งส่วนใหญ่เกิดจากรถจักรยานยนต์ โดยสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย จังหวัดพะเยาเป็นผู้รายงาน   ซึ่งสถานศึกษา เห็นว่า ปัญหานี้เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับตัวนักเรียนนักศึกษาที่ส่วนใหญ่ใช้และมียานพาหนะเป็นรถจักรยานยนต์ ทั้งที่ใช้เดินทางมาเรียนและใช้ในชีวิตประจำวัน

 

 


phayau



 

ปีก่อนสถานศึกษาได้มีกิจกรรมต่าง ๆ เป็นกิจกรรมเริ่มต้น อันได้แก่ การให้นักเรียน/นักศึกษา ที่มียานพาหนะเป็นรถจักรยานยนต์ที่จะเข้ามาในสถานศึกษา ซึ่งผู้ขับขี่และผู้ซ่อนจะต้องสวมหมวกกันน็อค  หากไม่ปฏิบัติตาม ก็ไม่สามารถนำรถเข้ามาจอดในโรงจอดรถของสถานศึกษาได้  อีกทั้งยังมีระบบดูแลความปลอดภัยในโรงรถเพื่อป้องกันการลักขโมย หมวกกันน็อค กันไว้อีกขั้นตอนหนึ่ง   มีคณะครูเวรดูแลความเรียบร้อยในการขับขี่และตรวจสอบการสวมหมวกกันน็อค   มีกิจกรรมส่งเสริมสร้างจิตสำนึกวินัยจราจร โดยเป็นโครงการนำร่องสำหรับนักเรียนนักศึกษา จำนวน 100 คน เป็นแกนนำ เพื่อเผยแพร่ความรู้ให้กับเพื่อนนักศึกษาด้วยกัน  การดำเนินกิจกรรมโครงการดังกล่าว ในระยะแรกไม่ได้รับความร่วมมือจากนักเรียนนักศึกษา แต่เมื่อมีการแจ้งและประกาศให้ทั่วถึง  อีกทั้งยัง ได้รับความร่วมมือจากสถานีตำรวจ จัดตั้งด่านตรวจเดือนละ 2 ครั้ง ก็ทำให้การปฏิบัติตามกฎระเบียบที่แจ้งไว้เพิ่มขึ้น

 

 

จากโครงการฯ นี้ สถานศึกษาเห็นว่า เกิดประโยชน์ต่อนักเรียนนักศึกษาโดยตรง สำหรับการมีวินัย สุภาพ สามัคคีและมีน้ำใจ สอดคล้องกับคุณธรรมพื้นฐานสำหรับชีวิตการเรียนและใช้ในชีวิตจริง  และเพื่อให้เห็นผลเชิงประจักษ์ยิ่งขึ้น  จึงทำโครงการฯ  นี้ต่อเนื่องในปีถัดมา  พร้อมทั้งเพิ่มเติมกิจกรรมและโครงการที่เกี่ยวข้องกับโครงการใหญ่นี้  นำเสนอเป็น the best practice ของสถานศึกษาและเสนอเพื่อคัดเลือกเป็น the best practice ของ อศจ.

 

 

phayau

 

 

โครงการที่ยังคงไว้ได้แก่   กิจกรรมอบรมส่งเสริมและสร้างจิตใต้สำนึกวินัยจราจร  ที่มีแกนนำเพิ่มอีก 100 คน จากปีก่อน ซึ่งมีเนื้อหาเกี่ยวกับกฎหมายและวินัยจราจร  ใบขับขี่  พ.ร.บ.คุ้มครองฯ และมีโครงการ/กิจกรรมเพิ่มเติมที่เกี่ยวข้องได้แก่  กิจกรรมการขับรถรณรงค์ไปใช้สิทธิ์  กิจกรรมขับขี่เปิดไฟ-สวมหมวกนิรภัยต้านภัยยาเสพติด กิจกรรมเสียงตามสายในสถานศึกษาและนอกสถานศึกษา  โครงการ ขับขี่ปลอดภัย มีใบขับขี่ โดยได้รับความร่วมมือจากสำนักงานขนส่งจังหวัด สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด บริษัท ไทยยามาฮ่ามอเตอร์ จำกด มีกิจกรรมได้แก่  จัดแสดงนิทรรศการความปลอดภัย  การจัดอบรมให้ความรู้เกี่ยวกับเทคนิคการขับขี่รถจักรยานยนต์เบื้องต้นอย่างถูกต้อง  การจัดทำใบอนุญาตขับขี่รถจักรยานยนต์ให้แก่นักเรียน/นักศึกษา นอกจากนี้ สถานศึกษายังได้มีประกาศ ในเรื่อง  การใช้ยานพาหนะในวิทยาลัยและนอกวิทยาลัยที่จะต้องปฏิบัตินั้นคือ  จะต้องจัดเก็บรถที่สถานศึกษาจัดให้เท่านั้น  ขับขี่รถต้องสวมหมวกนิรภัย  ขับขี่และซ้อนท้ายต้องสวมหมวกนิรภัย  ต้องมีบัตรอนุญาตขับขี่และต่อทะเบียน รถจักรยานยนต์ไม่มีส่วนควบเกินกำหนด (ดัดแปลงสภาพรถ) ไม่บรรทุกเกินน้ำหนักที่กำหนด (ผู้ซ้อนท้ายมากกว่า 1 คน)  นอกจากนี้ สถานศึกษายังได้รายงานผลสถิติเปรียบเทียบการเกิดอุบัติเหตุ  ที่แสดงผลถึง กิจกรรมโครงการนี้ ที่ส่งผลในสถิติลดลงจากปีก่อน ๆ  อย่างเห็นได้ชัด
 

 

 phayau

 

 

คงไม่ต้องแปลกใจอะไรที่โครงการนี้ได้รับคัดเลือกเป็น the best practice ของ อศจ.พะเยา เป็นปีที่ 2  เพราะ เป็นโครงการที่ทำต่อเนื่อง  มีกิจกรรมและโครงการสนับสนุนโครงการหลัก  มีเครือข่ายในการทำงานจากภายนอก  ได้รับการสนับสนุนจากภายนอกทั้งภาครัฐและเอกชน  นักเรียน/นักศึกษาปฏิบัติได้และนำไปใช้ในชีวิตประจำวัน กำหนดเป็นเรื่องนโยบายหลักของสถานศึกษา  การมีส่วนร่วมของนักเรียน/นักศึกษาทุกคน สอดคล้องกับคุณธรรมพื้นฐานหลายด้านไม่ว่า จะเป็นการสร้างวินัยในการขับขี่  ขับขี่รถจักรยานยนต์ด้วยความสุภาพ  เกิดความประหยัดเพราะรู้วิธีดูแลรักษาและวิธีการขับขี่  มีความสามัคคีทำกิจกรรมร่วมกันทั้งส่งเสริมประชาธิปไตยและการต้านภัยยาเสพติด ไปจนถึงการมีน้ำใจในการขับขี่  คุณธรรมพื้นฐานทั้งหลายเหล่านี้ สถานศึกษาคงไม่ได้หวังขึ้นเพื่อว่า จะจัดโครงการขึ้นมาแล้วต้องมีการบังคับให้ปฏิบัติตามกฎ ที่ตั้งไว้ แต่สิ่งที่สถานศึกษาต้องการท้ายที่สุดนั้นก็คือ  การเกิดจิตสำนึกและตระหนักในเรื่องนี้ อยากให้เกิดขึ้นด้วยตัวของนักเรียนนักศึกษาเอง โดยไม่ต้องใช้กฎระเบียบเป็นข้อบังคับควบคุม

 

 

 

นางสาวพิมพร  ศะริจันทร์  ศึกษานิเทศก์  เขียนวันที่ 18 มีนาคม 2552
จากการนิเทศติดตามและประเมินผลโครงการคุณธรรมนำความรู้ ปีการศึกษา 2551 อศจ. พะเยา วันที่ 17 มีนาคม 2552

หมายเลขบันทึก: 254670เขียนเมื่อ 9 เมษายน 2009 14:28 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 มิถุนายน 2012 02:06 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท