+มองอีกมุม...ของการจัดการอาชีวศึกษาและฝึกอบรมวิชาชีพในวันนี้


การจัดการอาชีวศึกษาและฝึกอบรมวิชาชีพในวันนี้

จากหัวข้อการบรรยาย  “สิ่งที่ต้องคำนึงถึงในการจัดการอาชีวศึกษาและฝึกอบรมวิชาชีพ”  (อ้างถึง ไพฑูรย์  นันตะสุคนธ์   23  มิถุนายน 2553)  ผู้เขียนลองวิเคราะห์ถึงสภาพปัจจุบันของการจัดอาชีวศึกษา  ความน่าจะเป็นหรือเป็นไปได้ เพื่อให้บรรลุตามข้อเสนอดังกล่าวข้างต้น  เป็นการมองจากอีกหนึ่งมุมและแค่เพียงคนหนึ่งคนที่อยู่ในแวดวงอาชีวศึกษา มีเรื่องใดบ้าง ลองอ่านกันลำดับข้อดังนี้

 



*การมีเอกภาพด้านนโยบายและมีความหลากหลายในทางปฏิบัติ โดยมีการกระจายอำนาจจากส่วนกลางไปสู่สถานศึกษาและสถาบัน  เพื่อให้สอดรับกับพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ (ฉบับที่ ๒ พ.ศ. ๒๕๔๕  มาตรา ๓๙)
ระบุไว้ว่า  ให้กระทรวงกระจายอำนาจการบริหารและการจัดการศึกษา ทั้งด้านวิชาการ งบประมาณ การบริหารงานบุคคล และการบริหารทั่วไปไปยังคณะกรรมการ และสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา และสถานศึกษาในเขตพื้นที่การศึกษาโดยตรง อาชีวศึกษาได้มีประกาศจัดตั้งสถาบันและเริ่มปรับหลักสูตร ทำกรอบหลักสูตรเพื่อรองรับในระดับสูงขึ้น

 

Photobucket

นักศึกษาแผนกวิชาการท่องเที่ยว วิทยาลัยอาชีวศึกษาภูเก็ต



*การศึกษาในด้านวิชาชีพสำหรับประชาชนวัยเรียนและวัยทำงานตามความถนัดและความสนใจอย่างทั่วถึงและต่อเนื่องจนถึงระดับปริญญาตรี สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษามีหลักสูตรที่หลากหลายเจาะจงถึงลักษณะของสาขางานเฉพาะ โดยใช้วิธีการจัดการอาชีวศึกษาระบบทวิภาคีเข้ามาช่วยในการจัดการ แต่ก็พบว่า ประชาชนวัยเรียนและวัยทำงานก็ยังมองสาขาเป็นที่นิยมของตลาดผู้เรียน ไม่ได้มองตลาดของอาชีพ ฉะนั้น สาขายอดนิยมทั้งหลายก็เป็นยานยนต์ บัญชี คอมพิวเตอร์ เป็นต้น


ความต่อเนื่องจะสู่ระดับที่สูงขึ้นมีการประชาสัมพันธ์สร้างความเข้าใจที่ยังสับสนกับผู้เรียนและผู้ปกครองที่มีบทบาทสำคัญ  โดยเฉพาะตอนนี้ สถาบันการศึกษาซึ่งเคยรับนักศึกษาจากอาชีวศึกษาในระดับปริญญาตรี ก็ปรับเปลี่ยนบทบาทด้วยใช้วิธีการเทียบโอนผลการเรียน  แทนคำว่า  “หลักสูตรต่อเนื่อง”  เป็นจุดขายเช่นแต่ก่อน



*การมีส่วนร่วมของชุมชน สังคมและสถานประกอบการ ในการกำหนดนโยบายการผลิตและพัฒนากำลังคน รวมทั้งการกำหนดมาตรฐานการอาชีวศึกษา ต้องยอมรับความจริงว่า สภาพปัจจุบันอาชีวศึกษาผลิตกำลังคน สวนทิศทางความต้องการของสถานประกอบการ หรือผลิตตรงกับสาขาที่สถานประกอบการต้องการ แต่คุณสมบัติของสิ่งที่ผลิตกลับต้องถูก Reject หรือ complain อยู่เสมอ ข้อสังเกตแรก ๆ ที่สถานศึกษาหันมามองคือ  หลักสูตร มีการปรับเปลี่ยนให้ทันต่อเหตุการณ์  หรือหลักสูตรได้ปรับเปลี่ยนครอบคลุมสถานการณ์ในปัจจุบันแล้ว แต่ผู้สอนยังยึดติดกับการสอนเนื้อหา รูปแบบการสอนเดิม ๆ จะด้วยไม่ได้รับการพัฒนาหรือติดตามนิเทศการจัดการเรียนการสอน อย่างใดอย่างหนึ่ง หรือปัจจัยอื่น ๆ ยังไม่นับรวมถึงนโยบายของสถานประกอบการที่ยังมุ่งรับเฉพาะกลุ่มที่จบ ปริญญาตรี โดยมองข้ามระดับ ปวส. ที่อาชีวศึกษาได้ผลิตแล้วแต่ไม่เป็นที่ต้องการหรือยอมรับในตลาดแรงงาน จึงเป็นการทำงานที่สวนทางกัน

 

Photobucket

นักศึกษาสาขาวิชาท่องเที่ยว วิทยาลัยอาชีวศึกษาภูเก็ต



*การศึกษาที่มีความยืดหยุ่น หลากหลายและมีระบบเทียบโอนผลการเรียนและระบบเทียบประสบการณ์การทำงานของบุคคลเพื่อเข้ารับการศึกษาและการฝึกอบรมวิชาชีพอย่างต่อเนื่อง การเทียบโอนผลการเรียนและระบบเทียบประสบการณ์มีระบุไว้ในระเบียบฯ ว่าด้วยการประเมินผลการเรียนฯ เกี่ยวกับหลักเกณฑ์การประเมินเทียบโอนความรู้และประสบการณ์ มาเป็นเวลานานพอสมควร  แต่ให้ทางปฏิบัติกับพบข้อจำกัดบางประการบางสถานศึกษาที่มีการโฆษณากลายเป็นจุดขายให้เกิดภาพ  “เรียนง่าย จ่ายครบ จบไว”  แข่งขันกันระหว่างสถานศึกษาอาชีวศึกษาในพื้นที่กับอาชีวศึกษาที่ข้ามห้วยข้ามดอยมาจากจังหวัดอื่น โดยใช้วิธีการจัดการอย่างเป็นระบบหรือได้คุณภาพตามจริงหรือไม่ ก็ยากที่จะพิสูจน์ได้หรือขาดผู้ดูแลติดตามเรื่องนี้อย่างจริงจัง   ทั้งนี้ พบว่า  หลายหน่วยงานก็เล็งเห็นความสำคัญของการเทียบโอนประสบการณ์เพื่อจะได้วุฒิเทียบเคียงทางด้านวิชาชีพ เพียงแต่ว่า  หน่วยงานใดของ สอศ. จะทำให้แนวทางนี้ชัดเจนและมีกรอบระเบียบกำหนดไว้เพื่อให้เกิดคุณภาพตามที่ควรจะเป็น



*การมีระบบจูงใจให้สถานประกอบการมีส่วนร่วมในการจัดการอาชีวศึกษาและฝึกอบรมวิชาชีพ  สถานประกอบการหลายแห่งเห็นว่า ระบบการจัดการศึกษาที่เป็นการสร้างคนให้กับอาชีพหรืองานของสถานประกอบการ จนหลายแห่งที่เคยร่วมงานกับอาชีวศึกษา ก็จัดการศึกษาขึ้นเองหรือเบนเข็มจากอาชีวศึกษาภาครัฐไปร่วมมือกับสถานศึกษาอาชีวศึกษาเอกชน เนื่องจากความคล่องตัวในการจัดการได้ดีกว่า  ในบางเรื่องมีข้อจำกัดของสถานศึกษาภาครัฐ ไม่ว่าจะเป็นบุคลากรหรือเวลาในการจัดการเรียนการสอน  ไม่นับในเรื่องครุภัณฑ์บางประเภท ที่สถานประกอบการทันสมัยกว่า  



หลายครั้งพบว่า   การสำรวจความพึงพอใจของสถานประกอบการในการรับนักศึกษาเข้าไปฝึกงานหรือฝึกประสบการณ์ และได้ข้อปัญหาซ้ำ ๆ แต่สถานศึกษาไม่ได้พยายามจะแก้หรือแก้เรื่องเหล่านั้น ไม่ถูกทางหรือหาทางไม่เจอในทางแก้ปัญหาร่วมกัน  กลายเป็นทางตีบตันทั้งสองฝ่ายที่ร่วมมือกันโดยผู้เซ็นสัญญาระดับสูงก็มองภาพที่สวยหรูในขณะผู้ปฏิบัติทั้งสองฝ่ายกับพบเรื่องเล็กที่นับวันจะกลายเป็นปมที่จะสางไม่ออก   การมีระบบจูงใจที่ไม่นับเป็นราคาค่างวดที่เคยใช้ มาก่อนเช่น  อบรมให้ความรู้กับสถานประกอบการในเรื่องเทคนิคบางประการที่เรามีต้นทุนอยู่แล้ว ได้แก่ วิธีการสอน เทคนิคการสอน การทำแผนการฝึก  การพบปะแลกเปลี่ยนประสบการณ์ระหว่างครูกับครูฝึกของสถานประกอบการ  ถูกละเลยในระยะหลัง


*การระดมทรัพยากรทั้งจากภาครัฐและเอกชนในการจัดการอาชีวศึกษาและการฝึกอบรมวิชาชีพ โดยคำนึงถึงการประสานประโยชน์อย่างทั่วถึงและเป็นธรรม ความตั้งใจจริงของผู้บริหารระดับสูงในการพัฒนาอาชีวศึกษา ไม่ว่าจะเป็น MOU (Memorandum of Understanding) กับหน่วยงานต่าง ๆ เป็นลู่ทางทำให้การปฏิบัติงานในระดับล่าง ๆ คล่องตัวขึ้น นั้นคือ แนวทางที่ปฏิบัติได้จริงกับสถานศึกษาขนาดใหญ่ทั้งหลายที่ประจำในตัวจังหวัด  แต่สถานศึกษาที่ประจำอยู่อำเภอรอบนอก ต้องดิ้นรนหาทางออกเอง หากผู้บริหารที่มี “วิสัยทัศน์ดีเป็นนักประสานได้”  ก็จะมีเครือข่ายเพิ่มเติมทั้งคน งานและงบประมาณ มาช่วยในการบริหาร สร้างความน่าเชื่อถือและศรัทธาในชุมชนและท้องถิ่น กลับกันหากเป็นผู้บริหารที่ตรงกันข้ามที่กล่าวมา นึกภาพเอากันเองก็แล้วกันว่า สถานศึกษาแห่งนั้นจะมีสภาพเป็นเช่นไร

 

Photobucket

นักศึกษาสาขาวิชาการท่องเที่ยว วิทยาลัยอาชีวศึกษาภูเก็ต


*การมีระบบการพัฒนาครูและคณาจารย์ของการอาชีวศึกษาอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ทันต่อความเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี เป็นเงื่อนไขที่ถูกกำหนดด้วยตัวบ่งชี้ของการประกันคุณภาพภายในที่ว่า  จำนวนครูและบุคลากรสายสนับสนุนของสาขาวิชา/สาขางาน ที่ได้รับการพัฒนาในวิชาชีพที่สอน ไม่น้อยกว่า 20 ชั่วโมงต่อคนต่อปี  สถานศึกษาได้นำข้อมูลต่าง ๆ มาพิจารณาเพื่อกำหนดแผนหรือไม่อย่างไร  เช่น หัวข้อของการพัฒนาตรงกับสาขาอาชีพ  ความถี่และค่าเฉลี่ยของครูที่ได้รับการพัฒนาต่อคนต่อปี   จำนวนงบประมาณค่าใช้จ่ายสำหรับการพัฒนา

 
ปัจจุบัน พบว่า แต่ละสถาบันได้วางแผนเรื่องคน โดยการให้ทุนในการศึกษาต่อในระดับที่สูงขึ้น โดย MOU กับสถาบันการศึกษาที่เปิดสอนในสาขาวิชาชีพที่ตรงกับความต้องการ ทั้งนี้ ก็อย่าลืมมองเผื่อสำหรับสถาบันที่อยู่ใกล้ตัวบุคลากรในภูมิภาคต่าง ๆ ร่วมด้วยแทนที่จะกระจุกตัวเฉพาะสถาบันในเขตหรือใกล้เคียง กทม. เท่านั้น เนื่องด้วยจะส่งผลต่อปัจจัยหลายอย่างประกอบ ไม่ว่าความสะดวกในการเดินทาง  ภาระค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ที่เพิ่มขึ้นนอกเหนือจากที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐ  การละทิ้งหรือการสอนไม่เต็มศักยภาพในเวลา หากเป็นการไปศึกษาต่อในวันเสาร์-อาทิตย์ เป็นต้น



ทั้งหมดเป็นเพียงข้อคิดเห็นมุมมองของคนเพียงคนเดียวดังที่ระบุไว้ข้างต้น ไม่ได้เป็นตัวแทนของเสียงส่วนใหญ่ใด ๆ ทั้งสิ้น ที่ต้องการส่งเสริมและสนับสนุน ไปเช่นเดียวกันกับหลาย ๆ คนที่ไม่ได้เพียงแต่คิดเท่านั้น ยังลงทุนลงแรงทั้งกายและใจให้อาชีวศึกษาของเราก้าวต่อไป...

เอกสารอ้างอิงประกอบการเขียน:
1.  พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๔๕.
2.  ไพฑูรย์  นันตะสุคนธ์,  สิ่งที่ต้องคำนึงถึงในการจัดการอาชีวศึกษาและฝึกอบรมวิชาชีพ,  2553.
3.  สนอง  อิ่มเอม, ข้อเสนอ 10 ประการด้านอาชีวศึกษาที่เสนอต่อสภาการศึกษาฯ, 2553.
4.  สำนักมาตรฐานการอาชีวศึกษาและวิชาชีพ, มาตรฐานการประกันคุณภาพภายในสำหรับวิทยาลัยเทคนิคและวิทยาลัยการอาชีพ, 2553.
5.  สำนักมาตรฐานการอาชีวศึกษาและวิชาชีพ, เอกสารประกอบการใช้หลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพ พุทธศักราช 2545 และหลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง พุทธศักราช 2546, 2547.


พิมพร  ศะริจันทร์  ศึกษานิเทศก์  เขียนวันที่ 29 มิถุนายน 2553
จากการเข้าร่วมประชุมปฏิบัติการโครงการพัฒนาหลักสูตรฐานสมรรถนะ ระดับ ปวช. ปวส. ตามกลุ่มสาขาวิชาการบัญชี การตลาด  เลขานุการและคอมพิวเตอร์ธุรกิจ ครั้งที่ 3  21-26  มิถุนายน 2553

หมายเลขบันทึก: 374793เขียนเมื่อ 13 กรกฎาคม 2010 21:37 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 07:31 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

การจัดการศึกษา ขาดการมองภาพองค์รวมของทั้งประเทศทั้งรัฐและเอกชนต้องไปด้วยกัน และต้องตอบโจทย์ความต้องการกำลังพลของประเทศได้

ภาครัฐมีงบประมาณมากมีกำลังประสานสถานประกอบการใหญ่ๆ ควรทำเรื่องที่เอกชนทำไม่ไม่ได้ เช่น น้ำมันไบโอฯ ปิโตรเคมี อุตสาหกรรมยาง ฯลฯ

ควรเน้นทำเรื่องคุณภาพมิใช่ไปเน้นเรื่องปริมาณ เรื่องเปิดรับหลายๆรอบในสาขาที่เอกชนเปิดอยู่เพื่อไปเน้นเรื่องเงินอุดหนุนรายหัวที่จะเข้าวิทยาลัย

จนกลายเป็นธุรกิจศึกษาไปแล้วทั่วประเทศ เช่นวิทยาลัยเกษตร วิทยาลัยศิลปหัตกรรม ที่ลืมวัตถุประสงค์การจัดการศึกษาไป

น่าสงสารเด็กไทยที่ตกเป็นเหยี่อของนักจัดการศึกษาระดับ ดร.หัวขาวๆทั้งหลาย

และที่ทยอยปิดตัวไปแล้วหลายสถานศึกษาเอกชน ที่ไม่มีทุนสามารถแข่งขันกับภาครัฐได้ถึงจะผ่านการประเมินจาก สมศ. หรือเป็นโรงเรียนรางวัลพระราชทานก็ตาม (จริงควรจะบอกเขาให้ขายโรงเรียนไปเถอะ เพราะภาครัฐจะทำเองทั้งหมด)

ลองศึกษาประวัติ ดูนะครับว่าใครไปขอร้องเอกชนให้มาช่วยรัฐจักการศึกษาด้วยเหตุผลใด??

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท