คนกับยุทธศาสตร์การแข่งขัน


การบริหารจัดการองค์กรและการจัดการความรู้ (3)

          เซอร์ ชาลส์ ดาร์วิน เจ้าของทฤษฎีวิวัฒนาการ กล่าวประโยคสำคัญไว้ว่า ...สัตว์โลกที่อยู่รอดในปัจจุบันมิใช่ว่าจะแข็งแรงและฉลาดที่สุด แต่ต้องสนองตอบต่อการเปลี่ยนแปลงได้... ซึ่งสอดคล้องกับ แจค เวลส์ อดีต CEO ผู้ยิ่งใหญ่ของ GE ที่กล่าวไว้ในระหว่างพร่ำสอน

พนักงานว่า เปลี่ยนแปลงก่อนที่จะถูกบังคับให้เปลี่ยนแปลง 

          องค์กรในปัจจุบันจึงต้องมีการปรับปรุงและเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ เพื่อให้สามารถธำรง และปฏิบัติภารกิจอยู่ได้ เห็นชัดเจนจากในภาคธุรกิจว่า จะมีองค์กรที่สูญหาย และเกิดใหม่อยู่ตลอดเวลา สาเหตุเนื่องจากการแข่งขันมีสูงขึ้น เนื่องจากการเพิ่มขึ้นของคู่แข่งขัน การเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของเทคโนโลยีตลอดจนกระแสโลกาภิวัตน์ อีกทั้งลูกค้าก็มีความพิถีพิถัน และมีความต้องการที่มากขึ้นอย่างไม่มีที่สิ้นสุด การเปลี่ยนแปลงของกฎระเบียบการค้าต่างๆ สิ่งต่างๆ เหล่านี้ส่งผลให้องค์กรต้องมียุทธศาสตร์ในการแข่งขันเพื่อให้องค์กรอยู่รอดและปลอดภัย ดำรงอยู่ได้อย่างยั่งยืน

ในการกำหนดหรือวางยุทธศาสตร์เพื่อการแข่งขันนั้น จากการศึกษาตำรากลยุทธ์การตลาด หรือที่ได้ร่ำเรียนกันมา จะพบว่ากลยุทธ์หนึ่งที่ได้รับความนิยม และถูกนำมาใช้อยู่เสมอนั่นคือ กลยุทธ์ 4P’s ได้แก่ ผลิตภัณฑ์ (Product) ราคา (Price) สถานที่ (Place) และการส่งเสริมการตลาด (Promotion) การใช้แต่ละ P อาจแตกต่างกันไป แล้วแต่ประเภทของสินค้าและบริการ แต่ในยุคการแข่งขันที่มีอุปทาน (Supply) มากกว่าอุปสงค์ (Demand) การแข่งขันมีความรุนแรงและเข้มข้นอย่างยิ่ง การแข่งขันในเรื่องผลิตภัณฑ์ บริษัทคู่แข่งจะสามารถแข่งขันกับเราโดยการผลิตสินค้าคล้ายๆ กันได้ภายในไม่เกิน 3-6 เดือน ถ้าแข่งขันกันในด้านราคา และการส่งเสริมการตลาด คู่แข่งก็จะสามารถลดราคา และใช้การส่งเสริมการตลาดให้เท่าเทียมกันได้ภายในไม่เกิน 1-7 วัน ส่วนการแข่งขันในด้านสถานที่ ก็สามารถใช้เวลาในแข่งขันได้ประมาณ 6-12 เดือน ดังนั้นไม่ว่าจะใช้กลยุทธ์การตลาดเรื่องใด คู่แข่งก็สามารถแข่งขันได้ทั้งสิ้น สิ่งที่องค์กรจำเป็นต้องสร้างความโดดเด่นแตกต่างในเรื่องสินค้า หรือบริการ เพื่อให้คู่แข่งไม่สามารถตามได้ทัน หรือหากจะตามได้ทันต้องใช้เวลามาก ได้แก่ การสร้างตราสินค้า (Brand) ในการส่งเสริมภาพลักษณ์ขององค์กรให้เชื่อมั่น ในสายตาของผู้บริโภค และสร้างนวัตกรรมเพื่อสร้างคุณค่าในสินค้าและบริการ เพื่อรักษาส่วนแบ่งการตลาด เพิ่มยอดขายเพื่อความเป็นผู้นำทางการตลาด กลยุทธ์หลักขององค์กรที่นิยมใช้เพื่อการนี้ คือ กลยุทธ์ต้นทุนต่ำ หรือกลยุทธ์สร้างความโดดเด่นแตกต่าง เบื้องหลังของกลยุทธ์นี้ คือ องค์กรต้องมีพนักงานที่มีความรู้ความสามารถ นั่นคือ ทุกองค์กรกลับมาใช้การแข่งขันเรื่อง ทรัพยากรมนุษย์ เพราะพิสูจน์ได้อย่างชัดเจนว่า ถ้าให้แข่งขันกันในเรื่องคนหรือทรัพยากรมนุษย์ขององค์กรแล้วนั้น หากต้องการให้มีคุณวุฒิเท่าเทียมกัน ในเชิงปริมาณ ถ้าเป็นด้านการศึกษาระดับปริญญาตรีต้องใช้เวลา 4 ปี ปริญญาโทใช้เวลา 6 ปี ปริญญาเอกใช้เวลา 9 ปี และหากคิดในเชิงคุณภาพอาจต้องใช้เวลามากกว่านั้น เพราะไม่ว่าจะเป็นความรู้ที่เกิดจากสั่งสมประสบการณ์ หรือทักษะที่เกิดจากการปฏิบัติจนกลายเป็นความชำนาญ และเชี่ยวชาญล้วนต้องอาศัยเวลาทั้งสิ้น

ดังนั้นหากองค์กรมีทรัพยากรมนุษย์ที่มีศักยภาพแล้ว ก็จะสามารถพัฒนา และสร้างความโดดเด่น แตกต่างจากองค์กรอื่นได้ ซึ่งคงต้องใช้เวลานานกว่าที่คู่แข่งจะตามทัน ดังนั้นการบริหารจัดการทรัพยากรมนุษย์จึงเป็นเรื่องสำคัญ และมีคุณค่าต่อองค์กรอย่างยิ่ง แม้ว่าต้องใช้เวลานานในการสร้างหรือพัฒนาแต่ก็มีความคุ้มค่าในการลงทุน เนื่องจากทรัพยากรมนุษย์นั้นสามารถสร้างประโยชน์ให้แก่องค์กร รวมถึงการสร้างมูลค่า และคุณค่าได้อย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะยั่งยืนมากกว่ากลยุทธ์ใดๆ

          ซึ่งจะว่าไปแล้วคนกับองค์กร เป็นระบบที่มีความสัมพันธ์ และสอดคล้องกันเสมอ หากคนดี คนเก่ง อยู่ในองค์กรใดก็น่าเชื่อได้ว่า องค์กรนั้นน่าจะมีความรุ่งเรืองหรือสามารถพัฒนาไปได้ไกล ดังนั้นการกล่าวว่าองค์กรใดที่มีความเป็นเลิศมักจะมีคนที่เป็นเลิศอยู่ในองค์กรนั้นด้วย หลายองค์กรจึงลงทุนเป็นจำนวนมากในการแสวงหาคนเก่งให้มาทำงานกับองค์กรของตน และจริงๆ แล้วคนเก่งนั้นควรเป็นคนดีด้วย แต่คำถามก็คือ หากคนดี คนเก่งที่เป็นเลิศซึ่งเราพยายามแสวงหา และว่าจ้างมานั้นไม่สามารถอยู่ในองค์กรด้วยเหตุใดเหตุหนึ่ง เช่น เกษียณอายุ ลาออก เสียชีวิต องค์กรยังมีความเป็นเลิศอยู่หรือไม่ จะวางแผนกำลังคนเพื่อทดแทน และทำอย่างไรจะทำให้ความรู้ความสามารถที่อยู่กับคนดีคนเก่งให้คงอยู่กับองค์กร หรือถ่ายทอดให้กับสมาชิกในองค์กรให้สืบทอดเจตนารมณ์ต่อไป

การจัดระบบให้คนในองค์กรได้ทำงานอย่างเต็มกำลังความรู้ความสามารถ เกิดความภักดีแก่องค์กรนั้นขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย ซึ่งได้แก่ โครงสร้าง ค่านิยม วัฒนธรรม ตลอดจนเส้นทางความก้าวหน้า เงินเดือน สวัสดิการ ค่าตอบแทน และแรงจูงใจ จึงมีคำกล่าวเสมอว่า หากระบบดีพอที่จะกล่อมเกลาคนในองค์กรให้ดีและเก่งได้ หรือระบบดีอาจเสียไปเพราะได้คนที่ไม่ดีและไม่เก่ง หากระบบไม่ดีอาจทำให้คนในองค์กรขาดขวัญและกำลังใจ และไม่สามารถดึงดูดคนดีคนเก่งเข้ามาทำงานได้ และหากมีคนดีคนเก่งอยู่ก็อาจพลิกฟื้นระบบไม่ดีให้ดีขึ้นได้ สุดท้ายหากระบบไม่ดีและมีคนไม่ดีอยู่ องค์กรประเภทนี้เป็นองค์กรที่โชคร้ายที่สุด

การพัฒนาคนจึงถือเป็นปัจจัย และเป็นยุทธศาสตร์เพื่อการแข่งขันที่สำคัญ ที่องค์กรพึงให้ความสำคัญ ซึ่งการพัฒนาคนเราสามารถดำเนินการได้ในหลายรูปแบบ  ไม่ว่าจะในรูปของการฝึกอบรม  การศึกษาดูงาน  การฝึกปฏิบัติจริง  และการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์การทำงาน  ซึ่งแน่นอนว่าเราจำเป็นต้องใช้งบประมาณเพื่อการนี้  แต่ต้องระลึกเสมอว่าเป็นงบประมาณเพื่อการลงทุน  มิใช่เป็นรายจ่ายประจำ  ซึ่งเป็นที่น่าเสียดายมากว่าในส่วนราชการงบประมาณที่เกี่ยวกับการฝึกอบรมสัมมนา การวิจัย  การศึกษาดูงาน  มักจะถูกเพ่งเล็งและพิจารณาปรับลดอยู่เสมอ ในคณะกรรมาธิการพิจารณางบประมาณรายจ่ายประจำปีของสภาผู้แทนราษฎรถึงกับมีอนุกรรมาธิการเพื่อการนี้โดยเฉพาะ หน่วยงานหลายแห่งจึงถูกปรับลดงบประมาณเพื่อการพัฒนาบุคลากรไปอย่างน่าเสียดาย 

สำหรับมหาวิทยาลัยขอนแก่นก็เช่นเดียวกันกับส่วนราชการอื่น ที่มักถูกควบคุม หรือปรับลดงบประมาณเพื่อการพัฒนาบุคลากร แต่โชคดีที่ท่านอธิการบดี ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.สุมนต์  สกลไชย มีนโยบายเรื่องการพัฒนาบุคลากรที่ชัดเจน ทำให้รองอธิการบดีฝ่ายทรัพยากรบุคคลสามารถดำเนินการในเรื่องนี้ได้อย่างเต็มที่ ด้วยการวางระบบการพัฒนาบุคลากรที่สร้างวัฒนธรรมมุ่งเน้นผลงานที่มีคุณภาพสูง ส่งเสริมให้บุคลากรมีสมรรถนะ และศักยภาพในการแข่งขัน มุ่งความเป็นผู้นำในวิชาชีพ และผู้นำในงานที่รับผิดชอบ สร้างวัฒนธรรมการให้บริการที่มีคุณภาพ ตลอดจนส่งเสริมให้เป็นผู้มีความยืดหยุ่น และเรียนรู้ตลอดเวลา ด้วยรูปแบบการพัฒนาบุคลากรที่หลากหลาย เช่น การศึกษาต่อ การไปเพิ่มพูนความรู้ทางวิชาการ การฝึกอบรมจากหน่วยงานภายใน และภายนอกมหาวิทยาลัย การศึกษาดูงาน การเข้าร่วมประชุมสัมมนา และอื่นๆ ที่มีการดำเนินงานอย่างต่อเนื่องและครอบคลุมบุคลากรทุกกลุ่ม ซึ่งมหาวิทยาลัยพร้อมให้การสนับสนุนและจัดสรรงบลงทุนเพื่อการพัฒนาคนโดยเฉพาะ ที่ถือว่า คน คือ ทุน มิใช่ ค่าใช้จ่าย

การบริหารจัดการองค์กรและการจัดการความรู้ (รวมบท)   ความสำคัญของคน  คนกับแผนยุทธศาสตร์

หมายเลขบันทึก: 272176เขียนเมื่อ 30 มิถุนายน 2009 10:48 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 07:37 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท