การซื้อหนังสือเรียน : เรียนฟรี 15 ปี อย่างมีคุณภาพ


การจัดการศึกษาในจังหวัดชายแดนภาคใต้

                  แนวทางในการเรียนฟรี 15 ปี อย่างมีคุณภาพ ขณะนี้เป็นที่สนใจแก่สถานศึกษา ผู้ปกครองและนักเรียน เป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะเป็นเรื่องใหม่ ที่หลายคนยังสงสัย จึงอธิบายเพิ่มเติม ดังนี้

  • กรณีหนังสือเรียน ตามนโยบายนี้ สามารถแยกได้ ดังนี้
  • ประเภทหนังสือเรียน  ประกอบด้วย
    • หนังสือเรียนระดับก่อนประถมศึกษา ใช้หนังสือเสริมประสบการณ์สำหรับเด็กปฐมวัย
    • หนังสือเรียนระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษา ใช้หนังสือทั้ง 8 กลุ่มสาระทุกระดับชั้น

              งบประมาณที่จัดสรร เป็นนักเรียนรายคน โดยใช้ข้อมูล 10 มิ.ย. 51  มีอัตราค่าหนังสือ ดังนี้

  •  
      • ระดับก่อนประถมศึกษา  200.00 บาท/คน/ปี
      • ชั้นประถมศึกษาปีที่ 1    483.20 บาท/คน/ปี
      • ชั้นประถมศึกษาปีที่ 2    347.20 บาท/คน/ปี
      • ชั้นประถมศึกษาปีที่ 3    365.60 บาท/คน/ปี
      • ชั้นประถมศึกษาปีที่ 4    580.00 บาท/คน/ปี
      • ชั้นประถมศึกษาปีที่ 5    424.00 บาท/คน/ปี
      • ชั้นประถมศึกษาปีที่ 6    496.00 บาท/คน/ปี
      • ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1     739.20 บาท/คน/ปี
      • ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2     564.80 บาท/คน/ปี
      • ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3     560.00  บาท/คน/ปี
      • ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4     1,160.80บาท/คน/ปี
      • ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5       805.60 บาท/คน/ปี
      • ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6       763.20 บาท/คน/ปี
  • แนวทางในการจัดซื้อจัดหา

                   สพฐ.จะโอนเงินงบประมาณค่าหนังสือเรียน ซึ่งเป็นเงินอุดหนุนทั่วไปเข้าบัญชีเงินฝากธนาคารของโรงเรียน และให้โรงเรียนจัดซื้อหนังสือเรียน โดยมีขั้นตอน ดังนี้

  • การคัดเลือกหนังสือเรียน

             ครูผู้สอน เป็นผู้คัดหนังสือเรียน เสนอให้คณะกรรมการวิชาการ คณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน และคณะกรรมการภาคี 4 ฝ่าย (ซึ่งประกอบด้วยผู้แทนครู ผู้แทนผู้ปกครอง ผู้แทนชุมชน และกรรมการนักเรียน) ร่วมกันพิจารณาคัดเลือกหนังสือเรียนในแต่ละกลุ่มสาระการเรียนรู้ให้ครบทั้ง 8 สาระ โดยให้พิจารณาคัดเลือกหนังสือเรียนให้ตรงตามหลักสูตรที่กระทรวงศึกษาธิการกำหนด และมีเนื้อหาสาระตรงตามความต้องการของครูผู้สอน โดยสามารถเลือกจากทุกสำนักพิมพ์ ตามบัญชีหนังสือเรียนของกระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งดูได้จาก   http://210.1.20.39/new2551/node/107  โดยเลือกหนังสือที่มีคุณภาพเหมาะสมกับราคาและผู้ขายไม่ต่ำกว่า 3 ราย

              สำหรับขั้นตอนการดำเนินการนั้น ครูและผู้บริหารจะต้องศึกษาจากแนวทางที่สพฐ.กำหนดอย่างเคร่งครัด เพื่อให้ได้หนังสือดีมีคุณภาพ และตรงตามหลักสูตร

              แนวทางการดำเนินงานเรียนฟรี 15 ปี อย่างมีคุณภาพ คลิ๊กเลย

คำสำคัญ (Tags): #การคิด
หมายเลขบันทึก: 245056เขียนเมื่อ 26 กุมภาพันธ์ 2009 20:17 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 20:22 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

สวัสดีค่ะ ท่าน ผอ.

ดังนั้น  ระยะนี้  จึงควร ปรึกษาหารือกันว่า  ในแต่ละสายชั้นนั้น ควรใช้หนังสืออะไรกันบ้างนะคะ

ขอบคุณมากค่ะ ข้อมูลที่ดี มีประโยชน์ค่ะ

น่าสนใจครับ ข้อมูลใหม่มาก

ศธ.ได้ข้อยุติเรียนฟรี 15 ปี

             หลักการเดิมโปรย'เงินสด'ให้ผู้ปกครองซื้อชุด นร.เอง กระทรวงศึกษาธิการ ได้ข้อยุติวิธีจัดเรียนฟรี 15 ปี เรียบร้อยแล้ว ยืนหลักการเดิมให้ฟรี 5 อย่าง โดยแจกเงินสดให้ไปซื้อชุดนักเรียนและอุปกรณ์การเรียนกันเอง มั่นใจเงินถึงมือชาวบ้านดีกว่าใช้ระบบคูปอง พร้อมจะรณรงค์ครอบครัวมีฐานะดีให้สละสิทธิ์เพื่อนำเงินไปช่วยเหลือโรงเรียนด้อยโอกาสกว่า 600 แห่งทั่วประเทศ

            นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รมว.ศึกษาธิการ เปิดเผยภายหลังการประชุมผู้บริหารองค์กรหลักของกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เมื่อวันที่ 16 ก.พ. ว่าที่ประชุมมีการหารือและได้ข้อสรุป เกี่ยวกับวิธีการดำเนินงานตามโครงการเรียนฟรี 15 ปีอย่างมีคุณภาพเรียบร้อยแล้ว โดยจะให้ฟรี ใน 5 เรื่อง คือ ค่าเล่าเรียน ค่าหนังสือเรียน อุปกรณ์การเรียน เครื่องแบบนักเรียนและกิจกรรมพัฒนาคุณภาพผู้เรียน โดยในส่วนของการจัดซื้อชุดนักเรียนและอุปกรณ์การเรียน ให้เป็นเรื่องของผู้ปกครองหรือนักเรียนเป็นผู้ดำเนินการด้วยตนเอง โดยศธ. จะจัดสรรเป็นเงินสดลงไปที่โรงเรียน และให้ผู้ปกครองหรือนักเรียนไปเบิกจากโรงเรียนต้นสังกัด นายจุรินทร์ กล่าวต่อไปว่า สำหรับตำราเรียน เป็นเรื่องที่โรงเรียนจะเป็นผู้พิจารณาดำเนินการจัดซื้อ เนื่องจากเมื่อซื้อแล้วถือว่าเป็นสมบัติของโรงเรียนที่จะให้นักเรียนได้ใช้ยืมเรียน ทั้งนี้การที่โรงเรียนจะตัดสินใจดำเนินการในเรื่องใด อย่างไรนั้น ต้องเป็นการตัดสินใจจากภาคี 4 ฝ่าย ซึ่งประกอบด้วยตัวแทนครู ผู้ปกครอง คณะกรรมการนักเรียน และตัวแทนชุมชน ร่วมกับคณะกรรมการสถานศึกษานั้น ๆ เนื่องจากโครงการนี้เป็นโครงการที่เน้นการมีส่วนร่วมของฝ่ายต่าง ๆ และเป็นการกระจายอำนาจไปสู่พื้นที่ ส่วนกิจกรรมพัฒนาคุณภาพผู้เรียน จะมีการระบุไว้อย่างชัดเจนว่าโรงเรียนจะต้องจัดให้มีกิจกรรม 4 ด้านให้แก่ผู้เรียน คือ ด้านวิชาการ การพัฒนาคุณธรรมจริยธรรม การทัศนศึกษานอกสถานที่ และโครงการที่เกี่ยวกับการสอนเทคโนโลยีสารสนเทศ เช่น สอนคอมพิวเตอร์นอกเหนือจากชั่วโมงเรียนปกติ ไม่ต่ำกว่า 40 ชั่วโมงต่อคนต่อปี “ในส่วนของเงินงบประมาณทั้งหมด ศธ.จะจัดสรรไปให้โรงเรียนโดยตรงหลังจากพ.ร.บ. งบประมาณรายจ่ายกลางปีงบประมาณ 2552 มีผลบังคับใช้แล้ว ซึ่งสาเหตุที่ประชุมตัดสินใจเลือกวิธีการจ่ายเป็นเงินสดให้แก่ผู้ ปกครองแทนการใช้คูปองนั้น เนื่องจากเห็นว่าวิธีการนี้ซับซ้อนน้อยที่สุด และผู้ปกครองกับนัก เรียนก็จะได้เสื้อผ้าและอุปกรณ์ที่ตรงกับความต้อง การของตนเอง โดยเราไม่บังคับว่าจะต้องซื้อชุดนักเรียน 2 ชุด ซึ่งผู้ปกครองสามารถนำเงินไปซื้อชุดนักเรียน 1 ชุด และชุดลูกเสือ 1 ชุดก็ได้ เช่นเดียวกับอุปกรณ์การเรียนจะเลือกซื้ออะไรก็ ได้ แต่จะมีรายการแนะนำว่าควรซื้ออะไร อย่าง ไรก็ตามจะต้องมีหลักฐานมาแสดงกับทางโรงเรียน เช่น ใบเสร็จ หรือเสื้อผ้าและอุปกรณ์ที่ซื้อมา เป็นต้น ส่วนกรณีที่มีผู้ตั้งข้อสังเกตว่าหากจ่ายเป็นเงินสด ผู้ปกครองหรือเด็กอาจจะไม่นำเงินไปซื้อสิ่งของตรงตามวัตถุประสงค์ของโครงการ นายจุรินทร์ กล่าวว่า ที่ประชุมก็มีการอภิปรายกันอย่างกว้างขวาง และเห็นว่าหากจ่ายเป็นคูปอง ก็อาจจะมีคูปองปลอมได้ อีกทั้งต้องมีการดำเนินการหลายขั้นตอน ซึ่งตนยอมรับว่าไม่มีระบบใดที่สมบูรณ์แบบที่สุด แต่วิธีนี้จะทำให้เงินถึงมือผู้ปกครองและนักเรียนอย่างแท้จริง ทั้งนี้ตนได้มอบหมายให้หน่วยงานต้นสังกัด อาทิ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) และสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) ไปกำหนดรายละเอียดในขั้นตอนการปฏิบัติ และการตรวจสอบการใช้เงินดังกล่าวว่าไปซื้อจริงหรือไม่ ทั้งนี้จะมีการรณรงค์ให้เด็กและผู้ปกครองที่อยู่ในฐานะช่วยเหลือตัวเองได้สละสิทธิ์หรือไม่ใช้สิทธิในเรื่องของการรับเงินซื้อชุดนักเรียนและอุปกรณ์การเรียนฟรี โดยจะมีการออกใบขอบคุณหรือประกาศเกียรติคุณให้ และ เงินงบประมาณที่เหลือจะนำไปช่วยพัฒนาโรง เรียนด้อยโอกาส และยากจนทั่วประเทศซึ่งเบื้องต้นมีรายชื่ออยู่ประมาณ 600 แห่ง ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับงบประมาณ ในการดำเนินโครงการตามนโยบายเรียนฟรี 15 ปี อย่างมีคุณภาพนั้น คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้จัดสรรงบประมาณให้ ศธ.จำนวน 18,257,975,200 บาท แบ่งเป็นค่าเล่าเรียน 2,047,682,300 บาท ค่าหนังสือเรียน 6,151,199,500 บาท ค่าอุปกรณ์การเรียน 2,069,169,300 บาท ค่าเครื่องแบบนักเรียน 4,634,559,400 บาท และค่ากิจกรรมพัฒนาคุณภาพ 3,355,444,700 บาท โดยในส่วนของโรงเรียนเอกชน จะมีการปรับเพิ่มเงินอุดหนุนรายหัวให้อีกร้อยละ 10 จากเดิมที่โรงเรียนได้รับอุดหนุนอยู่ร้อยละ 60 รวมเป็นร้อยละ 70 เพื่อช่วยลดภาระการเก็บค่าธรรมเนียมจากผู้ปกครอง รวมถึงเพิ่มการอุดหนุนรายหัวในส่วนของอนุบาล 3 ขวบของโรงเรียนเอกชน ส่วนหนังสือเรียน จะจัดสรรเงินให้ โรงเรียนในอัตราลดลงร้อยละ 20 ของราคาปกปกติตามบัญชีหนังสือเรียนที่ ศธ.กำหนด ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า สำหรับค่าใช้จ่ายที่ผู้ปกครองจะได้รับเป็นเงินสด แบ่งเป็นชุดนักเรียน 2 ชุดต่อคนต่อปี โดยจัดสรรตามราคามาตรฐานอุตสาหกรรม (มอก.) ดังนี้ ระดับก่อนประถมฯ 300 บาทต่อคนต่อปี ประถมศึกษา 360 บาทต่อคนต่อปี มัธยมต้น 450 บาทต่อคนต่อปี มัธยมปลาย 500 บาทต่อคนต่อปี อาชีวศึกษา ระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) 900 บาทต่อคนต่อปี ส่วนอุปกรณ์การเรียน ก่อนประถมศึกษา 100 บาท ต่อคนต่อภาคเรียน ประถมศึกษา 195 บาท ต่อคนต่อภาคเรียน มัธยมต้น 210 บาท ต่อคนต่อภาคเรียน มัธยมปลาย ทั้งสายสามัญและสายอาชีพ 230 บาท ต่อคนต่อภาคเรียน สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) จะอุดหนุนหนังสือร้อยละ 60 ของผู้เรียน ส่วนชุดนักเรียนไม่มี. ที่มา เดลินิวส์ 26 ก.พ.52

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท