เท่านี้ก็พอ


ยิ่งสะสม ยิ่งมีกิเลสมาก ทุกข์ที่ตามมาก็จะมากตามลำดับ

พอกลับมาจากการปฏิบัติที่วัดทำให้รู้ตัวมากขึ้นว่า สะสมอะไรหลายๆ อย่างมากเกินไป ทั้งเสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่ม อาหาร สิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ทั้งๆ ที่ไม่ค่อยได้ใช้สักเท่าไหร่ จนบางครั้งก็ต้องทิ้ง

การไปอยู่วัดทำให้เห็นคุณค่าของที่อยู่อาศัย อาหาร เสื้อผ้า และยารักษาโรคที่เป็นปัจจัย ๔ ของมนุษย์ แต่ไม่ใช่การเห็นคุณค่าแบบอยากสะสมของเหล่านี้ เป็นการเห็นคุณค่าว่ามีเพียงเท่าที่ต้องการใช้ก็พอแล้ว ไม่มีการสะสม ไม่ต้องสะดวกสะบายยิ่งขึ้นไป แค่เพียงพอต่อการดำรงชีวิตเท่านั้น

การไม่สะสมเป็นการขจัดกิเลสที่ซ่อนอยู่ในตัวเป็นอย่างดี บางครั้งเวลาไปซื้อของ เรามักจะคิดว่า ซื้อเผื่อสักหน่อยน่า หรือตอนนี้ลดราคา ซื้อไปก่อนดีกว่า ฯลฯ ทำไปทำมาทั้งชีวิต ก็จะเกิด surplus ที่เป็นขยะในบ้านเป็นจำนวนมาก เปลืองทั้งที่เก็บ ทั้งสกปรก รกรุงรังอีกด้วย

การไม่สะสมยังเป็นการสร้างความอดทน ให้รู้จักกับความไม่สบายกายที่เกิดขึ้นตามความเป็นจริง ตามสภาพสิ่งแวดล้อมตามธรรมชาติ ไม่ใช่สภาพความเป็นอยู่ที่ปรุงแต่งปรับขึ้นมาแล้ว นับเป็นการสร้างภูมิคุ้มกันให้กับชีวิตเป็นอย่างดี

ในอีกนัยหนึ่งสิ่งที่เราสะสมรกรุงรัง ก็เหมือนกับกิเลสที่ยังค้างรกรุงรังใจเราอยู่ด้วยนั่นเอง

ยิ่งสะสม ยิ่งมีกิเลสมาก ทุกข์ที่ตามมาก็จะมากตามลำดับ

เกิดทุกข์ตามมา ทั้งอาจจะเสียดายที่ของเสื่อม อาจจะเสียดายที่ของหาย หรือเป็นความทุกข์ที่ต้องคอยดูแลรักษาของเหล่านั้น จิตแทนที่จะสงบได้ กลับกลายเป็นมีแต่ความกังวลในเรื่องของการสะสมไป

การรู้จักประมาณ รู้จักความพอเพียง รู้ว่าอะไรคือสิ่งจำเป็นในการดำรงชีวิต เป็นการช่วยเหลือตัวเอง ลดกิเลส สร้างภูิมิคุ้มกัน แล้วยังเป็นการช่วยสังคม ไม่สร้างขยะโดยไม่จำเป็น ไม่รบกวนสิ่งแวดล้อม รักษ์สิ่งแวดล้อมไปในตัวด้วย

ขอเชิญชวนให้ร่วมกันอยู่อย่างพอเพียงค่ะ

หมายเลขบันทึก: 198938เขียนเมื่อ 5 สิงหาคม 2008 19:24 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 19:23 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (32)
  • จริงของพี่ตุ๋ย
  • เสื้อผ้าเต็มตู้ แต่เราใส่เพียงไม่กี่ชุด
  • ถ้าเรารู้จักการพอเพียง
  • โลกเราคงน่าอยู่นะครับ
  • พี่ตุ๋ยสบายดีไหม

ดีใจเห็นหน้ากามนิตขจิตเช่นเคยค่ะ ^ ^

เดิมพี่ก็เป็นคนไม่ค่อยสะสมเท่าไหร่นะ แต่พออายุมันมากขึ้น ของเดิมที่มีก็ยังใช้ได้ ไม่ค่อยได้ทิ้ง ก็เลยเห็นเลยว่าตอนนี้เรามีเกินพอดีพอใช้ แล้วพอเห็นสภาพสิ่งแวดล้อม สภาพสังคม เปรียบเทียบกับสภาพการอยู่อย่างสัปปายะที่วัด ก็เลยเกิดความชัดเจนขึ้น ว่าควรอยู่อย่างไรจึงจะพอดีค่ะ เลยมาเขียนเชิญชวนน่ะค่ะ

พี่สบายดี ทั้งกายทั้งใจเลย น้องสบายดีนะคะ ^ ^

  • สบายดีครับพี่
  • กำลังตรวจข้อสอบนิสิต
  • แบบหัวฟู(ผมไม่ค่อยมี)
  • อิอิ

ดีใจที่ได้ยินว่าสบายดี ^ ^

ผมไม่ค่อยมี ก็เ็ป็นเรื่องดีนะคะ ไม่ต้องคอยรักษาค่ะ จริงๆ นะ อิอิ

  • แวะเข้ามาอนุโมทนาบุญด้วยคนค่ะ
  • หนับหนุนความคิดเรื่อง การอยู่อย่างพอเพียงค่ะ
  • รักษาสุขภาพกายด้วยนะค่ะ อาจารย์ขา

การไม่สะสมยังเป็นการสร้างความอดทน ให้รู้จักกับความไม่สบายกายที่เกิดขึ้นตามความเป็นจริง ตามสภาพสิ่งแวดล้อมตามธรรมชาติ

           ขอบคุณค่ะ

                      สุขภาพแข็งแรง นะคะ  :)

สวัสดีค่ะพี่หมอเจ๊

เอาบุญมาฝากค่ะ ^ ^

สุขภายกายดีมากเลยค่ะตอนนี้ ทานอาหารลดลง แต่สบายตัว และไม่มีอาการปวดท้องโรคกระเพาะให้เห็นเลย

เรื่องการกินการอยู่อย่างพอเพียงเป็นสิ่งสำคัญสำหรับตัวเองค่ะ ได้บทเรียนการสร้างสติเพิ่มขึ้นมาอีกอย่างค่ะ เพราะจะใช้อะไร จะซื้ออะไร จะพิจารณาก่อนค่ะ อย่างน้อยถ้าไม่หลุด หรือลืม ก็จะเป็นประโยชน์ต่อเราเองและสังคมค่ะ ^ ^

สวัสดีค่ะคุณครูสายธาร

โรงเรียนที่คุณครูสอนอยู่ ก็คงมีสัปปายะดีเหมือนกันนะคะ

อนุโมทนาค่ะ

ขอบคุณที่แวะมา ลปรร และฝากรูปสวยๆ ไว้ให้ดูนะคะ ^ ^

มารับบุญค่ะ พอดีจากการพอเพียง ดีนะคะ

กราบสวัสดีครับ อ.กมลวัลย์

  • เข้ามาร่วมอนุมาสาธุครับ
  • โลกเราที่วุ่นวายนักก็ด้วยว่าเรามัวแต่ศึกษาสิ่งนอกกายมากเกินไป  มากด้วยความโลภ  จนไปเบียดเบียนสิ่งภายนอกซึ่งมีจำกัด  จนจะไม่พอในไม่ช้านี้
  • เราหารู้ไม่ว่าจะสุขหรือทุกข์ก็ขึ้นกับใจเราเท่านั้น  ถึงแม้ไม่อาจรู้ได้ว่าใจอยู่ส่วนไหนของร่างกาย  แต่ด้วยสามัญสำนึกเราก็รู้ได้ว่าไม่ได้อยู่นอกกายแน่นอน
  • เมื่อรู้ว่าสุขทุกข์อยู่ที่ใดเราก็ควรไปศึกษาที่ตรงนั้น  ซึ่งก็อยู่ที่กายใจเรานี่เอง  อยู่ที่ยาววาหนาคืบนี่เอง  โลกทั้งโลกก็อยู่ที่นี่แหละ
  • คนเราเดี๋ยวนี้ยิ่งเรียนก็ยิ่งโง่  เพราะเรียนสิ่งนอกกายโดยไม่เหลียวแลสิ่งที่อยู่ในกาย  บางคนเรียนจิตวิทยาระดับปริญญาเอก  ยังเป็นโรคทางจิตได้เลย
  • ยิ่งเรียนก็ยิ่งโลภ ยิ่งโกรธ และยิ่งหลง นับวันยิ่งทวีขึ้นเรื่อยๆ จนกลียุคใกล้เข้ามาทุกที
  • ชีวิตนี้จะต้องการอะไรมากมายล่ะครับ  มีจิตที่สดใส มีกายที่สมบูรณ์ และมีปัจจัยภายนอกเพียงพออยู่พอกิน อย่างภาพที่อาจารย์ยกมาด้านบน  ก็เกินพอแล้วครับ
  • ขออนุโมทนาสาธุอีกครั้งครับ

ธรรมสวัสดีครับ

ธรรมนี้ให้คุณค่าจริงๆครับ..ชีวิตคนเราก็แค่นี้..ทำดีไว้ดีที่สุดจริงๆครับอาจารย์

สวัสดีครับ

อนุโมทนาครับ

เป็นการธุดงค์ในเมืองหลวงครับ

พอดี พอเพียง ทางสายกลาง

สบายดีและมีสุขนะครับ

สวัสดีค่ะอาจารย์ตุ๋ย

หนิงก็คล้ายๆกันค่ะ  เสื้อผ้าเต็มตู้แต่ใส่ได้ไม่กี่ชุด  อิอิ  ผ้ามันหดค่ะ

หนิงจะสังคยนาตู้เสื้อผ้าปีละครั้งค่ะ  ขนไปให้คนที่อยากใส่และใส่ได้ดีกว่าเนอะ  ตั้งแต่ช่วงปีมหามงคลมานี้  ไม่ได้ใส่เสื้อผ้าอื่นๆเลยนอกจากสีมงคล เหลือง /ชมพู  อิอิ ประหยัดจริงๆ  พอเพียงและเพียงพอค่ะ

สวัสดีค่ะคุณใบบุญ

เอาบุญมาฝากค่ะ อนุโมทนาในจิตอันเป็นกุศลนะคะ

ขอบคุณที่แวะมาเยี่ยมเยียนค่ะ ^ ^

สวัสดีค่ะคุณธรรมาวุธ

ไม่ได้เจอกันในบันทึกนานมากเลย ^ ^

เห็นด้วยกับที่คุณธรรมาวุธว่าไว้ทุกอย่างค่ะ แล้วพอยิ่งปฎิบัติก็ยิ่งเห็นจริงในพระธรรมคำสั่งสอนมากขึ้นเรื่อยๆ ทุกอย่างอยู่ที่จิตของเราจริงๆ หากเรารู้จักดูจิต เข้าใจธรรมชาติของจิต เราก็จะรู้ว่ามันเป็นเพียงผู้รับรู้เท่านั้น ไม่ได้เป็นผู้เป็น.. คนที่เป็นผู้เป็นนั้นคือขันธ์ ๕ ที่จิตมาอาศัยอยู่เพื่อปฎิบัติเท่านั้นเอง เราก็เพียงแต่บำรุงธาตุขันธ์บางส่วนให้พอดี ให้เพียงพอต่อการดำรงชีวิตและการปฏิบัติก็พอ แล้วก็รักษาจิตไปเรื่อยๆ เท่าที่จะทำได้ ทุกวันนี้ก็ใช้ชีิวิตปฎิบัติในลักษณะนี้ พยายามเอาแต่พอดี พยายามเดินทางสายกลางไปเรื่อยๆ ค่ะ ^ ^

ขอบคุณที่แวะมา ลปรร นะคะ

สวัสดีค่ะอ.พิสูจน์

เห็นด้วยมากๆ ค่ะ พระธรรมเป็นสิ่งล้ำค่า สามารถปฏิบัติให้เกิดผลได้จริง เป็นสัจธรรมใกล้ตัว หันไปทางไหนก็พบแต่พระธรรมค่ะ ^ ^

ขอบคุณอาจารย์ที่แวะมา ลปรร นะคะ

สวัสดีค่ะคุณพลเดช

อนุโมทนาในการปฎิบัติของคุณพลเดชเช่นกันนะคะ อยู่ในเมืองก็สามารถปฏิบัติอย่างพอดีแบบในเมืองได้ ถึงแม้สัปปายะจะน้อยลงกว่าที่วัด แต่ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับจิตใจของเรา หากเจริญสติได้สม่ำเสมอ อยู่ที่ใดที่ไม่ใช่ที่อโคจรนักก็น่าจะปฎิบัติได้ค่ะ ^ ^

ขอบคุณสำหรับการ ลปรร นะคะ

สวัสดีค่ะคุณหนิง

จริงๆ นะคะ เสื้อผ้าเต็มตู้จริงๆ ก็อย่างว่าแหละค่ะ พอไม่ค่อยได้โละ (ยังพอใส่ได้) ก็เลยเยอะ ไว้ว่าจะต้องโละสักรอบหนึ่งในหลายปีค่ะ แต่ชอบเสื้อเหลือง เสื้อชมพูมากเลยนะคะ ใส่สบาย ซักรีดง่ายและประหยัด เวลาใส่ก็ระมัดระวังปฏิบัติตนให้ดีด้วย ได้หลายต่อค่ะ ^ ^

พอดี พอเพียง สายกลาง อย่างที่คุณพลเดชบอกไว้เลยนะคะ

ขอบคุณที่แวะมา ลปรร ค่ะ

  • สวัสดีครับ
  • ผมมองกลับมาย้อนดูตัวผมเอง
  • ผมก็ดันไปสะสมของที่ไม่จำเป็นไว้เยอะเลยครับ
  • สาธุ ครับ

สวัสดีค่ะน้องสายลม

บางทีเราสะสมแบบไม่รู้ตัวค่ะ พี่เองก็เป็น แต่ก่อนไม่ค่อยได้คิดอะไรมากนัก เห็นว่าซื้อไปได้ก่อนก็มักจะซื้อ แต่พอมาดูจริงๆ แล้วจะพบว่าของที่ซื้อมากว่าจะได้ใช้หรือโอกาสจะได้ใช้น้อยกว่าที่คาดไว้เยอะเลย พอได้ไปอยู่วัด ก็เลยเห็นชัดว่าเป็ํนนักสะสม และเห็นประโยชน์ของการไม่สะสม ^ ^

อัอ..อีกอย่างหนึ่งคือตอนนี้เศรษฐกิจไม่ค่อยดี ของแพงมากๆ ก็เลยได้มาตรการประหยัดมาด้วยค่ะ ^ ^

สวัสดีครับ

อ่านบันทึกนี้แล้ว ทำให้ผมนึกถึงคุณธรรมของคนดีแท้ครับ...สัปปุริสธรรม 7

มาเป็นกำลังใจคนปฏิบัติดี...ครับ

การทวนกระแสทำได้ยาก

การตามกระแสชีวิตลำบากกว่า

น้องกบทำให้พีได้ไปค้นเรื่องสัปปุริสธรรม 7 มาเลยทีเดียว ได้ความรู้เพิ่มขึ้นอีกอย่าง ^ ^  พออ่านแล้วก็เห็นด้วยเป็นอย่างมากค่ะว่าการปฏิบัติให้ได้ตามสัปปุริสธรรมนั้น ย่อมเป็นคนดีแน่นอน

ขอบคุณที่แวะมา ลปรร นะคะ ^ ^

สวัสดีค่ะคุณร่มไม้ใหญ่ใกล้ทาง

ขอบคุณสำหรับกำลังใจค่ะ เชิญชวนให้ปฎิบัติกันมากๆ ค่ะ

ตอนนี้เห็นด้วยเลยนะคะว่าการทวนกระแสแม้ทำได้ยาก แต่การตามกระแส ถ้าจะให้ทำตอนนี้ก็ลำบากกว่าจริงๆ ค่ะ ^ ^

ขอบคุณที่แวะมา ลปรร ค่ะ

หนูชอบบ้านโล่งๆ ค่ะพี่ ของน้อยที่สุดเท่าที่ทำได้ เอาแค่จำเป็น ปีนึงก็โละของเพียบ บริจาคมั่ง ให้คนอื่นมั่ง เพราะชอบซื้อทดลองใช้ พอไม่ถูกใจก็ไม่ได้ทิ้ง แต่ยกให้คนที่อยากได้ไปใช้ประโยชน์ต่อ ซึ่งมักจะเป็นพี่ชาย รับไปจนไม่ต้องซื้ออะไรที่บ้านเองเท่าไหร่ ทั้งทีวี DVD โซฟา ตู้ ตู้เย็น เครื่องซักผ้า ฯลฯ

ส่วนการโละเสื้อผ้าและของกระจุกกระจิกมักจะไม่ค่อยสัมฤทธิ์ผลถ้าแม่อยู่ แม่ชอบแอบตามมาเก็บ ทำให้บางอย่างที่คัดออกแล้วก็วนกลับมาอีก กว่าจะรู้ตัวก็กลับมาอยู่ที่เดิมแล้ว 555 เดี๋ยวนี้รู้แกว ทำตอนแม่ไม่อยู่ เรียบวุธ ไม่ชอบสะสมข้าวของมากเกินพอดีเหมือนกัน แต่สะสมความดีค่ะ อิ อิ คมๆ อ่านแล้วระวังบาดตา ^ ^

พี่เคยเห็นรูปถ่าย office ของน้องก็รู้แล้วว่าน้องเป็นคนไม่ชอบสะสม เป็นคนสะอาดเรียบร้อย อันนี้เป็นคุณสมบัติที่พี่ไม่ค่อยมี นับถือๆ ^ ^ แต่สิ่งที่เราไม่เหมือนกันอย่างหนึ่งคือพี่ไม่ค่อยชอบลองของใหม่ ซื้อมันแล้วก็ใช้มันไปอย่างนั้นแหละ ไม่ค่อยอยากรู้ว่าของใหม่ทำอะไรได้บ้าง ยกเว้นว่าพัง แล้วก็ถึงจะซื้อใหม่ หรืออันที่บ้านพ่อแม่เก่าแก่จัดๆ แล้วเขาไม่ยอมซื้อใหม่ ถึงจะไปซื้อใหม่ให้เขา หรือเอาตัวเก่าของเราไปให้ แล้วเราซื้อใหม่ ฮ่าๆๆๆ

เรื่องโละของเนี่ยพี่ก็ไม่ค่อยถนัดแฮะ แต่ตอนโละก็โละได้หมดจดเหมือนกัน เพียงแต่ไม่ค่อยได้โละเท่านั้นเอง

อ่านคอมเม้นท์มาถึงตอนท้าย ดีว่าไหวตัวทัน มิเช่นนั้นบาดตา ฮ่าๆๆๆ

พี่เป็นคนไม่ชอบสะสมเช่นกัน และไม่งกอยากได้อะไรของใครๆด้วย มีเท่าที่ควรมี ควรเก็บ ส่วนใหญ่ชอบเก็บอะไรเป็นเรื่องเป็นราวมากกว่าของจุกจิกค่ะ เป็นนิสัยส่วนตัวนานมาแล้วค่ะ

สวัสดีค่ะคุณพี่ศศินันท์

ดูจากที่คุณพี่เขียนบันทึก ตัวเองก็พอประมาณการได้ว่าคุณพี่เป็นคนที่ไม่ใช่นักสะสมของที่ไม่จำเป็นเป็นแน่ ดูจากวิธีการคัดสรรและการนำเสนอเนื้อหาในบันทึกและอนุทินน่ะค่ะ ^ ^ ตัวเองยังทำได้ไม่เท่าไหร่ แต่ก็ยังดีที่ได้เริ่มคิดและเริ่มเลิกสะสมค่ะ ^ ^

ครับ

บังเอิญคิดตรงกันครับ

ผมคิดว่า เราดิ้นรนหามามากๆๆๆ จนเหนื่อยเกินความจำเป็น กลัวแต่ตัวเองจะไม่พอ เลยไม่มีช่องว่างที่จะคิดว่า เท่าไหร่จึง "พอ"

โดยหวังว่าเมื่อ"พอ" แล้วก็จะหยุดและใช้สิ่งที่หามา

 แต่.. เพราะเราไม่เคยหยุดคิด เราเลยไม่พอ และอาจไม่มีโอกาสมีความสุข(กิเลศอย่างอ่อนๆ) กับสิ่งเหล่านั้น

พระท่านว่า "กังวลและดิ้นรนเพื่อหาความสุขที่ยังมาไม่ถึง จนลืมที่จะมีความสุขในวันนี้" ครับ

สาธุ

สวัสดีค่ะอ.แสวง

ความคิดของคนเรามักจะเป็นอย่างนี้จริงๆ นะคะ มัวแต่คิดหา แต่ไม่ได้คิดว่าหาแล้วจะเอามาใช้อย่างไร คิดไม่ครบจริงๆ ค่ะ

ขอบคุณอาจารย์ที่ตาม link มา ลปรร นะคะ ^ ^

สวัสดีค่ะ

แวะมาเยี่ยมค่ะ น้องตุ๋ยสบายดีนะคะ

(ช่วงหลังนี้ไม่ค่อยได้มีโอกาสเข้า Net เลยค่ะ)

พี่ตุ้มเห็นด้วยอย่างยิ่งค่ะ... ชีวิตคนเราไม่ได้ต้องการอะไรมากมายนัก

ไม่ต้องสะสมสิ่งใด ๆ ใช้เฉพาะที่พอเพียง..

ความพอเพียง อยู่ที่ "ใจ" ที่รู้จักพอ

ใจที่รู้จักพอ อยู่ที่ความ "เต็ม" ที่มีอยู่ในใจ

ความเต็มของใจ รู้ได้ด้วยการเจริญภาวนา....

สาธุค่ะ

สวัสดีค่ะอ.พี่ตุ้ม ^ ^

ดีใจที่พี่แวะมาเยี่ยมค่ะ ตัวเองก็ห่างหายไปจากการเขียนที่โกทูโนพอสมควรค่ะ ช่วงที่ผ่านมาก็มีประสบการณ์ ได้เจริญมรณานุสสติเป็นพิเศษ

อย่างที่พี่ตุ้มบอกนะคะ ทุกอย่างอยู่ที่ใจของเรา ถ้ามีสติ รู้จักพอ ก็จะรู้จักปล่อยวาง พอปล่อยวางได้ ชีวิตก็จะเบาไปอีกเยอะ ไม่ทุกข์หนักอย่างในอดีตแล้วค่ะ เหนือยกายอย่างเดียว แต่ใจไม่เหนื่อยค่ะ

อนุโมทนา สาธุกับการปฏิบัติของพี่เช่นกันนะคะ ^ ^

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท