คนว่ายาก


คนเรามักชอบไปยึดเอา ผูกเอาความโกรธ ไม่ลดราวาศอก เห็นว่าตนเองถูก ไม่ดูที่เหตุว่าเกิดจากอะไร หรือเกิดจากตนหรือไม่ เมื่อคนอื่นๆ บอกกล่าวตักเตือน กลับเอามาผูกไว้เป็นเรื่องให้เจ็บใจ ให้เป็นทุกข์ เหมือนพระติสสะที่ถือตัว ไม่ปฏิบัติต่อผู้อื่นตามควร เมื่อผู้อื่นบอกกล่าว กลับเป็นทุกข์ เดือดร้อน กล่าวหาว่าคนอื่นมากล่าวหาตนเสียอีก และก็เหมือนกับเทวลดาบสที่นอนไม่เป็นที่เป็นทาง ไปนอนขวางประตู นอนตรงนั้น อย่างไรก็คงต้องโดนผู้ที่เข้า-ออก เหยียบจนได้ แต่กลับโกรธผู้ที่เหยียบจนสาปแช่งเขาเสียแทน และไม่ยอมรับความผิดที่ไปสาปแช่งเขาโดยไร้เหตุผลเสียด้วย..

"ไม่.. ทำไมผมจะต้องออก ผมทำผิดอะไร ผมมาอย่างถูกต้อง"

ช่วงที่ผ่านมาได้ยินประโยคข้างต้นค่อนข้างบ่อย ไปพร้อมๆ กับการขับไล่นายกฯ และการยื้ออยู่ในตำแหน่งของนายกฯ

เมื่อวาน ศาลรัฐธรรมนูญ ก็ได้ตัดสินคดีความ ทำให้อดีตนายกฯ ต้องหลุดจากตำแหน่งเพราะขาดคุณสมบัติไปโดยปริยาย..

แต่ก็ยังเป็นการหลุดจากตำแหน่งเพราะถูกบังคับโดยกฎหมาย เพราะผู้ที่หลุดจากตำแหน่งคงยังไม่ได้อยากออกจากตำแหน่งเท่าใดนัก คาดเดาว่าจิตใจคงยังยึดกับคำถามข้างต้นอยู่ ว่าฉันทำผิดอะไร ทำไมจะต้องทำตามที่คนอื่นว่าอย่างนั้นอย่างนี้ด้วย

เรื่องทางการเมืองข้างต้น ทำให้นึกถึงเรื่องของพระติสสเถระ ซึ่งได้ไปอ่านพบใน อรรถกถา ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท ยมกวรรคที่ ๑ พอดี... ลองอ่านเรื่องพระติสสเถระดูนะคะ


พระติสสะเป็นภิกษุที่พระบรมศาสดาได้กล่าวถึงไว้ว่าเป็น"คนว่ายาก"

พระติสสเถระนั้นเป็นโอรสพระปิตุจฉาของพระผู้มีพระภาคเจ้า บวชเมื่ออายุมากแล้ว มีพรรษาน้อย แต่ไม่ประมาณตน  เมื่อมีภิกษุต่างถิ่นมาเข้าเฝ้าพระบรมศาสดาก็ไม่ต้อนรับเอื้อเฟื้อต่อพระเถระผู้ใหญ่ เมื่อถูกถามก็กลับเป็นทุกข์ ร้องไห้เสียใจ ไปฟ้องสมเด็จพระศาสดาเสียอีก

เมื่อสมเด็จพระบรมศาสดาไถ่ถามความเป็นจริง ก็เห็นว่าพระติสสะนั้นกระทำการอันไม่สมควรแก่พระอาคันตุกะอาวุโส จึุงบอกให้พระติสสะขอขมาลาโทษกับพระเถระอาคันตุกะ  แต่พระติสสะก็ไม่ยอม พระเถระอาคันตุกะทั้งหลายถึงกับกล่าวว่า "ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระติสสะนี้เป็นคนว่ายาก"

พระพุทธองค์จึงตรัสว่า "ภิกษุทั้งหลาย ติสสะนี้มิใช่เป็นผู้ว่ายากแต่ในบัดนี้เท่านั้น, ถึงในกาลก่อน ติสสะนี้ก็เป็นคนว่ายากเหมือนกัน

สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ได้ทรงเล่าบุรพกรรมของพระติสสะไว้ว่า เคยเป็นดาบสชื่อ"เทวละ" อาศัยอยู่ในหิมวันตประเทศ แต่เดินทางเข้ามาในนครพาราณสี มาขออาศัยอยู่กับที่โรงนายช่างหม้อ ซึ่งเป็นที่ๆ ดาบสมักจะมาพักแรมเมื่อเข้ามาในพระนคร นายโรงช่างหม้อก็นิมนต์ให้เทวลดาบสอยู่อาศัยในโรงช่างหม้อได้  จากนั้นก็มีดาบสอีกองค์หนึ่งชื่อ"นารทะ" (สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าในอดีตชาติ) เดินทางเข้าเมืองมาพอดี ก็เลยมาขออาศัยอยู่กับนายช่างหม้อ ๑ คืน  นายช่างหม้อก็คิดว่าหากเทวลดาบสผู้มาถึงก่อนพอใจในการที่จะให้ดาบสที่มาใหม่เข้าอยู่ในโรงฯ ด้วย ทางนายช่างหม้อก็ไม่ขัดข้อง

เมื่อนารทดาบสได้ขออนุญาตจากเทวลดาบสแล้ว ก็ได้เข้าไปอยู่ในโรงปั้นหม้อด้วย   เมื่อถึงเวลาก่อนนอน นารทดาบสได้มองสำรวจดูแล้วว่า เทวลดาบสได้นอนอยู่ที่ตรงใดในโรงฯ นั้น และประตูทางออกของโรงฯ อยู่ที่ใด เพื่อที่ในเวลากลางคืนหากจะออกไปข้างนอก จะได้ออกไปได้    แต่ปรากฎว่าเทวลดาบสนั้นนอนไม่เป็นที่ ย้ายที่นอนไปนอนขวางทางออกตรงประตูพอดี

เมื่อนารทดาบสจะเดินออกไปในราตรี จึงได้ไปเหยียบชฏาของเทวลดาบสเข้าโดยไม่ได้เจตนา  เทวลดาบสก็ต่อว่าดาบสที่เดินเหยียบชฎาของตน ทางนารทดาบสก็ขอโทษเพราะไม่ได้ตั้งใจจะเดินเหยียบ แต่เนื่องจากไม่รู้ว่าเทวลาดาบสนอนไม่เป็นที่ มานอนอยู่ตรงประตูทางออก ก็เลยพลาดไปเดินเหยียบชฏาเข้า

พอนารทดาบสออกไป เทวลดาบสก็เกรงว่าตอนกลับเข้ามา จะโดนเหยียบถูกชฏาอีก ก็เลยเปลี่ยนท่านอน กลับหัวกลับเท้า  แต่พอนารทดาบสจะเดินเข้ามา ก็คิดว่าเมื่อครู่ได้ทำผิดโดยการเหยียบไปที่ชฏา เกรงว่าจะเหยียบถูกอีก ก็เลยเปลี่ยนทิศทางเข้า จะไปเข้าทางเท้าของเทวลดาบสแทน แต่ปรากฎว่ากลับเหยียบถูกคอของเทวลดาบสเข้า

คราวนี้ เทวลดาบสโกรธมาก โดยไม่คิดว่าต้นเหตุเป็นเพราะการนอนไม่เป็นที่เป็นทางของตนเองเป็นเหตุ ไม่ว่านารทดาบสจะพยายามอธิบายและขอโทษ อ้อนวอนอย่างไร  ก็ไม่ฟัง และสาปแช่งให้เมื่อพระอาทิตย์ขึ้น ขอให้ศรีษะของนารทดาบสแตกออกเป็น ๗ เสี่ยง

นารทดาบส ก็เลยต้องสาปเทวลดาบสคืนว่า "ท่านอาจารย์ โทษของผมไม่มี เมื่อกำลังพูดอยู่ทีเดียว ท่านได้สาปแล้ว, โทษของผู้ใดมีอยู่ ขอศีรษะของผู้นั้นจงแตก, ของผู้ไม่มีโทษ จงอย่าแตก"

เมื่อต่างฝ่ายต่างสาปกันแล้ว นารทดาบสนั้นมีอานุภาพใหญ่กว่า เล็งเห็นว่าคำสาปของตนจักตกแต่เทวลดาบสเป็นแน่ แต่ด้วยความกรุณา จึงห้ามพระอาทิตย์ไม่ให้ขึ้น

คราวนี้เดือนร้อนถึงประชาชนชาวพาราณสี เพราะพระอาทิตย์ไม่ขึ้น จึงไปร้องเรียนต่อพระราชา พระราชาพิจารณาดูแล้ว เห็นว่าน่าจะเกิดจากบรรพชิตวิวาทกัน จึงให้ไปสอบถามดูว่ามีดาบสมาอยู่อาศัยในเมืองหรือไม่ หลังจากนั้นก็ตามไปที่โรงนายช่างหม้อเพื่อไกล่เกลี่ย

เมื่อได้ทราบความแล้ว ไม่ว่าจะทำอย่างไร ก็ไม่สามารถทำให้เทวลดาบสขอขมาลาโทษเพื่อล้างคำสาปได้ นารทดาบสต้องแนะนำให้เอาก้อนดินเหนียวมาทูนไว้ที่หัวของเทวลดาบส ยืนแช่น้ำไว้แค่คอตอนตะวันจะขึ้น เพื่อให้ดินเหนียวแตกเป็น ๗ เสี่ยงแทน

พระศาสดา ครั้นทรงนำพระธรรมเทศนานี้มาแล้ว ตรัสว่า 

"... ถึงในครั้งนั้น ติสสะนี่ก็เป็นผู้ว่ายากอย่างนี้เหมือนกัน"

ดังนี้แล้วรับสั่งเรียกติสสเถระมาแล้ว ตรัสว่า 

ติสสะ ก็เมื่อภิกษุคิดอยู่ว่า ‘เราถูกผู้โน้นด่าแล้ว ถูกผู้โน้นประหารแล้ว ถูกผู้โน้นชนะแล้ว ผู้โน้นได้ลักสิ่งของของเราไปแล้ว' ดังนี้ ชื่อว่าเวรย่อมไม่ระงับได้;

แต่เมื่อภิกษุไม่เข้าไปผูกอยู่อย่างนั้นนั่นแล เวรย่อมระงับได้,'

ดังนี้แล้วได้ทรงภาษิตพระคาถาเหล่านี้ว่า :-

"ก็ชนเหล่าใด เข้าไปผูกความโกรธนั้นไว้ว่า

 ‘ผู้โน้นได้ด่าเรา ผู้โน้นได้ตีเรา ผู้โน้นได้ชนะเรา

  ผู้โน้นได้ลักสิ่งของของเราแล้ว' เวรของชนเหล่านั้น ย่อมไม่ระงับได้,


 ส่วนชนเหล่าใด ไม่เข้าไปผูกความโกรธนั้นไว้ว่า

‘ผู้โน้นได้ด่าเรา ผู้โน้นได้ติเรา ผู้โน้นได้ชนะเรา

ผู้โน้นได้ลักสิ่งของของเราแล้ว' เวรของชนเหล่านั้น ย่อมระงับได้."

ที่มา - อรรถกถา ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท ยมกวรรคที่ ๑ หน้าต่างที่ ๓/๑๘


เป็นไงคะ อ่านเรื่องของพระติสสะแล้วได้ข้อคิดเปรียบเทียบอะไรบ้างไหม

คนเรามักชอบไปยึดเอา ผูกเอาความโกรธ ไม่ลดราวาศอก เห็นว่าตนเองถูก ไม่ดูที่เหตุว่าเกิดจากอะไร หรือเกิดจากตนหรือไม่   เมื่อคนอื่นๆ บอกกล่าวตักเตือน กลับเอามาผูกไว้เป็นเรื่องให้เจ็บใจ ให้เป็นทุกข์ เหมือนพระติสสะที่ถือตัว ไม่ปฏิบัติต่อผู้อื่นตามควร เมื่อผู้อื่นบอกกล่าว กลับเป็นทุกข์ เดือดร้อน กล่าวหาว่าคนอื่นมากล่าวหาตนเสียอีก     และก็เหมือนกับเทวลดาบสที่นอนไม่เป็นที่เป็นทาง ไปนอนขวางประตู นอนตรงนั้น อย่างไรก็คงต้องโดนผู้ที่เข้า-ออก เหยียบจนได้ แต่กลับโกรธผู้ที่เหยียบจนสาปแช่งเขาเสียแทน และไม่ยอมรับความผิดที่ไปสาปแช่งเขาโดยไร้เหตุผลเสียด้วย..

เรื่องในอดีตตั้งแต่สมัยพุทธกาล ยังเป็นจริงและมีเกิดให้เราเห็นอย่างสม่ำเสมอจริงๆ เลยนะคะ

หมายเลขบันทึก: 207495เขียนเมื่อ 10 กันยายน 2008 14:07 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 02:01 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (28)
  • โอโหพี่ตุ๋ย
  • เรื่องในอดีต
  • มาเป็นเรื่องสอนในปัจจุบันได้
  • แต่ผมว่า เขาต้องไม่ใช่นายโรงช่างหม้อ
  • แน่ๆ
  • น่าจะอยู่โรงน้ำแข็ง
  • ปั้นน้ำเป็นตัว อิอิๆๆๆๆ

สวัสดีค่ะน้องตุ๋ย

ใจตรงกันเลยค่ะ ชอบๆ..ทันสมัยและคมสุดๆ...ธรรมของน้องตุ๋ยเข้าบรรยากาศมาก..เป็นจริงๆอย่างที่น้องตุ๋ยเล่าให้ฟังเลย สงสัยพระติสสะกลับชาติมาเกิดเป็น นาย....กฯ(cooking show)ในชาตินี้มั๊ง...

เมื่อกี๊ก็ยังคุยกันที่บ้านเลยว่า สมัยนี้ไม่ต้องรอให้ถึงชาติหน้าแล้วในเรื่องบาปบุญคุณโทษ กรรมดีกรรมชั่ว ได้ทันเห็น...

"คนว่ายาก" เป็นคำที่เข้าใจใช้เหมือนกันนะ เพราะเอาเหตุผลตนเองเป็นที่ตั้ง ดื้อหัวชนฝาไปแบบน้ำขุ่นๆ คนเป็นหมื่นเป็นแสน ช่วยกันออกมาเตือนยิ่งทำให้ทิฐิกลับมากขึ้นไปอีก เป็นงั้นไป..ว่ายากจริงๆ...ทำให้เข้าใจว่าทำไมถึงต้องมีกฏหมายรัฐธรรมนูญมาไว้ใช้กับ "คนว่ายาก"นั่นเอง

 

สวัสดีค่ะอ.ขจิต

กามนิตหนุ่มเช่นเคยนะคะ ไม่พลาดเลย ^ ^ ไวจริงๆ

เรื่องในอดีตหรือประวัติศาสตร์นั้น มักจะเกิดซ้ำรอยเสมอค่ะ เรียกได้ว่าไม่มีอะไรที่เคยเกิดในอดีต หรือที่คนในอดีตเคยกระทำแล้วคนในสมัยนี้จะไม่ทำค่ะ ยิ่งคนในสมัยนี้มีจำนวนมาก สเกลและจำนวนครั้งของการเกิดสิ่งเหล่านี้ก็คงมากตามจำนวนคนและความเจริญทางวัตถุไปด้วย อย่างเรื่องปั้นน้ำเป็นตัวนี่..ยุคไหนยุคไหนก็คงมีค่ะ อิอิ ^ ^

สวัสดีค่ะพี่อุ๊

ทันสมัยดีไหม..เรื่องกำลังฮอตมากๆ เลยเรื่องนี้

ธรรมะเป็นสิ่งที่เป็นสากลจริงๆ ค่ะ เพราะธรรมะเป็นสัจธรรม เป็นเรื่องจริงที่เอาพฤติกรรมของคนมาพิจารณากลั่นกรองให้เห็นว่าสิ่งใดควร ไม่ควร สิ่งใดจริง ไม่จริง ฯลฯ อ่านทีไรก็เข้ากับเหตุการณ์ต่างๆ ในบ้านเมืองทุกที

เอ..หรือว่า เหตุการณ์มันเยอะเสียจน อ่านอะไรก็ทำให้คิดถึงธรรมะเรื่องเดิมๆ ไปได้หมดทุกครั้งก็ไม่รู้นะ ฮ่าๆๆๆ (จริงๆ แล้วถ้าเกิดเหตุการณ์แบบนี้บ่อยๆ ก็ขำไม่ค่อยออกนะนั่น)

เรื่องกรรมเป็นเรื่องแน่นอน จะช้าจะเร็วก็เท่านั้น มาถึงแน่ๆ จะอยู่ในรูปแบบไหนเท่านั้นเองนะคะ ^ ^

เจริญพร โยมอ.กมลวัลย์

พระพุทธองค์ได้ทรงแสดงธรรม ท่ามกลางคนด่าว่าจำนวนมากว่า

"เราจักอดกลั้นต่อคำล่วงเกิน เหมือนช้างอดทนต่อลูกศรที่แล่นมาจากในสงคราม ฉะนั้น เพราะคนจำนวนมากเป็นผู้ทุศีล

ชนทั้งหลายย่อมนำสัตว์พาหนะที่ฝึกดีแล้วไปสู่ที่ประชุม พระราชาย่อมทรงสัตว์พาหนะที่ฝึกแล้ว บุคคลผู้อดกลั้นต่อคำล่วงเกินได้ ฝึกฝนตนแล้ว ย่อมเป็นผู้ประเสริฐในหมู่มนุษย์

ม้าอัสดร ม้าสินธพอาชาไนยและช้างกุญชรที่ฝึกฝนแล้ว นับเป็นสัตว์ประเสริฐ แต่บุคคลที่ฝึกฝนตนแล้ว ย่อมประเสริฐกว่า"

 

เจริญพร

กราบนมัสการท่านพระปลัด

สาธุ _/|\_

เป็นจริงอย่างที่พระพุทธองค์ทรงสอนไว้จริงๆ เจ้าค่ะ

สวัสดีครับ ผมอ่านได้แล้วอนุสิตดังนี้นะคัรบ

1.พระติสสเถระนั้นเป็นโอรสพระปิตุจฉาของพระผู้มีพระภาคเจ้า บวชเมื่ออายุมากแล้ว คนแก่สอนยาก ตรงกับสำนวน ไม้อ่อนดัดได้ไม้แก่ดัดยาก ถ้าจะดัดไม้แก่ต้องใช้ไฟลน ลุงเวทย์ แต่ง กลอนชื่อ ดัด (จริต นิสฺสัย) เอาไว้ความว่า

หากเมื่อในวัยเยาว์ลืมเกลาขัด         ต้องฝืนดัดไม้แก่แก้ปัญหา
ตามแบบดึกดำบรรพ์ภูมิปัญญา        ท่านสอนว่าทำได้โดยไฟลน
โดยอาศัยไฟจ่อพอให้ร้อน              ดัดให้อ่อนทีละน้อยค่อยเห็นผล
เปรียบแนวทางแก้ไขนิสัยคน           หากผ่อนปรนปล่อยปละจะเสียการ

ดัด (จริต นิสฺสัย) @ 207717


2.ดาบสชื่อ"เทวละ" อาศัยอยู่ในหิมวันตประเทศ แต่เดินทางเข้ามาในนครพาราณสี มาขออาศัยอยู่กับที่โรงนายช่างหม้อ ไม่ควรไปนอนค้างอ้างแรม ในที่ๆ มิใช่บ้านตน


3.ในกาลจบเทศนา ภิกษุแสนหนึ่งได้บรรลุอริยผลทั้งหลายมีโสดาปัตติผลเป็นต้น. พระธรรมเทศนาได้เป็นกถามีประโยชน์แก่มหาชนแล้ว. พระติสสเถระ ถึงเป็นคนว่ายาก ก็กลายเป็นคนว่าง่ายแล้วดังนี้แล.(1) คนแก่ว่ายาก (รวมถึงคนเลว) เมื่อกลับตัวกลับใจได้แล้ว จะได้รับการให้อภัยจากสังคมหรือไม่? อดีตนายกฯ สมัคร เมื่อกลับ ท่านจะได้รับการให้อภัยจากผู้ที่ผูกโกรธท่านหรือไม่? ถ้าท่านเปลี่ยนพฤติกรรม? หรือสังคมยังผูกโกรธพฤติกรรมในอดีต?

4. การบริภาษด่าทอกัน หากนำมาพิจารณาโดยแยบคายแล้ว  ย่อมเกิดปัญญา แก่ ผู้ด่า ผู้ถูกด่า และผู้สังเกตการณ์ ด้วยถ้วนทั่วทุกตัวคน  

4.

ตรงประเด็นสุดๆ ค่ะศิษย์พี่ ไม่แปลกใจเลยว่าทำไมท่านอดีตผู้นำเป็นงั้น ขนาดเทวลดาบสถึงขั้นต้องตายก็ไม่ยอม เพราะไม่รู้จักดูตนนี่เอง คิดว่าตนเองถูกและดีที่สุด ใครจะชี้แจงยังไงหรือแสดงให้เห็นมุมอื่นๆ ก็ไม่ฟัง "คนว่ายาก" จริงๆ เดี๋ยวนี้คนแบบนี้ก็ชักจะมีเยอะนะคะ น่าแปลก มันเพิ่มขึ้นหรือว่ามีอยู่เดิมแต่พึ่งแสดงธาตุแท้ก็ไม่รู้ ถ้าเล่นคำก็บอกว่า "เป็นคนว่ายากแล้ว แต่เป็นคนดีนั้นว่ายากกว่าอีก" ว่ายากในคนละความหมายกัน แต่เรื่องเดียวกันเป๊ะ

สวัสดีจ้าศิษย์น้อง

พี่ว่าระดับความว่ายากของคนนั้นคงไม่ต่างไปจากเดิม แต่ต่างตรงที่คนว่ายากเหล่านี้ทำงานหรือมีบทบาทอยู่ตรงไหนของสังคม ถ้าอยู่ตรงที่ไม่มีผลกระทบของคนอื่นๆ มากนัก ถ้าเรารู้จัก อย่างมากเราก็คงหลีกเลี่ยงไม่คบหาสมาคมกับคนเหล่านี้ แต่พอคนว่ายากเป็นผู้นำ มาอยู่ตรงตำแหน่งที่มีคนเห็นถึงพฤติกรรมมากๆ ระดับของผลกระทบมันสูงขึ้น จะทำเป็นมองไม่เห็นอย่างไรก็โดนผลกระทบจากความว่ายากของคนเหล่านี้อยู่ดี มันน่าเศร้าจริงๆ

คนว่ายากเหล่านี้ เขามองไม่เห็นเลยนะว่าปัญหามันเกิดจากการกระทำอันไม่สมควร ไม่ว่าจะเป็นการไม่ประมาณตน คิดว่าตนใหญ่ หรือเกิดจากการกระทำไม่เป็นที่เป็นทาง ไม่เป็นเหตุเป็นผลของเขาเอง...คนเหล่านี้ การที่จะเป็นคนดีคงเป็นการยากจริงๆ แม้ว่าจริงๆ แล้ว การเป็นคนดีนั้น เป็นเรื่องไม่ยากเลย

สวัสดีครับอาจารย์

เป็นเรื่องที่กำลังสนใจพอดีครับ(สนใจมากๆๆๆๆๆๆๆๆ ^_^ )

- ขอบพระคุณมากครับที่นำเรื่องสัจธรรม มาแบ่งปันกัน..

 ทำให้เห็นหลัก...เห็นธรรมบ้าง...

 

เพราะว่าสังคมปัจจุบันนั้น...

เรื่องราวที่หลากหลายและเเตกต่างนั้น...

 ถ้าเจาะลงไปลึกๆ  หรือชี้ลงไปถึงสาเหตุแท้จริง

 น่าจะตกไปที่เรื่องของ   คุณธรรมและจริยธรรมครับ...

 

 สังคมดูเหมือนจะมีความแตกต่างกันของมาตรฐานทางคุณธรรม

  แตกต่างกันในเรื่องของจริยธรรมพื้นฐาน...

 

  บางครั้งก็ดูลำบากและซับซ้อนอย่างยิ่งครับ...

  แม้ว่าบางครั้งจะมองให้เลยออกไปจากเรื่องความถูกผิด ดี ชั่ว...

  แต่ก็ยังทำใจได้ยากครับ  ยังอยากยึดเรื่องดี เรื่องถูกไว้อยู่(ในทัศนตนเอง)

   ถ้าหากว่าเราพอรู้ว่า  มองต่างกนในเรื่องถูกผิด  หรือเรื่องจริยธรรม

  ก็จะไม่คุยกันในประเด็นที่เกี่ยวข้อง  เพราะน่าจะเข้าใจกันยากครับ

 

   แต่ถ้าเปิดประเด็นเรื่องถูกผิด  เรื่องจริยธรรมที่น่าจะเข้าใจตรงกัน

  การพูดคุยเรื่องต่างๆน่าจะพอได้  แม้บางมุมจะต่างกัน...

 

   จริงๆแล้วย้อนมองตนเอง..

   ผมก็เป็นคนว่ายากมาก..มาก่อนนะครับ..

   เลยเข้าใจ...

   การจะละวางความยึดมั่น  ถือตน  ของตนเองนั้นไม่ง่ายเลย

  ต้องอาศัยเวลา  ธรรม และกัลยาณมิตร  ครูอาจารย์

  และการฝึกฝน...ปฏิบัติ......

 

  ปล..มีคนไข้มาครับ ^_^...

สวัสดีค่ะน้องหมอ

น้องหมอวิเคราะห์ได้ตรงใจพี่มากเลยค่ะ เรื่องหลายๆ เรื่องที่เราเห็นในสังคมปัจจุบัน ล้วนแล้วแต่เป็นเรื่องของคุณธรรม จริยธรรมตกต่ำ(หรือแตกต่าง)เป็นจำนวนมาก

จริงแล้วความแตกต่างเป็นเรื่องไม่แปลก เพราะแต่ละคนมีกรรมเป็นของตน แต่ถ้าเมื่อใดคนเริ่มยึดกับความคิดของตนเองเป็นหลักโดยไม่มีความยืดหยุ่นเลยแล้ว คราวนี้ปัญหาจะตามมาแน่นอน

คนบางคนอย่าว่าแต่ลดอัตตาเลยนะ บางคนอัตตาตนเองก็ยังไม่เห็นเลยค่ะ มองออกไปข้างนอกตลอด ไม่เคยเห็นตนเอง เหมือนกับเทวลดาบสที่ไม่เห็นเุหตุว่าทำไมตัวจึงถูกเหยียบ (เพราะการนอนไม่เป็นที่ ซึ่งเป็นพฤติิกรรมที่มีความสุ่มเสี่ยงให้ถูกเหยียบ อิอิ)

การที่เราพอจะมองเห็นตัวเรา หรือความคิดของเราบ้างแล้ว ถ้าเรามีใจเป็นธรรม เราก็จะรู้ว่าความคิด ความเห็นของเรานั้นก็มีถูกมีผิด มีเหมือน มีต่าง ไม่แปลกอะไร แถมยังจะรู้ว่าความคิดของเรา หรือตัวเราก็หนีไม่พ้นไตรลักษณ์ทั้งนั้น เมื่อรู้ว่ามันเป็นอนัตตา บังคับบัญชาไม่ได้ เป็นเจ้าเข้าเจ้าของ หรือยึดไม่ได้ การวางก็จะง่ายขึ้นค่ะ

สำหรับพี่ เห็นว่าคนเรามีหลักคิดได้ ยึดในหลักธรรมได้ แต่จะไม่ไปยึดให้คนอื่นๆ ทำตามที่เราคิดหรือเห็นด้วย เพราะแล้วแต่กรรมของแต่ละคน และของพวกนี้เป็นปัจจัตตังจริงๆ ต้องให้ทำเอง เห็นเองค่ะ ^ ^

เขียนเสียยาวเลย ธรรมรักษานะคะ ^ ^

สวัสดีค่ะพี่อึ่งอ๊อบ

สบายดีนะคะ

อ่่านเรื่องพระติสสะแล้วตรงใจเลยเอามาเล่าฝากกันค่ะ

^ ^

  • อ.ตุ๋ยคะ
  • การฝึกตนนี่ เป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลาจริงๆ ค่ะ กว่าจะขัดเกลาใจเราในแต่ละเรื่อง
  • เลยได้มาอ่านความเห็นของน้องกวิน คนช่างคิด ช่างวิเคราะห์
  • แต่ว่าข้อ 4 ..การบริภาษด่าทอกัน แม้จะทำให้เกิดปัญญาได้ หากเลือกได้ ไม่มีปัญญาจากการพิจารณาการบริภาษก็ดีกว่าค่ะ.. ;-P

สวัสดีค่ะพี่ครูอึ่ง

การฝึกตนเป็นเรื่องที่ต้องอาศัยความเพียรจริงๆ ค่ะ ต้องพยายามมีสติอยู่เสมอ ซึ่งก็ไม่ง่ายเลยจริงๆ ^ ^ ต้องตั้งใจปฏิบัติไปเรื่อยๆ ค่ะ

ธรรมรักษานะคะ ^ ^

  • นั่นสิคะอาจารย์ปัจจุบันเราแวดล้อมไปด้วยคนว่ายาก ที่อยากมี และอยากเป็น นะคะ

เปรียบเปรยได้ตรงเป้าและสถานการณ์ ครับอาจารย์ :)

สบายดี ยุ่ง หรือ ไม่ค่อยได้เข้ามาที่นี่ครับ ?

ขอบคุณครับ

สวัสดีค่ะอ.นารี

ขออภัย ตอบช้าไปหน่อยค่ะ ^ ^

ปัจจุบันคนว่ายากนี้อาจจะกลายเป็นคนส่วนใหญ่ของสังคมไปแล้วก็ได้ค่ะ เพราะแต่ละคนต่างบอกว่าตัวเองมีจุดยืนกันทั้งนั้น แ่ต่ถ้าเป็นจุดยืนที่ไร้เหตุผลและยืดถือมากไปและอยู่ในตำแหน่งที่ส่งผลกระทบต่อคนอื่นก็จะยิ่งแย่ค่ะ

สวัสดีค่ะอ.วสวัตฯ

แหะๆ

ออล ออฟ ธดิ อะโบฟ ค่ะ ^ ^

  • เดี๋ยวนี้เจอปัญหานี้บ่อย ๆ ค่ะ
  • รวมทั้งตัวเองด้วยหล่ะค่ะ อิอิ
  • แต่ประสบการณ์และ การหมั่นพิจารณาความเป็นไปที่แท้จริงจะช่วยได้ค่ะ
  • หากตั้งใจจะแก้ไขและพัฒนานะคะ
  • ขอบคุณค่ะ สำหรับข้อคิดสะกิดใจค่ะ

 

 

ผมว่า..น่าให้อ่านเรื่องนี้กัน..หลายๆฝ่ายทั้งนักการเมืองบางคนบางกลุ่ม...พันธมิตร...ฝ่ายต่อต้าน..ว่ายากกันหลายคน...จะได้บรรลุธรรมกันบ้าง..มานะทิฐิ..จะได้ลดลงบ้าง

สวัสดีค่ะคุณครูปู ^ ^

ปัญหานี้ที่เจอบ่อยเพราะเห็นในคนที่มักเป็นข่าวด้วยแหละ่ค่ะ และเมื่อมาพิจารณาดูดีๆ ก็จะเห็นได้ว่ารอบๆ ตัวก็มีเยอะเหมือนกัน แต่ระดับของความว่ายากนั้นก็แตกต่างกันไปค่ะ

ตอนนี้พบว่าการแก้ไขปัญหาต่างๆ นั้น ต้องเริ่มจากการแก้ไขตัวเองก่อน พยายามปรับปรุงพัฒนาตนเองโดยใช้หลักธรรมเข้าช่วยตลอดเหมือนกันค่ะ ^ ^

ขอบคุณที่แวะเข้ามา ลปรร นะคะ

สวัสดีค่ะอ.พิสูจน์

สบายดีนะคะ ^ ^

เห็นด้วยมากๆ ค่ะ มานะทิฏฐิเป็นเรื่องที่ต้องลดกันบ้าง เพราะอัตตาของบางคนสูงมากๆๆๆ มากเสียจนไม่เห็นมานะทิฏฐิ

ในการปฏิบัติส่วนตัวแล้ว พบว่าเรื่องทิฏฐิเป็นเรื่องที่กำจัดจากใจยากจริงๆ ต้องตั้งใจปฏิบัติกันต่อไปค่ะ

อนุโมทนาบุญกับธรรมบทว่าด้วยเรื่องของ "คนว่ายาก" นะคะน้องตุ๋ย

พี่ตุ้มเคยฟังเรื่องราวของท่านติสสะเถระมาแล้วค่ะ ชอบมาก เพราะ "โดนใจ" ค่ะ ...มาได้อ่านอีกครั้ง ก็ยัง "โดนใจ" อยู่ค่ะ

อยากอ่านเรื่องราวของ "คนว่าง่าย" บ้าง น้องตุ๋ยมีเวลาและโอกาส ช่วยเขียนเล่าให้ฟังเป็นวิทยาทานหน่อยนะคะ สาธุค่ะ

สวัสดีค่ะ อ.พี่ตุ้ม

ตัวเองไม่เคยได้ยินเรื่องพระติสสะก่อนที่จะมาอ่านพบในพระไตรปิฎกออนไลน์มาก่อนเลยค่ะ ^ ^

สมัยก่อนไม่ค่อยสนใจ เพิ่งมาเริ่มสนใจช่วงหลังๆ เองค่ะ เดี๋ยวนี้ถ้ามีเวลาหรือเบื่อสิ่งอื่นๆ ก็จะมานั่งอ่านอรรถกถาในพระไตรปิฎกค่ะ อ่านแล้วสนุกดีด้วย ได้ความรู้ และได้ปฏิบัติทบทวนตัวเองด้วย ได้หลายอย่างไปพร้อมๆ กันเลยค่ะ

ไว้จะลองค้นหาดูว่ามีเรื่องของคนว่าง่ายบ้างหรือเปล่านะคะ ถ้าพบแล้วจะนำมาเล่าสู่กันฟังอย่างแน่นอนค่ะ ^ ^

เรื่องของคนว่าง่าย คงมี แต่ไม่ค่อย เป็นที่จดจำมาก เพราะ เป็นเรื่องที่ดีอยู่แล้ว ไม่ก่อปัญหากับสังคมและคนใกล้ชิด แต่คนว่ายากนี่ละ คือปัญหา เลยมีการกล่าวถึงมากหน่อย
ถ้ามีตัวอย่าง มาเล่าสู่กันฟังนะคะ

สวัสดีค่ะ

  • เข้ามาดูคนว่ายากค่ะ...มีทุกยุคทุกสมัยนะคะ
  • ทำอะไรก็ตาม อย่าให้ส่วนรวมเดือดร้อนเป็นใช้ได้
  • ขอบคุณค่ะ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท