อยากได้ อยากมี อยากเป็น...


ถ้าเราเข้าใจต้นเหตุแห่งทุกข์ เราก็จะสามารถดับทุกข์ได้ เพราะทุกข์ต่างๆ นั้น เป็นทุกข์ที่เกิดกับตัวเรา ไปแก้ที่อื่นไม่ได้...

<h4>ดอกแก้ว</h4>

ดิฉันมักได้ยินคนพูดคำว่า อยากได้ โน่นได้นี่ อยากมี... โน่นมีนี่ หรือ อยากเป็น โน่นเป็นนี่ เสมอ... แม้กระทั่งตัวเองก็พูด..

</span><h4> เรียกได้ว่า เราเป็นมนุษย์คงหนีไม่พ้นเรื่องเหล่านี้ ที่มีความอยาก… มันห้ามไม่ได้ </h4><h4> บางคนบอกว่าความอยากเป็นเรื่องที่ดี เพราะความอยากทำให้เกิดการพัฒนา เกิดความก้าวหน้า แม้นหลวงปู่ชา ก็เคยบอกว่าพระพุทธเจ้าเองก็อยาก.. อยากหลุดพ้น อยากสงบ.. </h4><h4> แต่”ความอยาก”ที่ตั้งใจกล่าวถึงในบันทึกนี้เป็นความอยากทั่วไป เช่น อยากได้(ของชิ้นใหม่) อยากเป็น(คนมีชื่อเสียง) อยากมี(บ้านสวยๆ)...โดยรวมแล้วคนทั่วไปจะอยากรวยนั่นเองจะได้มาสนองกิเลสข้างต้น เพราะส่วนใหญ่คิดว่าเงินสามารถสนองได้หมด… </h4><h4>ตราบใดที่เป็นปุถุชน ก็ไม่แปลกที่จะอยาก เพราะเป็นธรรมชาติ แต่ที่สำคัญคือ…</h4><h4 align="center"> จะสนองความอยากนั้นด้วยวิธีการอะไร.. </h4><h4> ดิฉันพบว่าคนที่มีความอยากเหล่านี้ ส่วนมากคิดแต่เป้าหมาย แต่ไม่คิดวิธีการ เช่น </h4><blockquote><h4> ทำการค้าแล้วอยากรวย ก็อาจเอาเปรียบลูกค้า เช่น โกงตาชั่ง เพื่อเอากำไรเพิ่ม  ในส่วนของลูกค้า อยากรวยก็พยายามซื้อของในราคาถูกที่สุด ขอของแถมให้มากที่สุด ขอลดราคาให้มากที่สุด ทั้งๆ ที่ก็ไม่รู้ว่าจะกินหรือใช้หมดหรือไม่ ขอเยอะๆ ไว้ก่อน…  </h4></blockquote><blockquote><h4>หรือทำธุรกิจ อยากรวย ก็เอาเปรียบพนักงาน เพื่อลดต้นทุน แล้วพนักงานก็อาจจะคิดว่าให้เงินแค่นี้ ก็ทำแค่นี้ ไม่สนใจถึงผลกระทบ…</h4></blockquote><h4>จริงๆ แล้วมีอีกมาก.. หลายๆ ท่านคงนึกออก..และเคยประสบกับตนเองมาแล้ว.. มีทั้งเรื่องทั่วๆไป อย่างที่ยกตัวอย่าง จนกระทั่งถึงเรื่องที่ส่งความเสียหายในระดับชาติ</h4><h4> สรุปแล้วความอยากที่คิดถึงแต่เป้าหมาย ไม่ได้ให้อะไรกับใครเลย มีแต่เสียกับเสีย... </h4><h4> แต่ถ้าเรามีความพอ มีความอยากแต่พอดี..ปัญหาเหล่านี้อาจลดลงไปได้บ้าง </h4><h4> ถ้าเราเข้าใจว่าธรรมชาติของคนแบบนี้ คือมีความอยาก.. เราก็จะเข้าใจต้นเหตุ และหาทางแก้ปัญหา (ดับทุกข์) โดยลดความอยาก หรือกิเสสได้  แต่ต้องรู้ว่าแก้คนอื่นยาก ต้องเน้นแก้ที่ตัวเราก่อน.. </h4><h4> ดิฉันเคยเป็นทุกข์มากเพราะเห็นความอยากแบบผิดๆ ของคน เห็นผลที่เกิดขึ้นคือ เขาได้สิ่งที่เขาอยาก แต่บนเส้นทางที่เขาเดินไปสู่จุดหมายของเขา เขาทำลายอะไรหลายๆ อย่างในภาพรวม.. </h4><h4> ดิฉันก็คิดว่าไฉนคนทำชั่ว จึงได้ดี...  ตอนนี้มีปัญญาขึ้นอีกหน่อย เห็นเหตุและผล รู้ว่าตัวเองทุกข์กับเรื่อง คนชั่วได้ดี นั้นไม่มีประโยชน์อะไร เราเองก็ไม่รู้หรอกว่าเขาอาจทุกข์อยู่ก็ได้ และก็ไม่รู้ว่าเขาจะประสบกับกรรมที่เขาทำเอาไว้วันไหน.. แล้วทำไมเราจะต้องให้เรื่องนี้มามอดไหม้ใจเราด้วย…เพราะกรรมที่เขาก่อ ก็เกิดแล้ว..เราแก้ไม่ได้..แล้วจะไปเสียใจ ทุกข์ใจให้เสียเวลาทำไม.. </h4><h4> ดังนั้น ถ้าเราเข้าใจต้นเหตุแห่งทุกข์ เราก็จะสามารถดับทุกข์ได้ เพราะทุกข์ต่างๆ นั้น เป็นทุกข์ที่เกิดกับตัวเรา ไปแก้ที่อื่นไม่ได้  </h4><h4> เริ่มต้นที่ความอยาก แต่จบที่ดับทุกข์ หวังว่าคงไม่ได้ทำให้ใครสับสนนะคะ ; ) </h4>

หมายเลขบันทึก: 94804เขียนเมื่อ 7 พฤษภาคม 2007 12:14 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 17:59 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (38)

ไฉนคนทำชั่ว จึงได้ดี...

สวัสดีค่ะ

เพราะกรรมดีของเขายังส่งผลอยู่ค่ะ

  • ถ้าเราไม่มีความอยากคงไม่เป็นทุกข์ครับอาจารย์
  • บันทึกอาจารย์บันทึกก่อนๆๆช่วยผมได้มากเลย
  • ตอนนี้ไม่เป็นทุกข์แล้วครับผม
  • ขอบคุณครับ

สวัสดีค่ะคุณ P sasinanda

ใช่ค่ะ บุญกับบาปเป็นคนละส่วนกันค่ะ

จำไม่ได้แล้วว่าฟังหรืออ่านมาจากที่ไหน ที่เขาบอกว่าบุญมี ๑ บัญชี บาปก็มีอีก ๑ บัญชีค่ะ ส่งผลกันคนละส่วน...

แต่สมัยก่อนมีทุกข์เพราะไม่เข้าใจมากๆ เลยค่ะ เห็นโลกเป็นอะไรที่อยุติธรรมเป็นที่สุด ตอนนี้มีความสุขค่ะ ที่ได้เกิดมา มีโอกาสดีในชีวิต ได้ทำอะไรดีๆ ได้ปฏิบัติธรรมค่ะ

ขอบคุณนะคะที่แวะเข้ามา ลปรร เสมอ ขอบคุณมากๆ ค่ะ

สวัสดีค่ะ อ.ขจิต ฝอยทอง

เอ...อาจารย์ขจิตเป็นทุกข์เรื่องอะไรน๊อ....เรื่องต้นรักหรือเปล่าคะ ; )  แซวเล่นนะคะ 

ดีใจมากๆ นะคะ ที่บันทึกที่เขียนช่วยได้  ตัวเองก็พยายามเขียนเพื่อเตือนสติตัวเองด้วยเหมือนกันค่ะ

ขอบคุณที่แวะเข้ามาลปรร เสมอๆ นะคะ..

  • ฮ่าๆๆทำไมทราบครับอาจารย์
  • ตอนนี้ทำใจได้แล้วครับ
  • กำลังขยันทำงานอยู่ครับผม
  • ขอบคุณมากสำหรับบันทึกดีๆๆ
  • ขอบคุณท่านอาจารย์ paew ที่แนะนำให้อ่าน

 

สวัสดีอีกรอบค่ะอ. P ขจิต ฝอยทอง

  • เห็นในหลายๆ บันทึกแซวอาจารย์อยู่ค่ะ เลยลองแซวดู ; )
  • ดีแล้วค่ะที่หายทุกข์แล้ว เห็นเหตุแล้วเราจะค่อยๆ ผ่อนได้ค่ะ ถ้าเราไม่ focus ที่เรื่องนี้ ทำอะไรอื่นๆ บ้าง เช่น ขยันทำ thesis .. รับรองได้ผลดีมากๆ ค่ะ
  • อ.paew แนะนำมาหรือคะ ขอบคุณอ.paew ด้วยคนค่ะ มี promoter ด้วย ดีใจจัง ; )

สวัสดีครับอาจารย์

เรื่องความอยากนี่ เมื่อก่อนก็เป็นเอามากเหมือนกันครับ ต่อมาประสบการณ์ สดๆ มันแทงเอาความอยากให้คิดครับ

เช่น มีเพื่อนมีปัญหา เรียนไม่จบ หนีเตลิดออกจากบ้าน หรือบางคนคล้ายเป็นบ้า หรือไม่ก็ตายกระทันหัน โดนรถชนตายก่อนรับปริญญาหนึ่งเดือน ผมเลยไม่รู้ว่าจะเอาอะไรกับความอยากในชีวิตมากมาย

แต่เรื่องความไม่อยากนะสิครับ เจ็บมาก วันก่อนทำตังค์หายในบ้านตัวเองจำนวนมาก ผมไม่เครียดแต่รู้สึกปวดหัวจิ๊ดๆๆ สงสารแต่แม่นั่งร้องไห้เลย พอเจอตังค์ปุ๊บหายเลย ผมว่าเรื่องเงินนี่สุดยอดแห่งความยึดติดและเป็นทุกข์มากครับเลยนะครับ ตั้งสติอย่างไรมันก็ร้อนรนอย่างไรบอกไม่ถูก 

 

อาจารย์คะ

  • ขอบคุณสำหรับเรื่องเล่าดี ๆ ค่ะ
  • คนเรามี รัก โลภ โกรธ หลง
  • ผสมกับความอยาก
  • หนีไม่พ้นค่ะอาจารย์
  • แต่บันทึกอาจารย์ทำให้มีสติในการใช้ชีวิตค่ะ
  • ขอบคุณนะคะ

สวัสดีค่ะคุณ P ฉัตรชัย

เรื่องที่เล่าให้ฟังนี้เป็นตัวอย่างที่ชัดมากค่ะ ดีใจมากเลยค่ะ ที่คุณฉัตรชัยได้เล็งเห็น ดิฉันก็มีเพื่อนที่เสียชีวิตตอนปี ๔ เทอมสุดท้ายเหมือนกัน น่าเสียดายและสงสารคุณแม่ของเขามาก

แต่ตอนนั้นดิฉันเองยังไม่ได้เห็นลึกถึงขนาดที่คุณฉัตรชัยได้เห็นว่าทุกอย่างมันเอาแน่ไม่ได้ขนาดนี้ เริ่มจากปัญหาหนึ่งปัญหา แต่จบด้วยการเป็นบ้า หรือเสียชีวิต มันไม่คุ้มกันจริงๆ ค่ะ การเข้าใจและมีมรณานุสติเป็นสิ่งสำคัญพอควรที่จะทำให้เราไม่หลงไปกับอะไรต่างๆ นาๆ ได้ง่ายๆ เพราะเรารู้ว่าชีวิตอาจสิ้นสุดลงเมื่อใดก็ได้

เรื่องที่ว่าเงินทำให้เป็นทุกข์นั้น ดิฉันคิดว่าเป็นเรื่องที่คนหลายคนยังยึดติดอยู่ ไม่แปลกหรอกค่ะ เพราะเราใช้เงินในการแลกเปลี่ยนอาคาร ที่พักอาศัย และความสะดวกสะบายในชีวิต ไม่มีเงินสำหรับบางคนอาจหมายถึงชีวิตของเขาและครอบครัว น่าเห็นใจสำหรับคนที่ไม่มีที่ดินทำกิน ไม่มีที่อยู่และทางออกอื่นๆ

แต่ที่แย่ก็คือ คนส่วนใหญ่ติดกับดักความคิดแล้วค่ะ เห็นเงินมีความสำคัญมากแล้ว.. ก็เลยเป็นปัญหาเกิดความอยากต่อๆ กันไปอีก เพราะได้มากเท่าใดก็มักไม่พอ..

ดีใจที่หาเงินพบนะคะ อย่างน้อยก็ทำให้คุณแม่สบายใจขึ้น และคุณฉัตรชัยก็สบายใจขึ้น ต้องพยายามค่อยๆ บอกค่ะ ว่าเงินเราหาใหม่ได้ แต่ถ้าแม่ไม่สบายเป็นทุกข์มาก จะทำให้เราทุกข์มาก แล้วมันไม่คุ้มกัน เพราะความทุกข์ใจ ไม่สบายใจของแม่มันทดแทนกันไม่ได้ ..

ขอบคุณนะคะที่แวะเข้ามาให้ข้อคิดเห็นเสมอ..ต้องพยายามเจริญสติ ดูไปเรื่อยๆ ค่ะ จะได้"เห็น"ทุกข์ แต่ไม่"เป็น"ทุกข์ค่ะ

สวัสดีค่ะ P Miss somporn poungpratoom

การมีสติเป็นสิ่งที่สำคัญมากค่ะ ตอนนี้ดิฉันก็พยายามเจริญสติตลอดเวลาเท่าที่จะทำได้เหมือนกัน

การศึกษาและการปฏิบัติธรรม ทำให้เราเข้าใจธรรมชาติของสิ่งต่างๆ มากขึ้น ทำให้รู้ว่า "มันก็เป็นเช่นนั้นเอง" อย่างที่เขาว่ากันค่ะ

เข้าใจแล้ว ทุกข์ดับ สบายใจ แล้วก็อุเบกขา ดีจริงๆ ค่ะ

ขอบคุณที่เข้ามาเยี่ยมเยือนนะคะ ยินดีต้อนรับค่ะ ; )

  • เจ้าตัณหานี่มันน่ากลัวนะครับอาจารย์
  • บางทีก็มาแบบเงียบๆ  บางทีมาโฉ่งฉ่าง  บางทีก็มาแบบไม่รู้ตัว
  • ในบรรดาตัณหานั้น ท่านแยกเป็น ๓ ประเภท คือ
  • กามตัณหา  คือ ความทะยานอยากได้  ซึ่งไม่จำเป็นจะต้องเกี่ยวกับเรื่องเพศ  เช่น อยากได้บ้านใหญ่โต  อยากมีรถแพงๆ ซึ่งบางอย่างไม่จำเป็น และเกินฐานะ
  • ภวตัณหา  คือ ความทะยานอยากเป็น  อยากมี  อยากให้อยู่  เช่น  อยากเป็นรัฐมนตรี  อยากเป็นดารา
  • วิภวตัณหา  คือ ความทะยานอยากไม่ให้เป็น  ไม่ให้อยู่  หรือให้พ้นไป ของสิ่งที่สมควรจะเป็น เช่น ไม่อยากแก่  ไม่อยากตาย
  • หากเราขาดสติ(ซึ่งเราเข้าใจกันว่าเรามีกันทุกคน)  เราก็มิอาจรู้ทันมันได้  ก็ต้องทนทุกข์กันต่อไป
  • อาจารย์เห็นว่าไงบ้างครับ

ธรรมะสวัสดีครับ

สวัสดีค่ะ คุณ P ธรรมาวุธ

ขอบคุณที่มาช่วยเสริมค่ะ ไม่ทันคิดค่ะว่าความอยากนั้นเขาเรียกว่าตัณหา ไม่ทันนึกเลยค่ะ ; ) 

เห็นด้วยค่ะว่าถ้าขาดสติ ตัณหาต่างๆ อาจเข้ามาครอบงำเราได้อย่างรวดเร็ว

ยกตัวอย่างเช่น เห็นมือถือรุ่นใหม่ออกมา คนที่คิดไม่ทันก็อาจจะอยากได้ของใหม่โดยทันที ทั้งๆ ที่ของเก่าก็ยังใช้ได้อยู่ดี อันนี้น่าจะเข้าข่ายมีความอยากเป็นตัณหาเล็กๆ แล้ว

แต่ตัวอย่างข้างบนนี้ดิฉันยังถือว่าเล็กน้อย เพราะอาจเป็นชั่วครั้งชั่วคราว.. เมื่อมีสติก็จะระงับทัน  แต่พวกที่ขาดสติตลอดเวลา ไม่รู้ว่าตัวเองกำลังหลงอยู่ในวังวนแห่งความอยากนี่น่ะสิ...ไม่รู้จะพูดอย่างไรเลยค่ะ

ความอยากเป็นคนรวย ความไม่อยากเป็นคนจน ล้วนแล้วแต่เป็นสาเหตุพื้นฐานของปัญหาในสังคมจริงๆ

ขอบคุณที่แวะเข้ามา ลปรร นะคะ ถ้าอยากช่วยเสริมอะไรต่อ เชิญได้เลยนะคะ เผื่อจะตกหล่นไป : ) 

แวะมาเยี่ยมเยือนค่ะ อ่านเก็บเกี่ยวความรู้ไปด้วย

อยากรวยเหมือนกันค่ะ แต่เห็นคนรวยก็ไม่อิจฉา และเมื่อไม่รวยสักทีก็เฉยๆ รวยก็ได้ไม่รวยก็ได้..มีเงินมากกว่าเดิมก็คงเอาไปทำอะไรมากขึ้น แต่เมื่อไม่มีก็ไม่รู้สึกอะไรก็เพียงว่าไม่ได้ทำอะไรนั้น และไม่ทุกข์ร้อนอะไร อยู่ไปเท่าที่มี เท่าที่เป็นค่ะ....

สวัสดีค่ะ คุณ P จันทรรัตน์ เจริญสันติ

ยินดีต้อนรับเสมอค่ะ ; )

ดิฉันก็เคยอยากรวยค่ะ ไม่ได้อวดตัวนะคะ แต่ตอนนี้รู้สึกว่าตัวเองมีพออยู่พอกินสบายๆ

เคยอยากรวย อยากซื้อรถเบนซ์ให้พ่อนั่งสบายๆ คิดไปคิดมาสงสัยพ่อจะอยากให้ไปอยู่ด้วยเสียมากกว่า.. 5555  ก็เลยเลิกคิดเรื่องรถ หรือความสุขสบายมากกว่านี้

ดีนะคะที่ไม่ทุกข์ร้อนอะไร แสดงว่าไม่ได้อยากรวยมากขนาดนั้นหรอกค่ะ คงคล้ายๆ กันน่ะค่ะ ดิฉันก็สบายๆ มีเท่าไหร่ก็ใช้เท่านั้น เผื่อตอนแก่อีกหน่อยเวลาป่วยจะได้ไม่ลำบากมากค่ะ

ขอบคุณที่แวะมาเยี่ยมเยือนนะคะ...

สวัสดีค่ะอาจารย์ P

  •  เข้ามาอ่านค่ะ....จริงๆอ่านบันทึกอาจารย์มาหลายบันทึกแล้วค่ะ
  • แต่มิได้แสดงตัว   แต่บันทึกนี้โดนใจมากๆค่ะ  เลยขอแสดงความเห็นนิดนึงค่ะ
  • จริงๆก็รู้สึกอย่างที่อาจารย์บอกแหละค่ะว่า  ไม่เข้าใจไฉนคนชั่วจึงได้ดี.....
  • อันนี้กรณีที่เราเห็นคนอื่นเขาทำโดยที่เขาไม่ได้สนวิธีการหรือขั้นตอนว่าจะผิดหรือถูกนั่นเอง...

  • บางครั้งก็คิดว่าเขาคงมีบุญเก่าเยอะ......
  • และสำหรับบางอย่างที่เราทำ.....ซึ่งคิดว่าเราทำอย่างดีแล้วแต่ก็ไม่ได้อย่างใจ.....เหมือนว่าจะไปกำหนดหรือจัดวางอะไรไม่ได้เลย……………..
  • แต่เดี๋ยวนี้ก็พา....ยา.....ยามมมม.....คิดสนใจเรื่องที่ทำให้ทุกข์น้อยลงค่ะ  แล้วหันไปทำอย่างอื่นแทน (     *     *   )

สวัสดีค่ะ P ajarncath phamui

ใช่ค่ะ มันดูเสมือนว่าคนชั่วได้ดี คนทำดีกลับไม่ได้ดีใช่ไหมคะ ดิฉันก็เคยรู้สึกเหมือนกันค่ะ

เรื่องคนชั่วได้ดีนั้น เป็นเพราะว่าบุญ(เก่า) กับบาปมันคนละบัญชีกันค่ะ ดิฉันเชื่ออย่างนั้นนะคะ  สักวันน่าจะกลับมาหาเขาในรูปแบบหลากหลายค่ะ แต่ดิฉันเชื่ออยู่อย่างหนึ่งว่า คนเราเวลาทำอะไรผิด เขาจะรู้อยู่แก่ใจค่ะ

เคยฟังหลวงปู่ชาเทศน์ว่า สมมติว่ามีขโมยมาตัดเศียรพระจากวัดไป ไม่มีใครรู้ว่าใครทำ แต่พอคนนั้นกลับมาที่วัดทีไร เขาก็จะรู้ว่าเขาเป็นคนทำ ประมาณว่าจะมีความรู้สึกผิดติดตัวตลอดเวลา แม้ว่าคนอื่นจะไม่รู้.. อันนี้ดิฉันว่าจริงตามที่หลวงปู่ว่าไว้ค่ะ

สำหรับเรื่องทำดีแล้วไม่ได้ดั่งใจนั้น ดิฉันก็เจอมาเยอะพอควรค่ะ แต่รู้แล้วว่า บางทีมันเป็นดั่งใจไม่ได้จริงๆ บางทีมันนอกเหนืออำนาจ เราทำไปตามกฎ ตามระเบียบ แต่โดนคนที่มีอำนาจ(ในงาน)มากกว่าเปลี่ยนดำให้เป็นขาว..โดนแรกๆ ก็สะอึกและเจ็บปวดมากๆ เพราะเราตั้งใจทำให้ถูกต้อง.. 

สุดท้ายก็ทำใจได้ค่ะ เพราะเข้าใจว่าเราทำดีที่สุดแล้ว แล้วมันนอกเหนืออำนาจเรา ความ"อยาก"ให้มันออกมาดี ออกมาถูกต้อง นั้นไม่ช่วยอะไรค่ะ (มีแต่ทำให้เป็นทุกข์ เพราะเราไปยึดเอาไว้) แต่เราต้องทำให้ดีให้ถูกต้องไว้ก่อน แต่หลังจากออกนอกมือเราไปแล้ว คราวนี้ก็แล้วแต่ปัญญาและบุญกรรมของคนที่เกี่ยวข้องแล้วล่ะค่ะ  พอคิดได้อย่างนี้แล้วดิฉันสบายใจค่ะ เพราะเราทำไว้ดี ทำไว้ถูก ไม่มีใครมาว่าเราได้ อันนี้ดิฉันก็ถือว่า "ทำดีได้ดี" แล้วล่ะค่ะ

ขอบคุณที่แวะมาอ่านเสมอนะคะ ยินดีต้อนรับข้อคิดเห็นเสมอค่ะ

สำหรับเรื่อง ทำดีได้ดีมีที่ไหน ทำชั่วได้ดีมีถมไป นั้นผมขอฝาก อ่านบันทึกนี้ ประกอบครับ (อ.กมลวัลย์ ได้เข้าไป ลปรร. แล้วนะครับ)

 

สวัสดีค่ะ คุณ P ธรรมาวุธ

วนกลับไปอ่านอีกรอบแล้วค่ะ ได้อ่านอีกครั้งทำให้ได้ประโยชน์มากขึ้น เห็นเหตุเห็นผลมากขึ้นค่ะ ดีจัง..ขอบคุณนะคะ

วันนี้แวะมาเยี่ยมเยียนครับ เห็นด้วยอย่างมากที่ต้องแก้ไขที่ตัวเราเองก่อนจึงจะดับทุกข์ได้ บางครั้งคิดหาสาเหตุ/ต้นเหตุ แห่งทุกข์ยังยากเลย เช่นการหาคำตอบว่า "ไก่เกิดก่อนไข่ หรือ ไข่เกิดก่อนไก่" มีเรื่องเล่าเกี่ยวกับการสอนธรรมะของหลวงพ่อโพธิ์ วัดโพธิ์ บ้านโนนทัน จังหวัดขอนแก่นแก่ฆราวาสรายหนึ่งหลังจากที่ถูกต่อว่าว่า"หลวงพ่อ ผมมาหาหลวงพ่อเกือบทุกวัน ทำไมผมไม่รู้ธรรม เห็นธรรม ช่วยให้พ้นทุกข์ได้เลย" ท่านตอบว่า "พละ ๕ อินทรีย์สังวร ๕ มันต้องเกิดพร้อมกัน ถ้ามันเกิดทีละอย่าง มันรู้ไม่ได้หรอกโยม"  ชรอยท่านรู้ว่าคำตอบของท่านจะสูงเกินไป หลายวันต่อมาตอนที่ท่านเดินมาส่งฆราวาสผู้นั้นที่รถ ก่อนที่จะขึ้นรถ ท่านตั้งคำถามว่า "โยม พระพุทธเจ้าออกจากครรภ์พระมารดา แล้วเดินได้ ๗ ก้าว โยมว่าจริงหรือไม่" ฆราวาสผู้นั้นตอบว่า "คงไม่จริงละมั้งหลวงพ่อ คงอุปมาอุปไมยเอา" หลวงพ่อกล่าวต่อว่า"ถ้าโยมไม่เชื่อ โยมผิด และถ้าโยมเชื่อ โยมก็ผิด" ฆราวาสผู้นั้นเล่าในภายหลังว่า "อ้อ สิ่งนี้เองที่ทำให้เขามีความทุกข์มาตลอดชีวิต" อาจารย์ว่าในสังคมปัจจุบัน จะมีสักกี่คนที่เหมือนกับฆราวาสผู้นั้น

คนที่ยังไม่เข้าใจคงมีเยอะค่ะ  P อ.ศิริศักดิ์

ดิฉันว่าอาจารย์น่าจะเขียนเรื่อง "พละ ๕ อินทรีย์สังวร ๕ มันต้องเกิดพร้อมกัน ถ้ามันเกิดทีละอย่าง มันรู้ไม่ได้หรอกโยม" นะคะ เป็นการขยายความน่ะค่ะ  สนใจอ่านน่ะค่ะ ; )

แล้วคนอาจงงว่า ทำไมไก่เกิดก่อนไข่ หรือ ไข่เกิดก่อนไก่ มันเป็นทุกข์ตรงไหนค่ะ....

ขอบคุณอาจารย์นะคะ ที่แวะเข้ามาเสมอ จะรออ่านบันทึกต่อไปค่ะ

ด้วยความยินดีครับ....คงจะได้เขียนเรื่อง"พละ ๕ อินทรีย์สังวร ๕ มันต้องเกิดพร้อมกัน ถ้ามันเกิดทีละอย่าง มันรู้ไม่ได้หรอกโยม"ในโอกาสต่อไป แต่ตอนนี้อยากจะบอกว่า ปัญหา"ไก่เกิดก่อนไข่หรือไข่เกิดก่อนไก่"มันเป็นคำถามที่ไม่มีใครตอบได้หรอกครับ พอคิดปุ๊บก็จะวนเวียนอยู่กับคำถามนี้ จนจิตยึดแน่น เกิดอาการเครียด ปล่อยวางยาก ทั้งยังเป็นการส่งจิตออกนอกอีก เห็นได้ชัดเลยว่าเป็น"สมุทัย" จิตก็เลยเป็นทุกข์ไงครับ...

คราวนี้ชัดเลยค่ะ ค่ะ  P อ.ศิริศักดิ์

เพราะเรามัวไปคิดว่าไก่ก่อน หรือ ไข่ก่อนกันแน่ ทำให้เราหลงประเด็นไป ความคิดไปจับอยู่กับเรื่องที่ไม่ควรเอาจิตไปยึดไว้ เกิดทุกข์โดยใช่เหตุ เพราะ"อยาก"ไปตอบคำถามที่ไม่มีคำตอบ...

คงคล้ายๆกับ ถ้าเราไปเสียเวลาคิดว่า "ทำไมคนทำดี ไม่ได้ดี ทำไมคนชั่วได้ดี..." ประมาณนั้น สู้เอาเวลามาทำดี น่าจะดีกว่า...

ขอบคุณค่ะอาจารย์..ที่แวะเข้ามาขยายความเพิ่มเติม แล้วจะรออ่านเรื่อง พละ๕ กับ อินทรีย์ ๕ นะคะ...

สวัสดีอาจารย์ กมลวัลย์

แหมเผลอนิดเดียว มีเพื่อนๆเข้ามาแสดงความคิดเห็นเพียบเลย ดีมากครับได้เรียนรู้มากจริงๆ

ส่วนตัวเองเคยตั้งคำถามเช่นนั้นเหมือนกัน  แต่ปัจจุบันไม่ถามแล้ว เพราะติดว่า "ธรรม" ไม่ใช่ตัวตนที่มีอิทธิฤทธิ์ดลบันดาลให้ใครต่อใครเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ แต่ "องค์" ของธรรมเป็นสภาวะสะท้อนของแรงการกระทำ หากทำดีก็ดี หากทำไม่ดีก็ไม่ดี ตามเงื่อนไขของเขา ช้าหรือเร็ว แบบไหน อย่างไร ไม่ต้องไปพะวงสงสัย ตั้งหน้าทำดีไปเถอะ  เพียงแต่ว่าคนไม่ดีทำไม่ดีแล้วยังได้ดี มันบาดหูบาดใจเราเท่านั้น ใจเราก็สร้าง อยากให้ตกนรกหมกไหม้ทันตาเห็น  แต่ไม่ใช่อย่างนั้น

ผมเชื่อในกฏของธรรมชาติ Law of Natural Selection ในทางธรรมก็จะเป็นอย่างนั้นเช่นกัน

ใครหนอกล่าวว่าใจคนเหมือนน้ำ ชอบไหลลงที่ต่ำ สังคมก็ไหลลงที่ต่ำ และใครก็เคยกล่าวไว้ว่า ทุกช่วง 2000-3000 ปี จะมีผู้จุติลงมาเตือนสติมนุษย์

ขณะที่เรารู้ตัวทั่วพร้อมระดับหนึ่งจึงต้องเจริญสติกันเป็นประจำ เพื่อวางประเด็นเหล่านั้นลงเสียบ้าง

ไม่เช่นนั้นรัฐบาลต้องแบกภาระรักษาพยาบาลเรามากขึ้นอีกหนึ่งคน เพราะป่วยเป็นประสาทน่ะซีครับ...

สวัสดีค่ะคุณ P บางทราย (คนเข็นครก ขึ้นภูเขา)

พูดถึง natural law of selection แล้วดิฉันก็เชื่อค่ะ ว่าธรรมชาติมีกระบวนการของตัวเองอยู่ เช่น ทุกสิ่งทุกอย่างไม่เที่ยงแท้ มีเกิดมีดับ ไม่มีใครบังคับได้อย่างถาวร ที่เขียนบันทึกนี้ก็เพื่อเตือนสติตนเอง และบางทีอาจกระตุ้นความคิดให้คนอื่นๆ ได้เห็นด้วย

ตอนนี้ที่เสียหายกันเป็นส่วนใหญ่เพราะคนลืมนึกถึงประเด็นความไม่ถาวรของทุกสิ่ง แต่ใช้ชีวิตบนพื้นฐานที่ยึดเอาสิ่งที่ไม่แน่นอน ว่าแน่นอน เช่น ยึดเอาตำแหน่งหน้าตาเป็นสรณะ  พอไม่ตระหนักว่าสิ่งที่อยากนี้มันไม่มีความแน่นอน ก็จะ"อยาก"เป็นกันมาก "อยาก"มีกันมาก เพราะอาจคิดว่าเมื่อได้แล้วจะคงอยู่ตลอด  และที่สำคัญคือ ความอยากต่างๆ มักเป็นการ "อยากได้ อยากมี อยากเป็น" ส่วนตน ไม่ได้ทำเพื่อส่วนรวมหรือคนอื่นเท่าใดนัก

ตอนนี้น้ำอยู่ใน cycle ที่ไหลลงต่ำ แต่ดิฉันก็รู้ว่ายังไงน้ำก็ต้องระเหยกลับขึ้นไปใหม่สู่ที่สูง การระเหยนี้อาจมองไม่เห็นแต่ก็มีอยู่ วงจรนี้ตามพุทธศาสนาบอกว่า 5,000 ปี  : )

ตอนนี้ก็เตือนสติตัวเองเป็นประจำค่ะ ว่าตัวเองกำลังทำอะไรอยู่ และอะไรคือเรื่องที่แน่นอน และอะไรไม่ใช่ค่ะ  ไม่ค่อยยึดติดอะไรมาก ทำหน้าที่ของตัวเองไปเรื่อยๆ  ดิฉันคิดว่าถ้าเราคิดได้อย่างนี้รัฐบาลคงไม่ต้องเสียตังค์มารักษาเราหรอกค่ะ อิ อิ ..

ความ อยากได้ อยากมี อยากเป็น

เป็นแรงกระตุ้นจากสิ่งเร้าขั้นพื้นฐานของชีวิต ที่สร้างแรงขับเคลื่อนให้ชีวิตเป็นไป

ในพุทธศาสนาจัดว่าเป็นกิเลส ระดับ ภวตัณหา ความยินดีอยากได้ ปรารถนาในภพ ชาติ

รากเง้าคือ อกุศลมูลจิตชื่อ โลภะ ครับ

ซึ่งมีระดับความรุนแรง อ่อนแก่ มีโทษมากน้อย โดยดูจากองค์ประกอบของจิตโลภที่เกิดขึ้นว่าประกอบไปด้วยฐานอะไรบ้าง

เช่น จิตโลภที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวันธรรมดา อยากได้ อยากมี อยากเป็น ในสิ่งธรรมดาๆสามัญ และไม่ประกอบไปด้วยความเห็นผิด คือ อยากได้แล้วไปลักของเขา ปล้น ฆ่าทำร้ายเขา

เรียกว่าโลภโดยไม่ผิดศีล จัดเป็นกิเลสเบาบาง มีโทษน้อย ตกเฉพาะเจ้าตัวเท่านั้น แต่หากประกอบด้วยโสมนัสจิต คือ ชื่นชอบยินดีไปด้วย ก็จะมีการยินดีอยากได้แรงมากขึ้น หากเกิดขึ้นบ่อยๆ ก็จะกลายเป็นคนขี้โลภ หรือเรียกว่าโลภะจริต

แต่ถ้าหากประกอบด้วยความเห็นผิดและยินดีมากในความอยากได้นั้น ระดับความรุนแรงของจิตโลภก็จะมากขึ้น จนสามารถไปประกอบกรรมทำชั่วกับผู้อื่นได้ มีโทษทั้งต่อตนเองและผู้อื่น

คนปกติ ไม่ค่อยเห็นโทษในโลภะประเภทแรก แต่เห็นโทษเฉพาะประเภทหลัง จึงเกิดการสั่งสมโลภะประเภทแรกมาก จนอาจก่อให้เกิดความเห็นผิดและยินดีในความอยากได้นั้นมากขึ้นในภายหลังได้

ส่วนผู้ปฏิบัติธรรมนั้น เมื่อเจริญสติอยู่เนืองๆ ก็จะเห็นจิตโลภะชัดเจน แม้ว่ามีโทษน้อย คือ ยินดีน้อย ก็ตาม พึงขจัดออก มิให้อยู่นาน และสำรวมระวังมิให้เกิดขึ้นอีก เกิดขึ้นบ่อยในชีวิตประจำวัน

เมื่อเจริญสติแก่กล้ามากเข้า ก็แยกแยะจิตออกว่า จิตอยากได้ ขณะใด เป็นโลภะ ขณะใดเป็นฉันทะ

คือ...จิตอยากได้บางขณะเป็นแค่เกิดจิตที่อยากได้เฉยๆ โดยไม่มีความวิริยะ และปัญญาที่ทำเหตุที่จะได้มาซึ่งผลที่อยากได้นั้น เช่น อยากบรรลุธรรมแต่ขี้เกียจไม่ปฏิบัติ อยากสอบได้ แต่ไม่หมั่นศึกษา อยากเลื่อนขั้นเลื่อนตำแหน่ง แต่ไม่เพียรทำงาน ไม่รับผิดชอบงานให้ดี...อย่างนี้จัดเป็น โลภะล้วนๆ

แต่...หากเกิดจิตอยากบรรลุธรรม แล้วหมั่นพากเพียรปฏิบัติ รักาศีล เจริญสมาธิ เจริญปัญญา อยากสอบได้ แล้วเพียรศึกษา อยากเลื่อนขั้นเลื่อนตำแหน่ง หมั่นศึกษางาน สร้างผลงานดี อย่างนี้ จัดว่าเป็นฉันทะ ไม่ใช่โลภะ

โลภะจึงอุปมาเหมือนเด็กที่ร่ำร้องอยากกินขนม

ฉันทะ อุปมาเหมือนผู้ป่วยจำต้องกินยา ฉันใด ฉันนั้น

ส่วน พละ ๕ อินทรีย ๕ นั้น ยืนยันต้องเกิดพร้อมกันแน่ครับ

เพราะเป็นการเกิดขึ้นของจิตในขณะที่มีสภาพกำลังกุศลของพละและอินทรีย์เข้าประกอบ และมิใช่เกิดขึ้นง่ายๆครับ ต้องเจริญสติปฏิบัติธรรมบ่มสภาพกุศลมาตามลำดับ จนสภาพจิตกุศลแก่กล้า สิ่งที่เรียกว่า อินทรีย ๕ พละ ๕ จึงจะเกิดขึ้นครับ

เป็นภาวะจิตที่พร้อมในการเข้าสู่การบรรลุธรรมเบื้องต้น เป็นองค์ธรรมส่วนหนึ่งใน โพธิปักขิยธรรม ๓๗ ประการครับ อาจต้องอธิบายยาว และประกอบตัวอย่างธรรมปฏิบัติจึงจะเข้าใจง่ายครับ ขออนุญาตกล่าวถึงภายหลังหากสนใจครับ

 

สวัสดีค่ะ อ. P พิชัย กรรณกุลสุนทร

ขอบคุณค่ะอาจารย์ที่ช่วยอธิบายความแตกต่างระหว่างโลภะกับฉันทะนะคะ กระจ่างขึ้นเยอะเลยค่ะ สำหรับตัวเองสามารถแยก ๒ อย่างนี้ที่เกิดขึ้นกับตัวเองได้อย่างชัดเจนค่ะ แต่ไม่รู้ว่าอีกอย่างเรียกว่าฉันทะค่ะ แม้ว่าจะเคยได้ยินมาก่อน ; )  คล้ายกับว่าพออาจารย์พูดให้ฟังก็เข้าใจทันทีค่ะ ว่ามันเป็นอย่างนี้เอง...

ตอนนี้ยอมรับเลยว่ามีฉันทะกับการปฏิบัติธรรมมากค่ะ แต่เป็นพวกปฏิบัติไปเรื่อยๆ ไม่ค่อยได้ศึกษาแบบเป็นเรื่องเป็นราว ได้มาเขียนใน G2K ก็ได้ความรู้มากขึ้นเรื่อยๆ จากการแลกเปลี่ยนในนี้ค่ะ

เมื่อวาน อ.ศิริศักดิ์เขียนเรื่อง "พละ ๕ อินทรีย์ ๕" แล้วค่ะ เชิญอาจารย์ลองแวะไปเยี่ยมชมนะคะ อ้อ..อาจารย์ศิริศักดิ์นี่แหละค่ะที่เป็นอาจารย์สอนธรรมะ และเป็นผู้ช่วยชี้นำให้ดิฉันเข้ามาปฏิบัติธรรมค่ะ ชวนให้อาจารย์ศิริศักดิ์ไปอ่านบันทึกของอาจารย์แล้วนะคะ

รู้จักอาจารย์สอนหลายๆ คนเนี่ยรู้สึกปิติมากๆ เลยค่ะ รู้สึกว่าเดินทางถูกจริงๆ..ขอบคุณอาจารย์ที่แวะมาให้ข้อคิดเห็นนะคะ..จะพยายามเขียนบันทึกเพิ่มเติมต่อไป ฝากให้อาจารย์ช่วยชี้แนะด้วยนะคะ ถ้ามีเวลา ขอบคุณค่ะ ; )

สวัสดีครับอาจารย์

ต้องรบกวนขอ ลปรร อีกรอบนะครับ เพราะมันโดนเกี่ยวกับประสบการณ์ของผมพอดี คืออยากจะพูดว่าสิ่งที่เป็นเป้าหมาย น่าจะเป็นสภาวะธรรมนะครับ และตามที่รู้มา ก็คือการเจริญมหาสติปัฏฐานก็ต้องเริ่มจากการปลุก อินทรีย์ 5 และ พละ 5  ทีนี้ตอนเริ่มต้นวิปัสสนาจารย์ท่านบอกคนส่วนใหญ่จะไม่มีสมาธิมากพอที่จะกำหนดสติที่เป็นปัจจุบันได้ เห็นได้จากถ้านั่งก็จะนั่งไม่ได้นานจะรู้สึกอึดอัด ต้องมีการ ทำสมถะบางส่วนก่อนเพื่อให้เกิดสมาธิพอเกิดความสงบก็จะสามารถกำหนดสติได้นานขึ้น แต่ถ้ามีสมาธิมากจนเกินไปก็จะง่วง ซึม เหมือนคนนั่งสมาธิไปนานๆแล้วหลับ  ต้องแก้ด้วยการทำวิริยะ คือการเดินจงกรมหรือการกำหนดอิริยาบทย่อยให้มีการตื่นตัว(วิริยะ) การปฏิบัติแบบนั่งสมาธิและเดินจงกรมก็มีหลักการปรับอินทรีย์อย่างนี้ครับเท่าที่รู้มา พออินทรีย์5 ได้สมดุลก็จะเกิดสภาวะญาณเกิดขึ้น ที่ผมบอกว่าอาจารย์ญาณ 16  ตั้งแต่นามรูปะปริจเฉทญาณ ถึง ปัจจเวกขณะญาณ แต่ระหว่างปฏิบัติ ญาณก็จะมีขึ้นลงเสื่อมและเจริญ พอครบญาณ 16 ก็จะเกิด ผลสมาบัติ จะสามารถทวนญาณ ซึ่งจะสามารถทำได้ตลอดที่นั่ง และผลก็คือการเปลี่ยนสภาพทางจิตไป ผู้ปฏิบัติจะรู้ ซึ่งทั้งหมดเป็นประสบการณ์ทั้งหมด ไม่สามารถเขียนเป็นคำพูดได้

ความคิดที่ว่า ญาณไม่มีความสำคัญในส่วนตัวผมคิดว่าไม่ถูกต้องนักเพราะญาณคือหลักฐานที่จะบอกถึง progress ของการปฎิบัติธรรม แต่มันสิ่งที่คนส่วนมากไม่รู้ว่าจะเข้าถึงอย่างไร ทั้งหมดนี้คงเป็นการปฏิบัติธรรมส่วนที่เป็นการเจริญภาวนาที่เป็นการนั่งวิปัสสนาและการเดินจงกรม ส่วนที่ปฏิบัติที่เฝ้าตามดูจิตหรือให้ทันจิตผมก็ไม่ทราบว่าจะรู้ได้อย่างไรว่าถึงไหนแล้ว เพราะผลคือผลสมาบัติซึ่งมีความสำคัญมากแต่คนส่วนใหญ่ไม่ทราบว่าคืออะไรและทำไมต้องทำให้เกิดด้วย ถ้าเราปฎิบัติแล้วทุกข์น้อยลงน่าจะใช้ได้ใช่ไหมครับ ก็เป็นเรื่องที่น่าเสียดาย ถ้าอาจารย์สนใจ หนังสือวิปัสสนาวงศ์ ของ พระพรหมโมลี (วิลาศ ญาณวไร ป.ธ. ๙) ก็จะทราบ background ทั้งหมดครับในส่วนของความเป็นมา ส่วนการปฏิบัติก็เป็นหนังสือ วิปัสสนานิยม ของอาจารย์ ธนิต อยู่โพธิ์ ครับ

สวัสดีค่ะคุณ P ฉัตรชัย

ขออนุญาตไปศึกษาเพิ่มเติมก่อนได้ไหมคะนี่ อ.ศิริศักดิ์ขา อ.พิชัยขา ช่วยตอบด้วยค่ะ ; )

ไม่ค่อยเข้าใจที่คุณฉัตรชัยว่า "เป้าหมาย น่าจะเป็นสภาวะธรรม" เท่าไหร่ค่ะ

ส่วนเรื่อง"เจริญมหาสติปัฏฐานก็ต้องเริ่มจากการปลุก อินทรีย์ 5 และ พละ 5" นั้น ก็พอจะเข้าใจตามที่ อ.ศิริศักดิ์เขียนไว้ในเรื่อง "พละ ๕ อินทรีย์ ๕" ค่ะ แล้วก็ที่คุณฉัตรชัยอธิบายไว้ในข้อคิดเห็นก็เห็นด้วยค่ะ ว่าถ้าทำตามเป็นขั้นๆ ก็น่าจะเกิดแบบนั้นจริงๆ

แต่เรื่องที่ถ้า พละ๕ อินทรีย์๕ สมบูรณ์แล้วจะเกิดญาณนั้น ไม่รู้เรื่องอะไรกับเขาเลยค่ะ ญาณกี่ขั้นก็ไม่รู้จักเท่าใดค่ะ เพราะตัวเองเป็นพวกปฏิบัติแบบลูกทุ่ง ไม่เคยไปเข้าปฎิบัติที่วัด หรือมีอาจารย์สอนเป็นเรื่องเป็นราวเลยค่ะ รู้แต่ว่าตัวเองมีสติตามการกระทำของตัวเองทัน บางครั้งแยกความรู้สึกของตัวเองออกได้เป็นส่วนๆ เท่านั้นค่ะ แล้วการปฏิบัติเช่นนี้ทำให้ชีวิตประจำวันเบา สบายและสงบขึ้นมากๆ ค่ะ : )

ที่คุณฉัตรชัยบอกว่า "ถ้าเราปฎิบัติแล้วทุกข์น้อยลงน่าจะใช้ได้ใช่ไหมครับ " ก็ขอตอบว่าน่าจะใช่ค่ะ เพราะของตัวเองตอนนี้พบว่าทุกข์กายเกิด (เพราะมันต้องเกิด เช่น ปวดหัวตัวร้อน) แต่ไม่ทุกข์ใจ  มีทุกข์ใจก็จะดับได้เร็วค่ะ  แต่ก็ไม่รู้เหมือนกันว่าตัวเองปฏิบัติได้ขั้นไหนแล้วหรือดีเพียงใด แต่ดิฉันว่าเรื่องทำได้มากขั้นไหนแล้วยังไม่ต้องไปสนใจก่อนก็คงได้กระมังคะ เอาให้อยู่กับปัจจุบันก่อนก็คงพอ (สำหรับตัวเองค่ะ)

เรื่องที่คุณฉัตรชัยถามแล้วดิฉันให้คำตอบไม่ได้ น่าจะถาม อ. P พิชัย กรรณกุลสุนทร ดูนะคะ ท่านอาจารย์น่าจะตอบได้ดีกว่าดิฉันมากๆ เลยค่ะ เพราะดิฉันก็เล่าได้เพียงประสบการณ์แบบลูกทุ่งเท่านั้นค่ะ ขอบคุณที่มาแลกเปลี่ยนอีกครั้งนะคะ อ้อ..แล้วก็แนะนำหนังสือด้วยค่ะ

อ่านที่อาจารย์เขียนได้ข้อคิดนะคะ

ว่าทุกข์เพราะความอยากแท้ๆเชียว

และ ยิ่งอยากแล้วหวังแต่ผล ไม่ได้ดูวิธีการด้วยแล้ว

ยิ่งทำให้ตนเอง และ

คนอื่นถูกกระทบ มีทุกข์ไปด้วยเลยค่ะ

ขอบคุณนะคะ สำหรับบทความดีๆค่ะ

สวัสดีค่ะคุณหมอ P ซันซัน

ดีใจที่บันทีกเป็นประโยชน์ค่ะ ที่เขียนเพราะรู้สึกอย่างนี้จริงๆ และเห็นอย่างนี้จริงๆ ว่าความอยากนี้ทำให้เกิดทุกข์ ขั้นแรกก็กับตัวเราก่อนแล้ว เช่น สมมติว่าเราอยากสวย แต่บังเอิญเราก็หน้าตาธรรมด๊า..ธรรมดา ทำยังไงก็ไม่แจ่ม หน้าไม่ใสปิ๊ง : ) แบบดารา  คราวนี้ก็......ทำให้สวยกว่านี้ไม่ได้ไงคะ ทุกข์เลย 5555 พอเจริญสติ เข้าใจ ก็จะรู้ว่าสังขารไม่เที่ยง นับวันจะมีแต่ เหี่ยวหนอ เหี่ยวหนอ  ก็รู้ว่าอยากไปก็ไร้ประโยชน์ ถ้ายังอยากสวยอยู่บ้างก็รักษาผิวหน้า ไม่ให้พังเร็วก่อนเวลาประมาณนั้น แทนที่จะไปดึงหน้าเพราะอยากสวย... วิธีการที่ใช้มันผิดกันเยอะ ความทุกข์ที่จะเกิดก็ต่างกันเยอะ : )

ที่พูดมาเป็นยกตัวอย่างนะคะ นึกถึงตอนบางครั้งตัวเองส่องกระจกแล้วเกิดความอยาก..... 55555 บางทีดูสารคดีของฝรั่งที่เขาไปดึงหน้ากัน เห็นแล้วหนาวเลยค่ะ...ความอยากหายหมด ตอนนี้แค่เดินไปไหนไม่มีคนเหลียวหลังมามองเพราะตะลึงก็ ok แล้วค่ะ ; )

ขอบคุณที่แวะมาเยี่ยมนะคะ ; )

สวัสดีครับอาจารย์กมลวัลย์และคุณฉัตรชัย

เห็นใจอาจารย์กมลวัลย์ที่เจอคำถามที่เป็นปริยัติมากเกินไป เพราะอาจารย์เป็นนักปฏิบัติที่อาศัย"ปัญญาบารมี" ใช้เวลาไม่นานไม่ต้องศึกษาทฤษฎีมากมายก็มีความก้าวหน้าในธรรมมาก

ขอให้ความคิดเห็นแก่คุณฉัตรชัยแทนอาจารย์กมลวัลย์ก็แล้วกันนะครับ

"ญาน ๑๖" ปรากฏอยู่ใน"คัมภีร์วิสุทธิมรรค"แต่งโดย พระพุทธโฆษาจารย์ ประเทศศรีลังกา ในปี พ.ศ. ๙๐๐ซึ่งได้เผยแผ่เข้ามาในพม่าก่อน เพิ่งจะเข้ามาในไทยยังไม่ถึง ๑๐๐ ปี โดยสมเด็จพระพุฒาจารย์(พระพิมลธรรม)เจ้าอาวาสวัดมหาธาตุฯขณะนั้นได้นิมนต์พระอาจารย์จากพม่า(พระอาจารย์ภัททันตะอาสภเถระ)มาอบรมการปฏิบัติกรรมฐานให้พระสงฆ์ไทย

"ญาน ๑๖" หมายถึง วิปัสสนาญาน ๑๖ ขั้นที่ใช้ประหารกิเลส สำเร็จอรหันต์ ดังที่ปรากฏอยู่ในหนังสือสอน"วิปัสสนา"ทั่วไป

หนังสือ"คัมภีร์พระธรรมสามตระกร้า"ของหลวงตาเทพ สัมมา ซึ่งเป็นพระปฏิบัติรูปหนึ่ง ได้แสดงข้อโต้แย้งไว้ว่า "วิปัสสนาญานมีเพียง ๙ ขั้น" แม้แต่ญานที่ ๑ "นามรูปปริจเฉทญาน" ท่านพระพุทธโฆษาจารย์ก็แปลความหมายผิดเสียแล้ว เนื่องจากไปแยก "นามรูป"ออกเป็น "รูปกับนาม" แท้ที่จริงต้องมีความหมายว่า"รูปของนาม" ซึ่งหมายถึง"ความคิด"นั่นเอง ยังมีข้อโต้แงที่น่าสนใจอีกมากในหนังสืดเล่มนี้ แต่ไม่ใช่ประเด็นที่ผมอยากจะพูด

ทำไมคำสอนเกี่ยวกับ "ญาน ๑๖" ในหลายสิบปีที่ผ่านมายังทำให้ผู้ปฏิบัติธรรมมีความก้าวหน้า บางคนก็สามารถบรรลุธรรมได้ เรื่องนี้จึงจะเป็นเรื่องที่น่าสนใจ

ลองคิดดูด้วยตัวเองนะครับว่า ถ้าเราตกจากที่สูงมากๆลงมากระทบพื้น ขณะที่ตกลงมาได้ผ่านตึกสูง ๑๖ ชั้นตึกหนึ่ง โดยแต่ละชั้นจะมีป้ายชื่อติดเอาไว้ด้วย สมมติว่ามีเบาะวิเศษรองรับเอาไว้ ทำให้เรารอดชีวิต ถ้ามีคนถามเราว่า เมื่อกี้ตกผ่านตึกกี่ชั้น แต่ละชั้นชื่ออะไร เราจะตอบได้ไหมครับ?

การรู้ปริยัติบ้างเป็นสิ่งที่ดี แต่ถ้าจะปฏิบัติให้ได้ผลต้องทิ้งตำราให้หมด

ความก้าวหน้าของการปฏิบัติธรรมให้สังเกตที่จิตตนเองว่าความทุกข์ลดลงมากน้อยแค่ไหน หรือปลอดโปร่งแค่ไหน ถ้าบอกว่าตัวเองได้ญานขั้นโน่นขั้นนี้แล้ว น่าจะเป็นการท่องจำได้มากกว่า

ศิษย์ฆราวาสผู้หนึ่ง(ปัจจุบันบวชเป็นพระแล้ว)ได้เล่าการดูจิตของตนเองให้หลวงปู่ดูลย์ฟัง พอเล่าถึงตอนที่ว่า "สติละเอียดเหมือนเคลิ้มๆไป" หลวงปู่อธิบายว่า "จิตผ่านญานทั้ง ๘" ฆราวาสผู้นั้นได้แย้งว่า "ผมไม่ได้หัดเข้าญาน และไม่ได้ตั้งใจจะเข้าญานนะครับหลวงปู่" หลวงปู่เลยอธิบายให้ฟังว่า "ถ้าตั้งใจก็ไม่ใช่ญาน และขณะจิตผ่านญานอย่างรวดเร็วนั้น จิตจะไม่มานั่งนับว่าผ่านญานอะไรอยู่"

คงจะทำให้คลายความกังวลลงได้บ้างนะครับ

ขอให้ก้าวหน้าในธรรมขึ้นเรื่อยๆนะครับ

ต้องขอลปรร อีกหน่อยนะครับ ที่ผม postคือผมอยากนำเสนอข้อมูลที่ได้รับมาและเป็นประสบการณ์ครับ และอยากบอกข้อมูลส่วนนี้มาก ถ้าเป็นประโยชน์แก่ท่านผู้ใด ก็ขอนำไปใช้เถิดครับ ที่อาจารย์ศิริศักดิ์กล่าวว่า จะปฎิบัติได้ผลต้องทิ้งตำราให้หมดนั้นเป็นสิ่งที่ถูกต้องครับคือจิตที่ปรุงแต่งอยู่นี้ถ้าไปยึดตำราก็เพิ่มการปรุงแต่งไม่สงบคือฟุ้งอยู่ก็ไม่เกิดสมาธิในการปฏิบัติ แต่ที่อาจารย์บอกว่า การเกิดญาณจะบอกได้ไหมว่าผ่านญาณไหน ต้องบอกว่าถ้าบางท่านปฎิบัติแบบนั่งวิปัสสนาจะสอบได้ตั้งแต่ญาณ 4 เป็นต้นไป ถ้าผ่านทั้งญาณ16 จะสามารถทวนญาณได้ เพราะแต่ละญาณมีอารมณ์วิปัสสนาอยู่ ที่วิปัสสนาจารย์ต้องมีการสอบอารมณ์คือสอบอารมณ์วิปัสสนานี่ละครับ  การทวนญาณก็จะสามารถทำวสีได้คือสามารถสลับญาณได้ที่สำคัญคือ พอผ่านญาณทั้ง 16 ก็จะเกิดผลสมาบัติ อารมณ์ของญาณมีการเปรียบเทียบอยู่ในหนังสือ แต่วิปัสสนาจารย์จะบอกห้ามอ่านให้เกิดขึ้นเอง ประสบเอาเอง ต้องปล่อยวาง

 พอพูดข้อมูลส่วนนี้ขึ้นก็เข้าใจว่าทำให้หลายท่านที่ได้อ่านเกิดนิวรณ์ขึ้นต้องขอประทานโทษเป็นอย่างสูงครับ แต่ถ้าไม่พูดเลย ก็เหมือนความจริงที่มีอยู่มันก็อยู่อย่างนั้นไม่ได้ใช้ประโยชน์ นี่เป็น ส่วนที่สำคัญที่สุดในวิสุทธิมรรคก็คิดว่าคงจะพอแค่นี้ล่ะครับที่จะพูดสำหรับเรื่องนี้ และเป็นส่วนที่มีในการปฏิบัติแบบการนั่งวิปัสสนาและเดินจงกรม ถ้าท่านผู้ใดสนใจ ก็ไปปฏิบัติที่ฝ่ายวิปัสสนาธุระ มหาจุฬาได้ ส่วนวิเวกอาศรม รู้มาว่าท่านอาจารย์อาสภะไม่อยู่ที่นั้นแล้ว อีกทั้งท่านชรามาก    แต่เหมือนกับที่บอกละครับผมเคยมีเพื่อนฝรั่งที่เขาไม่ได้นั่งสมาธิและเดินจงกรม แต่เจริญสติแล้ววิปัสสนาจารย์สอบอารมณ์พบว่าเขาผ่านญาณ 16 แล้วโดยการให้เขาลองมานั่งวิปัสสนาแล้วก็สอบอารมณ์ในเวลาแค่คืนเดียว ก็เป็นไปได้ว่าท่านที่เจริญสติสามารถบรรลุธรรมได้ ที่จริงผมก็อยากบอกแค่ในส่วนที่รู้มา ต้องขอประทานโทษอาจารย์อีกครั้งนะครับ ไม่ได้มีเจตนาอื่นเลย

สวัสดีค่ะคุณฉัตรชัย

: ) ยินดี ลปรรเสมอค่ะ ไม่ต้องกังวลเลยนะคะ ไม่ต้องขอโทษด้วยค่ะ เพราะไม่มีอะไรต้องขอโทษเลยค่ะ เราแลกเปลี่ยนกันก็ดีอยู่แล้วค่ะ เป็นข้อมูลสำหรับทุกคนที่เข้ามาอ่าน (แต่ยอมรับค่ะว่าตัวเองอ่านไม่เข้าใจทั้งหมดในตอนแรก ต้องไปหาข้อมูลมาเพิ่มค่ะ เพราะพอพูดศัพท์เยอะ ดิฉันก็ blank... ค่ะ  5555 แต่ทำให้ดิฉันไปศึกษาเพิ่มเติมไงคะ ซึ่งดีมากเลย) แล้วก็ที่อ.ศิริศักดิ์ มาช่วยตอบก็เพราะดิฉันขอให้อ.ศิริศักดิ์ มาช่วยอ่านแล้วก็ช่วยตอบเสริมน่ะค่ะ (พอดีทำงานอยู่มหาวิทยาลัยเดียวกัน เจออาจารย์เลยบอกให้อาจารย์มาช่วยเสริมค่ะ) อาจารย์ก็เลยกรุณามาช่วยตอบค่ะ

แล้วก็..บางทีเขียนข้อคิดเห็นกันสั้นๆ อาจทำให้สับสนได้ค่ะ เพราะบรรยายไม่ครบตามที่คิดไว้ในหัวค่ะ : ) เป็นอยู่บ่อยเลย เวลาเขียนแล้ว กลับมาอ่านหลังจาก post ไปแล้ว ก็..อ้าว...เขียนไม่ครบแฮะ : ) แต่ก็ไม่เป็นไรหรอกค่ะ อย่างที่คุณฉัตรชัยว่า เราเจตนาดีค่ะ

ขอบคุณที่แวะเข้ามา ลปรร เสมอนะคะ..

 

สวัสดีค่ะ  P อ.ศิริศักดิ์

ขอบคุณอาจารย์มากเลยนะคะ ที่มาช่วยตอบค่ะ แล้วก็ขอบคุณที่อาจารย์ชมว่าดิฉันมี"ปัญญาบารมี"ด้วยค่ะ อิอิ ภูมิใจค่ะ จะเป็นลูกศิษย์ปฏิบัติดีๆ ต่อเนื่องค่ะอาจารย์

ชอบที่อาจารย์เขียนไว้ว่า "การรู้ปริยัติบ้างเป็นสิ่งที่ดี แต่ถ้าจะปฏิบัติให้ได้ผลต้องทิ้งตำราให้หมด" เพราะไม่ค่อยมีหนังสือให้ทิ้งค่ะ ส่วนใหญ่ก็รับมรดกมาจากอาจารย์ทั้งนั้น 5555 พูดเล่นค่ะ.... 

หนังสือที่อาจารย์ให้มา ดิฉันมักกลับไปพลิกดูบางเล่มตอนว่างๆ ค่ะ เอามาอ่านทบทวนอีก เพราะพบว่าคราวที่แล้วอ่านไม่รู้เรื่อง แต่ตอนหลังอ่านรู้เรื่องค่ะ : ) สงสัยพอปฏิบัติถึงจุดหนึ่ง ก็จะเข้าใจตรงที่ครั้งที่แล้วยังไม่มีปัญญามาเข้าใจค่ะ

ขอบคุณนะคะอาจารย์ที่แวะมา ลปรร ได้ประโยชน์มากเลยค่ะ ถ้ามีอะไรแนะนำอีก เชิญได้เลยนะคะ หรือจะเปิดประเด็นเป็นบันทึกใหม่ก็ได้ค่ะ จะตามไปอ่านค่ะ..


ขออนุญาตแลกเปลี่ยน ตามคำเชิญครับ

 ผมเข้าใจที่คุณฉัตรชัยพูดครับ ที่ว่า "เป้าหมายการปฏิบัติ คือสภาวธรรม" คำว่าสภาวธรรมมีความหมายลึกซึ้งทั้งทางกว้างและเจาะจงหลายระดับขึ้นอยู่กับผู้ปฏิบัตินั้นๆกำลังปฏิบัติอยู่ในระดับใด
 
 สภาวธรรม หมายถึงสิ่งที่เกิดขึ้นทั้งทางกายและทางใจ ในขณะปฏิบัติธรรมให้ผู้ปฏิบัติธรรมรับรู้ได้ บางครั้งก็เรียกว่าอารมณ์ของกรรมฐาน หรือสภาพธรรมที่เกิดขึ้นตามความเป็นจริงของรูปนาม

 สภาวธรรม ในระยะเริ่มแรกของการปฏิบัติธรรม ได้แก่สิ่งที่เกิดขึ้นทางกายและทางใจ เมื่อผู้ปฏิบัติเจริญสติทางกาย ที่เรียกว่า กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน คือการเฝ้าดูกายในกาย เช่น การกำหนดอานาปานสติ หรือลมหายใจ การกำหนดพองยุบ เป็นการดูอาการของกายที่เคลื่อนไหว ในอิริยาบถใหญ่ต่างๆ การยืน เดิน นั่ง นอน และการเคลื่อนไหวทางกายในอิริยาบถย่อย คู้ เหยียด กระพริบตา กลืนน้ำลาย เหล่านี้เป็นอารมณ์กรรมฐานที่ผู้เจริญสติเฝ้าติดตามดูและติดตามรู้ เป็นการสังเกตุพฤติกรรมทางกาย เรียกง่ายๆ ว่าการเฝ้ากำหนดดูอาการเคลื่อนไหวทางกายอยู่เนืองๆ

 เมื่อเฝ้าดูกายอยู่เสมอ ผู้ปฏิบัติก็จะเห็นสภาพทุกขเวทนาที่เกิดขึ้นทางกาย เช่น อาการปวด เมื่อย เหน็บชา เป็นอารมณ์ที่เกิดขึ้นติดตามมา เรียกว่าการกำหนด เวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน เป็นการเฝ้าดูความเป็นจริงที่เกิดขึ้นของเวทนาทางกายและเวทนาทางใจต่อเนื่องกัน

 เมื่อจิตเกิดการรับรู้เวทนาทางกายและทางใจ จิตก็จะเกิดจิตที่ขุ่นมัว หงุดหงิด โกรธ เรียกว่าจิตโทสะ หรือเมื่อจิตยินดีในอารมณ์ ติดใจในอารมณ์ที่เกิดขึ้น
เช่น ความสุขทางกายหรือทางใจ เรียกว่าจิตโลภะ เป็นการกำหนดจิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน ให้รู้เท่าทันจิตที่เสวยอารมณ์ต่างๆ

 ในขณะที่เจริญสติอยู่นั้น โดยเฉพาะในการนั่งสมาธิ จะเกิดสิ่งที่ผู้ปฏิบัติต้องฝึกเรียนรู้ สภาวธรรมของจิต คือ นิวรณ์ธรรม ที่จะเกิดขึ้นทำให้จิตเศร้าหมอง เช่น
ฟุ้งคิด ง่วงเซาซึม ความคิดประหวัดถึงสิ่งที่ยึดติดชอบใจในกาม หงุดหงิด โกรธ พยาบาท จิตที่ลังเลสงสัย เหล่านี้ เป็นสิ่งที่ผู้ปฏิบัติต้องเรียนรู้เพื่อเข้าใจในความเป็นจริงของจิตที่เป็นไปกับอารมณ์ต่างๆ เรียกว่า การเจริญธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน นี้ก็เรียกว่าอารมณ์กรรมฐานหรือสภาวธรรมได้เช่นกัน

 สิ่งที่ผู้ปฏิบัติเฝ้าเพียรกำหนดดูรู้อยู่อย่างนั้น ก็จะเกิดสภาวธรรม คือสภาพกุศลขึ้นในจิต เช่น ความอดทน ความพากเพียร ขันติ ที่อดทนสู้กับอารมณ์ต่างๆที่ไม่พึงปรารถนา ทำให้ผู้ปฏิบัติเข้าใจในเรื่องของการสำรวมระวังในการรับและรู้อารมณ์ที่เข้ามากระทบอยู่เนืองๆ เป็นการระวังอกุศลมิให้เกิดขึ้นแก่จิต และเฝ้าระวังรักษาทวารต่างๆในการรับอารมณ์อยู่เสมอ เรียกว่า เกิดอินทรียสังวรศีล อันเป็นศีลของผู้ปฏิบัติธรรม

 องค์ธรรมได้แก่ การเจริญธรรมหมวด สติปัฏฐานสี่ อิทธิบาทสี่และสัมมัปปธานสี่

 หรือในขณะที่จิตเกิดสมาธิขึ้น ทางกายจะเกิดอาการสั่นไหว โยกเยก หมุน กระเพื่อม ร้อน หนาว หนัก เบา ตึง หย่อน อันเป็นสภาวธรรมของธาตุสี่ คือ ดิน น้ำ ลมไฟ ปรากฏขึ้นมาแสดงความจริงของกาย เรียกว่าธรรมปีติ และในบางครั้งอาจเกิดนิมิต แสงสี ภาพ เกิดขึ้นทางจิต ซึ่งผู้ปฏิบัติต้องเรียนรู้ในความเป็นจริงโดยกำหนดรู้และปล่อยวางไม่ยึดติดว่าเป็นสภาวธรรมขั้นสูง

 ตรงนี้แหละ เป็นช่วงการปรับอินทรีย์ คือ การเจริญอินทรีย์ ๕ พละ ๕  ได้แก่ การปรับศรัทธาและปัญญา วิริยะและสมาธิ ให้เสมอกัน โดยมีสติเป็นผู้เฝ้าดูและกำกับ จัดเป็นการเจริญธรรมหมวด อินทรีย์ ๕ พละ ๕

 จนกระทั่ง ผู้ปฏิบัติเริ่มเรียนรู้และเข้าใจในหลักการเจริญสติ ละทิ้งความยินดีติดใจในธรรมปีติทั้งปวง โดยหันมากำหนดรู้ในรูปนามอย่างจริงจัง ผู้ปฏิบัติจะเกิดสติและสมาธิ ว่องไวคมกล้า มีกำลังยิ่งขึ้น จนเห็นธรรมชาติของรูปและนามตามความเป็นจริง สามัญญลักษณะของรูปและนาม คือ อนิจจัง ทุกขังและอนัตตา เรียกว่าเข้าสู่ สภาวธรรมจริงแท้ (ปรมัตถธรรม)

 ตรงนี้ เรียกได้ว่าเป็นสภาวธรรมขั้นวิปัสสนาญาณ(ปัญญารู้แจ้งในรูปและนามตามความเป็นจริง)

 ลำดับต่อไปเป็นการปฏิบัติอย่างเข้มข้นเพื่อเข้าสู่สภาวธรรมเบื้องสูง ที่เป็นลำดับของ ญาณ๑๖ (โสฬสญาณ) ดังที่กล่าวมา ซึ่งผมขออนุญาตละเว้นจะกล่าวถึงรายละเอียด เพราะเป็นเรื่องยากและไม่สมควรเล่า(เป็นเรื่องเฉพาะระหว่างผู้ปฏิบัติธรรมตรวจสอบกับอาจารย์ผู้สอนเท่านั้น)

 ซึ่งกล่าวได้โดยย่อว่า เป็นการเจริญสติ วิริยะ สมาธิ ศรัทธาและปัญญา ทั้งในแง่ความเป็นใหญ่และกำลัง ให้เกิดดุลยภาพในจิตแต่ละขณะ เป็นจิตที่สะอาดเต็มไปด้วยสภาพกุศล ปราศจากนิวรณ์และเกิดปัญญาเห็นคล้อยตามความเป็นจริงของรูปและนามที่กำหนดรู้อยู่ คือ รู้อนิจจัง หรือ รู้ทุกขัง หรือ รู้อนัตตา

 กุศลธรรมขั้นสูงเกิดขึ้น ได้แก่ โพชฌงค์ ๗ ได้แก่ สติสัมโพชฌงค์ ธัมมวิจะยะสัมโพชฌงค์ สมาธิสัมโพชฌงค์ ปีติสัมโพชฌงค์ อุเบกขาสัมโพชฌงค์ ปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ สติสัมโพชฌงค์

 ต่อจากนี้ เมื่อจิตเต็มไปด้วยพลังสภาพกุศลของธรรมในหมวดต่างๆที่เกิดขึ้นหนุนเนื่องจิตในแต่ละขณะ เมื่อพร้อมเต็มที่ จิตจะแล่นเข้าสู่มรรคจิต ผลจิต ทันที
            
 เรียกว่าเกิด มรรค ๘ ในจิตขณะเดียว เป็น มรรคสมังคี (กุศลเจตสิก ๘ เกิดพร้อมกันในจิตดวงเดียว)
             
ฉับไวเหมือน ช้างกระดิกหูหรืองูแลบลิ้น(สำนวนอุปมาของโบราณาจารย์)

 หากพิจารณาจากองค์ธรรม ได้แก่การเจริญ โพธิปักขิยธรรมทั้ง ๓๗ ประการ ได้แก่
              
สติปัฏฐาน ๔ อิทธิบาท ๔  สัมมัปปธาน ๔ (๑๒)

อินทรีย์ ๕ พละ ๕ (๑๐)

โพชฌงค์ ๗ (๗)

มรรค ๘ (๘)

รวมเป็นองค์ธรรมทั้ง ๓๗ ประการ ให้เกิดขึ้นอย่างบริบูรณ์นั่นเอง

       พอเท่านี้ก่อนนะครับ หากจะเอาละเอียดกว่านี้ เชิญมาปฏิบัติ หรือไปเรียนพระอภิธรรมครับ ก่อนที่ผมมือจะหงิกไปเสียก่อน

สวัสดีค่ะ อ. P พิชัย กรรณกุลสุนทร

อาจารย์คะ ขอกราบขอบพระคุณในธรรมทานนี้มากค่ะ ที่ได้กรุณาเขียนอธิบายเรื่องของสภาวธรรมให้ผู้ที่สนใจได้อ่านและศึกษาปฏิบัติค่ะ

สำหรับตัวดิฉันเองมีความเข้าใจในสภาวธรรมอยู่บ้าง รู้แบบพื้นๆ ทั่วๆไปค่ะ เช่นที่อาจารย์กล่าวว่า สภาวธรรมเป็น "สภาพธรรมที่เกิดขึ้นตามความเป็นจริงของรูปนาม" อันนี้เข้าใจค่ะ

การเจริญสติโดยหลักของ มหาสติปัฏฐาน๔ ก็เป็นสิ่งที่ปฏิบัติอยู่เป็นประจำค่ะ ได้ความรู้มาจาก อ.ศิริศักดิ์ + หนังสือของ อ.สุจินต์ บริหารวนเขตต์ + การปฏิบัติค่ะ  

ปฏิบัติไปเรียนรู้ไปเรื่อยๆ ก้าวหน้าดีขึ้นเรื่อยๆ  อันนี้วัดจากความสงบที่เกิดในแต่ละวันเทียบกับก่อนหน้านี้ และความเข้าใจในสภาวธรรมที่เกิดขึ้นกับตัวเอง ไม่ว่ากายหรือจิตค่ะ

จริงๆ แล้วตอนเปิด blog นี้ก็คิดจะเขียนเรื่อง มหาสติปัฏฐาน๔ นี่แหละค่ะ แต่เขียนอธิบายแบบอาจารย์ไม่ได้ เพราะมีความรู้จากการปฏิบัติแบบพื้นๆ ล้วนๆ ค่ะ ก็เลยเปลี่ยนเป็นเล่าเรื่องปฏิบัติธรรมทั่วๆ ไป ไม่เจาะจงแทน  ได้อาจารย์มาช่วยเสริมทำให้สมบูรณ์ขึ้นมากค่ะ จริงๆ แล้วอาจารย์เอาที่เขียนไปปะเป็นบันทึกได้เลยนะคะ อีกหลายๆ คนจะได้อ่านด้วยค่ะ

ขอบพระคุณอาจารย์อีกครั้งนะคะ รู้สึกว่าค่าลงทะเบียนที่จ่ายไว้จะน้อยไปเสียแล้วค่ะ : )

สวัสดีครับ

ขออนุญาติแสดงความคิดหน่อยนะครับ

ความอยากของชาวบ้านเป็นเรื่องดี?

ความอยากของคนอื่นเป็นเรื่องไม่ดี?

เพราะเขาไม่ใช่คนธรรมดา เพราะเขาไม่ใช่ชาวบ้าน  ความอยากของพวกเขาจึงเป็นเรื่องใหญ่ๆ ๆ มากๆ เป็นความอยากไม่ธรรมดา อยากมากจนทำอะไรไม่ถูก?

สวัสดีค่ะคุณเอกชน

เรื่องความอยากของใครเป็นเรื่องดีหรือไม่ดีนั้นคงตัดสินยากค่ะ เพราะไม่รู้ว่าอยากอะไร แล้วทำอะไรกับความอยากนั้นๆ ลงไปบ้าง

ส่วนการแบ่งแยกว่าเขาธรรมดาหรือไม่ธรรมดา นั้นเป็นเรื่องของทิฏฐิมานะค่ะ  คนเราส่วนใหญ่มักชอบแยกแยะเป็นธรรมชาติ แบ่งเขาแบ่งเรา ธรรมดาไม่ธรรมดา... แต่สุดท้ายทุกอย่างก็หนีไม่พ้นไตรลักษณ์ค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท