หมอบ้านนอกไปนอก(37): หนึ่งมิตรชิดใกล้


คนเราไม่ว่าสนิทสนมใกล้ชิดกันมากแค่ไหน ก็ต้องมีเวลาและพื้นที่ส่วนตัวในชีวิตเสมอ เราสองคนต่างเคารพความคิดเห็นและโลกส่วนตัวของกันและกัน ยืดหยุ่นปรับตัวให้ไปกันได้ เอาความเหมือนมาใช้อยู่ร่วมกัน เอาความต่างไปไว้เป็นโลกส่วนตัวของแต่ละคน

                  การเรียนในหลักสูตรนานาชาติที่ผู้เรียนมาจากหลายชาติ หลายภาษา ทำให้มีความแตกต่างกันมากในเรื่องภูมิหลัง ความเป็นมา วัฒนธรรม เวลาสื่อสารกันมีโอกาสที่จะไม่เข้าใจหรือเข้าใจผิดได้ง่ายเพราะแต่ละคนตีความตามการรับรู้และความคิดภูมิหลังของแต่ละคน มีโอกาสผิดใจกันได้ง่าย การสนิทสนมกันจะเกิดได้ช้ากว่า แต่สังเกตว่าเมื่อเป็นเพื่อนที่สนิทสนมกันดีแล้ว ความเข้าใจผิดกันจะน้อยลง คุยกันรู้เรื่องและเข้าใจมากขึ้น แม้ภาษาจะเป็นอุปสรรคก็สามารถสื่อสารกันเข้าใจได้ง่าย

                 วันเสาร์ที่ 24 พฤศจิกายน ทางสถาบันฯพาไปเที่ยวที่บรัสเซลส์ ช่วงเช้าพาไปดูเทคโนโลยีสำหรับอนาคตเรียกว่า Living Tomorrow เป็นหน่วยงานที่ 66 บริษัททั่วโลกร่วมมือกันศึกษาวิจัยเพื่อสร้างเทคโนโลยีแห่งอนาคต เข้าไปดูรายละเอียดได้ดี www.livingtomorrow.com  มีสโลแกนติดไว้ที่หน้าอาคารว่า “Living tomorrow, where the vision meet” ในพิธีเปิดเมื่อเดือนมีนาคม พ.ศ. 2538 บิล เกตส์ ได้มากล่าวสุนทรพจน์ด้วย ตอนเดินดูแบ่งเป็น 3 กลุ่ม กลุ่มที่ผมกับพี่เกษมไปด้วยมีไกด์ผู้ชายอธิบายได้ดีมาก จุดแรกชมวีดีโอการแพทย์อนาคตที่ศึกษาเรื่องยีน (DNA changes) ในการเลือกยารักษาโรคหรือวิธีการรักษาที่เฉพาะแต่ละคนให้มีวิธีการวินิจฉัยที่รวดเร็วและแม่นยำเพื่อผลการรักษาที่มีคุณภาพมากขึ้น

                  บ้านแห่งอนาคตที่แต่ละห้องออกแบบให้มีความสะดวกสบายในการดำรงชีวิต ประตูอัตโนมัติที่สามารถคัดเลือกจดหมายที่ใส่ลงตู้ไปรษณีย์ได้ด้วยการอ่านรหัสที่ซองจดหมาย ห้องนั่งเล่น (Living room) ที่ใช้ทีวีที่เป็นจอแบบพลาสมาเป็น high definition TV หน้าต่างห้องมีแผงโซล่าร์เซลเพื่อใช้พลังงานจากแสงอาทิตย์ (Alternative energy) การออกแบบเครื่องเล่นเทปหรือซีดี เครื่องปรับอากาศอย่างเหมาะสมกลมกลืนกับวิถีชีวิต ลดเหลี่ยมมุม บูรณาการห้องทำงานเล็กๆที่สะดวกเข้าไปในห้องนั่งเล่น บันไดทางขึ้นที่ขั้นบันไดทำด้วยกระจกหนาสองชั้นรับน้ำหนักสูงสุดได้ถึง 400 กิโลกรัม ขั้นบันไดยึดกับราวบันไดข้างเดียว ทำบันไดให้เป็นเครื่องตกแต่งหรือเครื่องประดับของบ้านที่มีความโปร่งใส ห้องนอนเด็กๆ (Children room) ที่ออกแบบให้ปลอดภัย ใช้สีที่เหมาะสม อุปกรณ์เครื่องใช้รวมทั้งเตียงนอนที่เพียบพร้อมไปด้วยของเด็กเล่นที่เด็กสามารถควบคุมได้ด้วยตัวเองเหมือนนอนอยู่ในยานอวกาศ กระจกที่มีมุมสะท้อนอย่างเหมาะสม รวมทั้งห้องอาบน้ำสำหรับเด็ก

                ห้องนอนพ่อแม่ (Parent bedroom) ที่เรียบง่ายแต่ดูดี สะดวกสบาย เตียงนอนที่ออกแบบอย่างเหมาะสมกับคนสองคน สามารถมองออกไปนอกหน้าต่างเพื่อชมทิวทัศน์นอกห้องนอนได้ เดินออกไปบริเวณห้องอาบน้ำและสุขาได้ อ่างอาบน้ำออกแบบอย่างดูดี เรียบง่ายในการทำความสะอาด พร้อมบริเวณที่อาบน้ำแบบฝักบัว ที่สามารถดูหนังฟังเพลงได้ตลอดเวลาที่อาบน้ำ มีจุดสำหรับอาบแดด เคาน์เตอร์ในห้องน้ำมีกระจกสำหรับส่องแล้วยังเป็นจอมอนิเตอร์ในการเข้าอินเตอร์เน็ตเพื่อรับทราบข้อมูลข่าวสารได้

                 ห้องครัว (Kitchen) มีส่วนทำอาหาร ส่วนรับประทานอาหาร ส่วนนั่งพักผ่อนและส่วนซักผ้า ส่วนทำครัวมีระบบคอมพิวเตอร์ควบคุมการใช้อุปกรณ์ต่างๆ มีจอมอนิเตอร์บอกสูตรอาหาร ใช้ระบบแสงเป็นตัวกำหนดเมนูเครื่องใช้ในครัว สีฟ้าสำหรับให้แม่ครัวกดเลือกเมนู สีแดงเป็นตัวแสดงผล บริเวณใช้น้ำออกแบบแยกออกมาอีกเคาน์เตอร์หนึ่ง ตู้ใส่ของหรือกับข้าวฝังอยู่ในผนัง พอปิดตู้แล้วมองเหมือนเป็นการตกแต่งฝาผนังห้องครัวที่ดูล้ำสมัย ที่ผนังมีคอมพิวเตอร์ที่สามารถควบคุมทีวีในห้อง ติดต่ออินเตอร์เน็ตเพื่อทราบข้อมูลข่าวสารและจับจ่ายซื้อของได้ ใช้ปลายนิ้วเขียนรายการสินค้าเพื่อสั่งซื้อได้เลย

                  มีห้องที่ออกแบบสำหรับผู้สูงอายุที่อยู่คนเดียวได้อย่างสะดวก สบายควบคุมได้เองโดยอัตโนมัติและปลอดภัย มีส่วนทำอาหาร นั่งเล่น ห้องนอนมีเตียงที่ปรับระดับเองได้ มีเครื่องทำความเย็นและทำความอุ่นในเครื่องเดียวกันที่ปรับอุณหภูมิได้ตามความเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิของอากาศด้วยระบบ Radiation technology ห้องน้ำและสุขาออกแบบพื้นกระเบื้องอย่างปลอดภัย กระจกเป็นจอมอนิเตอร์ของคอมพิวเตอร์ที่เข้าอินเตอร์เน็ตได้ ในขณะที่แปรงฟันระบบจะรับรู้และติดตามการทำงานของหัวใจ ชีพจร ความดันและสามารถส่งไปถึงแพทย์ประจำตัวได้ มีประตูที่เปิดแบบผลักออกหรือดันเข้าได้สองทิศทาง

                 หลังจากนั้นไปดูห้องควบคุมระบบต่างๆของบ้าน ที่เน้นความปลอดภัยทั้งจากในบ้านและนอกบ้าน มีระบบความคุมอุณหภูมิของบ้าน (Heating & cooling system) ที่ตั้งอุณหภูมิที่เหมาะสมไว้ที่ 13 องศาเซลเซียส โดยทำเป็นระบบท่อไหลเวียนความร้อนให้มีการดูดซึมลงสู่ใต้ผิวโลกด้วยแท่งฝังลงไปใต้ดินลึก 100 เมตร เรียกว่า heat exchange natural cooler จากแนวคิดที่ว่า ร้อนเย็นเป็นของโลก (warm and cold of the earth) ระบบดูดความร้อนนี้เรียกว่า Electrabel heat pump

                  ยานพาหนะแห่งอนาคต เป็นรถยนต์ที่ออกแบบอย่างหรูด้วยการใช้วัสดุกลับมาใช้ใหม่ (recycle) ถึง 80 % ติดตั้งกล้องดิจิตอลเพื่อตรวจจับความผิดปกติที่อาจเกิดอันตราย มีระบบเครื่องยนต์ที่ปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์แค่ 10 % ของรถปัจจุบัน ถือเป็น Environmental challenges ต่อไปดูระบบสำนักงานอัตโนมัติ ระบบการจับจ่ายซื้อของในโลกอนาคตที่อาศัยเครื่องมือที่ชาญฉลาด (Intelligent device) เช่น พ็อคเกตพีซี สำหรับลูกค้าสามารถใช้เปรียบเทียบราคาสินค้าต่างๆได้ สถานที่จัดวางสินค้า ส่วนพนักงานสามารถตรวจสอบสต๊อคของได้โดยไม่ต้องไปเดินนับตามชั้นวางของ เราจบการเยี่ยมชมที่บริเวณบอร์ดที่เขียนไว้ว่า เผชิญกับโลกอนาคตโดยปราศจากความกลัว (Face the future without fear) ฉันกล้าที่จะอยู่ ฝัน เปลี่ยนแปลง มองไปข้างหน้า ถกเถียง เผชิญ สร้างสิ่งใหม่ๆ พบปะ ผลักดันและสื่อสารในโลกแห่งอนาคต”

                  หลังจากนั้น เราก็ไปเที่ยวในเมืองบรัสเซลส์กันต่อ รถจอดให้หาอาหารรับประทานบริเวณจัตุรัสใจกลางเมือง (Grote market & Grand place) มีโบสถ์หลังใหญ่สวยงาม มีลานกว้างรายรอบไปด้วยอาคารอายุไม่ต่ำกว่าร้อยปีสวยงาม น่าดึงดูดใจ ให้เข้าชม เรามีเวลาแค่ชั่วโมงครึ่ง ผมกับพี่เกษมแวะไปที่สถานีรถไฟกลางก่อนเพื่อหาข้อมูลเดินทางไปปารีส เสร็จแล้วก็กลับไปเที่ยวชมต่อ ได้ไปถ่ายรูปกับเจ้าหนูน้อยแมนเนเกน พิส (Manneken Pis) รูปปั้นเด็กเล็กๆที่ดึงดูดให้คนทั่วโลกต้องเข้าไปชม เสร็จแล้วก็นั่งรถบัสชมเมือง

                   บรัสเซลส์เมืองหลวงของเบลเยียมมีขนาดใหญ่และกว้างกว่าแอนท์เวิปมาก ความเจริญมากกว่า ตึกรามบ้านช่องสูงใหญ่สลับไปทั้งใหม่และเก่า ผมเข้าใจเลยว่าทำไมต้องนั่งรถชมเมือง ถ้าเดินชมคงไปได้ไม่กี่แห่ง บรัสเซลส์มีพื้นที่เป็นทั้งที่ราบและที่สูง สูงต่ำสลับกันไป รถบัสพาเราชมพร้อมกับไกด์วัยคุณป้าที่น่ารักและบรรยายให้เราฟังได้อย่างเข้าใจง่ายๆ ผ่านพระราชวัง จุดชมวิวที่มองลงไปเห็นใจกลางเมือง ผ่านทำเนียบรัฐบาลกลางที่ไม่เปิดใช้แล้วเนื่องจากเปลี่ยนไปเป็นรัฐบาลของแต่ละเขตแทน ผ่านสวนที่พันกิ่งไม้แต่ละต้นเอาไว้ด้วยกันโดยปราศจากเชือกมาพันธนาการ ประหนึ่งว่ามันรักใคร่สามัคคีสมัครใจกอดกันไว้เอง เหมือนคนยืนจับมอกันเป็นแถว ผ่านย่านที่เป็นอาคารเก่าๆที่เป็นย่านสำนักงานดูเงียบเหงาเงียบเหงาในวันหยุดและคึกคักในวันราชการ บริเวณด้านข้างถนนมีรถจักรยานจอดไว้อย่างเป็นระเบียบ ในเมืองไม่มีสายไฟฟ้าแรงสูงระโยงระยางให้เห็นแต่มีสายไฟฟ้าสำหรับรถรางที่เป็นเครือข่ายโยงใยไปตามแนวทางของรางรถที่วิ่งไปตามจุดต่างๆของเมืองเพื่ออำนวยความสะดวกสบายให้แก่ชาวเมือง ผ่านจุดศิลปะแห่งไม้ที่citiscabe ที่นำเอาท่อนไม้ กิ่งไม้ ส่วนต่างๆของไม้มาประดิษฐ์เป็นพุ่มไม้ขนาดใหญ่ได้อย่างลงตัวและงดงาม สังเกตว่าแต่ละจุดที่ผ่านมักมีรูปปั้นคนที่ทำเหมือนเป็นอนุสาวรีย์อย่างมีศิลปะอยู่มาก

                   ผ่านพระราชวังที่ประทับของกษัตริย์อัลเบิร์ตที่ 2 ผ่านอนุสาวรีย์ของพระเจ้าลีโอโปลด์ที่ 1 กษัตริย์ที่ทำให้ประเทศเล็กๆอย่างเบลเยียมมีอาณานิคมในแอฟริกาที่มีพื้นที่ใหญ่กว่าเบลเยียมถึง 80 เท่า ไกด์พาเราไปแวะชมพิพิธภัณฑ์อากาศยานแห่งบรัสเซลส์ (Brussels Air museum) ที่มีอาคารใหญ่โตสวยงาม มีประตูทางเข้าขนาดใหญ่ให้รถผ่านไปพร้อมกับรายละเอียดประวัติที่น่าสนใจบนคานประตู ด้านข้างสองข้างเป็นอาคารขนาดใหญ่ ภายในแสดงเครื่องบินในอดีตถึง 440 ชนิดที่สะสมไว้ รวมทั้งปืนใหญ่ เครื่องแต่งกายทหารและอาวุธโบราณ

                  หลังจากนั้นก็พาเราไปชมสิ่งก่อสร้างที่ดึงดูดใจนักท่องเที่ยวที่เรียกว่า อะตอมเมียม (Atomium) มาจากแนวคิดเรื่องโมเลกุลของเหล็ก (Iron: Fe) ที่มีเหล็ก 8 อะตอม สร้างในปี ค.ศ.1948 แต่ละอะตอมเป็นอาคารแต่ละหลัง เชื่อมกันด้วยแกนที่ทำเป็นทางเดินถึงกัน อะตอมบนสุดสูง 102 เมตร หนัก 2400 ตัน ท่อทางเชื่อมระหว่างแต่ละลูกขนาด 3 เมตร จำนวน 20 ท่อ ยาว 18 เมตร เท่ากับรัศมีของอะตอมแต่ละลูก ขึ้นไปอะตอมที่อยู่สูงสุดด้วยลิฟท์ที่มีความเร็ว 5 เมตรต่อวินาที ข้างบนเป็นภัตตาคาร เสียค่าเข้าชมสำหรับผู้ใหญ่ 9 ยูโร เด็กนักเรียนมากกว่า 12 ปีหรือผู้สูงอายุมากกว่า 65 ปี เสีย 6 ยูโร เปิดเข้าชมทุกวัน เวลา 10.00-18.00 น. ดูรายละเอียดได้ที่ www.atomium.be

                  พอลงจากรถบัส พวกเราก็สนุกสนานกับการถ่ายรูปกัน ผมกับพี่เกษมรีบเข้าไปซื้อตั๋วเข้าชม ได้แสดงบัตรนักศึกษาได้ส่วนลดเหลือ 6 ยูโร แต่ปรากฏว่าเพื่อนๆไม่มีใครเข้ามาเลย ก็สงสัยว่าทำไม ปรากฏว่าเขาให้เวลาแค่ 20 นาที ผมกับพี่เกษมฟังไม่รู้ แต่ซื้อตั๋วแล้วก็ต้องขึ้นไป รอคิวสักพักขึ้นไปชั้นบนสุดสามารถชมวิวรายรอบได้อย่างสวยงาม ที่ผนังด้านหนึ่งมองลงมาเห็นเมืองจำลองของยุโรไปได้ชัดเจนมากเรียกว่า Spirit of Europe ชมทิวทัศน์ได้สักพักเฉิงฟ่ง โทรตามว่ารถจะกลับแล้ว เราก็รีบลงมาแต่ไม่ทัน ทำให้ตกรถกันสองคน ถามคนแถวนั้นแนะนำให้ขึ้นรถรางสาย 23 ที่ด้านหน้าอะตอมเมียมไปลงที่ซุดสเตชั่น (Zuidstation) นับเป็นครั้งแรกที่ผมขึ้นรถราง ต้องไปซื้อตั๋วจากคนขับ ไม่มีคนตรวจตั๋ว ซื้อเสร็จแล้วก็ให้เครื่องตรวจตั๋วเป็นผู้เช็ค นั่งไปจนสุดสายลงที่Gare du Midi ราคา 2 ยูโร

                   แล้วก็นั่งรถไฟกลับแอนท์เวิป ค่ารถไฟ 6.10 ยูโร รถไฟวิ่งผ่านสถานีเมเคลิน (Mechelin) เราต้องลงเปลี่ยนรถไฟอีกขบวนหนึ่งซึ่งจะเร็วกว่าแต่เราก็ไม่รู้ตรงไหน พอดีมีน้องชาวเบลเยียมชื่อ ไมเตอร์ (Maite) บอกว่าเขาจะลงตรงนั้นพอดี ลงพร้อมเขาได้ ได้นั่งคุยกันน้องเขาเพิ่งจบชั้นมอปลาย กำลังเรียนภาษาดัชท์ที่เมอร์เคม แอนท์เวิป แต่เป็นคนเมืองนามูร์ เขตวัลลูน ประมาณ 18.30 น.ถึงแอนท์เวิปแล้วก็เดินกลับบ้าน การตกรถครั้งนี้ ทำให้ผมได้เรียนรู้การขึ้นรถรางและรถไฟจากเบลเยียม-แอนท์เวิปได้ และได้บทเรียนเรื่องความประมาทที่ไม่รู้เวลาแล้วก็ไม่ถามไกด์หรือเจ้าหน้าที่ว่าให้เวลาเที่ยวชมเท่าไหร่ รวมทั้งไม่ได้เอาเป้สะพายลงจากรถด้วย ถ้าไม่มีใครเอาลงจากรถให้ก็ลำบาก ดีที่เฉิงฟ่งเขาช่วยเอากลับบ้านให้ ถ้าตกรถคนเดียวก็ใจเสียเหมือนกัน ดีที่มีพี่เกษมอยู่ด้วย

                  ก่อนมาเรียนที่เบลเยียม ผมกับพี่ตู่หรือเกษม ตั้งเกษมสำราญ ไม่ได้สนิทกันมากนัก พี่เกษมเป็นรุ่นพี่ที่คณะแพทย์ เชียงใหม่ รู้จักกันตอนผมอยู่ชั้นปีหนึ่ง พี่เขาเป็นกรรมการชมรมเชียร์ พอจบทำงานก็เจอกันไม่บ่อยนักตามที่ประชุมต่างๆ เคยไปอบรมหลักสูตรผู้อำนวยการโรงพยาบาลชุมชนแบบบูรณาการที่วิทยาลัยนักบริหารสาธารณสุขด้วยกัน ตอนแรกก็ทำใจไว้แล้วว่า คงต้องแยกบ้านกันอยู่เพราะบ้านที่จองไปนั้นเขาไม่ให้ครอบครัวอยู่ด้วย แต่พอมาจริงๆพี่เกษมกับผมก็ได้มาเช่าอยู่บ้านหลังเดียวกัน ทำให้ได้ใกล้ชิดสนิทสนมกัน เป็นคนไทยคนเดียวที่ได้พูดคุย ปรึกษาหารือกันมากที่สุด ใกล้ชิดที่สุดเมื่อมาอยู่เบลเยียม บางทีเรายังคุยกันเล่นๆว่านักเรียนโข่งสองคนมานั่งปรับทุกข์กัน

                  เราอยู่กันเหมือนพี่น้อง เหมือนสมัยเด็กๆที่เด็กๆแบ่งหน้าที่กันทำงานบ้าน มีห้องครัวและห้องนั่งเล่นเป็นจุดนัดพบของเราสองคนที่ใช้ร่วมกัน แต่ก็มีห้องนอนที่แต่ละคนมีความเป็นอิสระส่วนตัว ผมคิดว่าคนเราไม่ว่าสนิทสนมใกล้ชิดกันมากแค่ไหน ก็ต้องมีเวลาและพื้นที่ส่วนตัวในชีวิตเสมอ เราสองคนต่างเคารพความคิดเห็นและโลกส่วนตัวของกันและกัน ยืดหยุ่นปรับตัวให้ไปกันได้ เอาความเหมือนมาใช้อยู่ร่วมกัน เอาความต่างไปไว้เป็นโลกส่วนตัวของแต่ละคน พี่เกษมมีความเป็นผู้ใหญ่บนใบหน้าที่อ่อนเยาว์ มีความรับผิดชอบสูง มีน้ำใจ อัธยาศัยใจคอดี มีความอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ เข้ากับเพื่อนๆในชั้นเรียนได้ดีมาก ช่วงมาใหม่ๆผมชอบเดินเที่ยว แต่พี่เกษมชอบขี่จักรยาน ชวนผมขี่จักรยานไปเที่ยวที่ต่างๆจนผมชอบขี่จักรยานไปด้วย ตอนขี่จักรยานไปเที่ยวด้วยกัน พี่เกษมคอยช่วยเตือนผมเสมอให้ระวังรถยนต์ตอนเลี้ยวหรือข้ามถนน เหมือนพี่ชายคอยดูแลน้องชายเลย พี่เกษมใช้ภาษาอังกฤษได้ดีกว่าผมมาก มีประสบการณ์ในการไปเที่ยวหรือดูงานต่างประเทศเยอะ

                 พี่เกษมเล่นแบดมินตันเก่ง ถ้าเทียบในบรรดาเพื่อนๆในชั้นทั้งหมดพี่เกษมเล่นเก่งที่สุด แล้วก็คอยสอนเพื่อนๆคนอื่นๆเล่นด้วย เวลาเล่นกับคนที่เล่นไม่ค่อยเป็นก็จะคอยสอน คอยส่งลูกให้ โดยไม่แสดงอาการเบื่อหรือรำคาญ เล่นปิงปองก็เล่นได้ดี พี่เกษมเคยเป็นผู้อำนวยการโรงพยาบาลทองแสนขัน จังหวัดอุตรดิตถ์หลายปีพัฒนาโรงพยาบาลไปได้มาก แทนที่จะย้ายเข้าไปอยู่ใกล้เมืองกลับขอย้ายไปอยู่ที่โรงพยาบาลชาติตระการที่อยู่ไกลที่สุด กันดารที่สุดของจังหวัดพิษณุโลก น่าจะเป็นผู้อำนวยการระดับ 8 คนแรกของโรงพยาบาลนี้ คนก่อนๆส่วนใหญ่เป็นแพทย์จบใหม่และอยู่ไม่นาน พี่เกษมร่วมกับทีมงานโรงพยาบาลชาติตระการพัฒนาโรงพยาบาลจนเป็นที่ยอมรับของชุมชนได้อย่างดี ภายใต้สภาวการณ์ที่ขาดแคลนบุคลากรและมีการโยกย้ายบ่อยมาก ล่าสุดทราบว่าโรงพยาบาลชาติตระการผ่านการประเมินโรงพยาบาลคุณภาพตามมาตรฐานHA แล้ว ผมคิดว่า พี่เกษมเหมาะสมจะได้รับการคัดเลือกให้เป็นแพทย์ชนบทดีเด่น ในช่วงสั้นๆไม่กี่เดือนนี้ ผมได้เรียนรู้อะไรๆหลายอย่างจากพี่เกษมเยอะมาก ถ้าอยู่คนเดียวคงต้องใช้เวลาปรับตัวมากกว่านี้

                พี่เกษมหุงข้าวทำกับข้าว ส่วนผมเก็บกวาดล้างถ้วยจาน เราแบ่งงานกันตามความถนัด การทำกับข้าวเป็นงานที่ยุ่งยาก ต้องใช้ฝีมือและความละเอียดอ่อนมาก ผมทำได้ไม่ดี ถ้าผมทำกับข้าวก็จะทำง่ายๆและจำเจ ส่วนการล้างจานเป็นงานที่ไม่ยาก ใช้ทักษะไม่มาก ผมจึงเหมาะที่จะทำงานนี้ การทำกับข้าวต้องใช้เวลาค่อนข้างมากในแต่ละวัน พี่เกษมต้องเสียสละเวลาเพื่อส่วนรวม (ของเรา) มากกว่าผมที่ใช้เวลาล้างจานไม่นานนัก เวลาไปจ่ายตลาดก็ให้ผมไปซื้อเนื้อสัตว์กับไข่ ซึ่งไม่ต้องเลือกมากนัก พี่เกษมไปซื้อผัก ผลไม้ที่ต้องมีความละเอียดอ่อนในการเลือกซื้อมากกว่า หลากหลายชนิดมากกว่า ต้องรู้ว่าซื้อมาแล้วจะเอาไปทำอะไรกิน พี่เกษมจะมีการวางแผนระยะยาวในการเตรียมวัสดุประกอบอาหารไว้ก่อน ทำให้ประหยัดเวลาในช่วงทำกับข้าวไปได้มาก

                 เราได้เรียนรู้จากการหุงข้าวว่า ข้าวสารที่ขายในเมืองนอกต้องใส่น้ำมากกว่าหุงข้าวในเมืองไทย อาจเป็นเพราะว่าเป็นข้าวที่ควบคุมคุณภาพในเรื่องความชื้นเป็นอย่างดี ไม่ให้มีเชื้อราขึ้นกับเป็นข้าวที่อยู่หลายปีทำให้มีความชื้นน้อย (บ้านผมเรียกว่าข้าวเก่า ถ้าเกินหนึ่งปีไป ส่วนข้าวใหม่จะไม่เกินหนึ่งปี แม่เคยบอกว่าข้าวใหม่ให้ใส่น้ำน้อยกว่า ถ้าใส่มากข้าวจะแฉะหรือเละ) พอเราใส่น้ำเยอะขึ้น ทำให้เมล็ดข้าวสุกขยายตัวมากขึ้น ได้ปริมาตรมากขึ้นกว่าเดิม อ่อนนุ่มกว่าเดิม เวลาตักข้าวทานเราดูจากปริมาตรไม่ได้ดูที่น้ำหนัก เมื่อตักข้าวปริมาตรเท่า (ดูด้วยตา) เมื่อก่อนที่เคยหุงแบบใส่น้ำไม่มาก ก็ทำให้ทานข้าวน้อยลงแต่เรารู้สึกอิ่มเท่าเดิม ก็คงเหมือนเรื่องอื่นๆทั่วๆไปในชีวิตที่เรามักตัดสินใจอะไรง่ายๆเพียงแค่ตามองเห็น ไม่ได้มองให้ลึกไปถึงคุณค่าที่แท้จริงของสิ่งหรือเรื่องนั้นๆ ทำให้การตัดสินใจผิดพลาดไปได้

                 แม้การล้างจานจะไม่ยุ่งยากซับซ้อนมากนัก แต่เราก็เรียนรู้จากมันได้ จากความน่าเบื่อกลายเป็นความสุขจากการทำ กลายเป็นเวลาผ่อนคลายความเครียดไปได้วิธีหนึ่ง เมื่อใจอยู่กับจานที่ล้าง จิตก็สงบ เกิดสมาธิขึ้น พระอาจารย์จันทร์ ท่านเคยเทศน์ออกโทรทัศน์ว่า สมาธิที่แท้จริงเกิดขณะทำงาน เกิดในที่ทำงาน ไม่ใช่สมาธิที่เกิดจากการลาพักร้อนออกไปนั่งสมาธิตามวัดหรือตามป่าเขา เรามีงานอะไรให้ทำ ก็ทุ่มเทใจมุ่งมั่นทำงานนั้น สมาธิก็เกิดขึ้นได้ การมาเรียนเบลเยียมครั้งนี้มีค่าเสียโอกาสสูงพอควร แต่การเรียนรู้ที่ได้รับก็มากกว่าโอกาสที่เสียไปมาก ได้รู้จักพี่เกษมที่ “เป็นเพื่อนที่แสนดี เป็นพี่ที่แสนวิเศษ

พิเชฐ  บัญญัติ

Verbond straat 52, 2000 Antwerp, Belgium

25 พฤศจิกายน 2550

14.58 น. ( 20.58 น.เมืองไทย )
หมายเลขบันทึก: 149131เขียนเมื่อ 25 พฤศจิกายน 2007 21:05 น. ()แก้ไขเมื่อ 28 เมษายน 2012 08:46 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (7)
  • เรียน ท่านอาจารย์หมอติ่ง
  • มาเยี่ยมยาม เพื่อนแดนไกลครับ ไม่ได้มาที่เบลเยี่ยมกว่าสิบปีแล้วครับ
  • อากาศเมืองไทยกำลังหนาวครับ

สวัสดีครับอาจารย์หมอเจเจ

อาจารย์สบายดีนะครับ ทางขอนแก่นเป็นยังไงบ้างครับ ที่เบลเยียมอากาศหนาวมากครับ 1-3 องศา ขอบคุณที่แวะมาเยี่ยมเยียนครับ

สวัสดีครับอาจารย์อัจฉรา

ขอบคุณมากครับที่แวะมาให้กำลังใจ KMและคุณภาพของชาวบำราศฯ คงงอกงามเติบโตมากมายแล้วนะครับ

ตามมาเที่ยวเบลเยี่ยมด้วยค่ะ หนาวกว่าเชียงราย มาก ที่นี่ 15 หนาวแล้ว

อาจารย์ อธิบายละเอียดดี จัง คุณหมอ เกษม นามสกุลอะไรคะ อยากรู้จักคนดี หมอที่ดี อีกคนไว้ด้วย

เห็นด้วยอย่างมากว่าทำอาหารให้ดี ยากนะคะ ต้องมีตังหวะจะโคน และการวางแผนที่ดี มีขุมความรู้ KM อยู่เยอะในเรื่องทำอาหาร  ถาม Tips และ Trick จากคนรอบตัว ก็ ได้อะไรดีๆ เยอะ

ส่วนตัวเอง  ทำอาหารด้วยกันเวลาว่างเป็นงานสนุกในครอบครัวด้วยค่ะ แต่มักไม่มีเวลากัน พี่เลยได้กินจากมืออาชีพมากกว่า

 

สวัสดีครับอาจารย์หมอรวิวรรณ

พี่ตู่หรือพี่เกษม นามสกุล ตั้งเกษมสำราญครับ ผมได้เพิ่มเติมแก้ไขไว้ในบันทึกแล้วครับ ผมโชคดีที่ได้รู้จักใกล้ชิดคนดีๆเยอะเลยครับ

อากาศที่เบลเยียมหนาวมากครับ ต่ำกว่า 10 องศา และยิ่งหนาวมากไปอีกสำหรับคนชอบอากาศร้อนอย่างผม

ขอบคุณที่แวะมาทักทายกันครับ

คิดว่ามิตรภาพที่ดีหาไม่ได้ง่ายๆ และเมื่อได้รับโอกาสนั้นแล้ว คงต้องเก็บรักษาให้ดีที่สุด

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท