ผชช.ว. ตาก (3): รับมือไข้หวัดใหญ่ 2009


ตอนนี้ชาวโลกกำลังผจญกับภัยสุขภาพใหม่ที่ชื่อว่า ไข้หวัดใหญ่ ชนิดเอ เอชหนึ่งเอ็นหนึ่ง 2009 ที่มีการระบาดไปทั่วโลก

        เป็นข่าวที่ติดต่อกันมานานตั้งแต่ราวเมษายนที่ผ่านมากับการเกิดขึ้นใหม่ของโรคที่เป็นภัยของมนุษย์ นั่นคือไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ ชนิดเอ เอชหนึ่งเอ็นหนึ่ง สองศูนย์ศูนย์เก้า (Novel Influenza A H1N1 2009) ซึ่งมีการวิวัฒนาการสายพันธุ์จากการเปลี่ยนพันธุกรรมไปจากของหมูสองแถบในแปดแถบ ซึ่งสามารถติดง่าย ป่วยเร็ว มีโอกาสเสียชีวิตได้ในกลุ่มที่มีปัจจัยเสี่ยง และไม่ใช่ไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาลที่มักป่วยช่วงปลายฝนต้นหนาว แต่มีชื่อคล้ายๆกันเพราะเป็นกลุ่มไข้หวัดใหญ่ ชนิดเอ เอชหนึ่งเอ็นหนึ่ง เหมือนกัน แต่ไม่ใช่ตัวเดียวกัน เป็นSeasonal Influenza A H1N1

           การติดง่ายและออกอาการไวเพราะคนยังไม่มีภูมิคุ้มกัน และมีโอกาสเสียชีวิตได้เพราะตัวรับเชื้อโรคไวรัสนี้ (Receptor) อยู่ในถุงลม จึงมีโอกาสเกิดถุงลมคั่งน้ำจนทำงานแลกเปลี่ยนกาซไม่ได้ เกิดปอดบวมรุนแรงขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มเด็ก ผู้สูงอายุ คนท้อง คนภูมิคุ้มกันผิดปกติหรือต่ำ คนอ้วน (ดูจากค่าบีเอ็มไอมากกว่า 30) คนมีโรคเรื้อรังประจำตัวเช่นความดันสูง หัวใจ ไทรอยด์เป็นพิษ เบาหวาน มะเร็ง หัวใจ หอบหืด ถุงลมโป่งพองเป็นต้น

          แนวทางการรับมือกับโรคนี้ที่สำคัญ 2 ประการคือ ลดอัตราป่วยตาย กับ ลดความเร็วของอัตราป่วยหรือชะลอความเร็วและขนาดของการระบาด

          การลดอัตราป่วยตาย (Case fatality rate) ที่สำคัญคือตรวจวินิจฉัยเร็ว ค้นหาปัจจัยเสี่ยงต่อภาวะแทรกซ้อนและจ่ายยาให้เหมาะสมกับเวลาป่วย ตอนนี้การระบาดเป็นวงกว้าง การส่งตรวจหาสารพันธุกรรมไวรัสจากการป้ายสิ่งคัดหลั่งจากคอไปตรวจพีซีอาร์ (PCR) จึงไม่สำคัญมากเท่ากับการใช้อาการทางคลินิกร่วมกับปัจจัยเสี่ยงต่อภาวะแทรกซ้อนโดยอาศัยวิจารณญาณของแพทย์ในการจ่ายยาต้านไวรัสโอเซลทามิเวียร์ ถ้ามีปัจจัยเสี่ยงหรือมีอาการรุนแรงหอบเหนื่อยหรือไข้ยังไม่ลดลงหลังป่วยสองวันไปแล้ว ควรพิจารณาให้กินยาต้านไวรัส 5 วันๆละ 1 เม็ด เช้า-เย็น

         การลดความเร็วของการระบาด เพื่อให้เจ้าหน้าที่สาสุขมีเวลารับมือหรือมีกำลังในการดูแลผู้ป่วยได้ทันหรือมีคนพอดูแล เป็นเรื่องสำคัญเพราะตอนนี้ต้องถือว่าทุกคนมีความเสี่ยงที่จะติดเชื้อโรคนี้ การลดในส่วนนี้ที่ดีที่สุดคือ ผู้ป่วยต้องใส่หน้ากากอนามัย แยกตัว ตัดกิจกรรมทางสังคมหรือการออกไปปรากฎตัวในที่สาธารณะ ส่วนบุคคลทั่วไปยังไม่ป่วยก็ปฏิบัติตัวตามหลักการง่ายๆ "กินของร้อน ใช้ช้อนกลาง แยกของใช้ส่วนตัว ล้างมือบ่อยๆ ลดกิจกรรมทางสังคมหรือไปอยู่ในกลุ่มคนคับคั่ง และถ้ากังวลมากให้ใส่หน้ากากอนามัย"

        ทางจังหวัดตาก ได้วางมาตรการรับมือไว้ 6 ยุทธสาสตร์โดยคณะกรรมการระดับจังหวัดคือการเฝ้าระวังและควบคุมโรค การเตรียมความพร้อมด้านวัสดุอุปกรณ์ การเตรียมความพร้อมด้านการรักษา การเตรียมความพร้อมด้านชุมชน การสื่อสารประชาสัมพันธ์ และการบูรณาการการบริหารจัดการ 

หมายเลขบันทึก: 279012เขียนเมื่อ 22 กรกฎาคม 2009 11:44 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 กุมภาพันธ์ 2019 12:53 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

Wallpaper-influenza 

                        ช่วยกันเฝ้าระวังมากๆๆ...นะคะ...

ตามมาดู คุณหมอกลับมาอยู่ตากแล้วใช่ไหมครับ

เรียนคุณนงนาท

ขอบคุณที่มาร่วมแจมครับ เราต้องช่วยกันจริงๆครับ

เรียนอาจารย์ขจิตครับ

ผมกลับมาอยู่ที่ตากได้ครบปีพอดีเมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม 2552 ที่ผ่านมาครับ อาจารยืขจิตสบายดีนะครับ ขอบคุณมากที่มาเยี่ยมเยียนกัน มีอะไรเรียกใช้ได้ครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท