แก้ปัญหาสังคมไทย เร่งสร้างภูมิคุ้มกัน


"สังคมดีไม่มีขาย ถ้าอยากได้ต้องช่วยกัน"

          สังคมปัจจุบันจะพบเห็นปัญหาเกิดขึ้นมากมายที่ส่งผลต่อคุณภาพชีวิต เกิดสุขภาวะที่ถดถอยทั้งร่างกาย จิตใจ และเชาว์ปัญญา จนกลายเป็นปัญหาสังคมที่ก่อตัวมากขึ้นเปรียบได้กับคนที่เจ็บป่วยจากโรคเอดส์ ที่มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่องเกิดโรคฉกฉวยโอกาสเข้าแทรกแซงจนร่างกายทรุดโทรมและเสียชีวิตในที่สุด

           สังคมไทยกำลังเกิดภาวะภูมิคุ้มกันทางสังคมบกพร่องจนทำให้สังคมแย่ลง ซึ่งมองเห็นจากการล้มเหลวของระบบในสังคมทั้งด้านชุมชน (โครงสร้างสังคมเสียไป) ศาสนา (พระเดินขบวน ผิดวินัยสงฆ์ สอนงมงาย) วัฒนธรรม (ทิ้งของเดิม) สุขภาพ (ค่าใช้จ่ายมากขึ้นแต่สุขภาพแย่ลง) การศึกษา (ครูข่มขืนศิษย์ ขายปริญญา เด็กตีกัน รับน้องเสี่ยงๆ) ชีวิตความเป็นอยู่ (ต่างคนต่างอยู่ ดิ้นรนหาเงิน ครอบครัวแตกแยก)

           การแสดงออกเป็นอาการของปัญหาที่ทำให้คนไม่ไว้ใจกัน (คนห่างคน) เช่น กลัวติดโรคเอดส์ ซาร์ส วัณโรค คนระแวงกัน ฆ่ากันตาย สามีภรรยานอกใจกัน มีกิ๊ก ทำแท้ง ทิ้งลูก มั่วเพศ ทำให้คนไม่ไว้ใจสัตว์ กลัวติดโรคทั้งไข้หวัดนก ไข้เลือดออก พิษสุนัขบ้า วัวบ้า คนไม่ไว้ใจสิ่งแวดล้อมเช่นสารพิษในน้ำอาหารพืชผัก น้ำท่วม ดินถล่ม สึนามิ

           และทำให้คนไม่ไว้ใจตนเอง จิตใจไม่เข้มแข็ง ไม่พึ่งตนเองเช่นโรคจากความเครียด อดอาหาร อ้วน กินผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ฆ่าตัวตาย ยาเสพติด หลอกลวง หากปล่อยไปตามยถากรรม สังคมก็คงจะทรุดโทรมลงจนยากแก้ไข และกระทบต่อคุณภาพชีวิตของคนในสังคม ไม่สามารถที่จะอยู่เย็นเป็นสุขหรือกินอิ่ม นอนอุ่นได้

           การแก้ไขปัญหาสังคมซึ่งมีความซับซ้อนสูง ก็เหมือนแพทย์ที่ต้องรักษาผู้ป่วยในโรคที่ยาก จะต้องหาสมมติฐานของโรคหรือแก่นแท้ของปัญหาให้ได้ก่อน จึงจะแก้ไขได้ถูกทาง การแก้ที่ปลายเหตุหรือผลของปัญหา นอกจากจะแก้ไขไม่ได้แล้ว ยังอาจซ้ำเติมให้อาการหนักลงได้

           หากจะวิเคราะห์แก่นแท้ของปัญหาสังคมจะพบได้ว่า เกิดจากปัจจัยสำคัญ 3 ประการคือ

1.ความไม่รู้ เกิดวงจรชั่วร้ายโง่ จน เจ็บ เมื่อไม่รู้ก็ไม่มี เมื่อไม่มีก็ไม่แข็งแรง ขาดโอกาสที่จะรู้ เมื่อไม่รู้ก็จะถูกหลอกได้ง่าย หลอกกันไป หลอกกันมา เกิดอวิชชา ความมืดบอดทางปัญญา ยึดติดเงินตรา ปริญญา มัวเมาในอำนาจบรรดาศักดิ์

การศึกษาไม่ได้แก้ความไม่รู้แท้จริง เน้นรูปแบบและปริญญาโดยไม่ส่งเสริมการเรียนรู้ต่อเนื่องและไม่สอดคล้องกับความเป็นจริงของชีวิต ไม่สามารถนำไปปฏิบัติได้จริง จึงไม่เกิดปัญญา ทำให้แก้ปัญหากันแบบใช้ความเห็น ไม่ใช้ความรู้ บ่มเพาะจนเกิดวัฒนธรรมอำนาจขึ้นในสังคม

2.ความไม่รัก เกิดจากความห่างเหินกันในครอบครัว พ่อแม่ไม่มีเวลาโอบกอดลูก สามีภรรยาไม่มีเวลาให้กัน ลูกหลานไม่ใกล้ชิดญาติผู้ใหญ่ ต่างคนต่างไปต่างคนต่างอยู่ เกิดความเหงา เมื่อไม่มีเวลาให้กัน ก็หาสิ่งชดเชยให้แทนเป็นเงินหรือสิ่งของที่ไม่สามารถเติมเต็มความรู้สึกทางจิตใจได้ เมื่อเกิดปัญหาก็ขาดที่พึ่งทางใจ ขาดความรัก ไม่รู้จักรัก รักคนอื่นไม่เป็น จึงทำตัวโดดเด่นทางไม่ดี เห็นแก่ตัว

3.ความไม่อดทน ไม่รักคนอื่น รักตัวเอง จึงมองตัวเองเป็นตัวตั้ง ไม่ยอมรับความแตกต่างทางความคิด ทางชาติพันธุ์ ทางศาสนา ใจร้อน รอไม่เป็น ชอบรวยทางลัด ไม่ชอบทำงานหนัก ชอบงานสบายรายได้ดี ฟุ้งเฟ้อ ไม่เสียสละ ไม่อดทนต่อความผิดพลาดของผู้อื่น ไม่ชอบทำงานหนักที่เห็นผลช้าแต่ยั่งยืน ไม่ชอบเรียนรู้แต่ชอบเรียนลัด เลียนแบบ ชอบซื้อของสำเร็จรูปมาใช้มากกว่าการทุ่มเทพัฒนาขึ้นมาเอง

           ในการดูแลรักษาสังคมที่มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่องนี้ เมื่อรู้สาเหตุของโรคหรือหาตัวเชื้อโรคได้แล้ว ในการดูแลรักษาจะต้องมีมาตรการที่เหมาะสมเหมือนกับการรักษาผู้ป่วยหนักคือ

1.มาตรการระยะสั้น ผู้ที่ต้องเป็นหมอรักษาในช่วงนี้ก็คงไม่พ้นรัฐบาล ซึ่งการรักษาสังคมที่ต้องนำมาใช้ ทั้งการใช้เงินหรืองบประมาณ การใช้กฎหมายบังคับ กำหนดเขตพื้นที่ที่เหมาะสม การแยกหรือกักกัน ห้ามในสิ่งที่ควรห้าม จัดระเบียบสังคม ยกย่องชมเชยคนดีที่ทำเพื่อสังคม คนที่ทำกำไรทางสังคมมากว่าการยกย่องเฉพาะคนที่ทำกำไรทางธุรกิจ

ในเรื่องการใช้เงินในระยะสั้นก็เป็นสิ่งจำเป็น แต่ถ้าใช้นานๆ ก็จะเกิดผลเสีย ทำให้เกิดผลข้างเคียงต่อสังคม เช่น ภาวะหนี้สิน วัตถุนิยม ฟุ่มเฟือย สุดท้ายคนส่วนใหญ่ก็จะเป็นหนี้สินล้นพ้นตัวตกอยู่ในกับดักสภาพหนี้ หรือการออกกฎหมายพิเศษมาบังคับ ในระยะยาวเป็นการลิดรอนสิทธิประชาชนและอาจเกิดการต่อต้าน

2.มาตรการระยะยาว ต้องรีบกระตุ้นให้สังคมสร้างภูมิคุ้มกันให้แข็งแรง โดยต้องได้รับความร่วมมือจากทุกฝ่ายของสังคมมาร่วมกันทำหน้าที่หมอสังคม ซึ่งเป็นใครก็ได้ที่เห็นปัญหาแล้วมาร่วมแรงร่วมใจกันทำ ร่วมมือด้วยใจไม่ใช่ร่วมมือด้วยเงิน เอาปัญญามาลงขันกันแก้ไขปัญหาโดยยึดแนวคิดที่ว่า "สังคมดีไม่มีขาย ถ้าอยากได้ต้องช่วยกัน"

            หมอสังคมสาขาหลักที่จะขาดไม่ได้คือครู (ศึกษา) หมอ (สาธารณสุข) พ่อ (ครอบครัว) พระ (ศาสนา) ต้องมาร่วมกันวางแผนดูแลรักษาสังคม โดยกระตุ้นหรือสร้างภูมิคุ้มกันทางสังคม 3 ชนิด คือ ความรู้ ความรัก ความอดทน เพื่อฉีดเข้าไปในสังคมให้สังคมเกิดภูมิคุ้มกันขึ้นมา ดังนี้

1.ความรู้หรือเรียนรู้ ที่นำไปปฏิบัติได้จริงนั้น เกิดจากการเรียนรู้ซึ่งไม่จำเป็นต้องใช้เงิน เปิดโอกาสให้เด็กได้เรียนรู้วิถีชีวิตจากครอบครัว เรียนรู้เพื่อนบ้าน เรียนรู้สังคม เรียนรู้ชุมชนที่เขาอยู่มากกว่าการอ่านหรือท่องจากตำราในโรงเรียนอย่างเดียว เรียนรู้ที่จะเรียน เรียนรู้ตลอดชีวิต เรียนรู้เพื่อปัญญา เพื่อความรู้ที่ปฏิบัติได้จริง เพื่อที่จะรู้เท่าทันโลกและสังคม สามารถที่จะดำรงตนในสังคมได้ปกติสุข

การศึกษาที่เป็นอยู่ปัจจุบันที่มุ่งเน้นเอาชนะผู้อื่น เหนือคนอื่น ให้เป็นคนเก่ง เพื่อจะได้มีโอกาสฉกฉวยเอาทรัพยากรมาไว้เป็นสมบัติส่วนตัวได้มากกว่าคนอื่น แต่การเรียนรู้ให้เป็นคนฉลาด ควรมุ่งเอาชนะตนเอง ช่วยตนเองและผู้อื่นให้หลุดพ้นจากอวิชชา สร้างความสุขในการเรียนรู้ จะช่วยพัฒนาคนได้ยั่งยืนมากกว่าต้องอดทนเรียนให้จบหลักสูตรเพื่อรับปริญญา

และรู้จักเรียนรู้จากประสบการณ์ของผู้อื่น เพราะคนเก่งจะเรียนรู้จากประสบการณ์ตนเอง แต่คนฉลาดจะเรียนรู้จากประสบการณ์ของคนเก่ง โดยอาศัยจัดการความรู้ที่เหมาะสมกับสังคมไทยเป็นเครื่องมือ สร้างบรรยากาศและโอกาสแห่งการเรียนรู้ จัดการแลกเปลี่ยนความรู้และจัดเก็บความรู้ในรูปคลังความรู้หรือขุมทรัพย์ความรู้ของสังคมไทยที่อุดมปัญญา

2.ความรัก เริ่มจากครอบครัวที่บ่มไปด้วยความรัก ความเอื้ออาทร ที่ต้องเกิดจากการสัมผัสจริง การบอกรักทางโทรศัพท์หรืออินเทอร์เน็ต ไม่สามารถทดแทนการสัมผัสตัวจริงเสียงจริงได้ สายใยความผูกพันจะเกิดจากความใกล้ชิด มีเวลาและโอกาสให้กันและกันในครอบครัว ทำให้แม่รักลูก ไม่ทอดทิ้งลูก มีกิจกรรมร่วมกันในครอบครัว ทำให้เกิดความอบอุ่นในจิตใจ

การหอมแก้มโอบกอดจากพ่อแม่เป็นการเติมเต็มความรักในใจของลูก คนที่อยู่ในครอบครัวที่อบอุ่น จะรู้จักรักทั้งรักตนเองและรักผู้อื่น ใส่ใจความรู้สึกของผู้อื่น รู้จักให้ ขอ ยอมรับและปฏิเสธในจุดที่พอดี ความรักจึงต้องสร้างด้วยครอบครัวและชุมชน ส่งผลให้เกิดบรรยากาศสมานฉันท์ รู้จักมองโลกในแง่ดี มีทัศนคติทางบวกในการดำเนินชีวิต เข้าใจและให้โอกาสผู้อื่น

3.ความอดทน ฝึกให้อดทนต่อตนเอง ต่อผู้อื่น ต่อสิ่งเย้ายวนในทางเสื่อม แสวงจุดร่วมสงวนจุดต่าง ทำงานร่วมกับผู้อื่นที่คิดเห็นแตกต่างกับเราได้ ไม่เก่งคนเดียว รู้จักการทำงานเป็นทีม มีภาวะผู้นำที่เหมาะสม รู้จักนำรู้จักตาม ปรับตัวเข้ากับสิ่งแวดล้อมและวิถีชุมชน นึกถึงส่วนรวมเป็นที่ตั้ง ไม่ท้อถอยง่าย หนักแน่นมั่นคง ต้องผ่านการฝึกฝนจากครอบครัว โรงเรียนและศาสนา นำแก่นแท้ของศาสนามาใช้ด้วยการรู้จักควบคุมสติ ตั้งสมาธิ ส่งผลให้เกิดการประพฤติปฏิบัติที่เป็นปกติ (ศีล) และดำรงชีวิตอยู่ด้วยความไม่ประมาท

          คนไทยต้องร่วมกันเป็นหมอสังคม รวมตัวกันเป็นเครือข่ายสร้างสุข สร้างความรู้ ความรัก ความอดทนขึ้นในสังคมไทย ที่ไม่เน้นใช้เงินเป็นตัวตั้ง ลดทุนนิยม หันมาใช้ธรรมนิยม ดำรงชีวิตอยู่แบบเศรษฐกิจพอเพียง ความสุขและความเข้มแข็งที่ยั่งยืนของสังคมไทยจะกลับคืนมา

+++++++++++++

น.พ.พิเชฐ บัญญัติ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลบ้านตาก จ.ตาก / แพทย์ดีเด่นในชนบท คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล ปี 2547

หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันที่ 8 พฤศจิกายน 2548 คอลัมน์ทัศนวิจารณ์

หมายเลขบันทึก: 6882เขียนเมื่อ 11 พฤศจิกายน 2005 11:43 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 07:12 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (23)

ของคุณมากค่ะสำหรับบทความนี้  ได้นำไปทำเป็นส่วนหนึ่งของรายงาน  เป็นประโยชน์มากๆค่ะ สำหรับแนวความคิดนี้

 

ขอบคุณมากค่ะ

ดีใจครับที่เป็นประโยชน์ต่อบุคคลอื่นๆ ช่วยเสริมเติมความคิดเห็นด้วยก็ได้นะครับ

มีบทความที่เป็นตอนแรกของบทความนี้ ชื่อว่า ภาวะภูมิคุ้มกันทางสังคมบกพร่อง วิกฤติสังคมไทย ได้อ่านหรือยังครับ อยุ่ในเว็บบล๊อกนี้เช่นกันครับ

ขอบคุณมาก ๆ ค่ะ ที่นำบทความนี้มาเผยแพร่ เป็นประโยชน์มาก ๆ เลยค่ะ

**ตอนนี้กำลังทำปัญหาพิเศษอยู่ซึ่งแอนเลือกทำปัญหาสังคมด้วยบทความนี้จึงมีส่วนช่วยให้แอนทำปัยหาพิเศษสำเร็จลุล่วงไปได้ด้วยดี**

ขอบคุณคุณหมอมาก ๆ ค่ะ ที่เอื้อเฟื้อข้อมูล

ขอบคุณมากค่ะ มีประโยชน์มากจริงๆค่ะ

ขอบคุณที่เข้ามาแสดงความเห็นครับ

กำลังศึกษาข้อมูลเพื่อเขียนเรียงความเกี่ยวกับปัญหาสังคม ขอบคุณสำหรับข้อคิดดีๆครับ

ขอบคุณคับ มีประโยชน์มากคับ

ดีคับมีประโยช

ดีคับเป็นเรื่องที่มีประโยชน์ดี เป็นกำลังใจให้คับ

กำลังหา บทความไปส่งอาจารย์ พอดี เลยครับ ขอบคุณมากนะครับ ขอให้คุณหมอมีความสุขมากๆนะครับ ร่ำรวยๆ ครับ *-*

ขอบคุณสำหรับบทความนะค่ะ

ขอบคุณครับกับสิ่งดี ๆ แบบนี้มีประโยชน์สำหรับผมในการเรียนรู้ ขอบคุณครับ

ได้อ่านบทความแล้ว เป็นบทความที่ดีค่ะ ได้แง่คิดปัญหาสังคมไทยในยุคปัจจุบัน

เป็นบทความที่ไม่ตกยุดเลย สามารถนำมาสร้างองค์ความรู้ และต่อยอดได้ดีค่ะ ขอบคุณสำหรับสิ่งดี ๆ ที่มอบใหสังคม

เป็นบทความที่ดีมากค่ะ มีประโยชน์ต่อการเรียนรู้ ได้แง่คิดในการแก้ปัญหาสังคมไทย

เป็นบทความที่ให้แง่คิดและมุมมองที่หลากหลาย สามารถนำไปปรับใช้ได้ในยุคปัจจุบัน

ขอบคุณค่ะ

สามารถนำไปเขียนเป็นรายงานส่งอาจารย์ได้คะขอบคุนมากๆๆๆๆๆๆๆๆนะคะ ขอบคุณคะ

ได้รับประโยชน์มาก เป็นอีกแนวทางที่จะช่วยกัน สิ่งสำคัญเราควรสร้างความมีเมตตาธรรมต่อเพื่อนมนุษย์ให้มากๆ ดังพระพุทธเจ้าตรัสว่า เมตตาธรรมค้ำจุนโลก

เป็นบทความที่มีประโยชน์มากค่ะ นำไปใช้ในการเขียนรายงานได้ ขอบคุณเป็นอย่างสูงค่ะ

ขอบพระคุณ คุณหมอที่มีบทความดีๆ ให้กับคนไทยได้อ่านและได้มีมุมมองใหม่

Very good analysis indeed. Your explanation and suggestions are quite realistic and should work when apply. Our society are in crisis situation and need Social Doctor, Spititual Doctor and Economic Doctor to heal this patient. We all have o do our share to heal and get our healthy society back.

Sutham Songsiri

Institute of Good Governance Promotion.

เข้ามาค้นหาข้อมูลเกี่ยวกับ การวิเคราะห์ปัญหาในชุมชนได้อ่านบทความของคุณหมอ ดีมากเลยค่ะ ได้ไอเดียในการมองปัญหารวมถึงแนวทางการแก้ไขด้วย ขอบคุณมากนะค่ะ จาก รพ แม่สอดค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท