การส่งเสริมการอ่าน


การอ่านเป็นวาระสำคัญ ผมอยากให้สถาบันเล็ก ๆ ของสังคมแต่สำคัญที่สุดคือ “ครอบครัว” เห็นความสำคัญตรงนี้ด้วย แล้วช่วยกันขับเคลื่อน

ติดตามข่าว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ เตรียมเสนอวาระการอ่านเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเพื่อผลักดันให้การอ่านเป็นวาระแห่งชาติ ดีใจครับที่รัฐบาลเห็นความสำคัญของการอ่าน เห็นหลายหน่วยงานก็ขานรับ โดยเฉพาะผู้บริหารการศึกษานอกโรงเรียนที่ดูแลห้องสมุดประชาชนอยู่ และเคยดูแลที่อ่านหนังสือประจำหมู่บ้าน คนเคยทำงานการศึกษานอกโรงเรียนดีใจครับ และคงไม่ดูอยู่เฉย ๆ มีอะไรช่วยได้คงต้องรีบช่วยครับ

ถามว่าทำไม การอ่าน ต้องเป็นวาระแห่งชาติ

          คงไม่ผิดนักที่จะตอบว่า  เพราะคนไทยไม่ชอบอ่านหนังสือ...!! อาจารย์สุขุม เฉลยทรัพย์ อ้างอิงผลการสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ว่า "คนไทยอายุ 6 ปีขึ้นไป" อ่านหนังสือน้อยลง จากเดิมในปี 2548 มีการอ่านร้อยละ 69.1 แต่ในปี 2551 กลับอ่านลดลงเหลือร้อยละ 66.3 เพราะเด็กหันไปดูโทรทัศน์มากขึ้นจึงทำให้อ่านหนังสือน้อยลง และมีผลทำให้จินตนาการของเด็กและคนไทยทั่วไปลดลง

          ส่วนเวลาที่ใช้ในการอ่านหนังสือของคนไทยในปี 2548 พบว่าคนไทยอ่านหนังสือโดยเฉลี่ย 51 นาทีต่อวัน ส่วนปี 2551 ลดลงเหลือ 39 นาทีต่อวัน โดยกลุ่มเยาวชนเป็นกลุ่มที่อ่านหนังสือมากที่สุด คือ 46 นาทีต่อวัน...!

          ความวิตกกังวลจากสถานการณ์ด้านการอ่านส่งผลให้ผู้หลักผู้ใหญ่ของบ้านเมืองผลักดันให้มีการแต่งตั้ง "คณะกรรมการส่งเสริมการอ่านเพื่อสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ตลอดชีวิต" เพื่อส่งเสริมการอ่านให้เป็น (อีกหนึ่ง) "วาระแห่งชาติ" และสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ตลอดชีวิตให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม

          ตลอดจนกำหนดให้วันที่ 2 เมษายนของทุกปี ซึ่งเป็นวันคล้ายวันพระราชสมภพของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีเป็น "วันแห่งการรักการอ่าน"

          "คณะกรรมการส่งเสริมการอ่านเพื่อสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ตลอดชีวิต" มีนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษา เป็นประธาน กำหนดสามยุทธศาสตร์หลักของการสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ตลอดชีวิตประกอบด้วย การทำให้คนไทยมี "ความสามารถในการอ่าน"...การทำให้คนไทยมี "นิสัยรักการอ่าน" และการทำให้สังคมไทยมี "วัฒนธรรมในการอ่าน" เมื่อพิจารณาจากยุทธศาสตร์ดังกล่าว คงต้องยอมรับว่าเป็นแนวทางที่น่าจะสามารถ "ตอบโจทย์" ของปัญหาคนไทยไม่ชอบอ่านหนังสือได้เป็นอย่างดี...!!

          ถ้าจะให้การส่งเสริมการอ่านจะไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร ก็ต้องพัฒนาห้องสมุดด้วย โดยกำหนดยุทธศาสตร์ 3 ดี

ห้องสมุด 3 ดี 

1)  หนังสือดี สร้างสรรค์ปัญญา เนื้อหาถูกต้อง ไม่มีพิษภัย ตรงใจผู้อ่าน

2)  บรรยากาศ อบอวลด้วยมิตรภาพ สะอาด ร่มรื่น ปลอดภัย ใส่ใจสิ่งแวดล้อม และสะท้อนเอกลักษณ์ชุมชน 

3)  บรรณารักษ์ดี มีอัธยาศัยน้ำใจดี มีจิตบริการ ทำงานระดับมืออาชีพ  ทันสมัย ส่งเสริมการเรียนรู้

          การทำให้คนไทย "รักการอ่าน" เป็นเรื่องที่ไม่ง่าย หรือต่อให้เกิดการสร้างเครือข่ายจากภาครัฐ เอกชน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง แต่ขาดการสร้างเครือข่ายในระดับชุมชนโดยเฉพาะครอบครัว ยุทธศาสตร์ทั้งสามก็อาจจะ "เป็นหมัน" ดังนั้น การขับเคลื่อน "การอ่าน" เป็น "วาระแห่งชาติ" อย่างยั่งยืนจึงจำเป็นต้องดึงความร่วมมือจากครอบครัวด้วย

          ผมเห็นด้วยอย่างยิ่งกับอาจารย์สุขุม เฉลยทรัพย์ ว่าครอบครัวสำคัญมากในการที่จะปลูกฝังนิสัยรักการอ่านผมเคยพูดคุยกับผู้ที่รักการอ่านหลายคน ทั้งดูประวัติผู้ที่ประสบความสำเร็จในหน้าที่การงาน ล้วนแต่เริ่มต้นนิสัยรักการอ่านมาจากครอบครัว

          ครั้งหนึ่งเคยคุยกับผู้จัดการร้านหนังสือ เขาเล่าว่าครอบครัวสำคัญมากในการส่งเสริมการรักการอ่าน ผู้ปกครองต้องสนับสนุนการอ่านหนังสือของเด็กไม่บังคับว่าจะต้องอ่านเฉพาะหนังสือเรียนเท่านั้น เด็กอยากอ่านหนังสือที่นอกเหนือจากหนังสือเรียนก็ต้องสนับสนุนด้วย ตรงนี้แหละที่จะเป็นจุดเริ่มต้นนิสัยรักการอ่าน มีเด็กคนหนึ่ง แอบเก็บเงินไว้จนพอที่จะซื้อหนังสือ แล้วเวลาจะอ่านต้องแอบอ่านเวลาพ่อแม่หลับ พอพ่อแม่รู้กลับต่อว่าลูกถึงขนาดพาลูกมาขอคืนหนังสือที่ร้าน ผมฟังแล้วอึ้งเลยครับ

          ที่เล่ามาไม่ได้หมายความว่าจะผลักภาระทั้งหมดให้ครอบครัว แต่ทุกภาคส่วนของสังคมคงต้องช่วยกัน ที่ลำปางทั้งเทศบาล ทั้งจังหวัดถือว่า การอ่านเป็นวาระสำคัญ ผมอยากให้สถาบันเล็ก ๆ ของสังคมแต่สำคัญที่สุดคือ ครอบครัว เห็นความสำคัญตรงนี้ด้วย แล้วช่วยกันขับเคลื่อนยุทธศาสตร์แห่งชาติ ครับ

 

ที่มา : ชี้นิสัยรักการอ่านเกิดจากสำนึกของพ่อแม่,” 2552.  เดลินิวส์. 2 เมษายน. หน้า 27.

สุขุม เฉลยทรัพย์.  2552 “เมื่อ การอ่านเป็น(อีกหนึ่ง)วาระแห่งชาติ’…!!” มติชน. 3 พฤษภาคม. หน้า 5.

สุนันทา การะเวก  http://gotoknow.org/blog/sununthra/280753

หมายเลขบันทึก: 280825เขียนเมื่อ 27 กรกฎาคม 2009 22:47 น. ()แก้ไขเมื่อ 14 เมษายน 2012 01:43 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

มาชม

ดีครับ

อ่านมาก ทำให้รู้มาก

สวัสดีค่ะอาจารย์

เป็นการเรียนรู้อีกค่ะ ดีใจที่ได้รู้จักกับ ผู้ที่รู้จักงาน กศน.ค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท