เหนือวิทยาศาสตร์ ๒


สิ่งๆ เดียวที่ว่ามันเป็นทั้งหมด เป็นทั้งเหตุเป็นทั้งผล เป็นทั้งอะไรทั้งหมดทุกอย่าง แล้วก็ของเรื่องพุทธศาสนาทั้งหมดที่เราจะต้องเรียนสิ่งเดียวนั้น ก็คือ สิ่งที่เรียกว่า "เวทนา" (Feeling)

เหนือวิทยาศาสตร์!

(ศึกษา ค้นคว้า ปฏิบัติ เกี่ยวกับเวทนา)

พุทธทาสภิกขุ

บรรยายอบรมพระนวกะในพรรษาปี ๒๕๑๔
ณ สวนโมกข์ ไชยา         ๘ กันยายน ๒๕๑๔

 - ๑ -

          การบรรยายในวันนี้  ก็จะเป็นเรื่องของตัวธรรมะโดยตรงเป็นวันแรก  ดังที่ได้บอกไว้ล่วงหน้าแล้ว เรื่องธรรมะโดยตรงในที่นี้  หมายถึงเราจะไม่พูดเรื่องเกี่ยวกับบุคคล  การบวช หรืออะไร ศาสนาหรืออะไรทำนองนี้  แต่จะพูดถึง หลักธรรมโดยตรงที่พุทธบริษัททั่วไปควรจะทราบ  แล้วก็โดยเฉพาะอย่างยิ่ง  ผู้ที่แรกเข้ามาสู่พุทธศาสนา  ฬนส่วนที่เป็นเรื่องธรรมะโดยตรง ไม่ใช่พิธีรีตอง หรือไม่ใช่อะไรทำนองนั้น ฉะนั้นจึงเรียกว่า "หลักธรรมะโดยตรง"

          สิ่งแรกที่สุด และก็เป็นสิ่งสำคัญที่สุด คือเป็นของทุกสิ่งทุกเรื่อง มีอยู่สิ่งหนึ่งเป็นสิ่งที่จะต้องทราบ แล้วเกินกว่าทราบ  คือจะต้องรู้จัก  ต้องเข้าใจ ต้องถึงกับรู้สึกด้วยใจ  รู้จักมันอยู่ด้วยใจในสิ่งนั้นๆ โดยเฉพาะ สิ่งๆ เดียวที่ว่ามันเป็นทั้งหมด  เป็นทั้งเหตุเป็นทั้งผล  เป็นทั้งอะไรทั้งหมดทุกอย่าง แล้วก็ของเรื่องพุทธศาสนาทั้งหมดที่เราจะต้องเรียนสิ่งเดียวนั้น ก็คือ สิ่งที่เรียกว่า "เวทนา" (Feeling)

          ตามที่สังเกตเห็น เราไม่ได้สนใจสิ่งที่เรียกว่า "เวทนา" กัน  ในฐานะเป็นสิ่งสำคัญที่สุด  หรือเป็นเรื่องที่สำคัญที่สุดเพียงสิ่งเดียว  เราจะเห็นเขาพูดถึงกันเพียงเป็นหรือเป็นเพียงสิ่งหนึ่งในหลายสิ่ง  ซึ่งมีความสำคัญเสมอกัน  เดี๋ยวนี้เมื่อได้รวบรวมมาทั้งหมด มาสอบสวนดูเกี่ยวกับพระพุทธภาษิตทั้งหลาย ก็พบที่พระพุทธเจ้าท่านทรงยืนยันว่า สิ่งนี้เป็นต้นเหตุ เป็นต้นเรื่องอะไรทั้งหมดที่จะต้องรู้จัก  ถ้ารู้จักสิ่งนี้ ก็จะเป็นเหตุให้รู้จักสิ่งอื่นหมด ถ้ารู้จักสิ่งนี้ก็จะรู้ธรรมะในลักษณะที่เป็นวิทยาศาสตร์  คือไม่ต้องฝากไว้กับความเชื่อ เชื่อนั่นเชื่อนี่ ซึ่งมันไม่ใช่หลักทางวิทยาศาสตร์

          วิทยาศาสตร์ในที่นี้  ก็หมายถึงเรื่องที่มันประจักษ์แก่ใจ  วิทยาศาสตร์ทางวัตถุ มันก็ประจักษ์แก่เครื่องทดลองทางวัตถุ  นี่วิทยาศาสตร์ทางจิต  มันก็ต้องหมายถึงที่ประจักษ์แก่ความรู้สึก  โดยไม่ต้องเชื่อตามผู้อื่น  หรือไม่ต้องใช้เหตุผลอย่างอื่น  นอกจากความรู้สึกที่มันรู้สึกอยู่จริง  บางคนอาจจะคิดว่าเอาสิ่งที่เรียกว่า "จิต"หรือ ความรู้สึกของจิตอะไรมาดูไม่ได้  แล้วก็ไม่จัดเป็นวิทยาศาสตร์  อย่างนี้อยากจะพูดว่า  นั่นมันยังโง่อยู่มาก  เพราะว่าถึงแม้วิทยาศาสตร์ทางฝ่ายวัตถุนี้  มันก็เป็นสิ่งที่เอามาให้ดูไม่ได้อยู่อีกมากมาย  แม้ที่สุดแต่ตัวสิ่งที่เรียกว่า "ไฟฟ้า"  ตัวจริงของไฟฟ้านี้ ก็ยังเป็นสิ่งที่เอามาดูกันไม่ได้  แต่เราก็รู้จักไฟฟ้า  รู้จักประกอบ รู้จักทำอะไรต่างๆ ตามกฎเกณฑ์นั้นๆ ตามต้องการได้  มันมียกเว้นบางอย่างที่เอามาให้ดูอย่างนี้ไม่ได้  ฉะนั้น  จึงเอาเท่าที่มันจะรู้สึกได้ เห็นได้ เพียงพอแก่ความสำเร็จประโยชน์  ถ้ามีเหตุผลอยู่ที่ความรู้สึก ไม่ใช่เหตุผลตามคำนึง คำนวณ  เดี๋ยวนี้วิชาที่เรียกกันว้า Psycho therapy รักษาโรคด้วยจิต  ด้วยอำนาจจิต หรือด้วยอะไรทางจิต นี้ก็กำลังเจริญแพร่หลาย  แต่ก็มิได้หมายความว่าเป็นการที่เอาจิตมาดูได้  หรือจับตัวจิตมาจัดการอะไรได้  ก็ได้แต่ทำไปตามกฎเกณฑ์ที่ให้เกิดผลตามความรู้สึกที่เรียกว่าจิตเท่านั้นเอง

          สิ่งที่เรียกว่าวิทยาศาสตร์ทางธรรมะ  ในทางจิตใจนี้มันก็มิได้แต่เพียงอย่างนี้  เท่าที่เรารู้ได้  รู้สึกอยู่เป็นปกติ เป็นประจำวัน  แล้วก็มีเรื่องหรือมีสิ่งที่สืบต่อเนื่องไปจากสิ่งที่รู้จักดีอยู่แล้วนั้นเป็นเรื่องๆ ไป ในลักษณะที่เห็นได้  อย่างนี้ก็ควรจะเรียกได้แล้วว่า  มันเป็นวิธีการตามทางของศาสตร์หรือวิทยาศาสตร์  หลักธรรมะในพุทธศาสนาที่เป็นตัวพุทธศาสนาที่แท้จริง  ก็ต้องมีลักษณะอย่างนี้  คือ  เป็นไปตามหลักที่เรียกว่าศาสตร์หรือวิทยาศาสตร์  ทั้งฝ่ายร่างกายและฝ่ายจิตใจ  ฝ่ายร่างกายนั้นไม่สู้มีความสำคัญอะไร  มันเป็นเหมือนกับภาชนะที่รองรับเรื่องทางจิตใจ  เรื่องทางจิตใจเลยสำคัญเพียงสิ่งเดียว  ในการที่จะต้องศึกษา ค้นคว้า และปฏิบัติ

หมายเลขบันทึก: 261663เขียนเมื่อ 17 พฤษภาคม 2009 13:44 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 20:45 น. ()สัญญาอนุญาต: ไม่สงวนสิทธิ์ใดๆจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

ไม่อนุญาตให้แสดงความเห็น
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท