เหนือวิทยาศาสตร์ ๔


เรื่องอริยสัจจ์ทั้ง ๔ อย่างนี้ จะต้องรู้จักได้จริง หรือศึกษามันได้จริงก็เฉพาะเมื่อกำลังมีเวทนาอยู่

ต่อจาก เหนือวิทยาศาสตร์ ๓

          พระพุทธเจ้าท่านได้ตรัสว่า เรื่องอริยสัจจ์นั้นเป็นเรื่องที่พูดไว้สำหรับคนมีเวทนา  สำหรับสัตว์ที่มีเวทนา  ถ้าสัตว์เหล่าใดไม่มีเวทนา  ฟังดูให้ดี  ถ้าสัตว์เหล่าใด คนใด ไม่มีสิ่งที่เรียกว่าเวทนา  ไม่จำเป็นที่จะต้องเรียน  ต้องรู้  ต้องปฏิบัติ เรื่องอริยสัจจ์  พระพุทธเจ้าท่านตรัสว่า  เรื่องอริยสัจจ์ทั้ง ๔ นั้น ตรัสไว้ บัญญัติไว้สำหรับสัตว์ผู้มีเวทนา 

         ทีนี้สัตว์ไหนบ้างที่จะไม่มีเวทนา  ทุกสัตว์จะต้องมีเวทนา  แต่ท่านตรัสจำกัดชัดลงไปกว่านั้นว่า  กำลังมีเวทนาอยู่  ในระยะกาล ระยะเวลาที่มีเวทนาอยู่  ท่านตรัสอริยสัจจ์สำหรับคนนั้น  เพราะมีเวทนาที่เป็นทุกข์อยู่  คือทุกขอริยสัจจ์  เมื่อเขามีทุกขเวทนาอยู่นั้น  มันต้องเป็นเวทนาที่มาจากตัณหา คือ สมุทยสัจจ์  เพราะว่าเวทนานั้นให้เกิดตัณหา  แล้วตัณหาพาให้เกิดทุกข์  ทีนี้สำหรับการดับทุกข์เสียให้ได้นี่ก็ต้องดับตัณหา จะดับตัณหาได้  ต้องดับอำนาจของเวทนา  มันจึงจะดับตัณหาได้  เวทนาหมดอำนาจ  ตัณหาจึงจะดับ  ตัณหาดับ  ทุกข์จึงจะดับเป็นทุกขนิโรธ

          อริยสัจจ์ข้อสุดท้าย  ที่เรียกว่า อัฎฐังคิกมรรค  ทางแห่งความดับทุกข์นี้  เป็นเรื่องควบคุมเวทนาทั้งนั้น องค์มรรคทั้ง ๘ องค์นี้  เป็นกฎ เป็นแบบหรือการปฏิบัติที่มันจะควบคุมเวทนา  ไม่ให้ลุกขึ้นมาไม่ให้เกิดขึ้นทำหน้าที่  หน้าที่นั้นก็คือทำให้สัตว์เป็นทุกข์  ฉะนั้น เมื่อเรามีทุกข์อยู่  เราจะเกี่ยวข้องกับอริยสัจจ์ทั้ง ๔ 

          ตัวทุกข์นี้เป็นเวทนาอยู่ในตัวแล้ว  ทุกข์นี้มาจากตัณหา  คือความอยาก  ตัณหาก็ต้องมาจากเวทนา  มาจากอื่นไม่ได้  ดับทุกข์ก็ต้องดับตัณหา  กล่าวคือดับอำนาจของเวทนา

          เมื่อเรากำลังมีทุกขเวทนาเราก็มีครบทั้งตัวทุกข์  ตัวเหตุให้เกิดทุกข์  เมื่อนั้นเราต้องการหาความดับทุกข์ ก็ดิ้นรนที่จะหยุดตัณหาเสีย  หรือว่าเมื่อมันไปจนสุดเหวี่ยงของมันแล้ว  มันก็หยุดของมันเองเหมือนกัน  มันจะทุกข์อยู่อย่างนั้นเรื่อยไปไม่ได้  มันก็ตายละ  ถ้ามันทุกข์ไม่มีหยุด

          เรื่องเป็นทุกข์ เป็นร้อน ชนิดไหนก็ตาม  ของใครก็ตาม พอสุดเหวี่ยงเข้า มันก็หยุด  นั่นคือ ตัณหา อุปาทาน ที่เป็นต้นเหตุของความทุกข์นั้น มันคลายไปเอง มันจางไปเอง ขณะนั้นเราก็รู้เรื่องนี้  เรื่องที่ว่าตัณหามันจางไป  ทุกข์มันก็ดับลง  ถ้าว่าเราจะมองดูไปที่อริยสัจจ์ ๔ ก็หมายความว่า พอเราเป็นทุกข์ขึ้นมา  ทนอยู่ไม่ได้  ต้องคิดไปให้ถูกทาง คือมรรคนั่นแหละ แล้วมันก็จะดับทุกข์ได้

          สรุปความว่า เรื่องอริยสัจจ์ทั้ง ๔ อย่างนี้ จะต้องรู้จักได้จริง  หรือศึกษามันได้จริงก็เฉพาะเมื่อกำลังมีเวทนาอยู่  นั่นจึงกลายเป็นเรื่องที่ทรงบัญญัติไว้  สำหรับสัตว์ผู้มีเวทนาอยู่   นี้ทุกคนก็ทราบอยู่แล้วว่า  เรื่องพุทธศาสนานี้ไม่มีเรื่องอะไร  นอกจากเรื่องความดับทุกข์อย่างเดียว  หรือขยายออกไป  เป็นเรื่องทุกข์กับความดับทุกข์ ๒ เรื่อง  คือตัวทุกข์กับเหตุให้เกิดทุกข์  ความดับทุกข์นั้นก็มี ๒ เรื่อง คือความดับทุกข์กับวิธีที่จะให้ได้มาซึ่งความดับทุกข์  ก็กลายเป็น ๔ เรื่อง เป็นอริยสัจจ์ ๔ ขึ้นมา

          นี่คือทั้งหมดในพุทธศาสนา  พุทธศาสนาทั้งหมด มีเพียง ๔ เรื่องนี้  ถ้าย่นก็เหลือ ๒  พระพุทธเจ้าท่านตรัส ๔ เสมอ คือ อริยสัจจ์ ๔  แต่ในที่บางแห่งนั้น  ท่านตรัสแต่เพียง ๒ ระบุว่า เมื่อก่อนก็ตาม เดี๋ยวนี้ก็ตาม ฉันพูดแต่เรื่องทุกข์กับความดับทุกข์  เรื่องอื่นไม่พูด  แต่มันขยายออกไปได้เป็นแปดหมื่นสี่พันข้อ  ตามสมมุติกัน  ไม่มีใครเคยนับ เพียงคาดคะเนกัน  สมมุติกันว่าพระธรรมในพุทธศาสนาในพระไตรปิฎกทั้งหมดนี้  นับดูจะได้แปดหมื่นสี่พันหัวข้อของเรื่องคือประเด็น  แม้อย่างนั้นก็ยังพูดได้ว่าถ้ามัแปดหมื่นสี่พันจริง  มันก็ไปรวมอยู่ที่คำว่า "เวทนา"  คำเดียว  เป็นเรื่องของความทุกข์  เหตุให้เกิดทุกข์  ความดับทุกข์  ทางถึงความดับทุกข์  เพราะพระพุทธเจ้าท่านตรัสว่าอริยสัจจ์ ๔ บัญญัติสำหรับบุคคลผู้กำลังมีเวทนาอยู่  พอเขาไม่มีเวทนา  กำลังไม่มีเวทนาอะไร  ตอนนั้นไม่มีเรื่องอริยสัจจ์  พอมีเวทนาขึ้นเมื่อไร  ก็จะมีความจำเป็นที่จะมี  และต้องการเรื่องอริยสัจจ์  แล้วก็มีอริยสัจจ์  นี้จำไว้ทีว่า  หลักอริยสัจจ์ คือตัวพุทธศาสนาทั้งหมดนี้  เป็นเรื่องของบุคคลผู้มีเวทนา  พระพุทธเจ้าท่านตรัสไว้อย่างนั้น  นี้เรื่องตัวศาสนาแท้ๆ ก็มีต้นเหตุมาจาก สิ่งที่ร้ายกาจสิ่งหนึ่ง คือเวทนา

 

หมายเลขบันทึก: 262020เขียนเมื่อ 19 พฤษภาคม 2009 07:50 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 20:46 น. ()สัญญาอนุญาต: ไม่สงวนสิทธิ์ใดๆจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

ไม่อนุญาตให้แสดงความเห็น
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท