ปอกเปลือกหงสา


ไปให้เห็น คุย-ซักให้รู้ จับต้องให้ได้ความรู้สึก บันทึกภาพมาเพื่อย้ำเตือน ....

ประสบการณ์ใหม่

 

การที่ต้องฝึกอบรม PRA (กระบวนการค้นหาศักยภาพชุมชนอย่างเร่งด่วน) ด้วยวัตถุประสงค์ที่แตกต่างไปจากที่เคยทำมาอย่างสิ้นเชิง  เพราะครั้งนี้โจทย์คือการย้ายหมู่บ้านทั้งหมู่บ้าน เนื่องจากจะมีการขุดพื้นที่ทำเหมืองแร่ลิกไนท์  PRA จึงต้องค้นหาข้อมูลเพื่อวัตถุประสงค์นี้โดยเฉพาะ

 

การไปหงสาก็ทำงานเป็นหลัก ไม่ค่อยมีเวลาไปซอกแซกดูนั่นดูนี่ตามที่ใจอยากจะทำ ก็อาศัยช่วงเช้ากับช่วงเลิกงานแล้ว ได้แวบไปบ้าง ซึ่งก็พอจะได้เห็นเมืองหงสาบางส่วน 

 

 

 

ภาพนี้ผมนึกถึงอำเภอสะเมิง

 

สะเมิง เชียงใหม่อยู่หลังเขาดอยสุเทพสมัยก่อนนู้น...(2518) ที่ผมเริ่มทำงานพัฒนาชนบทใหม่ๆ  เมืองหงสามีลักษณะเป็นชนบทมากๆแบบนั้น เพราะถนนหนทางยังเป็นลูกรัง แดงเถือก สภาพบ้านเรือนก็เป็นแบบเดิมๆ ในตัวเมืองหงสาจะมีตึกรามบ้างแต่ก็ไม่ได้หรูหราแต่อย่างใด มองไปในท้องทุ่ง สวยงามด้วยความเขียวขจีของทุ่งนาข้าว ใครบางคนบอกชอบมากๆ อยากมีชีวิตอยู่ในชนบทแบบนี้จริงๆ....

 

หากจะเข้าใจชุมชนต้องไปดูตลาดในท้องถิ่นนั้นๆ

 

เป็นคำกล่าวที่คนทำงานพัฒนาชุมชนรู้ดีกันทั่วไป เพราะตลาดบ่งบอก ความอุดมสมบูรณ์ของท้องถิ่น บ่งบอกถึงวัฒนธรรมการบริโภค บ่งบอกถึงสภาวะทางเศรษฐกิจชุมชน บอกถึงบทบาทหน้าที่ชายหญิง เด็ก ผู้ใหญ่  รวมกว้างไปถึงสภาวะสุขภาพอนามัยของคนในชุมชนนั้นๆ บ่งบอกถึงการบริหารจัดการต่างๆ บ่งบอกถึงอิทธิพลของทุนนิยมบริโภค บ่งบอกถึงความสัมพันธ์ของคนในท้องถิ่น บ่งบอกถึงระดับความเอื้ออาทรหรือทุนทางสังคมเดิมๆ บ่งบอกถึงสภาวะทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม การพึ่งพิงธรรมชาติ และบ่งบอกอีกมากมาย.... แล้วแต่ว่าตาปัญญาจะเห็นแค่ไหน

 

เมื่อเลิกการฝึกอบรมเราจึงไปดูกาดแลง (ตลาดช่วงเวลาเย็น) ของหมู่บ้านจ่อมแจ้งใกล้ๆที่พัก

 

           

 

เป็นตลาดเล็กๆ ไม่ใหญ่โต มีอาคารถาวรมีร้านยกพื้นเป็นที่นั่งขายสินค้าพื้นบ้านต่างๆ แบ่งเป็น 4 ล็อค ทั้งหมด 90% เป็นสินค้าประเภทอาหารของกิน โดยเฉพาะพืชผักพื้นบ้าน สัตว์พื้นบ้านต่างๆ มีเขียงเนื้อควาย วัว หมู 5-6 เขียง ทั้งหมดเกือบ 100% เป็นสุภาพสตรีที่มานั่งขายของ ทั้งคนกลางคนและคนแก่   สาวๆ และมีเด็กๆมานั่งข้างๆแม่บ้าง

 

เราตะลึงสินค้าพื้นบ้านที่ชาวบ้านเอามาวางขาย เพราะเป็นพื้นบ้านจริงๆ สดๆ สารพัด อาหารสำเร็จรูปและขนมพื้นบ้านมีบ้าง สินค้าก็กองเล็กกองน้อย ต่างก็เรียกร้องคนแปลกหน้าอย่างเราให้ช่วยอุดหนุนสินค้า

 

  

 

รายนี้เป็นลาวเทิง(คือชาวลาวที่อยู่บนดอย) เดินมาไกลโข เป๊อะกระบุงด้านหลังภาชนะประจำเผ่าของเขามา  ผมไปถามว่ามาซื้อสินค้าหรือมาขายสินค้า เธอตอบอะไรผมไม่ทราบ (ไม่รู้เรื่องน่ะครับ)  คุณยายแม่ค้าใกล้ๆนั้นช่วยบอกว่า  เขาเอาผักสดๆมาขาย ไม่ได้มาซื้อ

 

 

 

สาวน่ารักคนนี้นั่งขายขนมพื้นบ้านไปด้วย เมื่อว่างไม่มีคนมาซื้อเธอก็ใช้เวลาว่างเย็บผ้าลายพื้นบ้านด้วยมือ  ผมหละทึ่งในความสามารถที่งานนั้นประณีตจริงๆ และเธอขยันที่ไม่ยอมให้มีเวลาว่างเปล่าๆ  สอบถามได้ความว่าเธอไปเอาวัตถุดิบมาจากร้านค้าที่เมืองหงสา มาแซว (เย็บลาย) แล้วเอาไปส่งให้ที่ร้าน แล้วเอาชิ้นใหม่มาทำต่อเช่นนี้ไปเรื่อยๆ...ปรากฏว่าร้านค้าในเมืองหาสาที่รับซื้องานของเธอคือเจ้าของเฮือนพัก(โรงแรมเล็กๆ)ที่ผมไปพักนั่นเอง....

 

วัฒนธรรมกาดแลง

 

เป็นวัฒนธรรมชุมชนของล้านนาและล้านช้าง ที่ไม่จำเป็นต้องมีโครงการพัฒนาชนบทไปส่งเสริม สนับสนุนสร้างตลาดขึ้นมา ชาวบ้านก็มีนิสัยค้าขายและจัดทำตลาดของชุมชนขึ้นมาเองเป็นปกติวิถี  ตลาดชุมชนที่เราไปสนับสนุนนั้นบางแห่งดูท่าจะพอไปได้...แต่บางแห่งก็ส่อแววว่าอาการไม่ค่อยดีเท่าไหร่   หรือว่าเป็นกิจกรรมที่ไม่ใช่วัฒนธรรมของชุมชนในพื้นที่ที่เราทำงาน จึงจำเป็นที่เจ้าหน้าที่เราต้องออกแรงกันมากหน่อย  หากตลาดมีประโยชน์จริงต่อชุมชนมันก็น่าที่จะเดินต่อไปได้ด้วยหลักการของประโยชน์นี้เอง

 

   

 

นั่นไม้สนเกี๊ยะ(ภาษาภาคเหนือของไทย) หอยพื้นบ้าน  ปลาไหล ไก่ เป็ด ชำแหละแล้ว พริก ผักพื้นบ้าน  ขวามือนั่นคืออาหารที่เป็นสิ่งมีชีวิตพื้นบ้าน มีหอย จิ้งหรีด(จิ้งกุ่ง) และสัตว์เล็กๆสารพัดชนิดที่ไปช้อนมาจากทุ่งนา

 

 

 

สิ่งที่ขาดไม่ได้คือผงชูรส ที่ชาวลาวกินผงชูรสแบบน่ากลัวจริงๆ ขนาดไปนั่งกินเฝอ (ก๊วยเตี๊ยว) ยังมีผงชูรสอยู่ในกลุ่มเครื่องปรุงพวกน้ำปลา กะปิ น้ำตาลทราย ฯ

 

คุณยายที่นั่งลุ้นลูกค้าอยู่นั่นขายอะไร...

หวยลาวครับ.....

 

ทั้งหมดนี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งของเรื่องราวในตลาดชุมชนบ้านจ่อมแจ้ง

 

ไปให้เห็น คุย-ซักให้รู้ จับต้องให้ได้ความรู้สึก  บันทึกภาพมาเพื่อย้ำเตือน ....

 

ค้นหาความจริงในสิ่งที่เห็น

จับต้องความจริงให้ได้ในมิติที่สัมผัส

สรุปให้ได้ถึงที่สุดของคำพูด ที่เอ่ย

ฯลฯ 

 

แล้วประมวลความแก่นแท้ออกมา  เหล่านั้น เท่ากับเรา ปอกเปลือกสังคมหงสามาให้ล่อนจ้อนได้เลยครับ...

 

นี่คือเครื่องมือหนึ่งของ PRA ครับ 

เครื่องมือปอกเปลือกสังคม..อิอิ

 

หมายเลขบันทึก: 208955เขียนเมื่อ 16 กันยายน 2008 00:13 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 19:34 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (8)
  • มาซะดึกเลยค่ะ
  • อ้อ! ไม่ใช่มาซะเช้ามือเลยค่ะ....อิอิอิ

สวัสดีครับ

พี่มาอยู่หงสานานไหมครับ

ทุ่งนาข้างบนเหมือนในภาพวาดเลย

น้องหมอเจ๊ครับ P 1. หมอเจ๊ คนสวย แซ่เฮ

  • ฝนตกที่ขอนแก่นทั้งวัน น้ำท่วมหลายแห่ง ออกไปทำธุระก็ลำบาก กว่าจะมาเรียบเรียงก็ค่ำก็ดึกแล้วครับ
  • ฝนตกลงมาก็ย่อมมีสิ่งนั้นสิ่งนี้เสียหาย เลยต้องจัดการ  ฝนตกทำให้เราเห็นอะไร อะไรมากเหมือนกันครับ

สวัสดีครับอาจารย์ P 2. ธ.วั ช ชั ย

  • พี่มาอยู่หงสานานไหมครับ
  • ผมไปอยู่แค่สัปดาห์เดียวครับ
  • ทุ่งนาข้างบนเหมือนในภาพวาดเลย
  • ผมชอบมาก ถ่ายออกมาหลายภาพทีเดียว ยิ่งไปสัมผัสของจริง มันสวยมาก งามมาก และบริสุทธ์ ไม่มีมลภาวะแต่อย่างใด  น่าไปเที่ยวครับอาจารย์

 

  • สวัสดีครับพี่บางทราย
  • เยี่ยมมากเลยครับ
  • ที่หงสายังพึ่งพาตนเองได้มากอยู่นะครับ
  • เสียดายถ้าอยู่ใกล้ๆ คงตามเกาะไปเรียนรู้ด้วยคนแน่ๆ ครับ
  • โอกาสของการเรียนรู้แบบนี้หาได้ยากมาก
  • เพราะบ้านเรา(ในระบบการทำงาน) มักมองข้ามเรื่องสำคัญๆ อย่างนี้
  • บางครั้งยังกำหนดรูปแบบที่ตายตัว เช่นการทำแผนแม่บทฯ ชุมชนกันแค่สามวัน....จุ๊ๆๆๆ จะเก่งอะไรขนาดนั้น
  • อิอิ....
  • แล้วจะคอยติดตามตอนต่อไปนะครับ
  • ตามมาเที่ยวต่อด้วยครับ
  • ผักผลไม้ อุดมสมบูรณ์ดีนะครับ
  • เขาใช้สารเคมีกันหรือเปล่าครับ
  • กุ้งหอยปูปลาคงยังมีแยะนะครับ
  • จะตามไปเที่ยวด้วยอีกครับ

สวัสดีครับ น้องสิงห์ P 5. สิงห์ป่าสัก

  • ที่หงสายังพึ่งพาตนเองได้มากอยู่นะครับ
  • เสียดายถ้าอยู่ใกล้ๆ คงตามเกาะไปเรียนรู้ด้วยคนแน่ๆ ครับ
  • โอกาสของการเรียนรู้แบบนี้หาได้ยากมาก

ในสายตาของพี่นะครับ เมืองหงสา มีกินไม่อด เพราะเป็นพื้นที่อุดมสมบูรณ์เรื่องข้าวปลาอาหาร โดยเฉพาะข้าวเป็นสินค้าส่งออก

มีวัฒนธรรมที่เหมือนทางภาคเหนือ เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่กัน เข้าวัดเข้าวา เดี๋ยวจะพาไปเที่ยววัดครับ

หากลืมว่ามีสังคมแบบเมืองที่มีระบบธุรกิจ ระบบทุนนิยม มีเทคโนโลยีแล้ว เมืองหงสาคือชุมชนที่มีความสุขมาก เราไม่ค่อยได้เห็นสภาพแบบนี้มานานแล้ว 

  • เพราะบ้านเรา(ในระบบการทำงาน) มักมองข้ามเรื่องสำคัญๆ อย่างนี้
  • บางครั้งยังกำหนดรูปแบบที่ตายตัว เช่นการทำแผนแม่บทฯ ชุมชนกันแค่สามวัน....จุ๊ๆๆๆ จะเก่งอะไรขนาดนั้น
  • อิอิ....

ตลาดในชุมชนคือจุดหนึ่งในหลายๆจุดที่เป็นศูนย์รวมของภาพรวมชุมชนครับ

สวัสดีครับอาจารย์ P  6. นายประจักษ์~natadee 
 

  • ผักผลไม้ อุดมสมบูรณ์ดีนะครับ

สมบูรณ์ครับ ที่เฮือนพักมีกล้วยหวีงามวางให้กิดเต็มที่ทุกวัน  จริงๆต้องบอกว่าตลอดวัน เพราะเมื่อหมดเจ้าของเฮือนพักก็เอามาวางให้ใหม่  กินฟรีครับ 

  • เขาใช้สารเคมีกันหรือเปล่าครับ

มีใช้เหมือนกัน แต่น้อยมากๆ เพราะชาวบ้านนิยมใช้มูลสัตว์ และดินยังอุดมอยู่ครับ ดูต้นข้าวงามมาก รายละเอียดเรื่องนี้ คุณเปลี่ยนกับคุณวรรณาจะได้มาจากการทำการศึกษาข้อมูลชุมชนที่กำลังทำอยู่ครับ คงจะเอามาลง blog ต่อไปครับ

  • กุ้งหอยปูปลาคงยังมีแยะนะครับ

มากมายครับ  ผมไม่เคยเห็นสัตว์แบบในรูปนี้มาก่อน ซึ่งแสดงว่า ในนาไม่มีสารเคมี และมีความอุดมจึงสัตว์พวกนี้อยู่ในนา และเป็นอาหารคน

  • จะตามไปเที่ยวด้วยอีกครับ

ด้วยความยินดีครับอาจารย์

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท