โครงการสร้างเสริมสุขภาวะทางปัญญา (สุขแท้ด้วยปัญญา)


รายละเอียดโครงการสร้างเสริมสุขภาวะทางปัญญา (สุขแท้ด้วยปัญญา)

โครงการสร้างเสริมสุขภาวะทางปัญญา (สุขแท้ด้วยปัญญา)

หลักการและเหตุผล

 

      องค์การอนามัยโลก ได้นิยามไว้ว่า “สุขภาพ หมายถึงสุขภาวะที่สมบูรณ์ทั้งทางกาย จิตใจ สังคม และปัญญา มิใช่เพียงการปราศจากโรคหรือความพิการเท่านั้น” นำมาสู่วิสัยทัศน์ของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) คือ “คนไทยมีสุขภาวะยั่งยืน หมายถึงคนไทยมีสุขภาวะดีครบทั้งสี่ด้าน ได้แก่ กาย จิต สังคม และปัญญา”

      สุขภาวะทางปัญญาเป็นรากฐานและเงื่อนไขสำคัญที่จะส่งผลต่อเนื่องถึงสุขภาวะทางกาย จิต และสังคมโดยรวม พระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2550 ได้กำหนดไว้ว่า “สุขภาพทางปัญญา หมายความว่า ความรู้ทั่วรู้เท่าทัน และความเข้าใจอย่างแยกได้ในเหตุผลแห่งความดีความชั่ว ความมีประโยชน์และความมีโทษ  ซึ่งนำไปสู่ความมีจิตใจอันดีงาม  และเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่

      ปัจจุบันสังคมไทยได้ตระหนักถึงความสำคัญในเรื่องสุขภาพเพิ่มมากขึ้น มีการรณรงค์กันอย่างมากมาย แต่ส่วนใหญ่มุ่งเน้นและจำกัดอยู่เฉพาะเรื่องสุขภาวะทางกาย ในขณะที่กระแสบริโภคนิยมและวัตถุนิยมไหลบ่ารุนแรงขึ้น ผู้คน พึงพอใจและแสวงหาเรื่องทางวัตถุเป็นด้านหลัก นำมาซึ่งปัญหาต่าง ๆ มากมาย ทั้งในระดับบุคคล ครอบครัว และชุมชน ทำให้ผู้คนเกิดความทุกข์กันทั่วหน้า

      สังคมไทยกำลังต้องการภูมิคุ้มกันความทุกข์ ไม่มีอะไรที่จะเสริมสร้างภูมิคุ้มกันความทุกข์ให้เข้มแข็งได้ดีเท่ากับสุขภาวะทางปัญญา    สุขภาวะทางปัญญาช่วยให้ผู้คนบรรลุถึงความสุขที่แท้ คือความสุข    ที่เกิดจากการมีทัศนคติที่ถูกต้อง รู้เท่าทันความจริงของชีวิตและโลก สามารถคิดถูก คิดชอบ และรู้จักแก้ทุกข์ได้ด้วยปัญญา รวมทั้งมีความสุขจากการดำเนินชีวิต ถูกต้องดีงาม จากการเป็นผู้ให้ และการทำความดีเพื่อคนอื่นหรือส่วนรวม

      การมีทัศนคติที่ถูกต้อง เป็นกุญแจสำคัญที่จะทำให้วางใจถูกต้อง เมื่อวางใจได้ถูกต้องความสุขก็เกิดขึ้นได้ง่าย ๆ และทุกเวลา เป็นความสุขที่แท้และยั่งยืน อันเป็นพื้นฐานสำคัญสู่การพัฒนาสุขภาพองค์รวม

      โครงการสร้างเสริมสุขภาวะทางปัญญา ขอเชิญชวนทุกท่านร่วมกันเสริมสร้างทัศนคติใหม่ให้แก่สังคมไทย   ด้วยการนำเสนอกิจกรรม ทั้งที่เป็นโครงการริเริ่มสร้างสรรค์ใหม่หรือเป็นการแตกหน่อต่อยอดหรือพัฒนาต่อจากงานเดิมที่ทำได้ผลดี พร้อมไปกับการสร้างและพัฒนา ทั้งคนและเครือข่าย  ตลอดจนการสื่อสารเผยแพร่ให้สังคมไทยได้รับรู้และเห็นคุณค่าของ “สุขภาวะทางปัญญา หรือ สุขแท้ด้วยปัญญา” มากยิ่งขึ้น 
 
 
 
 
 

      วิถีสู่สุขภาวะทางปัญญา 

      สุขภาวะทางปัญญา หมายถึงความสุขที่เกิดจากการดำเนินชีวิตด้วยปัญญา ปัญญาในที่นี้นอกจากหมายถึงความรู้แล้ว ยังครอบคลุมถึงความคิดความเชื่อ และความเห็นที่ก่อประโยชน์เกื้อกูล   ซึ่งสามารถจำแนกออกเป็น 3 ด้านคือ   คิดดี   คิดเป็น และเห็นตรง

       1. คิดดี  หมายถึง การมีความคิดความเชื่อและความเห็นที่ถูกต้องดีงามหรือมีเหตุผล เช่น  

  •  
    • เห็นว่าการทำความดีเป็นสิ่งที่มีประโยชน์ทั้งแก่ตนเองและผู้อื่น 
    • เห็นว่าคุณค่าของชีวิตอยู่ที่การทำความดี มิใช่การสะสมวัตถุ ชื่อเสียง หรืออำนาจ
    • เชื่อมั่นว่าความสำเร็จจะเกิดขึ้นได้ต้องอาศัยความเพียรของตนเองเป็นสำคัญ  การพึ่งพาผู้อื่น หรือหวังลาภลอยคอยโชค ย่อมทำให้ชีวิตเสื่อมถอย
    • เห็นว่าความซื่อสัตย์สุจริตให้ผลดีที่ยั่งยืนกว่าการทุจริตคดโกง
    • เห็นว่าความสุขที่แท้จริงเกิดจากการทำความดี
    • เห็นว่าการคำนึงถึงผู้อื่น ย่อมช่วยให้เราอยู่ร่วมกันได้อย่างสงบสุข ส่วนความเห็นแก่ตัวนั้นให้ผลตรงข้าม

 

  •  

      2. คิดเป็น หมายถึง รู้จักคิดหรือพิจารณา  ทำให้เห็นความจริง สามารถแก้ปัญหาหรือทำกิจต่างๆ ให้สำเร็จได้ ได้แก่

  •  
    • คิดเป็นเหตุเป็นผล สามารถสืบสาวหาสาเหตุ และมองเชื่อมโยงถึงผลที่อาจเกิดขึ้น
    • พิจารณาโดยใช้เหตุผล ไม่ถูกครอบงำด้วยอารมณ์ หลงตามสิ่งเย้ายวน หรือเอนเอียงตามอคติ
    • มองเห็นแง่มุมต่าง ๆ อย่างรอบด้าน ทั้งบวกและลบ ทั้งข้อดีและข้อเสีย
    • รู้จักแยกแยะว่าอะไรเป็นคุณค่าแท้ หรือคุณค่าเทียม  สามารถจัดลำดับความสำคัญได้ถูกต้อง
    • มองแง่ดี เห็นด้านบวก รู้จักหาประโยชน์จากอุปสรรคหรือความทุกข์ หรือมองเห็นโอกาสท่ามกลางวิกฤต

 

  •  

      3. เห็นตรง  หมายถึง มีความเห็นที่ตรงตามความเป็นจริง ทำให้วางใจได้อย่างถูกต้อง

  •  

      ไม่ก่อหรือซ้ำเติมให้เกิดทุกข์ ได้แก่

  •  
    • ยอมรับความเป็นจริงว่าทุกสิ่งมีขึ้นลง มีดีมีเสีย ไม่มีอะไรที่ถูกใจเราไปเสียหมด
    • มองเห็นว่ามีความสุขอย่างอื่นที่ลึกซึ้งกว่าความสุขทางวัตถุ หรือเห็นว่าสุขหรือทุกข์ที่แท้จริงนั้นอยู่ที่ใจของตน มิได้ขึ้นอยู่กับวัตถุภายนอก
    • มองเห็นสิ่งทั้งหลายว่าแปรเปลี่ยนไปตามเหตุปัจจัย  ไม่มีความเที่ยงแท้ยั่งยืน และไม่ขึ้นอยู่กับความปรารถนาของเรา
    • มองเห็นว่าไม่มีอะไรเลยที่สามารถยึดมั่นถือมั่นให้เป็นไปตามใจเราได้เลยแม้แต่อย่างเดียว
    • มองเห็นว่าความทุกข์นั้นมีรากเหง้ามาจากความยึดติดถือมั่นในสิ่งต่าง ๆ ว่าเป็น “ตัวกูของกู”
      ทัศนคติอันเป็นที่มาแห่งความสุข

 

      โครงการสุขแท้ด้วยปัญญามุ่งก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทัศนคติ 4 ประการ  อันเป็นพื้นฐานสู่สุขภาวะทางปัญญา  ได้แก่ 

      1. การคิดถึงผู้อื่นมากกว่าตนเอง

      การคิดถึงแต่ตนเอง ทำให้จิตใจคับแคบ อัตตาหรือตัวตนใหญ่ขึ้นทำให้ถูกกระทบหรือเป็นทุกข์ได้ง่าย ขณะเดียวกันก็เป็นคนสุขยากเพราะได้เท่าไรก็ไม่พอใจเสียที ในทางตรงข้ามการคิดถึงผู้อื่นช่วยให้ตัวตนเล็กลง เห็นความทุกข์ของตนเองเป็นเรื่องเล็กน้อย ยิ่งช่วยผู้อื่นมากเท่าไร ก็ยิ่งมีความสุขเพราะได้เห็นผู้อื่นมีความสุขด้วย กล่าวอีกนัยหนึ่งความสุขของเราย่อมไม่แยกจากความสุขของผู้อื่น

      ทัศนคติดังกล่าวเกิดขึ้นได้เพราะมีปัญญามองเห็นว่า เราไม่อาจอยู่คนเดียวในโลกนี้ แต่ต้องเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับ ผู้อื่น การช่วยให้ผู้อื่นมีความสุขก็ย่อมทำให้เรามีความสุขด้วย และยิ่งมีความเห็นแก่ตัวน้อยลงเพียงใด ก็ยิ่งมีความสุขเพิ่มขึ้นเพียงนั้น 

      2. การไม่พึ่งพิงความสุขทางวัตถุอย่างเดียว

      วัตถุนั้นให้ความสุขเพียงชั่วคราว แต่ก่อให้เกิดภาระทางจิตใจต่าง ๆ มากมาย การยึดติดความสุขทางวัตถุทำให้ชีวิตเต็มไปด้วยความทุกข์ แท้จริงที่มาแห่งความสุขนั้นมีอยู่มากมาย และสามารถเข้าถึงได้โดยไม่ต้องใช้เงิน เช่นความสุขจากมิตรภาพ จากความสัมพันธ์ที่ดีงามกับผู้อื่น จากการทำงาน จากการทำความดี  และจากสมาธิภาวนา เป็นต้น การตระหนักว่าความสุขมีหลายมิติและสามารถเข้าถึงความสุขที่ไม่อิงวัตถุ จะช่วยให้มีสุขได้ง่ายขึ้นและเป็นสุขที่ยั่งยืน

      ทัศนคติดังกล่าวเกิดจากปัญญาที่มองเห็นว่า ยังมีความสุขที่ประเสริฐกว่าความสุขจากวัตถุ  เป็นสุขที่ไม่ได้เกิดจากการมีหรือการเสพ แต่เกิดจากการสละและละวาง รวมทั้งจากการทำความดีและมีสัมพันธภาพที่อบอุ่นราบรื่น 

      3. การเชื่อมั่นในความเพียรของตน ไม่หวังลาภลอย คอยโชค

      การหวังลาภลอย คอยโชค หรือการหวังความสำเร็จโดยไม่ต้องเหนื่อย เป็นที่มาแห่งความทุกข์ทั้งในระดับบุคคลและสังคม การหันมาตระหนักว่าความสุขเกิดขึ้นได้จากความเพียรพยายามของตน ทำให้ความสุขอยู่ในอำนาจของเราเอง และทำให้เราสามารถพึ่งตนเองได้ ไม่หวังพึ่งพาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ โชควาสนา หรือหันเข้าหาวิธีการที่เป็นโทษ เช่น อบายมุข การพนัน และการฉ้อโกง

      ทัศนคติดังกล่าวเกิดปัญญาที่มองเห็นว่า  การกระทำนั้นเป็นปัจจัยสำคัญที่สุดในการบันดาลชะตากรรมของเรา  ไม่มีอะไรที่ชนะทุกข์หรือเป็นที่พึ่งของเราอย่างแท้จริงได้นอกจากความเพียรของตน 

    4. รู้จักคิดอย่างมีเหตุผลและเป็นประโยชน์เกื้อกูล

          แม้คนทุกวันนี้จะคิดเก่ง แต่ก็มักเอาอารมณ์เข้ามาเจือปน ทำให้มองคลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง และโน้มเอียงไปในทางเข้าข้างตนเอง การพิจารณาสิ่งต่าง ๆ โดยคำนึงถึงเหตุผล ยิ่งกว่าอารมณ์ จะช่วยให้มองสิ่งต่าง ๆ ได้อย่างรอบด้าน   สามารถแยกแยะถึงความแตกต่างระหว่าง “ถูกใจ” กับ “ถูกต้อง”ได้  ซึ่งช่วยให้สามารถคิดในสิ่งที่เป็นประโยชน์เกื้อกูลต่อส่วนรวม  อีกทั้งยังสามารถลดทอนอคติ   นำไปสู่การเป็นอยู่ด้วยปัญญา และสามารถแก้ทุกข์ได้ด้วยตนเอง

      ทัศนคติดังกล่าวเกิดจากปัญญาที่มองเห็นว่า ไม่มีอะไรที่อยู่นอกเหนือจากเหตุและผล  การเข้าใจความสัมพันธ์ของเหตุและผล ช่วยให้เห็นความจริงและนำความจริงนั้นมาใช้ให้เกิดประโยชน์ได้ รวมทั้งเห็นว่าการพึ่งตนเองที่สำคัญ    ที่สุดก็คือการรู้จักคิดและพิจารณาด้วยตนเอง 

คณะที่ปรึกษาโครงการสุขแท้ด้วยปัญญา

      ประธานที่ปรึกษาโครงการ พระไพศาล วิสาโล

  •  
    •  
      1. พระมหาวุฒิชัย วชิรเมธี
      2. คุณหญิงจำนงศรี หาญเจนลักษณ์
      3. อาจารย์กำพล ทองบุญนุ่ม
      4. ดร.ประมวล เพ็งจันทร์
      5. คุณ รสนา โตสิตระกูล
      6. คุณ สนิทสุดา เอกชัย

 

สนับสนุนโดย : สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) 

สถานที่ติดต่อ : เครือข่ายพุทธิกา

  1. ซอยอยู่ออมสิน  ถนนจรัญสนิทวงศ์ 40  แขวงบางยี่ขัน เขตบางพลัด  กรุงเทพฯ  10700

    โทรศัพท์ / โทรสาร 0-2424-7409   มือถือ  08-0450-8890

    อีเมล์ :  b_netmail(at)yahoo.com

หมายเลขบันทึก: 183154เขียนเมื่อ 18 พฤษภาคม 2008 23:33 น. ()แก้ไขเมื่อ 14 พฤษภาคม 2012 00:19 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (8)

แวะมาอ่านโครงการดีๆ ค่ะ

 

  • สวัสดีค่ะคุณสุทธิรักษ์ และคุณแจ๋ว
  • บันทึกนี้เป็นรายละเอียดแนวคิดของโครงการสุขแท้ด้วยปัญญา สำหรับให้ผู้ที่สนใจอ่าน โดยเฉพาะผู้ที่อยากเสนอกิจกรรมขอทุนจากโครงการนี้ดังที่ได้ให้รายละเอียดไว้ในบันทึกก่อนหน้านี้ค่ะ

 

  • หมายเหตุ ถ้าจะคุยกันเรื่องที่ไม่เกี่ยวกับโครงการนี้ ขอเชิญที่บล็อกแลกเปลี่ยนความคิดเรื่องชีวิตนะคะ ส่วนบล็อกนี้อยากใช้เป็นพื้นที่ประชาสัมพันธ์ค่ะ เพราะเป็นโครงการที่ใบไม้ไม่ได้เขียนเอง เพียงแค่นำมาบอกต่อเฉย ๆ ค่ะ ^_^

บันทึกนี้เป็นรายละเอียดแนวคิดของโครงการสุขแท้ด้วยปัญญา สำหรับให้ผู้ที่สนใจอ่าน โดยเฉพาะผู้ที่อยากเสนอกิจกรรมขอทุนจากโครงการนี้ดังที่ได้ให้รายละเอียดไว้ในบันทึกก่อนหน้านี้ค่ะ

กวิน (ไม่ได้ล็อกอิน)

แวะมาอ่านครับ เอ ถ้าสมัครเข้าร่วมโครงการจะเจอคุณใบไม้มั้ยครับ อิๆ

  • ใบไม้ไม่ได้ทำงานให้เครือข่ายพุทธิกาหรอกค่ะ
  • คุณกวินสมัครมาก็ไม่เจอค่ะ แต่เพื่อนใบไม้เขาทำอยู่ที่นั่น
  • ใบไม้เห็นว่าโครงการน่าสนใจก็เลยช่วยนำมาเผยแพร่ค่ะ ^_^ 
  • ตามมาอ่าน โครงการที่ยอดเยี่ยม หากไม่ได้อ่าน เสียใจแน่เลยค่ะ
  • โครงการสุขแท้ด้วยปัญญา...คนอื่น..วัตถุ..เชื่อมั่น...เหตุผล
  • คิดดี..คิดเป็น..เห็นตรง

ขอบคุณมากค่ะ

คุณ ครูอ้อย แซ่เฮ คะ

ต้องยกความดีความชอบให้คนเขียนโครงการนี้ค่ะ

ขอให้ครูอ้อยสุขแท้ด้วยปัญญานะคะ ..^__^..

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท