นักรังสีเทคนิคมืออาชีพ


บางคนไม่มีใบประกอบโรคศิลปะ ก็ไม่ได้หมายความว่าจะเป็นมืออาชีพไม่ได้ เพียงแต่จะเป็นมืออาชีพแบบไหน ผมได้คำตอบว่า แท้จริงแล้วหัวใจของเรื่องนี้คือ "การทำงานด้วยหัวใจ"

     ผมได้มีโอกาสไปเป็นผู้ดำเนินการอภิปรายเรื่อง "นักรังสีเทคนิคมืออาชีพ" ในการประชุม 9th HA National Forum "องค์กรที่มีชีวิต-Living Organization" เมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2551 ณ ศูนย์การประชุมอิมแพ็ค เมืองทองธานี ผู้อภิปรายของผมหลายท่านรู้จักกันดี เพราะจะเห็นหน้าตาและการแสดงบทบาทต่างๆกันบ่อยๆ คือ นายสละ อุบลฉาย นายกสมาคมรังสีเทคนิคแห่งประเทศไทย รศ.ชวลิต วงษ์เอก ประธานคณะอนุกรรมการวิชาชีพ ด้านพัฒนามาตรฐานและวิชาการ คุณอำไพ อุไรเวโรจนากร คณะกรรมการวิชาชีพฯ และผศ.ลัดดา เฉลยกิตติ คณะกรรมการวิชาชีพฯ การอภิปรายคราวนี้ ส่วนตัวผมได้อะไรกลับบ้านเยอะเลย ได้ผมปะลูกศิษย์และชาวรังสีเทคนิค ได้พูดคุยแลกเปลี่ยนประสบการณ์กันอย่างมีความสุข โดยเฉพาะอย่างยิ่ง มีความเข้าใจเรื่อง "มืออาชีพ" มากขึ้น จึงขอนำมาบันทึกไว้เพื่อเป็นการแลกเปลียนเรียนรู้กันครับ

อาชีพกับวิชาชีพ
     อาชีพ โดยทั่วไปหมายถึง การเลี้ยงชีวิต การทํามาหากิน งานที่ทําเป็นประจําเพื่อเลี้ยงชีพ ส่วนคำว่า วิชาชีพ หมายถึง วิชาที่จะนำไปใช้ในการประกอบอาชีพ เช่น วิชาแพทย์ วิชาช่างไม้ วิชาช่างยนต์ ดังนั้น หากเราทำมาหากินด้วยการขายขนมครก ดูผิวเผินก็น่าจะเรียกได้ว่า เราประกอบอาชีพขายขนมครก แต่หากขนมครกนั้น เป็นของที่มีการผลิตที่ต้องอาศัยความรู้มาก ต้องร่ำเรียนมาจึงจะทำให้ได้ขนมครกที่วิเศษ ทั้งรูปลักษณ์และรสชาด คนกินติดใจ ชอบ และราคาแพงด้วย (ลองไปดูในห้างสรรพสินค้าดังๆก็มีขนมครกวิเศษขายกันแล้ว) อย่างนี้จะเรียกว่า เป็นวิชาชีพขนมครกก็เห็นจะไม่ผิด สำหรับรังสีเทคนิค หากจะเรียก อาชีพรังสีเทคนิค อาจมีหลายคนเคือง เพราะต้องเรียกว่า วิชาชีพรังสีเทคนิคจึงจะถูกต้อง

วิชาชีพรังสีเทคนิคที่เป็นมืออาชีพ
     ทีแรกผมก็สงสัยว่า ผู้ประกอบวิชาชีพรังสีเทคนิค (RT Professions) ได้นั้น ถ้าให้ดีก็ต้องมีใบประกอบโรคศิลปะ มันก็น่าจะเป็นมืออาชีพแล้ว (Professional RT) เพราะกว่าจะก้าวมาถึงจุดนี้มันไม่ง่ายเลย และก็น่าเห็นใจชาวเรามาก บางคนสอบหลายครั้งกว่าจะผ่านเกณฑ์ 60% ของข้อสอบที่คณะกรรมการวิชาชีพสาขารังสีเทคนิคเป็นผู้จัดขึ้นตามกฎหมาย มีมาตรฐานวิชาชีพรังสีเทคนิคและจรรยาบรรณวิชาชีพเป็นหลักยึดปฏืิบัติในการประกอบวิชาชีพอีก อย่างนี้เป็นมืออาชีพได้แล้ว?????

     แต่จากการอภิปรายในวันนั้น ทำให้ผมตาสว่างขึ้น ข้อคิดจากผู้ที่คร่ำหวอดในวงการรังสีเทคนิค ได้ฉายแสงทะลุทะลวงออกมาให้เห็นได้ว่า คำว่ารังสีเทคนิคมืออาชีพ มันก็คือสิ่งที่ผมได้กล่าวมาข้างต้นนั่นแหละ แต่เป็นเพียงองค์ประกอบส่วนหนึ่งของความเป็นมืออาชีพเท่านั้น บางคนไม่มีใบประกอบโรคศิลปะ ก็ไม่ได้หมายความว่าจะเป็นมืออาชีพไม่ได้ เพียงแต่จะเป็นมืออาชีพแบบไหน ผมได้คำตอบว่า แท้จริงแล้วหัวใจของเรื่องนี้คือ "การทำงานด้วยหัวใจ"

     เรารับผิดชอบในการใช้งาน ควบคุมและดูแลเครื่องมือรังสีที่มีราคาแพงที่สุดในโรงพยาบาล และเครื่องมือเหล่านี้ถูกใช้เป็นเครื่องมือโฆษณาของโรงพยาบาล ขณะที่ promotion ของเราน้อยไปหน่อย แถมยังมีความรู้สึกว่าทำงานแบบปิดทองหลังพระ เราหาเลี้ยงชีพด้วยวิธีนี้ ถามว่ามีความสุขกันไหม ผมว่าก็มีตามอัตภาพนะ แต่ที่มีแน่ๆคือศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์และวิชาชีพรังสีเทคนิค กลับมาตรงที่กำลังเล่าให้ฟังครับ เดี๋ยวจะเลยไปมาก ถ้าไม่มีความรู้และเครื่องมือที่จะกระทำเราก็ตกงาน หรือแม้แต่มีทั้งสองอย่างนั้นแล้วแต่ไม่มีใครมาขอใช้บริการเราก็ตกงาน การขาดเครื่องมือก็เป็นปัญหา แต่ที่น่าจะเป็นปัญหาใหญ่กว่าคือผู้ใช้บริการทั้งผู้ป่วยและญาติผู้ป่วยมีจำนวนน้อยลง หรือมีทัศนคติในทางลบต่อเรา มีปัจจัยหลายอย่างที่ทำให้เป็นเช่นนั้น หลักใหญ่เกี่ยวกับความประทับใจ ความพึงพอใจ มาแผนกรังสีแล้วพบเจ้าหน้าที่ทุกคนแล้วสบายใจหายป่วยเลย รู้สึกดีมาก ถ้าเป็นอย่างนี้ได้ก็ดีมาก และเป็นอย่างนี้ได้ไม่ยากถ้าเราใช้หัวใจในการทำงาน มันเป็นเรื่องที่ผสมด้วยศิลปะทั้งที่งานส่วนใหญ่ของเราเป็นวิทยาศาสตร์

ดูอย่างไรว่าทำงานด้วยหัวใจ
     ฟังดูมันง่ายมาก "ทำงานด้วยหัวใจ" แต่ก็อดสงสัยไม่ได้ว่าจะมีซักกี่คนที่ทำได้ มีคนหนึ่งถามว่า จะรู้ได้อย่างไรว่าใครทำงานด้วยหัวใจ จากที่ได้รวบรวมในวันนั้นก็สรุปได้ว่า ผู้ที่มีสปิริตในวิชาชีพ ผู้ที่มองเห็นผู้ป่วยเป็นเรื่องสำคัญ ผู้ที่มีความรับผิดชอบในหน้าที่อย่างจริงจัง ถูกต้องและทันเวลา ต่อเนื่องและตรงต่อเวลา ผู้ที่ทำงานรังสีเทคนิคจนเป็นนิสัยที่สอง ผู้ที่ยินดีและพร้อมที่จะทำงานที่ได้รับมอบหมาย ฯลฯ ผู้ที่มีลักษณะประมาณแบบนี้ น่าจะเรียกได้ว่า เป็นผู้ทำงานด้วยหัวใจ มันจะแสดงทางสีหน้าและการกระทำ เห็นและรู้สึกได้เลยครับ

     ยังมีเรื่องที่ต้องกล่าวถึงอีกคือ "องค์กรที่มีชีวิต-Living Organization" ในวันนั้นมีการพูดกันถึงความมีส่วนร่วมของรังสีเทคนิคมืออาชีพ ที่จะทำให้องค์กรที่เราทำงานอยู่มีชีวิต เราได้พูดกันถึงว่า จะทำอย่างไรให้องค์กรมีชีวิต ซึ่งผมจะขอยกยอดไปคราวหน้าครับ

อ่าน RT News ฉบับที่ 26 เมษายน 2551 click 

คำสำคัญ (Tags): #ประกายรังสี
หมายเลขบันทึก: 171384เขียนเมื่อ 17 มีนาคม 2008 23:35 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 มิถุนายน 2012 13:34 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

เรียน อ.มานัส ที่เคารพ

ผมขออนุญาตร่วมแสดงความคิดเห็นในหัวข้อ นักรังสีฯ มืออาชีพ และ นักรังสีฯ กับองค์มีชีวิต บทความใน RT News ฉบับที่ 26 และ 27 มาทาง e-mail เนื่องจากผม click แสดงความคิดเห็นใน web สมาคมรังสีฯ แล้วไม่สามารถเข้าไปได้

ด้วยความเคารพ

ธนากร อภิวัฒนเดช รังสีรุ่น 17

อดีตผู้จัดการฝ่ายรังสีฯ รพ บำรุงราษฎร์

“องค์กรมีชีวิต” จะเกิดขึ้นได้คงต้องมีหลายปัจจัยด้วยกัน

ส่วนหนึ่ง ตัวนักรังสีฯ เองต้องเห็นประโยชน์และคุณค่าของการสร้างให้องค์กรมีชีวิตด้วยตนเอง

ส่วนหนึ่ง ผู้บริหารหรือผู้นำองค์กรต้อง “ได้ใจ ” จากนักรังสีฯ หรือ “ลูกน้อง” เสียก่อน

คำว่า “ลูกน้อง” ก็บอกอยู่แล้วว่าผู้นำองค์กรควรดูแลเค้าให้เหมือน “ลูก” เหมือน “น้อง”

สนใจว่า เค้าทำงานมีความสุขมั๊ย ปรารถนาดีอย่างจริงใจที่จะส่งเสริมและพัฒนาเค้าให้เป็นนักรังสีฯที่ดี ดูว่าเค้ามีปัญหาจากการทำงานหรือไม่ ร่วมรับผิดชอบงาน ไม่โยนความผิดให้เค้า ปกป้องเค้า รักษาสิทธิที่พึงได้ให้เค้า

มองเค้าในด้านดี ไม่คอยจ้องจับผิด มองเห็นคุณค่าของเค้า แต่ก็ไม่ใช่ให้ท้ายซะเค้าหลงตนเอง จนเสียผู้เสียคนไปนะ

หากผู้นำองค์กร สามารถ “ ให้ใจ” ลูกน้องได้ เค้าก็ยินดีที่จะทำงานและสร้างสรรค์สิ่งดีๆ ให้กับองค์กร “ด้วยใจ” เช่นกัน

ผู้นำองค์กร ไม่ควรดูแลเค้าเพียงคิดว่าเป็น “ลูกจ้าง” คิดแค่ว่า จ้างมาแล้ว จ่ายค่าตอบแทนให้แล้วก็ทำงานให้ดีสิ เอาแต่สั่งงาน ไม่สนใจว่าเค้าจะมีปัญหาอะไรหรือไม่ ทำได้ก็ทำ ทำไม่ได้ก็ลาออกไป จ้างใหม่ก็ได้ อย่างนี้เค้าก็ “ไม่มีใจ ” ให้กับองค์กร เค้าก็จะทำงานให้ตามค่าจ้าง หรือทำตามที่สั่งเท่านั้น คอยแต่รอเวลาเลิกงานกลับบ้าน จะไม่มีการคิดสร้างสรรค์อะไรให้กับองค์กร

อีกส่วนหนึ่ง เป็นส่วนที่สำคัญมาก ผู้นำองค์กรและผู้ร่วมทีมสุขภาพจากวิชาชีพอื่น ต้องมีทัศนคติที่ดีต่อนักรังสีฯ ให้เกียรติในศักดิ์ศรีของวิชาชีพรังสีฯ อย่างเท่าเทียมกับวิชาชีพอื่น เพราะสิ่งนี้จะเป็นยาชูกำลังอย่างดี เป็นขวัญและกำลังใจให้นักรังสีฯ ทำงานด้วยความมั่นใจและภาคภูมิใจ

(ซึ่งถ้าเราจะมาวิเคราะห์กันเรื่องนี้คงต้องใช้เวลาคุยกันอีกนาน เพราะต้องรื้อฟื้นไปถึงระบบการศึกษา ค่านิยม อัตตา ทัศนคติ วิธีคิด ที่มันฝังลึกอยู่ในยีนส์ จนมันหล่อหลอมออกมาเป็นวัฒนธรรมการทำงานแบบไทยๆ อย่างทุกวันนี้ )

ผมเคยบอกน้องๆ อยู่เสมอว่า เราต้องตั้งใจทำงานของเราให้ดีที่สุด มีความรอบคอบ ผิดพลาดให้น้อยที่สุด เพื่อให้เป็นที่ยอมรับจากวิชาชีพอื่น โดยเฉพาะวิชาชีพที่ใกล้ชิดเราที่สุด แต่ยอมรับเลยว่าเหนื่อยมากๆ เหนื่อยที่สุด ยิ่งปัจจุบันนี้มีการฟ้องร้องกันมากขึ้น ก็ยิ่งจะมีการป้องกันตนเอง ต่างฝ่ายก็คงคอยมองหาแพะ แบ๊ะๆ ก็คิดว่าคงทำให้ต้องเหนื่อยขึ! ้นอีกหลายเท่าเป็นแน่แท้

ถ้าบ้านไหนบรรยากาศการทำงานดี ผู้คนในบ้านไม่ว่าจะเป็นผู้นำองค์กร เพื่อนร่วมงานทั้งวิชาชีพเดียวกันและต่างวิชาชีพ ต่างให้เกียรติกัน มองเห็นคุณค่าของกันและกัน มีความเอื้อเฟื้อกัน และมีความปรารถนาดีต่อกันอย่างจริงใจ เชื่อว่าทุกคนก็คงรักบ้านหลังนี้และช่วยกันทำบ้านหลังนี้ให้น่าอยู่ มีชีวิตชีวา โดยไม่ต้องมีการบังคับ อะไร อะไร ที่เป็นดรรชนีชี้วัดก็คงจะพุ่งปรู๊ดปร๊าดเลยทีเดียว

ยังคงมีอีกหลายปัจจัยที่ทั้งสามารถส่งเสริมหรือบั่นทอนกำลังใจของนักรังสีฯ ในการที่จะสร้างองค์กรให้มีชีวิตได้

แต่เชื่อว่า นอกจากตัวนักรังสีฯ เองแล้ว ก็คงไม่มีอะไรที่จะสามารถมาบั่นทอนความเป็น “นักรังสีฯ มืออาชีพ” ของเราได้ ตราบใดที่นักรังสีฯ ยังมีจิตใจที่มุ่งมั่น ตั้งใจ และ รอบคอบในการทำงาน “ด้วยใจรัก” ในวิชาชีพรังสีฯ มองเห็นคุณค่าของวิชาชีพ และ! ตนเอง เพราะผู้ที่ทำอะไร “ด้วยใจรัก” และมองเห็นคุณค่าในสิ่งที่ตนเองทำ ย่อมสร้างผลงานออกมาได้ดี มีความภาคภูมิใจและมีความสุข บางทีอาจจะดีเกินกว่ามาตรฐานหรือความคาดหมายด้วยซ้ำไป นี่แหละ “มืออาชีพ”

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท