กระบวนการคิดให้แยบคาย ๑๐ แบบ...อ่านเอาไปทำจากพุทธธรรม


.......การสร้างความรู้ โดยเฉพาะความรู้และปัญญาที่บูรณาการอยู่กับการปฏิบัติ หากขาดองค์ประกอบที่เป็นกระบวนการภายในของเรา ก็จะทำให้เป็นความรู้ที่แยกส่วนออกจากการปฏิบัติ และแยกส่วนออกจากความเป็นมนุษย์ ดังนั้น การสร้างความรู้ที่ลุ่มลึก จึงควรประกอบด้วย หัวใจ + สติ + สมอง + และความเป็นจริงภายนอก ซึ่ง การทำความคิดให้แยบคาย หรือ กระบวนการโยนิโสมนสิการ เป็นกระบวนการทางความคิดอย่างหนึ่ง ซึ่งเราสามารถพิจารณาให้พอเพียงแก่เหตุปัจจัย 10 แบบ....

             มีคนเชิญให้ผมไปบรรยายพิเศษเรื่องการพัฒนากระบวนการคิดอย่างเป็นการเฉพาะ อย่างน้อยก็ 3 ครั้งในรอบสองปีที่ผ่านมา ทั้งกลุ่มอาจารย์และนักวิจัย เครือข่ายการวิจัยแบบข้ามศาสตร์ และกลุ่มนักศึกษาบัณทิตศึกษา ทุกครั้งผมทำสื่อการสอนและเรียบเรียงเนื้อหาให้เป็นการจำเพาะกลุ่ม มานั่งนึกๆดูก็เกิดความเสียดายเหมือนกัน 

             มาระยะหลังนี้ ผมได้ลองใช้เว็บบล๊อกนี้บันทึกไว้ก่อนในเรื่องที่คิดอยู่หรือเรื่องที่เพิ่งผ่านการลงมือไปหมาดๆ  ผสมผสานกับการทำบันทึกสนามการวิจัย (Field note) โดยวิธีอื่นซึ่งมีทีมช่วยทำด้วย พออยากจะนำออกไปใช้  ก็ลองดึงออกมาเป็น Blog to Paper บ้าง Blog to Book บ้าง ช่วยลดความลำบากในการเตรียมเอกสารไปประกอบการบรรยายในโอกาสต่างๆได้มากเป็นอย่างยิ่ง ขอบคุณท่าน อาจารย์ ดร.จันทวรรน น้อยวัน และคณะจริงๆ

             คราวนี้เลยขอเก็บบันทึกเอาไว้ก่อนและนำมาแบ่งปันกันด้วย เพราะเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ก็มีโอกาสไปเล่าให้นักศึกษา ป.โท ของสถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเพื่อการพัฒนาชนบท ของมหาวิทยาลัยมหิดลฟัง ซึ่งส่วนหนึ่ง เป็นเรื่องการคิด 10 แบบ ในกระบวนการคิดแบบโยนิโสมนสิการ

           กระบวนการคิดแบบโยนิโสมนสิการ เป็นการพิจารณาอย่างแยบคายเพื่อเลือกปฏิบัติทางการคิดให้ถูกต้องกับลักษณะของโจทย์ที่ต้องการเข้าถึงความจริง ผมศึกษาเอาจากหนังสือของท่านพระพรหมคุณาภรณ์ แล้วใช้เป็นฐานพัฒนาวิธีคิด เพื่อเป็นเครื่องมือทำงานต่างๆ เช่น การพัฒนาประเด็นคำถามแบบมีโครงสร้าง การพัฒนาประเด็นการสนทนาแบบตารางไขว้ (Matrix Thinking System) เหมือนกับเรามีแบบสอบถามที่ไม่ตายตัวอยู่ในหัว

              การสร้างความรู้  โดยเฉพาะความรู้และปัญญาที่บูรณาการอยู่กับการปฏิบัติ หากขาดองค์ประกอบที่เป็นกระบวนการภายในของเรา ก็จะทำให้เป็นความรู้ที่แยกส่วนออกจากการปฏิบัติ และแยกส่วนออกจากความเป็นมนุษย์ ดังนั้น  การสร้างความรู้ที่ลุ่มลึก จึงควรประกอบด้วย หัวใจ + สติ + สมอง + และความเป็นจริงภายนอก ซึ่ง การทำความคิดให้แยบคาย หรือ กระบวนการโยนิโสมนสิการ เป็นกระบวนการทางความคิดอย่างหนึ่ง ซึ่งเราสามารถพิจารณาให้พอเพียงแก่เหตุปัจจัย 10  แบบ

            1.คิดแบบสืบสาวปัจจัย เป็นวิธีคิดเพื่อมุ่งเข้าใจปรากฏการณ์และสภาวการณ์ต่างๆอย่างเป็นระบบโดยพิจาณาไปที่เหตุปัจจัย รวมทั้งวิธีคิดบนระบบความสัมพันธ์เชิงสาเหตุ เช่น เราจะสามารถเข้าใจความจริงได้ดีขึ้นโดยศึกษาตัวแทนความเป็นจริงที่ปรากฏแล้วสืบสาวไปประมาณสิ่งที่ไม่สามารถมองเห็นด้วยตาเนื้อ ทว่าต้องเห็นด้วยตัวปัญญา เราสามารถนำมาปฏิบัติวิธีวิเคราะห์ในการวิจัยสมัยใหม่ได้ ๒ ลักษณะ คือ

              ลักษณะแบบ ปฏิโลม เป็นการเริ่มต้นจากการดูผลที่ปรากฏเพื่อย้อนไปเข้าใจสาเหตุ ศึกษาตัวแปรตามแบบถดถอยเข้าหาตัวแปรต้น (Regression Analysis) ในการวิจัยเชิงปริมาณและการวิเคราะห์ความสัมพันธ์เชิงเส้น หรือในการวิจัยเชิงคุณภาพ ก็ได้แก่การศึกษาย้อนหลังเพื่อเข้าใจสิ่งที่ผ่านไปแล้วอย่างเป็นระบบในลักษณะที่เป็นเหตุปัจจัยส่งผลสืบเนื่องมาสู่สภาวการณ์ปัจจุบัน เช่น การศึกษาเชิงพัฒนาการ  ประวัติศาสตร์เหตุการณ์ เป็นต้น

              อีกลักษณะหนึ่งคือการคิดแบบ อนุโลม เป็นการดูความเป็นปัจจุบันในฐานะที่เป็นพลวัตรปัจจัยในการก่อเกิดปรากฏการณ์ต่างๆอย่างเป็นเหตุเป็นผลกันและกันเพื่อคาดประมาณว่าจะเกิดผลอย่างไรตามมา เป็นการคิดศึกษาแบบคาดอนาคต (Prediction) โดยดูจากสิ่งที่ปรากฏ ณ ปัจจุบันขณะ

           2. คิดแบบแยกแยะส่วนประกอบ เป็นกระบวนการคิดแบบลดทอน เพื่อเข้าใจความเป็นจริงพื้นฐานของปรากฏการณ์หรือสิ่งที่ใหญ่โต หรือสิ่งที่แลดูแบบผิวเผินแล้ว ไม่สามารถแสดงความเป็นจริงได้อย่างครอบคลุมองค์ประกอบทั้งหมดของสิ่งนั้น มีลักษณะการสร้างความจริงแบบวิเคราะห์ (Analytical Thinking) แตกความเป็นจริงของสิ่งนั้นออกไปจนสุดเขตที่จะทอนต่อไปได้อีก ใช้เกณฑ์ที่สร้างขึ้นเป็นเครื่องมือทอนออกไป (Discrimination) แล้วจึงหาข้อสรุป

          3. คิดแบบสามัญลักษณะ  เป็นการคิดเพื่อเข้าถึงลักษณะร่วม หรือความเป็นธรรมดา ความเป็นคุณลักษณะทั่วไป (Normative and Commons) ที่อยู่ภายใต้สิ่งที่ดูเหมือนว่าแตกต่าง  หลากหลาย  โกลาหล มีลักษณะเป็นการสังเคราะห์ (Synthesis thinking) เป็นการคิดเพื่อสร้างปัญญาและความรู้อธิบายความเหมือนกันของสิ่งที่แตกต่างในระดับปรากฏการณ์  ใช้เกณฑ์ที่สร้างขึ้นเป็นเครื่องมือเชื่อมโยงลักษณะร่วม (Assimilation) แล้วจึงหาข้อสรุป กระบวนการคิดแบบนี้เหมาะสำหรับการหาแบบแผนภายใต้ภาวะความไร้ระเบียบ  เช่น เห็นความประสานสอดคล้องของเพลงแจ๊ส เห็นความเป็นระบบภายใต้ความวุ่นวาย โกลาหล เป็นต้น

        4. คิดแบบอริยสัจจ เป็นการคิดแก้ปัญหาอย่างเป็นเหตุเป็นผลที่สืบเนื่องเป็นเหตุปัจจัยซึ่งกันและกัน กล่าวคือ ทุกข์เป็นผล  สมุทัยเป็นเหตุ   นิโรธเป็นผล  มรรคเป็นเหตุ ตอนผมเรียนปริญญาโท เทคโนโลยีการศึกษา ที่ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ อาจารย์ ดร.มงคล  เอี่ยมสำอางค์ (ถึงแก่กรรมแล้ว) อาจารย์พิเศษจากมหาวิทยาลัยราชภัฎเชียงใหม่ ท่านสอนการวิจัย ให้พวกผมใช้เทคนิคการคิดแบบนี้ เป็นตารางสี่เหลี่ยมอยู่ในหัว(Quadrant analysis) แล้วพัฒนาการตั้งคำถามและค้นคว้าคำตอบให้ตนเองบนหน้ากระดาษ ทำแล้วทำเล่า จนกลายเป็นเค้าโครงการวิจัย ซึ่งได้ผลเป็นอย่างมาก ผมใช้เทคนิคนี้มาจนกระทั่งบัดนี้  หลายท่านอาจเรียกระบบคิดนี้ว่า ธรรมวิจัย

       5. คิดแบบอรรถธรรมสัมพันธ์ ใครที่เก่งวิชาเรขาคณิต หรือนักใช้เหตุผล เช่นนักกฏหมาย หรือนักปรัชญา นักวางแผน นักบริหารแบบอิงวัตถุประสงค์ จะเข้าใจใจกระบวนการคิดแบบนี้ได้ดีกว่าเพื่อน เพราะเป็นการคิดแบบเชื่อมโยง อิงจุดหมายและหลักการ เพราะจุดหมายและเจตนาเป็นอย่างนี้ เหตุผลและความเป็นจริงทางการปฏิบัติควรเป็นอย่างไร เป็นต้น เครื่องมือการคิดที่เหมาะคือ ตารางที (T-square analysis) หรือตารางเปรียบเทียบ เป็นวิธีสร้างความรู้แบบสร้างเกณฑ์อ้างอิงขึ้นมาก่อน (คล้ายกับการต้องสร้าง Bench Mark หรือ Norm of Reference) แล้วจึงเปรียบต่างๆให้ได้ความจริงที่สัมพันธ์กันอีกด้าน (Comparative method) 

ยาวเกินไปเสียแล้ว ขอต่อในบันทึกที่สองครับ Clickhere

 

คำสำคัญ (Tags): #วิธีวิทยา
หมายเลขบันทึก: 45669เขียนเมื่อ 21 สิงหาคม 2006 18:55 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 19:49 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (13)

ผมคิดถึง RDDR ของ ดร.มงคล  เอี่ยมสำอางค์ ครับ  เลยเข้า  Google มาเจอที่นี่ครับ  ถึงได้ทราบว่าเป็นศิษย์เก่า ม.ช. เหมือนกัน  ผมเรียนรุ่น 2 ครับ  เข้าปี 26 จบ ก.พ. 30

สวัสดีครับอาจารย์ รุ่นเดอะเลยนะครับเนี่ย จบปีที่ผมเพิ่งเข้าพอดีเลย  ผมรุ่นปี  30  ครับ เป็นรุ่นน้องของพี่แม้ว (อาจารย์สัมพันธ์  บก.เทคโนเชิงดอยของเรา...ผมรับช่วงต่อจากแก) พี่พิมาน พี่พรรนิภา อาจารย์วิทยาลัยพยาบาล  หวาน (น้องแหวน  สุตสุนทร)...นึกชื่อไม่ออก....รู้แต่ว่าทุกท่านไปมีบทบาทมากมายทางภาคการศึกษาของภาคเหนือตอนบน

....ดีใจมากเลยนะครับที่ได้เจอรุ่นพี่  อาจารย์ ดร.มงคล  มักปรารภว่าพวกรุ่นพี่ๆ  เรียนกับท่านได้เข้มข้น พวกผมก็ได้อะไรจากท่านเยอะมากโดยเฉพาะวิธีคิดอย่างเป็นระบบแบบ RD-DR อย่างที่พี่ว่านี่แหละ

ผมว่าเป็นโมเดลการวิจัยและทำงานพัฒนาที่เหมาะกับประเทศไทยมาก  ผมนำมาประยุกต์ใช้กับการวิจัยทางสังคมแบบ CO-PAR และ Grounded Research ก็คิดว่าเป็นฐานคิดที่เหมาะมากเลย  มีงานชิ้นหนึ่งที่ทำในแนวทางนี้เหมือนกัน อาจารย์อาจจะสนใจ  อยู่ที่นี่ครับ http://www.co-parnet.org 

หากอาจารย์และพี่ๆ เพื่อนๆ ผ่านไปทางกรุงเทพฯ  หรือมีกิจกรรมอะไรทางเหนือก็บอกบ้างนะครับ  จะช่วยประชาสัมพันธ์ต่อ และอยากจะเข้าร่วมด้วย

ขอบพระคุณเป็นอย่างยิ่งครับ

วิรัตน์

 

ทั้งตกใจและเศร้าใจมากที่ได้ทราบว่า อ. ดร. มงคล เอี่ยมสำอางค์ ถึงแก่กรรมแล้ว ท่านเป็น Advisor ตอนผมทำ IS ประทับใจไม่รู้ลืม ท่านอาจารย์มักเรียกว่า  "การวิวัฒน์ของอาตมัน" ยังฝังอยู่ในหัวเสมอ

วัฒน  ศรีสว่าง

เทคโน  29

ดีใจจังเลยพี่(อาจารย์) ผมลองพยายามเปิดกูเกิ้ลดูว่าพอจะจำพี่ได้ไหม ก็นึกไม่ออกเสียแล้วแหละครับ ทว่า รุ่นปี 29 นั้น  เป็นรุ่นที่ผมคลุกคลีสืบทอดงานต่างๆ มากที่สุด  เป็นรุ่นที่ผมคิดว่ามีความเป็นวิชาการ มี Unity และถือความเป็น Seniority ที่ห่วงใยรุ่นน้องสูงมาก ผมจึงคิดว่าน่าจะจำตัวคนได้ 

ที่สำคัญ การเป็น Advisee ของท่านอาจารย์ ดร.มงคลนี่   พวกเรารู้กันดีว่าเป็นตัวบ่งชี้ถึงการเอาเรื่องมากก็แล้วกัน ภาษาของพี่แม้ว(พี่สัมพันธ์..รุ่น 29 รุ่นเดียวกับพี่นั่นแหละครับ) เรียกว่า  วรยุทธทางวิชาการ เป็นเยี่ยม  ขอบพระคุณนะครับที่มาเยี่ยมเยือน  หากมีโอกาสไปทางอีสานจะไปขอคารวะครับ

 

ม่อย / วิรัตน์  เทคโน.30

กลับมาอีกทีเมื่อ 2 ปีผ่านไป ได้เห็นความสำเร็จของพรรคพวก เทคโน มช. แล้ว

ภูมิใจหลาย หลายคนเป็น ผศ. รศ. และ ศ. ในเร็วๆ นี้ เช่น พงษ์ศักดิ์ ไชยทิพย์ รุ่น 29

คนเชียงใหม่ เป็น ผศ. อยู่คณะเรานั่นแหละ ตอนนี้น่าจะกำลังทำ รศ. (หรือผ่านแล้วก็

ไม่แน่ใจนะ) หลายคนเป็น ศน. ส่วนผมเป็นได้แค่ ครู คศ.3 ( '29 คนเดียวที่ไว้หนวด

กินเหล้าดุที่สุด ไปเมาเหล้าใสๆบนดอยแม่สะลองเกือบตาย)

ได้เห็นความก้าวหน้าของท่านวิรัตน์ ก็ยินดีมาก ภูมิใจที่ได้เป็นศิษย์ร่วมสถาบัน

หวังว่าคงมีโอกาสได้ Co ความคิด และอื่นๆ แต่สู้ท่านไม่ได้หรอก เป็นครูมัธยม โอกาส

ที่จะได้ใช้ "วรยุทธทางวิชาการ" ไม่ค่อยมากนัก (แต่ในกระบวนการคิดแล้ว ในโรงเรียน

เขายกให้เป็นหนึ่งนะ อันนี้จริง ไม่ได้โม้)

ได้มาสัมผัสที่นี่แล้วเกิดพลังขึ้นมากมาย ยิ่งมาคิดถึงว่าเราเป็นศิษย์ก้นกุฏิ (Advisee)

ของท่าน อ. ดร. มงคล แล้ว ควรที่จะใช้วรยุทธนั้นให้เต็มพิกัด เราต้องสร้างผลงานการพัฒนา

ให้มากกว่านี้ We should work harder !

ในโอกาสปีใหม่ 2553 ขอให้โชคดี ร่ำรวย และแข็งแรง ตลอดปี ตลอดไป

วัฒน์

เทคโน'29

สวัสดีครับพี่วัฒน์ ศรีสว่างครับ : แปลกจริงครับ วันสองวันมานี้กำลังคิดถึงอาจารย์ ดร.มงคล เอี่ยมสำอางค์อยู่พอดีเลย ผมกำลังทบทวนประสบการณ์และความทรงจำต่ออาจารย์เพื่อเขียนบันทึกไว้เป็นการน้อมคารวะและรำลึกถึงท่านน่ะครับ

บทความนี้เขียนขึ้นโดยมีการพัฒนายุทธศาสตร์การคิดเชิงระบบแบบอิทัปปัจจัยตาและวงจรปฏิจจสมุปบาทในการวิจัยของอาจารย์ ดร.มงคล เป็นแรงบันดาลใจครับ

แล้วก็แปลกครับ เมื่อตอนทำ ป.โท มอชอ.นั้น เป็นช่วงครบรอบ ๒๐ ปีของคณะศึกษาศาสตร์พอดี ทางคณะก็ชวนเชิญทั้งหน่วยงานและนักศึกษาให้จัดกิจกรรมวิชาการกัน อาจารย์อาคม ไทยรินทร์ โดยการมอบหมายของคณบดีฯ(รองศาสตราจารย์ประจักษ์ สุดประเสริฐ)และหัวหน้าภาค เป็นแม่งานที่มาชวนพวกเราจัดกิจกรรม

จำได้ว่าผมกับเพื่อนและพี่แม้ว(อาจารย์สัมพันธ์) ขอลดงานที่เป็น Social event แล้วประสานงานให้เป็นเจ้าภาพกับคณะจัดสัมมนาทางวิชาการด้านการศึกษากับการพัฒนา ซึ่งพวกเราก็กราบนมัสการอาราธนาเชิญเจ้าประคุณพระเทพเวที ให้ได้เมตตาไปบรรยายและปาฐกถาพิเศษ ซึ่งต่อมาก็คือ พระธรรมปิฏก และ พระพรหมคุณาภรณ์ สดมภ์หลักท่านหนึ่งแห่งงานปัญญาทางพุทธธรรมของประเทศไทยและสังคมชาวพุทธ ที่ต่อมาอีกกว่า ๑๐ ปี ผมก็ได้นำเอางานนิพนธ์ในหนังสือ พุทธธรรม ของท่าน ออกมานั่งค่อยๆศึกษาซึ่งเรื่องการทำงานเชิงปัญญาจากภายในโดยวิธี โยนิโสมนสิการ อย่างในบทความนี้ เป็นผลสืบเนื่องอย่างหนึ่งของการค่อยเรียนรู้จากการนำไปใช้ทำงาน  เมื่อได้บทเรียนอย่างไรก็นำมาแบ่งปันและถ่ายทอดไว้ตามแต่จะมีคนสนใจน่ะครับ ทั้งๆที่เรื่องนี้ อาจารย์ ดร.มงคล เอี่ยมสำอางค์ ก็ได้สอนและกระตุกความคิดให้ตั้งแต่ตอนเรียนอยู่ มอชอ. และเมื่อตอนจัดกิจกรรมวิชาการครั้งนั้นของพวกเรา ก็ได้กราบนมัสการเจ้าประคุณพระเทพเวที (ป.อ.ปยุตฺโต) ที่นิพนธ์งานเขียนพุทธธรรมที่ผมนำเอามาศึกษาในเกือบ ๑๐ ปีต่อมา ขึ้นเหนือไปบรรยายพิเศษให้กับกลุ่มนักศึกษาและครูอาจารย์ คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ตั้งนานแล้วครับ

แรกๆก็ดูจะเป็นหัวข้อหนึ่งที่น่าสนใจเล็กๆ แต่ยิ่งศึกษาไปเรื่อยๆก็ยิ่งเห็นพรมแดนและความเชื่อมโยงอันกว้างขวาง โดยเฉพาะในเรื่องที่เกี่ยวกับงานวิจัย งานความรู้ และงานสร้างความลึกซึ้งทางการคิดอย่างเป็นระบบ เลยก็นึกถึง อาจารย์ ดร.มงคล เอี่ยมสำอางค์ ของเราครับ

รุ่นของพี่นี่ผมรำลึกถึงทั้งรุ่นได้อย่างดีครับ แต่ให้นึกชื่อนี่คงจะนึกไม่ค่อยออกเสียแล้วครับ .... พี่พงษ์ศักดิ์ พี่แม้ว พี่พิมาน หวาน พี่ขวด พี่ต่อม พี่พรรณิภา...อืม นึกออกและจำได้หลายคนเหมือนกันครับ แต่ปนๆรุ่นกันหรือเปล่าก็ไม่รู้ หากนั่งคิดทบทวนสักหน่อยผมว่าผมน่าจะจำได้หมดครับ

คิดถึงทุก ๆ คน

ขอคารวะอาจารย์อาคม ไทยรินทร์   ด้วยความรักและคิดถึงอย่างที่สุดครับอาจารย์

  • ขอคารวะทักทายด้วยรูปวาดดอกสักและทิวแถวป่าสักยืนต้นริมทางรถไฟแถวใกล้ถ้ำขุนตานด้วยครับ
  • ผมเพิ่งขึ้นมาที่บ้านสันป่าตอง เชียงใหม่ เมื่อช่วงสงกรานต์ แล้วก็นั่งวาดรูปนี้บนรถไฟครับ

                        

  • ดีใจมากเลยครับที่อาจารย์เข้ามาให้ผมได้คารวะด้วยการทักทายในนี้ นี่ผมและพวกผมอีกหลายคนไม่ได้เจออาจารย์มากว่า ๑๕ ปีแล้วกระมังครับ
  • ดีใจมากจริงๆครับอาจารย์
  • คน มช.ชอบเข้ามาเสวนากันในเวทีหัวข้อนี้ ทำให้คิดถึงอาจารย์ ดร.มงคล เอี่ยมสำอางค์ นะครับ รวมทั้งคิดถึงอาจารย์และที่พวกเราเคยจัดสัมมนากัน
  • อาจารย์จำได้ไหมครับที่ปีหนึ่ง อาจารย์นำพวกเราจัดสัมมนาวิชาการร่วมกับคณะศึกษาศาสตร์ มช. ดูเหมือนจะเป็นวาระเนื่องใน ๒๐ ปีคณะศึกษาศาสตร์
  • ในงานนั้นได้อาราธนาเจ้าประคุณพระเทพเวที (ประยุทธ ปยุตโต) ไปบรรยายพิเศษ ซึ่งทำให้ผมได้รู้จักงานเขียนของท่าน ทั้งที่ต่อมาจึงค่อยได้ทราบว่าท่านอยู่ที่ข้างมหาวิทยาลัยมหิดล ที่ทำงานผมนั่นเอง
  • และอาจารย์ ดร.มงคล เอี่ยมสำอาง ก็มักพูดถึงวิธีคิดแบบโยนิโสมนสิการกับการพัฒนา Paradigm การวิจัยและการวิจัยพัฒนานวัตกรรมเพื่อมุ่งแก้ปัญหา ซึ่งก็เช่นกันครับ ที่ทำให้ผมต้องตามอ่านศึกษา ซึ่งในที่สุดก็มาเจอเป็นคลังปัญญาในงานเขียน พุทธธรรม ของท่านอีกซึ่งในปัจจุบันท่านครองสมศักดิ์ที่ พระพรหมคุณาภรณ์ และเป็นเจ้าอาวาสวัดญาณเวศวัน อำเภอสามพราน จังหวัดนครปฐม
  • เลยได้นำมาบันทึกถ่ายทอดไว้เพราะเป็นเรื่องที่อยู่ในความสนใจมากนับ ๒๐ ปีแล้วครับและไม่แปลกใจเลยครับว่าทำไมถึงกลายเป็นแหล่งได้คารวะเหล่าซือแป๋สำนัก มช. ไปโดยปริยาย ดีใจมากจริงๆครับอาจารย์

ขอคารวะท่านอ.ดร.มงคล เอี่ยมสำอางค์ด้วยครับ

ชื่นชอบงานเขียนของท่านวิรัตน์ด้วยครับ

สวัสดีครับอาจารย์ชนินทร์ครับ

  • ดีใจนะครับที่ได้เสวนากับชาวเทคโนเชิงดอย
  • แถมเป็นศิษย์ของ ดร.มงคล เอี่ยมสำอางค์ด้วย
  • เลยลิ๊งก์เรื่องราวชุมชนวัดห้วยส้มและบ้านที่สันป่าตองมาฝากด้วยนะครับ
  • เผื่อมีโอกาสแวะไปเสวนากันของพี่ๆน้องๆชาวเทคโนเชิงดอยนะครับ จะยินดีเป็นอย่างยิ่งเลยนะครับ
  • ผมมี diagram วิธีคิดแบบอริยสัจจ์[Clickhere] เลยขอนำมาลิ๊งก์ไว้ให้แก่ผู้สนใจ เป็นการนำเอาวิธีคิดแบบอริยสัจมาเป็นเครื่องมือพัฒนาโจทย์วิจัยและโครงร่างการวิจัย ทำให้ความรู้และกระบวนการสร้างความจริงโดยวิธีการสมัยใหม่ เชื่อมโยงกับพื้นฐานการคิดในพุทธธรรม กอปรด้วยการเจริญสติ ใคร่ครวญความเป็นเหตุปัจจัย และจัดการกับสภาวการณ์ต่างๆด้วยวิถีแห่งสติปัญญา
  • วิธีคิดแบบอริยสัจเป็น ๑ ใน ๑๐ กระบวนวิธีคิด เพื่อทำความคิดให้แยบคายโดยวิธีโยนิโสมนสิการ ผมเคยเรียนจาก ดร.มงคล เอี่ยมสำอาง และต่อมาก็มาได้ศึกษาทบทวนได้อย่างจริงๆจังๆมากขึ้นจากหนังสือพุทธธรรมของท่านพระธรรมปิฎก (ประยุทธ ปยุตโต) หรือปัจจุบันคือพระพรหมณ์คุณาภรณ์พร้อมกับได้ศึกษาระเบียบวิธีวิจัย รวมทั้งระเบียบวิธีสำหรับทำงานความรู้สมัยใหม่ เลยพยายามย่อยมาเขียนบันทึกไว้ เชื่อว่าจะเป็นประโยชน์แก่ผู้สนใจเพื่อพัฒนาต่อไปมากยิ่งๆขึ้นครับ
  • diagram ชุดนี้เป็นส่วนหนึ่งที่ได้ดึงมาจากสไลด์ในชุดพาวเวอร์พ๊อยต์ซึ่งได้เตรียมไว้ในหัวข้อ เข้าถึง เข้าใจ เข้าหาชุมชน ที่ผมไปบรรยายให้กับที่ประชุมเครือข่ายเภสัชกรรมชุมชน ในการประชุมวิชาการจัดโดย วิทยาลัยการสาธารณสุขสิรินธรชลบุรี เมื่อ ๒๒ เมษายน ๒๕๕๓ ที่ผ่านมาที่พัทยา

มาอ่าน...เพื่อนเก่า ศิษย์เก่า..คุยกัน

  • โอ้โฮ ซือแป๋แห่งอีสานและเชิงดอยมาเยือนหัวข้อนี้ไว้นี่ ทำให้เกิดความรื่นรมย์ในใจมากมายครับ มากมาย มากมาย
  • อีกทั้งเป็นกัลยาณมิตรที่มาช่วยกระตุ้นเตือนให้ได้แวะเข้ามาดูด้วยครับ ผมเคยดึงเอาบันทึกนี้ออกไปเขียนเรียบเรียงไว้ แล้วก็ค่อยๆสะสม case ต่างๆจากการทำงานของชาวบ้านในท้องถิ่นต่างๆ มารวบรวมเป็นส่วนหนึ่งด้วย เพื่อจะทำเรื่องนี้ออกมาเป็นหนังสือและคู่มือของคนทำงานวิจัยที่ผสมผสานกับการสร้างศักยภาพชุมชนที่ระดับฐานราก เป็นวิธีหนึ่งที่จะทำให้มีหลักคิด-หลักปฏิบัติ ในการทำงานให้เป็นการศึกษาอบรมชีวิตด้านในตนเอง ทำงานให้ได้ประโยชน์แก่สังคม ขณะเดียวกันก็เป็นการเข้าถึงธรรมของคนทำงานไปด้วย ผมว่าหลักขอวงการทำงานความคิดแบบ โยนิโสมนสิการ นี่แหละครับ เป็นแนวหนึ่งที่ลงตัวมาก
  • แต่ก็หายไปพร้อมกับข้อมูลอีกมากมายที่สะสมไว้ไปเรื่อยๆ ในคอมพิวเตอร์ ที่เจ๊งไปตอนที่ยังไม่ค่อยรู้จักหาวิธีสำรองข้อมูลไว้ เจอไป ๒-๓ ครั้ง แต่ก็ไม่ลืมที่จะกลับมาทำใหม่อีก ต้องขอบพระคุณมากเลยครับ 
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท