ชีวิตที่เริ่มต้นก่อนเลข “ศูนย์”(นายสัพตู ขุนภักดี คนไทยพลัดถิ่น จ.ระนอง)...การเดินทางของเรื่องเล่า-3(เพิ่มเติมแล้ว)


แม้วันนี้นายสัพตูจะสามารถทำบัตรผู้ไม่มีสถานทางทะเบียนได้ แต่ร่างกายซีกซ้ายที่ขยับไม่ได้ก็สูญไป เหมือนไม่มีตัวตนไปครึ่งตัวเสียแล้ว

ชีวิตที่เริ่มต้นก่อนเลข “ศูนย์”

โดย จุฑิมาศ สุกใส  วันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2551

_______________________________________________________________________ 

บ่ายแดดระอุวันหนึ่งที่ระนอง คนไทยพลัดถิ่นไม่มีบัตรประชาชนไทยคนหนึ่งพาฉันซ้อนมอเตอร์ไซค์กว่า 15 กิโลเมตร เลียบถนนราดยางบ้าง ซ่อมบ้างบนเขานางหงส์ไปที่หมู่บ้านหินช้างเพื่อพบกับคนไทยพลัดถิ่นอีกคน ที่กำลังปรับตัว ปรับใจกับชีวิตใหม่หลังเป็นอัมพาตครึ่งซีกซ้าย ชีวิตที่เคยโลดแล่นเป็นพระเอกลิเกป่า เมื่อต้องมานั่งๆ นอนๆ อยู่บ้านจะเป็นเช่นไรหนอ

เมื่อมาถึงแนวบ้านชายทะเล สร้างจากเศษไม้เก่าๆ สร้างติดๆ กันสี่หลัง มีทางเข้าออกเป็นสะพานไม้ผุๆ จวนพัง พอๆ กับหลายชีวิตที่อาศัยอยู่ในนั้น หญิงวัยใกล้หกสิบ ท่าทางแข็งแรงออกมาต้อนรับ พาเราไปที่บ้านหลังที่สองจากขวา เสียงอะไรเคาะกับพื้นเป็นระยะๆ ดังมาหลังบานประตูที่ปิดอยู่

ออกไปไหนหน่อยไม่ได้เลย ต้องเรียกตลอด”

นางลีมะ สัพตู หญิงวัยใกล้หกสิบ บ่นถึงคู่ชีวิตที่รออยู่ในบ้าน หลังจากเปิดประตู ฉากชีวิตของคนไม่มีสถานะทางทะเบียนคนหนึ่งที่กำลังจะเริ่มต้นชีวิตที่เลข “0” ก็ปรากฎตรงหน้า 

 

ความทรงจำอันเลือนลาง ไม่ว่าจะเป็นเพราะสุขภาพ  ความไม่แน่ไม่นอนของอายุ และความไม่รู้ของนายสัพตู ขุนภักดี (ตามใบตอบรับการสำรวจเพื่อจัดทำทะเบียนสำหรับบุคคลไม่มีฐานะทางทะเบียน แบบ 89/1 เมื่อวันที่ 4 มกราคม 2549) หรือนายสัมโต คนภักดี (ตามบัตรสำมะโนประชากรอิสลามพลัดถิ่น หมู่ 3 ตำบลปากน้ำ[1] ) นอกจากเอกสารนี้แล้ว ไม่ปรากฏเอกสารใดๆ ที่แสดง ”ตัวตน” ทางกฎหมายใดๆ ของนายสัพตูอีก  นายสัพตูป่วยเป็นอัมพาตก่อนที่จะได้ไปถ่าย บัตรบุคคลผู้ไม่มีสถานะทางทะเบียน พร้อมครอบครัว คือนางลีมะ และลูกสาวอีกสองคน จึงมีเพียงใบตอบรับการสำรวจเพื่อจัดทำทะเบียนสำหรับบุคคลไม่มีฐานะทางทะเบียนเท่านั้น แต่นางลีมะมีบัตรประจำตัวผู้ไม่มีสถานะทางทะเบียนแล้ว เพราะสามารถเดินทางไปทำบัตรที่อำเภอได้

นายสัพตู เกิดเมื่อใดไม่ทราบ แต่จากการประมาณอายุของตนเองและภรรยา เชื่อว่าน่าจะมีอายุ 62 ปี (เกิด พ.. 2491) จำได้ว่าตนเองเกิดที่ ”ฝั่งโน้น” โดยมีหมอตำแยเป็นผู้ทำคลอด ไม่สามารถหาพยานการเกิดได้  ทราบเต่ว่าเกิดที่ไสแดง อยู่ที่แม่ปูเต ปกเปี้ยน โดยไม่มีเอกสารใดๆ ติดตัวเลยทางเกาะสอง กับนางลีมะ ภรรยา เมื่อประมาณ 10 กว่าปีมาแล้ว เพราะตั้งใจจะเข้ามาปักหลักในประเทศไทยเพื่อหนีการคุกคามจากทหารพม่า ปัจจุบันอาศัยอยู่ที่ 233 หมู่ 3  . ปากน้ำ อ. เมืองระนอง จ. ระนอง[2]  ยังไม่มีเลขรหัสประจำบ้าน และทะเบียนบ้าน ทั้งครอบครัวนับถือศาสนาอิสลาม นางลีมะอธิบายว่าเดิมก็เป็นพุทธแต่มารับอิสลามภายหลัง

ปัจจุบันนางลีมะประกอบอาชีพรับจ้างเพียงคนเดียว ลูกสาวทั้งสองเรียนหนังสืออยู่ ทั้งนายสัพตูฟังและพูดภาษาไทยได้ แต่ยังอ่านและเขียนไม่ได้คล่อง สามารถเขียนอ่านพูดภาษายาวีได้บ้าง ทั้งคู่ไม่ได้เรียนหนังสือ แต่หวังจะให้ลูกเรียนสูงๆ เท่าที่จะทำได้ นายสัพตูไม่มีพี่น้องร่วมบิดา-มารดา  จำข้อมูลบิดามารดาและบรรพบุรุษได้เลือนลางมาก จำได้ว่าบิดาชื่อนายเน็น ขุนภักดี ไม่มีบัตรประจำตัวประชาชน เสียชีวิตมากว่า 30 ปีแล้ว มารดาเสียชีวิตตั้งแต่นายสัพตูยังเด็กๆ จำความไม่ได้ บิดามารดาไม่มีเอกสารใดๆ และไม่ได้ตามเข้ามาในประเทศไทยด้วย เมื่อถามถึงบิดาแววตานั้นมีน้ำตารื้นมาทันที ราวกับจะจำได้ถึงความสูญเสีย แม้จะไม่สามารถเล่าหลักฐานที่เป็นประโยชน์กับเรื่องสถานะบุคคลของตนเองได้อีก 

นายสัพตูป่วยเป็นโรคอัมพาตครึ่งซีก เมื่อประมาณเดือนกันยายน 2550 มีอาการปวดศีรษะ ชักเป็นครั้งคราว จนครั้งสุดท้ายมีอาการชักและชาซีกซ้าย เพื่อนบ้านเละภรรยาจึงต้องหอบหิ้วไปโรงพยาบาล โดยเครือข่ายการแก้ปัญหาคืนสัญชาติคนไทย จังหวัดระนอง ชุมพร ประจวบคีรีขันธ์  ที่เคยใช้บริการลิเกป่าของนายสัพตู และให้การช่วยเหลือเรื่องการขึ้นทะเบียนสถานะบุคคล นำส่งโรงพยาบาลระนองทันที แต่ก็ไม่ทันเสียแล้ว หลังจากได้รับการรักษา หมดค่ารักษาไปเพียง 2,000 บาท เพราะได้แต่รักษาตามอาการ แต่ไม่สามารถยื้อกับอาการอัมพาตได้ โดยเครือข่ายการแก้ปัญหาคืนสัญชาติคนไทยฯ เป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายให้ นายสัพตูก็มานั่งๆ นอนๆอยู่กับบ้าน 

แพทย์ผู้รักษาเมื่อเห็นว่ามีฐานะยากจนจึงมาเยี่ยมบ้าน 2-3 เดือนครั้ง พร้อมข้าวสาร อาหารแห้ง และ ส่งต่อให้นายสัพตูให้สถานีอนามัยตำบลหินช้าง เป็นผู้ดูแลวัดความดันและจ่ายยาลดความดันโลหิตสูง มีพยาบาลมาเยี่ยมบ้านเพื่อวัดความดัน เนื่องจากนายสัพตูเดินทางไปไหนมาไหนไม่ได้ ต้องอาศัยการนั่งแล้วคืบตัวไปกับพื้น  โดยนายสัพตูไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายค่ายาและค่าตรวจวัดความดันประมาณเดือนละครั้ง เมื่อพูดถึงตรงนี้ นายลีมะมีสีหน้าปลื้มใจกับ “หมอใหญ่” ที่นำข้าวสารอาหารแห้งมาให้ครอบครัวของนางอย่างมาก

ครอบครัวของนายสัพตูไม่มีเงินเพียงพอจะทำบัตรประกันสุขภาพ 1300 บาท[3]ที่โรงพยาบาลระนอง เพราะไม่มีเงิน สองสามีภรรยาทำงานรับจ้างส่งลูกสองคนเรียนหนังสือ นางลีมะซึ่งพูดภาษาไทยได้คล่องกว่าสามีบอกว่า ทุกวันนี้จะหาเงินค่าขนมให้ลูกไปโรงเรียนก็ลำบาก ลูกได้แต่มองดูเพื่อนๆ กินขนมด้วยความน้อยเนื้อต่ำใจในโชคชะตา จะให้เอาเงินที่ไหนไปซื้อบัตร ในเมื่อทำงานรับจ้าง ได้เงินมาก็ต้องเอามาซื้อข้าวปลาอาหารให้ครอบครัว ส่วน “ลูกบ่าว” บุตรชายคนโตที่พ่อแม่หวังจะพึ่งก็เสียชีวิตไปแล้ว ขณะทำงานที่สะพานปลา 

          แม้นายสัพตูจะไม่มีบัตรแสดงความมีตัวตน เพราะมาเป็นอัมพาตไปเสียก่อน แต่ชีวิตก็ได้เริ่มปรากฏการยอมรับในทะเบียนราษฎรของรัฐไทย หากนายสัพตูจะสามารถไปทำบัตรที่อำเภอได้ ก็จะมีบัตรเลขประจำตัว ที่ขึ้นต้นเลข 13 หลักด้วยเลข “0  แสดงว่าแม้นายสัพตูจะไม่ได้เป็นคนสัญชาติไทย แต่รัฐไทยก็ยอมรับในความไร้รัฐ แม้ข้อมูลด้านความเกาะเกี่ยวกับรัฐไทยของนายสัพตูที่เล่าให้ฉันฟัง จะเลือนลางและน่าหนักใจ เพราะยากที่จะพิสูจน์ว่านายสัพตูมีความเกี่ยวข้องกับบิดา มารดา หรือบรรพบุรุษไทย เพียงแต่ฟังได้ว่านายสัพตูเกิดเมื่อใด และเคยเป็นดินแดนที่เคยเป็นของไทยมาก่อนเท่านั้น

 

บนเส้นทางของความไร้เอกสารพิสูจน์ตน และไร้วี่แววว่าจะสามารถติดต่อญาติอื่นๆ ให้มาพิสูจน์ความเกี่ยวข้องกับแผ่นดินไทย หรือหลักฐานบนกระดาษที่ระบุความสัมพันธ์กับแผ่นดินไทย  เมื่อมีปัญหาสุขภาพ คนเช่นนายสัพตูมักไม่ได้รับการตรวจรักษา คัดกรองโรคแต่เนิ่นๆ โรคความดันโลหิตสูงและโรคอื่นๆ ที่รอคอยแสดงอาการ จึงส่งผลร้ายแรงจนยากจะเยียวยา

แม้วันนี้นายสัพตูจะสามารถทำบัตรผู้ไม่มีสถานทางทะเบียนได้ แต่ร่างกายซีกซ้ายที่ขยับไม่ได้ก็สูญไป เหมือนไม่มีตัวตนไปครึ่งตัวเสียแล้ว  

                                   _____________________________________

 (ปิดท้าย)

 โดย ปิ่นแก้ว อุ่นแก้ว

วันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2551
 

           จากนี้หากว่านายสัพตูได้รับ บัตรบุคคลผู้ไม่มีสถานะทางทะเบียน เขาก็จะไม่ประสบปัญหาเป็น คนไร้รัฐ อีกต่อไป

 

           แต่ในกระบวนการที่จะพิสูจน์ให้เห็นว่าเขาคือ คนไทยพลัดถิ่น ที่มีสัญชาติไทยนั้น  แนวทางความเป็นไปได้ภายใต้นโยบายที่เป้นอยู่คือ นายสัพตู ต้องรอคอยกระบวนการที่กำหนดใน ยุทธศาสตร์การจัดการสิทธิและสถานะบุคคล ภายใต้มติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 18 มกราคม พ.ศ.2548  

            ซึ่งกำหนดให้  ยอมรับให้สัญชาติไทยโดยการแปลงสัญชาติแก่บุคคลที่มีเชื้อสายไทยที่มีชื่ออยู่ในระบบทะเบียนและไม่สามารถเดินทางกลับประเทศต้นทางได้ โดยบุคคลนั้นต้องมีความประพฤติดี ประกอบอาชีพสุจริต และจะต้องให้สัญชาติไทยแก่บุตรของคนต่างด้าวที่มีเชื้อสายไทยที่ได้รับแปลงสัญชาติเป็นไทยแล้ว 

             แต่สำหรับคนไทยพลัดถิ่นที่เกิดในดินแดนที่รัฐไทยได้เสียไปนี้ โดยเฉพาะคนไทยพลัดถิ่นจากมะริดประกาศอย่างชัดเจนว่ายอมรับไม่ได้ที่จะถูกปฏิบัติในลักษณะเดียวกับคนต่างด้าวที่ไม่มีเชื้อสายไทย ไม่ยอมรับที่จะยื่นคำร้องขอแปลงสัญชาติ และยอมรับที่จะมีสถานะเป็น คนไร้รัฐ หรือ คนไร้สัญชาติ[4] แต่ต้องการให้คืนสัญชาติไทยให้พวกเขา ซึ่งแนวทางดังกล่าวนั้นยังไม่มีกฎหมายหรือนโยบายในขณะนี้  

            ดังนั้นนายสัพตูจึงยังตกอยู่ในสถานะ คนไร้สัญชาติ ในปัจจุบัน แต่อาจจะได้รับสัญชาติไทยในอนาคต หากกระบวนการพิสูจน์สถานะข้างต้นมีแนวทางที่ชัดเจนและนายสัพตูเองสามารถพิสูจน์ได้ว่าเป็นลูกหลานคนไทยพลัดถิ่น และจะทำให้เขาได้รับสิทธิในหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเช่นดังคนไทยทั่วไป

 

            จากเรื่องราวของการล้มเจ็บไปจนถึงการได้รับการเยียวยาจากโรงพยาบาลนั้น ดูเหมือนว่าความโชคร้ายจากการต้องสูญเสีย ร่างกายซีกซ้าย ไปกับอาการอัมพาตครึ่งซีกของชายวัย 62 คนนี้  แต่เขาไม่ได้ถูกปฏิเสธการดูแลรักษาจากโรงพยาบาล เนื่องจากมีการประสานงานและช่วยเหลือค่าใช้จ่ายบางส่วนจาก เครือข่ายการแก้ปัญหาคืนสัญชาติคนไทย จังหวัดระนอง ชุมพร ประจวบคีรีขันธ์  และเมื่อกลับมารักษาตัวที่บ้านเขายังได้รับบริการมาตรวจวัดความดันและจ่ายยาให้ฟรีจากเจ้าหน้าที่พยาบาลจากสถานีอนามัย ต.หินช้าง ถึงที่บ้านทุก 2-3 เดือน ตลอดจนการนำข้าวสารอาหารแห้งมามอบให้ ซึ่งคงพอจะช่วยเยียวยาสภาพจิตใจของนายสัพตูในระหว่างที่ต้องปรับตัวกับสภาพร่างกายใหม่ที่เปลี่ยนไปอย่างมากมาย

          กรณีของนายสัพตูที่ได้รับการดูแลสงเคราะห์จากโรงพยาบาลนี้ เขาอยู่ในวัยของผู้สูงอายุ[5](อายุมากกว่า 60 ปี) ดังนั้นเขาอาจจะได้รับการดูแลสงเคราะห์จากสถานภาพดังกล่าว แม้ว่าเขาจะไม่ใช่ คนสัญชาติไทย ก็ตาม

 

          นอกจากนี้ช่องทางการเข้าถึงบริการสุขภาพของนายสัพตูยังสามารถเป็นไปได้หากเขาและคนในครอบครัวมีเงิน 1,300 บาท ในการซื้อ บัตรประกันสุขภาพ ซึ่งเป็นโครงการที่สาธารณสุขจังหวัดระนองได้จัดทำขึ้นจากการยอมรับว่ามีคนสัญชาติไทยที่ตกอยู่ในสถานะ คนไทยพลัดถิ่น และมีความพยายามที่จะหาช่องทางในการสร้างหลักประกันสุขภาพทางเลือก[6] เพื่อมาดูแลคนกลุ่มนี้

             เพียงแต่ว่าเงิน 1,300 บาท นั้นยังเป็นจำนวนที่มากเกินกำลังสำหรับคนทำมาหากินอย่างนายสัพตู และชีวิตจากนี้ที่จะมาพร้อมกับ เลขศูนย์ที่กำลังจะได้รับนั้นก็ยังมองไม่เห็นว่าช่องทางการได้รับการดูแลเรื่องสุขภาพจะเป็นไปอย่างไร 

  


[1]  ด้านหลังบัตรปรากฏข้อความ “บัตรนี้จัดทำขึ้นตามระเบียบวาระการประชุมกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน อำเภอเมือง จังหวัดระนอง ที่ 2/47 ลว. 2 กพ. 47 / ข้อ 4.5”
[2] ตามบัตรประจำตัวผู้ไม่มีสถานะทางทะเบียนของนางลีมะ ขุนภักดี เลขที่ประจำตัว 0-8501-89021-06-6ระบุวันเกิดคือ  1 มกราคม 2502
[3] สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดระนอง เปิดจำหน่ายบัตรประกันสุขภาพแก่คนไทยพลัดถิ่น ที่อาศัยในจังหวัดระนอง เพื่อช่วยเหลือด้านการรักษาพยาบาลยามเจ็บป่วย ราคา 1,300 บาทต่อคน ต่อปี  ที่มา http://www.andamanguide.com/andaman_news.php?provinceid=2&idnews=227&signal=2 
[4] ทำไม กมธ.ศึกษาปัญหาคนไร้สถานะของ สนช. จึงต้องเสนอให้บัญญัติกฎหมายเกี่ยวกับการคืนสิทธิในสัญชาติให้แก่คนไทยพลัดถิ่น ? : คำถามที่ 1 โดย รศ.ดร.พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร[4]   วันพฤหัสบดีที่ 5 กรกฎาคม พ.ศ. 2550http://www.archanwell.org/autopage/show_page.php?t=1&s_id=377&d_id=376&page=1
[5] ศึกษาเปรียบเทียบได้กับกรณี นายตี๊ ชายดี : กรณีศึกษาสิทธิมนุษนชนทางสุขภาพของคนไร้สัญชาติในประเทศไทย โดย นางบุญ พงษ์มา และ รศ.ดร.พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร http://www.archanwell.org/autopage/show_page.php?t=1&s_id=410&d_id=409
[6] ศึกษาเพิ่มเติมได้จาก รายงานการวิจัยเพื่อสำรวจสถานการณ์การดำเนินการของโรงพยาบาล เพื่อการเข้าถึงสุขภาพเเละการสร้างหลักประกันสุขภาพ ทางเลือกสำหรับคนไร้รัฐ (A-2) ใน ชุดโครงการวิจัยเพื่อสิทธิในสุขภาพของคนไร้รัฐในประเทศไทย โดย ชุติมาศ สุกใส http://gotoknow.org/blog/report-health4stateless-a2
คำสำคัญ (Tags): #รายงานวิจัย
หมายเลขบันทึก: 165609เขียนเมื่อ 16 กุมภาพันธ์ 2008 17:04 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 มิถุนายน 2012 13:32 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

ขออนุญาตทำงานและแสดงความคิดเห็น 

  • พิสูจน์อักษร : "แต่ร่างกายซีกซ้าย ที่ขยับไม่ได้ ก็สูญไป" แปลว่า สูญเสีย ร่างกายซีกซ้ายที่ขยับไม่ได้, ต้องการจะบอกว่า การสูญเสียไปคือ ร่างกายซีกซ้ายใช่ไหม--ปรับหน่อย--แก้ว
  • พิสูจน์อักษร : ย่อหน้าที่สอง ของแก้วอ่ะคะ : แนวทางความเป็นไปได้ภายใต้นโยบายที่มี/เป็นอยู่--ตอนนี้
  • ปรับเนื้อหา : ย่อหน้าที่สามของแก้ว : แต่สำหรับคนไทยพลัดถิ่นที่เกิดในดินแดนที่รัฐไทยได้เสียไปนี้บางส่วน--ปรับหน่อย
  • ปรับเนื้อหา : ดูจะไม่ใช่ชะตากรรมที่โหดร้ายนัก --ก็ยังเป็นชะตากรรมที่โหดร้ายอยู่นะแก้ว-
  • ปรับเนื้อหา : รพ. ไม่ปฏิเสธสิทธิในการได้รับการรักษาพยาบาล อาจเพราะเครือข่ายฯ เป็นคนพาไปด้วยไหม, และมีการจ่ายเงิน (โดยเครือข่ายฯ)
  • วัตถุประสงค์ของล้อมกรอบ คืออะหยัง แก้วใส่ "หัว" ให้มันหน่อยดีไหม
  • การวิเคราะห์สถานะบุคคล  : นายสัพตู เป็นใคร มีสถานะบุคคลภายใต้กฎหมายอย่างไร, ภายใต้นโยบาย อย่างไร , สามารถพัฒนาสถานะบุคคลได้อย่างไร
  • "เมื่อชีวิตเริ่มต้นที่เลข 0" ..ชีวิตมันจะเป็นยังไงหรอจ๊ะ?? ..อ่านแล้วรู้แต่ว่า ก่อนชีวิตเริ่มด้วยเลข 0 น่ะ มันเป็นยังไง??
เขาจะเล่นคำ "ศูนย์"  กับ "สูญ"  ง่ะ

"แต่ชีวิตก็ได้เริ่มปรากฏการยอมรับในทะเบียนราษฎรของรัฐไทย หากนายสัพตูจะสามารถไปทำบัตรที่อำเภอได้ ก็จะมีบัตรเลขประจำตัว ที่ขึ้นต้นเลข 13 หลักด้วยเลข “0  แสดงว่าแม้นายสัพตูจะไม่ได้เป็นคนสัญชาติไทย แต่รัฐไทยก็ยอมรับในความไร้รัฐ "
 
ลองปรับ ลองเปลี่ยนดู อือ เห็นด้วยเหมือนกันกะพี่ด๋าวว่าชีวิตเขาตอนนี้มันก่อนที่จะมีเลข 0
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท