โรงเรียนเกษตรกร (Farmers Field School)


โรงเรียนเกษตรกร (Farmers Field School)

 โรงเรียนเกษตรกร

 (Farmers Field School) 

           การถ่ายทอดความรู้สู่เกษตรกรในอดีต ส่วนใหญ่เกษตรกรจะถูกจัดให้เป็นผู้รับเทคโนโลยีโดยเจ้าหน้าที่เป็นผู้บรรยายวิชาการ โดยคาดหวังว่าเกษตรกรจะนำไปปฏิบัติ เป็นการยัดเยียด ความรู้ (Technology Push) แต่การส่งเสริมตามแนวทางโรงเรียนเกษตรกร เน้นกระบวนการให้เกษตรกรร่วมศึกษาและปฏิบัติด้วยตนเอง เป็นการกระตุ้นให้รับรู้ตามที่ต้องการ (Farmer Needs Pull)

*************

ผู้เขียน   : “วันนี้เป็นวันแรกของการเปิดโรงเรียนเกษตรกร ในศูนย์ส่งเสริมและผลิตพันธุ์ข้าวของเรา ใครบอกได้ว่าโรงเรียนเกษตรกรเป็นอย่างไรบ้าง

ประธาน: “อ๋อ..วันก่อนได้รู้แล้วว่าโรงเรียนเกษตรกรไม่ใช่โรงเรียนแบบเด็ก ๆ แต่เป็นที่สมาชิกศูนย์ข้าวมาเรียนรู้การปลูกข้าวให้ได้ผลผลิตสูง ป้องกันโรคแมลง ทำแปลงพันธุ์ได้ครับ      

ผู้เขียน :“นอกจากการเรียนรู้แล้ว ยังมีเกมให้พวกเราเล่นสนุก ๆ อีกใช่ไหม อย่างเกมต่อตัวแมลงที่แบ่งกลุ่มพวกเราออกเป็น 5 กลุ่ม ต่อไปก็จะมีอีกหลาย ๆเกม และตอนนี้เราก็ลงไปสำรวจแปลงนาเสร็จเรียบร้อยแล้ว เรียกว่าการสำรวจนิเวศวิทยาในนาข้าว รู้จักไหมว่านิเวศวิทยาหมายถึงอะไร

ประธาน: “นิเวศ หมายถึง สิ่งแวดล้อม สำรวจนิเวศ คือสำรวจสิ่งแวดล้อมใช่ไหมครับ

ผู้เขียน   :”ถูกแล้วละ และเมื่อสำรวจเสร็จก็มาวาดรูปต้นข้าว รูปแมลงที่พบในแปลงนาใช่ไหม แล้วก็ให้ตัวแทนกลุ่มไปเล่าให้เพื่อน ๆฟัง ว่าแปลงนาที่ลงไปสำรวจเป็นอย่างไรบ้าง ต้องดำเนินการอย่างไรบ้างเรียกว่าการวิเคราะห์ระบบนิเวศเหมือนกับพ่อแม่ที่คอยเฝ้าดูว่าลูกเล็ก ๆ สบายดีไหม ตัวร้อนไหม หิวน้ำ หิวนมไหม ถ้าหิวก็ต้องป้อนนม ถ้าข้าวหิว ก็คือต้องใส่ปุ๋ย ถ้ายุงกัดลูก เราก็ต้องตียุง ถ้าเป็นข้าวก็ต้องกำจัดศัตรูข้าว เช่นถอนหญ้า กำจัดแมลงที่ทำลายข้าว ถูกไหม

เลขา:”ทำแบบนี้แล้วจะทำให้ได้ข้าวมากขึ้นหรือครับ 

ผู้เขียน   :”ก็เป็นการช่วยให้ต้นข้าวอยู่อย่างมีความสุข ไม่ถูกรบกวน ไม่หิว คือไม่ขาดธาตุอาหาร ไม่ขาดน้ำ มีเพื่อน คือแมลงที่เป็นประโยชน์ ข้าวก็มีโอกาสที่จะได้ผลผลิตเพิ่มขึ้น แต่ไม่ใช่ทำครั้งเดียวเสร็จนะ พวกเราคิดว่าต้องทำกี่ครั้ง

ประธาน:”ก็ต้องทำไปเรื่อย ๆ จนเกี่ยวข้าวครับ เพราะลูกเราก็ยังต้องดูแลจนโตเลย

ผู้เขียน   :”ต้องทำร่วมกันที่โรงเรียนเกษตรกรนี้ปีละ 8 ครั้ง และต้องกลับไปทำในที่นาของแต่ละคนด้วย โดยเฉพาะแปลงผลิตเมล็ดพันธุ์ที่เราตกลงกันไว้ต้องดูแลอย่างดี และในโรงเรียนเกษตรกรครั้งต่อไปแล้วเมื่อสำรวจนิเวศวิทยาและวาดรูปเสร็จแล้ว ให้เปลี่ยนคนที่จะขึ้นไปเล่าให้เพื่อนฟังเป็นคนใหม่ ไม่ให้ซ้ำกับคนที่พูดวันนี้ จะได้เป็นการฝึกให้ทุกคนกล้าแสดงออกในทางที่ถูกต้องด้วย ดีไหม

ประธาน:”ดีมากเลยครับ ถ้าไม่ตกลงกันแบบนี้กลุ่มผมคงมอบให้ผมพูดอยู่คนเดียว

ผู้เขียน :”เอาละ สรุปว่าให้ทุกคนในกลุ่มลงสำรวจแปลงนาร่วมกัน วาดรูประบบนิเวศวิทยาร่วมกัน และเปลี่ยนกันขึ้นพูดให้เพื่อนฟัง แต่ครั้งต่อไปจะจับฉลากให้พูดเรื่องนิเวศวิทยากลุ่มเดียว ส่วนกลุ่มที่เหลือจะให้พูดเรื่องแปลงทดสอบที่กลุ่มรับผิดชอบ เช่น กลุ่มที่ 1 เปรียบเทียบระยะปลูก และจำนวนต้นต่อจับ กลุ่มที่ 2 เปรียบเทียบปุ๋ยเคมีกับปุ๋ยอินทรีย์ กลุ่มที่ 3 เปรียบเทียบการทำลายใบข้าวของแมลงกินใบ กลุ่มที่ 4 เปรียบเทียบการใช้ปุ๋ยพืชสดแต่ละชนิด และกลุ่มสุดท้ายเปรียบเทียบการใช้สารเคมีป้องกันศัตรูข้าวกับใช้วิธีธรรมชาติโดยใช้กรงเลี้ยงแมลง

สมาชิก  :”กลุ่มไหนที่จับฉลากได้พูดเรื่องนิเวทวิทยา ต้องพูดเรื่องแปลงทดสอบด้วยใช่ไหมครับ

ผู้เขียน   :”ถูกแล้วละ แต่เราใช้วิธีจับฉลาก เพราะฉะนั้นทุกกลุ่มต้องเตรียมเรื่องนิเวทวิทยาไว้ให้พร้อม และต้องเตรียมเรื่องแปลงทดสอบไว้ให้พร้อมเหมือนกัน ถูกต้องไหม

ประธาน:”ผมยังไม่มั่นใจว่าตั๊กแตนหนวดยาวมันจะไม่กินต้นข้าวนะครับ ที่รู้มาตั๊กแตนมันก็ต้องกินต้นข้าวทั้งนั้นละ

ผู้เขียน:”งั้นเราต้องพิสูจน์ทราบ แต่ต้องใช้เวลาหน่อย เอาไปทำเป็นการบ้านนะ ให้แต่ละกลุ่มเลือกแมลงที่เราจับมาได้มา 2 พวก พวกที่ 1 เป็นพวกที่เจ้าหน้าที่เกษตรบอกว่าเป็นแมลงที่เป็นประโยชน์ เช่น ตั๊กแตนหนวดยาว แมงมุม พวกที่ 2 เลือกแมลงที่เป็นศัตรูข้าว เช่น ตั๊กแตนหนวดสั้น นำไปเลี้ยงในกระถางที่ปลูกต้นข้าวไว้คนละกระถาง   ใช้ตาข่ายคลุมไว้ไม่ให้แมลงหนี แล้วนำมาดูว่าแมลงตัวไหนกินต้นข้าวบ้างตอนมาโรงเรียนครั้งต่อไปดีไหม

เหรัญญิก:”กลุ่มดิฉันขอเลือกตั๊กแตนหนวดยาว กับตั๊กแตนหนวดสั้นนะคะ กลุ่มอื่นห้ามเลี้ยงเหมือนกัน จะได้มีข้อมูลไม่ซ้ำกัน

ผู้เขียน   :”ดีแล้วละ เอาละช่วงนี้มีเกมให้เล่นอีก มีแมลงใส่ไว้ในกล่องหลายกล่อง ให้พวกเราเขียนชื่อแมลงลงในกระดาษที่เตรียมไว้ให้ แล้วหย่อนลงในกล่องที่ 1 ถ้าคิดว่าเป็นแมลงที่ทำลายต้นข้าว หรือหย่อนลงในกล่องที่ 2 ถ้าคิดว่าเป็นแมลงไม่กินข้าว เสร็จแล้วเราจะมาวางแผนการเรียนในครั้งต่อไป
 ***************

หมายเลขบันทึก: 148378เขียนเมื่อ 22 พฤศจิกายน 2007 11:59 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 มิถุนายน 2012 12:14 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท