ผีเสื้อบ้านนอกที่ไปคล้ายกับผีเสื้อชื่อดังก้องโลก


กลุ่มผีเสื้อหนอนใบรัก ซึ่งเป็นหนึ่งในหกกลุ่ม ของผีเสื้อวงศ์ขาหน้าพู่ เป็นผีเสื้อที่อยู่ในความสนใจของคนทั่วโลก เนื่องจากมีผีเสื้อชนิดหนึ่ง คือ ผีเสื้อโมนาร์ค (Monarch Butterfly) ในทวีปอเมริกา ซึ่งมีลักษณะคล้ายกับ ผีเสื้อหนอนใบรักลายเสือ ที่พบในประเทศไทย ทุกฤดูใบไม้ร่วงผีเสื้อโมนาร์ค ฝูงใหญ่จะอพยพจากทวีปอเมริกาเหนือ ทางตะวันออกของเทือกเขาร็อคกี้ ไปยังที่ที่มีความอบอุ่นกว่า

 

เมื่อไม่นานมานี้เพิ่งชมสารคดีเกี่ยวกับการอพยพของผีเสื้อในทวีปอเมริกาเหนือ เห็นฝูงผีเสื้อเป็นหมื่นๆตัว เกาะบนต้นไม้จนแทบมองไม่เห็นต้น แล้วแตกฮือบินกระจายขึ้นท้องฟ้า เป็นภาพที่มหัศจรรย์ ตื่นตามาก และเกิดความพิศวงพร้อมๆกันไปด้วยเพราะผีเสื้อที่เห็นนั้นรูปร่างหน้าตาคล้ายผีเสื้อชนิดหนึ่งที่พบเห็นที่บ้านผู้เขียนเช่นกัน เลยนึกเล่นๆว่าผีเสื้อบ้านนอกของเราก็ไปเหมือนผีเสื้อเมืองนอกได้เหมือนกัน

 

ได้เก็บภาพสวยๆของผีเสื้อ(บ้านนอก)นี้ไว้ได้เพราะเขาก็มาร่วมวงกินน้ำหวานดอกหญ้างวงช้างด้วย ต้องบอกว่าเพราะเจ้าดอกหญ้างวงช้างแท้ๆ ทำให้ได้ภาพผีเสื้อสวยๆมาฝากทุกท่านกันค่ะ

 

ตั้งใจค้นเรื่องราวผีเสื้อชนิดนี้จากหนังสือผีเสื้อที่มีอยู่สองสามเล่ม เพิ่งจัดระเบียบหนังสือเลยทำให้เจอหนังสือที่ซื้อมานานจนลืม เพราะซื้อตั้งแต่ตอนมาอยู่บ้านอยุธยานี้ใหม่ๆ ด้วยเห็นผีเสื้อมากมายและอยากรู้จัก

 

หนังสือนี้ชื่อ ผีเสื้อ: คู่มือดูผีเสื้อในประเทศไทย โดย จารุจินต์ นภีตะภัฏ และเกรียงไกร สุวรรณภักดิ์  พิมพ์ครั้งแรกปี ๒๕๔๔ หนังสือนี้มีทั้งภาพและข้อมูลเล่าไว้ดีมาก ทำให้พบคำตอบที่พิศวง และเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ เกี่ยวกับผีเสื้อ

 

ผีเสื้อที่จะโชว์ตัวและเล่าถึงนี้คือ ผีเสื้อหนอนใบรักลายเสือ (Common Tiger Butterfly)เป็นผีเสื้อในกลุ่มเดียวกับ ผีเสื้อหนอนใบรักฟ้า ที่เคยนำมาให้ชมไปแล้ว

 

หนังสือเล่มนี้เล่าว่า กลุ่มผีเสื้อหนอนใบรัก ซึ่งเป็นหนึ่งในหกกลุ่ม ของผีเสื้อวงศ์ขาหน้าพู่ เป็นผีเสื้อที่อยู่ในความสนใจของคนทั่วโลก เนื่องจากมีผีเสื้อชนิดหนึ่ง คือ ผีเสื้อโมนาร์ค (Monarch Butterfly) ในทวีปอเมริกา ซึ่งมีลักษณะคล้ายกับ ผีเสื้อหนอนใบรักลายเสือ ที่พบในประเทศไทย ทุกฤดูใบไม้ร่วงผีเสื้อโมนาร์ค ฝูงใหญ่จะอพยพจากทวีปอเมริกาเหนือ ทางตะวันออกของเทือกเขาร็อคกี้ ไปยังที่ที่มีความอบอุ่นกว่า

 

เส้นทางอพยพที่ไกลที่สุดที่มีการบันทึกไว้ คือ จากทางตอนใต้ของประเทศแคนาดา ไปยังตอนกลางของประเทศเม็กซิโก เป็นระยะทางประมาณสี่พันกิโลเมตร ใช้เวลากว่าสามเดือน

 

เมื่อถึงกลางเดือนมีนาคมก็จะอพยพกลับแหล่งเดิมที่เคยอาศัยในฤดูร้อน และจะผสมพันธุ์ในระหว่างที่อพยพกลับ ผีเสื้อส่วนใหญ่จะตายลงจากผสมพันธุ์และวางไข่บริเวณตอนใต้ของประเทศสหรัฐอเมริกา รุ่นลูกที่เกิดขึ้นก็จะเดินทางต่อไปจนถึงถิ่นอาศัยเดิมที่พ่อแม่เคยอยู่ในช่วงฤดูร้อน นับว่าเป็นเรื่องที่น่าทึ่ง และเป็นภาพการอพยพของฝูงผีเสื้อที่สวยงามตื่นตาจริงๆ

 

อ่านแล้วจึงรู้ว่า ผีเสื้อหนอนใบรักลายเสือ กับผีเสื้อโมนาร์ค นั้นดูเผินๆคล้ายกัน ถึงจะอยู่วงศ์ขาหน้าพู่  ในกลุ่มผีเสื้อหนอนใบรักด้วยกัน แต่เป็นผีเสื้อคนละชนิด

 

ผีเสื้อโมนาร์ค  Monarch Butterfly; Danaus plexippus

 Monarch Butterfly on an Echinacea purpurea

(จาก http://en.wikipedia.org/wiki/Monarch_butterfly )

 

 

 

คราวนี้เชิญชมภาพผีเสื้อบ้านนอกของเราที่สวยไม่แพ้กันบ้างค่ะ (ขออภัยที่บางภาพไม่ค่อยชัดนะคะ)

 

ผีเสื้อหนอนใบรักลายเสือ Common Tiger Butterfly; Danaus genutia (จากบ้านปากท่าค่ะ)

 

 

ผีเสื้อหนอนใบรักลายเสือ ที่มาแวะเวียนที่บ้านมักมาทีละตัวสองตัว ไม่มาเป็นคณะอย่าง ผีเสื้อหนอนใบรักฟ้าและผีเสื้อจรกาหนอนยี่โถ เพราะฉะนั้นที่ฝันว่าจะมาเป็นฝูงใหญ่อย่างผีเสื้อโมนาร์ค ลืมไปได้เลย

 

ผีเสื้อหนอนใบรักลายเสือ  ของเราสบายกว่าตั้งเยอะอยู่เมืองไทยอากาศไม่หนาวทรมาน จนต้องอพยพ  อาหารก็มีให้กินอุดมสมบูรณ์ตลอดปี (ถ้าคนไม่รุกป่ามากนัก หรือมีพื้นที่ธรรมชาติเหลือไว้ให้ นก ผีเสื้อและแมลงมีที่วางไข่ และอยู่อาศัยบ้าง)

ช่วงที่เขาเป็นหนอนก็จะชอบกินใบต้นข้าวสาร และ ใบต้นรัก พอโตเต็มวัยเป็นผีเสื้อแสนสวย ทีนี้รสนิยมจะเปลี่ยนไปชอบกินน้ำหวานจาก ดอกดาวกระจาย ดอกบานไม่รู้โรย และแน่นอน ต้องเติม ดอกหญ้างวงช้างเข้าไปในเมนูด้วย

แค่ตัวเดียวแต่ความงามก็อิ่มตา อิ่มใจเช่นกันนะคะ

 

 

 



ความเห็น (47)

สวัสดีค่ะคุณพี่"คุณนายดอกเตอร์"ที่เคารพรัก

  • อิๆๆเพลินจริงๆ..ชอบมากเลยค่ะ"ธรรมชาติ"นึกภาพริมน้ำมีต้นไม้ร่มรื่น..เสียงนกร้อง..มีไก่ขันด้วยหรือเปล่าค่ะ..ชอบมาก(สุดๆ) แล้วมีผีเสื้อสวยๆด้วย..โห..บ้านในฝันเลยค่ะ..
  • แหม..นึกแล้วต้องรีบเก็บสตางค์ปลูกบ้านหลังเล็กๆกลางสวนสักหลัง..(..ก่อนตายคงพอเก็บเงินได้..อิๆๆ)ขุดคลองเล็กๆๆ..อืม ทำมุมจิบชา กาแฟ..มุมเล็กๆ มีไก่ขันยามเช้านกร้อง..ด้วย โห..สุดๆๆ คงได้หลายบรรยากาศมากเลยค่ะ..อิๆๆ
  •  หนูสงสัยมากเลยค่ะ..ว่าทำไมเขาให้ชื่อกว่า "ผีเสื้อ"เพราะคำว่า"ผี"ฟังดูแล้วน่ากลัวพิลึก..ทั้งที่ดูแล้วสวยงาม น่ารัก..คงมีประวัติเหมือนกันนะคะ..วันหน้าว่างๆหนูจะไปค้นคว้าดู..ว่าทำไมกลายเป็นชื่อ"ผีเสื้อ"ได้อย่างไร
  •  ผีเสื้อบอบบางมากเลยค่ะ..ตอนเด็กๆเคยไปจับเล่นอยู่เหมือนกันค่ะ..แต่ปีกหลุดง่ายมากเลยค่ะ..เลยคิดเหมือนกันค่ะว่า..แล้วมันจะอยู่เมืองหนาวได้ไหม..ก็ได้ทราบจากคุณพี่เนี่ยแหละค่ะ..เพราะไม่เคยสังเกตเลย..แสดงว่าคงมีพันธุ์ที่ทนสภาพดินฟ้าอากาศแบบสาม สี่ฤดูในวันเดียวกันได้ คงต่างพันธุ์จากบ้านเราแต่ลวดลายคงคล้ายๆกัน..นะคะ.
  • ถ้าได้ภาพ"ผีเสื้อ"สวยๆจะถ่ายภาพส่งไปให้นะคะคุณพี่
  • ด้วยความเคารพรักค่ะ
  •  หนูหมูอ้วนค่ะ

สวัสดีครับ คุณนายดอกเตอร์

  • ลืมนึกถึงผีเสื้อไปนานเลย
  • ต้องออกไปดูข้างบ้านว่ามีผีเสื้ออยู่หรือเปล่า
  • ปรากฏว่าไม่มีสักตัวเลยครับ
  • แสดงว่าสิ่งแวดล้วมที่เปลี่ยนมีผลกับผีเสื้อให้หายไป
  • สมัยเด็กยังเอาถุงยางทำเป็นกรวยจับผีเสื้อเล่นเลยครับ
  • ขอบคุณครับ

พี่นุชเจ้า..

ผีเสื้อแสนสวยเหล่านี้ เธอดูบอบบางนะคะ ^^

ผีเสื้อลายเสือ แต่ก่อนตอนเป็นเด็กผมเคยเห็นบ่อยนะครับ +ต้นงวงช้าง ด้วย แต่ตอนนี้ไม่ค่อยได้กลับบ้าน แต่เท่าที่สังเกตุ ผีเสื้อไม่ค่อยมีให้เห็นแล้ว สงสัยแถวสภาพนิเวศ แถวๆ บ้านเสื่อมโทรม แวะมาดูที่เวปนี้เหมือนได้ย้อนอดีตกลับไปสมัยเด็ก เลยครับ

สวัสดีค่ะน้องอาจารย์หมูอ้วน  P หมูอ้วน ... ธรรมชาตินั้นให้ความสดชื่นเพลิดเพลินกับเราเสมอค่ะ ดีใจที่อาจารย์ชอบเรื่องราวธรรมชาติๆที่เล่า ไก่ขันน่ะหรือคะ ไม่มีได้ยังไง ก็ไม่ครบเครื่องคนอยู่บ้านนอกน่ะซีคะ เชิญไปแวะชมเจ้าไก่แจ้จอมแอ็คของพี่ได้ค่ะที่

http://gotoknow.org/blog/riverlife/165032

ที่จริงเราต้องการที่ไม่ได้กว้างนักที่จะมีชีวิตอยู่อาศัยประจำวันและชื่นชมธรรมชาติ แต่หากเราไม่ได้ช่วยให้ทุกคนมีความตระหนักในความสำคัญของธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม คือดีอยู่คนเดียว ปล่อยให้ข้างนอกเน่าไม่ใส่ใจ คงไม่มีธรรมชาติให้ใครได้ชมสักคน อาจมีแต่บ้านสวยแต่ไร้ชีวิตชีวานะคะ โชคดีที่ชาวบ้านริมน้ำในย่านนี้ยังทำเกษตรอยู่หลายราย ทำให้มีนก มีผีเสื้อ และสัตว์ต่างๆมากพอสมควรค่ะ

นั่นซีคะหากอาจารย์ช่วยค้นที่มาของคำว่า"ผีเสื้อ" ได้คงดี เอใครนะเรื่องผีเสื้อครั้งก่อนเขาแซวว่า แล้วไม่มี "ผีกางเกง"หรือ อิ อิ จะได้มาครบชุด

ปีกผีเสื้อนั้นบอบบางและมีความซับซ้อนน่าทึ่งมากค่ะ คือ ปีกผีเสื้อนั้นเป็นเยื่อบางๆประกบกัน มีเส้นปีกเป็นโครงร่างให้คงรูปอยู่ได้ เส้นปีกจึงเปรียบเสมือนโครงกระดูกแขนขาของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม

ลวดลายบนแผ่นปีกยิ่งมหัศจรรย์ค่ะ ลวดลายนั้นเกิดจากเกล็ดชิ้นเล็กๆที่เรียงซ้อนกันเหมือนกระเบื้องมุงหลังคาปกคลุมอยู่ทั่วทั้งแผ่นปีก ตำราบอกว่า ในหนึ่งตารางนิ้วบนแผ่นปีกมีเกล็ดเรียงซ้อนกันอยู่ราว ๕๐๐-๑๒๕,๐๐๐ ชิ้น เกล็ดเหล่านี้หลุดง่ายหากสัมผัสกับวัตถุอื่น หรือเราไปจับปีกเขานะคะ ผีเสื้อที่แก่แล้วเจ้าเกล็ดนี่ก็จะหลุดง่ายด้วยเช่นกัน ทำให้ประสิทธิภาพในการบินลดลง ตัวผู้ยังใช้เกล็ดในการปล่อยฟีโรโมนในการเกี้ยวพาราสีอีกด้วย เกล็ดหลุดละก็ไร้คู่ สื่อสารไม่ได้ค่ะ และเวลาเขาอาบแดดเกล็ดก็จะช่วยในการดูดซับและสะท้อนแสง

นอกจากลวดลายแล้ว เราเห็นสีสันต่างๆของผีเสื้อก็ด้วยสีของเกล็ด ซึ่งเมื่อกล่าวถึงการให้สีของเกล็ด เกล็ดจะแบ่งเป็นสองแบบ

  • เกล็ดที่มีเม็ดสีภายใน ซึ่งมักได้มาจากการแปลงรูปของสารเคมีของพืชอาหารที่หนอนผีเสื้อกินเข้าไป
  • เกล็ดที่ไม่มีเม็ดสีภายใน แต่เราเห็นเป็นสีเพราะการจับกันเป็นรูปร่างคล้ายแท่งผลึกหรือเป็นเยื่อบางๆ เราจะมองเห็นเกล็ดพวกนี้เป็นสีต่างๆในบางมุมเท่านั้น และจะเห็นชัดตอนเขาขยับปีก สีพวกนี้มักเป็นสีแวววาว สวยมากๆเลยค่ะ

เกล็ดสำคัญมากสำหรับผีเสื้อ เราจึงไม่ควรไปโดนหรือสัมผัสปีกผีเสื้อนะคะ

ยินดีมากเลยค่ะที่จะได้ชมผีเสื้อเมืองนอกบ้าง^___^

สวัสดีค่ะคุณP HeadOfArt ขอบคุณที่แวะมาชมความงามผีเสื้อด้วยกันค่ะ ยินดีต้อนรับและจะรออ่านเรื่องของคุณเช่นกันนะคะ

สวยครับ น่าชื่นชม

ขอนำไปรวมครับ  ขอบคุณมากครับ

                                                          รวมตะกอน

สวัสดีค่ะคุณพี่"คุณนายดอกเตอร์"ที่เคารพรักยิ่ง

  •  คุณพี่ค่ะ บรรยายได้เยี่ยมยอดเลยค่ะ ทำให้หนูอยากจะศึกษาด้วยอีกคนแล้ว..อิๆๆ มหัศจรรย์จริงๆ"สัตว์น้อยที่น่ารัก"
  • โถ..เราไม่ควรไปจับเขาเลย.ซนจริงๆ(เด็กอะไร..).บาปกรรมจริงๆๆเล่นซะปีกหลุดไปเลย..อโหสิกรรมเถิดนะ..อิๆๆไม่ได้เจตนา..
  • ศึกษาแบบนี้คุณพี่..จะไม่เขียนหนังสือเกี่ยวกับผีเสื้อสักเล่มเหรอค่ะ..หนูจะได้รอซื้อค่ะ..เพราะท่าทางจะได้ความรู้เยอะมาก..
  • อย่างไรหนูจะพยายาม ถือกล้องมองหาผีเสื้อสวยๆส่งไปให้นะคะ..ไม่ทราบจะมีสวยๆหรือเปล่าประเทศนี้..เพราะคงต้อง"สะเทินน้ำสะเทินบกแบบสุด"อ่ะค่ะ..สำหรับผีเสื้อประเทศนี้..ขนาดคนยังแย่เลย..อิๆๆ
  • แต่คงต้องรอsummer ก่อนนะคะคุณพี่..(คิดว่าจะไม่ลืม..เตือนได้นะคะ..คุณพี่..อิๆๆ)
  •  ด้วยความเคารพรักยิ่ง
  • หนูหมูอ้วนค่ะ

สวัสดีค่ะคุณP  คนเดินดิน ( ลุ่มน้ำลำพังชู ) หลายท่านทีเดียวนะคะที่บอกว่าไม่เห็นผีเสื้อแถวบ้านเลย

ผีเสื้อจำเป็นต้องมีแหล่งอาศัยที่เหมาะสมอยู่ในบริเวณที่หากิน เพื่อเป็นที่พักนอนในเวลาแดดร้อนจัด และเป็นที่เกาะนอนในเวลากลางคืน เช่นใต้ใบไม้ บนกิ่งไม้และลำต้น หรือที่ร่มครึ้มใกล้ๆกับต้นพืชที่กำลังออกดอกและเป็นแหล่งน้ำหวาน ที่บ้านจะเห็นผีเสื้อจรกาหนอนยี่โถ และผีเสื้อหนอนใบรักฟ้าเกาะนอนอยู่ตามต้นไม้เป็นกลุ่ม แปลกดีค่ะ หนังสือบอกว่าผีเสื้อบางชนิดชอบเกาะนอนตามริมทางในป่า ตามร่องห้วยชื้นๆและบริเวณปากถ้ำ

นอกจากสัตว์ที่เป็นศัตรูตามธรรมชาติของผีเสื้อ เช่นนก แมงมุม กิ้งก่า ตัวเบียนที่เจาะทำลายไข่ และหนอนดักแด้ก่อนที่จะโตเป็นตัวเต็มวัยแล้ว

ศัตรูตัวฉกาจที่ทำให้ผีเสื้อลดจำนวนลงฮวบฮาบก็คือ มนุษย์ค่ะ เช่น ขับรถชนผีเสื้อที่บินอยู่บนถนนในป่า การจับผีเสื้อขาย การใช้สารฆ่าแมลงฉีดพ่นในพื้นที่ทำเกษตรกรรม และการเผาทำลายป่า

ที่บ้านไม่มีการใช้สารเคมีในการปลูกพืชเลยค่ะ ทั้งพืชกิน และพืชเพื่อความร่มรื่นสวยงาม อาจเป็นเหตุหนึ่งที่ดึงดูดผีเสื้อให้มาชุมนุมกัน มีปีหนึ่งมีผีเสื้อมากมายร่วมๆห้าสิบ หรืออาจถึงเจ็ดสิบตัวได้บินกระจายอยู่รอบบ้าน ปีนั้นดอกโมกออกดอกดกแน่นขนัด เรามีต้นโมกอยู่รอบบ้านราวเจ็ดแปดต้นค่ะ

สงสัยจังว่าทำยังไงคุณP คนเดินดิน ( ลุ่มน้ำลำพังชู ) ถึงจับผีเสื้อเล่นได้ ไม่เล่าให้ฟังกันบ้างล่ะคะ

 

ผีเสื้อนั้นบอบบางจริงค่ะคุณต้อม P เนปาลี อย่างที่พี่ตอบน้องอาจารย์หมูอ้วนไป บอบบาง สวยงาม ไม่สามารถทำอันตรายใครได้ แต่ก็มีภัยรอบตัว พี่ถึงดีใจที่ที่บ้านพี่เขารู้สึกปลอดภัยมากันได้ประจำ บางทีนั่งที่ศาลาเขาบินโฉบผ่านหน้าเราไปก็เคยค่ะ

พี่มีหนังสือผีเสื้อเล่มหนาเล่มหนึ่งพิมพ์สวยงามมากทำให้ได้เห็นผีเสื้อที่หายากมากมาย ยังนึกว่าขนาดเห็นผีเสื้อที่พบเห็นกันทั่วๆไปเรายังตื่นเต้นขนาดนี้ หากได้เห็นผีเสื้อหายากที่งดงามจับใจอย่างในภาพด้วยตาตนเองคงหัวใจพองโตด้วยความปลื้มนะคะ

ถูกใจที่คุณP  กวินทรากร บอกว่ามาที่นี่เหมือนได้ย้อนอดีตสมัยเป็นเด็ก แสดงว่าอดีตนั้นเป็นความงามและความดี เป็นสิ่งมีค่า เราจะได้ช่วยกันฟื้นฟูสิ่งดีๆจากอดีตให้กลับมามีชีวิตอยู่ในปัจจุบัน ชีวิตของเราจะได้มีความชุ่มชื่น ร่มเย็น เกื้อกูลกันนะคะ

สมัยนี้คนส่วนมากไม่ค่อยได้ทำอะไรที่เกื้อกูลธรรมชาติ ธรรมชาติจึงไม่สามารถทำหน้าที่เต็มที่ พี่คิดว่า เมื่อใดที่คนสมัยนี้หันกลับไปเคารพธรรมชาติด้วยรู้คุณ ของ ผืนดิน ห้วงน้ำ อากาศ พืชพันธุ์ธัญญาหาร เราจะมีความสุขอย่างแท้จริงและมากกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบันค่ะ

ขอบคุณคุณP  สิทธิรักษ์ ค่ะที่มาร่วมชื่นชมความสวยงามของผีเสื้อ และยังให้เกียรติชวนไป  รวมตะกอน 

ยินดีมากค่ะ

ขอบคุณน้องอาจารย์P หมูอ้วน ... มาอีกรอบติดๆกันเลยนะคะ แสดงว่าปิ๊งเรื่องผีเสื้อนี้จริงๆ

ที่เอามาเล่าต่อได้ดีเพราะอาจารย์จารุจินต์และคุณเกรียงไกร ค้นคว้าและเรียบเรียงไว้ดีมากค่ะ พี่จะไปรู้อะไรนักหนาได้คะ อิ อิ แค่จ้องดูผีเสื้อเฉยๆ ให้เขียนเล่าและค้นข้อมูลประกอบก็เก๋สุดสำหรับพี่แล้วค่ะ ขืนริเขียนหนังสือผีเสื้อคนข้างกายคงขำกลิ้งเป็นคนแรกเลยค่ะ แต่พี่คิดว่าเป็นคำแนะนำที่ดีนะคะหากพี่จะเขียนเล่าบวกข้อมูลที่ย่อยแล้วเฉพาะผีเสื้อที่พบที่บ้าน อิ อิ แค่นี้คงตายก่อน ผีเสื้อหลายชนิดมากค่ะที่บินเร็ว บินสูง ไม่สามารถถ่ายภาพดีๆได้ บางชนิด เป็นไปไม่ได้สำหรับพี่ที่จะถ่ายรูปเขาเลยค่ะ เช่นพวกฝูงผีเสื้อสีขาวตัวกลางๆ ที่มาตอมดอกแจง ต้นแจงสูงมาก ผีเสื้อก็ตัวเล็ก ภพที่ถ่ายมาได้ค่อนข้างสวยนี่ก็ฟลุคนะคะ

ขอบคุณมากค่ะที่อาจารย์ชื่นชมถึงขนาดนี้^___^

อีกไม่นานก็ซัมเมอร์ คงได้ชมผีเสื้อจากแดนไกล คนก็รักษาสุขภาพให้แข็งแรงนะคะ

  • สวัสดีค่ะพี่นุช
  • ผีเสื้อของไทยเราสวยไม่แพ้ของเมืองนอกค่ะ ลวดลายบนปีก เหมือนกันยังกับแกะแน่ะค่ะ 
  • ขอบคุณสำหรับเรื่องเล่าจากหนังสือ และรูปภาพประกอบสวยๆ นะคะ พี่นุช

สวัสดีค่ะอาจารย์

      ลายผีเสื้อสวยค่ะเมื่อไม่กี่วันมานี้แตงก็เห็นผีเสื้ออยู่เหมือนกันค่ะจะออกสีเหลืองอ่อนค่ะเดียวแตงจะไปดูอีกครั้งว่าเจ้าผีเสื้อจะมาเกาะที่ดอกไม้อีกหรือเปล่าค่ะ ปกติแตงจะชอบผีเสื้อ และ นก ค่ะ ขอบคุณอาจารย์มาค่ะ

     อาจารย์ค่ะหญ้างวงช้างแตงเคยได้ยินมาว่าหญ้างวงช้างสามารถที่จะทำนายว่าในแต่ละปีฝนจะตกต้องตามฤดูกาลหรือเปล่าน่ะค่ะโดยจะสังเกตว่าหญ้างวงช้างม้วนมากแค่ใหนก็จะทำนายว่าฝนก็จะตกมากเท่านั้นค่ะ ( เป็นความเชื่อจากสมัยปู่ย่าตายายสมัยก่อนค่ะ  ) ต้องใช้วิจารณญาณค่ะ

ขอบคุณค่ะ

 

  • สวัสดีค่ะคุณนุช
  • ก่อนอื่นแอบขอร้องเล็กน้อยว่า..ถ้าเขียนบันทึกโดยใช้ตัวอักษรโตกว่านี้แบบบันทึกก่อนๆ จะช่วยให้คนที่สายตาทั้งสั้น.เอียง.ยาว ครบชุดแบบตัวเองอ่านได้มีความสุขมากขึ้นค่ะ @_@
  • เป็นเรื่องความลำบากของกลุ่ม ส.ว. ด้วยค่ะ ^_^
  • วันนี้มาชื่นชมกับภาพผีเสื้อสวยๆ  เลยอยากจะชวนคุณนุชไปดูเด็กๆ ที่กำลังมีเรื่องอินเทรนด์เกี่ยวกับน้องหนอน ที่นี่ นะคะ
  • นอกจากได้ชมภาพผีเสื้อยสวยๆของไทยแล้ว
  • ยังได้ความรู้เกี่ยวผีเสื้อ
    ผีเสื้อโมนาร์ค  Monarch Butterfly; Danaus plexippus

สวัสดีค่ะ

สงสัยอย่างหนึ่งค่ะ คนที่เป็นภูมิแพ้ จะแพ้ผีเสื้อด้วยไหมคะ เพราะผีเสื้อไปเกาะและดูดน้าหวานเกสรดอกไม้มา มีละอองเกสรติดมาด้วย เวลามากระพือปีกใกล้ๆคนขี้แพ้ละอองเกสรมากๆ ก็อาจจะจาม น้าตาไหล ได้บ้างไหมคะ อาจารย์เคยสังเกตไหมคะ

สวัสดีค่ะคุณแณณP Nan & Ball Chongbunwatana ผีเสื้อบ้านเรายังมีอีกมากมายที่สวยวิเศษ ที่พี่นำมาโชว์ตัวนี่เป็นแค่ผีเสื้อธรรมดาๆที่พบกันทั่วไป ขนาดธรรมดาก็ยังสวยประทับใจเลยใช่มั้ยคะ

ผีเสื้อทั้งสองชนิดนี้มองเผินๆคล้ายกันมาก แตพอดูดีๆพี่ว่าของเราคือผีเสื้อหนอนใบรักลายเสือนั้นสะดุดตากว่าตรงแถบสีขาวใกล้ๆปลายปีกค่ะ

การมาเล่าเรื่องทำให้ได้ค้นคว้าและเรียนรู้มากขึ้นในเรื่องนั้นๆไปในตัวด้วยค่ะ

สวัสดีค่ะอาจารย์แตงP ปริญากรณ์ หายไปนานนะคะ เมื่อวานเพิ่งเข้าไปแวะดูที่บล็อกอาจารย์ว่าเขียนเรื่องใหม่ๆหรือเปล่า ยังไม่มีเรื่องใหม่เลยเนาะ ใจความคิดถึงตรงกัน วันนี้อาจารย์มาเยี่ยมพี่เช่นกัน

ดีนะคะที่อาจารย์แตงยังได้เห็นผีเสื้อ หลายท่านในที่นี้บอกว่าไม่เห็นผีเสื้อแถวบ้านกันเลย

ความรู้-ความเชื่อของคนโบราณมาจากการสังเกตธรรมชาติอย่างใกล้ชิดค่ะ น่าเรียนรู้ว่าท่านสรุปอย่างนั้นด้วยเหตุผลใดนะคะ แล้วหญ้างวงช้างในรูปนั้นม้วนมากหรือน้อยล่ะคะ ปีนี้ทำท่าจะแล้งมาก อยากให้มีฝนเยอะๆค่ะ

ขอโทษค่ะคุณดวงพรP dd_L ที่ทำให้อ่านลำบาก ครั้งต่อไปจะทำให้ตัวใหญ่ๆค่ะ ตัวเองก็ชอบเหมือนกัน ก็เป็นกลุ่ม ส.ว.ด้วยกัน เข้าใจกันค่ะ^___^

ขอบคุณที่มาร่วมชื่นชมความงามผีเสื้อด้วยกันค่ะ

และขอบคุณที่ชวนไปชมเรื่องอินเทรนด์ของน้องหนอน เดี๋ยวจะตามไปดูค่ะ

ขอบคุณอาจารย์P Lin Hui ค่ะที่มาชมและเรียนรู้เรื่องผีเสื้อทั้งสองชนิดด้วยกัน สำหรับนุชทุกสิ่งรอบตัวในเขตบ้านเป็นสิ่งที่น่าสนใจเรียนรู้มากค่ะเพราะเป็นสิ่งแวดล้อมแบบใหม่แตกต่างจากชีวิตที่อยู่คอนโดในกรุงเทพ อีกทั้งอยากเรียนรู้แบบเข้าใจไม่ใช่แค่รู้ชื่อพืชและสัตว์ต่างๆ คนข้างกายเขามักดูแคลนเล็กๆว่านุชจบปริญญาเอกมานั้น มีแต่ความรู้สากลและรู้รอบทั้งโลก แบบรู้วิชาการและทฤษฎี แต่ไม่รู้จักตัวเองและบริบทของตัวเอง ก็ขำเขาค่ะ แต่ก็นำมาพิจารณาในการใช้ชีวิต

สวัสดีค่ะคุณพี่ศศินันท์P เป็นการตั้งข้อสังเกตที่น่าสนใจนะคะ แต่ตัวเองไม่เคยจามหรือแพ้เวลาผีเสื้อมาบินใกล้ๆขนาดบินผ่านหน้าก็เคยค่ะ สงสัยมัวตื่นเต้นชื่นชมเลยลืมแพ้ค่ะ บางทีผีเสื้อเขาบินวนเวียนกันหรือราวหกเจ็ดตัวแล้วเราเดินผ่ากลางเข้าไป เขาก็แค่หลบนิดหน่อย อาจเป็นเพราะผีเสื้อที่บ้านไม่ค่อยกลัวคนนะคะ แต่โดยทั่วไปผีเสื้อคงไม่เข้าใกล้คนมากขนาดที่จะทำให้คนได้รับละอองเกสรที่ติดมากับตัวเขามั๊งคะ

คราวหน้าจะลองสังเกตและรายงานผลให้ทราบค่ะ ขอบคุณนะคะที่ตั้งข้อสังเกตนี้

สวัสดีค่ะ อีกไม่กี่วัน น้องหนอนน้อยของเด็กๆชาวค่าย ก็คงจะกลายร่างเป็นผีเสื้อแล้ว แอบลุ้นอยู่เหมือนกันค่ะว่า ผีเสื้อตัวน้อยๆ จะมีหน้าตาเป็นแบบในรูปหรือเปล่า ถ้าเด็กๆได้เข้ามาอ่านเรื่องผีเสื้อนี้แล้ว คงจะได้ความรู้กลับไปอีกเยอะเชียวหล่ะค่ะ

สวัสดีค่ะP คุณครูเมษา เด็กๆคงตื่นเต้นมากที่เห็นการกลายร่างจากหนอนเป็นผีเสื้อแสนสวยนะคะ คงจะได้ชมภาพกันนะคะว่าเป็นผีเสื้ออะไรบ้าง

สวัสดีค่ะพี่นุชขา

  • บ้านที่อัมพวาก็มีผีเสื้อแบบเดียวกันนี้ค่ะ มีไม่มากนัก  จะมาให้เห็นครั้งละ 1-2 ตัว  เพิ่งจะมาทราบชื่อที่นี่เอง
  • ผีเสื้อสวยๆ ของเมืองไทยเรามีมากเลยนะคะ  แต่หนูก็ไม่ทราบชื่อ  สมัยเด็กๆ ยังวิ่งไล่ตามผีเสื้อเลย  ช่วงนั้นมีความสุขค่ะ 

สวัสดีค่ะพี่นุช

ตอนเด็กๆ จะมีเยอะ ตอนนี้ผีเสื้อแถวบ้านไม่ค่อยมาเผยโฉมแล้วค่ะ คงอพยพไปอยู่ที่อื่นกันหมด

นานๆ จะมาให้เห็นตัวใหญ่ๆ ซักตัว

อากาศเปลี่ยนแปลง ผีสื้อเปลี่ยนไป!!!!

สวัสดีค่ะคุณหมีเชอรี่P  ทะเลดาว คนสวย ชอบรูปใหม่นี่มาก อยากเห็นแบบชัดๆจังเลยนะคะ (อย่างว่าคนสวยหวานไม่ค่อยโชว์ตัว กลัวจืดหมด ^__^)

คนอยู่ต่างจังหวัดในบริเวณที่ยังไม่ได้มีการก่อสร้างตึก บ้านช่อง มากๆ หรือยังมีการทำเกษตรอยู่และอยู๋ใกล้แหล่งน้ำก็จะพบเห็นผีเสื้อได้ไม่ยากนะคะ ผีเสื้อเป็นสัตว์ที่สร้างความประทับใจให้คนทุกวัยจริงๆนะคะ เดี๋ยวนี้เด็กส่วนใหญ่ไม่รู้จักความสนุกของการอยู่ในธรรมชาติวิ่งตามดูผีเสื้อกันแล้ว น่าเสียดายโอกาสของเขาค่ะ

สวัสดีค่ะคุณกั๊ตP Gutjang อากาศเปลี่ยนแปลง (ทำให้)ผีเสื้อต้องเปลี่ยนไป ใช่เลยค่ะ

น่าคิดมากนะคะ หลายท่านที่แวะมาเยี่ยมบอกว่าปัจจุบันไม่เห็นผีเสื้อแถวบ้านกันแล้ว คิดแล้วน่าใจหายค่ะ ว่ามนุษย์เราเบียดเบียนสัตว์น้อยใหญ่อย่างรู้ตัวบ้าง ไม่รู้ตัวบ้าง

ตอนนี้ทำงานเกี่ยวกับผีเสื้ออยู่ค่ะ ไม่ทราบว่าต้นข้าวสารมันหน้าตาเป็นยังไง ขอบคุณค่ะ

สวัสดีค่ะคุณคนรักผีเสื้อ น่าตื่นเต้นจังที่พบคนที่กำลังทำงานเกี่ยวกับผีเสื้อ คงมีภาพผีเสื้อสวยงาม และผีเสื้อที่ไม่ค่อยได้พบเห็นกัน วันหลังนำมาเขียนเล่าและโชว์ภาพกันบ้างได้มั้ยคะ

ภาพต้นข้าวสารนั้นเป็นภาพที่ถ่ายไว้นานแล้ว เธอเลื้อยขึ้นมาจากพื้นดินข้างล่าง มาบนมุมนอกชาน เดี๋ยวนี้ตรงนี้ต้น ศรีมาลา เธอยึดครอง แต่เถาต้นข้าวสารยังมีอยู่ตรงอื่นของบ้านค่ะ เผอิญไปอยู่ในที่แดดคงไม่พอเลยไม่มีดอก คุณถามเรื่องต้นข้าวสารมาเลยทำให้ได้ไปค้นภาพ เห็นความงามอีกครั้ง ต้นข้าวสารนี้เขามีฝักเหมือนฝักต้นดอกขจรเลยค่ะ นำไปลวกจิ้มน้ำพริก หวาน กรอบ อร่อยมาก ดอกมีกลื่นหอมอ่อนๆด้วยค่ะ

  • ตามผีเสื้อมาค่ะ
  • เดี๋ยวนี้ผีเสื้อกลายเป็นของหายากแล้วนะคะ
  • โดยเฉพาะในเมืองไม่เคยเห็นผีเสื้ออีกเลย
  • แสดงว่าบ้านพี่นุชคงมีน้ำหวานเยอะนะคะ

ผีเสื้อบ้านพี่ช่วงนี้มากจริงๆค่ะ รวมทั้งนกและกระรอกด้วยค่ะ ก็คงเพราะมีอาหารอุดมสมบูรณ์ แล้วเขาสามารถและเล็มกินตามสบาย ไม่มีใครรบกวนค่ะ อิ อิ แล้วมีผีเสื้อริมน้ำอยู่หนึ่งตัว(ยังไม่ถึงผีเสื้อสมุทร)

ขอบคุณมากเลยค่ะ นั่งหาข้อมูลนานมากเลยค่ะ เยๆๆ แล้วแถวไหนมีบ้างล่ะค่ะ หนูทำวิจัยเรื่องผีเสื้อกับพืช ตอนนี้ต่อโทอยู่ที่คณะวิทยาศาสตร์ มหิดลค่ะ

สวัสดีค่ะ

เพิ่งเห็นบันทึกนี้ค่ะ

ที่พี่คุณนายดอกเตอร์นำมาให้ชมนั้นเหมือนกันมากจริงๆ ด้วยค่ะ

เวลาเห็นผีเสื้อมาตอมดอกไม้แล้วมีความสุขนะคะ

ภาพนี้เป็นผีเสื้อที่บ้านของแจ๋วค่ะ (ที่บ้านมีแต่ผีเสื้อหน้าตาแบบนี้ค่ะ)

ตอนเด็กๆ แจ๋วเคยเลี้ยงหนอนจนกลายเป็นผีเสื้อด้วยค่ะ ลุ้นๆ มีความสุขมาก

เคยเห็นหนอนมากินต้นข้าวสารอันนี้ไหมค่ะ เพราะว่ามีต้นข้าวสารที่เป็นชื่อทางวิทยาศาสตร์สองชื่อ ไม่รู้ตกลงว่าข้าวสารไหนค่ะ ขอบคุณมากเลยนะคะ

ขอโทษนะคะ ไม่ทราบปัญหาจากอะไรโพสไม่ได้มาหลายวัน จะลองต่อไปค่ะ

  • สงสัยเป็นที่ระบบ internet
  • เอาเจ้านี้มา
  • ตัวปราบแมลง
  • ช่วยกำจัดแมลงที่เป็นปรปักษ์กับพืช
  • เอามาจาก พนมทวน บ้านเรา

ตอบคุณ คนรักผีเสื้อ นะคะ ไม่เคยเห็นตัวหนอนที่มากินใบต้นข้าวสารหรอกค่ะ เห็นแต่ใบแหว่งที่หนอนแทะ แล้วก็ไม่ได้สนใจ

ต้นข้าวสารมีสองชนิด ชนิดที่นำภาพมาให้ชม เป็นชนิด "ข้าวสารดอกเล็ก" Raphistemma hooperianum (Blume) Decne.

อีกชนิดคือ "ข้าวสารดอกใหญ่" R. pulchellum (roxb.) Wall.หนังสือผักพื้นบ้านเขาบอกว่ามีดอกคล้ายกันและกินเป็นผักเหมือนกัน แต่ต่างกันที่ขนาดดอกและที่ตั้งของเกสรตัวผู้

ตัวเองไม่เคยเห็นข้าวสารดอกใหญ่ค่ะ


คุณP  jaewjingjing เรียกพี่ว่า "พี่นุช"ได้นะคะด้วยความยินดี

ภาพผีเสื้อสวย คมชัดมาก แจ๋วจริงๆสมชื่อคนถ่ายภาพค่ะ เป็นผีเสื้อกะทกรกธรรมดา Leopard Lacewing สวยมากทั้งสีและปีกที่หยักเหมือนติดลูกไม้ พี่จะขอนำไปใช้ในบันทึกครั้งหน้านะคะ พอดีได้ภาพดอกและผลกะทกรกสวย(แต่ฝีมือถ่ายภาพจำกัดค่ะ^__^) ให้ป้านวลพายเรือไปฟากตรงข้าม เพราะส่องกล้องดูเห็นดอกบานขาวเป็นแนวเลยค่ะ

แต่บ้านพี่ยังไม่เคยเห็นผีเสื้อกะทกรกธรรมดาข้ามฝั่งมาบินโชว์ตัวเลยค่ะ ดีจังที่บ้านคุณแจ๋วมีมาให้เห็นเสมอๆ

โอ้โฮอาจารย์ขจิตP นำภาพกิ้งก่าสง่างามมาโชว์ ชัดแจ๋วเช่นกัน ขอบคุณนะคะ พี่พยายามตอบอาจารย์หลายครั้ง ไม่สำเร็จค่ะ

ก็สงสัยว่าระบบอินเทอร์เน็ตหน้าพายุฝนฟ้าคะนองคงป่วย อาทิตย์ที่แล้ว ฟ้าลงทำคอมพิวเตอร์พี่เมนบอร์ดพังเลยค่ะ ดีที่อยู่ในประกัน ประหยัดไปตั้งสี่พันกว่าบาท พอได้คอมพิวเตอร์กลับคืน ก็อินเทอร์เน็ตเก โพสไม่ได้ เลยนอนอ่านหนังสือ และงานลูกศิษย์ไปพลางๆค่ะ

เจ้ากิ้งก่านี่ที่เราเห็นคอเป็นสีฟ้า เป็นเพราะเขาทำ หรือว่าเป็นนิดของเขาคะ ที่บ้านพี่มีตัวโต คอสีฟ้าค่ะ แต่ไม่เคยถ่ายภาพได้ลย

สวัสดีค่ะพี่นุช ขอนุญาตเรียกตามนี้เลยนะคะ

หากจะนำภาพไปใช้ก็นำไปได้เลยนะคะ ด้วยความยินดีมากค่ะ

แจ๋วไม่รู้มาก่อนเลยว่าเขาชื่อ ผีเสื้อกะทกรกธรรมดา ดีจังค่ะได้ความรู้ตามไปด้วย

เมื่อก่อนมีมาก มาทีละหลายตัว แต่เดี๋ยวนี้น้อยลงมากๆ ตามสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนไป

อย่างเจ้าตัวนี้พยายามถ่ายอยู่นานค่ะกว่าจะได้ภาพนี้มา

เพราะเขาบินไปบินมา เพลิดเพลินกับการเลือกชมดอกโมกดอกนั้นดอกนี้ไม่นิ่งนานๆ ให้เราเก็บภาพดีๆ

ขอบคุณมากค่ะ

ขอบคุณคุณแจ๋วP jaewjingjing ทีอนุญาตให้นำภาพผีเสื้อฝีมือถ่ายแจ๋วจริงๆไปเผยแพร่ได้ กำลังจะเขียนเรื่องต่อไปค่ะ จะมีปัญหาเรื่องโพสมั้ยน้อ หมู่นี้อินเทอร์เน็ตไม่เป็นใจเท่าไหร่ค่ะ

เข้ามาดูผีเสื้อค่ะ แบบนี้เคยเห็นเหมือนกัน แต่ไม่ได้เห็นนานแล้วค่ะ

เข้ามาดูผีเสื้อค่ะ แบบนี้เคยเห็นเหมือนกัน แต่ไม่ได้เห็นนานแล้วค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท