(32) หน่วยวัด "นาโน" ???


คอมพิวเตอร์

                   คำ "นาโน" ปรากฏในวงการวิทยาศาสตร์ครั้งแรกใน ค.ศ.1959 ในปาฐกถาเรื่อง There"s plenty of room at the bottom โดย ริชาร์ด ฟายน์แมน (ค.ศ.1918-1988) เจ้าของรางวัลโนเบล สาขาฟิสิกส์ ปี 1965 อดีตทีมพัฒนาระเบิดปรมาณู และกล้ามองการทดลองครั้งแรกด้วยตาเปล่า ในวงการฟิสิกส์เขาได้รับการยกย่องเป็นครูที่ดีที่สุดที่โลกรู้จัก
                  
ดร.สิรพัฒน์ ประโทนเทพ นักวิจัยบุคลากรศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ อรรถาธิบายว่า "นาโน-Nano" มีรากศัพท์มาจากภาษากรีกโบราณ แปลว่า "คนแคระ" ถึงยุคปัจจุบันรู้จักกันในชื่อ "นาโนเมตร-Nanometre" หรือเรียกย่อว่านาโน หมายถึง สิบกำลังลบเก้าเมตร หรือ 1 ส่วนพันล้านของ 1 เมตร นำใช้กับหน่วยวัดที่แสดงให้เห็นถึงขนาดที่เล็กเป็นพันล้านส่วน เช่น 1 นาโนเมตร มีขนาดเท่ากับหนึ่งในพันล้านส่วนของเมตร หรือมีขนาดเล็กกว่าเส้นผมราวหนึ่งแสนเท่า
                 
ขนาดนาโนอยู่ในระดับอะตอมซึ่งเล็กมากจนมองไม่เห็นด้วยตาเปล่าหรือกล้องจุลทรรศน์ทั่วไป เมื่อเทียบสัดส่วนแล้ว นาโนเริ่มตั้งแต่ขนาดของอะตอมซึ่งมีขนาดเล็กราว 0.1 นาโนเมตร ประมาณสิบเท่าขึ้นไปจนถึงขนาดของไวรัสซึ่งมีขนาดราว 100 นาโนเมตร แต่เล็กกว่าขนาดของชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ในตัวไมโครชิพวงจร ประมาณร้อยเท่า หากมีขนาดใหญ่กว่านี้ก็จะใช้หน่วยวัดที่ใหญ่ขึ้นตามลำดับ เช่น ไมโครเมตร มิลลิเมตร เซนติเมตร เมตร เป็นต้น
                 
ฉายภาพชัดๆ ให้เห็นว่านาโนเมตรเล็กแค่ไหน ดูจากโลกของเราที่มีขนาดประมาณ 10,000 กิโลเมตร หรือ 10,000,000 เมตร ใหญ่ประมาณหนึ่งแสนเท่าของสนามฟุตบอล หากย่อส่วนโลกให้มีขนาดเท่าเส้นผม ตัวสนามฟุตบอลก็จะย่อส่วนลงไปในช่วงของ 1 นาโนเมตร
                  
การศึกษาวิทยาการนาโน หรือนาโนศาสตร์ คือการศึกษาปรากฏการณ์ทางธรรมชาติของวัตถุที่มีขนาดในช่วงนาโนเมตร (ประมาณ 1-100 นาโนเมตร)
                  
ส่วนนาโนเทคโนโลยี หมายถึงการสร้างและประยุกต์วัตถุนาโนมาใช้ให้เป็นประโยชน์ จุดมุ่งหมายสูงสุดของนาโนเทคโนโลยีคือความสามารถที่จะสร้างและจัดเรียงอนุภาคต่างๆได้ตามความต้องการ เพื่อสร้างสสารหรือโครงสร้างของสารในแบบใหม่ๆ ที่ให้คุณสมบัติพิเศษที่อาจจะไม่เคยมีมาก่อน
                   
ทุกวันนี้เริ่มมีผลิตภัณฑ์ทางนาโนเทคโนโลยีบ้างแล้ว ส่วนใหญ่เป็นฟิล์มชนิดบางของสารที่มีความหนาในขนาดนาโนเมตร เช่น OLED (Organic Light Emitting Device) ซึ่งเป็นจอแสดงผลที่ทำจากสารอินทรีย์ และพวกสารเคลือบผิวอย่างเช่นในผ้าที่สามารถกันหยดน้ำหรือของเหลวไม่ให้ซึมเข้าใยผ้าได้ โดยอาศัยความไม่ชอบน้ำของสารที่เคลือบใยผ้ารวมกับความตึงผิวของหยดน้ำหรือของเหลวเองมาเป็นแรงผลักตัวหยดน้ำไม่ให้ซึมผ่านชั้นเคลือบไปได้ เป็นต้น
                    
แต่ผลิตภัณฑ์ที่ออกมาเหล่านี้ไม่ใช่ภาพลักษณ์โดยรวมของนาโนเทคโนโลยีและไม่ได้บ่งชี้ถึงศักยภาพที่แท้จริงของมัน ทั้งยังมีผลิตภัณฑ์หลายอย่างที่อ้างใช้คำว่านาโนเป็นจุดโฆษณาขาย จึงจำเป็นยิ่งที่ต้องมีการศึกษาให้รู้ถึงเบื้องหน้าและเบื้องหลังของนาโนศาสตร์และนาโนเทคโนโลยีอย่างจริงจัง 

ทิปจาก (รู้ไปหมด) www.matichon.co.th 

คำสำคัญ (Tags): #เผยแพร่ความรู้
หมายเลขบันทึก: 37119เขียนเมื่อ 5 กรกฎาคม 2006 08:36 น. ()แก้ไขเมื่อ 14 พฤษภาคม 2012 14:48 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท