อำนาจในที่ทำงาน/ครอบครัว เส้นกั้นพรมแดนระหว่างบ้านกับที่ทำงานผ่านโฆษณา "เกรงใจ"


ควันบุหรี่ที่ลดลงจำเป็นแค่ไหนกับการต้องแลกกับความสัมพันธ์ในครอบครัว

    

 

เฮ่อ เฮิก เฮิก ..แฮก แฮก ... สวัสดีครับหัวหน้า มามาตั้งแต่เมื่อไหร่ครับ...  เอ่ย สวัสดีครับพี่ติ๊มมาพร้อมกันเลยเหรอครับ...

ไม่สูบแล้วดีกว่า................................................................

ทีคนอื่นเกรงใจกัน ลูกเมียเนี่ยไม่มี"

...........................................................................

บ้านต้องปลอดบุหรี่... จริงๆ ก็ทุกที่ .........................................................................

นัยโฆษณาชิ้นนี้ทำให้เราเข้าใจได้ก็ด้วย ภาพประทับที่เรามีอยู่ก่อนแล้วระหว่างความสัมพันธ์ระหว่างคนที่บ้านกับคนที่ทำงาน อันเป็นความสัมพันธ์ต่างบริบท ที่ชายหนุ่มในภาพโฆษณานั้นปฏิบัติต่อบุคคลที่มีตำแหน่งต่างกัน  ในบริบทที่แตกต่างกัน    คือระหว่างหัวหน้า และคุณติ๋ม ซึ่งไม่ต้องบอกก็รู้ว่าเป็นบุคคลในที่ทำงาน กับลูกและเมียโดยมีถ้อยคำของผู้บรรยายสำทับในตอนท้ายว่า  บ้านต้องปลอดบุหรี่... จริงๆ ก็ทุกที่ อันแสดงให้เห็นถึงสิ่งที่ต้องการเน้นย้ำในบริบทอันแตกต่าง ความแตกต่างของความสัมพันธ์ทางสังคมในบริบทระหว่างที่บ้านกับที่ทำงานนั้น แน่นอนว่ามีความแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง  โดยทั่วไปแล้วในที่ทำงานนั้นมีกฎเกณฑ์ของสถานที่ และมีแบบแผนการปฏิบัติของตำแหน่งที่แตกต่างกัน จึงไม่น่าแปลกเลยว่า ชายหนุ่มจะเกรงใจผู้มีตำแหน่งงานสูงกว่าเมื่อหันมาเผชิญหน้าด้วยขณะสูบบุหรี่  แต่ที่น่าแปลกก็คือ การใช้หน้ากากที่สวมไว้บนหน้าลูกและภรรยาของชายหนุ่มผู้สูบบุหรี่  ในทางหนึ่งอาจอุปมาให้เห็นว่าบุคคลที่นั่งข้างๆ ของผู้สูบบุหรี่นั้นไม่ว่าจะเป็นคนที่บ้านย่อมได้รับผลกระทบไม่ต่างไปจากบุคคลในที่ทำงาน  แต่ในอีกทางหนึ่งได้สะท้อนให้เห็นถึงการ สวมหน้ากาก เป็นหน้ากากที่เคร่งขรึม ตึงเครียด และไม่พอใจ  ความเข้มขรึมตึงเครียด ไม่พอใจนี้ บุคคลผู้อยู่เบื้องหลังหน้ากากอันได้แก่ ลูกและเมีย ของชายหนุ่มผู้สูบบุหรี่ก็มีท่าทีเช่นเดียวกับหน้ากากที่สวมอยู่แต่ไม่เป็นผลต่อการปรามห้าม คือลูกเมียนั้นไม่มีอิทธิพลต่อการห้ามปราม หากแต่การ ดับบุหรี่ เป็นผลอันเนื่องมาจากหน้ากากของบุคคลในที่ทำงาน             สิ่งที่โฆษณาชิ้นนี้พยายามทำ คือการสลายเส้นกั้นพรมแดนระหว่างบ้านและที่ทำงาน ความนวลเนียนของการสร้างก็คือการจับวางบริบทของที่ทำงานมาวางไว้ที่ห้องนั่งเล่นในบ้าน เป็นภาพที่ซ้อนทับกันระหว่างหน้ากากและใบหน้าจริง ระหว่างหัวหน้างาน กับลูกและภรรยา  ภาพซ้อนกันนี้ฝ่ายที่ได้ชัยชนะคือฝ่ายที่ทำงาน ทำให้ต้องดับบุหรี่  บริบทของที่ทำงานจึงเป็นบริบทอันถูกเชิดชูเป็นตัวแบบของความสัมพันธ์ แบบเกรงอกเกรงใจ มีมารยาท (การไหว้และรีบดับบุหรี่) ทั้งยังสำทับด้วยประโยคที่ว่า  ทีคนอื่นเกรงใจกัน ลูกเมียเนี่ยไม่มี จึงคล้ายกับว่าจงใจยกย่องความสัมพันธ์ในที่ทำงานให้เป็นแบบอย่างอันดี  แบบอย่างอันดีในที่นี้ คือการไม่ก่อมลภาวะ หยิบยื่นโรคร้าย (มีโฆษณาเกี่ยวกับบุหรี่หลายชิ้นที่อ้างว่าคนไม่สูบบุหรี่ที่นั่งในห้องเดียวกัน ได้รับควันบุหรี่มากกว่าผู้สูบหลายเท่า ซึ่งผู้เขียนไม่สามารถเข้าใจได้กับการอธิบายแบบนี้) ซึ่งอาจตีความเลยไปถึงการทำร้ายชีวิต  ความรุนแรงของการสูบบุหรี่จึงเบียดทลายภาพ การแก่งแย่งชิงดี ความเกรงใจแบบประจบประแจง ความกลัวเพราะสามารถให้คุณให้โทษได้ ความเครียด และความเป็นทางการ อันเป็นภาพลบทั้งสิ้นเมื่อมาเทียบกับบริบทของการนั่งดูทีวีกับลูกเมียในห้องนั่งเล่นที่บ้าน  ภรรยากลายเป็น หัวหน้า และลูก กลายเป็น คุณติ๋ม บริบทของความสัมพันธ์แบบนี้คือบริบทของครอบครัวในสังคมเมือง เป็นครอบครัวที่ถอยห่างความสัมพันธ์เดิม แบบพ่อ แม่ ลูก แต่ใช้คำเรียกแทนกันด้วย คุณแล้วตามด้วยชื่อ สามี ภรรยา หรือแม้แต่คุณ...(ลูก) การติดต่อกันกลายเป็นการติดต่อกันแบบสถานภาพตามตำแหน่งในที่ทำงาน  ใช้ความเกรงอกเกรงใจกันด้วยตำแหน่ง ไม่ใช่ความเอื้ออาทร ปลอบโยน อบอุ่น รักใคร่ กันในแบบที่สามีพึงป้องปกภรรยาและลูก   ภาพโฆษณานี้จึงสะท้อนให้เห็นเส้นกั้นกลางระหว่าง  ที่ทำงาน/บ้าน  ครอบครัว/ผู้บังคับบัญชา เพื่อนร่วมงาน ที่กำลังพร่าเลือนลงไปในสังคมปัจจุบัน และผู้คนปฏิบัติต่อกันด้วยกฎเกณฑ์ทางสังคมแบบเป็นทางการ ด้วยการอ้างสิทธิ และด้วยตำแหน่ง สถานะ มากกว่าบทบาทและความสัมพันธ์ทางสายเลือด   การตอกย้ำ และสร้างภาพโฆษณาการห้ามสูบบุหรี่ด้วยการทำลายเส้นกั้น ระหว่างความเป็นทางการ กฏเกณฑ์  กับความรักความผูกพันธ์ และความเอื้ออาทรลง ด้วยการทำให้การสูบบุหรี่เป็นสิ่งเลวร้าย เป็นความเลวร้ายที่ตัดข้ามบริบทของพื้นที่ และยอมแลกบริบทที่แตกต่างเพื่อให้ปลอดพ้นจากควันบุหรี่ ทั้งที่บริบทดังว่านั้น คนไทยสอนนักสอนหนาว่า อย่านำเรื่องงาน เรื่องภายนอกเข้ามาในครอบครัว  และไม่ควรนำเรื่องภายในครอบครัวไปบอกเล่าให้คนภายนอกรู้  (ความในอย่านำออกความนอกอย่านำเข้า) เป็นบริบทที่ในความเป็นจริงแล้วมันเลวร้ายการควันบุหรี่หลายเท่านัก ยิ่งได้ยินการเผยแพร่    สปอตโฆษณารณรงค์ไม่สูบบุหรี่ทางวิทยุอยู่ในขณะนี้ เป็นเสียงเด็กพูดว่า โตขึ้นหนูจะเป็นมะเร็ง โตขึ้นหนูจะเป็นมะเร็ง (เพราะพ่อหนูสูบบุหรี่) คนสูบบุหรี่กำลังจะกลายเป็นอาชญากรจากภาพที่โฆษณาของ สสส. สร้างขึ้นมากไปทุกที

แต่ผที่ตามมาแบบไม่ตั้งใจจากการใช้งบประมาณอะไรแบบนี้ก็คือ ภาพความเสื่อมถอยของเส้นกั้นพรมแดนระหว่างคนแปลกหน้ากับครอบครัว โดยไม่แน่ใจมั้นคุ้มค่าหรือไม่กับจำนวนคนสูบบุหรี่ที่อยากจะให้มันลดลง

จำนวนและอัตราร้อยละของผู้สูบบุหรี่เป็นประจำ

ปีสำรวจ

จำนวนผู้สูบบุหรี่เป็นประจำ (พันคน) อัตราร้อยละต่อประชากร  
    รวม   ชาย   หญิง  
2519 8,629.5 30.1   54.7   6.1  
2524 9,759.2 27.8   51.2   4.4  
2529 10,377.0 26.4   48.8   4.1  
2531 10,109.9 25.0   46.6   3.5  
2534 11,402.1 26.3   48.9   3.8  
2536 10,406.2 22.8   43.2   2.5  
2539 11,254.3 23.5   44.6   2.5  
2542 10,230.6 20.5   38.9   2.4  
2544 10,551.2 20.6   39.3   2.2  
2547 9,631.9 17.9   34.1   1.9  
2549 9,541.1 17.5   34.0   1.9  

 ที่มา : สำนักงานสถิติแห่งชาติ    

         หากพิจารณาจากตารางสถิติจะเห็นว่า ในช่วงที่มีการณรงค์โดยการโหมโฆษณาห้ามสูบบุหรี่ หรือแม้แต่การห้ามโฆษณษาบุหรี่  คือปี 2547-2549 นั้นตัวเลขคนสูบบุหรี่ลดลงเพียงร้อยละ 0.4 แต่หากพิจารณาย้อนหลังไปนับแต่ปี 2519 จำนวนผู้สูบบุหรี่ลดลงโดยลำดับอยู่แล้ว ดังนั้นจึงไม่อาจกล่าวได้ว่าการลดลงของจำนวนผู้สูบบุหรี่เป็นผลจากการรณรงค์ โฆษณา ประชาสัมพันธ์ ในรูปแบบที่ทำกันอยู่เวลานี้  

 

หมายเลขบันทึก: 104931เขียนเมื่อ 20 มิถุนายน 2007 17:03 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 19:07 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท