การป้องกันไข้หวัดใหญ่ 2009 ที่ ม.สงขลานครินทร์ วข.ปัตตานี


       ที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี (มอ.ปน.) มีกิจกรรมรณรงค์ป้องกันไข้หวัด 2009 มาตั้งแต่ประมาณวันที่ 6 มิถุนายน 2552 ขณะนั้นมีคนไข้ในประเทศไทย 9 ราย และประเทศไทยยังไม่มีผู้เสียชีวิต   ผู้นำรณรงค์คือคุณสุธีรา(จิ๋ม) โกมลมาลัย  พยาบาลวิชาชีพเพียงคนเดียว และทีมงานอีก 2 คน รวม 3 คน รับผิดชอบหน่วยพยาบาล  ดูแลสุขภาพของกลุ่มเป้าหมายดังนี้

  • นักศึกษา ประมาณ 8,000 คน
  • นักเรียนสาธิตทั้งมัธยมและประถม  ประมาณ 2,000 คน
  • บุคลากรของมหาวิทยาลัย  ประมาณ 1,000 คน
    รวมประชากรที่ต้องดูแลประมาณหมื่นเศษ

ภาพการอำนวยความสะดวกหน้าห้องสมุด เพื่อรณรงค์ให้ล้างมือบ่อยๆ ป้องกันหวัด2009

      บุคลากรแค่นี้ดูแลคนเป็นหมื่นได้อย่างไร?  คำตอบต่อคำถามนี้เป็นสิ่งที่น่าสนใจมาก และอยากจะนำเสนอเป็นแบบอย่าง  เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกันครับ  ต้องขอออกตัวก่อนว่าผมผู้เขียนเรื่องนี้  ไม่ใช่พยาบาลจิ๋ม บางครั้งอาจจะไม่เคลียร์ในข้อมูลร้อยเปอร์เซ็นต์  แต่จะเขียนให้เห็นวิธีการสู้กับหวัด 2009 ของคนไม่กี่คน กับกลุ่มเป้าหมายเป็นหมื่น  ติดตามมานะครับ
       คุณจิ๋มรู้ดีว่าการต่อสู้กับโรคระบาดที่ระบาดง่ายและรวดเร็วเช่นนี้ ต้องสร้างความตระหนักแต่ไม่ใช่ตื่นตระหนก  และลำพังเธอกับทีมรวม 3 คน คงไปตั้งรับไม่ไหวแน่  เธอจึงใช้วิธีรุกเพิ่มคนที่จะช่วยเธอโดยการจัดตั้งเครื่อข่ายการรณรงค์ จุดแรกที่เธอเข้าไปให้ความรู้คือเด็กนักเรียนโรงเรียนสาธิตทั้งฝ่ายประถมและมัธยม  ให้ความรู้แก่เด็ก ซึ่งตอนนั้นเธอยอมรับว่าความรู้เรื่องหวัด 2009 เป็นของใหม่สำหรับเธอเช่นกัน  เธอใช้วิธีติดตามข่าวสารทั้งทางทีวี ทางอินเตอร์เน็ต  หาความรู้เพิ่มเติมจากทุกวิธีการ  เมื่อรู้แล้วพยายามเขียนออกเผยแพร่ทุกวิธีการที่ทำได้และรวดเร็ว เช่น การพิมพ์สำเนาเอกสารเป็นพันชุด และพิมพ์เพิ่มทันทีที่หมด  ออกอีเมล์เวียนสู่กลุ่มเป้าหมายเรียกว่าจะมีแทบทุกวันเลยทีเดียว 
        ช่วงที่มีผู้เสียชีวิตในประเทศไทย 2-3 คน  ผมได้รับเชิญจากคุณพยาบาลจิ๋ม ให้เข้าประชุมที่หอประชุมใหญ่ซึ่งจุคนประมาณ 600 คน  วันนั้นมีผู้เข้าประชุมประมาณ 60 คน  เป็นตัวแทนจากบุคลากรที่อยู่ตามอาคารต่างๆ  เนื้อหาที่คุณพยาบาลจิ๋ม นำมาเสนอในวันนั้นสรุปก็คือเสนอมาตรการ 8 ข้อเพื่อต้านหวัด2009  และทุกคนที่มาประชุมต้องกลับไปรณรงค์ต่อให้บุคลากรในหน่วยงานตระหนักและป้องกันตนเอง  ช่วงนั้นผ้าอนามัยปิดจมูกขาดตลาด คุณพยาบาลจิ๋มพยายามหามาให้บุคลากรได้ใช้โดยซื้อมาในราคาส่งและจำหน่ายในราคาไม่เอากำไร เพื่อให้ทุกคนที่ต้องการผ้าปิดจมูกมีใช้  ผมเคยซื้อผ้าปิดจมูกรุ่น N95 มาในราคาชิ้นละ 75 บาท  คุณพยาบาลจิ๋มหามาให้ได้ในราคา  40 บาท  นับเป็นกลยุทธที่ได้ผล  เพื่อคนที่ตระหนักแต่หาซื้อหน้ากากอนามัยไม่ได้ก็มีโอกาสได้ใช้
        เท่าที่ผมสังเกตได้ ท่ามกลางความกังวลของพยาบาล ประชาคมกลับไม่ค่อยกระตือรือร้น  มีเพียงไม่กี่อาคารที่รับช่วงต่อ  บางหน่วยงานกลับไปแล้วก็เงียบ  คุณพยาบาลจิ๋มพยายามติดตามทวงถาม   ผมเข้าใจเธอดี  พยายายามช่วยเธอโดยการรณรงค์ประชาสัมพันธ์ออกโปสเตอร์ เช่น ผู้ที่เข้ามาในอาคารหากมีอาการหวัดต้องใช้ผ้าปิดจมูก  หาสบู่เหลวมาไว้ที่อ่างล้างมือทุกห้องน้ำ  หาอ่างล้างมือมาตั้งให้ทางขึ้นอาคารที่เรารับผิดชอบและช่วยได้ พร้อมป้ายรณรงค์ให้ช่วยกันดูแล  ที่สำคัญผมพยายามเขียนเล่าส่งถึงเธอทางอีเมล์บ่อยๆ เพื่อให้รู้ว่าสิ่งที่เธอรณรงค์มิใช่เหนื่อยเปล่า  แต่มีคนที่เข้าใจและตระหนักแม้จำนวนน้อยก็ตาม
        สถานการณ์ไข้หวัด 2009 ในปัตตานีไม่หยุดอยู่กับที่  เมื่อนักเรียนทุนคนหนึ่งกลับมาจากเม็กซิโก จู่ๆ เข้ามานั่งเรียนในห้องเรียนโดยที่เธอไม่รู้ เมื่อเธอทราบก็ขอร้องให้เด็กกลับไปพักที่บ้านรอดูอาการ 7 วันทันที  เมื่อครบ 7 วันเด็กปลอดเชื้อ ก็กลับเข้าเรียนได้ตามปกติ  ขณะเดียวกันก็เริ่มมีเสียงบ่นในทำนองพยาบาลตื่นเต้นโดยใช่เหตุ
         ช่วงนั้นมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ทุกวิทยาเขตเริ่มตระหนักถึงสถานการณ์ที่เริ่มรุนแรงขึ้น โดยเฉพาะมีนักศึกษาที่ มอ.หาดใหญ่ติดเชื้อ  จึงมีการประชุมผ่าน Tele Conferrence เพื่อต้องการทราบว่าในแต่ละวิทยาเขตได้ดำเนินการต้านหวัด 2009 ไปอย่างไรบ้าง  วันนั้นผมได้รับเชิญให้เข้าประชุมด้วยพร้อมกับเครือข่ายตัวแทนจากอาคารต่างๆ  ซึ่งผลการประชุมวันนั้นทำให้ทราบว่าในทุกวิทยาเขตของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์(หาดใหญ่ ปัตตานี สุราษฎร์ธานี ภูเก็ต และ ตรัง) เริ่มรณรงค์กัน  แต่ที่วิทยาเขตปัตตานีก้าวหน้ากว่าที่อื่น ผมชอบคำพูดของท่านประธานในที่ประชุมวันนั้น ท่านกล่าวว่า ที่วิทยาเขตหาดใหญ่มีคณะแพทยศาสตร์เหมือนมีคณะวิศวกรรมศาสตร์แต่ไม่มีกองอาคาร  ที่วิทยาเขตปัตตานีมีกองอาคารแต่ไม่มีคณะวิศวกรรมศาสตร์  เป็นคำเปรียบเทียบที่เห็นชัดเจนมาก เพราะมีกิจกรรมการรณรงค์มากมาย มีเครือข่ายเกิดขึ้น  ซึ่งได้รับการชื่นชมจากประธานที่ประชุมว่าเป็นกิจกรรมเชิงรุกที่ก้าวหน้ามาก  และจะขอเอกสารเพื่อเป็นต้นแบบในการใช้กับทุกวิทยาเขต  (มาทราบทีหลังว่าท่านเป็นศาสตราจารย์ด้านระบาดวิทยา
         หลังจากประชุมผ่านเทเลคอนเฟอร์เร้นซ์วันนั้นทราบว่าคุณพยาบาลจิ๋มก็ต้องมีหน้าที่เป็นผู้เผยแพร่องค์ความรู้เกี่ยวกับการต้านหวัด 2009 ให้กับวิทยาเขตอื่นอีกหน้าที่หนึ่ง  แต่ผลที่ตามมาก็คือเธอได้เครือข่ายทั้งองค์ความรู้และที่ปรึกษาวิชาการโดยอัตโนมัติ
       สำหรับที่วิทยาเขตปัตตานี  ไม่กี่วันต่อมามีบุคลากรที่ไปประชุมสัมมนาจาก กทม. กลับมมามีอาการไข้เกิน 38 องศา เข้าโรงพยาบาล อีกสองวันต่อมาได้รับการยืนยันว่าเป็นเชื้อหวัด 2009  เธอกระโจนเข้าดูแลอย่างใกล้ชิดเพื่อป้องกันไม่ให้มีการแพร่เชื้อออกไป  ขณะนั้นมติครม.ให้หยุดพักโดยไม่ถือเป็นวันลายังไม่มี  เธอเป็นคนขอร้องให้บุคลากรดังกล่าวอยู่พักรักษาตัว  พร้อมทั้งแนะนำให้ใครก็ตามที่มีอาการหวัดต้องหยุดพักอยู่กับบ้าน  ไม่ว่าจะเป็น 2009 หรือไม่  ในช่วงไล่เลี่ยกันไม่ถึง 7 วัน  มีผู้ติดเชื้อในมหาวิทยาลัยเพิ่มขึ้นรวมเป็น 3 คน ในขณะที่นักศึกษามีกิจกรรมที่ไม่น่าให้อภัย เช่น มีกิจกรรมในกลุ่มพากันไปเที่ยวน้ำตกทรายขาว เล่นกิจกรรมอมยิ้มเวียน โดยอมยิ้มอันเดียวผลัดกันดูดทั้ง 40 คน  เธอเขียนเรื่องลูกอมมรณะ เจตนาเล่าให้ประชาคมทราบและตระหนักในพฤติกรรมที่ไม่ควรแต่รู้สึกว่าจะถูกปิดกั้นไม่ให้เผยแพร่พร้อมถูกตำหนิในทำนองทำให้ตื่นกลัวโดยใช่เหตุ          

       สัปดาห์ถัดมาผู้ติดเชื้อเพิ่มเป็น 7 คน   เธอต้องทำงานอย่างหนักทั้งการรณรงค์ให้คนอื่นต่อสู้กับหวัด 2009  ต้องหาวัสดุที่จำเป็นในการต่อสู้กับโรคแม้แต่การหาหน้ากากอนามัย  เจลล้างมือ การประชุมประสานงานกับองค์กรอื่นๆ  การเป็นเป็นวิทยากร  การเป็นพยาบาลคอยให้คำแนะนำแก่คนที่สงสัยว่าจะป่วย ตลอดจนการพาคนไข้ส่งโรงพยาบาล  และต้องต่อสู้กับคนที่คอยบั่นทอนกำลังใจในการทำงาน  โชคดีที่เธอมีรองอธิการบดีวิทยาเขตปัตตานี(ผศ.สมปอง  ทองผ่อง) ที่เข้าใจเจตนาและเห็นว่าเรื่องนี้รอช้าไม่ได้  บางเรื่องเธอจะรายงานให้รองอธิการบดีทราบด้วยวาจา  และลงมือทำอย่างรวดเร็ว  แล้วค่อยทำเอกสารภายหลัง
        ช่วงปลายเดือนกรกฎาคม 2552 ทราบจากนักเรียนสาธิตที่หยุดเรียนไปช่วงหนึ่ง ว่ามีผู้ติดเชื้อที่โรงเรียนสาธิตประมาณ 20 กว่าคน  วันนี้ 7 ส.ค. 52 ผมได้พบเธอและถามถึงสถานการณ์ ว่าความจริงเป็นอย่างไร  เธอเล่าว่ามีประมาณ 20 กว่าคนจริงๆ  เมื่อถามถึงพฤติกรรมของประชาคมเป็นอย่างไร  เธอเล่าว่าเด็กๆ เล่นแกล้งเพื่อนโดยการเปิดหน้ากากแล้วแกล้งถุยแกล้งไอใส่เพื่อน แต่นั่นเป็นเด็ก   แต่นักศึกษาอายุเข้าข่ายผู้มีสิทธิเลือกตั้งแล้วก็ยังทำพฤติกรรมเดียวกัน   เล่นเป็นเด็กกันอยู่  เฮ้อ !  ฟังแล้วเหนื่อยครับ
        แม้สถานการณ์ตอนนี้ผู้ติดเชื้อไม่ได้ลดลง  แต่การทำงานอย่างหนักของเธอ ทำให้ประชาคมหมื่นกว่าคนรอดพ้นจากเชื้อหวัด 2009 ได้เป็นส่วนใหญ่  ขณะนี้จึงยังไม่มีผู้เสียชีวิตในวิทยาเขตปัตตานีครับ  ตรงกับเป้าหมายของคุณพยาบาลว่าจะต้องชลอไม่ให้คนส่วนใหญ่ติดเชื้อและไม่ให้คนที่ติดเชื้อแล้วต้องเสียชีวิต  ถ้าผมทำได้อยากจะให้รางวัลบุคลากรดีเด่นในปีนี้ครับ  คุณพยาบาลสุธีรา  โกมลมาลัย

    

 

     

หมายเลขบันทึก: 284114เขียนเมื่อ 7 สิงหาคม 2009 09:32 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 21:13 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

ศิษย์เก่ารุ่นพี่ มาให้กำลังใจน้องที่ม.อ.อปัตตานีค่ะ

ขอร้องทุกคน ไม่ว่าใครทั้งนั้น อย่าใช้พื้นที่ของผมตรงนี้เพื่อโจมตีใครๆ (ให้ไปศึกษากฏหมายความผิดเกี่ยวกับการให้ร้ายผู้อื่นทางเครือข่ายด้วยนะครับ ผมเก็บหลักฐานไว้หมดแล้วครับ - อยู่ที่ผมจะตัดสินใจนะครับ)

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท